Tag: กรรม

อิสรภาพทางการเงิน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,744 views 0

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน

เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข

เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข

การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น

เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย

นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้

นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า

ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?

ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง

แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย

ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง

แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน

อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ

อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน

อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม

คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง

คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…

…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา

…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก

…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ

…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น

…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ

…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้

…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน

เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส

เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,238 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,874 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

September 25, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,146 views 1

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

ครูบาอาจารย์ที่ใช่ ตรงใจ ตรงจริต ตรงธรรม

การดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกที่ยั่งยืน ไม่ว่าจะในทางโลก หรือทางธรรมนั้น สิ่งที่จำเป็นประการหนึ่งก็คือผู้ชี้นำที่ดี…

เพราะคนนั้นเรามีขอบเขตการเรียนรู้ที่จำกัด มีสติที่จำกัด มีปัญญาที่จำกัดการที่เราจะสามารถขยายข้อจำกัดเหล่านั้นได้คือการพัฒนาตัวเอง แต่เราจะพัฒนาตัวเองได้อย่างไรในเมื่อเราไม่รู้วิธีที่จะเพิ่มหรือขยายสติปัญญาเหล่านั้น ดังนั้นการที่เรามีผู้ชี้นำ หรือครูบาอาจารย์ที่ดีนั้น จะสามารถนำพาเราไปสู่ความเจริญได้ทั้งทางโลกและทางธรรม

1.คบหาผู้รู้

พระพุทธเจ้าท่านได้ตรัสเกี่ยวกับเหตุแห่งการหลุดพ้นไว้ในอวิชชาสูตร ว่าการที่เราหลงงมงายไปในสิ่งไร้สาระ หลงไปในกิเลสนั้นเกิดจากอวิชชา เป็นความโง่ เป็นความไม่รู้ ซึ่งเหตุแรกสุดของอวิชชานั่นก็คือการไม่คบหาสัตบุรุษ

สัตบุรุษ คือ คนผู้รู้สัจจะ รู้ความจริง รู้วิธีพ้นทุกข์ ท่านเหล่านั้นได้ร่ำเรียนมาจากพระพุทธเจ้าหลายพระองค์ สะสมบารมีมาหลายภพหลายชาติ จนเกิดความรู้แจ้งในตนเอง เมื่อมีสัจจะ ก็สามารถสอนสัจธรรมได้ เป็นธรรมที่พาไปสู่การพ้นทุกข์ เป็นไปเพื่อคลายกำหนัด เพื่อความไม่สะสม เพื่อความมักน้อย เพื่อความสงบจากกิเลส เพื่อการละกิเลส ฯลฯ

ดังนั้นเมื่อเราไม่ได้คบหาสัตบุรุษ ก็ไม่มีทางที่จะทำลายอวิชชาได้ หรือเรียกได้ว่าไม่มีทางที่จะบรรลุธรรมได้เลย

2.ลักษณะของผู้รู้

ผู้ที่เป็นสัตบุรุษนั้น จะสามารถแสดงธรรมอย่างแกล้วกล้าอาจหาญ ไม่ประหม่า ไม่เขินอาย ไม่ลังเล ไม่สับสน เพราะรู้แน่ชัดว่าธรรมที่ตนมีนั้นเป็นของจริง พาพ้นทุกข์ได้จริง สามารถสอบถาม พร้อมทั้งให้ตรวจสอบกันได้ และยังเชื้อเชิญให้มาลองพิสูจน์ธรรมะนั้น เพราะรู้ว่าผู้ใดที่ศรัทธาและปฏิบัติจะเห็นและเข้าใจได้ ไม่ใช่สิ่งเร้นลับ ไม่ใช่เวทมนต์ ไม่ใช่เดรัจฉานวิชา เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้ตลอดกาลไม่ว่ายุคใดสมัยใด และเป็นสิ่งที่ควรกระทำให้เกิดธรรมเหล่านั้นขึ้นในวิญญาณของตน

