Tag: คนติดดี

ลดเนื้อกินผัก ไม่จำเป็นต้องรังเกียจเนื้อสัตว์

April 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,813 views 0

ลดเนื้อกินผัก ไม่จำเป็นต้องรังเกียจเนื้อสัตว์

ลดเนื้อกินผัก ไม่จำเป็นต้องรังเกียจเนื้อสัตว์

แม้ว่าการที่เราจะหันมาลดเนื้อกินผักจนถึงขั้นเลิกกินเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ได้นั้น จำเป็นจะต้องใช้ความดี ความยึดดี หรือความติดดีเข้ามาช่วยเป็นกำลัง แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่จำเป็นต้องยึดมั่นถือมั่นความดีเหล่านั้นไว้จนกลายเป็นเหตุแห่งทุกข์

ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการลดเนื้อกินผักได้ มักจะมาติดกับดักตรงที่กลายเป็นคนรังเกียจเนื้อสัตว์ รังเกียจคนกินเนื้อสัตว์ รังเกียจคนขายเนื้อสัตว์ รังเกียจสังคมกินเนื้อสัตว์ รังเกียจจนเกิดความทุกข์ กระทั่งหลีกหนีจากทุกข์นั้นโดยการออกจากหมู่กลุ่มหรือสังคมนั้นไป

อาการรังเกียจนี้คือสิ่งที่ไม่จำเป็น เป็นสิ่งที่สิ้นเปลืองพลังงาน เป็นสิ่งที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่ ถ้าให้เทียบกับคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ พวกเขานั้นยัง “ติดชั่ว” อยู่ และคนที่ลดเนื้อกินผักที่รังเกียจคนกินเนื้อสัตว์ก็จะเรียกได้ว่า “คนติดดี

ในสังคมที่มีความเห็นต่างจนต้องทะเลาะเบาะแว้งกันนั้นก็เพราะมีคนติดดีและคนติดชั่วอยู่ด้วยกัน คนติดชั่วก็คิดว่าชั่วของตนถูก คนติดดีก็ยึดมั่นถือมั่นว่าของตนถูกชั่วนั้นผิด เมื่อคนดีถือดีไม่ยอมวางดีมันก็เลยต้องเกิดสงครามเรื่อยไป ซึ่งผู้ที่เข้าร่วมสงครามก็มีแต่คนชั่วทั้งนั้น ไม่ว่าจะลดเนื้อกินผักได้หรือยังกินเนื้อสัตว์อยู่แต่ถ้ายังทะเลาะเบาะแว้งกันอยู่ก็ไม่ดีอยู่ดี

ผู้ที่ลดเนื้อกินผักได้แต่ยังมีอาการรังเกียจ ถือดีจนต้องแสดงความเห็น กดดัน สั่งสอน ยกตนข่มผู้อื่น ไม่ยอมลดอัตตาทะเลาะเบาะแว้งกันคนอื่นอยู่ ก็ยังเรียกว่าดีแท้ไม่ได้ ความติดดีนี้เองคือนรกของคนดีที่วางดีไม่เป็น จึงต้องทำทุกข์ทับถมตัวเองด้วยความดีที่ตนยึดมั่นถือมั่น

เราสามารถสงสารสัตว์ เมตตาสัตว์ ไม่ยินดีกับการกินเนื้อสัตว์ ไม่เห็นด้วยกับการเบียดเบียน แต่เราไม่จำเป็นต้องมีอาการรังเกียจ เพราะเป็นการสร้างความทุกข์ให้กับตนเองและผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

1.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

December 23, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,782 views 0

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

ความจริงใจ : ความซื่อตรงต่อความรู้สึกของตัวเองเมื่อเผชิญกับกิเลส

การตรวจสอบกิเลสตั้งแต่ในระดับ 1-4 ที่ผ่านมานั้น จะไม่มีความหมายอะไรเลยถ้าหากว่าเราขาด “ความจริงใจ

ความจริงใจในที่นี้คือความจริงใจต่อตนเอง คือความจริง ที่เกิดขึ้นในใจ หรือการมองความจริงตามความเป็นจริงนั่นเอง ยอมรับความจริงว่าเกิดความอยากขึ้นในใจ มันอยากกินก็ยอมรับได้ มันอยากกินมากขึ้นก็ยอมรับได้ หรือความอยากกินมันลดลงไปก็รับรู้ได้

ความจริงใจคือคุณสมบัติที่จำเป็นมากในการเรียนรู้เรื่องของกิเลส เพราะกิเลสเป็นเรื่องภายในใจ เป็นเรื่องที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อน จึงต้องอาศัยความจริงใจนี่แหละเป็นตัวที่จะเปิดเผยหน้าตาของกิเลสให้เราเห็น

…อัตตาบังความจริงใจ

สิ่งที่จะบดบังความจริงใจได้อย่างดีที่สุดก็คืออัตตาของเรานี่เอง เพราะในส่วนกามมันชัดเจนอยู่แล้วว่าเรายังกินเนื้อ แต่ถ้าเราเลิกกินเนื้อแล้วมันมักจะมีอัตตาก้อนใหญ่ติดมาด้วย

อัตตานั้นเกิดจากอะไร? การเกิดจากอัตตานั้นมักจะเกิดมาในระหว่างที่เราจะออกจากความชั่ว การออกจากชั่วเราต้องยึดดี เช่นในกรณีของการจะมากินมังสวิรัติเราต้องเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งชั่ว เป็นสิ่งที่เบียดเบียน ไม่เมตตา ฯลฯ จึงจะสามารถทำให้เราออกจากชั่วได้สบายใจ นั่นหมายถึงย้ายอัตตาจากฝั่งกินเนื้อมาฝั่งเกลียดการกินเนื้อ เพียงแค่ย้ายฝั่งของอัตตาเท่านั้นแต่อัตตาก็ยังอยู่กับเราไม่ไปไหน

ทีนี้ถ้ามีคนมาถามกับเราว่า “ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม” ด้วยความยึดดีของเรา จะตอบเขาได้ในกรณีเดียวว่าไม่อยาก แต่ในใจนั้นอยากหรือไม่อยากก็ไม่รู้ รู้แต่ว่าตอบว่า “อยาก” ไม่ได้ เพราะความยึดดีมันมีมาก เราจะไม่ยอมเปิดใจไม่ยอมมองไปที่ความอยาก เพราะความชั่วความไม่ดีของการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่เราไม่ยอมรับ เราจึงใช้อัตตานี้เองบังความจริงที่เกิดขึ้นในใจไว้

ความจริงว่ากิเลสหรือความอยากยังอยู่นั้น ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปเลย แม้จะกินมังสวิรัติได้เป็นสิบยี่สิบปีก็ไม่ได้มีความหมายอะไรในเชิงของโลกุตระ เป็นเพียงแค่การสร้างกุศลโลกียะเท่านั้น เป็นความดีแบบโลกๆ ซึ่งเรื่องของการล้างกิเลสเป็นอีกเรื่องที่ไม่เกี่ยวกับการกินมังสวิรัติ แต่การกินมังสวิรัติได้อย่างผาสุกนั้นเป็นผลจากการล้างความอยากในเนื้อสัตว์

ดังนั้นอัตตาที่เรามีนี่เองที่จะกั้นไม่ให้เราเข้าใจกิเลส ไม่เข้าใจธรรม แม้เราจะกินมังสวิรัติได้ทั้งชีวิตก็ไม่ได้หมายความว่าจะรู้เรื่องกิเลสอย่างถ่องแท้ เพราะไม่เคยเปิดใจยอมรับความอยากด้วยความจริงใจ

…สมถะวิธีกับการดับโดยอัตโนมัติ

สมถะวิธีนั้นเป็น วิธีการกินมังสวิรัติที่ใช้กันเป็นสากล การทำสมถะไม่ใช่แค่การนั่งสมาธิ เดินจงกรม แต่หมายถึงการกดข่มจิตให้เข้าไปอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่ง

ยกตัวอย่างเช่นเรา ถือกรรมฐานว่า เนื้อสัตว์ไม่ดี มังสวิรัติดี เนื้อสัตว์เบียดเบียน ไม่เมตตา ทำร้ายสัตว์ โหดร้าย ทารุณ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้เป็นตรรกะ เป็นความรู้ เป็นเหตุผล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการกดข่มความชั่วหรืออาการอยากกินเนื้อสัตว์ไปได้ ลักษณะเหล่านี้เองคือการกดข่มด้วยสมถะ

เช่นเราไปกินข้าวกับเพื่อน เพื่อนสั่งเนื้อสัตว์มา เป็นเนื้อย่าง กลิ่นหอมน่ากิน ด้วยจิตใจที่เราฝึกกดข่มไว้มากแล้ว ทันทีที่เห็นเนื้อสัตว์เราจะสร้างความรังเกียจขึ้นมา สร้างความรู้สึกเหม็นเมื่อได้กลิ่น สร้างความรู้สึกว่ามันชั่วร้ายเบียดเบียนขึ้นมาโดยอัตโนมัติ กระบวนการเหล่านี้ผู้ที่ฝึกสติมาน้อยจะไม่รู้ตัว บางครั้งจะหลงไปด้วยว่ามีสติ

