Tag: เก็งกำไร

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

December 16, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,779 views 0

ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การบริหารชีวิตเพื่อความเจริญในทางโลกและทางธรรม ประหยัดกิเลสลด ลงทุนกิเลสเพิ่ม

การใช้ชีวิตที่เรียกได้ว่าเจริญไปในทางโลกคือความไม่ขัดสนในปัจจัย ๔ แต่ก็ไม่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น และความเจริญในทางธรรมคือสามารถใช้ชีวิตทำกิจกรรมการงานไปพร้อมๆกับลดกิเลสได้

ในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้น มักจะแสวงหารายได้ที่เพิ่มมากขึ้นให้มาจุนเจือชีวิตและความต้องการของตน หลายคนประสบปัญหาขาดสภาพคล่องทางการเงิน และทางออกของเขาเหล่านั้นก็คือการหารายได้เสริม ลงทุน เก็งกำไร หรือช่องทางอื่นๆเพิ่มเติม

ความต้องการเหล่านั้นโดยมากเกิดจากกิเลส เป็นความต้องการที่ไม่มีวันสิ้นสุด ไม่รู้ว่าปลายทางของมันอยู่ตรงไหน แม้เราจะพยายามหาเงินมาเติมเต็มเท่าไหร่ แต่ความอยากกลับพุ่งทะยานออกไป คว้าสิ่งใหม่ๆมาเติมอยู่เรื่อยๆ

รายได้ในปัจจุบันของเราไม่พอจริงหรือ? ทำไมคนที่รายได้ต่ำกว่าเราเขายังมีชีวิตอยู่ได้ นั่นหมายความว่าจริงๆแล้วรายได้เราพอ แต่ใจเราไม่พอ เมื่อใจเราไม่พอ ถึงจะมีรายได้เข้ามาเพิ่มเติมเท่าไหร่ก็จะไม่มีวันพอที่จะสนองต่อตัณหาของคนที่หนาไปด้วยกิเลส

ประหยัดกิเลสลด

การประหยัดจะมีทิศทางที่ขัดกับกิเลส เมื่อเรารู้สึกอยากได้อยากเสพอะไร ให้เราตั้งใจไว้เลยว่าเราจะประหยัด ไม่ซื้อไม่กินสิ่งที่ฟุ่มเฟือย ก็จะเป็นการต่อต้านกิเลส ซึ่งจะมีผลทำให้กิเลสนั้นลดลงได้

ความประหยัดต่างจากความตระหนี่ ขี้งก ขี้เหนียว ประหยัดคือกินใช้เท่าที่จำเป็น ตระหนี่คือควรกินควรใช้แล้วไม่ยอมใช้ให้เกิดประโยชน์

การประหยัดนี้เองจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เป็นการบริหารต้นทุนชีวิตให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยให้มีรายได้เท่าเดิม แต่รายจ่ายลดลง ทำให้มีเงินเหลือเก็บมากกว่าเดิม เกิดประโยชน์ทั้งในทางโลกและทางธรรม

แต่โดยมากแล้ว คนมักจะไม่แก้ปัญหาที่การประหยัด ไม่แก้ปัญหาที่ตัวเอง กลับไปแก้ปัญหาโดยการแสวงหาเงินเพิ่ม ไปแก้ปัญหาที่องค์ประกอบภายนอก

ลงทุนกิเลสเพิ่ม

เมื่อใจคนเราไม่รู้จักพอ ก็มักจะแสวงหางานเพื่อให้ได้เงินมาเพิ่ม ถ้ามักง่ายหน่อยก็ลงทุนบ้าง เก็งกำไรบ้าง เล่นพนันบ้าง ซื้อหวยบ้าง ฯลฯ ซึ่งก็มักจะเข้าขีดของอบายมุขอยู่เนืองๆ

เพราะมีความเห็นว่า ต้องให้มีรายได้มากขึ้น เพื่อนำมาปรนเปรอ “ความอยาก” ที่ทำให้มีรายจ่ายมากขึ้น ดังนั้นทุกครั้งที่ทำงานหรือลงทุนแล้วได้เงินมาแก้ปัญหาการเงินจากความอยากที่ฟุ้งเฟ้อเกินความจำเป็น นั่นหมายความว่ากิเลสจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพราะยิ่งสนองกิเลสเท่าไหร่ กิเลสก็ยิ่งโตเท่านั้น แม้จะไม่สนองกิเลส อดทน กดข่มโดยไม่เข้าใจความจริงว่าความอยากเหล่านั้นสร้างโทษอย่างไร กิเลสก็จะโตเช่นกัน สุดท้ายก็จะเกิดสภาพที่เรียกว่าตบะแตก

