ความตาย การจากพราก

ที่ว่ารักนักรักหนา สุดท้ายก็ฆ่ากันได้

February 18, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 636 views 0

ได้ยินว่ารักอย่างนั้น รักอย่างนี้อย่าเพิ่งไปรีบเชื่อกันว่าเขาพูดจริง หลายคนเขาก็ว่ารัก แต่เขาก็หักหลังคนรัก ทำร้ายคนรัก หรือฆ่าคนที่เขารักได้หน้าตาเฉย

จริง ๆ เขาก็เอาคำว่ารักมาหลอกกันนั่นแหละ เพื่อที่จะได้ครอบครองอีกฝ่าย เพื่อที่จะเอาชนะ ครอบงำจิตใจ ให้หลงงมงายแต่เขา ให้รักแต่เขา คนก็มอมเมากันด้วยคำว่ารักนี่แหละ

พอหลุดจากมนต์สะกด ไปมอมเมาเขา แล้วอีกฝ่ายไม่เมาด้วย เขาก็ขายหน้าไง ก็พ่นมนต์รักซะดิบดีสุดท้ายไม่รักเราได้อย่างไร? อย่างนี้มันเสียหน้า มันหยามอัตตากัน สุดท้ายก็ลงไม้ลงมือ หักหลัง ทำร้าย ฆ่ากันได้

ความรักของคนจึงมีองค์ประกอบของกามและอัตตาปนอยู่ด้วยกัน กามก็รูปร่าง หน้าตา กลิ่นหอม สัมผัสเสียดสี ฯลฯ ส่วนอัตตาก็ความได้ดั่งใจ ได้คนมาสนองความเป็นตัวตนได้สมใจ จริง ๆ มันก็มีเชื้ออยู่กว้าง ๆ แค่ประมาณนี้แหละ

ได้เสพสมใจก็กิเลสขึ้น ไม่ได้สมใจก็กิเลสขึ้น มีอยู่แค่นี้ ชีวิตที่หลงมัวเมากับความรักก็มีแต่ขาดทุน เพราะได้สมใจก็ทำบาป ไม่ได้สมใจก็ทำบาป มีทิศทางเดียวคือบาป ไม่มีบุญเลย เพราะมีแต่เพิ่มกิเลส ไม่ได้มีกิจกรรมใด ๆ ที่ล้างกิเลสเลย

ถ้าคนเขามีรักจริง ๆ หวังดีกันจริง ๆ เขาไม่ไปจีบ ไม่ไปล่อลวงใครมาให้เป็นคู่หรอก สุภาพบุรุษไม่จีบผู้หญิง ไม่สร้างโอกาส ไม่สร้างภาพ ไม่สนับสนุนให้ใครมาหลงรักด้วย

เพราะรักแล้วมันทุกข์ไง รักแล้วมันเป็นสารพัดทุกข์ จะไปทำให้เขามารักทำไมล่ะ ให้เขามาเป็นทุกข์นี่มันไม่ใช่ความหวังดี ไม่ใช่ความเมตตาเกื้อกูลแล้ว มันก็เป็นความเบียดเบียนนั่นแหละ

ทุกข์เรื่องความรักนี่มันเป็นเรื่องที่รู้ได้ยาก ขนาดมีข่าวฆ่ากันตายเพราะรัก เกือบทุกวัน ขนาดว่าเป็นทุกข์เพราะรักกันอยู่ ยังไม่รู้จักเลยว่านั่นทุกข์ ขนาดเป็นทุกข์กันอยู่คนยังไม่ตระหนักกันเลย ยังจะเอา ยังจะไขว่คว้าอยู่อย่างนั้น ถ้าคนรู้จักทุกข์ชัดเจนจริง ๆ จะไม่ทำให้ตนและผู้อื่นเป็นทุกข์ แต่เพราะส่วนใหญ่เขาไม่รู้ว่ารักนั้นทำให้เป็นทุกข์อย่างไร ไม่ชัดเจน ไม่รู้แจ้ง ก็เลยพากันเมารักอยู่อย่างนั้น

