ธรรมะประยุกต์

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

November 13, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 845 views 0

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก

การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง

การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้

ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

13.8.2562

พอเพียง

November 4, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,253 views 0

พอเพียง

พอเพียง

เมื่อเราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ โดยมากแล้วเราก็มักจะเก็บมันไว้บนที่สูง เก็บไว้บนหิ้ง คือรับรู้และยอมรับว่าเป็นสิ่งที่ดี แต่มักจะไม่ได้เอามาทำให้เกิดประโยชน์เท่าที่ควร แม้จะมีศรัทธาแต่ก็ยังคงเป็นพลังศรัทธาที่อ่อนแอ

…เมล็ดข้าวนี้ ถ้าเราเอามากอดเก็บไว้บูชา ประโยชน์ก็จะเกิดประมาณหนึ่ง คือเป็นสิ่งที่ทำให้ระลึกถึงสิ่งที่ดี แต่ถ้าเราเอาเมล็ดข้าวนี้ไปปลูก สักวันหนึ่งเราก็จะได้เมล็ดข้าวอีกมากมาย สามารถนำไปสร้างประโยชน์ให้ตนเองและผู้อื่นได้

เช่นเดียวกันกับการที่เราได้รับสิ่งที่ดี ได้เห็นตัวอย่างที่ดี ได้ฟังคำสอนที่ดี ฯลฯ ถ้าเรานำมาศึกษาเรียนรู้ เพียรพยายามปฏิบัติตาม สักวันหนึ่งเราก็จะเกิดผลนั้นในตนเอง เป็นเอง มีเอง สามารถทำตนให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นได้อีกมากมาย

ปลูกข้าวก็สามารถแบ่งปันเมล็ดข้าวได้ ทำตนให้เป็นคนดีก็สามารถแบ่งปันสิ่งดีได้ ศึกษาเพื่อให้เกิดธรรมะในตนก็จะสามารถแบ่งปันธรรมะได้เช่นกัน ผู้ที่สามารถปฏิบัติตนตามสิ่งดี ตามตัวอย่างที่ดี ตามคำสอนที่ดีจนเกิดผลในตนได้จริง จะต้องมีศรัทธาอย่างแรงกล้า ตั้งมั่น ยืนหยัด มั่นคง แข็งแกร่ง ไม่หวั่นไหว

…..

ผมได้เมล็ดพันธุ์แห่งความ “ พอเพียง ” นี้มา และเริ่มปลูกในวันนี้ เพราะเมล็ดพันธุ์ที่ปลูกวันนี้ ย่อมจะโตได้ไวที่สุดเท่าที่มันจะเจริญเติบโตได้ แต่ถ้าหากเราปล่อยเมล็ดพันธุ์ทิ้งไว้ มันก็จะเสื่อมไปตามกาลเวลา เหมือนกับความดีงาม หากเราไม่พยายามทำ  จิตใจของเราก็จะเสื่อมและต่ำลงไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ผมไม่รู้หรอกว่ามันจะงอก, มันจะรอด, มันจะโต, มันจะสมบูรณ์จนสามารถออกรวงให้เก็บเกี่ยวผลได้หรือไม่ แต่เมล็ดพันธุ์ที่ได้มานั้นมีมากมาย เหมือนกับสิ่งดีงาม ตัวอย่างที่ดีงาม คำสอนที่ดีงามต่าง ๆ นั้นมีมากมาย แม้เราจะไม่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามบางเรื่อง แต่ก็มีหลากหลายเรื่อง หลากหลายมุม ให้เราได้ยึดถือและฝึกปฏิบัติตามสิ่งที่ดีงามเหล่านั้น

การปลูกข้าวก็เช่นกัน มันอาจจะไม่สำเร็จในครั้งแรก แต่ผมก็จะพากเพียรพยายามศึกษาเรียนรู้ แม้จะปลูกไม่ขึ้น ไม่เห็นผล ก็จะพยายามปลูกไปเรื่อย ๆ  เพราะรู้ดีว่า ผลของการปลูกสำเร็จนั้น เป็นสิ่งดีที่ควรให้เกิดขึ้น ปลูกข้าวได้ ก็ได้กินอิ่ม ได้แบ่งปัน ปลูกความดีงามในใจตน ก็ได้สุขเหนือสุข และสามารถแบ่งปันสุขนั้นให้กับโลกนี้ได้ด้วย