ลักษณะของความคิดอัตโนมัติเหล่านั้นเกิดจากเรามีสัญญาว่าเนื้อสัตว์ไม่ดี พอเห็นเนื้อสัตว์ก็ปรุงแต่งความคิดขึ้นมาทันทีว่ามันไม่ดีอย่างนั้น ชั่วอย่างนั้น เบียดเบียนอย่างนั้น เราจึงสามารถ “ตัด” หรือ “กดข่ม” ความอยากที่เกิดขึ้นได้โดยอัตโนมัติ เป็นปกติ ทำได้โดยไม่รู้ตัว ทำได้อย่างธรรมชาติ เป็นลักษณะของสมถะวิธี เป็นเพียงวิธีที่ทำให้ความอยากสงบลงได้แต่ไม่สามารถทำให้ความอยากตายหรือสลายหายไปได้

…ความหลงผิดในสมถะวิธี

เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ยากจริงๆ หากจะต้องบอกว่าการกินมังสวิรัติโดยปกติทั่วไปส่วนใหญ่แล้วมักจะใช้สมถะวิธี การบอกกล่าวเช่นนี้ไม่ใช่เพื่อการข่มหรือต้องการอวดโอ้แต่อย่างใด แต่ต้องการชี้ให้เห็นว่ามันเป็นแค่วิธีหนึ่งในการกดข่มความชั่วเท่านั้น และวิธีเหล่านี้ไม่สามารถกดข่มได้ตลอดไป ถึงแม้ว่ามันจะเข้าใจง่ายและปฏิบัติได้ง่ายแต่ก็ไม่ใช่วิธีการล้างกิเลสแต่อย่างใด

สมถะวิธีกับการล้างกิเลสหรือที่เรียกว่าวิปัสสนานั้นเป็นคนละเรื่องกัน เมื่อวิธีการต่างกันผลที่ได้ก็จะต่างกันไปด้วย แต่เป็นเรื่องยากที่จะสังเกตเพราะผลที่เห็นได้ด้วยตาจะออกมาคล้ายๆกัน สุดท้ายแล้วไม่ว่าคนที่ใช้สมถะหรือวิปัสสนาก็จะสามารถกินมังสวิรัติได้เหมือนกัน คนทั่วไปก็จะมองและแยกออกได้ยากมาก

แต่ผลทางจิตใจของสมถะกับวิปัสสนาจะต่างกันออกไป เหมือนกับว่าทั้งสองวิธีถึงเป้าหมายเหมือนกันคือกินมังสวิรัติได้ตลอดแต่สภาพของจิตใจนั้นต่างกันโดยสิ้นเชิง การกดข่มด้วยสมถะวิธีจะทำให้เกิดความไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่สบาย อึดอัด กดดัน บีบคั้น ขุ่นมัว ลักษณะเหล่านี้ถ้าไม่สังเกตให้ดีหรือไม่ได้มีญาณปัญญาตรวจวัดก็จะไม่สามารถรับรู้ได้เลย นักมังสวิรัติที่ใช้สมถะวิธีจะบอกว่าชีวิตตนเองดีมีความสุข ทั้งหมดนี้เพราะอัตตามันมาบังไว้ มันจะตอบได้แบบเดียวคือมีความสุข เพราะอัตตามันสั่งให้คิดแบบนั้น ให้เชื่อมั่นแบบนั้น

สิ่งที่ต่างออกไปทางด้านผลของวิปัสสนาที่อยู่ในระดับผลสำเร็จก็คือ ความโปร่ง โล่ง เบาสบาย มีจิตผ่องใส ผุดผ่อง โดยเฉพาะความแววไว ไม่ยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะต่างจากผู้ที่ใช้สมถะวิธีคือมีรูปแบบ ยึดมั่นถือมั่น อึดอัด กดดัน แข็ง ไม่ปรับตัวตามสถานการณ์ ยอมหักไม่ยอมงอ

เพราะสมถะวิธีนั้นจะใช้วิธีในการเร่งอัตตาฝ่ายยึดดี ให้ยึดมั่นในความดี สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนติดดี ติดดีทั้งๆที่ยังมีกามอยู่นั่นแหละ คือยังมีความอยากอยู่ สรุปแล้วความอยากก็ไม่ได้ล้างแถมยังติดดีอีก นี่คืออันตรายของความหลงยึดในสมถะวิธี

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีจะเข้าใจว่าทุกอย่างจบที่การกินมังสวิรัติได้ และสร้างอัตตามาครอบไว้ว่าฉันสำเร็จแล้ว ฉันทำได้แล้ว แล้วยึดมั่นปักมั่นตัวเองไว้ที่จุดที่ตนเองนั้นคิดว่าดี สรุปก็คือสามารถกินมังสวิรัติได้แต่ก็มีอัตตาก้อนใหญ่เพิ่มมาด้วย

…หลงผิดกลับไปกินเนื้อสัตว์

มีผู้ที่ใช้สมถะวิธีจำนวนหนึ่ง ที่หันกลับไปกินเนื้อสัตว์ ตามที่เราได้รู้แล้วว่าสมถะวิธีนั้นคือการกดข่มความชั่ว เชิดชูความดี แต่กิเลสที่มีมันไม่ตาย ทีนี้วันหนึ่งกิเลสก็สะสมกำลังไปเรื่อยๆจนฝ่าด่านมังสวิรัติได้

ผู้ที่ใช้สมถะวิธีในการกินมังสวิรัติจะไม่สามารถทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้แน่นอนอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อกิเลสกำเริบจึงกลับไปกินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี และมักหลงไปว่านี่แหละคือความพอดี ไม่ทรมาน ไม่ลำบากตัวเองจนเกินไป เข้าใจผิดว่าเป็นทางสายกลาง แล้วก็ปักมั่นอยู่ที่ตรงนั้น ยึดดีอยู่แบบนั้น หลงว่าภาวะนั้นแหละคือการบรรลุธรรม ทั้งๆที่เป็นเพียงสภาวะของการตึงเกินไปแล้วปรับมาหย่อนเท่านั้นเอง เป็นเพียงระหว่างทางที่ไกลแสนไกลสู่เป้าหมายที่เรียกว่าการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

แต่ผู้หลงผิดจะมีความเชื่อความเข้าใจว่าเขาเหล่านั้นถึงเป้าหมายแล้ว ทั้งๆที่ยังเดินมาไม่ถึงครึ่งทางก็ปักมั่นที่ตรงนั้นเป็นจุดหมายแล้วไม่เดินทางต่อ กลับไปเสพกาม คือกลับไปกินเนื้อสัตว์ พร้อมกับอัตตาก้อนใหญ่อีกก้อนว่าต้องแบบนี้สิถึงจะพอดี ถึงจะเป็นทางสายกลาง

นี้เองคือลักษณะของผู้หลงผิดว่าบรรลุธรรม ซึ่งในความจริงแล้วจะค่อนข้างตกต่ำกว่าคนธรรมดาที่กินเนื้อสัตว์ด้วยซ้ำ เพราะคนที่กินเนื้อสัตว์ทั่วไปยังไม่ได้ปักมั่นว่านี่คือทางบรรลุธรรมหรือทางสายกลางอะไร คนกินเนื้อเขาก็รู้และเข้าใจว่าเนื้อเบียดเบียน แต่ก็ห้ามความอยากไม่ได้ แต่คนที่หลงผิดนี่จะกินเนื้อสัตว์ไปด้วยอัตตาที่หลงผิดยึดติดเข้าไปอีก ทำให้ต้องอยู่กับความหลงนั้นอีกนานแสนนาน

…มังสวิรัติกับศาสนาพุทธ

การตั้งกลุ่มมังสวิรัติวิถีพุทธนั้น ตั้งมาเพื่อการศึกษาเรื่องกิเลสโดยใช้มังสวิรัติเป็นโจทย์ในการฝึก ไม่ใช่เพื่อการกินมังสวิรัติโดยตรง การกินมังสวิรัตินั้นไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ต้องเป็นพุทธก็สามารถกินมังสวิรัติได้ ไม่ว่าจะเป็นคริสต์ อิสลาม พราหมณ์ หรือไม่มีศาสนา ก็สามารถกินมังสวิรัติหรือเลิกกินเนื้อสัตว์ได้

ดังนั้นศาสนาจึงไม่มีผลต่อความสามารถในการเลิกกินเนื้อสัตว์เลย เพียงแค่ใช้สามัญสำนึกของมนุษย์ทั่วไปก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว เพราะมนุษย์มีความยึดดี ถือดี มีจิตใจดี เมตตา สงสาร เพียงใช้ข้อมูลที่เผยแพร่โดยทั่วไปเกี่ยวกับการทรมานสัตว์ ข้อมูลทางสุขภาพ หรือภาพที่กดดันทางจิตวิญญาณ ก็สามารถทำให้คนหันมากินมังสวิรัติได้โดยไม่ต้องไปโยงเรื่องศาสนาให้มันลำบาก

