Tag: ประหยัด

กินน้อย ใช้น้อย สู้ภัย covid-19

March 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 709 views 0

ตามศึกษาข้อมูลช่วงนี้ ก็พบว่าหลายอาชีพก็มีความเสี่ยงในการขาดรายได้และตกงาน อ่านแล้วก็เห็นใจ ก็คิดว่าความสามารถในการหาเงินอาจจะแตกต่างกันไป แต่ความประหยัดนี้เป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

ผมเป็นคนที่ทำอาหารกินเองและทำบัญชี เมื่อสรุปข้อมูลจากปีก่อน มีค่าอาหารเฉลี่ยต่อวันคือ 32 บาท/คน/วัน อันนี้ก็รวมข้าว น้ำ ฯลฯ

วัตถุดิบในการทำอาหารส่วนมาก จะเป็นการซื้อจากตลาด ซึ่งจากที่เคยสำรวจ ค่ารวม ๆ ตลาดในกรุงเทพจะถูกกว่าตลาดในชุมชนต่างจังหวัด ยกเว้นผลผลิตในท้องถิ่นบางชนิดที่จะมีมากและราคาถูกเป็นช่วง ๆ

อาหารที่กินนั้นก็ครบ 5 หมู่ ไม่ได้กินแบบขาด ๆ พร่อง ๆ หรืออดอยากอะไร มีผัก ผลไม้ ธัญพืช แต่ไม่มีเนื้อสัตว์ นม เนย ไข่ และมีการฝึกลดมื้ออาหาร เพื่อลดกิจกรรมฟุ่มเฟือย โดยปกติในชีวิตประมาณ 95 % จะกินมื้อเดียว

การไม่กินเนื้อสัตว์และลดมื้อเช่นนี้ นำมาซึ่งสุขภาพที่แข็งแรง ไม่ป่วยง่าย ถึงป่วยก็หายไว ทำให้ประหยัดทั้งเงินและเวลาในการรักษา

เมื่อไม่กี่วันก่อนไปตรวจสุขภาพมา ก็ไม่ได้มีโรคภัยอะไร ไม่ได้ติดเชื้อ แถมผลเลือดยังออกมาดูดี จนหมอถามว่าไปทำอะไรมา? คือค่าน้ำตาลก็ดี เก๊าก็ไม่มี แถมไขมันก็ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี (เขาว่ามาแบบนี้) ก็เดา ๆ ว่าส่วนใหญ่ที่หมอเขาเจอก็คงจะไม่เป็นแบบนี้ละนะ

ก็ไม่รู้เหมือนกันว่าผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์และกินอาหารน้อยมื้อคนอื่นเขาจะตรวจแล้วมีผลออกมาเป็นอย่างไร จะมีดีกว่านี้หรือเปล่า หรือผลที่เราได้มันดีจริง ๆ ก็ยังไม่เคยศึกษาเปรียบเทียบ ก็ยกไว้ก่อน

แต่จากผลของการตรวจสุขภาพ ก็สามารถสรุปผลตามสมมุติโลกได้ว่า เราใช้ชีวิตแบบนี้แล้วยังมีสุขภาพดีได้อยู่

32 บ./วัน/คน นี่จริง ๆ มันก็ไม่ถูกนะ แต่สำหรับคนมีเงินเดือน มันก็ไม่ได้แพงอะไร เดือนนึงค่ากินไม่ถึงพัน มันจะเหลือเงินไปทำอย่างอื่นเยอะแยะ

ผมก็ซื้อผักตลาดกินนั่นแหละ ที่สวนตัวเองนาน ๆ ที ถึงจะได้กิน ยังไม่มีนัยสำคัญเท่าไหร่ เพราะส่วนใหญ่เน้นพัฒนาพื้นที่ ไม่ได้เน้นพัฒนาผลผลิต ดังนั้นที่มาของอาหารส่วนใหญ่จึงเป็นการซื้อวัตถุดิบมาทำอาหารกิน

ก็เคยปรับใช้วิถีแบบนี้ในกรุงเทพฯ พบว่าไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่ จะมีต่างก็คือการหุงต้มอาหาร อยู่ กทม ใช้ไฟฟ้า อยู่ ตจว ใช้ฟืน