ที่ ๆ ดีที่สุดของเมล็ดข้าวคือดิน ที่ ๆ ดีที่สุดของความดีงามคือในจิตใจของตนเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

4.11.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

April 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,263 views 0

สาย8 ในความทรงจำ...ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในความทรงจำ…ที่กำลังจะเปลี่ยนไป

สาย8 ในทีนี้ก็คือรถเมล์ สาย 8 ที่หลายคนอาจจะคุ้นเคยกันดี ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่เกิดและโตอยู่ ณ จุดหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่ต้องใช้บริการของรถเมล์สาย 8 เป็นประจำ

ที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กจนโต สาย 8 ในความทรงจำของผมคือ “ความหวาดเสียว” เพราะด้วยลีลาการขับรถชองพวกเขานั้นมักจะทำให้ผมรู้สึกตื่นตัวมีสติอยู่เสมอ และในบางครั้งที่ผมได้นั่งหลังคนขับ ก็มีบางคราวที่คนขับรถเมล์สาย 8 ไม่พอใจกับรถเมล์สายอื่นแล้วขับปาดกันไปกันมา ถึงกับช่วยให้ผมได้เจริญมรณสติกันเลยทีเดียว

สรุปว่าสาย 8 ในความทรงจำของผมมันก็ไปในทางลบนั่นแหละ แต่ก็ต้องใช้บริการกันไปด้วยความจำเป็น ถ้าไม่รีบก็จะไม่เลือก ซึ่งเรื่องที่จะเล่าในตอนนี้ก็คือเรื่องในวันก่อนที่แม้ไม่รีบ แต่ก็ยังเลือก

…..ผมรอรถเมล์อยู่ตั้งแต่เช้า คิดว่าจะนั่งสาย 145 หรือ 96 ไปยังจุดหมายเพราะเดินต่อไม่ไกล แต่รอไปก็ไม่มีมาสักคัน สาย 8 ก็ผ่านมาแล้วคันสองคัน จนมาถึงสาย 8 คันที่ 3 คันนี้ไม่มีคนโบกหรอก คนลงก็ไม่มี แต่ก็มาจอดหน้าผม เขาก็ไม่ได้เรียกหรอกนะ แต่เห็นเขาจอดเราก็รู้สึก เออ…ขึ้นก็ได้ เพราะจริงๆ สาย 8 ก็ไปได้เหมือนกัน แค่เดินต่อไกลกว่าสายอื่นๆ นิดหน่อย

ขึ้นไปก็ไปนั่งเบาะเดี่ยวใกล้ๆ หลังรถ ในรถคนไม่เยอะมาก พนักงานเก็บเงินก็เดินมาเก็บเงินตามปกติ พอผมยื่นเงินออกไปเขาก็ยกมือไหว้ ซึ่งผมก็ตะลึงนิดๆ คิดว่า โอ้โห! สาย 8 พัฒนาบริการแบบใหม่หรือนี่ เราอาจจะเคยเห็นในห้างหรือที่ไหนๆจนชิน แต่ในสาย 8 นี่เป็นเรื่องที่ผมไม่ชินจริงๆ แต่พอดูไปดูมา เขาก็ไม่ได้ไหว้คนอื่นนี่ อาจจะเพราะเราแต่งตัวเหมือนหรือไปคล้ายๆ กับคนที่เขาเคารพก็ได้นะ เรื่องนี้ก็ยกไว้ เพราะไม่รู้เหตุ