ทุกวันนี้ศาสนาถูกใช้เป็นเพียงเครื่องมืออ้างอิงถึงความดี เพื่อให้คนหันมากินมังสวิรัติเท่านั้น แต่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นก็ยังอยู่ในลักษณะของสมถะวิธี คือใช้ข้อมูล ใช้ตรรกะ ใช้ความคิด ใช้ความดี มากดข่มความชั่ว หากถามว่าดีไหม? ก็ตอบได้ว่าดีเยี่ยม แต่ก็ยังไม่ดีที่สุดเท่านั้นเอง

ศาสนาพุทธนั้นไม่ใช่ศาสนาที่เน้นสมถะวิธี แต่ก็มีการใช้สมถะวิธีเป็นเครื่องมืออยู่บ้าง ในส่วนสิ่งที่เน้นก็คือการทำลายกิเลส โดยใช้อริยสัจ ๔ เข้ามาเป็นหลักใหญ่ในการปฏิบัติ ซึ่งจะประกอบด้วยธรรมะย่อยๆอีกมากมาย ซึ่งในทำลายกิเลสนี้จำเป็นต้องเห็นตัวตนของกิเลสเสียก่อน การเห็นกิเลสนั้นจะต้องค้นให้เจอเหตุแห่งทุกข์ จากที่สุดแห่งทุกข์ ในกรณีของการเข้าถึงมังสวิรัติอย่างผาสุกก็คือการทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์

ความอยากกินเนื้อสัตว์นี้เป็นคือรากที่ควรใช้เพื่อพิจารณากิเลส เพราะไม่ตื้นเกินไปเหมือนการใช้เมตตาหรือใช้ความดี และไม่ลึกเกินไปเหมือนกับการจะไปพิจารณาอวิชชาตั้งแต่แรก คือมีความเหมาะสมพอดีในการเริ่มต้น ส่วนหนึ่งเพราะ “ความอยาก” เป็นสาเหตุที่แท้จริงในการพาเราให้ไปกินเนื้อสัตว์ ส่วนเราจะสามารถขยายหรือขุดค้นเหตุอื่นๆที่ซ้ำซ้อนกว่านี้ก็เป็นเรื่องที่จะต้องทำต่อไป

ดังนั้นหากไม่ได้เริ่มต้นที่ “ความอยาก” ก็ไม่มีวันที่จะทำลายกิเลสได้ หากไม่หยุดชั่วก็ไม่มีวันที่จะเกิดความดีที่แท้จริง ศาสนาพุทธนั้นไม่ได้เน้นการทำดีเท่ากับการหยุดทำชั่ว เพราะรู้ดีว่าการหยุดชั่วแล้วก็จะเกิดผลดีขึ้นเองไม่น้อยก็มาก

…ความจริงใจคือคุณสมบัติสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การจะสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขนั้น จึงจำเป็นต้องเพ่งเล็งไปที่การทำลาย “ความอยาก” ด้วย “ความจริงใจ” ในทุกๆขั้นตอนของการปฏิบัติธรรม ก็จะสามารถข้ามผ่านความอยากไปได้ในวันใดวันหนึ่ง

หากผู้ที่มองว่าเพียงเมตตาแล้วสามารถกินมังสวิรัติได้อย่างมีความสุขก็แล้วแต่จะพิจารณา แต่จะสรุปไว้ตรงนี้เพียงแค่ว่า มังสวิรัติทั่วโลกก็ใช้ความเมตตาหรือความดีนี่แหละในการเข้าถึงการเป็นมังสวิรัติ แต่ศาสนาพุทธจะทำลายกิเลสหรือทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ และสุดท้ายเมื่อไม่มีความอยากก็เลยกลายเป็นมังสวิรัติไปเองโดยไม่ต้องพยายาม ไม่ต้องกดข่ม ไม่ต้องบังคับตัวเอง ไม่ต้องอยาก ไม่ต้องทุกข์ ไม่ต้องทรมาน และไม่ต้องมีอัตตาไว้ยึดให้มันหนัก

สุดท้ายนี้หากผู้ใดอยากลองเห็นความอยาก ก็ลองดูตัวเองอย่างจริงใจ ยอมรับความจริงที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจโดยไม่ต้องกดข่ม ปล่อยตัวเองไปตามธรรมชาติและรับรู้ด้วยสัญชาติญาณแบบซื่อๆว่ายังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ไหม ไม่ต้องมีความดี ไม่มีความชั่ว มีเพียงเรากับเนื้อสัตว์ตรงหน้าเท่านั้น เราจะยังอยากกินอยู่ไหม เราจะรู้สึกอะไรกับเนื้อสัตว์เหล่านั้นไหม เราจะเป็นอย่างไร

ก็ขอเชิญให้ทบทวนในการตรวจระดับ 1-4 ที่มีมาก่อนหน้านี้อีกครั้ง เพื่อให้เห็นกิเลสในตนเองอย่างแท้จริง เพื่อที่จะเริ่มต้นกันใหม่กับการล้างกิเลสอย่างแท้จริง

ติดตามต่อได้ที่

Facebook Group : Buddhism Vegetarian (มังสวิรัติวิถีพุทธ)

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

October 11, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,309 views 0

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

อัตตา ความยึดมั่นถือมั่นในความดี กรณีศึกษามังสวิรัติ : ภาวะเมื่อผ่านพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์

เมื่อเราผ่านพ้นนรกของความอยากเสพเนื้อสัตว์มาแล้ว เราก็จะได้พบกับนรกอีกขุมคือความไม่อยากเสพ เป็นส่วนของกลับของกิเลสทุกตัว เป็นเสมือนหัวหน้าผู้ร้ายที่จะโผล่มาหลังจากผู้ร้ายตัวแรกได้ตายไป

ย้อนรอย…

เล่าย้อนไปถึงตอนที่เราได้สู้กับความอยากกินเนื้อสัตว์ใหม่ๆ เราต้องพากเพียรปฏิบัติ ถือศีลอย่างตั้งมั่น เฝ้าพิจารณาประโยชน์และโทษของสิ่งนั้นเพื่อล้างกิเลส โดยใช้ความทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย ความไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน กรรมและผลของกรรมเข้ามาช่วยล้างกิเลส จนกระทั่งเราผ่านพ้นความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ด้วยใจที่เป็นสุข

แต่การจะได้มาซึ่งความสุขจากการไม่เสพนั้น เราก็จะได้ความเกลียดเนื้อสัตว์มาด้วย เพราะการจะออกจากสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราต้องรังเกียจ เห็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียของสิ่งนั้น เมื่อก้าวผ่านการเสพกามกิเลส(ความอยากกินเนื้อสัตว์) จะเข้ามาสู่การเสพอัตตา(ความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์) คือความยึดดี ถือดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

ในช่วงที่เรายังเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็จะมีอัตตาอยู่หนึ่งชุด เป็นอัตตาในกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) หลงยึดว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี อร่อย มีคุณค่า ทำให้แข็งแรง ฯลฯ แต่เมื่อเราทำลายกามแล้ว เราก็จะมาเจออัตตาอีกชุดหนึ่งเหมือนเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ คือความไม่อยากเสพเนื้อสัตว์ ยึดว่าต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี กินแต่ผักจึงจะเจริญ หลงติดหลงยึดว่าการเป็นคนดี ติดดี ยึดดี การที่ตนกินมังสวิรัติได้เป็นสิ่งที่เลิศกว่าคนอื่นจนกระทั่งไปข่มเหงผู้อื่นได้ เราจะมาเรียนรู้อัตตาในภาคหลังนี้กัน

อัตตา…

ในตอนที่เราสามารถออกจากนรกแห่งความอยากเสพเนื้อสัตว์ได้ เราก็จะกลายเป็นคนติดดีโดยอัตโนมัติ สายตาจะมองคนที่ยังเสพเนื้อสัตว์ต่างออกไปจากตอนที่เรายังเสพเนื้อสัตว์ มองว่าการเสพเนื้อสัตว์นั้นน่ารังเกียจ มองว่าสังคมต้องไม่เบียดเบียนถึงจะดี มักจะมีอาการรังเกียจทั้งเนื้อสัตว์และคนที่ยังกินเนื้อสัตว์และคนที่สนับสนุนให้กินเนื้อสัตว์

อัตตานี้เองคือกิเลสที่ผลักดันให้คนในสังคมถกเถียงกัน และไม่ได้หมายความว่าคนที่ผ่านนรกเนื้อสัตว์เท่านั้นที่จะมีอัตตา คนกินมังสวิรัติ คนกินเจที่อยู่ในระหว่างการหัดกินก็สามารถมีอัตตาได้ แต่จะไม่แรงเท่ากับคนที่ผ่านความอยากนั้นมาแล้ว

อัตตาคือนรกของคนดี คืออาวุธของคนดีที่ใช้ปราบคนที่เขายังไม่รู้โทษชั่วของการกินเนื้อสัตว์ เหล่าคนดีที่สามารถข้ามความอยากจึงสามารถใช้ท่าที วาจา ถ้อยคำต่างๆไปย่ำยีคนที่ยังกินเนื้อสัตว์อยู่ได้อย่างเต็มปากเต็มคำ เพราะตัวเองนั้นเลิกกินเนื้อสัตว์ได้แล้ว จึงไม่มีทางที่คนกินเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะมาโต้กลับได้เลย