สรุป ถ้าเราฝึกประหยัดได้ ก็จะสามารถมีความมั่นคงในชีวิตได้นานขึ้น ยิ่งเป็นช่วงที่มีโรคระบาดด้วยแล้ว ยิ่งควรจะประหยัดไว้ เพราะไม่รู้ว่ามันจะยาวนานแค่ไหน

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

February 7, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,344 views 0

ชีวิตจะง่าย เมื่อไม่มีเนื้อสัตว์

ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความเรียบง่าย คือชีวิตที่กินใช้อย่างประหยัด พอเพียง ไม่นำสิ่งของหรือส่วนเกินใดๆ ที่ไม่จำเป็น เข้ามาเปลืองพื้นที่ในชีวิต เช่นเดียวกันกับชีวิตที่ไม่มีเนื้อสัตว์ มันช่างเรียบง่าย ประหยัด และยาวนาน

ผมได้ลองใช้ชีวิตอยู่บ้านต่างจังหวัด บ้านของผมอยู่ห่างจากบ้านอื่นๆ ราวสองร้อยเมตร ห่างจากชุมชนใกล้เคียงประมาณหนึ่งกิโลเมตร ที่บ้านยังไม่ได้นำไฟฟ้าจากการไฟฟ้าเข้ามา มีเพียงไฟฟ้าที่ผลิตเองจากแผงโซล่าเซลล์ให้พอใช้สูบน้ำ,เปิดไฟ,ชาร์จโทรศัพท์และคอมพิวเตอร์พกพาเท่านั้น ดังนั้นการจะหวังว่าจะได้ใช้ทีวี ตู้เย็น พัดลม ฯลฯ ในชีวิตประจำวันก็ลืมไปได้เลย

เมื่อผมได้มาทดลองอยู่อย่างประหยัด เรียบง่าย มีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย จึงมีข้อจำกัดหลายๆ อย่าง ในการหาสิ่งใดๆก็ตามมาปรนเปรอกิเลส

เนื้อสัตว์ก็เป็นวัตถุอีกชนิดที่มีอิทธิพลต่อจิตใจคนมาก ถึงขนาดว่าขาดกันไม่ได้ เป็นคุณค่า เป็นชีวิตจิตใจสำหรับใครหลายคนกันเลยทีเดียว แต่สำหรับผม เนื้อสัตว์ไม่ได้มีคุณค่าอะไรเลยในชีวิต เป็นเพียงวัตถุแท่งก้อนอ่อนนุ่มที่หากกินเข้าไปแล้ว ย่อยยาก เป็นโทษ เป็นเหตุแห่งโรค สร้างกลิ่นตัว ราคาแพง เน่าเสียง่าย เก็บรักษายาก และอีกหลายๆ ข้อเสียของเนื้อสัตว์เมื่อเทียบกับพืชผัก แม้มันจะทำให้อิ่มท้องและสร้างพลังงานได้ก็ตาม แต่ผมก็ไม่จำเป็นต้องเลือกพลังงานจากแหล่งเหล่านั้น ในเมื่อมีสิ่งที่มีคุณค่าและประโยชน์มากกว่าขายกันอยู่ทั่วไป

หากว่าผมยังหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ผมจะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสภาพที่มีข้อจำกัดเช่นนี้ได้ เรื่องแรกคือการจัดเก็บเนื้อสัตว์ มันไม่สามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องได้ เพราะจะทำให้เน่าเสียและมีสัตว์อื่นมากินได้ง่าย ต่างกับผักที่ซื้อมาวางไว้เป็นอาทิตย์ยังคงสภาพเดิมได้ดีอยู่ เช่น ฟักทอง ผักกาดขาว กะหล่ำปลี มะเขือยาว หอมใหญ่ มันต่างๆ ฯลฯ ถ้าต้องการเสพเนื้อสัตว์เป็นประจำ นั่นหมายถึงต้องมีตู้เย็นหรือสร้างที่เก็บกักความเย็นเพิ่มให้มันวุ่นวายมากกว่าการเก็บผัก นี่คือเริ่มจะฟุ้งเฟ้อสิ้นเปลืองแล้ว

เรื่องที่สองคือหากไม่ได้คำนึงถึงการจัดเก็บ เลือกที่จะออกไปซื้อเนื้อสัตว์ทุกวัน ก็ยังเป็นค่าใช้จ่ายและการเสียพลังงานที่ไม่จำเป็นอยู่ดี เพราะเมื่อเทียบกับผัก ผมสามารถออกไปซื้อผักมาครั้งเดียวอยู่ได้เกือบครึ่งเดือน อย่างต่ำๆก็ หนึ่งสัปดาห์