สามารถเล่า ชี้แจ้ง สภาวะ การปฏิบัติ ขั้นตอนต่างๆได้อย่างมีศิลปะ คือมีทั้งสาระและสุนทรียะ ปรับเปลี่ยนร้อยเรียงธรรมให้เข้าใจได้ง่ายอย่างวิจิตรพิสดารให้เหมาะกับผู้ฟังได้ โดยแสดงธรรมไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยมีเหตุผล มีที่อ้างอิง และมีความเอ็นดูเข้าใจต่อผู้อื่น ไม่พูดให้เกิดการกระทบ กดดัน บีบคั้น ทำร้ายทำลายใจ ไม่กักขังหรือผลักไส ไม่ได้สอนเพื่อให้คนมาศรัทธา ไม่สอนเพื่อแลกมาซึ่ง ลาภ ยศ สรรเสริญ บริวาร บารมีต่างๆ แต่สอนเพื่อให้คนลดกิเลส ให้คนพ้นทุกข์

ทำหน้าที่เป็นเพียงผู้ชี้ทางเท่านั้น ไม่ได้อยากสอนและไม่ได้ไม่อยากสอน เพียงแต่มีเมตตาให้กับเพื่อนมนุษย์ผู้ยังมีทุกข์อยู่ จึงใช้ความรู้ที่มีสร้างประโยชน์ให้กับตนคือสร้างกุศลและประโยชน์ของผู้อื่น คือช่วยชี้นำให้ผู้อื่นพ้นทุกข์

สัตบุรุษนั้นไม่จำเป็นต้องมีพรรษาที่มาก ไม่จำเป็นต้องเป็นเพศนักบวช ไม่จำเป็นต้องร่ำรวย มีชื่อเสียง มีคนนับหน้าถือตา มีคนยกย่อง มีลูกศิษย์ลูกหามากมาย เพียงแค่มีโลกุตระธรรม คือธรรมที่พาสวนกระแส พาล้างกิเลส เป็นธรรมที่ไม่พาไปตามโลก ขัดกับโลก ขัดใจ แต่ไม่ขัดกับสัจจะ

3.คุณสมบัติของผู้รู้

คุณสมบัติหรือธรรมที่สัตบุรุษพึงมี (สัปปุริสธรรม ๗) ก็คือ ความเป็นผู้รู้ธรรม รู้ทั้งโลกียะธรรมและโลกุตระธรรม ,เป็นผู้รู้สาระประโยชน์ว่าทำสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ,เป็นผู้รู้ตน คือรู้ว่าตนเองมีศักยภาพเท่าไหร่ แค่ไหน อย่างไร, เป็นผู้รู้ประมาณ สามารถประมาณ คาดคะเน สิ่งต่างๆให้พอดี ไม่ตึงไป ไม่หย่อนไป ,ผู้รู้เวลาอันควร รู้ว่าเวลาใดควรทำอะไร เท่าไหร่ อย่างไร, เป็นผู้รู้หมู่คน รู้ว่าคนหมู่นี้ต้องพูดอย่างไร ต้องปฏิบัติอย่างไร ,เป็นผู้รู้บุคคล รู้ว่าบุคคลนั้นควรจะสอนอย่างไร ควรจะปฏิบัติอย่างไรจึงจะเกิดความเจริญ

4.การตามหาผู้รู้

การตามหาผู้รู้หรือสัตบุรุษนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะตามหาเจอ ไม่ว่าจะเดินทางไปทั่วทั้งแผ่นดิน ทั่วฟ้า ใต้มหาสมุทรก็ไม่มีทางเจอ ถ้าไม่มีสิ่งที่เรียกว่า “กรรม

