ความเหงา

เหงา

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,716 views 1

เหงา

เหงา

ความรู้สึกเหงา อ้างว้าง ว้าเหว่ เป็นภัยเงียบที่คอยดึงดูดสิ่งที่เป็นทุกข์เป็นโทษเข้ามาให้กับชีวิตอยู่เสมอ เพราะเมื่อไหร่ที่รู้สึกขาด จึงเกิดความรู้สึกว่าจะต้องหามาเติม… และสิ่งเหล่านั้นมักจะเป็นสุขลวงที่เป็นส่วนเกินสำหรับชีวิตที่ผาสุกอย่างแท้จริงอยู่เสมอ

เมื่อคนรู้สึกเหงา พวกเขามักจะใช้วิธีแก้ไขปัญหาต่างกัน บ้างก็ระบายออกมาตรงๆ บ้างก็หาทางกลบเกลื่อนความเหงาด้วยการกิน เที่ยว เล่น ทำงาน ทำตัวให้ยุ่งวุ่นวายเข้าไว้ ซึ่งถ้าไม่หนักไปทางเสพกาม ก็หนักไปทางอัตตา คือยึดดี ว่าฉันไม่เหงา ฉันอยู่ได้ ทำใจให้มันลืมๆ ทำให้เหมือนชีวิตไม่เคยรู้จักคำว่าเหงา ทำเป็นว่าไม่มีความเหงา โดยที่ไม่มีเหตุ ไม่รู้ว่า “ความรู้สึกเหงา” นี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และดับมันไปได้อย่างไร ทำได้เพียงกดข่มความเหงาให้มันจมหายไปดื้อๆ

ความเหงาเป็นความทุกข์ชนิดหนึ่งที่ทำให้คนต้องแสวงหาหลายสิ่งหลายอย่างมาบำเรอตนเพื่อบำบัดความทุกข์จากความเหงา ซึ่งการบำบัดความเหงาให้จางคลายเป็นครั้งคราวนั้นก็ต้องใช้เหตุปัจจัยที่มีน้ำหนักแตกต่างกันไปตามปริมาณของความเหงา หรือความเข้มข้นของกิเลสนั่นเอง

ความซวยที่สุดอย่างหนึ่งของคนขี้เหงา คือเมื่อเหงาแล้วก็อยากหาคู่มาบำบัดความเหงา มีความเห็นความเข้าใจผิดๆว่า ถ้ามีคู่แล้วจะแก้ปัญหาความเหงาได้ และยิ่งถ้ามีลูกหลานจะยิ่งไม่เหงา ซึ่งมันถูกอยู่มุมหนึ่ง แต่มันเป็นเพียงการสร้างปัญหาใหม่เข้ามาโดยที่ปัญหาเก่าก็ไม่ได้แก้ เหมือนกับเอาปัญหาใหม่มากดทับปัญหาเก่าไว้ ให้ตนเองได้ทุกข์กับเรื่องใหม่จะได้ไม่ต้องทนทุกข์กับเรื่องเก่า มันก็หนีเสือปะจระเข้ดีๆ นี่เอง

คนขี้เหงาที่หาคู่มาบำบัดความเหงานั้น ต่างจากคนที่หาเพื่อนมาบำบัด ซึ่งเรามีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะหาคู่หรือหาเพื่อน คนที่เขากิเลสหนามากๆ เขาก็พิจารณาประโยชน์ของการมีคู่มาก จนน้ำหนักหรือคุณค่าในการมีอยู่ของเพื่อนตกไป เพราะเขาอยากจะเสพมากๆ การมีคู่คือการได้เสพมากๆ เธอเป็นของฉันคนเดียว เธอต้องบำเรอฉัน ต้องเป็นเพื่อนฉันตลอดไป ต่างจากคนที่หาเพื่อน ซึ่งจะได้เสพในปริมาณที่น้อยกว่า คือยุ่งกันได้ประมาณหนึ่ง ใกล้ชิดกันได้ประมาณหนึ่งเท่านั้นเอง

ซึ่งความทุกข์ที่จะเจอนั้นก็มากไปตามปริมาณของกิเลส อยากคลายเหงาจนถึงขั้นต้องหาคู่มาบำบัดความเหงาก็จะทุกข์มาก ส่วนคนที่พึ่งพาเพื่อนก็จะทุกข์ประมาณหนึ่ง แต่ทั้งสองทางก็ยังทุกข์อยู่ดี ไม่ว่าจะหาคู่หรือหาญาติมิตรสหายมาบำบัดความเหงา เพราะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตนเอง ไม่ใช่การพึ่งตน จึงไม่ใช่ทางพ้นทุกข์

