ความเห็นความเข้าใจ

การเข้าถึงนรก

July 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,809 views 0

วันก่อนแชร์เรื่องที่เขาเอาหมูไปต้มแบบเป็น ๆ แล้วมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “นรก..” ก็มีคนถามว่า ” นรก คือการที่จิตตกลงไปเกิดใหม่ในสภาพนี้หรือเปล่า”

ก็ตอบว่า ใช่

นรกคือ จิตที่เกิดสภาพเป็นทุกข์ เดือดร้อนกายใจ ไม่ว่าจะสวมเนื้อหนังแบบใด แต่ถ้าจิตเข้าถึงความทุกข์ร้อนกระวนกระวาย ก็คือจิตไปเกิดในนรก

การเข้าถึงนรก ก็ไม่ใช่แค่ว่าต้องตายจากโลกนี้ไปแล้วไปนรก สภาพของนรกนั้นเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ก็ตามแต่วิบากกรรมของแต่ละคน บางคนก็นรกน้อย บางคนก็นรกมาก ลึกตื้นหนาบางไปตามกรรมกิริยาที่ทำมาและกำลังทำอยู่

นรกคือความเดือดเนื้อร้อนใจ การเดือดเนื้อ หรือเนื้อเดือดอย่างหมูที่ถูกต้มทั้งเป็น ก็เป็นทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ แต่อาการร้อนใจนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ กำจัดให้หมดไปได้

ดังนั้นศาสนาพุทธจึงมุ่งดับความร้อนใจ อันเป็นนรกเผาใจให้ทุกข์ร้อน และฝึกฝนปฏิบัติเพื่อปรับใจให้ยินดีเต็มใจรับความเดือดเนื้อ ลำบากกาย ด้วยเหตุแห่งวิบากกรรมด้วยความเต็มใจ

เพราะกรรม ทำแล้วจะไม่ส่งผลเป็นไม่มี กรรมทำแล้วต้องรับผลกรรม หนีไม่ได้ แถมมันไม่ต่อรองกับเราอีกต่างหาก ถึงเวลาวิบากกรรมชั่วส่งผล ก็จะมีแต่ทุกข์ร้อนเหมือนตกนรก นั่งห้องแอร์เย็นฉ่ำแต่ร้อนใจอยู่ไม่เป็นสุขก็มี

สรุปก็คือ นรกคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเอง ถ้าไม่อยากตกนรก ก็เลิกสร้างเหตุแห่งนรก คือความเบียดเบียนทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น

การไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

July 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,824 views 0

ก็มีคำถามในแชร์โพสที่เขาต้มหมูทั้งเป็นประมาณว่า “ผู้​ทุศีล​ก็ต้องตกไปเกิด​เป็น​เดรัจฉาน​ได้​ใช่ไหม

ก็ตอบว่า ใช่

ซึ่งอ้างอิงจากโลหิจจสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน”

คนที่มักทุศีล คือผิดศีล เน่าใน หรือคนไม่มีศีล ก็คือไม่มีสัมมาทิฏฐิ นั่นหมายถึงเขาเหล่านั้นเป็นมิจฉาทิฏฐินั่นเอง เมื่อมีความเห็นผิด ทางไปก็มีแต่นรกหรือเกิดเป็นเดรัจฉานเท่านั้นเอง

ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ก็จะมีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเนื้อ เป็นแก่นในจิตวิญญาณ ซึ่งจะเป็นเจริญไปตามลำดับตามความพากเพียรในการปฏิบัติธรรม

ในเบื้องต้นก็ศีล ๕ ต่อไปก็ ๘ ๑๐ วินัยก็เป็นอีกส่วนของนักบวช แต่ตัวปฏฺิบัติ คือศีล

ศีลกับวินัยนั้นแตกต่างกัน ศีลคือข้อปฏิบัติเพื่อฝึกฝนให้เกิดความเจริญ วินัยคือกฏข้อบังคับ ซึ่งอาจจะมีบางข้อที่ทับซ้อนกันบ้าง แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นข้อควรปฏิบัติ

คนที่เขาเห็นผิด เขาก็จะไม่เอาศีล ไม่เอาศีลนำ ไม่เอาศีลตั้ง ไม่เอาศีลเป็นหลักชัย ไม่เอาศีลเป็นตัวปฏิบัติ เมื่อศีลคือหลักปฏิบัติ แล้วไม่ปฏิบัติตามศีล เขาก็ปฏฺิบัติตามหลักตัวเองนั่นแหละ ซึ่งพอไม่ปฏิบัติตามหลักพุทธ มันก็ไปนอกพุทธ ก็เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ปฏิบัติไปก็ไม่พ้นทุกข์ เห็นผิด พาหลง ไปนรก เข้าถึงความเป็นเดรัจฉานเป็นผลในที่สุด