มันจะมีโอกาสเห็นความจริงตอนผิดหวังนี่แหละ ที่เห็นว่ารักนั้นเป็นของหลอก ไม่สุขจริง ไม่สุขยั่งยืน แต่ก็ใช่ว่าจะเห็นได้ง่าย ๆ เพราะสั่งสมอัตตามามาก ตอนผิดหวังมันจะโกรธแค้นแทนที่จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง สรุป…แทนที่จะได้เข้าใจธรรมะ กลายเป็นกิเลสคาบไปกินหมด แค้น โกรธ เกลียด อาฆาต สุดท้ายก็ไปทำร้าย ไปฆ่าเขา เพื่อเสพรสรักนี่แหละ เพราะถ้าเราไม่รักนะ เขาจะไปมีใคร เราก็จะไม่โกรธ แต่ที่เราโกรธ เพราะเราไปรักนั่นเอง

ความหลง ความรัก ความตาย : เมื่อรักทำร้าย กลับกลายเป็นยาพิษ

December 8, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 698 views 0

ความหลง ความรัก ความตาย : เมื่อรักทำร้าย กลับกลายเป็นยาพิษ

ความรักที่ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่สวยงาม หอมหวาน เป็นสิ่งที่หลายคนแสวงหา ยอมทุ่มเท ลงทุนลงแรง เสียเวลามากมายเพื่อที่จะได้มันมาครอบครอง แต่สุดท้ายรักนั้นกลับเบาบางกว่าเมฆหมอก ไม่มีตัวตน สลายหายไป ทิ้งไว้แต่ความผิดหวัง

ถ้ามีรักแล้วมันเป็นสุขตลอดไป ก็คงจะไม่มีคนทุกข์ แต่ใช่ว่าคนจะแก้ปัญหาที่ความทุกข์ พวกเขากลับไปแก้ปัญหาที่ความรัก โทษรัก ใส่ความว่ารักนั้นทำให้ผิดหวัง เป็นทุกข์  ทั้งที่คนที่ไปตั้งความหวังไว้ผิด ๆ ก็คือคนที่แสวงหาความรักเหล่านั้น การแก้ปัญหาของพวกเขาคือแสวงหาคนรักที่ดีขึ้น มั่นคงขึ้น สุขยาวนานขึ้น นั่นคือทิศทางของความคาดหวังที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากความใคร่อยากเสพความรัก กลายเป็นความกลัวความผิดหวัง จึงพยายามหาสิ่งที่จะป้องกัน มาประกันให้รักนั้นคงอยู่ให้นาน เท่าที่ตนจะได้เสพสมใจตลอดไป

การป้องกันรักร้าวแตกสลายที่คนนิยมทำกันคือการยอม ยอมตามใจ ยอมให้ ยอมแพ้ ยอมเป็นเบี้ยล่าง ยอมเสียตัว ยอมเสียศักดิ์ศรี ยอมเป็นทาส ฯลฯ เพื่อแลกมาซึ่งการดำรงอยู่ของความรักเหล่านั้น แต่ถึงแม้จะยอมสักเท่าไหร่ จะจ่ายสักเท่าไหร่ จะแลกไปสักเท่าไหร่ ก็ไม่ได้หมายความรักนั้นจะไม่แปรผัน ความรักเหล่านั้นยังอยู่ภายใต้ไตรลักษณ์ คือลักษณะ 3 อย่าง คือ ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ และไม่มีตัวตน

ผู้คนพยายามแสวงหาหนทางที่จะเอาชนะไตรลักษณ์ พยายามที่ก้าวข้ามความไม่เที่ยง ความทุกข์ และสร้างตัวตนขึ้นมาจากความว่างเปล่า ก็จริงอยู่ที่ว่าเขาอาจจะมีอำนาจ บารมีที่สามารถดำรงสภาพเหล่านั้นไว้ได้ช่วงหนึ่ง แต่สุดท้ายทุกอย่างก็ต้องเปลี่ยนแปลงไป ไม่มีสิ่งใดในโลกหนีจากไตรลักษณ์ได้เลย เมื่อทุกอย่างเปลี่ยนแปลง สุดท้ายก็ต้องเจ็บปวด ผิดหวัง ทรมาน ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเหล่านี้ นำมาซึ่งการกล่าวหากัน ทำร้ายกัน จนถึงขั้นฆ่ากันตาย ไม่ฆ่าคนอื่น ก็ฆ่าตัวเอง ด้วยความคับแค้นใจ ทนไม่ได้ ยอมรับไม่ได้กับสภาพรักที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่มั่นคง ไม่แท้ ไม่จริง