เรามักจะคิดกันไปว่าต้องหาอาจารย์ถูกจริต หาอาจารย์ที่ใช่ เราจะเลือกอาจารย์เอง หรืออาจารย์จะเลือกศิษย์เอง ความเข้าใจเหล่านี้ไม่เที่ยงทั้งนั้น เพราะบางทีก็เลือกได้ บางทีก็เลือกไม่ได้ บางทีที่เลือกมาเป็นอะไรก็ไม่รู้ ไอ้ที่ไม่เลือกกลับกลายเป็นดี ไม่มีอะไรแน่นอน จะยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ นอกจากจะเชื่อใน “กรรม

กรรมจะเป็นผู้ที่เลือกให้เราได้พบกับใคร ได้พบกับอาจารย์ท่านไหน และอาจารย์ท่านไหนจะได้พบกับเรา เพราะการที่เราจะได้พบกับครูบาอาจารย์ท่านนั้น เป็นเพราะเราบำเพ็ญเพียร เรียนรู้ ศึกษาและปฏิบัติร่วมกันมาหลายภพหลายชาติแล้ว ดังนั้นแม้ว่าเราจะไปเจอครูบาอาจารย์ที่ใครเขาแนะนำว่าดีว่าเยี่ยมเพียงใด แต่ถ้าเราไม่เคยเกื้อกูลกันมา ก็มักไม่ถูกใจ ไม่เข้าใจ ถึงจะพยายามก็จะอยู่กันได้ไม่นาน หรือที่เรียกว่าไม่ตรงจริตนั่นเอง

ผู้ที่ไม่มีกรรมดีมาหนุนนำ แม้จะพบสัตบุรุษอยู่ตรงหน้า ได้พูดคุยสนทนากันนานหลายชั่วโมง ก็อาจจะไม่เข้าใจ ไม่รับรู้ ไม่ถูกใจก็ได้ เพราะวิบากบาปหรือบาปกรรมที่เขาเหล่านั้นได้กระทำไว้ ได้บังไม่ให้เขาได้เข้าถึงสิ่งที่ดี สิ่งที่มีประโยชน์คอยขัดขวางไม่ให้เขาเจอกับผู้รู้ธรรม ให้เขาได้ทนทุกข์นานเท่าที่กรรมจะยังมีผล

5.การจะได้พบผู้รู้

การได้เกิดมาพบพระพุทธเจ้านั้นยากเสียยิ่งกว่ายาก หากไม่เคยทำกุศลมามากพอ ก็จะไม่มีวันได้พบกับสัตบุรุษใดๆเลย ถึงแม้จะพบ ก็เหมือนไม่ได้พบ แม้จะใกล้ชิดก็เหมือนไม่ได้ใกล้ชิด

การที่เราจะได้พบผู้รู้นั้น จำเป็นต้องสร้างกุศลกรรม หรือการสะสมบุญบารมีที่มากพอเราจึงต้องทำดีไปเรื่อย ช่วยเหลือคนไปตามที่ทำได้ แบ่งปัน เสียสละ ทำทาน ถือศีล อดทนฝืนข่มสู้กับกิเลสเท่าที่จะทำได้ ในวันใดวันหนึ่งเมื่อเราทำกุศลไปเรื่อยๆ เมื่อสะสมบุญบารมีที่มากพอ กรรมจะจัดสรรให้เราได้เข้าถึงกุศลที่ยิ่งใหญ่ขึ้น

เช่น เมื่อเราทำบุญทำทานไปเรื่อยๆ อยู่มาวันหนึ่งก็บังเอิญไปทำทานให้กับพระอริยะ ซึ่งก็เป็นทานที่ทำให้เกิดอานิสงส์มากกว่าทำทานกับ สัตว์ คน หรือพระทั่วไป เมื่อได้ทำสิ่งที่เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะผลักดันให้เราได้เจอกับผู้รู้ได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น เพราะทุกอย่างเป็นไปตามกรรม เมื่อเราสะสมกรรมดีมากๆ กรรมดีก็จะผลักดันเราให้ทำกรรมดีที่มากขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเริ่มจากจากหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสจากความเศร้ามองซึ่งมีที่มาจากกิเลส

