ชีวิตพอเพียง

ความประหยัดเรียบง่ายของชีวิตมังสวิรัติ

June 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 561 views 0

วันก่อนไปซื้อมะเขือเปราะมาทำแกง กิโลกรัมละ 20 บาท กก. นึงแบ่งกินได้ประมาณ 2 วันกว่า ๆ

มาคิดถึงเนื้อสัตว์ ราคาเนื้อสัตว์ในยุคปัจจุบันโดยเฉลี่ยน่าจะไม่เคยลงไปแตะถึง 20 บาท/กก. นี่เรากินผืชกินผัก เราก็ประหยัดได้มากกว่า เรียบง่ายกว่าด้วย เพราะผักนี่ไม่ต้องแช่ตู้เย็นก็อยู่ได้ ส่วนเนื้อสัตว์นี่ถ้าไม่มีตู้เย็น แล้วไม่เอาไปแตกแดด ก็เน่ากันเลยล่ะ

ในเชิงบริหารชีวิต การกินผักมีประสิทธิภาพกว่าอย่างชัดเจน ทั้งประหยัด เรียบง่าย และแข็งแรง ผมไปตรวจเลือดเมื่อต้นปี หลังจากไม่กินเนื้อสัตว์มา 7 ปีกว่า ผลเป็นที่น่าพอใจมาก หมอที่แจ้งผลแปลกใจว่ามันดีผิดจากทั่ว ๆ ไปในคนรุ่นนี้

ในเชิงกิเลส ผักนั้นมีกามน้อยกว่าเนื้อสัตว์มาก ทั้งสัมผัส และกลิ่น ส่วนรสเขาก็ปรุงจากพืชจากเกลือนั่นแหละ เนื้อสัตว์นี่จืดมาก ไม่เหมือนผักหลายชนิดที่เอามาลวกแล้วหวานขึ้นอย่างชัดเจน

คนส่วนมากเขาก็ปรุงเนื้อสัตว์โดยอาศัยพืชผัก เกลือนี่แหละ มันเลยกินได้ขึ้นมา เป็นรสอร่อยขึ้นมา คนไม่กินเนื้อสัตว์ ขาดเนื้อสัตว์ได้ ไม่ตาย แต่คนขาดพืชผักนี่น่าจะอายุไม่ยืน ไม่เจริญอาหาร อาจจะขาดใจตายได้

แต่ก็มีส่วนกลับของโลก ที่คนกลับไปปรุงพืชผักให้เป็นเนื้อสัตว์ นี่คือมายาของกิเลส ที่จะปั้นปรุงแต่งให้เป็นรสรูปสัมผสที่คนหลงพอใจ ผลออกมาคือ ได้เนื้อเทียมที่ราคาแพงกว่าเนื้อสัตว์มาก ทั้งที่จริง ๆ แล้วพืชผักส่วนใหญ่ราคาไม่แพง แต่พอเอาไปปรุงปั้นแต่งเป็นเนื้อเทียม ราคากลับแพงจนน่าตกใจ

การหากินกับกิเลสคนนั้นบาปมาก ทั้งที่เราสามารถสร้างการรับรู้ในการไม่กินเนื้อสัตว์ให้ประหยัดเรียบง่ายได้ แต่ด้วยอำนาจของกิเลส และแนวคิดในเชิงทุนนิยม เขาก็จะทำตรงกันข้าม คือผลิตมาให้คนอยากเสพ แล้วเอาเงินมาก ๆ เยอะ ๆ ขายแพง ๆ วางตำแหน่งให้ดูสูง ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ มันก็คือซากพืชที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรม ไร้ความสด ลดคุณค่า เพิ่มตัณหา พายากจน

การกินผักท้องถิ่นตามฤดูกาลกลับเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยได้พบเห็นเท่าไรนักในกลุ่มสนทนาเกี่ยวกับการเลิกกินเนื้อสัตว์ เพราะมันธรรมดาเกินไป ไม่สมใจกิเลส เขาต้องเอาเมนูโก้ ๆ หรู ๆ มาโชว์กัน ให้เกิดความอยาก