ทุกวันนี้มีข่าวคนตายเพราะความรักมากมาย เรียกได้ว่าเห็นเกือบจะทุกวัน วันละ 1-2 ข่าว อันนี้เท่าที่เขานำมาทำข่าว ที่ไม่รู้อีกตั้งเท่าไร ความร้ายของความรักนั้นยิ่งกว่าอุบัติเหตุ เพราะจิตโลภ โกรธ หลง นั้นมีน้ำหนักที่แตกต่างกันไปตามเหตุ  อุบัติเหตุส่วนหนึ่งเกิดจากความประมาท (กรรมใหม่) อีกส่วนหนึ่งเกิดจากวิบากกรรมเก่า(ผลของการกระทำเก่า) แต่การทำร้ายกันเพราะความรัก ถูกกำหนดด้วยจิตอันมีกิเลสเป็นอำนาจในปัจจุบันล้วน ๆ ว่าจะทำหรือไม่ทำ ถ้ากิเลสมากก็ร้ายแรงมาก ถ้ามีธรรมะก็อาจจะพอข่มอาการได้บ้าง แต่ถ้าไม่มีกิเลส ก็จะไม่มีความเบียดเบียนใด ๆ เกิดขึ้นเลย

ถ้าเกิดบาดหมางกับคนดีมีศีลธรรม อย่างมากก็แค่ทุกข์ใจ ส่วนทุกข์กายนั่นก็แล้วแต่ใครจะปรุงสารพัดอาการไม่สบาย กินไม่ได้นอนไม่หลับขึ้นมาเอง แต่คนส่วนใหญ่ในโลกนั้นไม่ใช่คนมีศีลธรรม โดยมากแล้วเป็นคนไม่มีศีล แรกคบหากับคนไม่มีศีลก็อาจจะไม่เห็นโทษเห็นภัยอะไร แต่พอเกิดเรื่องขึ้นมา กิเลสมันกำเริบ มันก็จะทำผิดเกินไปถึงขีดที่อันตราย ด่ากันได้ ทำร้ายกันได้ ฆ่ากันได้ พระพุทธเจ้าท่านกล่าวถึงมงคลชีวิต อันดับแรกเลยคือไม่คบคนพาล และในกรณีที่จำเป็นต้องเลือกคู่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ให้เลือกคนมีศีล ศีลธรรมนั้นจะคุ้มครองคน ไม่ให้ทุกข์มาก ไม่ให้ลำบากมาก ดีที่สุดคือคบหาคนมีศีลระดับที่เขาไม่ยินดีในคู่ครองนั่นแหละ จะแคล้วคลาดปลอดภัย เพราะเขาไม่มายุ่งอะไรกับเราแน่ ๆ อันนี้ก็เป็นกรณีของการถูกคลุมถุงชน

แต่สมัยนี้ไม่ค่อยมีหรอกคลุมถุงชน ก็มีแต่เลือกกันตามความหลงเท่านั้นแหละ ชอบแบบไหน ยึดมั่นถือมั่นแบบไหน ก็เอาแบบนั้น เคยได้ยินผู้หญิงที่เขาชอบผู้ชายเจ้าชู้ไหม? นั่นเขาชอบรสจัดแบบนั้น มันต้องมีลีลา ท่าทีเย้ายวน ล่อลวง หอมหวาน อันนี้มันก็ติดเสพรสไปตามอัตตาที่มี ดีไม่ดีจะเป็นอัตตาซ้อนไปอีกว่า “ข้าแน่” ข้านี่แหละจะปราบเสือร้าย มันก็เมาขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง คนเขาก็หลงไปตามภพตามภูมิของเขา ชอบอะไรก็ใฝ่หาอันนั้นมาเสพ เป็นความหลงที่พาให้แสวงหา แล้วก็วนเวียน สมหวัง ผิดหวัง เศร้า เหงา แล้วก็หาเสพใหม่ เป็นวงจรที่น่าสงสาร เนิ่นนานผ่านไปหลายภพหลายชาติก็ใช่ว่าจะหมดรส ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งคาดหวัง หาสิ่งใหม่มาเสพ ก็หวังว่าคนใหม่จะดีกว่าคนเก่า หรือไม่ก็มีประสบการณ์มั่นใจว่าเลือกได้ดีกว่าเก่า อันนี้มันก็ยังหลงโง่อยู่