การลงทุนลงแรงที่กิเลสไม่เพิ่มก็มีเช่นกัน ในกรณีที่ว่าปัจจัยสี่นั้นไม่พอเลี้ยงชีวิต ก็จำเป็นต้องออกไปหางานทำเพิ่ม เอาภาระเพิ่ม เหนื่อยเพิ่มขึ้น เพื่อให้ได้เงินมาดำรงชีวิต ในกรณีนี้เป็นกุศล เพราะออกจากความขี้เกียจ ไปสู่ความขยันที่จะพาให้ชีวิตเจริญขึ้น

แต่โดยมากในสังคมนั้น คนมักจะไม่พอใจกับรายได้ของตน แต่ก็ไม่คิดว่าจะต้องประหยัด ซึ่งมักจะหาทางออกด้วยการทำงานเพิ่ม ลงทุนเพิ่ม เสี่ยงดวงเล่นพนันเพิ่ม เพื่อให้ได้เงินมาจับจ่ายใช้สอยสิ่งที่จะมาสนองตัณหาของเขาเหล่านั้น

การมีรายได้มาก หรือมีความร่ำรวย ไม่ใช่สาระของชีวิต แต่การที่ชีวิตจะมีคุณค่า มีสาระนั้น คือการเลี้ยงชีพบนความถูกต้อง ใช้จ่ายอย่างเหมาะสม ไม่ยอมให้ตัณหาครอบงำ และใช้วันเวลาที่มีอยู่ในโลกนี้ทำลายความหลงติดหลงยึดของตน พร้อมกับสร้างประโยชน์กลับคืนให้สังคมและโลก นี้จึงเรียกว่าเกิดมามีคุณค่า มีประโยชน์ ไม่เกิดมาตายเปล่า

– – – – – – – – – – – – – – –

1.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

January 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,017 views 0

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

เล่นหุ้นอย่างไร จึงเป็นกุศล

ในปัจจุบันนี้การเล่นหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะต่างๆไปว่าจะเป็นการซื้อทอง ซื้อบ้าน ซื้อคอนโด ซื้อที่ดิน ที่หวังผลเก็งกำไรนั้น เป็นกิจกรรมที่เห็นและยอมรับได้โดยทั่วไปในสังคม

ถึงแม้ว่าการลงทุนในหุ้นหรือการลงทุนอื่นๆในปัจจุบันนั้นจะเป็นลักษณะของการพนันแบบชัดเจน แต่ผู้ที่สนใจและหลงไปกับการลงทุนเหล่านี้ก็ยังสามารถหาเหตุผลมากมายมาค้านแย้งได้ว่าการเล่นหุ้นของตนไม่ใช่การพนัน ไม่ใช่อบายมุขมีอีกมากมายหลายล้านเหตุผลที่จะบอกว่าการเล่นหุ้นไม่ผิด สังคมยอมรับได้ เป็นสิ่งที่ทำกันโดยทั่วไป

ในยุคกึ่งพุทธกาลนี้ มาตรฐานของศีลธรรมก็มักจะตกต่ำเป็นเรื่องธรรมดา สิ่งที่เคยเป็นกงจักรก็กลายเป็นดอกบัว และในอนาคตกงจักรที่เราเห็นในปัจจุบันก็จะค่อยๆกลายเป็นดอกบัวเช่นกัน เหตุนั้นเพราะอะไร? นั่นเพราะความเสื่อมจากศีลธรรมของคน เมื่อคนเสื่อมก็ไม่มีความรู้มาแยกแยะดีชั่ว อันไหนบาปอันไหนบุญ แต่ความหลงผิด หลงติด หลงยึดในตัวตนนั่นเองที่ทำให้เราเชื่อมั่นว่ากงจักรเป็นดอกบัว เรามักจะถูกล่อด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุขเป็นเหมือนน้ำผึ้งที่เคลือบอยู่บนใบมีดโกน