การใช้จ่ายกุศลอย่างสุรุ่ยสุร่าย

July 6, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,126 views 0

กรรมคือสิ่งที่ทำลงไปแล้ว จะให้ผลแน่นอนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ผลของกรรมจะดลให้ได้รับสิ่งดี สิ่งร้าย ตามที่ได้ทำมา ซึ่งคนเรามีสิทธิ์ที่จะเลือกทำกรรม แต่ผลที่จะได้รับนั้น ก็จะได้ตามกุศลกรรม(ทำดี)หรืออกุศลกรรม(ทำชั่ว)ที่ทำมา

อธิบายให้เห็นภาพแบบหยาบ ๆ คือ กว่าจะได้เกิดเป็นมนุษย์นั้นยากแสนยาก ต้องทำความดีสะสมมามาก แต่การจะใช้ความเป็นมนุษย์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดนั้น ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่าย

คนส่วนมาก ถูกกิเลสครอบงำ ก็เอาชีวิตและจิตวิญญาณ ไปทุ่มเทให้กับกิเลส อบายมุข เหล้า บุหรี่ การพนัน เที่ยวเล่น สิ่งเสพที่เสพไปแล้วติดใจทั้งหลาย เอาไปเทให้กับลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เอาไปบำเรออัตตา อันนี้เรียกว่าความฟุ้งเฟ้อ พอถึงจุดหนึ่ง มันจะหมด ดีที่ทำมามันมีวันหมด อย่างที่เขาเรียกว่า “หมดบุญ” แต่จริง ๆ คือกุศลกรรมที่ทำมามันหมด มันไม่เหลือ เพราะเอาไปเผากับกิเลสหมด

ถ้าแบบกลาง ๆ ก็พวกที่หันมาทำดีบ้าง แต่ไม่ลดกิเลส ยังเสพ ยังติด ยังหลงมาก ก็เหมือนพวกหาเช้ากินค่ำ ทำดีสร้างกุศลประคองชีวิตกินใช้ไปวัน ๆ แม้จะทำดีมาก แต่ก็ยังมีรูรั่วที่ใหญ่ ทำดีเท่าไหร่ ก็ไหลไปกับกิเลส

ส่วนแบบละเอียดคือหันมาปฏิบัติธรรม มุ่งมาลดกิเลสแล้ว แต่ก็ยังใช้กุศล ใช้โอกาสที่ตัวเองมีไปกับเรื่องข้างนอก ไปกับสิ่งไร้สาระ เช่น ใช้โอกาส ใช้อำนาจ ใช้บารมีตัวเองไปเพื่อให้ตัวเองได้เสพสมใจในผลต่าง ๆ โดยประมาท คือไม่รู้ว่าทุกอย่างนั้นมีต้นทุน

เช่นการเข้าหาครูบาอาจารย์ ยิ่งเป็นท่านที่ถูกตรงด้วยแล้ว เป็นสาวกจริงแล้ว พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่าการได้พบ ได้เข้าถึง ได้ศึกษาตามสาวกที่ถูกตรงเป็นสิ่งที่เยี่ยมยอดที่สุด (อนุตตริยสูตร)

แล้วที่นี้สิ่งที่เยี่ยมยอดนี่มันจะมีราคาแพงไหม? มันก็แพงมากกว่าสิ่งที่มีขายอยู่ในโลกนั่นแหละ แพงจนประเมินค่าไม่ได้ ต่อให้รวยที่สุดในโลกก็ใช่ว่าจะเข้าถึงได้ แต่จะสามารถพบเจอเข้าถึงได้จากความดีที่สะสมมา นั่นหมายถึงค่าใช้จ่ายในการพบสาวกพระพุทธเจ้า ไม่ใช่เงิน แต่เป็นกุศลวิบาก (ผลของการทำดี)

ทีนี้บางคนพบแล้วก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่ คือจ่ายน่ะจ่ายไปแล้ว แต่ไม่ได้ใช้สิทธิ์เหล่านั้นเพื่อการพ้นทุกข์ ก็เอาสิทธิ์เหล่านั้น ไปพูดเล่นบ้าง คุยเล่นบ้าง ถามเรื่องชาวบ้านบ้าง พูดแต่เรื่องตัวเองบ้าง หรือไม่ก็ที่เลวร้ายคือ เข้าหาท่านเพื่อแสวงหาโลกธรรม อยากเด่นอยากดัง อยากเป็นที่สนใจ อยากมีอำนาจ อยากมีบริวาร อยากเป็นคนสำคัญ เป็นแม่ทัพ เป็นนั่นเป็นนี่ ลักษณะพวกนี้ ครูบาอาจารย์ท่านเปรียบว่า “ทำดีมาแล้วเอาไปเทให้หมามันกิน

