Tag: อัตตา

การมีคู่/อัตตา

August 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,471 views 0

การมีคู่ คือการแสดงความเป็นเจ้าของ ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ คือลักษณะหนึ่งของ อัตตา

ถ้าเราไม่เข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งใด ก็คงจะไม่มีเหตุให้ต้องมีความทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น

ช่วงนี้มีแมวจรแวะเวียนเข้ามาพักที่บ้าน ผมเองก็ไม่เคยเกิดความรู้สึกว่าเราจะต้องดูแลอะไรมันมากนัก ก็อยู่กันไปตัวใครตัวมัน ไม่สร้างความเป็นเจ้าของ แม้จริง ๆ เราจะมีอำนาจในการล่อลวงก็ตามที (เคยเลี้ยงมา)

ก็เลยนึกถึงการมีคู่นี่แหละ การมีคู่นี่คือจะเข้าไปเป็นเจ้าของอีกฝ่าย ไม่ให้คนอื่นได้ไป ฉันเป็นเจ้าของเธอคนเดียว ก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์นั่นแหละ แต่เป็นสัตว์มนุษย์ บำเรอด้วยรักและการตามใจ

เพราะติดเสพในตัวตนของอีกฝ่าย เลี้ยงคนก็ติดคน เลี้ยงแมวก็ติดแมว ติดความเสพในรสสุขของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในความเป็นคู่ ในความเป็นเจ้าของ ในความเป็นของของฉันเพียงคนเดียว เขารักฉันเพียงคนเดียว ฉันคนเดียวที่มีสิทธิ์จะครอบครองเขา

พอคิด ๆ ไป อันนี้มันก็ชัดเลยว่า การไปมีคู่คือสภาพอัตตาเต็มบ้อง คือไปเอาบุคคล เป็นตัว ๆ มาเป็นตัวเราของเราเลย มีแมวก็แมวเป็นตัว ๆ มีคนก็คนเป็นตัว ๆ หยาบ ๆ เห็นได้ด้วยตา เป็นอัตตาก้อนใหญ่ ๆ ที่ใคร ๆ ก็เห็นได้

คนที่เขาไม่ได้มีศีล ไม่มีธรรม เขาก็ไม่ได้เสพแค่อัตตาเดียวหรอก เขาก็ต้องเสพหลาย ๆ อัตตา หลาย ๆ ตัวตน มีชู้ มีเมียเยอะ มีนั่นมีนี่เล็ก ๆ น้อย ๆ เต็มไปหมด

พอพัฒนาศีลธรรมขึ้นมา ศรัทธาเพิ่มขึ้นมา มีความเห็นไปในทางที่จะพาไปพ้นทุกข์มากขึ้น ก็จะลดลงมาเหลืออัตตาเดียว คือไปตกลงกันว่าเธอเสพฉัน ฉันเสพเธอ จับคู่กันบำเรอกามแก่กัน อันนี้ก็ยังดีขึ้นมากว่าขั้นก่อน ก็ไม่ได้เบียดเบียนไปทั่ว เหลือแต่เบียดเบียนกันเองนี่แหละ มีกันเอง ยึดกันเอง

ต่อมาพัฒนาลดละตัวตนไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่เหลือคู่ไง ตัวตนข้างนอกมันหยาบ มันเป็นทุกข์ มันกำหนดไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน สุดท้ายทุกข์จะสอนว่า การมีคู่นี่มันเป็นทุกข์มาก ๆ เลย ก็เลยต้องปฏิบัติสู่การละวางความยึดอัตตาในความเป็นคู่

ละวางความเป็นกันและกัน ละวางความเป็นเจ้าของ ปล่อยสัตว์เข้าป่า ปล่อยคู่เป็นอิสระจากความผูกพัน ปล่อยให้พ้นไปจากความหลง อันนี้เป็นบุญกุศลมากเชียวหละ เงินก็ไม่ต้องเสีย เสียแต่อัตตา …เพียงแต่คนเขาไม่ชอบทำแบบนี้กัน มันสวนทาง