อัตตาคืออาวุธที่ร้ายแรง ร้ายกาจ เชือดเฉือนทำลาย ทำร้ายใจคนได้มากที่สุด ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อม จะอยู่กันไม่เป็นสุขเพราะคนมีอัตตา ยิ่งเป็นนักมังสวิรัติที่มีอัตตาก็จะยิ่งร้ายกาจ ใช้ความดีเข้าไปทำลาย ทำร้ายจิตใจคนที่เขายังติดในกิเลส ยังอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ ให้เขาเกิดความลำบากใจ อึดอัดขัดข้องใจ รำคาญใจ จนเป็นเหตุให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาไม่ใช่อาวุธที่จะนำไปทำลายกิเลสของคนอื่นได้ เมื่อใช้อัตตาหรือความยึดดีถือดีเข้าไปแนะนำคนอื่น รังแต่จะเพิ่มปัญหา เพิ่มความเจ็บป่วย ทุกข์ร้อน ทรมานให้กับเขา แต่การจะนำความรู้มังสวิรัติไปให้หรือแนะนำคนอื่นนั้น ต้องทำด้วยอนัตตา หรือความไม่มีตัวตน คือไม่มีตัวตนของกิเลส ไม่มีตัวตนของคนดี ไม่มีความยึดดี ไม่ถือดี ไม่จำเป็นต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข

อัตตานอกจากจะทำให้คนอื่นทุกข์แล้วยังทำให้ตัวเองทุกข์อีกด้วย เพราะเมื่อเรามีความยึดมั่นถือมั่นมาก เมื่อคนอื่นทำไม่ได้ดังใจเราหมาย หรือเมื่อเราแนะนำไปแล้วเขาไม่เอา เราก็จะมีอาการอกหักอกพัง เพราะเรายึดว่าเกิดดีจึงจะเป็นสุข พอไม่เกิดดีดังใจเราหมายเราก็จะเป็นทุกข์ ออกอาการได้ตั้งแต่มีอาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ว่ากล่าวตักเตือนคนอื่นด้วยอัตตา กระทั่งทะเลาะเบาะแว้งกันได้

อัตตาคือความโง่ที่คนดีแบกไว้ เป็นคนดีที่แบกนรกไว้ทำลายตัวเองและทำลายคนอื่น ทำลายสังคมสิ่งแวดล้อม ทำลายโลก เพราะความติดดีนี้เป็นเหตุแห่งการทะเลาะกัน ไม่ว่าจะคนดีหรือคนไม่ดี หากเกิดการทะเลาะกันแล้วก็คือนรกทั้งคู่ คนดีที่ล้างอัตตาไม่เป็นก็จะหลงว่าตนดี ใช้ความดีทำร้ายทำลายคนอื่น พร้อมทั้งแบกทุกข์จากความไม่สมใจหมาย สะสมกิเลสข้ามภพข้ามชาติต่อไปอีกนานแสนนาน

อัตตาคือเกราะของกิเลสที่พอกตัวตนไว้ ทำให้คนดีไม่สามารถรู้ได้เลยว่าตัวเองนั้นเต็มไปด้วยกิเลส เพราะมัวแต่มองไปยังความไม่ดีของคนอื่น มองไปยังความผิดของคนอื่น ในขณะที่ตัวเองก็สั่งสมความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปเรื่อยๆจนเป็นเกราะหนา จนกระทั่งไม่สามารถมีใครที่จะแนะนำและช่วยเหลือคนดีที่มีอัตตาหนานั้นได้ นั่นเพราะเขาไม่ยอมมองกลับมาในกิเลสของตัวเอง หลงในอัตตาและเชื่อมั่นเสมอว่าตัวเองดี เขาจึงต้องแบกอัตตา แบกตัวตน แบกทุกข์นั้นไปตลอดกาล

การทำลายอัตตา

การทำลายอัตตานั้นก็ใช้กระบวนการเดียวกับการทำลายกิเลสฝั่งกาม(ความอยากเสพเนื้อสัตว์) คือใช้กระบวนการสมถะ-วิปัสสนาเข้ามาเป็นเครื่องมือช่วยในการทำลายอัตตา โดยอัตตานั้นควรจะใช้ธรรมในพรหมวิหาร๔ เข้ามาร่วมกำจัดความยึดดีถือดีด้วย และใช้กรรมและผลของกรรมช่วยในการพิจารณา รวมกับหลักพิจารณาเดิมของเราคือความเป็นทุกข์ โทษ ภัย ความไม่เที่ยง เราไม่ใช่ตัวตนของกิเลสนั้น ประโยชน์และโทษในการมีอัตตานั้นๆ

การใช้พรหมวิหารเข้ามาช่วยจะทำให้เราสามารถสังเกตอาการติดดีได้ง่ายขึ้น เพราะคนที่มีอัตตา ยึดดี ถือดี จะติดตรงที่ไม่สามารถไปถึงอุเบกขาได้ เมื่อเขากินมังสวิรัติได้ดังหวังเราก็มีจิตยินดี มีความมุทิตากับเขา แต่เมื่อเขากลับไปกินเนื้อสัตว์ สั่งเนื้อสัตว์มากิน หรือเห็นคนอื่นกินเนื้อสัตว์ เราก็กลับมีอาการขุ่นข้องหมองใจ แทนที่จะปล่อยวาง เรากลับรู้สึกยินร้าย รู้สึกไม่พอใจที่เขาไปกินเนื้อสัตว์ นั่นคือเราไม่สามารถปฏิบัติจนถึงภาวะอุเบกขาได้

เราต้องเจริญพรหมวิหาร๔ ให้มากจึงจะมีกำลังดับอัตตา สร้างจิตที่เมตตาให้ทั้งสัตว์ที่ต้องเกิดมาเพื่อเป็นอาหารของคนที่มัวเมาในกิเลส และเมตตาไปถึงคนที่ยังหลงว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งดี กรุณาโดยการไม่กินเนื้อสัตว์และช่วยสอนให้ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ได้เห็นโทษของการเบียดเบียน มุทิตาโดยการยินดี เมื่อเขาเหล่านั้นสามารถลด ละ เลิก เนื้อสัตว์ได้ตามกำลังของเขา และอุเบกขาเมื่อทุกสรรพสิ่งนั้นไม่ได้เป็นไปดังใจหมาย สัตว์ก็ต้องถูกฆ่าเพื่อมาเป็นอาหารอยู่ทุกวัน คนมีกิเลสก็ต้องอยากกินเนื้อสัตว์ เมื่อเราสร้างความเป็นพรหมขึ้นในใจได้ดังนี้แล้วจะช่วยลดอัตตาได้อย่างดี

ในข้อกรรมและผลของกรรมก็ต้องพิจารณาให้มาก สัตว์ที่ถูกฆ่าตายนั้นก็มีกรรมเป็นของเขา เขาทำกรรมนั้นมาจึงต้องเกิดเป็นสัตว์ ต้องถูกขัง ต้องถูกทรมาน สุดท้ายก็ต้องโดนฆ่าเพราะกรรมนั้นเองที่เขาเหล่านั้นทำมา แต่ถูกฆ่าแล้วก็จบไป ได้ใช้กรรมไปหนึ่งเรื่อง สุดท้ายสัตว์เหล่านั้นก็เกิดมาใช้กรรมใหม่จนกว่าจะหมดวิบากอยู่ดี เราน่าจะสงสารและเข้าใจคนที่กินเนื้อสัตว์มากกว่า ว่าพวกเขาล้วนยังไม่เห็นถึงโทษภัยแห่งการเบียดเบียนเขาจึงต้องรับกรรมที่ตนก่อโดยที่ไม่รู้ตัวว่าสิ่งที่เขาทำนั้นเป็นสิ่งที่นำโทษภัยมาให้เขาเอง พระพุทธเจ้าตรัสว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” คนที่ยังเบียดเบียนจึงต้องพบกับโรคภัยไข้เจ็บและไม่สามารถมีชีวิตอยู่สร้างกุศลได้นานก็ต้องจากไป

และการที่เราไปมีอัตตานั้นก็กลายเป็นกรรมของเราเช่นกัน การที่เราไปทำร้ายจิตใจคนอื่นด้วยความติดดีเราก็สะสมกรรมชั่วลงในจิตใจของเราไปด้วย นั่นก็คือการเบียดเบียนคนอื่น เมื่อเบียดเบียนคนอื่นก็จะมีโรคมากและอายุสั้น สะท้อนเป็นการเบียดเบียนตัวเองในทีเดียวกัน ดังจะเห็นได้ว่าคนดี หรือคนติดดีนั้นก็สามารถป่วยด้วยโรคร้ายและตายไวกันได้เหมือนคนทั่วไป