นั่งต่อไปก็มีหญิงแก่คนหนึ่งขึ้นรถมา พนักงานเก็บเงินก็เข้าไปช่วยประคองขึ้นรถอย่างนุ่มนวลประดุจบริการญาติผู้ใหญ่ เป็นภาพที่ผมไม่เคยคิดว่าจะได้เห็นในขณะที่นั่งรถเมล์ สาย 8 เช่นกัน ต่อมาก็มีจังหวะที่คนขับรถ เข้าจอดป้ายแล้วเบรกแรง ทำให้เบาะยาวหลังรถที่ไม่มีคนนั่งพับลงมา ซึ่งตอนแรกผมก็ยังไม่เห็น แต่เห็นเพราะพนักงานเก็บเงินนั้นเดินมาไหว้ผมอีกรอบ แล้วเดินเลยไปยกเบาะขึ้นแล้วก็เดินกลับไปหน้ารถพร้อมยกมือไหว้เชิงขอโทษผู้โดยสารแบบรวมๆ

ผมก็เห็นว่า พนักงานหนุ่มคนนี้แม้ดูภายนอกจะออกไปทางเกเรนิดๆ อาจจะด้วยภาพของสาย 8 ที่ผมเคยยึดไว้หรืออะไรก็ตาม แต่สิ่งที่เขาแสดงออกนั้นนุ่มนวลกว่าที่เห็นภายนอกมากนัก ผมเริ่มทบทวนอคติลำเอียงที่ผมมีต่อสาย 8 ว่าผมเหมาเกินไปไหม ผมรีบตัดสินไปไหม ทั้งดีและไม่ดีนั้นจะอยู่ยั่งยืนอย่างนั้นจริงหรือ…

สักพักหนึ่งรถเมล์ก็เข้าโค้งอย่างแรง ซึ่งถ้าตามค่ามาตรฐานของสาย 8 การเค้าโค้งอย่างที่ผมว่านี้ถือเป็นเรื่องปกติของเขา แต่ผมก็ยังนึกอยู่ในใจว่า เข้าโค้งแบบนี้มันก็ไม่ค่อยปลอดภัยนะ แต่พอเขาขับไปอีกนิดหนึ่งในจังหวะที่รถจะต้องแทรกเข้าไปในทางหลัก แทนที่เขาจะขับพรวดพราดออกไป เขากลับรอที่จะออกช้าๆ ทั้งที่ผมก็มองแล้วว่ารถที่ขับมาทางหลักก็ไม่ได้เยอะมากมาย

ซึ่งสิ่งที่เขาทำนั้น ทำให้ผมต้องกลับมาทบทวนความเข้าใจของตนเองว่าผมกำลังเอาแต่ใจเกินไปรึเปล่า อยากให้มันดีอย่างใจ ให้มันปลอดภัยตามมาตรฐานของเรารึเปล่า เพราะจริงๆ เขาก็ขับอย่างปลอดภัยในมุมที่เขาคิดว่าปลอดภัย ซึ่งมันก็ปลอดภัยจริงๆ คือภัยมันยังไม่เกิด พอไม่เกิดเขาก็อาจจะยังไม่ได้เรียนรู้การปรับบางอย่างให้ละมุนละไมในบางมุม ซึ่งในวันหนึ่งเขาก็จะค่อยๆ ปรับไปเรื่อยๆ ว่าอย่างไหนปลอดภัย อย่างไหนไม่ปลอดภัย เพราะแท้จริงแล้วไม่มีใครอยากใช้ชีวิตบนความไม่ปลอดภัยหรอก ก็คงมีแต่เรานั่นแหละ ที่อยากให้ทุกอย่าง “ดี” ตามที่ใจเราหมาย อยากให้บางจังหวะมันปลอดภัยอย่างใจเรา และอยากให้บางจังหวะมันไวอย่างใจเรา มันก็อยากไปเรื่อยตามความเห็นที่เรายึดว่าดีเหมือนกัน

เมื่อถึงป้ายที่ต้องลง ผมลงรถพร้อมรอยยิ้มส่งจากพนักงานเก็บเงิน ซึ่งในขณะที่ผมเดินต่อไปยังที่หมาย ก็ได้ใช้โอกาสนั้นทบทวนตนเองซ้ำอีกทีว่า เราจะยึดติดกับภาพใหม่นี้รึเปล่า ภาพของวันนี้มันก็เป็นเพียงแค่ในวันนี้ มันก็ดีเท่านี้ ดีกว่านี้ยังไม่เกิด แย่กว่านี้ก็ยังไม่เกิด ดีเก่าก็ผ่านพ้นไป อะไรที่มันไม่ดีก็ผ่านพ้นไป