แท้จริงแล้วความเหงาเกิดจากความรู้สึกว่าตัวเองขาด จึงต้องหาคนอื่นมาเติม ทั้งๆที่ความจริงทุกคนก็เป็นคนเต็มคนอยู่แล้ว แต่กิเลสนั้นจะทำให้เราเข้าใจว่าเราขาด เราไม่พอ เรายังพร่อง ยังเราต้องการส่วนเติมเต็ม เรายังต้องตามหาอีกครึ่งหนึ่ง เรายังต้องตามหาคำตอบในชีวิตที่หายไป ฯลฯ

เป็นความรู้สึกต้องการให้ใครสักคนเข้ามาเติม เข้ามาเห็นคุณค่า เข้ามารัก มาดูแลเอาใจใส่ ว่ามีฉันอยู่ในโลกนี้นะ ฉันอยู่ตรงนี้นะ สนใจฉันหน่อย เข้าใจฉันหน่อย คุยกับฉันหน่อย ยอมรับฉันหน่อย เป็นเพื่อนกับฉันหน่อย อยู่กับฉันหน่อย อย่าทิ้งฉันไปนะ ฉันมีตัวตนอยู่ อย่ามองข้ามฉัน อย่าเมินฉัน อย่าลืมฉัน ฯลฯ

ลักษณะเหล่านี้คือลักษณะของอัตตา เมื่อลงรายละเอียดจะพบว่าเป็นอัตตาระดับหยาบคือ “โอฬาริกอัตตา” คือการยึด คน สัตว์ สิ่งของมาเป็นตัวเป็นตน คือต้องการคนอื่น ชีวิตอื่น สิ่งอื่นมาเพื่อเติมเต็มความเป็น “ฉัน” ถ้าไม่มีพวกเขาเหล่านั้น ฉันจะเป็นคนไม่เต็มคน เป็นคนไม่มีคุณค่า เกิดความทุกข์ ถึงจะไม่ได้คนมาเสพ เป็นคู่บ้าง เป็นเพื่อนบ้าง แต่ถ้ามีสัตว์เลี้ยงมาเสพก็ยังดี หรือไม่ก็ให้วัตถุสิ่งของให้ฉันเสพเพื่อบรรเทาความพร่องลวงๆ ที่กิเลสสร้างมานี้

เมื่อเจาะลึกลงไปจะพบว่า “ความเหงา” หรือความทุกข์เพราะไม่มีสิ่งใดมาบำเรอตนนั้น เป็นความรู้สึกที่ปั้นแต่งขึ้นมาเอง สร้างขึ้นมาเอา(มโนมยอัตตา) เราสร้างมันขึ้นมาแล้วก็หลงว่ามันมีจริง มันเหงาจริงๆ มันทุกข์จริงๆ เพราะเราไปยึดว่าสิ่งลวงที่เราหลงสร้างมาเป็นสิ่งจริง

และรากแท้ๆ ของปัญหาอยู่ในระดับ อรูปอัตตา คือ ยึดความเห็นผิดว่าที่ตัวเรานั้นเหงาเพราะขาดสิ่งอื่นมาบำเรอ ชีวิตเราต้องมีคู่ ต้องมีเพื่อน ฉันอยู่คนเดียวไม่ได้ ด้วยสารพัดเหตุอย่างที่ยกมาข้างต้น คือ ฉันมีคุณค่า ฉันมีศักดิ์ศรี ฉันมีตัวตนในโลกใบนี้ ฯลฯ

การแก้ไขปัญหาทุกข์จากความเหงาของพุทธนั้นเป็นการแก้ไปถึงเหตุแห่งความเหงา สิ่งใดที่ทำให้เกิดความเหงา แล้วจะดับเหตุนั้นได้ขนาดไหน และจะปฏิบัติตนอย่างไรเพื่อให้ชีวิตดำเนินไปในหนทางของการดับเหตุแห่งทุกข์นั้น ไม่ใช่การกดข่มหรือปล่อยวางแบบไม่มีเหตุผล ไม่รู้ว่าความเหงาเกิดจากอะไร จะดับให้สนิทต้องทำอย่างไร ความเหงาถึงจะไม่กลับมาหลอกหลอนให้เป็นทุกข์อีกทั้งในชาตินี้และชาติอื่นๆ ต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การคลายเหงา

June 21, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,455 views 0

การคลายเหงา

การคลายเหงา

แย่ที่สุด..คือการหาแฟน

พอใช้..คือกดข่มและฝืนทน

ดีขึ้นมา..คือหาเพื่อน

ดีที่สุด..คือการล้างกิเลส

กิเลส..ที่เป็นเหตุเกิดของความเหงา

………………….