จริง ๆ คนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยปัญญานี่เขาไม่ต้องเอาของกินอร่อย ๆ หน้าตาดี ๆ มาล่อหรอก ก็กินพืชผัก ต้มผัดแกงทอดไปเป็นธรรมดานี่แหละ ความธรรมดาคือความเรียบง่าย เป็นสากล ชาวบ้านก็ทำตามได้ จะรวยจะจนก็ทำตามได้หมด แต่ถ้าไปกินแพง ๆ ชาวบ้านเขาตามไม่ได้ มันก็ไม่ใช่วิถีชีวิตปกติ จึงเป็นได้แค่วิถีชีวิตของกลุ่มคนมีอันจะกินกลุ่มหนึ่งเท่านั้นเอง

กินน้อย ใช้น้อย สู้ภัย covid-19

March 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 697 views 0

ตามศึกษาข้อมูลช่วงนี้ ก็พบว่าหลายอาชีพก็มีความเสี่ยงในการขาดรายได้และตกงาน อ่านแล้วก็เห็นใจ ก็คิดว่าความสามารถในการหาเงินอาจจะแตกต่างกันไป แต่ความประหยัดนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ผมเป็นคนที่ทำอาหารกินเองและทำบัญชี เมื่อสรุปข้อมูลจากปีก่อน มีค่าอาหารเฉลี่ยต่อวันคือ 32 บาท/คน/วัน อันนี้ก็รวมข้าว น้ำ ฯลฯ

วัตถุดิบในการทำอาหารส่วนมาก จะเป็นการซื้อจากตลาด ซึ่งจากที่เคยสำรวจ ค่ารวม ๆ ตลาดในกรุงเทพจะถูกกว่าตลาดในชุมชนต่างจังหวัด ยกเว้นผลผลิตในท้องถิ่นบางชนิดที่จะมีมากและราคาถูกเป็นช่วง ๆ

อาหารที่กินนั้นก็ครบ 5 หมู่ ไม่ได้กินแบบขาด ๆ พร่อง ๆ หรืออดอยากอะไร มีผัก ผลไม้ ธัญพืช แต่ไม่มีเนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ และมีการฝึกลดมื้ออาหาร เพื่อลดกิจกรรมฟุ่มเฟือย โดยปกติในชีวิตประมาณ 95 % จะกินมื้อเดียว

การไม่กินเนื้อสัตว์และลดมื้อเช่นนี้ นำมาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ถึงป่วยก็หายไว ทำให้ประหยัดทั้งเงินและเวลาในการรักษา

เมื่อไม่กี่วันก่อนไปตรวจสุขภาพมา ก็ไม่ได้มีโรคภัยอะไร ไม่ได้ติดเชื้อ แถมผลเลือดยังออกมาดูดี จนหมอถามว่าไปทำอะไรมา? คือค่าน้ำตาลก็ดี เก๊าก็ไม่มี แถมไขมันก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี (เขาว่ามาแบบนี้) ก็เดา ๆ ว่าส่วนใหญ่ที่หมอเขาเจอก็คงจะไม่เป็นแบบนี้ละนะ

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์และกินอาหารน้อยมื้อคนอื่นเขาจะตรวจแล้วมีผลออกมาเป็นอย่างไร จะมีดีกว่านี้หรือเปล่า หรือผลที่เราได้มันดีจริง ๆ ก็ยังไม่เคยศึกษาเปรียบเทียบ ก็ยกไว้ก่อน

แต่จากผลของการตรวจสุขภาพ ก็สามารถสรุปผลตามสมมุติโลกได้ว่า เราใช้ชีวิตแบบนี้แล้วยังมีสุขภาพดีได้อยู่

32 บ./วัน/คน นี่จริง ๆ มันก็ไม่ถูกนะ แต่สำหรับคนมีเงินเดือน มันก็ไม่ได้แพงอะไร เดือนนึงค่ากินไม่ถึงพัน มันจะเหลือเงินไปทำอย่างอื่นเยอะแยะ

ผมก็ซื้อผักตลาดกินนั่นแหละ ที่สวนตัวเองนาน ๆ ที ถึงจะได้กิน ยังไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เน้นพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้เน้นพัฒนาผลผลิต ดังนั้นที่มาของอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นการซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกิน

ก็เคยปรับใช้วิถีแบบนี้ในกรุงเทพฯ พบว่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ จะมีต่างก็คือการหุงต้มอาหาร อยู่ กทม ใช้ไฟฟ้า อยู่ ตจว ใช้ฟืน