ความฉลาดของกิเลส

กิเลสนี่มันร้ายสุดร้าย มันฉลาดกว่าเราเยอะ แม้เราจะ IQ180 ก็ตาม แต่กิเลสมักจะล้ำหน้าเราไปเสมอ เช่นเดียวกับการลงทุนในหุ้นและการลงทุนอื่นๆ กิเลสมันจะแสวงหาเหตุผลให้เราไปเล่นหุ้น ให้เราลงทุน มันจะมีเหตุผลอ้างอิงมากมายเพื่อใช้หักล้างศีลธรรม ทำลายศีลธรรมทิ้งเพื่อเสพกิเลส กิเลสนี่มันคือนักสร้างเหตุผลที่ทำให้เราหลงไปจมอยู่ในนรกได้อย่างรู้สึกเป็นสุข เราก็รู้สึกเป็นสุขจริงๆตามที่กิเลสนั้นส่งพลังให้นะ แต่เวลาทุกข์จากความเสียหายหรือเครียดจากการลงทุนนี่กิเลสมันไม่ทุกข์ด้วยนะ แต่มันก็จะเป่าหูให้เราลงทุนต่อ ศึกษาต่อ หลงวนเวียนต่อ เหล่านี้คือพลังของกิเลส จะเรียนรู้มาแค่ไหน เกียรตินิยม จบเมืองนอก ปริญญาเอก ศาสตราจารย์ นักวิเคราะห์ นักลงทุน เถ้าแก่พันล้าน ฯลฯ ต่างก็แพ้ให้กิเลสทั้งนั้น

จริงๆจะว่าไปมันก็โลภตั้งแต่คิดจะเข้าไปลงทุนแล้ว ความโลภนี่แหละผลักดันให้เราสนใจ ให้เราขยับมือ ขยับขา ขยับปากเข้าไปสู่โลกแห่งการลงทุน กิเลสมันจูงเราเข้าไปตั้งแต่แรกแล้วเราก็ยังไม่รู้ตัว แล้วตอนที่หลงวนเวียนอยู่ในนรกแห่งการลงทุนจะไปเหลืออะไร มันก็มืดบอดเท่านั้นเอง มองกิเลสดีไปหมด มองการลงทุนดีไปหมด

แล้วยังมีการหลงไปด้วยนะว่าถ้ารวยแล้วจะเอาเงินมาทำกุศล นี่กิเลสมันหลอกซ้อนไว้แบบนี้ มันเอาความดีมาล่อให้ทำบาป ดูซิกิเลสมันแผนซ้อนแผนมันฉลาดขนาดไหน

เล่นหุ้นอย่างไม่โลภ

มีหลายความคิดเห็นได้เสนอว่าก็เล่นหุ้นอย่างไม่โลภสิ เล่นแบบเรียนรู้ ฯลฯ เรื่องความโลภนี่มันไม่เข้าใครออกใคร บางคนก็ว่าโลภน้อยไม่เป็นไร แต่จริงๆแล้วไม่โลภเลยมันจะดีกว่า เพราะเราไม่รู้หรอกว่าจริงๆเราโลภมากโลภน้อย เพราะถ้าวัดจากสังคมส่วนใหญ่มันอาจจะผิดเพี้ยนไปก็ได้

ถ้าบอกว่าไม่โลภเลยนี่มันต้องลงทุนให้ได้กำไรเท่ากับศูนย์หรือติดลบนะ เพราะไม่มีความโลภจึงไม่มีความคิดจะเอาเลย มีแต่ใจที่อยากสนับสนุนกิจการ อยากสนับสนุนให้เศรษฐกิจของประเทศให้เจริญก้าวหน้า อยากเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันความเจริญ เอาแบบเท่าทุนกับขาดทุนเลยนะ อย่าไปเอากำไร เพราะถ้าคิดถึงกำไรแม้แต่สลึงเดียวนี่ใจมันก็โลภแล้ว พอโลภมันก็เป็นบาปแล้ว แถมกิจกรรมที่โลภนี่มันก็อบายมุข เงินมากเงินน้อยไม่สำคัญเท่ากับจิตที่โลภ