คือทำดีมาจนมีโอกาสแล้ว กลับไม่ทำประโยชน์ใส่ตัว ไม่สร้างองค์ประกอบในการลดกิเลส ไม่ถามเพื่อลดกิเลส ฯลฯ สุดท้ายตนเองก็ไม่ได้สร้างสิ่งดีแท้ให้ตนจากโอกาสนั้น ๆ พอวันหนึ่งที่กุศลวิบากหมด ก็จะหมดรอบ จะเกิดเหตุให้ต้องพรากจากครูบาอาจารย์ ในลีลาต่าง ๆ ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงได้เหมือนเดิม

ก็ต้องวนกลับไปจน คือจนโอกาส จนความดี จนมิตรดี เพราะเวลามีโอกาสกลับไม่ใช้ให้เป็นประโยชน์ เอาไปใช้จ่ายสุรุ่ยสุร่าย ถึงเวลาหมด มันก็หมด แล้วก็ต้องเสียเวลามาทำสะสมใหม่ อีกหลายต่อหลายชาติ

นั่นก็เพราะ พระพุทธเจ้าและสาวกของพระพุทธเจ้า ค่าตัวแพงสุด ๆ เลยเชียวล่ะ (ค่าตัวของความดีงาม)

ทางสายกลาง (มังสวิรัติ)

May 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 575 views 0

ทางสายกลางคือการปฏิบัติสู่ความเป็นกลางของจิต ถ้าจะยกตัวอย่างให้เห็นภาพได้ง่าย คือไม่ชอบ และไม่ชัง ถ้าลงรายละเอียดในภาษา ก็คือไม่หลงในกาม และไม่ยึดมั่นในอัตตา

ความชอบความชัง หรือกามและอัตตานั้น เหมือนกับลูกตุ้มเหล็กที่เหวี่ยงไปแล้วแกว่งไปทางด้านหนึ่ง และแกว่งกลับมาอีกด้านหนึ่ง ตราบใดที่ยังมีแรงหลงเหลืออยู่

แรงที่แกว่งให้เกิดความชอบความชังเหล่านี้คือกิเลส ตราบใดที่กิเลสยังเหลือ ลูกตุ้มแห่งกามและอัตตาก็ยังแกว่งไปอย่างไม่มีวันจบสิ้น

ดังนั้นการจะดำเนินชีวิตสู่ทางสายกลาง คือต้องลดกิเลส หรือทำความชอบความชังให้เบาลง ในกรณีมังสวิรัติคือการทำความชอบในเนื้อสัตว์ให้เบาบางลง และทำความชังในเนื้อสัตว์หรือบุคคลที่เกี่ยวข้องให้เบาบางลงเช่นกัน

ความชอบหรือกามในเนื้อสัตว์ คือการหลงในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสที่มีในเนื้อสัตว์นั้น ๆ เป็นเหตุให้คนเข้าไปเสพ แม้จะไม่ได้เข้าไปเสพเนื้อโดยตรง แต่ยังยินดีในการเสพเนื้อเสมือน เนื้อเทียม เนื้อปลอม ก็ยังเป็นลักษณะที่ยังบ่งบอกถึงความจัดในกามที่ยังคิดติดตรึงใจอยู่ การลดกามในเนื้อสัตว์นั้นก็ต้องลดทั้งกามคุณทั้ง ๕ อย่างนั้นลง ไม่ให้จัดจ้าน ไม่ให้เหลือรูปภายนอก สุดท้ายคือกำจัดรูปรอยของความอยากในใจให้ได้

ความชังหรืออัตตาที่มีต่อเนื้อสัตว์และผู้คนที่เห็นต่าง คือทางโต่งอีกด้านของลูกตุ้มกิเลส ที่แกว่งกลับมาด้านอัตตา จิตของคนที่อัตตาแรง แม้จะแรงแค่ไหนแต่จะมีสภาพที่จะยึดเป็นอย่าง ๆ ถ้าไปติดกามก็ติดแรง วนมาอัตตาก็จะชังแรง เป็นสภาพผลักดูดที่แรงเป็นของคู่กัน