คนส่วนใหญ่เขาก็ยึดอัตตา ยึดเขาหรือเธอมาเป็นตัวตน มันก็แบก มันก็หนัก ส่วนคนทวนกระแสเขาก็ไปอีกทาง ก็หัดละวางตัวตน ก็เริ่มจากที่มันไกล ๆ ตัวเราก่อน คือวางตัวคนอื่นนั่นแหละ ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเรา ไม่ต้องเอามาแบกก็ได้

กุศลสูงสุดของความสัมพันธ์คือ อย่าไปเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใครเลย

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
15.8.2563

ทางสายกลาง (มังสวิรัติ)

May 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 447 views 0

ทางสายกลางคือการปฏิบัติสู่ความเป็นกลางของจิต ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่าย คือไม่ชอบ และไม่ชัง ถ้าลงรายละเอียดในภาษา ก็คือไม่หลงในกาม และไม่ยึดมั่นในอัตตา

ความชอบความชัง หรือกามและอัตตานั้น เหมือนกับลูกตุ้มเหล็กที่เหวี่ยงไปแล้วแกว่งไปทางด้านหนึ่ง และแกว่งกลับมาอีกด้านหนึ่ง ตราบใดที่ยังมีแรงหลงเหลืออยู่

แรงที่แกว่งให้เกิดความชอบความชังเหล่านี้คือกิเลส ตราบใดที่กิเลสยังเหลือ ลูกตุ้มแห่งกามและอัตตาก็ยังแกว่งไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ดังนั้นการจะดำเนินชีวิตสู่ทางสายกลาง คือต้องลดกิเลส หรือทำความชอบความชังให้เบาลง ในกรณีมังสวิรัติคือการทำความชอบในเนื้อสัตว์ให้เบาบางลง และทำความชังในเนื้อสัตว์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เบาบางลงเช่นกัน

ความชอบหรือกามในเนื้อสัตว์ คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่มีในเนื้อสัตว์นั้น ๆ เป็นเหตุให้คนเข้าไปเสพ แม้จะไม่ได้เข้าไปเสพเนื้อโดยตรง แต่ยังยินดีในการเสพเนื้อเสมือน เนื้อเทียม เนื้อปลอม ก็ยังเป็นลักษณะที่ยังบ่งบอกถึงความจัดในกามที่ยังคิดติดตรึงใจอยู่ การลดกามในเนื้อสัตว์นั้นก็ต้องลดทั้งกามคุณทั้ง ๕ อย่างนั้นลง ไม่ให้จัดจ้าน ไม่ให้เหลือรูปภายนอก สุดท้ายคือกำจัดรูปรอยของความอยากในใจให้ได้

ความชังหรืออัตตาที่มีต่อเนื้อสัตว์และผู้คนที่เห็นต่าง คือทางโต่งอีกด้านของลูกตุ้มกิเลส ที่แกว่งกลับมาด้านอัตตา จิตของคนที่อัตตาแรง แม้จะแรงแค่ไหนแต่จะมีสภาพที่จะยึดเป็นอย่าง ๆ ถ้าไปติดกามก็ติดแรง วนมาอัตตาก็จะชังแรง เป็นสภาพผลักดูดที่แรงเป็นของคู่กัน

ความชังนั้นจะมีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ตนเองก็เศร้าหมอง ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน ส่วนผู้อื่นก็จะรู้สึกกดดันบีบคัน อึดอัด ไม่สบายใจ เป็นลักษณะของความโต่งในการทรมานตนเองด้วยอัตตา แม้จะไม่ได้ไปนั่งบนเตียงตะปู ไม่ได้เดินเหยียบไฟ แต่การหลงในอัตตานั้นทรมานลึกร้ายกว่านั้น เพราะเป็นความทรมานในใจ ไม่มีรูปข้างนอก แต่มีความไม่สบายใจอยู่ข้างใน

อัตตา นั้นเกิดมาจากการให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เช่นสำคัญตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นแล้วไปยกตนข่มเขา ดูถูกดูหมิ่น ดูแคลนเขา ดูเขาว่าด้อย แสดงความเหยียดเขา เป็นต้น

ในกรณีของผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็มักจะมีอัตตาตัวนี้แรง เพราะการจะออกจากกาม มันก็ต้องใช้อัตตา คือใช้ความยึดดีหรือยึดความดีเป็นกำลัง แต่ที่นี้มันจะมีจุดที่ยึดไปแล้วเลยเถิด คือมันเหมือนจะดี แต่มันทุกข์ทรมาน ลำบาก กดดัน บีบคั้น แสดงว่ามันโต่งไปแล้ว

จุดพอดี จุดโต่งในระหว่างการปฏิบัตินั้นไม่เที่ยง จะแปรเปลี่ยนไปตามอินทรีย์พละหรือความเจริญของจิต ในสมัยปฏิบัติแรก ๆ ความพอดีอาจจะเป็นไม่กินเนื้อสัตว์ จันทร์-ศุกร์ มากกว่านี้จะทรมานใจมาก ปฏิบัติต่อมาจิตเจริญขึ้น ความพอดีที่จะทำความเจริญอาจจะเปลี่ยนไปเป็นไม่กินเนื้อตลอดชีวิต แต่ยังอด นม เนย ไข่ น้ำผึ้งนาน ๆ ไม่ไหว จิตมันอยากจนดิ้นรนแสวงหา มันทนไม่ได้

ซึ่งความกลางในที่นี้ไม่ใช่ความกลางเป๊ะ ๆ แต่เป็นการปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง คือค่อย ๆ ลดกำลังของกิเลสที่คอยแกว่งลูกตุ้มแห่งกามและอัตตา ผลคือมันจะเบาแรงลงเรื่อย ๆ ทั้งสองฝั่ง แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกตรง มันจะแรงทั้งสองฝั่ง เวลาติดกามก็ติดแรง เวลาติดอัตตาก็ขมอย่างแรง แต่พอเวียนกลับไปกามก็จะติดกามที่แรงเหมือนเดิม กิเลสคือเครื่องพาวน วนเวียนไปในสองสภาพคือชอบและชัง

ความเป็นกลางนั้นมีจุดจบสมบูรณ์อยู่ที่ความหมดกามและอัตตาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกมาอธิบายแล้วเข้าใจกันเพียงแค่ภาษา เพราะคนที่แกว่งอยู่อย่างรุนแรงในการหมกมุ่นในกามและอัตตา ย่อมไม่เข้าใจความหยุดนิ่ง ดังนั้นคำว่าทางสายกลางแท้จริงแล้วคือทางปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง

จุดจบของทางสายกลางคือความไม่เป็นทุกข์แม้จะไม่ได้เสพ และไม่เป็นทุกข์แม้ทั้งโลกจะไม่ยินดีในธรรมที่เรามีเลย ความไม่ทุกข์คือสภาพสูงสุดที่คนจะเจริญไปได้ ไม่ใช่แค่เป็นคนดี ทำดี ยึดดี อันนั้นเป็นวิถีโลกีย์ทั่วไปซึ่งยังปฏฺิบัติเพียงแค่ดีกับไม่ดี ซึ่งในทางของพุทธนั้นจะมีเพิ่มเติมจากทั่วไปคือกำจัดทุกข์ในดีและไม่ดีเหล่านั้นด้วย เป็นส่วนเสริมที่เหนือจากวิสัยของโลก หรือโลกุตระ แปลง่าย ๆ ว่าเหนือโลก

ดังนั้นการจะเอาทางสายกลางมาอธิบายกันในเชิงวัตถุย่อมจะไม่มีวันเข้าใจ เพราะความเป็นกลางของพุทธคือกลางในใจที่ไม่แกว่งไปทั้งชอบและชัง คือกลางในความผาสุก ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สำคัญที่สุดคือไม่เป็นทุกข์ใจ

เมตตาที่เกินความต้องการ พาลเลยเถิด

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 671 views 0

เวลาที่เราหลงรักหรือหลงห่วงใครมาก ๆ นี่มันมักจะมีอาการเกิน ๆ ขึ้นมาเสมอ ประโยคที่ว่า พาลจะเลยเถิด เป็นประโยคที่คนไทยน่าจะคุ้นหูกันดี ซึ่งถ้านำเอามาแยกเป็นคำ ๆ ก็จะมีคำว่า พาล + เลยเถิด (เกินความพอดี เกินสมควร) ก็สามารถเอามาสังวรใจตนได้ว่า ถ้าเราเริ่มพาล เราจะเริ่มเลยเถิดนะ