ผมกำลังต่อสู้กับ “ความยึดมั่นถือมั่น” ในความทรงจำหรือสัญญาที่ผมมี ในลำดับแรกนั้นต้องทำลายความยึดมั่นถือมั่นเดิมก่อน ว่าสิ่งนั้นต้องเป็นเช่นนั้นเช่นนี้ ตามที่เรายึดไว้ คือ เราจะไม่เอนเอียงไปทางอคติจนมองข้ามความจริงตามความเป็นจริงว่าครั้งนี้เขาก็ดีตามที่เขาเป็นจริงๆ และหลังจากนั้นคือไม่สร้างความยึดใหม่ขึ้นมา คือ เราจะไม่ลำเอียง เพราะเห็นว่าครั้งนี้เขาดีอย่างใจเรา แล้วมันจะดีไปตลอด เพราะความเป็นจริงก็คือ เขาดีดังใจเราแค่ครั้งนี้เท่านั้น ครั้งหน้าอาจจะไม่มีก็ได้ ถ้าเราเกิดความลำเอียง ฝังไว้ในใจว่ามันต้องดีอย่างนี้ทุกครั้ง เราก็จะต้องทุกข์จากความผิดหวัง เพราะวางความคาดหวังให้เกิดดีแล้วไม่ดีดังใจหมายไม่ได้

ทั้งหมดเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงเช้าของวันหนึ่ง เป็นช่วงเวลาเพียงสั้นๆ ที่ได้เก็บเกี่ยวและสังเคราะห์ประสบการณ์ใหม่ๆ จากการศึกษาธรรมะ

– – – – – – – – – – – – – – –

12.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

October 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,918 views 0

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์กับการครองคู่

ไตรลักษณ์ คือสามัญลักษณะของสิ่งต่างๆ หมายถึงสิ่งเหล่านั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตน การเข้าใจอย่างแจ่มแจ้งในลักษณะสามอย่างนี้จะทำให้เราพ้นทุกข์ ในบทความนี้ก็จะนำมาประยุกต์กับเรื่องการครองคู่กัน

ไตรลักษณ์นั้นเป็นสิ่งที่รู้ ท่อง จำกันได้โดยทั่วไป แต่การจะเข้าใจจนกระทั่งเข้าถึงธรรมนั้นจริงๆไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เราจะท่องได้ เข้าใจได้ แต่เข้าไม่ถึงธรรมนั้น ไม่รู้แจ้งรู้จริงความเป็นธรรมดาของสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่มีวันที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ไปได้

ไม่เที่ยง (อนิจจัง): สิ่งใดๆล้วนไม่เที่ยง การครองคู่ก็เช่นกัน แม้มันจะเห็นเป็นสภาพคู่ แต่มันก็สามารถแปรเป็นอื่นได้ทุกขณะ วิบากกรรมคืออจินไตย เราไม่สามารถคาดเดา หรือคิดคำนวณได้ว่าสิ่งใดจะเกิดกับเราเมื่อไหร่และอย่างไร นั่นหมายถึงกรรมดีที่พยายามทำลงไปแม้มันจะเป็นสิ่งที่ดีที่ควร แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้ชีวิตคู่มีความเที่ยงแท้ได้เลย มันมีการแปรเปลี่ยนอยู่เสมอ เกิดขึ้นแล้วก็หายไป เหมือนฟองคลื่น เหมือนพยับแดด ดังนั้นคนที่เข้าใจความจริงในข้อนี้จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะไม่รู้จะเข้าไปยึดเอาสิ่งที่ไม่เที่ยงไปทำไมให้เสียเวลา