สรุป ถ้าเราฝึกประหยัดได้ ก็จะสามารถมีความมั่นคงในชีวิตได้นานขึ้น ยิ่งเป็นช่วงที่มีโรคระบาดด้วยแล้ว ยิ่งควรจะประหยัดไว้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะยาวนานแค่ไหน

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

February 8, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,757 views 0

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

เราเคยนึกกันหรือไม่ว่า ความอยากแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นของเรานั้น ต้องถูกสนองไปด้วยทรัพยากรเท่าไหร่ ผลาญเงินกันไปกี่บาท กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราต้องจ่ายเงินให้กับการบำบัดความทุกข์ที่เรียกว่าความอยาก(ตัณหา)

หากเรามีเงินมากมายมหาศาล เรื่องราวต่อไปนี้คงจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจเลย แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะร่ำรวยเงินทอง และเหล่าคนผู้ที่แสวงหาความเจริญทางจิตใจ ย่อมละทิ้งหนทางที่จะเจริญไปในทางโลก คือไม่ยินดีในความร่ำรวยเงินทอง เพราะรู้ดีว่า การมีเงินมากคือภาระ และร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงโทษภัยของความอยากได้ง่ายนัก เพราะมีทรัพยากรที่นำมาใช้สนองความอยากเหล่านั้นให้สงบลงไปนั่นเอง

สาวกของพระพุทธเจ้าจึงมีการปฏิบัติที่ห่างไกลจากเงินโดยลำดับ ถ้าคนทั่วไปมุ่งหน้าแสวงหาเงินทอง ผู้มาศึกษาใหม่ก็อาจจะลดความโลภได้บ้าง แต่ก็ยังหวงเงินอยู่มาก พัฒนาขึ้นมาก็มีเงินเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ เก่งขึ้นมาอีกก็อยู่ได้โดยไม่ใช้เงินเลย และถ้าเป็นนักบวชนี่ต้องจริงจังถึงขั้นฝึกปฏิบัติด้วยการไม่พึ่งพาเงินเลย ให้พึ่งพาธรรมะนำพาชีวิตตัวเองไปแทน ตั้งแต่เริ่มต้นบวชกันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นผู้เอาจริงเอาจังที่จะสละทางโลก

เมื่อเรามีเงินน้อย หรือไม่มีเงินเลย การจะได้บางสิ่งบางอย่างมานั้น จะต้องประหยัดรัดกุมมากขึ้น สมมติว่าเรามีเงินหนึ่งล้านบาท การจะ ”ซื้อขนม” ยี่สิบบาทมากิน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดให้เปลืองสมอง ขนาดเงินตกร้อยหนึ่งก็คงจะยังรู้สึกเฉยๆ ปล่อยวางได้ง่ายๆ

แต่ถ้าทั้งตัวเรามีเงินเหลืออยู่หนึ่งร้อย การจะไป “ซื้อขนม” ยี่สิบบาทกินนั้น ก็ต้องใช้การคิดทบทวนมากขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง การจะได้มาซึ่งขนมยี่สิบบาทนั้น ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มาเองโดยธรรม ก็ต้องใช้ความฉลาดของกิเลสตะล่อมเอามาแทนก็จะเป็นการปะทะกันระหว่างธรรมะกับอธรรม คือจะอดทนอดกลั้นต่อความอยากได้ไหม หรือจะอยากจนใช้กลอุบายเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้อยากเสพโดยที่ดูเผินๆแล้วไม่ผิดอะไร

ขนมอย่างเดียวกันแต่การที่เรามีทรัพยากรต่างกันนั้น ทำให้เกิดความแตกต่าง ถ้าเรามีทรัพยากรไม่จำกัด เราก็ไม่ต้องใช้สมองไปสนใจเลยว่าสิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น เราชอบสิ่งไหนเราก็หามาเสพได้ทั้งหมด แต่การมีทรัพยากรน้อยนั้น ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดีว่า มันสำคัญจริงไหม ความอยากกินขนมของเรานั้นคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไปจริงหรือ? มันเป็นประโยชน์ขนาดที่เราต้องยอมจ่ายไปจริงหรือ?มันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริงหรือ? หรือยิ่งเสพก็ยิ่งอยาก ยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งต้องหาทางให้ได้เสพ สุดท้ายก็แสวงหาปัจจัยเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจอยาก วนเวียนอยู่เช่นนี้

