Tag: ความชัง

ทางสายกลาง (มังสวิรัติ)

May 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 460 views 0

ทางสายกลางคือการปฏิบัติสู่ความเป็นกลางของจิต ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่าย คือไม่ชอบ และไม่ชัง ถ้าลงรายละเอียดในภาษา ก็คือไม่หลงในกาม และไม่ยึดมั่นในอัตตา

ความชอบความชัง หรือกามและอัตตานั้น เหมือนกับลูกตุ้มเหล็กที่เหวี่ยงไปแล้วแกว่งไปทางด้านหนึ่ง และแกว่งกลับมาอีกด้านหนึ่ง ตราบใดที่ยังมีแรงหลงเหลืออยู่

แรงที่แกว่งให้เกิดความชอบความชังเหล่านี้คือกิเลส ตราบใดที่กิเลสยังเหลือ ลูกตุ้มแห่งกามและอัตตาก็ยังแกว่งไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ดังนั้นการจะดำเนินชีวิตสู่ทางสายกลาง คือต้องลดกิเลส หรือทำความชอบความชังให้เบาลง ในกรณีมังสวิรัติคือการทำความชอบในเนื้อสัตว์ให้เบาบางลง และทำความชังในเนื้อสัตว์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เบาบางลงเช่นกัน

ความชอบหรือกามในเนื้อสัตว์ คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่มีในเนื้อสัตว์นั้น ๆ เป็นเหตุให้คนเข้าไปเสพ แม้จะไม่ได้เข้าไปเสพเนื้อโดยตรง แต่ยังยินดีในการเสพเนื้อเสมือน เนื้อเทียม เนื้อปลอม ก็ยังเป็นลักษณะที่ยังบ่งบอกถึงความจัดในกามที่ยังคิดติดตรึงใจอยู่ การลดกามในเนื้อสัตว์นั้นก็ต้องลดทั้งกามคุณทั้ง ๕ อย่างนั้นลง ไม่ให้จัดจ้าน ไม่ให้เหลือรูปภายนอก สุดท้ายคือกำจัดรูปรอยของความอยากในใจให้ได้

ความชังหรืออัตตาที่มีต่อเนื้อสัตว์และผู้คนที่เห็นต่าง คือทางโต่งอีกด้านของลูกตุ้มกิเลส ที่แกว่งกลับมาด้านอัตตา จิตของคนที่อัตตาแรง แม้จะแรงแค่ไหนแต่จะมีสภาพที่จะยึดเป็นอย่าง ๆ ถ้าไปติดกามก็ติดแรง วนมาอัตตาก็จะชังแรง เป็นสภาพผลักดูดที่แรงเป็นของคู่กัน

ความชังนั้นจะมีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ตนเองก็เศร้าหมอง ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน ส่วนผู้อื่นก็จะรู้สึกกดดันบีบคัน อึดอัด ไม่สบายใจ เป็นลักษณะของความโต่งในการทรมานตนเองด้วยอัตตา แม้จะไม่ได้ไปนั่งบนเตียงตะปู ไม่ได้เดินเหยียบไฟ แต่การหลงในอัตตานั้นทรมานลึกร้ายกว่านั้น เพราะเป็นความทรมานในใจ ไม่มีรูปข้างนอก แต่มีความไม่สบายใจอยู่ข้างใน

อัตตา นั้นเกิดมาจากการให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เช่นสำคัญตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นแล้วไปยกตนข่มเขา ดูถูกดูหมิ่น ดูแคลนเขา ดูเขาว่าด้อย แสดงความเหยียดเขา เป็นต้น

ในกรณีของผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็มักจะมีอัตตาตัวนี้แรง เพราะการจะออกจากกาม มันก็ต้องใช้อัตตา คือใช้ความยึดดีหรือยึดความดีเป็นกำลัง แต่ที่นี้มันจะมีจุดที่ยึดไปแล้วเลยเถิด คือมันเหมือนจะดี แต่มันทุกข์ทรมาน ลำบาก กดดัน บีบคั้น แสดงว่ามันโต่งไปแล้ว

