Tag: ปฏิบัติธรรม

เลิกช่วยคนไม่ดีไม่ได้

July 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,709 views 0

คำถามจากบทความ “เลิกรับใช้คนชั่ว” ถามว่า “รู้ว่าเขาไม่ดีแต่เลิกช่วยไม่ได้ เพราะคิดว่าเราเคยทำมา คงต้องช่วยต่อๆไปจนกว่าจะหมดวิบากนี้ใช่มั้ยคะ”

ตอบ วิบากกรรมจะหมดก็ต่อเมื่อไม่สร้างกรรมเช่นนั้น ขึ้นมาใหม่

ทีนี้มาดูกรรมใหม่หรือกรรมที่ตัดสินใจทำในปัจจุบัน เรารู้แล้วว่าเขาไม่ดี แต่เราเลิกช่วยไม่ได้ อันนี้ต้องมาตรวจอคติลำเอียงของเรา ว่าเรามีความ ชอบ โกรธ หลง กลัว อะไรรึเปล่า ถ้ามีอาการ 4 อย่างนี้ คืออาการของกิเลสปัจจุบัน ไม่ได้เกี่ยวกับวิบากกรรมเก่าขนาดนั้นหรอก เกี่ยวกับใจที่หลงผิดในปัจจุบันนี่แหละ

คนที่พ้นอคติ 4 จะมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย อันนี้เอาภายในใจก่อน ภายในใจจะไม่แพ้เหตุผลข้างนอก ปรับไปปรับมาได้อย่างไม่มีอาลัยอาวร ไม่ช่วยคือไม่ช่วย ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ช่วยก็ช่วยต่อเมื่อมันเป็นประโยชน์จริง ๆ ไม่ได้ยึดมั่นหรือชิงชังรังเกียจ

ขนาดสงฆ์ที่ว่าปฏิบัติตนเพื่อความเกื้อกูลผองชน ยังสามารถคว่ำบาตร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับฆราวาสที่ประพฤติไม่ดีได้เลย นับประสาอะไรกับคนธรรมดา ที่มีอิสระ ไม่มีกฏ ไม่มีวินัยอะไรมาบังคับ ก็ตัดสินใจเองตามองค์ประกอบได้เลยว่าจะเลือกคบหรือไม่คบใคร

ถ้าเราไปช่วยโดยไม่พ้นอคติ 4 เราก็ไม่มีวันพ้นวิบากเหล่านี้ มันจะมัด จะพันไปเรื่อย ๆ หมดชาตินี้ ไปต่ออีกทีชาติหน้า มีมาให้รับอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะเราไม่กำจัดเหตุ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ทำแล้วก็ต้องรอรับ ไม่ได้ทำก็ไม่ต้องรับ จะรับก็แค่ส่วนที่เคยทำมา

จะคิดว่าเราเคยทำมานั่นก็ใช่ แต่เราจะทำต่อไปไหม? นั่นก็อีกเรื่อง ถ้าเราไม่ได้ถูกบังคับข่มขู่ให้ทำหรือถึงขั้นไม่ทำแล้วคอขาดบาดตายอะไรแบบนี้ ก็ให้ตั้งสติตรวจใจดี ๆ ให้มันชัดในใจถึงกิเลสที่พาให้เกิดความลำเอียงต่าง ๆ แล้วกำจัดไปโดยลำดับ

ส่วนวิบากกรรมนี่มันก็ไม่ได้หมดกันง่าย ๆ หรอก คนเราทำดีทำชั่วสะสมเหตุมาหลายชาติ ขนาดพระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาตั้งมากมาย วิบากกรรมสมัยที่ท่านเคยทำบาปก็ยังตามมาทวง ขนาดคนที่ดีที่สุดยังโดนกรรมตามมาทวง นับประสาอะไรกับคนทั่วไป