ความชังนั้นจะมีผลกระทบต่อตนเองและผู้อื่น ตนเองก็เศร้าหมอง ไม่สดชื่น ไม่เบิกบาน ส่วนผู้อื่นก็จะรู้สึกกดดันบีบคัน อึดอัด ไม่สบายใจ เป็นลักษณะของความโต่งในการทรมานตนเองด้วยอัตตา แม้จะไม่ได้ไปนั่งบนเตียงตะปู ไม่ได้เดินเหยียบไฟ แต่การหลงในอัตตานั้นทรมานลึกร้ายกว่านั้น เพราะเป็นความทรมานในใจ ไม่มีรูปข้างนอก แต่มีความไม่สบายใจอยู่ข้างใน

อัตตา นั้นเกิดมาจากการให้ความสำคัญมากเป็นพิเศษ เช่นสำคัญตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นแล้วไปยกตนข่มเขา ดูถูกดูหมิ่น ดูแคลนเขา ดูเขาว่าด้อย แสดงความเหยียดเขา เป็นต้น

ในกรณีของผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ ก็มักจะมีอัตตาตัวนี้แรง เพราะการจะออกจากกาม มันก็ต้องใช้อัตตา คือใช้ความยึดดีหรือยึดความดีเป็นกำลัง แต่ที่นี้มันจะมีจุดที่ยึดไปแล้วเลยเถิด คือมันเหมือนจะดี แต่มันทุกข์ทรมาน ลำบาก กดดัน บีบคั้น แสดงว่ามันโต่งไปแล้ว

จุดพอดี จุดโต่งในระหว่างการปฏิบัตินั้นไม่เที่ยง จะแปรเปลี่ยนไปตามอินทรีย์พละหรือความเจริญของจิต ในสมัยปฏิบัติแรก ๆ ความพอดีอาจจะเป็นไม่กินเนื้อสัตว์ จันทร์-ศุกร์ มากกว่านี้จะทรมานใจมาก ปฏิบัติต่อมาจิตเจริญขึ้น ความพอดีที่จะทำความเจริญอาจจะเปลี่ยนไปเป็นไม่กินเนื้อตลอดชีวิต แต่ยังอด นม เนย ไข่ น้ำผึ้งนาน ๆ ไม่ไหว จิตมันอยากจนดิ้นรนแสวงหา มันทนไม่ได้

ซึ่งความกลางในที่นี้ไม่ใช่ความกลางเป๊ะ ๆ แต่เป็นการปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง คือค่อย ๆ ลดกำลังของกิเลสที่คอยแกว่งลูกตุ้มแห่งกามและอัตตา ผลคือมันจะเบาแรงลงเรื่อย ๆ ทั้งสองฝั่ง แต่ถ้าไม่ได้ปฏิบัติอย่างถูกตรง มันจะแรงทั้งสองฝั่ง เวลาติดกามก็ติดแรง เวลาติดอัตตาก็ขมอย่างแรง แต่พอเวียนกลับไปกามก็จะติดกามที่แรงเหมือนเดิม กิเลสคือเครื่องพาวน วนเวียนไปในสองสภาพคือชอบและชัง

ความเป็นกลางนั้นมีจุดจบสมบูรณ์อยู่ที่ความหมดกามและอัตตาในเรื่องนั้น ๆ ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยกมาอธิบายแล้วเข้าใจกันเพียงแค่ภาษา เพราะคนที่แกว่งอยู่อย่างรุนแรงในการหมกมุ่นในกามและอัตตา ย่อมไม่เข้าใจความหยุดนิ่ง ดังนั้นคำว่าทางสายกลางแท้จริงแล้วคือทางปฏิบัติสู่ความเป็นกลาง

จุดจบของทางสายกลางคือความไม่เป็นทุกข์แม้จะไม่ได้เสพ และไม่เป็นทุกข์แม้ทั้งโลกจะไม่ยินดีในธรรมที่เรามีเลย ความไม่ทุกข์คือสภาพสูงสุดที่คนจะเจริญไปได้ ไม่ใช่แค่เป็นคนดี ทำดี ยึดดี อันนั้นเป็นวิถีโลกีย์ทั่วไปซึ่งยังปฏฺิบัติเพียงแค่ดีกับไม่ดี ซึ่งในทางของพุทธนั้นจะมีเพิ่มเติมจากทั่วไปคือกำจัดทุกข์ในดีและไม่ดีเหล่านั้นด้วย เป็นส่วนเสริมที่เหนือจากวิสัยของโลก หรือโลกุตระ แปลง่าย ๆ ว่าเหนือโลก

ดังนั้นการจะเอาทางสายกลางมาอธิบายกันในเชิงวัตถุย่อมจะไม่มีวันเข้าใจ เพราะความเป็นกลางของพุทธคือกลางในใจที่ไม่แกว่งไปทั้งชอบและชัง คือกลางในความผาสุก ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น สำคัญที่สุดคือไม่เป็นทุกข์ใจ