เพราะสุขจริง ๆ สุขแท้ ๆ สุขโดยส่วนเดียวจากความรักมันไม่มีหรอก มันจะมีทุกข์ด้วยเสมอ แล้วเอาจริง ๆ ถ้าตัดเรื่องกิเลสออกไป สุขจากความรักมันไม่มีเลย ที่มันมีเพราะกิเลสมันปรุงสุขขึ้นมา ได้สมใจก็สุข ได้ดั่งใจก็สุข มันก็ไปปั้นสุขลวงขึ้นมาจากเรื่องไม่เป็นเรื่อง เหมือนกับเด็กที่อยากได้ของเล่น อยากมากจนถึงขั้นร้องห่มร้องไห้ พอโตขึ้นมาคิดย้อนไป อันนั้นเราไปอยากได้ขนาดนั้นได้ยังไงหว่า? นั่นกิเลสมันปรุงสุขลวงมาอย่างนั้น มันเห็นสิ่งไม่มีประโยชน์เป็นสิ่งมีประโยชน์ แล้วก็อยากได้อยากมี พอได้มาแล้วก็หลงเป็นสุขใจ กอดของไร้สาระอย่างเป็นสุข รสสุขจิตเราปั้นขึ้นมาเอง จริง ๆ มันไม่มี

เรื่องคู่ก็เช่นกัน จริง ๆ สุขมันไม่มี แต่ที่มันเป็นสุข เกิดอาการสุข รู้สึกสุข รู้สึกยินดี ปลื้มใจ อิ่มใจ อุ่นใจ พอใจ อะไรเหล่านี้มันก็ปั้นขึ้นมาเหมือนเด็กได้ของเล่นนั่นแหละ ถ้าโตแล้วจะเห็นเลยว่าของเล่นมันไม่มีประโยชน์อะไรเลย มันมีสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์มากกว่า อันนี้ผู้ใหญ่ที่มีศีลธรรม พ้นทุกข์ พ้นโง่นะ แต่ถ้าผู้ใหญ่แบบหลงมัวเมาไม่เลิก เขาก็ยินดีกับเด็กที่ได้ของเล่นนั่นแหละ เหมือนกับคนที่แก่แล้ว ถึงวัยแล้ว แต่กลับมีจิตยินดีในคนคู่ ในความเป็นคู่ พวกนี้ก็ยังเป็นเด็กในทางธรรมอยู่ เหมือนกับผู้ใหญ่ที่เห็นเด็กเล่นของเล่นแล้วอยากเล่นด้วย ยินดีกับการเล่นนั้นด้วย ส่งเสริมการเล่นนั้นด้วย มันก็พากันเมาไป เรื่องนี้มันก็เข้าใจยาก

คนที่ปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธเจ้าแล้วสามารถล้างความหลงติดหลงยึดในเรื่องคู่ได้จริง จะไม่วนเวียนอยู่กับการแส่หาความรักอีกต่อไป จะเกิดสภาพของบัณฑิตโดยธรรม คือ มีการประพฤติตนเป็นโสดเป็นธรรมดา ส่วนคนที่พลาดพลั้งไปมีคู่แล้ว ก็จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง คือเห็นนรกจริง เห็นความลำบากจริง ๆ เห็นภาระจริง ๆ ที่ต้องแบกไว้ ให้หนัก ให้เหนื่อย ให้ลำบาก ก็จะมีความเหนื่อยกายเป็นหลัก ส่วนความเหนื่อยใจถ้าล้างความหลงไปได้มันก็ไม่ทุกข์ เหลือแต่ภาระ คือวิบากกรรมชั่วที่เคยทำมา ที่ต้องใช้เวลาในการชดใช้ หรือที่เรียกกันว่า “รับกรรม”