ดังนั้นจะไปตั้งจิตว่าทำให้มันหมด หรือรอให้มันหมด นี่มันจะทุกข์เสียเปล่า ๆ ก็ตั้งใจปฏิบัติล้างความหลงผิด ลำเอียง ยึดมั่นถือมั่น โลภ โกรธ หลง ฯลฯ ไปดีกว่า เพราะไม่ว่ายังไงผลกรรมมันก็ต้องรับอยู่แล้ว ถึงเวลาเขามาให้รับก็รู้เอง หรือมันหมด มันพักไปก็รู้เองว่ามันหมด มันไม่หมดก็รู้ว่ามันไม่หมด ก็รู้ไว้แค่นี้แหละ

ถ้าปฏิบัติธรรมเจริญได้เป็นลำดับ จะเลิกรับใช้คนชั่ว เลิกส่งเสริมคนชั่วได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไกลคนชั่วไปเรื่อย ๆ คนชั่วจะเข้าถึงยากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นผลของสัมมาอาชีวะ ที่เป็นกำลังเสริมให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น คือ ไม่มอบตนในทางที่ผิด

การใช้จ่ายกุศลอย่างสุรุ่ยสุร่าย

July 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 920 views 0

กรรมคือสิ่งที่ทำลงไปแล้ว จะให้ผลแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผลของกรรมจะดลให้ได้รับสิ่งดี สิ่งร้าย ตามที่ได้ทำมา ซึ่งคนเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกทำกรรม แต่ผลที่จะได้รับนั้น ก็จะได้ตามกุศลกรรม(ทำดี)หรืออกุศลกรรม(ทำชั่ว)ที่ทำมา

อธิบายให้เห็นภาพแบบหยาบ ๆ คือ กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก ต้องทำความดีสะสมมามาก แต่การจะใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย

คนส่วนมาก ถูกกิเลสครอบงำ ก็เอาชีวิตและจิตวิญญาณ ไปทุ่มเทให้กับกิเลส อบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน เที่ยวเล่น สิ่งเสพที่เสพไปแล้วติดใจทั้งหลาย เอาไปเทให้กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เอาไปบำเรออัตตา อันนี้เรียกว่าความฟุ้งเฟ้อ พอถึงจุดหนึ่ง มันจะหมด ดีที่ทำมามันมีวันหมด อย่างที่เขาเรียกว่า “หมดบุญ” แต่จริง ๆ คือกุศลกรรมที่ทำมามันหมด มันไม่เหลือ เพราะเอาไปเผากับกิเลสหมด

ถ้าแบบกลาง ๆ ก็พวกที่หันมาทำดีบ้าง แต่ไม่ลดกิเลส ยังเสพ ยังติด ยังหลงมาก ก็เหมือนพวกหาเช้ากินค่ำ ทำดีสร้างกุศลประคองชีวิตกินใช้ไปวัน ๆ แม้จะทำดีมาก แต่ก็ยังมีรูรั่วที่ใหญ่ ทำดีเท่าไหร่ ก็ไหลไปกับกิเลส

ส่วนแบบละเอียดคือหันมาปฏิบัติธรรม มุ่งมาลดกิเลสแล้ว แต่ก็ยังใช้กุศล ใช้โอกาสที่ตัวเองมีไปกับเรื่องข้างนอก ไปกับสิ่งไร้สาระ เช่น ใช้โอกาส ใช้อำนาจ ใช้บารมีตัวเองไปเพื่อให้ตัวเองได้เสพสมใจในผลต่าง ๆ โดยประมาท คือไม่รู้ว่าทุกอย่างนั้นมีต้นทุน

เช่นการเข้าหาครูบาอาจารย์ ยิ่งเป็นท่านที่ถูกตรงด้วยแล้ว เป็นสาวกจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าการได้พบ ได้เข้าถึง ได้ศึกษาตามสาวกที่ถูกตรงเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด (อนุตตริยสูตร)

แล้วที่นี้สิ่งที่เยี่ยมยอดนี่มันจะมีราคาแพงไหม? มันก็แพงมากกว่าสิ่งที่มีขายอยู่ในโลกนั่นแหละ แพงจนประเมินค่าไม่ได้ ต่อให้รวยที่สุดในโลกก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ แต่จะสามารถพบเจอเข้าถึงได้จากความดีที่สะสมมา นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพบสาวกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เงิน แต่เป็นกุศลวิบาก (ผลของการทำดี)