เรื่องที่สามคือค่าใช้จ่ายต่อหนึ่งมื้อนั้น เนื้อสัตว์ยังไงก็มีค่าใช้จ่ายมากกว่าผัก และเมื่อเทียบมวลต่อน้ำหนัก หนึ่งกิโลกรัมของเนื้อสัตว์นั้นจะได้น้อยกว่ามวลของผัก คือซื้อผักหนึ่งกิโลกรัมจะดูได้เยอะกว่า ซึ่งเมื่อพิจารณาต่อไปอีกว่าการได้มาซึ่งเนื้อสัตว์หนึ่งกิโลกรัมต้องใช้อาหารสัตว์มากมายเท่าไหร่ก็ไม่รู้ ต่างจากผัก คือผักหนึ่งกิโลกรัม ก็มีอย่างมากแค่ปุ๋ยกับน้ำเท่านั้น เมื่อเทียบกับเนื้อสัตว์ น้ำก็ต้องกิน พืชผักสัตว์ก็ต้องกิน อาหารเสริมสัตว์ก็ต้องกิน ไหนจะกระบวนการฆ่า ชำแหละอีก มีขั้นตอนยุ่งยากกันมากเลยทีเดียว ผักนี่เก็บมาเอารากล้างน้ำสลัดดินออกเขาก็เอามาขายกันแล้ว

เรื่องที่สี่คือเนื้อสัตว์ ผลิตเองไม่ได้ ถึงจะเลี้ยงเองแต่ชาวพุทธเขาก็จะไม่ฆ่าสัตว์กัน ไม่จ้างวานผู้อื่นฆ่าด้วย และไม่แกล้งทำเป็นมองไม่เห็นหากรับรู้ว่าผู้อื่นฆ่ามาด้วย ดังนั้นแม้จะเลี้ยงสัตว์ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้เนื้อสัตว์เป็นผลผลิตทันทีเมื่อใจอยากเสพ คงจะต้องรอให้ฟ้าผ่ามันตาย หรือมันเดินไปโดนรถชนตายเอง หรืออะไรที่ทำให้มันตายของมันเองเท่านั้นถึงจะกินมันได้ , ต่างจากผักที่สามารถปลูกเองได้ โตเมื่อไหร่ก็กินได้ คิดอะไรไม่ออกก็ปลูกผักบุ้ง ปลูกง่ายโตไว และหากมีเวลาก็ปลูกธัญพืช และปลูกข้าวไว้กินเองได้ ผักหลายชนิดยิ่งตัดก็ยิ่งงอกออกมา บ้างก็ปักชำใหม่ได้ บางชนิดเก็บเกี่ยวแล้วก็หว่านใหม่ ได้ผลผลิตไม่จบไม่สิ้น

ถ้าชาวพุทธอยากกินเนื้อสัตว์ก็คงต้องเลี้ยงกันหลายร้อยตัว จะได้มีสัตว์ตายไปตามกรรมบ้างบางเวลา จะได้รอเสพโดยไม่ต้องให้ใครฆ่าเขามากิน แต่พอนึกถึงภาพนั้นก็ดูลำบากยุ่งยากขึ้นมาทันที

เมื่อผมพิจารณาด้วยเหตุปัจจัยดังนี้แล้ว การที่เรายังต้องการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นจะสร้างความลำบากยุ่งยากให้กับชีวิตอย่างมาก ต้องมีสิ่งต่างๆมาเพิ่มเติมมากกว่าชีวิตที่กินผักเป็นหลัก อย่างน้อยๆ ตอนนี้ก็อยู่ได้สบายโดยไม่ต้องลากสายไฟเข้ามาให้เสียเงินเสียทองผมจึงยังไม่เห็นเลยว่าอะไรที่จะทำให้ชีวิตมันง่ายไปมากกว่าการที่เราไม่ต้องหาเนื้อสัตว์มากินอีก