ก็ใช่ว่าคนคู่เขาจะออกจากสภาพความเป็นคู่ได้ง่าย ๆ แม้เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นแล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเรานั้นจะมีสภาพจิตเหมือนเรา เกิดเขาเป็นผีห่าซาตานมาเกิด แล้วเราดันเลือกเขามาแล้ว ตอนเลือกก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม ไม่มีศีลธรรม ต่อมาตนเองก็พัฒนาขึ้น แต่คู่ไม่พัฒนาด้วย มันก็เหมือนผีกับเทวดาอยู่ด้วยกัน อันนี้มันก็ลำบากหน่อย เพราะถ้าจะไปหักกันรุนแรง พาลจะบาดเจ็บล้มตายแล้วกลายเป็นข่าวหน้าหนึ่งกันเปล่า ๆ

คู่เทวดากับเทวดา หรือคนดีมีศีลคู่กัน ถ้าพ้นหลง พ้นโง่ พ้นทุกข์แล้ว ที่เหลือก็แยกวงกันเท่านั้นเอง เพราะการคบหา การแต่งงาน สัญญาเหล่านั้นก็เป็นแค่เรื่องสมมุติขึ้นมา พอไม่ได้ยึดสมมุติ มันก็เลิกได้ทุกเมื่อ ก็แค่ตกลงกันว่าจะเอาอย่างไร เหมือนกับกรณีของพระมหากัสสปะ ที่มีคู่มีบารมีทางธรรมเหมือนกัน พอนึกจะเลิก ก็เลิกได้เลย แล้วก็แยกกันไปบวชตามทางของแต่ละคน

ส่วนคู่ผีกับผี ก็เป็นอย่างหัวข้อเรื่อง พากันหลงวนเวียน สุดท้ายก็จบด้วยความบาดหมาง ว่าร้ายกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันเอง ฆ่าคนอื่น ฆ่าตัวเอง ไม่มีพลังความดีคุ้มภัย ไม่มีศีลไว้คุ้มกันความชั่วของตนเอง ไม่มีกุศลธรรมคอยพาให้แคล้วคลาดปลอดภัย ห้อยพระดังแค่ไหนก็ไม่ช่วย เพราะคนจะเจอดี เจอร้าย ไม่ได้เกี่ยวกับพระที่ห้อยคอเลย แต่เกี่ยวกับกรรมที่ทำมา พระพุทธเจ้าสอนว่าเรามีกรรมเป็นของของตน เราเป็นทายาทของกรรม เรามีกรรมเป็นกำเนิด เรามีกรรมเป็นเผ่าพันธุ์ เราทำกรรมอะไรไว้ ดีก็ตาม ชั่วก็ตาม เราต้องได้รับผลกรรมนั้นอย่างแน่นอน

… สรุป เรื่องความรักก็เป็นความหลงแบบหนึ่งที่ทำให้คนเบียดเบียนกันได้มากถึงขนาดทำร้ายกัน ฆ่ากันตาย ฆ่าตัวตาย ซึ่งจริง ๆ เป็นเรื่องที่ป้องกันได้ ยับยั้งได้ ลดภัยจากความรักนั้นทำได้ง่ายกว่าลดอุบัติเหตุเสียอีก แต่การจะเข้ามาศึกษาเพื่อลดทุกข์ โทษ ภัยจากความรักให้ถ่องแท้นั้น ทำได้ยากยิ่งเหลือเกิน

27.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ความเสื่อมสลาย สัญญาณแห่งการจากลา ที่เราไม่อยากจะรับรู้

July 12, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,487 views 0

ความเสื่อมสลาย

ความเสื่อมสลาย สัญญาณแห่งการจากลา ที่เราไม่อยากจะรับรู้

เราต้องจากพรากสิ่งที่เรารักและชอบใจเป็นธรรมดา นี้คือธรรมะที่พระพุทธเจ้าได้ฝากไว้สอนใจเรา แม้ว่าจะเป็นเพียงประโยคสั้น ๆ แต่การทำความเข้าใจในสิ่งนี้ได้อย่างถ่องแท้ ช่างเป็นเรื่องที่ยากยิ่งนัก