หรือแม้แต่การออมนี่จริงๆ มันเป็นเรื่องของการเก็บสะสมนะ ไม่ใช่การสร้างรายได้ เดี๋ยวนี้เราหลงประเด็นกันไปว่าการออมต้องมีเงินงอกเงย จริงๆเก็บออมคือเก็บไว้ใช้เท่านั้น เรื่องการงอกเงยนี่มันคือกิเลสมันงอกออกมาทีหลัง บางธุรกิจบางองค์กรเขาก็เสนอมาว่า ถ้ามาฝากเงินกับเขา เขาก็จะให้ดอกเบี้ยเท่านั้นเท่านี้ ทีนี้แต่ละที่เขาก็ไม่ได้ให้เท่ากันเสมอไป เราก็จะเลือกที่ให้มากที่สุด นี่ความโลภมันเกิดแล้วเห็นไหม แล้วเงินที่เขาเอาจากเราไปเขาก็ไม่เอาไปเก็บไว้เฉยๆนะ เขาเอาไปปล่อยกู้ เอาไปขูดรีดเอากำไร เอาไปให้ธุรกิจต่างชาติกู้ยืมมาถล่มประเทศไทยอีกที หรือไม่ก็ให้ธุรกิจในไทยถล่มกันเองนี่แหละ ก็เบียดเบียนกันต่อไป นี่หรือคือการออม เขาเอาเงินน้อยๆมาล่อเราและเราก็เพิ่มกิเลส เพิ่มวิบากบาป มันเป็นการเก็บออมตรงไหน นี่มันการลงทุนในธุรกิจบาปแท้ๆเลย

พอไล่กันไปจนเริ่มจะจนมุมก็อาจจะยอมรับว่า “เออ!!..ฉันโลภ” จริงๆวิธีประชดประชันเหล่านี้มันก็มาจากเสียงของกิเลสเหมือนกัน ประมาณว่าปล่อยให้ฉันได้เสพกิเลสของฉันเถอะอย่าเอาศีลธรรมมาใกล้ฉันเลย ว่าแล้วก็เสพกิเลสต่อไป เห็นไหมว่าผีมันกลัวศีลจริงๆ ถ้าใช้ศีลนี่จะจับผีได้ ถ้าผีหนีไม่ได้ ผีจะทุกข์ร้อนทรมานเลยนะ ผีอะไร? ก็ผีขี้โลภนี้ยังไงละ

เมื่อรู้ตัวว่าเป็นผี เป็นคนโลภ ก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นมันนักเลย ทางข้างหน้าของผีขี้โลภ หรือที่เรียกกันตรงๆว่า “ผีเปรต” นี่มันมีแต่นรก นรกนี้คือความเดือดเนื้อร้อนใจ มันเป็นผีในจิตของคนและมันก็เกิดนรกในจิตของคนนี่แหละ มันก็ทุกข์อยู่คนเดียว ยิ่งเสพก็ยิ่งทุกข์ หุ้นขึ้นก็ทุกข์เพราะจิตโลภอยากให้ขึ้นเยอะๆ หุ้นตกก็ทุกข์เพราะเสียดายทรัพย์ หุ้นขึ้นหุ้นลงก็สะสมกิเลสทั้งนั้น อย่างนี้มันอบายมุข เป็นทางแห่งความฉิบหายแน่แท้จริงเชียว

เล่นหุ้นให้เป็นกุศล

จริงๆแล้ววิธีเล่นหุ้นให้เป็นประโยชน์ ให้เป็นกุศล ให้เกิดความดีงามในชีวิตมันก็มีอยู่ ไม่ใช่ว่าไม่มีนะ แต่มันไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้นหรอก ที่อยู่ในตลาดหุ้นนี่ก็นรกเป็นส่วนใหญ่ นรกมาก นรกน้อยก็แตกต่างกันไปตามมิจฉาอาชีวะและมิจฉาวณิชชาที่กระทำอยู่

หุ้นที่เป็นกุศลเป็นความดี ที่ให้กำไรในชีวิตนั้นไม่ได้อยู่ในตลาดหุ้น ไม่จำเป็นต้องซื้อขาย มีแต่การลงทุนที่ได้ผลกำไรอย่างแน่นอน เรื่องขาดทุนนี่ไม่มีเลย ไม่ใช่ zero-sum game อย่างทั่วๆไป ไม่มีคนแพ้ ไม่มีคนขาดทุน มีแต่คนได้กำไร