ใครที่ยังรู้สึกว่าตามหาผู้รู้หรือครูบาอาจารย์ ที่ตอบได้ทุกคำถามที่สงสัยไม่เจอ เป็นเพราะเรายังทำดีไม่มากพอ เหมือนเรายืนอยู่บนบันไดขั้นที่ 5 แล้วการจะได้พบผู้รู้นั้นต้องขึ้นบันไดไปขั้นที่ 100 การขึ้นบันไดต้องอาศัยพลังกุศลเป็นตัวผลักดัน เมื่อเราทำกุศลมากๆ วันหนึ่งเราก็จะได้พบเจอเอง

ในทางกลับกัน ถ้าเราอยู่บันไดขั้นที่ 5 แล้วมีผู้ไม่รู้ ผู้หลงผิดเข้าใจว่าตนเป็นครูบาอาจารย์ อยู่ในบันไดขั้นที่ 3 เมื่อเราเผลอทำอกุศลหรือสิ่งชั่ว ทำสิ่งไม่ดีมากๆ อกุศลก็อาจจะพลักดันให้เราไปเจอกับอาจารย์ที่เป็นผู้มัวเมา หลอกลวง หรือพระอลัชชี พระนอกรีต ก็เป็นได้

การจะตามหาผู้รู้นั้น เพียงแค่ทำกุศลให้ถึงรอบ เมื่อถึงเวลาที่ควรเมื่อไหร่ก็จะได้พบเอง การตั้งจิตโดยไม่ได้ทำกุศลนั้น ก็เหมือนเรายืนอยู่ที่บันไดขั้นที่ 5 แต่เฝ้าฝันว่าจะไปถึงบันไดขั้นที่ 100 โดยที่ไม่ก้าวขาออกไป ดังนั้นในชีวิตนี้คงจะไม่มีวันเจอ

เมื่อไม่เจอก็ไม่มีวันพ้นทุกข์ เกิดมาตายไปเปล่าๆ หนึ่งชาติ แล้วก็ต้องเกิดมาหลงทางใหม่อีกหนึ่งชาติและเกิดต่อไปอีกหลายชาติ ถ้าจังหวะพอเหมาะวิบากบาปส่งผลก็อาจจะได้ไปเกิดในช่วงกลียุคที่ประมาณ พ.ศ. ๕๐๐๐ ยามที่พุทธศาสนาสูญสิ้น มีแต่คนบาปเต็มโลก ไม่สามารถทำกุศลได้ มีแต่อกุศล ก็เป็นโอกาสที่คนชั่วจะได้สะสมบาป สะสมอกุศลเพื่อเก็บไว้ทรมานในนรกกันต่อไป

6. แล้วเป็นผู้รู้จริงรึเปล่า

เมื่อเราไปคบคุ้นคบหากับผู้ที่กล่าวอ้างว่าเป็นครูบาอาจารย์ อ้างว่าตนนั้นเป็นผู้รู้ อ้างว่ารู้ธรรมของพระพุทธเจ้า อ้างว่าเป็นอรหันต์ อ้างว่าเป็นผู้ไม่กลับมาเกิดอีก

พระพุทธเจ้าท่านไม่สอนให้เชื่ออะไรง่ายๆ ท่านได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า อย่าได้เชื่อถือตามที่ได้ยินมา ตามที่เขาเล่ามา ตามที่เป็นข่าวลือ ตามตำเรา ตามที่เดาเอาเอง คาดคะเนเอาเอง นึกคิดเอาเอง อย่าเชื่อเพราะท่านเหล่านั้นคิดตรงกับเรา หรือเพราะเขาดูน่าเชื่อถือ หรือแม้กระทั่งคนผู้นั้นเป็นครูบาอาจารย์ของเราก็อย่าเพิ่งปักใจเชื่อ ท่านให้พิจารณาเอาว่าสิ่งนั้นหรือธรรมที่กล่าวอ้างนั้นปฏิบัติแล้วเป็นกุศลหรืออกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ปฏิบัติให้เข้าถึงที่สุดแห่งกุศลนั้น แต่ถ้าเป็นอกุศลก็ให้ถอยห่างออกมา