เป็นความรู้ที่ใครหลาย ๆ คน ก็รู้ว่าทุกสิ่งต้องเสื่อมและดับไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเขาเหล่านั้นจะยอมรับสภาพที่เกิดขึ้นจริงได้

ความสัมพันธ์ใด ๆ  ก็เช่นเดียวกัน มันมีวันหมดอายุของมัน มีวันสิ้นสุดและมีสัญญาณของความเสื่อมสลายให้ได้เห็นเป็นระยะ ในความจริงแล้ว แม้เราจะเห็นความเสื่อมในความสัมพันธ์ แต่เราก็มักจะไม่ทันได้ระลึกรู้ว่ามันต้องจบดับไป เราทำได้เพียงแค่ประคองความสัมพันธ์และหมายมั่นจะพัฒนามันให้ดียิ่งขึ้น ในขณะที่ความเสื่อมสลายได้เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง

…เหมือนผู้หญิงที่พยายามจะปั้นแต่งหน้าตาและร่างกายให้ดูเด็ก แม้ว่าวัยจะล่วงเลยไปมากแล้ว

…เหมือนความรักที่พยายามจะยื้อให้ดูดี แม้ว่ามันจะหมดความหวานไปหมดแล้ว

…เหมือนความสัมพันธ์ที่อยากจะรักษาไว้ แต่ความจริงมันแตกสลายและยากจะเชื่อมต่อกันได้แล้ว

พระพุทธเจ้าตรัสว่า มีชาติ (การเกิด) ก็มีชรา (แก่,เสื่อม) สุดท้ายก็มรณะ (จบ,ดับ,ตาย) ลงท้ายเหลือไว้แค่ความโศกเศร้าเสียใจอาลัยอาวรณ์

ในความเป็นจริงแล้ว เราไม่จำเป็นต้องรอให้ทุกอย่างหรือทุกความสัมพันธ์จบ ดับหรือตายไป เราก็สามารถเห็นความดับของสิ่งเหล่านั้นได้ จากความเสื่อมสลายของมันที่เกิดขึ้น และความเสื่อมนี้เองคือสิ่งที่ยากจะทำใจยอมรับ หลายคนรู้ หลายคนเห็นอาการเสื่อมของสิ่งเหล่านั้น แต่ไม่อยากยอมรับ ปิดกั้น ไม่อยากจะให้มันเกิด ไม่อยากให้มันเป็นความจริง ทั้ง ๆ ความจริงในปัจจุบันก็แสดงให้เห็นแล้วว่ามันกำลังเสื่อมสลาย มีแต่เราเท่านั้นที่ไม่ยอมรับความเป็นจริงเหล่านั้น

การที่เรารับรู้ว่าทุกอย่างต้องเสื่อมสลาย ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องปล่อยมันไปตามเวรตามกรรม แต่หมายถึงให้เราทำความเข้าใจว่าวันหนึ่งมันจะต้องจบดับไปตามเหตุปัจจัยของมัน ซึ่งเรามีหน้าที่อะไร ก็ทำไปตามนั้นให้สมบูรณ์ มีหน้าที่ประคองก็ประคอง มีหน้าที่รักษาก็รักษา โดยไม่ต้องไปตั้งความหวังว่ามันจะดีขึ้นหรืออย่างไร เราเพียงแค่ทำสิ่งที่ดีในปัจจุบัน ส่วนผลเป็นเรื่องของอนาคตที่ไม่มีใครบอกได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ในท้ายที่สุด หากเราสามารถเข้าใจธรรมะได้ลึกซึ้งขึ้น เราจะรู้ว่าสิ่งใดหรือความสัมพันธ์ใดๆ ก็ตามจะต้องจบลงไป ก็เพราะมันเกิดขึ้นนี่แหละ เราจะเห็นความเสื่อมสลายและดับไปตั้งแต่ที่มันเกิด เมื่อเห็นดังนั้นเราก็จะไม่ยึดมั่นถือมั่นความสัมพันธ์หรือสิ่งใดเหล่านั้นมาเป็นตัวตน มาเป็นของของตน