ทีนี้บางคนพบแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ คือจ่ายน่ะจ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อการพ้นทุกข์ ก็เอาสิทธิ์เหล่านั้น ไปพูดเล่นบ้าง คุยเล่นบ้าง ถามเรื่องชาวบ้านบ้าง พูดแต่เรื่องตัวเองบ้าง หรือไม่ก็ที่เลวร้ายคือ เข้าหาท่านเพื่อแสวงหาโลกธรรม อยากเด่นอยากดัง อยากเป็นที่สนใจ อยากมีอำนาจ อยากมีบริวาร อยากเป็นคนสำคัญ เป็นแม่ทัพ เป็นนั่นเป็นนี่ ลักษณะพวกนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำดีมาแล้วเอาไปเทให้หมามันกิน

คือทำดีมาจนมีโอกาสแล้ว กลับไม่ทำประโยชน์ใส่ตัว ไม่สร้างองค์ประกอบในการลดกิเลส ไม่ถามเพื่อลดกิเลส ฯลฯ สุดท้ายตนเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งดีแท้ให้ตนจากโอกาสนั้น ๆ พอวันหนึ่งที่กุศลวิบากหมด ก็จะหมดรอบ จะเกิดเหตุให้ต้องพรากจากครูบาอาจารย์ ในลีลาต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนเดิม

ก็ต้องวนกลับไปจน คือจนโอกาส จนความดี จนมิตรดี เพราะเวลามีโอกาสกลับไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถึงเวลาหมด มันก็หมด แล้วก็ต้องเสียเวลามาทำสะสมใหม่ อีกหลายต่อหลายชาติ

นั่นก็เพราะ พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า ค่าตัวแพงสุด ๆ เลยเชียวล่ะ (ค่าตัวของความดีงาม)

บวชก่อนถูกเบียด

May 26, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 636 views 0

วันก่อนก็มีคนทักมาประมาณว่า ไม่ค่อยมีผู้ชายมาโพสตอบสักเท่าไหร่ ผมก็เห็นตามนั้นแหละ ไม่ค่อยมีหรอก

ผู้ชายนี่ปกติก็มีน้อยอยู่แล้ว ยิ่งมาปฏิบัติธรรมยิ่งมีน้อยมาก ดีไม่ดีปฏิบัติธรรมไปแล้วพลาดเจอนารีพิฆาตไปอีก การที่จะมีผู้ชายอยู่รอดปลอดภัยในความโสด ยินดีในธรรมแห่งความสันโดษ พอใจในความโสด มีน้อยจริง ๆ

ปกติในสังคมก็ไม่ค่อยมีการแสดงธรรมหมวดที่พาให้ยินดีเป็นโสด หรือชี้ให้เห็นโทษของคนคู่อยู่แล้ว มีแต่พาหลงในรสรัก ปรุงแต่งรักให้ดูงดงาม แต่ก็ยังมีประเพณี คือให้บวชก่อนเบียด เป็นกำแพงชั้นสุดท้ายที่จะปกป้องผู้ชายไว้

การบวชคือการละ ละชื่อละโคตร คือทิ้งอดีตทั้งหมดแล้วตั้งใจปฏิบัติชีวิตใหม่ คือชีวิตนักบวช แม้บวชก่อนเบียดจะเป็นความเข้าใจที่ผิดเพี้ยนในเชิงศาสนา แต่ก็เป็นสิ่งสุดท้ายที่จะ “รั้ง” ไว้ ประวิงเวลาไว้ ถ่วงเวลาไว้ ไม่ให้ไปเบียดกันเร็วนัก

เบียดกันคืออะไร บ้างก็ว่าแต่งงาน อยู่ร่วมกัน แต่โดยสภาพจริง ๆ คือไปเบียดเบียนกันนั่นแหละ คือเอาตัวไปเบียดกันให้มันลำบาก หรือเรียกว่าสมสู่กัน เอาใจไปเบียดเบียนกัน ไปเป็นอัตตาของกันและกัน พยายามจะกลืนกันด้วยความหลง สรุปคือเบียดเบียนทั้งกายและใจ