เมื่อเราได้พบผู้คนที่ยังไม่เห็นคุณค่าของการกินมังสวิรัติ ให้พึงพิจารณาว่าเราก็เคยเป็นเช่นนั้นมา การที่เราไม่สามารถที่จะสอนหรือแนะนำเขาได้ หรือแม้แต่แนะนำแล้วเขาไม่สนใจ หรือสนใจก็ไม่สามารถที่จะกินมังสวิรัติได้ ความขุ่นข้องหมองใจจากความไม่ประสบความสำเร็จนี้ส่วนหนึ่งก็เกิดมาจากกรรมเก่าของเรา เมื่อสมัยที่เรายังหลงมัวเมาในความอยากกินเนื้อสัตว์ในชาติใดชาติหนึ่งอยู่ มีคนมาแนะนำเรา เราก็ดื้อ ไม่เอา ตีทิ้งคนที่มาแนะนำสิ่งดีๆเหมือนกัน ดังนั้นเมื่อเราสามารถปฏิบัติชีวิตมังสวิรัติได้ดี ก็ให้เข้าใจเรื่องกรรมด้วยว่ากว่าที่เราจะมากินมังสวิรัติได้ เราได้เคยทำให้เหล่าคนดีไม่พอใจมาหลายชาติแล้ว ดังนั้นการที่เราจะได้รับความไม่สมใจก็เป็นสิ่งที่สมควรแล้ว เพราะเราสร้างมาเอง

ความเป็นทุกข์ ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน หรือการพิจารณาไตรลักษณ์ ให้เราพิจารณาไปว่าการมีอัตตายึดดีถือดีแบบนี้ทำให้เราและคนอื่นเป็นทุกข์อย่างไร สิ่งที่เรายึดมั่นถือมั่นไว้มันจะยั่งยืนตลอดกาลหรือ มันจะไม่แปรเปลี่ยนเลยหรือ แท้จริงแล้วอัตตานั้นก็ไม่ใช่ตัวตนของเราเป็นสภาพหนึ่งของกิเลสที่เข้ามาหลอกเราว่าเราหมดกิเลสแล้ว จริงๆอัตตานี้ไม่ใช่เรา เราไม่จำเป็นต้องมีอัตตา ไม่จำเป็นต้องมีตัวกูของกู

การพิจารณาประโยชน์ของการไม่มีอัตตาและโทษของการมีอัตตานั้นก็สามารถที่จะช่วยล้างอัตตาได้อย่างดีเยี่ยม เช่น ถ้าเรายังมีอัตตาอยู่ เราก็มักจะไปซัดอาวุธด้วยวาจาอันเชือดเฉือนใจใส่คนอื่นอยู่บ่อยครั้ง อาจจะทำให้เกิดการบาดหมางใจ ผิดใจกัน จนถึงขั้นทะเลาะกันได้ แต่ถ้าเราไม่มีอัตตาเราก็จะสามารถอยู่กับคนอื่นได้อย่างมีความสุข เรากินมังสวิรัติก็กินไป เขากินเนื้อสัตว์ก็กินไป เราไม่รู้สึกยินดียินร้ายอะไร ก็สามารถจะอยู่กันได้ วันใดที่เขาเห็นคุณค่าเขาก็จะมากินมังสวิรัติตามเราเอง เป็นต้น

เพียรพิจารณาข้อธรรมเหล่านี้ตามกำลังที่มีด้วยความตั้งใจ ตั้งมั่นให้เห็นถึงโทษชั่วของการมีอัตตา ความติดดี ยึดดี ถือดี ว่าคนอื่นจะต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะดี

สภาพหลังจากทำลายอัตตา

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้ว เราจะสามารถร่วมโต๊ะกับครอบครัว กับเพื่อน กับญาติมิตรสหายได้โดยไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่รู้สึกขุ่นเคืองใจที่เขายังกินเนื้อสัตว์ แม้ว่าเราจะแนะนำไปแล้วเขาจะไม่สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ดังใจเราหมายได้ เราก็สามารถปล่อยวางได้ ไม่มีอาการติดดี ยึดดี ถือดี

และถึงแม้ว่าเราจะไปร่วมโต๊ะกับเขา เราก็จะยินดีที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ ผู้ที่สามารถผ่านนรกของการเสพเนื้อสัตว์ จะมีปัญญาในการเอาตัวรอดจากสภาพต่างๆ ในการกินอาหารร่วมกับคนอื่น หรือการกินอาหารในถิ่นที่ไม่คุ้นเคย จนเรียกได้ว่าอยู่ที่ไหนก็สามารถละเว้นเนื้อสัตว์กินแต่ผักได้โดยมีความสุขใจ อิ่มใจ สบายใจ แม้ว่าจะต้องกินแต่ข้าวเปล่าก็ยังมีความสุขกว่าการกินข้าวปนกับเนื้อ ทั้งหมดนี้ไม่ใช่ความยึดมั่นถือมั่น แต่เป็นปัญญาที่รู้โทษของการเสพเนื้อสัตว์ จนยินดีที่จะละเว้นเนื้อสัตว์ต่างๆอย่างมีความสุข

เมื่อผ่านพ้นอัตตาแล้วหากได้ลองกินเนื้อสัตว์ก็จะไม่รู้สึกรังเกียจ ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจ ทุกข์ใจ กระวนกระวายใจ แต่จะรู้สึกเฉยๆตามความเป็นจริง กินก็ได้ แต่ก็คายทิ้งได้เหมือนกัน เพราะไม่ได้ติดในรสของเนื้อสัตว์นั้น เป็นกระบวนการตรวจสอบอัตตาของผู้ที่ยังสงสัยว่าตัวเองติดอยู่หรือไม่ เพราะถ้าผ่านอัตตา จะไม่มีอาการผลัก แต่จะรู้สึกถึงโทษของการกินเนื้อสัตว์จนไม่กินเอง และก็ไม่ได้มีความทุกข์อะไร สุดท้ายคนที่ผ่านทั้งกาม(อยากกินเนื้อสัตว์)และอัตตา(ไม่อยากกินเนื้อสัตว์)จึงไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความยินดี ไม่มีทั้งอาการผลัก หรืออาการดูด เนื้อสัตว์ชั้นดีมาวางเสริฟไว้ตรงหน้าก็เฉยๆ มีคนจับยัดเข้าปากก็ไม่โกรธไม่รังเกียจ ..แต่ไม่กิน ถึงจะกินเข้าไปก็ไม่มีรสสุข จะไม่เกิดสุขลวงๆจากการเสพอีกต่อไป ไม่ยินดีในสุขลวงนั้น เพราะรู้ว่าสุขจากการออกจากนรกเนื้อสัตว์ทั้งกามและอัตตานั้นเป็นสุขยิ่งกว่า หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เอาอะไรมาแลกก็ไม่ยอม

อัตตาซ้อนอัตตา

หลังจากผ่านอัตตา เราอาจจะเจอสภาพหนึ่งซ้อนเขามาคืออัตตาอีกตัวหนึ่ง เมื่อเราไม่เสพเนื้อสัตว์และไม่ติดดีแล้ว เราอาจจะเกิดอาการ เกลียดคนติดดีอีกทีหนึ่ง นั่นเพราะเราเพิ่งออกจากนรกคนติดดีมาได้ เมื่อเราเห็นคนกินมังสวิรัติที่ติดดีไปทำร้ายทำลายจิตใจของผู้ที่ยังเสพเนื้อสัตว์ เราก็มักจะมีอาการไม่พอใจคนที่ติดดีนั้น คนกินเนื้อสัตว์เราไม่โกรธแล้วนะ เพราะเราเข้าใจ เราเข้าใจเพราะเราผ่านความติดดีมาได้ แต่จะมาติดดีกว่าอีกที คือไปเพ่งโทษคนติดดีอีกที

เห็นไหมว่ากิเลสมันมีลีลาของมันเยอะมาก ผ่านตัวนั้นก็ต้องมาติดตัวนี้ พอฆ่าตัวนี้ก็ต้องไปกำจัดตัวโน้นต่อ แล้วปลายทางมันอยู่ตรงไหน?