จุดพอดี จุดโต่งในระหว่างการปฏิบัตินั้นไม่เที่ยง จะแปรเปลี่ยนไปตามอินทรีย์พละหรือความเจริญของจิต ในสมัยปฏิบัติแรก ๆ ความพอดีอาจจะเป็นไม่กินเนื้อสัตว์ จันทร์-ศุกร์ มากกว่านี้จะทรมานใจมาก ปฏิบัติต่อมาจิตเจริญขึ้น ความพอดีที่จะทำความเจริญอาจจะเปลี่ยนไปเป็นไม่กินเนื้อตลอดชีวิต แต่ยังอด นม เนย ไข่ น้ำผึ้งนาน ๆ ไม่ไหว จิตมันอยากจนดิ้นรนแสวงหา มันทนไม่ได้

ซึ่งความกลางในที่นี้ไม่ใช่ความกลางเป๊ะ ๆ แต่เป็นการปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง คือค่อย ๆ ลดกำลังของกิเลสที่คอยแกว่งลูกตุ้มแห่งกามและอัตตา ผลคือมันจะเบาแรงลงเรื่อย ๆ ทั้งสองฝั่ง แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกตรง มันจะแรงทั้งสองฝั่ง เวลาติดกามก็ติดแรง เวลาติดอัตตาก็ขมอย่างแรง แต่พอเวียนกลับไปกามก็จะติดกามที่แรงเหมือนเดิม กิเลสคือเครื่องพาวน วนเวียนไปในสองสภาพคือชอบและชัง

ความเป็นกลางนั้นมีจุดจบสมบูรณ์อยู่ที่ความหมดกามและอัตตาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกมาอธิบายแล้วเข้าใจกันเพียงแค่ภาษา เพราะคนที่แกว่งอยู่อย่างรุนแรงในการหมกมุ่นในกามและอัตตา ย่อมไม่เข้าใจความหยุดนิ่ง ดังนั้นคำว่าทางสายกลางแท้จริงแล้วคือทางปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง

จุดจบของทางสายกลางคือความไม่เป็นทุกข์แม้จะไม่ได้เสพ และไม่เป็นทุกข์แม้ทั้งโลกจะไม่ยินดีในธรรมที่เรามีเลย ความไม่ทุกข์คือสภาพสูงสุดที่คนจะเจริญไปได้ ไม่ใช่แค่เป็นคนดี ทำดี ยึดดี อันนั้นเป็นวิถีโลกีย์ทั่วไปซึ่งยังปฏฺิบัติเพียงแค่ดีกับไม่ดี ซึ่งในทางของพุทธนั้นจะมีเพิ่มเติมจากทั่วไปคือกำจัดทุกข์ในดีและไม่ดีเหล่านั้นด้วย เป็นส่วนเสริมที่เหนือจากวิสัยของโลก หรือโลกุตระ แปลง่าย ๆ ว่าเหนือโลก

ดังนั้นการจะเอาทางสายกลางมาอธิบายกันในเชิงวัตถุย่อมจะไม่มีวันเข้าใจ เพราะความเป็นกลางของพุทธคือกลางในใจที่ไม่แกว่งไปทั้งชอบและชัง คือกลางในความผาสุก ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สำคัญที่สุดคือไม่เป็นทุกข์ใจ

การจัดการกับความชิงชังรังเกียจ ในคนที่เข้ามาจีบ

February 5, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 725 views 0

ความเกลียดก็คือความไม่ชอบที่สะสมจนมีดีกรีที่เข้มข้นขึ้นเป็นลำดับตั้งแต่รำคาญ ไปจนถึงอาฆาตมุ่งร้าย การสะสมความชัง คือการสะสมบาปให้ตัวเอง ให้ระลึกไว้ว่า ยิ่งโกรธ ยิ่งเกลียดใคร ก็ยิ่งสร้างบาป สร้างขยะ ผลักจิตวิญญาณของตนเองให้จมลงสู่ความเป็นคนพาลลึกยิ่งขึ้นโดยลำดับ