เดาว่า คนรุ่นเก่าเขาก็คงจะคิดว่าถ้าไปบวชก่อนก็อาจจะซึ้งในรสพระธรรมแล้วออกบวชตลอดชีวิตก็ได้ ซึ่งจริง ๆ การบวชมันก็ต้องเป็นแบบนั้น คือบวชเอาธรรม ไม่ใช่บวชรอเบียด

ถ้าบวชรอเบียดนี่มันจะทุกข์มากเลยนะ เพราะตอนบวช แฟนสาวก็คอยรับส่ง ถือหมอน ใส่บาตร เรียกว่าหลอกหลอนกันถึงที่นอน คือฝังสัญญาไว้ที่หมอนแล้ว จะนอนก็หลอนในใจ บิณฑบาตร ก็ยังเจอกันบ่อย ๆ การบวชถ้าไม่มีใครสอนให้ลดกิเลส ให้ลดกาม ลดอัตตา ก็มีแต่จะกำหนัดมากขึ้นทุกวันนั่นแหละ คือรสกามมันจะแรงกว่ารสธรรม

สุดท้ายธรรมก็รั้งไว้ไม่อยู่ สึกไปเบียดในที่สุด สิ้นสุดความสามารถของธรรมที่จะรั้งเอาไว้ เวียนกลับไปเป็นผู้ครองเรือน เสื่อมจากธรรมของนักบวชในที่สุด

ผู้หญิงนี่เป็นภัยที่ร้ายมากสำหรับผู้ชาย แทนที่จะได้อยู่เป็นนักบวชตลอดชีวิต ก็ไปผูกสัญญาใจไว้เป็นบ่วงในใจ ให้ต้องสึก ออกจากความเป็นนักบวชไปหลายต่อหลายราย

บางคนไม่ได้ตั้งใจบวชก่อนเบียดหรอก แต่บวชไปบวชมาเจอสีกาขาว ๆ อวบ ๆ วับ ๆ แวม ๆ มันก็ชักอยากจะเบียด ก็สึกออกมา เพราะอะไร? เพราะเป็นนักบวชนี่มันได้โลกธรรมมาก ได้ลาภ สักการะ บริวารมาก แต่ปฏิบัติธรรมไม่ถูกตรง ไม่คบสัตบุรุษ ไม่มีมิตรสหายดี พอเจอนารีพิฆาตก็เสร็จเลย จบเลย เอาความดีทั้งหมดที่ทำมาเทให้หมากินหมดเลย คือสรุปได้เลยว่าปฏิบัติธรรมมาเพื่อหาเมีย เพราะบทมันจบที่ไปมีเมีย อันนี้มีหลายเคสแล้วทั้งคนดังคนไม่ดัง เป็นเรื่องธรรมดาของกลุ่มที่ปฏิบัติไม่ถูกตรง … แม้กลุ่มที่ปฏิบัติถูกตรงยังป้องกันได้ยากเลย กิเลสเรื่องคู่นี่มันแอบเสพ เขาไม่ค่อยเปิดเผยกันหรอก

จริง ๆ ผู้หญิงก็มีเต็มไปหมดนั่นแหละ อย่างประโยคที่เขาว่า “นารีมีมากเหมือนฝูงลิง” คือเกิดเป็นผู้ชาย ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์เนี่ย ไม่รอดผู้หญิงหรอก มีดักรอทุกสี่แยก

เกิดมามีวิบากกรรม มีบทละคร มีนางเอกมาดักรอให้หลงเป็นพระเอก เป็นระยะ ๆ ขึ้นอยู่กับจะพลาดตอนไหน ส่วนใหญ่ก็ยินดีพลาดด้วย ยอมมอบตัวมอบใจให้หญิงที่ตนหลง มันก็เสียของไป

ชีวิตผู้ชายนี่ความจริงแล้วสามารถเดินในเส้นทางธรรม พาให้ตนเองเจริญได้สะดวกกว่าผู้หญิงมาก คือถ้าจะประพฤติตนเป็นโสดเนี่ย มันจะง่ายกว่า ลำบากน้อยกว่า ปลอดภัยกว่า จะเป็นฆราวาสก็ได้ เป็นนักบวชก็ได้ ทางก็โล่ง ง่าย แต่ผู้หญิงนี่เขาจะไปทางธรรมยาก ครองเรือนอยู่คนเดียวก็อันตราย จะบวชก็ไม่มีที่ให้บวชแล้ว ก็ได้แต่นุ่งห่มเครื่องแบบกันไป