ดังนั้น “คนรวย” จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่ ”เอื้อ” ต่อความเจริญทางจิตใจที่เรียกว่า “ความจน” พระพุทธเจ้าท่านพาสาวกมาจน ให้มีปัจจัยสี่ที่น้อย เพราะจะเป็นการขัดเกลา ให้ใจพอ ให้พอเพียง ให้เกิดปัญญารู้ว่าแค่มีเพียงเท่านี้ก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข หากดำรงตนอยู่ในธรรมไม่ใช่ความจนที่เกิดเพราะไม่ขยัน ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพ หรือจนเพราะติดเหล้าติดพนัน แต่เป็นความจนที่ตั้งใจให้เกิดเพื่อการขัดเกลาความอยาก

แน่นอนว่าการมีน้อยใช้น้อยนี้ไม่สามารถทำได้สำหรับทุกคน แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธาตั้งมั่น ตั้งใจขัดเกลาปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ยากตั้งแต่จะรู้จัก ยากแม้แต่จะทำความเข้าใจ ยากที่จะเข้าถึง ยากที่จะรู้จริง

ดังนั้นเมื่อธรรมะนั้นเข้าถึงได้ยาก ต้องขัดเกลา ต้องอดทนอดกลั้น ต้องประหยัด ต้องทรมานกิเลส ต้องทุกข์เพราะต้องสู้กับกิเลส เมื่อมันยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้ คนจึงหันหน้าไปสู่อธรรม เป็นทางที่พาไปเสพสุข ไปมัวเมา ไปหาความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อที่จะได้มีเสพมีใช้อย่างไม่มีวันหมด เหล่านี้คือวิธีแก้ปัญหาแบบโลกีย์ทั่วไป

ไม่ว่าจะชาวบ้าน คนเมือง หรือมหาเศรษฐี ต่างก็สามารถคิดได้ว่าเงินคือคำตอบในชีวิต เพราะความอยากของเขาเหล่านั้นต้องใช้เงินมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน และมักจะมีความเห็นว่า เมื่อมีเงินจึงมีความสุข ไม่มีเงินก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสุข โดยที่เขาไม่ได้รู้ไปถึงต้นเหตุที่แท้จริงว่า “ความอยากคือตัวการทำให้เกิดทุกข์

เขาเพียงเข้าใจกันแค่ว่า ถ้าเรา “สนองความอยาก” เราจะเกิด “ความสุข” ซึ่งในความเป็นจริงความสุขนั้นก็คือความทุกข์ที่ถูกคลายลงเท่านั้น เป็นเพียงสภาพของปิศาจ(ตัณหา) ที่สงบเพราะได้เครื่องบรรณาการเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วปิศาจตัวนั้นยังอยู่ มันยังคอยเรียกร้องอยู่เสมอ ถ้าไม่ให้ตามที่มันสั่ง มันก็จะทรมานเรานี่คือความทุกข์ที่เกิดเมื่อไม่ได้เสพที่ตามอยาก

ดังนั้นคนที่ใช้เงินมาบำเรอสุขตัวเองมากๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่เลี้ยงปิศาจในจิตใจของตัวเองจนมันอ้วน มันแข็งแกร่ง มันฉลาด มันสอนให้เราไปเอาเปรียบ ไปหาเงินมามากๆ ทำสิ่งที่ได้กำไรมากๆ ไม่ว่าจะผิดกฎหมาย, ผิดศีลธรรม, เป็นอบายมุข, มอมเมาคน, เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ฯลฯ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่มันสนใจ มันต้องการเพียงแค่ได้รับการสนองทุกๆความต้องการของมันเท่านั้น

ในทุกวันนี้ เราเสียเงินให้กับการสนองความอยากเท่าไหร่ นั่นคือเรากำลังให้อาหารปิศาจในจิตใจของเรา เลี้ยงให้มันอ้วน ให้มันแข็งแกร่ง ให้มันบีบคั้นเราให้ทุกข์มากขึ้นเมื่อไม่ได้เสพ ให้เราต้องหามาเสพ ให้เราเป็นยิ่งกว่าคนติดยา ให้ตกเป็นทาสของปิศาจนั้น