มันก็อยู่ที่กำจัดอัตตาที่ซ้อนอยู่นี่แหละ เหมือนเป็นหัวหน้าใหญ่ที่จะออกมาเมื่อผ่านนรกคนดี เป็นกิเลสที่เฝ้าประตูสู่ความสุขแท้ เราก็ต้องกำจัดมันให้ได้โดยการพิจารณาธรรมเหมือนเดิมแต่โจทย์นั้นเปลี่ยนไปเป็นล้างความรังเกียจคนดี เพราะจริงๆกว่าคนจะมาติดดีได้นั้นมันยากมาก เขาต้องบำเพ็ญเพียรมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะมาเลิกกินเนื้อสัตว์จนมาติดดีได้ แล้วทีนี้เราก็โง่ไปเพ่งโทษคนดี ไปรังเกียจคนที่เขาทำดี แล้วมันจะเกิดดีไหมล่ะ

นั่นเพราะส่วนหนึ่งเราเพิ่งจะออกจากนรกคนดีได้ เมื่อเราออกจากสิ่งใดได้ เราก็มักจะรังเกียจสิ่งนั้น เพราะการจะออกจากสิ่งใดได้ ต้องใช้ความรังเกียจ ความไม่ชอบใจในสิ่งนั้นออกมาก พอออกมาแล้วเราก็ต้องล้างความรังเกียจนั้นอีกที เมื่อล้างหมดก็ถือว่าจบกิจ ปิดชุดงานกิเลสมังสวิรัติได้เลย เพราะจะไม่มีทุกข์เกิดอีก แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีวางตรงหน้าก็ไม่กินด้วยความยินดี แม้ว่าจะมีคนมากมายยินดีกับการกินเนื้อสัตว์เราก็ไม่ยินร้ายกับเขา และแม้ว่าจะเห็นคนติดดีเข้าไปทำร้ายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ เราก็จะไม่รู้สึกถือสาอะไร เพราะเข้าใจคนติดดี

เมื่อจบกระบวนการทั้งหมดนี้ มันก็ไม่รู้จะไปทำอย่างไรให้มันทุกข์ ใครจะกินเนื้อสัตว์ก็กินไป สัตว์จะเกิดจะตายก็ตายไป ใครจะติดดีมีอัตตาก็ติดไป เราก็ปล่อยวางความทุกข์ได้ทั้งหมด เหลือสุข เป็นสุขจากการไม่เสพสิ่งใด เป็นสุขจากการหมดกิเลสในเรื่องนั้นๆ แล้วเราก็จะกินมังสวิรัติไปเรื่อยๆ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นจากเรื่องมังสวิรัติไม่ว่ากรณีใดๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,095 views 0

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

แค่ไหนเรียกดี แค่ไหนเรียกชั่ว

หลายครั้งที่เราคงจะเคยคิดสงสัยว่า การดำเนินชีวิตไปในแต่ละวันของเรานั้นได้เกิดสิ่งดีสิ่งชั่วอย่างไร แล้วอย่างไหนคือความดี อย่างไหนคือความชั่ว ดีแค่ไหนจึงเรียกว่าดี ชั่วแค่ไหนจึงเรียกว่าชั่ว

ความดีนั้นคือการไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่นและยังสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและผู้อื่นได้ในเวลาเดียวกัน ส่วนความชั่วนั้นคือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สร้างสมความสุขลวง เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสในตัวเองและยังเป็นสิ่งกระตุ้นให้ผู้อื่นได้เพิ่มกิเลส

เราสามารถยกตัวอย่างของคนดีที่มีคุณภาพที่สุดในโลกได้ นั่นก็คือพระพุทธเจ้า และรองลงมาก็คือพระอรหันต์ จนถึงอริยสาวกระดับอื่นๆ ซึ่งก็จะมีความดีลดหลั่นกันมามาตามลำดับ ในส่วนของคนชั่วนั้น คนที่ชั่วที่สุดก็คงเป็นพระเทวทัตที่สามารถคิดทำชั่วกับคนที่ดีที่สุดในโลกได้ รองลงมาที่พอจะเห็นตัวอย่างได้ก็จะเป็น คนชั่วในสังคมที่คอยเอารัดเอาเปรียบเอาผลประโยชน์ของตัวเอง มากกว่าผลประโยชน์ของส่วนรวม

แล้วเราเป็นคนดีหรือคนชั่ว?

การที่เราเข้าใจว่าดีที่สุด ชั่วที่สุดอยู่ตรงไหนเป็นการประมาณให้เห็นขอบเขต แต่ที่ยากกว่านั้นก็คือ “เราอยู่ตรงไหน” เรากำลังอยู่ในฝั่งดี หรือเราคิดไปเองว่าเราดี แต่แท้ที่จริงเรายังชั่วอยู่

ดีของแต่ละคนนั้นอาจจะไม่เหมือนกัน ถ้าเราเป็นคนเข้าวัดทำบุญ เราก็จะบอกว่าลูกหลานที่เข้าวัดทำบุญนั้นเป็นคนดี แต่ถ้าเราเป็นหัวหน้าโจรที่เต็มไปด้วยกิเลส เราก็มักจะมองลูกน้องที่ขโมยของเก่งว่าดี มองว่าคนที่ขโมยของมาแบ่งกันคือคนดี เรียกได้ว่าคนเรามักจะมองว่าอะไรดีหรือไม่ดี จากการที่เขาได้ทำดีอย่างที่ใจของเราเห็นว่าดีนั่นเอง

การมองหรือการวัดค่าของความดีด้วยความคิดของผู้ที่มีกิเลสนั้น มักจะทำให้ความจริงถูกบิดเบือนไปตามความเห็นความเข้าใจที่ผิดของเขา เช่น บางคนเห็นว่าการเอาเนื้อสัตว์ ผักผลไม้ ไปไหว้เจ้าว่าดี นั่นคือดีตามความเห็นความเข้าใจของเขา แต่อาจจะไม่ได้ดีจริงก็ได้

ดังนั้นการวัดค่าของความดีนั้นจึงต้องใช้ “ศีล” ซึ่งเป็นเครื่องมือเดียวที่พอจะอ้างอิงถึงความดีความชั่วได้ เพราะคนมีปัญญาย่อมมีศีล คนมีศีลย่อมมีปัญญา ศีลนั้นเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เราไปทำชั่วทำบาปกับใคร ดังนั้นคนที่เห็นว่าการไม่ทำความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นเป็นสิ่งดี เขาเหล่านั้นย่อมเห็นประโยชน์ของการถือศีล

หากเราจะหามาตรฐานของคำว่าดีนั้น ก็คงจะเป็นไปได้ยาก เพราะความพอใจในศีลนั้นแตกต่างกัน บางคนบอกว่าทุกวันนี้ตนไม่ถือศีลก็มีความสุข เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนยินดีถือศีล ๕ ก็เรียกว่าดีได้แล้ว บางคนบอกอย่างน้อยต้องถือศีล ๑๐ จึงจะเรียกว่าดี ด้วยความยินดีในศีลต่างกัน ปัญญาจึงต่างกัน ผลดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน ดีที่เกิดขึ้นก็ต่างกัน

ถ้าเราอยู่ในหมู่คนที่เที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เขาก็มักจะบอกว่า การหาเลี้ยงชีวิตตนเองได้เป็นสิ่งดีแล้ว เขาสามารถหาเงินมากินเหล้า สูบบุหรี่ เที่ยวเตร่ได้โดยไม่ต้องเดือดร้อนพ่อแม่หรือครอบครัว เขาก็เห็นว่าเป็นสิ่งดีแล้ว

ในมุมของคนที่เลิกเที่ยวและเสพสุขจากอบายมุข ก็มักจะมองว่า การได้ทำบุญทำทาน ถือศีล ๕ เป็นสิ่งดี การได้เกิดมานับถือศาสนาเป็นสิ่งดี แต่การเที่ยวเตร่ กินเหล้า เสพสิ่งบันเทิง เป็นการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่น ทำให้ตัวเองต้องลำบากกาย เสียเงิน เสียเวลา และทำให้คนที่บ้านเป็นห่วง ทุกข์ใจ ไม่สบายใจ

ดังนั้นจะหามาตรฐานของความดีนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หากจะถามว่าสิ่งใดเป็นฐานต่ำสุดของความไม่เบียดเบียนก็จะสามารถตอบได้ว่าฐานศีล ๕ และจะลดการเบียดเบียนตัวเองและผู้อื่นลงมาเรื่อยๆ เมื่อปฏิบัติศีลที่สูงยิ่งๆขึ้นไป

คนที่เฝ้าหาและรักษามาตรฐานความดีให้เข้ากับสังคม เสพสุขไปกับสังคม จะต้องพบกับความเสื่อมลงเรื่อยๆ เพราะโลกมักถูกมอมเมาด้วยกิเลส เราผ่านมาถึงกึ่งพุทธกาล และกำลังจะดำเนินไปสู่กลียุค มาตรฐานของความดีก็จะค่อยๆ ลดระดับลงมาตามความชั่วของคน

จะเห็นความเสื่อมนี้ได้จากพระในบางนิกาย บางลัทธิ มักเสื่อมจากธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ เสื่อมจากบทบัญญัติที่ได้กำหนดไว้เพื่อการละหน่ายคลายกิเลส เช่น ท่านให้ฉันวันละมื้อ แต่พระบางพวกก็สู้กิเลสไม่ไหว เมื่อมีคนมีกิเลสมากๆรวมตัวกันก็เลยกลายเป็นคนหมู่มาก กลายเป็นเสียงส่วนใหญ่ ว่าแล้วก็กลายเป็นพระฉันวันละสองมื้อ หรือบางวัดก็แอบกินกันสามมื้อเลยก็มี