พอชีวิตผู้หญิงมันไปทางเจริญลำบาก ก็ใช้วิธีหาผู้ชายนี่แหละมาเติมเต็ม ยิ่งพวกลามก ก็ไปสอยพวกพระ จับพวกนักบวชมาเป็นสามี เพราะนอกจากจะได้คนดี(ตามที่โลกเข้าใจ) ยังได้เสพอัตตาในความสำเร็จของการข่มผู้ชายที่คนกราบไหว้ด้วย

นักบวชที่สึกมาเบียดผู้หญิง นี่เรียกว่าทิ้งศักดิ์ศรีของนักปฏิบัติธรรมลงไปกอง กราบแทบเท้าผู้หญิงเลยนะ ทีนี้ก็สมอัตตาผู้หญิงเขาล่ะ พระพุทธเจ้าตรัสว่าหญิงย่อมต้องการความเป็นใหญ่ในบ้าน นี่แหละ คือสุดท้ายคุณจะดีจะเก่งเท่าไหร่ คุณก็ต้องมายอมสยบแทบเท้าฉันอยู่ดี

นารีพิฆาตก็ถูกสร้างมาเพื่อปราบผู้ชาย เป็นรูปแบบหนึ่งของกิเลสที่จะคอยฉุดคนลงต่ำ ต่ำแค่ไหน ก็ต่ำกว่าสะดือนั่นแหละ ลองคิดดู พระที่คนยอมก้มหัวกราบไหว้มาหลายสิบปี สุดท้ายไปก้มทั้งตัวทั้งใจให้กับผู้หญิงคนหนึ่ง การกระทำของเขาจะฉุดศาสนาลงต่ำขนาดไหน คนจะเสื่อมศรัทธาในศาสนาขนาดไหน

จริง ๆ คนที่ได้บวช ก็ควรจะใช้โอกาสนั้นทิ้งไปให้หมดเลย เพราะในคำขอบวช มันก็ต้องทิ้งทุกอย่างก่อนบวชอยู่แล้ว ก็ทำให้คำนั้นมันเป็นจริงเสียเลย ไม่ใช่แค่บวชเล่น แล้วก็ไปไกล ๆ ให้เจริญ ๆ พ้น ๆ จากจุดเดิมเลย ไม่ควรกลับมาลำบากอีก

ไม่ต้องสนใจหรอก ผู้หญิงที่รอเราสึกน่ะ พอบวชแล้ว สัญญาก่อนหน้านั้นมันก็เป็นโมฆะหมดแล้ว ให้เข้าใจว่า เขาก็รอเรากลับไปให้เขาเชือดนั่นแหละ รอให้เรากลับไปให้เขาลูบหัวโล้นเรา รอให้เรากลับไปตายรังที่เขา ให้เขาได้กระหยิ่มยิ้มย่องในใจว่า แม้ธรรมะก็ไม่อาจจะมีอำนาจมากไปกว่าฉันไปได้หรอก และสุดท้ายแม้เธอจะพยายามดิ้นรนแค่ไหน ก็ไม่สามารถออกจากกำมือของฉันได้หรอก

บอกเล่า : ชุดบทความคนพาล (จบ)

February 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 716 views 0

ก็คิดว่าบทความเกี่ยวกับเรื่องคนพาลตามที่ได้คิดไว้ก็น่าจะจบลงที่เสวิสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มีการอนุโลมในการช่วยคนอยู่ ก็เรียกว่าเหมาะจะเป็นตัวจบ

เพราะตามโลกมันก็ต้องหลงไปคบคนพาลก่อน > แล้วก็ต้องพัฒนา ออกห่าง ไม่คบคนพาล > ล้างความชิงชังในคนพาล > แล้วก็ล้างความยึดมั่นถือมั่น ไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นอีกทีนั่นแหละ ที่เหลือก็จะเรียนรู้จากความพลาดไป ปรับถอยเข้าถอยออกไป หาจุดที่เป็นกุศลอาศัย