หรือถ้าผู้ใดจะเห็นต่างก็สามารถเห็นเช่นนั้นได้ เพียงแต่ควรจะต้องอยู่บนเหตุปัจจัยเดียวกัน คือมีสิ่งอำนวยความสะดวกน้อย ถึงจะมีเงินก็ไม่ได้หมายความว่าจะต้องไปจ่ายเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจ แบบนั้นมันไม่ขัดเกลา การอยู่อย่างขัดเกลาคือมีสิ่งอำนวยความสะดวกพอประมาณ ให้มีแค่พอกินพอใช้ ไม่ให้ฟุ้งเฟ้อ ให้เกิดความเจริญทางจิตวิญญาณ ให้พอเกิดประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

December 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,778 views 0

ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเจริญไปในทางโลกคือความไม่ขัดสนในปัจจัย ๔ แต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และความเจริญในทางธรรมคือสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมการงานไปพร้อมๆกับลดกิเลสได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะแสวงหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้มาจุนเจือชีวิตและความต้องการของตน หลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และทางออกของเขาเหล่านั้นก็คือการหารายได้เสริม ลงทุน เก็งกำไร หรือช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม

ความต้องการเหล่านั้นโดยมากเกิดจากกิเลส เป็นความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ตรงไหน แม้เราจะพยายามหาเงินมาเติมเต็มเท่าไหร่ แต่ความอยากกลับพุ่งทะยานออกไป คว้าสิ่งใหม่ๆมาเติมอยู่เรื่อยๆ

รายได้ในปัจจุบันของเราไม่พอจริงหรือ? ทำไมคนที่รายได้ต่ำกว่าเราเขายังมีชีวิตอยู่ได้ นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วรายได้เราพอ แต่ใจเราไม่พอ เมื่อใจเราไม่พอ ถึงจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอที่จะสนองต่อตัณหาของคนที่หนาไปด้วยกิเลส

ประหยัดกิเลสลด

การประหยัดจะมีทิศทางที่ขัดกับกิเลส เมื่อเรารู้สึกอยากได้อยากเสพอะไร ให้เราตั้งใจไว้เลยว่าเราจะประหยัด ไม่ซื้อไม่กินสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะเป็นการต่อต้านกิเลส ซึ่งจะมีผลทำให้กิเลสนั้นลดลงได้

ความประหยัดต่างจากความตระหนี่ ขี้งก ขี้เหนียว ประหยัดคือกินใช้เท่าที่จำเป็น ตระหนี่คือควรกินควรใช้แล้วไม่ยอมใช้ให้เกิดประโยชน์

การประหยัดนี้เองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการบริหารต้นทุนชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม

แต่โดยมากแล้ว คนมักจะไม่แก้ปัญหาที่การประหยัด ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง กลับไปแก้ปัญหาโดยการแสวงหาเงินเพิ่ม ไปแก้ปัญหาที่องค์ประกอบภายนอก

ลงทุนกิเลสเพิ่ม

เมื่อใจคนเราไม่รู้จักพอ ก็มักจะแสวงหางานเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม ถ้ามักง่ายหน่อยก็ลงทุนบ้าง เก็งกำไรบ้าง เล่นพนันบ้าง ซื้อหวยบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะเข้าขีดของอบายมุขอยู่เนืองๆ

เพราะมีความเห็นว่า ต้องให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาปรนเปรอ “ความอยาก” ที่ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ทำงานหรือลงทุนแล้วได้เงินมาแก้ปัญหาการเงินจากความอยากที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น นั่นหมายความว่ากิเลสจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งโตเท่านั้น แม้จะไม่สนองกิเลส อดทน กดข่มโดยไม่เข้าใจความจริงว่าความอยากเหล่านั้นสร้างโทษอย่างไร กิเลสก็จะโตเช่นกัน สุดท้ายก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่าตบะแตก

การลงทุนลงแรงที่กิเลสไม่เพิ่มก็มีเช่นกัน ในกรณีที่ว่าปัจจัยสี่นั้นไม่พอเลี้ยงชีวิต ก็จำเป็นต้องออกไปหางานทำเพิ่ม เอาภาระเพิ่ม เหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ในกรณีนี้เป็นกุศล เพราะออกจากความขี้เกียจ ไปสู่ความขยันที่จะพาให้ชีวิตเจริญขึ้น