การลงทุนในหุ้นเหล่านั้นคือการลงทุนไปกับสิ่งที่ดีงาม คือลงทุนกับคนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบในสังคม คนที่มีน้ำใจช่วยเหลือเกื้อกูลสังคม จะเป็นพระก็ได้ จะเป็นฆราวาสก็ได้ ขอให้เป็นคนที่ทำกุศล เสียสละเพื่อคนเป็นอันมาก นี่แหละคนหรือกลุ่มคนที่ควรจะลงทุน เป็นเนื้อนาบุญที่หาได้ยาก

ถ้าเราไปลงทุนกับคนที่ถือศีล เป็นฤๅษีอยู่ป่า อยู่อย่างปลีกวิเวก เก็บตัวไม่อยู่กับโลก แม้จะเอาเงินหรือสิ่งของไปให้ก็อาจจะไม่เกิดประโยชน์มากมาย เมื่อไม่เกิดประโยชน์เราก็ไม่ได้ผลแห่งการให้นั้นๆ ต้องแยกกันระหว่างบุญกับกุศล บุญคือจิตที่คิดสละ ในบทความนี้จะยกเรื่องบุญไว้ก่อน จะกล่าวกันแต่ในเรื่องของกุศลคือความดี และอานิสงส์คือประโยชน์ที่เกิด ดังเช่นที่ยกตัวอย่างมา เราไปทำกุศลกับคนที่ไม่ทำกุศล ประโยชน์ก็เกิดไม่มาก แม้ภาพจะสวย จะดูดี แต่ถ้าไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมก็เกิดกุศลน้อยอยู่ดี

ตัวอย่างถัดมา เป็นกรณีที่เราไปทำกุศลให้คนที่เราหลงคิดว่าเป็นเนื้อนาบุญ หลงว่าเป็นผู้บรรลุธรรม ตามที่เห็นได้ทั่วไปในข่าว อันนี้ไม่เป็นกุศล ถือว่าลงทุนผิด ไปลงทุนให้คนที่ปฏิบัติผิดทาง แล้วปัจจัยที่เราส่งเสริมไปเหล่านั้นก็ไปเสริมกิเลสเขา ให้เขาได้ทำชั่ว ได้เกิดความโลภ ใช้ปัจจัยเช่นเงินของเราไปบำรุงบำเรอกิเลสตน ซื้อของฟุ่มเฟือย สร้างของที่ไม่จำเป็น สร้างบริวาร หารายได้ บิดเบือนคำสอนของศาสนา เราต้องรับผลของการลงทุนที่ติดลบนี้ไปด้วย ในกรณีนี้จะขอยกไว้เป็นตัวอย่างในข้อยกเว้นสำหรับหัวข้อนี้

ตัวอย่างที่ดีอีกตัวอย่างหนึ่งก็คือการลงทุนให้กับคนที่ปฏิบัติตัวดีทั่วไป ก็คือการส่งเสริมคนดีนี่เอง เห็นว่าใครเป็นคนดีมีศีลธรรมก็ส่งเสริมอุดหนุนเขา ให้เขามีโอกาสที่ดี ให้เขามีหน้าที่การงานที่ดี ดังพระราชดำรัสของในหลวงที่ว่า “ ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมดการทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวาย”

นี่คือลักษณะของการลงทุนให้เกิดสิ่งที่ดี ดีต่อตัวเองและสังคม ซึ่งอาจจะไม่ต้องใช้เงินหรือปัจจัยใดๆเลยด้วยซ้ำ เพียงแค่ทำการสนับสนุนอุ้มชูคนดีเท่าที่ได้โดยไม่ยาก ไม่ลำบาก ไม่ทรมานจนเกินไป เห็นคนทำดีที่ไหนเราก็ไปช่วยสนับสนุนเขา เป็นกำลังให้เขา ปกป้องเขา แค่นี้ก็เป็นการลงทุนที่ดีแล้ว