มันจะวนแบบงง ๆ ก็อาจจะมีคนสงสัย ว่าแล้วหลุดพ้นแล้วทำไมยังกลับมาอีก บางทีมันก็อธิบายยาก แต่ก็ยังดีที่มีคำว่า “พระโพธิสัตว์” คือผู้ที่ปัญญาพ้นจากความหลงแล้วกลับมาช่วยคนหลงนั่นเอง

แต่ที่พิมพ์กันหนัก ๆ เพราะว่าส่วนใหญ่ในสังคมเขาก็จะหลงไปคบคนพาลนั่นแหละ บางทีตั้งใจไปปฏิบัติธรรม ไปทำดี ยังพลาดไปคบคนพาล ไปเชื่อใจคนพาลได้เลย

แล้วโทษภัยนี่เขามีมาก อย่าไปเผินว่ามีโทษน้อย เป็นทุกข์น้อย เพราะจริง ๆ เป็นภัยมาก อันตรายเหมือนงู เหม็นเหมือนบ่อขี้ ยังไงก็อย่างนั้น

พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าการไม่คบคนพาล เป็นมงคลในชีวิต “เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

แต่ยุคนี้ยากมาก พลังความดีน้อย คนทำดีน้อย มงคลสูตรนี้มี 38 ประการ 3 ข้อแรกเปรียบเสมือนประตู แต่มาเจอข้อแรกก็ยากแล้ว เหมือนสะดุดขอบทางเดินก่อนเข้าประตูยังไงอย่างงั้น

เหมือนสัมมาทิฏฐิ ถ้าความเห็นผิด ที่เหลือจะผิดทั้งหมดเลย ปัญหาคือเขาก็แปะป้ายว่าสัมมาฯ กันหมดทั้งบ้านทั้งเมืองนั่นแหละ ไม่มีสำนักไหนที่จะแปะป้ายว่าตนเป็นสำนักมิจฉาทิฏฐิสักสำนัก

แล้วก็ปฏิบัติต่างกัน ความเห็นต่างกัน ไม่ไปทางเดียวกัน แต่ขึ้นป้ายสัมมาฯ เหมือนกัน คนเขาก็หลงกันไปตามภูมิล่ะทีนี้ ใครมีทุนเก่ามากก็เจอที่ถูก ใครทำบาปมามาก็เจอที่พาหลง คือไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นโลภ โกรธ หลง กลัว กังวล ระแวง หวั่นไหว ฯลฯ

ถ้าไม่คบคนพาลแล้วเข้าใกล้บัณฑิตไปปฏิบัติบูชานะจะเจริญได้ไวเชียวล่ะ เพราะถ้าทิศทางถูกก็เหลือแต่ความเร่ง ก็เร่งให้เต็มที่ ปฏิบัติธรรมให้เต็มกำลัง ! อ่านแล้วดูดี

ให้นึกภาพรถแข่งที่กำลังเร่งเครื่อง รอสัญญาณปล่อย พอได้สัญญาณแล้วทุกคันก็พุ่งกันไปเต็มที่เลย พุ่งทะยานสุดแรงเกิด แต่ภาพก็คือไปคนละทิศละทาง

8 ทิศก็ว่ายังน้อยไป เรียกว่าไปกันแทบทุกองศาเลยก็ว่าได้ นั่นแหละคือผลของการคบคนพาลในปัจจุบัน ซึ่งจริง ๆ ทางพ้นทุกข์ก็มีทางเดียวนั่นแหละ มรรค 8 ก็มีปฏิบัติแบบเดียว แต่คนเขาก็เข้าใจว่าเขาไป มรรค 8 มีรถ 360 คัน ไป 360 องศา ก็ไปมรรค 8 ทุกคัน

ก็เร่งปฏิบัติกันไป สุดท้ายเดี๋ยวไม่พ้นทุกข์ ก็ต้องเลิกอยู่ดีนั่นแหละ สุดท้ายแล้วเขาก็จะซึ้งใจ ว่าคบคนพาลนั้นพาฉิบหายแบบนี้นี่เอง