ในสมัยพุทธกาลก็มีพระที่หลงผิดอยู่มาก หลงเข้าใจว่าตัวเองบรรลุอรหันต์ก็มี ทำให้อัครสาวกต้องคอยตามแก้มิจฉาทิฏฐิกันอยู่บ่อยครั้ง ซึ่งแน่นอนว่าในสมัยนี้ ในปี พ.ศ. ๒๕๕๗ ที่ความเสื่อมของพุทธนั้นได้มาถึงครึ่งทางแล้ว ความหลงผิด ความมัวเมาย่อมจะรุนแรงและขยายตัวมากกว่าในสมัยพุทธกาลอย่างแน่นอน

ถ้าอยากรู้ก็ลองปฏิบัติตามท่านที่เราศรัทธาดู ถ้าทำเต็มที่แล้ว ถามท่านก็แล้ว ยังคงสงสัย ปฏิบัติอย่างเคร่งครัดแล้วก็ยังรู้สึกว่า กิเลสไม่ลด ชีวิตยังเหมือนเดิม ปีที่แล้วชอบกินน้ำอัดลม ปีนี้ก็ยังชอบกินน้ำอัดลมเหมือนเดิม ก็ให้ลองถามท่านดูว่าจะกำจัดความอยากนี้ได้อย่างไร ถ้าเราคอยปรึกษาและทำตามท่านอย่างเต็มที่แล้ว ปฏิบัติไม่มาไม่ไป ไม่เจริญ ก็มีสองอย่าง 1.เรามีวิบากบาปที่จะกั้นไม่ให้เราบรรลุธรรม ให้ทำดีให้มากๆ 2. ท่านไม่ได้รู้จริง … ให้ลองแก้ที่ข้อ 1 ให้เต็มที่ก่อน คือปฏิบัติตามท่านแล้วทำดีให้มากๆ ก็จะรู้เองว่าสุดท้ายคำคอบคืออะไร

7.ไม่ต้องพบสัตบุรุษแล้วบรรลุธรรมได้ไหม?

เราทุกคนไม่ว่าจะเกิดมาอีกสักกี่ครั้งก็จะมีบาปบุญ ภูมิเก่า และกรรมสะสมมาด้วยเสมอ ถ้าหากท่านบำเพ็ญเพียรจนเป็นพระอรหันต์มีหลายภพหลายชาติแล้ว เก็บสะสมปัญญาบารมี สะสมโลกะวิทู คือการรู้โลกนี้(โลกียะ)และโลกหน้า(โลกุตระ)อย่างแจ่มแจ้ง มากพอที่จะทำให้จิตตั้งมั่นว่าจะบำเพ็ญเป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็ไม่จำเป็นต้องพบสัตบุรุษในชาตินั้นๆ ดังจะสังเกตได้ว่า พระพุทธเจ้าท่านตรัสรู้ได้เองโดยไม่มีใครสอนธรรมะแท้ของพุทธให้กับท่านเลยในชาตินั้น นั่นเกิดมาจากการที่ท่านสะสมบุญบารมีมานานนับ 4 อสงไขย กับแสนมหากัป

ในสมัยนี้ก็มีมาก ที่มีผู้มัวเมา ตีขลุม ตีกิน ทึกทักเอาเอง อวดอ้างเอาเอง ว่าตนนั้นบรรลุธรรมมีบุญบารมีมาก ก็ขอให้ท่านใช้ปัญญาพิจารณากันเอาเองว่าท่านเหล่านั้นมีลักษณะและคุณสมบัติของสัตบุรุษหรือไม่

– – – – – – – – – – – – – – –

25.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์