เรามักจะไม่ได้มองการสนองความอยากเป็นตัวเงินที่เสียไป ว่าวันนี้ฉันเสียเงินให้กับความอยากไปเท่านั้นเท่านี้ แต่มักจะมองว่าวันนี้ฉันซื้อความสุขไปเท่านั้นเท่านี้ คือไปมองในด้านที่เป็นผลจากการสนองความอยาก ไม่ได้มองความอยากเป็นปัญหา ซ้ำร้ายยังไปมองว่าการสนองความอยากที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นประโยชน์ หรือถึงจะเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งสนองตามความอยาก ก็จะไม่โทษความอยาก แต่จะโทษเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่ได้สมใจในสิ่งที่อยากได้อยากเสพนั้น เช่น เงินไม่พอ ของไม่มีขาย แบบที่ชอบไม่มี ไม่มีเวลาไปซื้อ ฝากเขาซื้อแล้วไม่ยอมซื้อให้ ฯลฯ

ความอยากของเด็กที่อยากกินไอติมสักแท่ง เพียงแค่ไม่กี่สิบบาท ก็คงพอจะทำให้หายทุกข์จากความอยากไปได้เป็นครั้งคราว แต่ความอยากของเด็กคนเดิมที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผ่านมาหลายสิบปี ไอติมแท่งเดียวมันพอให้หายอยากไหม? หรือต้องใช้บ้าน ใช้รถ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ใช้ชื่อเสียง ใช้คำสรรเสริญเยินยอ ใช้คู่ครอง และสิ่งต่างๆ อีกมากมายเข้ามาบำบัดความอยาก สิ่งเหล่านั้นผลาญเงินไปเท่าไหร่ นี่คิดแค่เรื่องเงินนะ ยังไม่คิดเรื่องเวลา สุขภาพ ปัญญา หรือเรื่องกรรมอีก

หากเรายังมุ่งหน้าแสวงหาเงินมาบำบัดทุกข์บำเรอสุขลวงอยู่เช่นนี้ ยากนักที่เราจะเห็นความร้ายกาจของความอยาก ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้คนมุ่งหน้าไปสู่ความรวยเพื่อขัดเกลา แต่ให้พากันจนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพราะความจน ความประหยัดนี่แหละที่จะทำให้เห็นร่างของปิศาจที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของเรานี้ได้ชัดเจนขึ้น

เพื่อที่เราจะได้แก้ปัญหากันอย่างถูกจุด ไม่ใช่การหลงว่าการทำตามความอยากนั้นคือการทำให้หมดปัญหา ทำให้เกิดความสุข แต่การทำลายความอยากอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่างหากคือสิ่งที่ควรศึกษา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะเป็นทาสที่คอยวิ่งตามคำสั่งของความอยาก ไม่ว่าจะรวยหรือจนถ้ายังมุ่งแก้ปัญหาทุกข์จากความอยากด้วยการหามาเสพอยู่ ก็ไม่มีวันพ้นไปจากทุกข์ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

7.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

February 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,667 views 0

การสะสมว่ายากแล้ว การเลิกสะสมนั้นยากกว่า

ในชีวิตเรานั้นตั้งแต่เกิดมาจนกระทั่งถึงตอนนี้ อาจจะรู้จักแค่คำว่าสะสม ไม่ว่าจะสะสมการเรียนรู้ สะสมประสบการณ์ สะสมทรัพย์สินเงินทอง สะสมสิ่งของ สะสมบ้านและรถ สะสมบริวาร สะสมบารมีชื่อเสียง สะสมความรัก สะสมความสุข ฯลฯ

เป็นเรื่องสามัญที่คนเขาทำกันทั่วไปในโลก จะว่ายากก็ยาก เพราะกว่าจะได้มาในแต่ละอย่างที่หวังไว้นั้น บางทีเอาทั้งชีวิตไปแลกก็ไม่พอ

ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นสิ่งที่ยาก แต่ถ้ามีพลังของกิเลสเป็นตัวผลักดันแล้วล่ะก็ เราก็จะยินดีถวายชีวิตเพื่อที่จะให้ได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพมาสะสม กิเลสจะทำให้เรายินดีเผาพลังชีวิตไปเพื่อให้ได้ความสุขที่ได้สะสมสิ่งเหล่านั้น

แต่การเลิกสะสมนั้นยากกว่าการสะสมมากนัก มีนักสะสมที่เก่งมากมาย รวบรวมของหายากมาไว้กับตัว เราสามารถเห็นนักสะสมทั้งสิ่งของ ความรู้ความสามารถ ทรัพย์สินเงินทอง สิ่งของ โลกธรรมได้ไม่ยากนัก เพราะมีตัวอย่างให้เห็นโดยทั่วไปในโลก แต่เรากลับไม่สามารถหาคนที่เลิกสะสมได้ง่ายนัก

การเลิกสะสมจึงเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากในโลก ใครที่มีความรู้สึกที่อยากจะเลิกสะสม อยากสละ ไม่อยากเอามาเป็นภาระ เขาเหล่านั้นก็คือผู้พ้นภัยจากการสะสมจากสิ่งเหล่านั้นนั่นเอง

การจะสะสมนั้นต้องมีกลยุทธ์ในการแสวงหา มีขั้นตอนในการหามาครอบครอง เช่นอยากรวยก็ต้องเรียนในเรื่องที่ทำรายได้สูงๆ อาชีพที่รายได้ดี มีการเติบโตเจริญก้าวหน้าที่รวดเร็วหรือถ้าอยากรวยลัดก็เล่นพนัน หวย หุ้น ถ้าระดับหยาบๆ รวยลัดและมักง่ายก็ขายของเถื่อนหรือขโมยของกันเลย

การเลิกสะสมนั้นก็ต้องมีกลยุทธ์ในการสละออกเหมือนกัน เพราะในปัจจุบันนี้ สิ่งที่คนเราสะสมล้วนแต่เป็นสิ่งที่ไร้สาระและมอมเมาคน หากเราสละออกอย่างไม่มีศิลปะ สิ่งที่เราคิดว่าสละแล้วพ้นจากตัวของเราอาจจะไปก่อเวรภัยสร้างภาระให้กับคนอื่นก็ได้ การสละออกต้องใช้ปัญญาและศิลปะอย่างมาก ไม่ใช่แค่ปัดให้พ้นตัวเราเพียงอย่างเดียวแต่ต้องคิดถึงคนอื่นด้วย

ตอนที่เราสะสมมันจะมีกิเลสมาสร้างสุขลวงให้ แต่ตอนที่เราเลิกสะสมแล้วมันจะไม่มีกิเลสตัวเดิมนั้น ไม่มีความรู้สึกอะไรให้อยากเก็บไว้ ดังนั้นสิ่งที่เก็บสะสมไว้ก็จะกลายเป็นภาระทันที แต่เรามักจะไม่สามารถโยนภาระออกไปทันทีได้ เพราะวิบากบาปที่เราสะสมมาจะทำให้เราสลัดออกได้ไม่ง่ายนัก เราจึงต้องเรียนรู้การสละออกอย่างไม่ให้เป็นโทษต่อตนเองและผู้อื่น

ซึ่งการสละออกอย่างไม่เป็นโทษ นั้นยากกว่าการแสวงหาและสะสมมากนั้น ต้องมีศิลปะและชั้นเชิงอย่างมากเพราะต้องรักษาความเป็นกุศลไว้ ส่วนการสะสมนั้นไปในทางอกุศลอยู่แล้ว จะมากจะน้อยก็อกุศลอยู่ดี ดังนั้นทุกวันนี้จึงมีผู้รู้ทั้งหลายออกมาเผยแพร่วิธีให้เป็นนักสะสมกันมากขึ้น เพราะมันไม่ต้องระวังอะไร แค่มีให้สะสมก็พอ ยิ่งสะสมได้มากเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นประโยชน์ต่อตัวเองเท่าไหร่ยิ่งดี เป็นอกุศลเท่าไหร่ก็ไม่รู้ เพราะเห็นอกุศลเป็นกุศล เห็นสิ่งชั่วเป็นสิ่งดี เหมือนเห็นกงจักรเป็นดอกบัวนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

5.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)