ถ้าเกลียดมาก มันก็ผูกมาก มันคือสภาพคู่ของรักและชัง มันจะเป็นเครื่องพาวน พาหลง เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายจีบ เดี๋ยวก็เป็นฝ่ายถูกจีบ หลงเล่นอินกับบทบาทวนไปวนมาแบบนี้ไม่รู้จบเพราะความเสพในรสของความชอบความชัง การจะออกจากอารมณ์ติดลบที่ขุ่นมัวเหล่านี้ก็มีเพียงการปฏิบัติไปสู่ความเป็นกลางของจิต คือไม่ชอบ และไม่ชัง

ความชังนั้นมีรสสุขในคนโง่ เคยเห็นไหมที่คนเขาไม่ชอบใคร แล้วเขาตั้งวงนินทาว่าร้ายกัน ดุเด็ดเผ็ดมัน นั่นแหละ ความชังมันมีรสให้คนหลงเสพ หลงว่าชังแล้วเป็นสุข ทั้ง ๆ ที่มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย การโกรธ เกลียด ชิงชัง ให้ร้าย นินทา ไม่ใช่วิถีที่จะพาให้ใครไปพ้นทุกข์ได้เลย

การยับยั้งความชัง คือไม่ให้อาหารมัน คือไม่สร้างความชังเพิ่ม ไม่ต้องไปชักชวนใครให้ไปชังเขาเพิ่ม ให้รับรู้ตามจริงว่าเขาก็เป็นคนแบบนั้น เขาก็เป็นของเขาอย่างนั้น แล้วก็เลิกยุ่งไป ห่างไป หรือถ้าเขาดูจะเป็นคนใจกว้างพอที่เราจะพูดบอกได้ ก็ลองพูด ลองแจ้งเขาว่าที่เขาทำนี่มันเบียดเบียนเราอย่างไร มันทำให้เราต้องระวัง เป็นอยู่ไม่ผาสุกอย่างไร ก็ปรับภาษาเอาตามที่เหมาะ แต่ถ้าพูดไม่ได้หรือพูดแล้วไม่ดีขึ้น ก็ให้ทำตัวเองให้ดี ถือศีลให้มากขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสว่าถ้าอยากห่างไกลคนผิดศีล ก็ให้มีศีล ดังนั้นถ้าอยากห่างไกลคนมาจีบ ก็ตั้งตนเป็นคนโสดให้มันมั่น ๆ แน่น ๆ พยายามลดสิ่งที่จะดึงดูดเขา เท่าที่จะทำไหว โดยภาพรวมแล้ว ในเรื่องคู่ชู้สาว กามจะเป็นกิเลสที่เด่นชัดขึ้นมา ดังนั้นการแต่งตัวให้เหมาะสม ไม่แต่งเติมความสวยงาม ไม่แสดงความสำคัญว่าตนงามหรือดูดี ไม่มัวเมาในร่างกายของตน คนธาตุเดียวกันย่อมจะดึงดูดกัน เราก็เปลี่ยนตัวเองไปเป็นธาตุที่เจริญขึ้น สูงขึ้น ถ้าปฏิบัติศีล ๕ อยู่ก็พยายามขยับขึ้นไปศีล ๘ จะพ้นภัยมากขึ้น เพราะมันก็จะแตกต่างกันไปโดยธรรม ไม่เข้ากัน ไม่เหมาะกัน เดี๋ยวเขาก็จะหายไป

การพิจารณาออกจากความชัง คือการพิจารณาประโยชน์ของการที่เขามาจีบที่มีต่อตัวเรา เช่น เราก็จะได้หัดล้างอัตตา ได้ล้างความน่ารังเกียจในใจเรา ซึ่งมันแอบเหม็นเน่าอยู่ในใจเรา แล้วเราไม่ยอมล้าง การเข้ามาจีบของเขาก็เป็นเพียงแค่เครื่องกระทุ้ง เหมือนมือที่มาเปิดถังขยะเปียก ที่หมักหมมเหม็นเน่ามานาน กลิ่นเหม็นที่คลุ้งหรือความทุกข์ไม่ได้มาจากคนเปิด แต่มาจากการหมักขยะเปียกหรืออัตตาของเรานั่นแหละ