คือเวลาเราเมตตาไม่ประมาณเนี่ย มันจะออกอาการล้น ๆ เกิน ๆ เฟ้อ ๆ ฟุ่มเฟือย เสียเวลา ไม่เป็นประโยชน์ น่าเบื่อ น่าชัง ไม่น่ารับฟัง คนฟังเอือมระอา ฯลฯ

ความล้นมันจะออกมาตอนเราหวังดีเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั่นแหละ มันขึ้นต้นด้วยเมตตา แต่แรงผลักมันคืออัตตา มันก็เลยเหมือนรถไฟที่ไม่ติดเบรก พอถึงทางตันก็ชนยับเลย มีกี่ตู้ก็อัดเละไปตามนั้น

ก็เหมือนเมตตาที่ล้นเพราะอัตตานี่แหละ เห็นด้านหน้ามันจะเป็นเมตตาคือหวังดี แต่แฝงด้วยอัตตากองพะเนิน มันก็จะล้น แรง หนัก ฯลฯ

ความเมตตาที่เขาไม่ยินดีรับ ไม่ยินดีฟัง ก็เป็นความเพ้อเจ้อ ผิดศีลอยู่ดี เพราะเราอยากให้เกิดดี มากกว่าที่ดีมันควรจะเกิด มันติดกำแพงแล้ว เราก็ยังจะดัน จะชนเข้าไปอีก หมายจะทะลายกำแพงใจ เปิดใจอีกฝ่าย

โดยหารู้ไม่ว่า ถ้าเขาไม่เปิด ดันยังไงเขาก็ไม่เปิด ดันให้ตาย ดันให้พังเขาก็ไม่เปิดใจ การที่เขาจะศรัทธาหรือยอมให้เราช่วย มันเป็นเรื่องของเขา เป็นงานของเขา เป็นโอกาสที่เขาจะสร้างขึ้นมาเอง

เราจะเมตตาเขาได้สูงสุดก็แค่เท่าที่เขายินดีให้เราทำเท่านั้น บางทีแค่ยิ้มให้ยังผิดเลย เราก็ต้องรู้จักประมาณตนเอง ประมาณผู้อื่น อย่าพยายามล้นหรือเยอะเกิน เพราะมันไม่เป็นประโยชน์ นอกจากจะไม่พากันพ้นทุกข์แล้ว ยังพาให้เสื่อมศรัทธาแก่กันอีก

ถ้าเขาไม่ต้องการแล้วเราไปยัดเยียด แอบสอด แอบแทรก แอบสอน นั่นแหละมันเริ่มพาลแล้ว แล้วมันจะเลยเถิดไปเรื่อย ๆ ตามกำลังของตัณหา ความอวดดี อวดเก่ง ว่าจะช่วยเขาได้ เอาอีกนิดนะ เติมอีกหน่อยนะ ก็หวังกันไป ทำกันไป เขาไม่ได้ขอ ทำเกินหน้าที่ มันก็ล้น เยอะ เกิน ทำไปก็เสพผลที่ตัวเองทำอีก เน่ากันไปใหญ่เลยทีนี้

ดังนั้นจะเมตตาใครก็ตั้งจิตให้เหมาะ ๆ กับที่เขาให้โอกาสเราหน่อย อย่าไปทำเกินหน้าที่ มันจะบาดเจ็บในใจกันเปล่า ๆ อย่างน้อยที่สุดก็เจ็บใจตนเองล่ะนะ

ที่ว่ารักนักรักหนา สุดท้ายก็ฆ่ากันได้

February 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 554 views 0

ได้ยินว่ารักอย่างนั้น รักอย่างนี้อย่าเพิ่งไปรีบเชื่อกันว่าเขาพูดจริง หลายคนเขาก็ว่ารัก แต่เขาก็หักหลังคนรัก ทำร้ายคนรัก หรือฆ่าคนที่เขารักได้หน้าตาเฉย