ดังนั้นการจะเกาะไปกับค่ามาตรฐาน ก็คือการกอดคอกันลงนรก เพราะคนส่วนมาก ยากนักที่จะฝืนต่อต้านกับพลังของกิเลส มีเพียงคนส่วนน้อยเท่านั้นที่สามารถต่อกรกับกิเลสได้ ดังที่พระพุทธเจ้าได้เปรียบไว้เหมือนกับ “จำนวนเขาโค เมื่อเทียบกับเส้นขนโคทั้งตัว” การที่เราทำอย่างสอดคล้องไปกับสังคม ไม่ได้หมายความว่ามันจะดี หากสังคมชั่ว เราก็ต้องไปชั่วกับเขา แม้เขาจะบอกหรือหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นมันดี แต่บาปนั้นเป็นของเรา ทุกข์เป็นของเรา เรารับกรรมนั้นคนเดียว ไม่ได้แบ่งกันรับ เราชั่วตามเขาแต่เรารับกรรมชั่วของเราคนเดียวไม่เกี่ยวกับใคร ดีก็เช่นกัน เราทำดีของเราก็ไม่เกี่ยวกับใคร

ดังเช่นการดื่มเหล้า เบียร์ เครื่องดื่มมอมเมาทั้งหลาย เรารู้ดีว่าผิดศีลข้อ ๕ อย่างแน่นอนเพราะนอกจากจะทำให้หลงมัวเมาไปกินแล้วยังทำให้มัวเมาไร้สติตามไปด้วย แต่ด้วยโฆษณาทุกวันนี้จากสื่อหลายช่องทาง โดยเฉพาะจากคนรอบข้างที่ว่าเหล้าดีอย่างนั้น เหล้าดีอย่างนี้ กินเหล้าแล้วทำให้มีความสุข เพลิดเพลิน ไปกับบรรยากาศเสียงเพลงและสุรา เราถูกมอมเมาและทำให้เสื่อมจากศีลด้วยคำโฆษณา คำอวดอ้าง คำล่อลวงทั้งทางตรงและทางอ้อม ทำให้หลงว่าสิ่งนั้นดี เสพสิ่งนั้นแล้วจะสุข ใครๆเขาก็เสพกัน นิดๆหน่อยๆไม่เป็นไรหรอก นี่คือลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยกิเลสของสังคมและคนรอบข้าง รวมทั้งกิเลสของตนเองด้วย

หรือเครื่องดื่มที่ไม่ได้ทำให้ร่างกายมัวเมา แต่มีกระบวนการทำให้จิตใจมัวเมาเช่น ชาหลายๆยี่ห้อ มักจะใช้กลยุทธ์ทางการตลาดเข้ามาเร่งให้คนเกิดกิเลส จากคนปกติที่ไม่เคยอยากกินชายี่ห้อนั้น ก็สามารถทำให้กิเลสของเขาเพิ่มจนอยากกินได้ โดยการกระตุ้นล่อลวงไปด้วยลาภ เช่น แจกวัตถุสิ่งของที่เป็นที่นิยม ที่คนอยากได้อยากมีกัน เพื่อมอมเมาให้คนหลงในการเสี่ยง การพนันเอาลาภ ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับคนหมู่มาก การเพิ่มกิเลสหรือการสะสมกิเลสนั้นเป็นบาป ผู้กระตุ้นให้เกิดกิเลสนั้นย่อมเป็นเหตุแห่งบาป เป็นความชั่ว ทำให้คนเสื่อมจากความปกติที่เคยมี กลายเป็นแสวงหาลาภในทางไม่ชอบ เป็นลักษณะของความเสื่อมที่ถูกชักจูงโดยการตลาด และผู้ประกอบการที่ละโมบ

เมื่อการชักจูงด้วยลาภเริ่มที่จะไม่สามารถกระตุ้นกิเลสของคนได้ ก็จะเริ่มกระตุ้นกิเลสทางอื่นเช่น กระตุ้นกาม หรือกามคุณ เช่น กระตุ้นรูป ดังเช่นชาหลายยี่ห้อที่บอกกับเราว่า กินแล้วสวย กินแล้วหุ่นดี กินแล้วไม่อ้วน เหล่าคนผู้มีกิเลสหลงในรูปหลงในร่างกายหรือความงามก็จะถูกดึงให้ไปเป็นลูกค้าได้โดยง่าย ทั้งที่สิ่งเหล่านี้ไม่จำเป็นกับชีวิตเลย ไม่ได้สร้างให้เกิดความสุขแท้เลย แต่เรากลับหลงมัวเมาไปตามที่เขายั่วกิเลสของเรา แล้วเรากลับหลงว่ามันดี หลงว่าสิ่งนั้นคือสิ่งที่ดี แต่จริงๆแล้วมั่นชั่ว มันพาเพิ่มกิเลส มันไม่ได้พาลดกิเลส เมื่อสังคมสิ่งแวดล้อมพาเพิ่มกิเลสแล้วเราคล้อยตามไป มันก็ชั่ว ก็บาป ก็นรกไปด้วยกันนั่นแหละ

กิเลสนั้นมีต้นกำเนิดเดียวกัน หากเราเพิ่มกิเลสให้เรื่องใดเรื่องหนึ่ง กิเลสเรื่องอื่นๆก็มักจะเพิ่มตามไปด้วย ดังนั้นการเพิ่ม กระตุ้น หรือสะสมกิเลสไม่ว่าจะเรื่องใด ก็เป็นทางชั่วทั้งสิ้น

ไม่ทำบาปแล้วทำไมต้องทำบุญ

หลายคนมักพอใจในชีวิตของตน ที่หลงคิดไปว่าตนนั้นไม่ทำบาป หลงเข้าใจไปว่าไม่ชั่ว แล้วทำไมต้องทำบุญ แค่ไม่ชั่วก็ดีอยู่แล้วนี่…

เราจะรู้ได้อย่างไรว่าความคิด คำพูด การกระทำของเราไม่เป็นบาป… ในเมื่อเราไม่รู้ ไม่มีตัววัด ไม่มีใครมาบอก เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราไม่ชั่ว เราไม่บาป การที่เราคิดเอาเองว่าเราไม่บาปนั้นจะถูกต้องได้อย่างไร

มีคนหลายคนบอกว่าฉันไม่ชั่ว แม้ฉันจะเลิกงานไปกินเหล้าฟังเพลง ฉันก็ไม่ได้เบียดเบียนใคร แต่พอบอกไปว่าเบียดเบียนตัวเองนะ…. ก็มักจะต้องจำนน ถึงแม้ว่าจะพยายามเถียงว่าเบียดเบียนตัวเองก็เป็นเรื่องของเขา ก็จะโดนความชั่วอีกข้อ ก็คือมีอัตตา ยึดตัวเราเป็นของเรา สรุปว่าเพียงแค่คิดเข้าข้างตัวเองยังไงก็หนีไม่พ้นบาปไม่พ้นความชั่ว

คนเราเวลาชั่วมากๆก็มักจะมองไม่เห็นดี ไม่เข้าใจว่าดีเป็นเช่นไร เพราะโดนความชั่ว โดนบาป โดนวิบากบาปบังไม่ให้เห็นถึงความชั่วนั้น จึงหลงมัวเมาในการทำชั่ว แล้วเห็นว่าเป็นสิ่งดี หรือที่เรียกว่า เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

แม้ว่าในชีวิตนี้เราเกิดมาจะไม่ทำชั่วเลย เป็นฤาษีนั่งอยู่ในเรือน มีคนเอาของกินมาถวาย แต่นั่งสมาธิอยู่อย่างนั้นทั้งชีวิต ไม่ทำความเดือดร้อนให้ใคร นั่นก็คือชั่วอยู่ดี เพราะตนเองไม่ได้หาเลี้ยงชีพ ทั้งยังกินบุญเก่า คือให้เขาเอาของมาให้ เรียกได้ว่าเกิดชาติหนึ่งไม่ทำชั่วเลย แต่ก็กินบุญเก่าไปเรื่อยๆ

เหมือนคนที่มีเงินฝากในธนาคาร ไม่ได้ฝากเงินเพิ่ม แต่ก็ถอนเงินและดอกเบี้ยมากินใช้เรื่อยๆ ใช้ชีวิตแบบนี้หมดไปชาติหนึ่ง กินบุญเก่าไปเปล่าชาติหนึ่ง เกิดมาเป็นโมฆะไปชาติหนึ่ง เกิดมาทำตัวไร้ค่าไปชาติหนึ่งแล้วก็ตายไป เป็นต้นไม้ต้นหนึ่งยังดีกว่าเป็นคนที่เกิดมาไม่ทำประโยชน์กับใคร ต้นไม้มันดูดน้ำดูดธาตุอาหารในดินมายังสร้างเป็นดอกผลให้สัตว์อื่นได้กิน