วิธีการคลายเหงานั้นมีมากมาย แต่ละวิธีก็ให้ผลแตกต่างกันไป แต่ที่แย่ที่สุดคือเหงาแล้วหาแฟนเพื่อแก้เหงา ซึ่งเป็นการสร้างปัญหาอื่นๆเพิ่มเติมในชีวิต ซ้ำยังเป็นการแก้ที่ไม่ถูกจุด เพราะเข้าใจเพียงแค่ว่าการมีคู่เท่านั้นที่จะทำลายความเหงาได้ทั้งๆที่มีวิธีอื่นอีกมากมาย

ที่พอจะทำได้โดยไม่ลำบากตนเองมากนักก็คือกดข่มฝืนทนโดยใช้อุบายต่างๆเขามาควบคุมความฟุ้งซ่านของจิตใจ เช่น หากิจกรรมทำ ขยันทำงาน ใช้ข้อธรรมะ ใช้การปฏิบัติสมถะ ฯลฯ ก็เรียกว่าสามารถจัดการกับความเหงาได้ดีในระดับหนึ่ง

ส่วนที่ดีขึ้นมาคือการหาเพื่อน เพื่อนเป็นคำที่มีความหมายกว้าง ในที่นี้จะระบุลงไปที่ระดับของกัลยาณมิตร คือมิตรที่ดี คอยรับฟัง แบ่งปัน แก้ปัญหา ยินดีช่วยเหลือ เคารพในความเห็นของกันและกัน ฯลฯ ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีมิตรที่มีความเกื้อกูลกันในระดับนี้ได้ ซึ่งจะเกิดจากการสร้างขึ้นมาเอง เริ่มจากการยอมรับว่าตนเองนั้นอ่อนแอและยอมรับความช่วยเหลือจากผู้ที่ยินดีจะช่วยและมีศีลธรรม

กัลยาณมิตรจะสามารถแก้ไขของความเหงาได้ดีกว่าแฟน มีความยั่งยืน และมั่นคงกว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดทั้งสิ้นของพรหมจรรย์ นั่นหมายถึงว่าหากเราอยากจะพ้นทุกข์ เราจำเป็นต้องพบกับกัลยาณมิตรเสียก่อน แล้วการมีกัลยาณมิตรจะเป็นสะพานไปสู่การคลายเหงาเอง

แต่ที่ดีที่สุดนั้นก็คือการทำลายความเหงาที่เกิดจากกิเลสนั้นไปเสีย เพราะถ้าไม่มีกิเลส ก็ไม่มีความเหงา ส่วนกิเลสนั้นคือตัวอะไร หน้าตาแบบไหน ก็คงต้องใช้การศึกษาลงไปในจิตของแต่ละคนว่าการที่เกิดความเหงาแล้วเป็นทุกข์แท้จริงแล้วเราอยากเสพอะไร ซึ่งหน้าตาของกิเลสแต่ละคนก็คงไม่เหมือนกัน เพราะสร้างและเสพมาต่างกัน

การจะเข้าถึงการทำลายกิเลสได้ต้องเริ่มจากคบหาสัตบุรุษ หรือผู้รู้สัจจะที่พาพ้นทุกข์ ในที่นี้ก็คือผู้ที่มีวิชาทำลายกิเลสจนสิ้นเกลี้ยงและยอมรับท่านเหล่านั้นเป็นกัลยาณมิตรของเรา ถึงแม้เราจะไม่ได้คุยกับท่านเหล่านั้นโดยตรง แต่ก็จะเอาคำสอนของท่านน้อมเข้ามาพิจารณาในใจตามเนื้อหาสาระให้ลงลึกไปจนกระทั่งเห็นกิเลสซึ่งเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ทั้งปวง

คือการยอมรับฟังความเห็นของท่าน ศึกษาความเห็นของท่านโดยพิจารณาเอาประโยชน์ว่าแท้จริงแล้วความเห็นของเรานั้นต่างจากท่านตรงไหน สิ่งไหนที่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนที่เป็นโทษ เราควรเข้าใจตามท่านหรือเข้าใจตามที่เราเคยเข้าใจ แล้วเหตุอันใดกิเลสตัวไหนที่ขวางกั้นไม่ให้เราสามารถเข้าใจตามท่านได้ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องศึกษากระบวนการ จนได้ความรู้ในการชำระกิเลสมาเป็นของตน เพียรศึกษากิเลสในตน และเพียรทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นให้สิ้นเกลี้ยง ก็จะสามารถทำลายกิเลส ซึ่งเป็นเหตุแห่งความเหงาได้

เมื่อได้รู้เช่นนี้แล้ว เราจึงควรศึกษาการแก้ปัญหาความเหงาให้เกิดประสิทธิภาพ ให้ความเหงานั้นหายไปอย่างถาวร มิใช่แค่เพียงหาสุขลวงมาเสพเพื่อไม่ให้จิตใจทุกข์ทรมานเพราะความเหงา

– – – – – – – – – – – – – – –

20.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)