แต่โดยมากในสังคมนั้น คนมักจะไม่พอใจกับรายได้ของตน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องประหยัด ซึ่งมักจะหาทางออกด้วยการทำงานเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม เสี่ยงดวงเล่นพนันเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งที่จะมาสนองตัณหาของเขาเหล่านั้น

การมีรายได้มาก หรือมีความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต แต่การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีสาระนั้น คือการเลี้ยงชีพบนความถูกต้อง ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ยอมให้ตัณหาครอบงำ และใช้วันเวลาที่มีอยู่ในโลกนี้ทำลายความหลงติดหลงยึดของตน พร้อมกับสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมและโลก นี้จึงเรียกว่าเกิดมามีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เกิดมาตายเปล่า

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เงิน 5 บาททำอะไรได้บ้าง?

December 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,603 views 0

เงิน 5 บาททำอะไรได้บ้าง?

เงิน 5 บาททำอะไรได้บ้าง?

ผมเคยนึกสงสัยนะว่าเงิน 5 บาทจะใช้ทำอะไรได้ในสมัยนี้ ขบคิดอยู่นาน ทำยังไงหนอให้มันเกิดประโยชน์สูงสุด ซื้ออะไรก็แทบไม่ได้ และถึงจะซื้อได้สิ่งเหล่านั้นก็มักจะไม่มีประโยชน์เท่าไรนัก คำตอบสุดท้ายในใจของผมคือเก็บเงิน 5 บาทนั้นเอาไว้…

จนกระทั่งเมื่อวาน… ผมมีนัดกับเพื่อนและแยกย้ายกันเกือบเที่ยงคืน หลังจากล่ำรากันผมรีบเดินไปขึ้นรถกะป๊อกลับบ้าน เพราะเขาว่ารถจะหมดตอนเที่ยงคืน

โชคยังดีที่ยังเหลือรถอยู่หนึ่งคัน ผมถามคนขับว่าไปถึงสุดซอยหรือไม่ คนขับพยักหน้า ในรถมีหนึ่งป้าและสองวัยรุ่น ทั้งสามดูไม่ได้รู้จักกัน เมื่อขึ้นไปนั่ง ป้าก็บ่นให้คนขับที่นั่งรอคนอยู่นอกรถฟังดังๆ ประมาณว่า “ไหนว่ามีคนขึ้นสองสามคนแล้วรถจะออก ให้นั่งรอนานๆ นี่มันร้อน” สีหน้าของป้าดูหงุดหงิด ไม่เป็นมิตร

คนขับตอบมาว่า “ก็รอพี่น้องเราอีกสักหน่อย เผื่อจะตกหล่น” ผมก็เข้าใจคนขับนะ ว่าการที่มีคนเพิ่มเขาก็ได้เงินด้วย และที่สำคัญ ถ้ารถออกไปแล้วผมคงต้องเสียเงินมากกว่านี้ในการกลับบ้านแน่ๆ ไม่นานนักก็มีหนุ่มนักศึกษาขึ้นมาเพิ่มและรถก็ออก

เมื่อรถออก ผมขยับขาเล็กน้อยเพื่อที่จะนั่งได้มั่นคงมากขึ้น ป้าหยิบสัมภาระที่วางอยู่ใกล้ๆเท้าของผมขึ้นไปมัดไว้กับราวข้างหนึ่ง หน้าตาดูไม่เป็นมิตรเท่าไรนัก ผมทบทวนตัวเองว่าทำอะไรให้ป้าไม่พอใจหรือไม่ …ก็ไม่นี่

นั่งรถไป ลมเย็นๆเวลาเที่ยงคืนก็พัดไป คนก็ค่อยๆทยอยลงไป เหลือแต่ผมกับป้า…

ป้าถามขึ้นมาว่า “หนูลงสุดซอยใช่ไหม?” ผมก็ตอบว่า “ใช่ครับ” แล้วก็นั่งไปจนสุดซอย ป้าก็บอกถึงแล้ว ผมก็ลงไปจ่ายเงินและเดินต่อไปเพื่อที่จะกลับบ้าน

เดินไปไม่กี่วินาที รถกะป๊อขับไล่หลังมา ตะโกนทักว่าไปไหม จะไปส่งใกล้ๆ ผมเห็นดีด้วยก็ขึ้นไป ป้าที่นั่งอยู่ในรถก็ตะโกนบอกคนขับว่า “สองคน 10 บาทพอเน้อ คนละ 5 บาท” แล้วหันมาบอกผมว่า เดี๋ยวแม่ออกให้ๆ ผมก็ตอบรับว่าขอบคุณครับ