และการจะดำเนินชีวิตไปสู่ความผาสุกอย่างยั่งยืนนั้น ต้องหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ชั่วนั้นต้องหยุดทำก่อนเป็นอันดับแรก จากนั้นจึงทำดีเติมเข้าไป ให้กุศลได้ผลักดันไปสู่การทำจิตใจให้ผ่องใส ผ่องใสจากความมัวเมาของกิเลส ปราศจากความอยากได้อยากมี ซึ่งการจะทำจิตใจให้ผ่องใสได้นั้น จำเป็นต้องมีครูบาอาจารย์ที่เป็นผู้รู้ธรรมมาสอน จะนึกคิดเอาเองไม่ได้ และการจะได้เจอครูบาอาจารย์นั้น ต้องทำดี ทำกุศลที่มากเพียงพอ ที่ความดีนั้นจะผลักดันเราไปพบกับครูบาอาจารย์ผู้มีบุญบารมีนั้นได้ และการจะเติมบุญกุศลให้เต็มจนเป็นฐานในการขยับสู่การทำจิตใจให้ผ่องใสนั้น ต้องอุดรูรั่วที่เรียกว่าความชั่วเสียก่อน หากทำดีไม่หยุดชั่ว ก็เหมือนเติมน้ำในโอ่งที่รั่ว เติมไปก็หาย ทำดีไปก็แค่ไปละลายชั่วที่เคยทำ แล้วชั่วที่เคยทำก็จะมาฉุดดีที่พยายามทำอีก ดังนั้น การจะทำให้ชีวิตมีความสุขอย่างยั่งยืน คือการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส ซึ่งเป็นการกระทำที่เกื้อหนุนซึ่งกันและกัน เป็นหนึ่งเดียวกัน ไม่แยกจากกัน

คนติดดี

คนทั่วไปมักจะมองว่าคนดีนั้นอยู่ในสังคมยาก เพราะอาจจะติดภาพของคนติดดีมา คนที่ติดดี ยึดดี ต้องเกิดดีจึงจะเป็นสุข จะไม่สามารถอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุขนัก เพราะสังคมทุกวันนี้มักไม่มีความดีให้เสพ มีแต่ความวุ่นวาย แก่งแย่งชิงดี ชิงเด่น หลอกลวง เอารัดเอาเปรียบ คนติดดีเมื่ออยู่ในสังคมที่มีแต่ความชั่วเช่นนี้ก็มักจะหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบใจ ทำให้เกิดอาการหม่นหมอง เป็นทุกข์ เพราะไม่ได้เสพดีดังที่ตนเองหวัง

ความติดดีนั้นมีรากมาจากอัตตา คือความยึดมั่นถือมั่น ซึ่งจะเรียกคนติดดีว่าคนดีนั้น ก็พอจะเข้าใจได้ในสังคม แต่จะให้เรียกว่าคนดีแท้นั้นก็คงจะไม่ใช่ เพราะคนที่ติดดีนั้น พึ่งจะเดินมาได้เพียงครึ่งทาง เขาเพียงละชั่ว ทำดีมาได้บ้าง แต่ยังไม่สามารถทำจิตใจตนเองให้ผ่องใสจากความยึดมั่นถือมั่นได้ จึงเกิดเป็นทุกข์

การเป็นคนดีนั้นไม่ได้หมายความว่า เราจะได้รับแต่สิ่งที่ดี เราจะได้สิ่งดีก็ได้ จะได้รับสิ่งไม่ดีก็ได้ แต่เราจะต้องรับรู้ให้ได้ว่า สิ่งดีที่เราได้รับเกิดจากการที่เราทำดีมา และสิ่งไม่ดีที่เราได้รับ เกิดจากชั่วที่เราเคยทำมาก่อน ตั้งแต่สมัยที่ยังไม่ทำดี หรือจากภพก่อนชาติก่อน กรรมเก่าก่อนก็ตามมันไม่จำเป็นว่าทำดีแล้วต้องเกิดดีให้เห็นเสมอไป เพราะเรื่องกรรมเป็นเรื่องอจินไตย(เรื่องที่ไม่ควรคิดคาดคะเน เดา หรือคำนวณผล) เราทำดีอย่างหนึ่งเราอาจจะได้ดีอีกอย่างหนึ่งก็ได้ หรือดีนั้นอาจจะสมไปชาติหน้าภพหน้าก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น ตอนเด็กๆเราได้ของขวัญจากผู้ใหญ่ ทั้งๆที่เราไม่เคยทำดีให้ผู้ใหญ่หรือใครๆขนาดนั้นเลย นั่นก็เป็นผลแห่งกรรมที่เราเคยทำมา ถ้าสงสัยก็อาจจะลองเปรียบเทียบกับเด็กที่เขาจนๆเกิดมาไม่มีจะกินก็ได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกนะ ที่จะได้จะมีในสิ่งของหรือความรัก เพราะถ้าหากเขาไม่เคยได้ทำกรรมดีเหล่านั้นมา เขาก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะได้รับกรรมดีนั้นเหมือนอย่างคนอื่นที่เขาทำมา

ซึ่งเหล่าคนติดดีมักจะหลงเข้าใจว่าทำดีแล้วต้องได้ดี เมื่อคนติดดีได้รับสิ่งร้ายก็มักจะไม่เข้าใจ สับสน สงสัยในความดีที่ตนทำมา เมื่อไม่ได้รับคำตอบที่ดีพอให้คลายสงสัยในเรื่องของกรรม ก็มักจะเสื่อมศรัทธาในความดี กลับไปชั่วช้าต่ำทราม เพราะความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเรื่องกฎแห่งกรรม ซ้ำยังทำดีด้วยความหวังผล เมื่อไม่ได้ดีดังหวัง ก็มักจะผิดหวัง ท้อใจ และเลิกทำดีนั้นไปนั่นเอง

ยังมีคนติดดีอีกมากที่หลงในความดีของตัวเอง ซึ่งก็มักจะเป็นเรื่องปกติ เมื่อเราสามารถลด ละ เลิก สิ่งที่เป็นภัย มาหาสิ่งที่ดีได้แล้ว เมื่อมองกลับไปยังสิ่งชั่วที่ตนเคยทำมาก็มักจะนึกรังเกียจ เพราะการจะออกจากความชั่ว ต้องใช้ความยึดดี ติดดีในการสลัดชั่วออกมา เมื่อสลัดชั่วออกจากใจได้แล้วก็ยังเหลืออาการติดดีอยู่ ซึ่งทำให้เกิดอาการถือดี หลงว่าตนดี ยกตนข่มท่าน เอาความดีของตนนั้นไปข่มคนที่ยังทำชั่วอยู่ เพราะลึกๆในใจนั้นยังมีความเกลียดชั่วอยู่และไม่อยากให้คนอื่นทำชั่วนั้นต่อไป

การจะล้างความติดดีนั้น จำเป็นต้องใช้ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขาให้มาก ให้เห็นว่าคนที่ยังชั่วอยู่นั้น เราก็เคยชั่วมาก่อนเหมือนกันกับเขา กว่าเราจะออกจากชั่วได้ก็ใช้เวลาอยู่นาน และก็ไม่ได้หมายความว่าเขาจะใช้วิธีเดียวกับเราออกจากชั่วนั้นได้ เพราะคนเรามีการผูกการยึดกิเลสมาในลีลาที่ต่างกัน เหมือนกับว่าแต่ละคนก็มีเงื่อนกิเลสในแบบของตัวเองที่ต้องแก้เอง ดังนั้นการที่เราจะออกจากความติดดีก็ไม่ควรจะไปยุ่งเรื่องกิเลสของคนอื่นให้มาก แต่ให้อยู่กับกิเลสของตัวเองว่าทำไมฉันจึงไปยุ่งวุ่นวาย ไปจุ้นจ้านกับเขา ทำไมต้องกดดันบีบคั้นเขา ถึงเขาเหล่านั้นจะทำชั่วไปตลอดชาติก็เป็นกรรมของเขา เราได้บอกวิธีออกจากชั่วของเราไป แล้วเราก็ไม่หวังผล บอกแล้วก็วาง ทำดีแล้วก็วาง ผลจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับตัวเขา จะเกิดดีเราก็ยินดี จะไม่เกิดดีเราก็ไม่ทุกข์

และคนที่ดีที่หลงมัวเมาในความดี หรือติดสรรเสริญ โลกธรรม อันนี้เรียกว่าชั่ว เป็นดีที่สอดไส้ไว้ด้วยความชั่ว มีรากจริงๆมาจากความชั่ว ความดีที่เกิดถูกสร้างมาจากความชั่วในจิตใจ จะเห็นได้จากคนทำบุญทำทานเพื่อหวังชื่อเสียง ทำดีหวังให้คนนับหน้าถือตา ทำดีหวังให้คนเคารพ แบบนี้ไม่ดี ยังมีความชั่วอยู่มาก ไม่อยู่ในหมวดของคนที่ติดดี

การเป็นคนดีนั้นไม่จำเป็นว่าคนอื่นเขาจะมองเราว่าเป็นคนดีเสมอไป ขนาดว่าพระพุทธเจ้าดีที่สุดในจักรวาล ก็ยังมีคนที่ไม่ศรัทธาในตัวท่านอยู่เหมือนกัน แล้วเราเป็นใครกัน เราดีได้เพียงเล็กน้อยจะไปหวังว่าจะมีคนมาเชิดชูศรัทธาเรา เราหวังมากไปรึเปล่า… โลกธรรม สรรเสริญ นินทา มันก็ยังจะต้องมีตราบโลกแตกนั่นแหละ ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วก็ต้องมีคนสรรเสริญ นินทา ดังนั้นเราอย่าไปทำดีเพื่อมุ่งหวังให้ใครเห็นว่าเราดี จงทำดีเพื่อให้เราดี ให้เกิดสิ่งที่ดีในตัวเรา เท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์