เป็นทุกข์ (ทุกขัง) : สิ่งทั้งหลายทั้งปวงมีแต่ทุกข์ ทุกข์เท่านั้นเกิดขึ้น ทุกข์เท่านั้นที่ตั้งอยู่ ทุกข์เท่านั้นที่ดับไป การครองคู่ก็เช่นกัน แท้จริงแล้วในการคู่กันนั้นมีแต่ทุกข์ล้วนๆ พากันสร้างบาป เวรภัย เป็นบ่วงของกันและกัน ไม่มีความสุขอยู่ในนั้นเลยแม้แต่นิดเดียว คนที่ยังมองเห็นว่ามีสุขด้วยทุกข์ด้วย คือคนที่ยังไม่ชัดเจนในธรรม ยังเห็นอธรรมว่าเป็นธรรมอยู่ เหตุเพราะมีอุปาทานยึดมั่นและเข้าใจไปเองว่าสิ่งนั้นเป็นสุข ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแต่ทุกข์เท่านั้นที่เกิดขึ้น ดังนั้นคนที่เข้าใจในลักษณะข้อนี้ จะไม่ยินดีเข้าไปครองคู่ เพราะรู้แน่ชัดแล้วว่ามีแต่ทุกข์ เหมือนรู้ว่าเขาจะเอายาพิษมาให้ กินแล้วทุกข์ทรมาน กินแล้วตาย ต่อให้มีรสหวานยังไงก็จะไม่กิน

ไม่ใช่ตัวตน (อนัตตา): สิ่งทั้งหลายล้วนไม่มีตัวตน การครองคู่ก็เช่นกัน ความเห็นผิดของเรานั้นจะสร้างตัวตน(อัตตา) ขึ้นมาเอง ปั้นภาพปั้นภพขึ้นมาหลอกตัวเองและหลอกคนอื่นซ้ำแล้วซ้ำเล่า สร้างสิ่งที่ไม่มีตัวตนแล้วหลงกันไปว่าเป็นตัวตน เป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพ ควรมี เป็นศักดิ์ศรี เป็นธรรมชาติ เป็นธรรมดาของมนุษย์ การครองคู่นั้นแท้จริงแล้วไม่ได้ประเสริฐอะไรเลย เพราะการครองคู่มีมาตั้งแต่สมัยยังเป็นสัตว์เดรัจฉานตั้งแต่หนอน แมลง จนถึงสัตว์ใหญ่ๆ แต่การไม่ครองคู่ต่างหากที่เป็นสิ่งประเสริฐ สิ่งที่เหนือธรรมชาติ สิ่งที่ทำได้ยาก สิ่งที่ไม่อยู่ในวิสัยของโลก ซึ่งคนที่หลงว่าการครองคู่เป็นอัตตาจะไม่สามารถสลัดความหลงที่มีในตนได้ เพราะหลอกจิตตัวเองมาแล้วไม่รู้กี่ชาติต่อกี่ชาติ หลงกันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เสพแล้วก็มัวเมา สั่งสมอุปาทาน เกิดเป็นภพ ชาติ สืบไป ดังนั้นผู้ที่เข้าใจลักษณะของอนัตตาจะไม่เข้าไปครองคู่ เพราะไม่เห็นว่ามันจะเป็นสาระใดๆที่สำคัญในชีวิตที่จะดำเนินไปสู่การพ้นทุกข์นี้เลย

. . . สรุปแล้ว คนที่เข้าใจแจ่มแจ้งในไตรลักษณ์นั้นจะหมดสิ้นความไม่แน่นอน จะมีแต่ความเห็นที่แน่นอน ไม่ใช่คนกำกวม เช่นว่า“ไม่มีคู่ก็ดี มีคู่ก็ได้ ,ยังไงก็ได้, แล้วแต่กรรมลิขิต, ฯลฯ

จะเหลือแค่คำตอบเดียว คือถ้ามีปัญญารู้ว่าสิ่งนั้นไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนแล้วนั้นก็ไม่รู้ว่าจะเข้าไปครอบครองให้มันลำบากทำไม ส่วนจะต้องไปครองคู่เพราะสังคมบังคับ เช่นถูก คลุมถุงชน หรือโดนบีบคั้นด้วยตำแหน่งหน้าที่ หรืออยู่ในภาวะจำยอมต่างๆนั้นก็เป็นอีกเรื่อง

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)