ตอนแรกเราก็นึกว่าเขาใจดีไปส่งฟรี แต่จริงๆป้าเป็นคนจัดแจงให้ เพราะทางที่จะต้องเดินไปนั้นค่อนข้างเปลี่ยว เดินคนเดียวก็คงจะเสียวๆอยู่บ้าง สมัยนี้ถึงเป็นผู้ชายเขาก็ปล้นจี้กันเป็นธรรมดา

ก่อนลงรถ ป้าก็บอกอีกครั้งว่า “เดี๋ยวแม่จ่ายให้เนาะ เดี๋ยวเราเดินต่อไปด้วยกัน” …การแทนตัวว่าแม่ ทำให้ผมนึกถึงสมัยที่ไปเรียนรู้อยู่กับกลุ่มเครือข่ายชาวนาที่จังหวัดยโสธร คนที่นั่นเขาจะแทนตัวว่าพ่อว่าแม่ คือมองทุกคนเหมือนลูกหลาน ก็น่ารักดีนะ เมื่อถึงที่หมาย ผมก็ลงรถและเดินไปยืนรอ ในขณะที่ป้ากำลังจ่ายเงิน

เสร็จแล้วป้าก็เดินถือสัมภาระมา และเดินกันไปต่ออีกราวๆ 15 เมตร ก่อนจะถึงทางแยก ป้าถามว่าเราไปทางไหน เราก็ตอบว่าไปทางนั้น ป้าก็บอกว่าป้าไปทางโน้น ผมก็เลยขอบคุณและลาป้าเดินกลับบ้านต่อไป

แต่ก่อนหน้านี้ผมไม่มีปัญญานะ ว่าเงิน 5 บาทจะทำอะไรที่มีประโยชน์ได้ แต่ป้ากลับใช้เงิน 5 บาทแสดงให้ผมเห็นว่า เงิน 5 บาทนี่มันทำประโยชน์ได้ขนาดนี้เชียวนะ

ป้าก็ดูเป็นชาวบ้านธรรมดา ดูเป็นคนต่างจังหวัดเข้ากรุง ไม่ได้ดูรวยเหมือนป้าคนเมืองทั่วไป แต่กลับสละเงินแม้จะจำนวนไม่มาก แต่ก็เป็นทานที่มีผลให้ผมได้รับความสะดวกและปลอดภัยขึ้น บอกกันตรงๆว่าผมก็คิดไม่ถึงว่า 5 บาทจะสามารถทำประโยชน์ได้ขนาดนี้

ที่สำคัญคือเงิน 5 บาทนี้ไม่ได้ใช้เพื่อตัวเอง ป้าคงเห็นว่าผมจะเดินไปในทางเปลี่ยว ซึ่งคงจะถามคนขับว่าผมจะไปไหน ด้วยความเมตตากรุณาที่มีจึงสามารถใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้

ในตอนแรกป้าอาจจะดูหงุดหงิดเพราะรอรถออกนาน ซึ่งอากาศในรถก็ร้อนอบอ้าว แม้จะเปิดโล่งในทุกทิศก็ตาม แต่เมื่อนั่งไปจนสุดทางป้ากลับเปลี่ยนเป็นอีกคน อาจจะเพราะลมเย็น อาจจะเพราะใกล้ถึงที่หมายแล้ว อาจจะเพราะอะไรก็ตาม

แต่การที่ป้าได้แสดงให้ผมได้เห็นว่า ถ้าเรามีปัญญา เราก็จะใช้เงินแม้เพียงเล็กน้อยสร้างสิ่งที่ดีได้มากมาย นั่นคือประสบการณ์ที่ดีมากสำหรับผมเลยเชียวล่ะ

คืนนั้นไม่มีรถมอเตอร์ไซค์อยู่ที่วินเพื่อต่อรถเข้าบ้าน ผมกลับดีใจที่ผมจะได้เก็บเงินไว้และเดินกลับบ้านไปแทน เผื่อวันหนึ่งเงินที่ประหยัดไว้ได้ จะสามารถสร้างประโยชน์ให้กับคนอื่นได้แบบป้า

– – – – – – – – – – – – – – –

5.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)