ในอีกตัวอย่างหนึ่งคือการลงทุนไปกับคนที่ปฏิบัติดี คนที่เสียสละตัวเองช่วยเหลือสังคม พาให้สังคมทำดี เกิดการสำนึกดีขึ้นในหมู่คณะ การที่ใครสักคนหนึ่งจะสามารถเสียสละตนเอง ทิ้งความสุข ความสงบ ความสบายของตัวเองเพื่อทำงานให้กับสังคม ให้กับชุมชน ให้กับโลก สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดีและน่ายกย่อง เป็นดังเนื้อนาบุญที่สามารถสร้างกุศลให้เติบใหญ่ไม่มากก็น้อย

การเติบโตของการลงทุนนี้เป็นอย่างไร? เมื่อเราสนับสนุนคนดีที่เสียสละเพื่อส่วนรวมโดยไม่หวังประโยชน์ตน หวังแต่ประโยชน์ของผู้อื่นเป็นสำคัญ เขาเหล่านั้นจะใช้ปัจจัยที่เราให้ไม่ว่าจะเป็นเงิน แรงงาน หรือการสนับสนุนต่างๆให้เป็นไปเพื่อผู้อื่น เมื่อคนเราคิดถึงแต่ผู้อื่น ไม่เห็นแก่ตัว จึงจะสามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุดเท่าที่ปัญญาของเขาจะสามารถสร้างได้ และการไม่เห็นแก่ตัวนั้นเองก็เป็นปัญญาที่มากมายอยู่แล้ว

การเสียสละเงินเพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีนั้นเป็นเรื่องง่าย การเสียสละแรงงานเพื่อช่วยกันสร้างสิ่งที่ดีก็ยากขึ้นมาหน่อย การเสียสละเวลาเพื่อช่วยสร้างสรรค์สิ่งที่งดงามก็เป็นเรื่องยาก แต่การเสียสละชีวิตเพื่ออนุเคราะห์สังคมและโลกเป็นเรื่องที่ยากสุดยาก

ดังนั้นหากเราคิดจะลงทุนให้เกิดกุศล เกิดความดี เกิดประโยชน์แท้แก่ชีวิตเรา ก็ให้เลือกลงทุนให้ดี สนับสนุนคนดีให้ทำดี แต่อย่าประมาทในกุศลแม้น้อย แม้ว่าการเสียสละเงินจะเป็นเรื่องง่าย แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เช่นเดียวกันกับคนที่เสียสละแรงงาน เราก็ควรจะสนับสนุนให้เขาทำดี แม้จะเป็นความดีที่ไม่มาก แต่ก็วันหนึ่งก็อาจจะเติบโตเป็นความดีที่ยิ่งใหญ่ ดังนั้นเราจึงไม่ควรหยุดอยู่ในกุศล ไม่ควรหยุดทำความดี ไม่ควรหยุดลงทุนให้กับผู้ทำความดี เพราะสิ่งเหล่านี้เองเป็นการลงทุนที่มีแต่ได้กำไร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ให้ของดี ย่อมได้ของดี” ,”ปราชญ์ผู้ให้ความสุข ย่อมได้รับความสุข”,”ผู้ให้สิ่งที่เลิศ ย่อมได้สิ่งที่เลิศอีก”,”ผู้ให้สิ่งที่ประเสริฐ ย่อมถึงฐานะที่ประเสริฐ”,”นอกจากการแบ่งปันเผื่อแผ่กันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอย่างอื่นไม่”

แม้ว่าเราจะไม่ได้ต้องการสิ่งตอบแทนใดๆ แต่เราจะได้รับผลของกรรมดีที่เราทำ เราคิดแต่จะให้ เราก็มีแต่จะได้รับ เป็นการลงทุนที่ให้ผลกำไรอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะยิ่งให้ก็ยิ่งได้รับ

เห็นได้ว่าการลงทุนเหล่านี้ไม่จำเป็นต้องมีเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวเลยด้วยซ้ำ จะมีก็ได้ ไม่มีก็ได้ เราสามารถลงทุนได้โดยใช้กำลังหลายๆอย่างที่เรามี ไม่ว่าจะแรงกาย หรือใช้ปัญญาก็สามารถลงทุนในหุ้นชีวิตเหล่านี้ได้ ซึ่งการลงทุนเหล่านี้ไม่บาป ไม่ใช่การพนัน เป็นกุศล ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่น

– – – – – – – – – – – – – – –

25.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์