จริง ๆ เขาก็เอาคำว่ารักมาหลอกกันนั่นแหละ เพื่อที่จะได้ครอบครองอีกฝ่าย เพื่อที่จะเอาชนะ ครอบงำจิตใจ ให้หลงงมงายแต่เขา ให้รักแต่เขา คนก็มอมเมากันด้วยคำว่ารักนี่แหละ

พอหลุดจากมนต์สะกด ไปมอมเมาเขา แล้วอีกฝ่ายไม่เมาด้วย เขาก็ขายหน้าไง ก็พ่นมนต์รักซะดิบดีสุดท้ายไม่รักเราได้อย่างไร? อย่างนี้มันเสียหน้า มันหยามอัตตากัน สุดท้ายก็ลงไม้ลงมือ หักหลัง ทำร้าย ฆ่ากันได้

ความรักของคนจึงมีองค์ประกอบของกามและอัตตาปนอยู่ด้วยกัน กามก็รูปร่าง หน้าตา กลิ่นหอม สัมผัสเสียดสี ฯลฯ ส่วนอัตตาก็ความได้ดั่งใจ ได้คนมาสนองความเป็นตัวตนได้สมใจ จริง ๆ มันก็มีเชื้ออยู่กว้าง ๆ แค่ประมาณนี้แหละ

ได้เสพสมใจก็กิเลสขึ้น ไม่ได้สมใจก็กิเลสขึ้น มีอยู่แค่นี้ ชีวิตที่หลงมัวเมากับความรักก็มีแต่ขาดทุน เพราะได้สมใจก็ทำบาป ไม่ได้สมใจก็ทำบาป มีทิศทางเดียวคือบาป ไม่มีบุญเลย เพราะมีแต่เพิ่มกิเลส ไม่ได้มีกิจกรรมใด ๆ ที่ล้างกิเลสเลย

ถ้าคนเขามีรักจริง ๆ หวังดีกันจริง ๆ เขาไม่ไปจีบ ไม่ไปล่อลวงใครมาให้เป็นคู่หรอก สุภาพบุรุษไม่จีบผู้หญิง ไม่สร้างโอกาส ไม่สร้างภาพ ไม่สนับสนุนให้ใครมาหลงรักด้วย

เพราะรักแล้วมันทุกข์ไง รักแล้วมันเป็นสารพัดทุกข์ จะไปทำให้เขามารักทำไมล่ะ ให้เขามาเป็นทุกข์นี่มันไม่ใช่ความหวังดี ไม่ใช่ความเมตตาเกื้อกูลแล้ว มันก็เป็นความเบียดเบียนนั่นแหละ

ทุกข์เรื่องความรักนี่มันเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก ขนาดมีข่าวฆ่ากันตายเพราะรัก เกือบทุกวัน ขนาดว่าเป็นทุกข์เพราะรักกันอยู่ ยังไม่รู้จักเลยว่านั่นทุกข์ ขนาดเป็นทุกข์กันอยู่คนยังไม่ตระหนักกันเลย ยังจะเอา ยังจะไขว่คว้าอยู่อย่างนั้น ถ้าคนรู้จักทุกข์ชัดเจนจริง ๆ จะไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเป็นทุกข์ แต่เพราะส่วนใหญ่เขาไม่รู้ว่ารักนั้นทำให้เป็นทุกข์อย่างไร ไม่ชัดเจน ไม่รู้แจ้ง ก็เลยพากันเมารักอยู่อย่างนั้น

มันจะมีโอกาสเห็นความจริงตอนผิดหวังนี่แหละ ที่เห็นว่ารักนั้นเป็นของหลอก ไม่สุขจริง ไม่สุขยั่งยืน แต่ก็ใช่ว่าจะเห็นได้ง่าย ๆ เพราะสั่งสมอัตตามามาก ตอนผิดหวังมันจะโกรธแค้นแทนที่จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง สรุป…แทนที่จะได้เข้าใจธรรมะ กลายเป็นกิเลสคาบไปกินหมด แค้น โกรธ เกลียด อาฆาต สุดท้ายก็ไปทำร้าย ไปฆ่าเขา เพื่อเสพรสรักนี่แหละ เพราะถ้าเราไม่รักนะ เขาจะไปมีใคร เราก็จะไม่โกรธ แต่ที่เราโกรธ เพราะเราไปรักนั่นเอง