พิจารณาโทษของความชังของเรา ว่าจะทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัย ผลเสียต่อตนเองอย่างไรบ้าง เช่น ชังเขาไป เราก็ไม่เจริญ เราจะยิ่งต่ำลงไปอีก และในมุมของการพิจารณากรรม การชังยังสร้างวิบากร้ายผูกเวรผูกกรรมกับเขาไว้อีก ต้องเจอแบบนี้อีกหลายภพหลายชาติจะเอาอีกหรือ? ทุกข์ซ้ำ ๆ นี่มันสุขอย่างไร?

พิจารณาไตรลักษณ์ว่า ที่เขามาจีบนี่มันไม่เที่ยง เดี๋ยวมาแล้วเดี๋ยวก็ไป เขาไม่จีบไปถึงชาติหน้าหรอก อย่างเก่งก็ได้แค่ตามจีบแค่ชาตินี้ ก็ทน ๆ เอา แล้วการจะไปยึดให้มันเที่ยงคือให้มันผาสุกแบบตลอดเวลานี่มันเป็นไปไม่ได้ ชีวิตมันจะเป็นอะไรก็ได้ มีคนมาจีบก็ได้ ไม่มาจีบก็ได้ มันจะเป็นทุกข์เพราะว่ามันยึดสภาพที่เป็นสุข ยึดสวรรค์ และให้เข้าใจว่าเขามาจีบนี่เขาเป็นทุกข์นะ ไม่ใช่เราต้องเป็นทุกข์ ที่เราทุกข์เพราะเรายึด แต่ถ้าเราไม่ยึดว่าจะมาจีบหรือไม่มา ยังไงก็ได้ ก็เหลือแค่เขาที่เป็นทุกข์ เพราะเขาอยากได้เรา เขาก็ต้องเสียเวลาเสียสมองไปปรุงเรื่องไร้สาระมาจีบเรา อันนี้ก็น่าเห็นใจเขา เราก็ต้องเมตตาเขา ใจกว้างให้มาก ๆ ให้เข้าใจเขา ยอมรับความจริงว่าเป็นกรรมที่เราทำมา เราก็ต้องชดใช้ โดยผ่านสิ่งที่เขาแสดง เรากระทบแล้วเราก็รับทราบ เห็นใจ เข้าใจ วางใจ เพราะเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ก็ยึดไว้เป็นตัวตนหรือเป็นสุขเป็นทุกข์ของเราไม่ได้เลย จะไปกำหนดว่าเจอแบบนี้ฉันจะรักเท่านี้ หรือเจอแบบนี้ฉันจะเกลียดเท่านั้น มันก็ไม่มีวันจะเป็นอย่างนั้นตลอดไป แม้อยากจะยึดมั่นถือมั่น แต่มันก็จะเปลี่ยนแปลงไป แม้ว่าเราจะโกรธเกลียดชังชิงแค่ไหน สุดท้ายมันก็จะสลายหายไปอยู่ดี เหตุการณ์เป็นแค่สมมุติ บาปหรือความชิงชังเป็นของจริง

เราก็ต้องขยันพิจารณาธรรมที่ได้ฟังและศึกษามานี่แหละซ้ำ ๆ ไม่เข้าใจก็ไปอ่าน ไปฟัง ไปถามใหม่ แล้วเอามาประมวลผลให้เหมาะกับกิเลสตัวเอง วันหนึ่งถ้าปัญญาถึงรอบ วิบากที่กั้นไว้หมด ขยันตักออกเดี๋ยวมันก็หมดของมันเอง แต่ถ้าไม่เอากิเลสออก มันก็เหม็นเน่าอยู่อย่างนั้น เขามาจีบทีไรก็ขุ่นข้องหมองใจไปทุกที

5.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์