12.7.2560

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

 

โสดก่อนซวย

April 23, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,891 views 1

โสดก่อนซวย

โสดก่อนซวย : ชิงโสดก่อนแต่ง หรือแต่งก่อนแล้วจำยอมโสด (ตายก่อนตายในมุมของการมีคู่)

หลายคนคงเคยได้ยินคำว่า ตายก่อนตาย หมายถึง ทำให้กิเลสนั้นตายก่อนจะถึงวันตายของเรา โสดก่อนซวยก็เช่นกัน หมายถึงให้เรามีความยินดีในความโสดของเราก่อนจะถึงวันซวยของเรา…

ความโสดนั้นเป็นสถานะของคนที่พึ่งตน เป็นอิสระ เป็นค่ามาตรฐานของคน เกิดมาก็ได้มาเลยไม่ต้องแสวงหา ไม่มีบ่วง ไม่มีเครื่องผูก ตรงกันข้ามกับสถานะ “แต่งงาน” ที่ต้องผูกพันพึ่งพากัน เป็นสิ่งยึดมั่นของกันและกัน เป็นบ่วงของกันเลยกัน เป็นเจ้ากรรมนายเวรของกันและกัน สร้างวิบากที่ผูกมัดไว้ด้วยกัน ในบทความนี้เราจะแทนด้วยความ “ซวย

ซวย นั้นหมายถึงเคราะห์ร้าย อ่านมาถึงตรงนี้หลายคนคงจะงงว่าทำไมถึงตีความว่าการแต่งงานเป็นความซวย ทั้งๆที่เวลาใครเขาแต่งงานก็มีแต่คนแสดงความยินดี ไม่เห็นมีใครเสียใจ ได้ทั้งลาภ(เงินใส่ซอง) ยศ(สามี-ภรรยา) สรรเสริญ(คำยินดี คำชม) สุข(สุขลวงตามอุปาทานที่แต่ละคนสร้างมา) การแต่งงานคือความซวยอย่างไร ก็ขอเชิญให้ลองพิจารณาเนื้อหาต่อจากนี้กัน

๐. ทางสู่ความผาสุกที่แท้จริง

ศาสนาพุทธแม้จะไม่ได้ห้ามการมีคู่ แต่ก็ไม่ได้สนับสนุนให้คนแต่งงานหรือครองคู่กัน พระพุทธเจ้าเปรียบคู่ครองกับบุตรนั้นเป็นเหมือนบ่วงถ่วงความเจริญในธรรม ดังนั้นเส้นทางธรรมของคนโสดกับคนคู่จึงแตกต่างกัน แต่ไม่ว่าจะแตกต่างกันเท่าไหร่ โจทย์หนึ่งในการปฏิบัติธรรมนั้นคือต้องก้าวข้าม “ความอยากมีคู่” เป็นโจทย์ที่ถูกบังคับให้แก้ปัญหา ไม่ว่าจะคนโสดหรือคนคู่ก็ตาม ซึ่งรายละเอียดจะถูกขยายไว้ในบทวิเคราะห์ต่อไปนี้

๑.ชิงโสดก่อนแต่ง

ความโสดเป็นสถานะแรกที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด แต่ไม่ได้หมายความว่าสถานะนี้จะคงอยู่ตลอดไป เพราะ “ความอยากมีคู่” ทำให้คนมากมายพยายามที่จะทิ้งความโสดไป บ้างก็สละโสดได้ บ้างก็สละไม่ได้ ซึ่งความจริงแล้วสิ่งที่ควรสละไม่ใช่ความโสด แต่เป็นความอยากมีคู่ต่างหาก

เมื่อเราเลือกสละความผาสุกเพื่อที่จะได้เสพสุขลวงตามกิเลส นั่นก็หมายถึงธรรมะพ่ายแพ้ต่ออธรรม แต่ถ้าหากเราพยายามที่จะรักษาความโสดไว้และผลักไสความอยากมีคู่ออกไป นั่นก็หมายถึงธรรมะนั้นมีกำลังเหนืออธรรม

มีคนจำนวนมากใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือหาคู่ แต่ก็มีคนจำนวนไม่น้อยที่ใช้ศาสนาเป็นเครื่องมือในการหลีกหนีการมีคู่ ผู้ที่ประพฤติตนเป็นคนโสด พระพุทธเจ้ากล่าวว่าเป็นผู้รู้ ดังนั้นจึงมีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นผู้รู้ คือรู้โทษชั่วของการมีคู่ จึงพยายามที่จะทำลายเหตุของความอยากมีคู่ หรือกิเลสที่เข้ามาฝังอยู่ในจิตวิญญาณของตน ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้เขาเหล่านั้นพลาดพลั้งเผลอใจไปมีคู่ในอนาคตได้

เมื่อเขาเหล่านั้นรู้แจ้งชัดเจนในโทษภัยของการมีคู่ จึงจะสามารถละหน่ายความอยากมีคู่นั้นได้ นั่นหมายถึงไม่จำเป็นต้องไปมีคู่ ก็สามารถเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วได้ เรียกว่าชิงโสดก่อนแต่ง คือประพฤติตนให้รู้แจ้งเห็นจริงในคุณค่าของความโสดและโทษภัยของการมีคู่ก่อนที่จะหลงไปแต่งงานเพราะความอยากมีคู่ พวกเขาจึงไม่ต้องสร้างกรรมกับใคร ไม่ต้องเบียดเบียนกัน ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่นกัน ไม่ต้องพากันหลงเสพหลงสุขให้มัวเมา ทำให้พวกเขาไม่ต้องรับวิบากบาปเหล่านั้น เบาสบายไปอีกชาติ ปัญญาก็มี ทุกข์ก็ไม่ต้องรับ

๒.แต่งก่อนแล้วจำยอมโสด

คนที่ “หลง” มาจนถึงขั้นแต่งงาน มีทั้งคนที่พ่ายแพ้ต่อกำลังของกิเลส จนถึงคนที่หลงมัวเมาว่ากิเลสนั้นเป็นของดี ยอมเป็นทาสกิเลสกันเลยก็มี เขาเหล่านั้นมักมีความเชื่อว่า การครองคู่ก็สามารถเจริญในธรรมได้เช่นกัน และแน่นอนว่าลึกๆในใจย่อมเชื่อว่าทางที่ตนเลือกนั้นดีกว่าอยู่เป็นโสด

โดยทั่วไปคนที่จะแต่งงานกันนั้นจะมีกิเลสมากกว่าคนโสดอยู่แล้ว เพราะกว่าคนจะรู้จักกัน คบหากัน จนถึงขั้นแต่งงานกัน จะมีระดับชั้นของความยึดมั่นถือมั่นที่แตกต่างกัน ถ้าแค่รู้จักกันก็ยึดว่ารู้จักกัน คบหากันก็ยึดว่านี่แฟนฉัน แต่งงานกันก็ยึดว่านี่ผัวฉันเมียฉัน ไม่มีใครยึดผู้อื่นมาเป็นคู่ตั้งแต่แรก กิเลสมันจะค่อยๆโต ค่อยๆผูกพัน ค่อยๆยึด จนแต่งงาน มีลูกมีหลานนั่นแหละ เรียกว่ากิเลสสุกงอมจนเห็นผลเป็นรูปธรรมได้แล้ว ดังนั้นจะบอกว่าแต่งงานแล้วเจริญในธรรมนี่ไม่จริงอย่างแน่นอน มีแต่เสื่อมกับเสื่อมมากเท่านั้นเอง

การเจริญในธรรมของคนโสดกับคนคู่นั้นต่างกัน คนโสดเหมือนกับต้องพยายามห้ามตนไม่ให้หลงเข้าไปเขาวงกต แต่คนมีคู่นั้นจะต้องพาตนเองออกจากเขาวงกตเพราะหลงเข้าไปเรียบร้อยแล้ว นี่เป็นโจทย์ที่แตกต่างกันในการปฏิบัติ

ตั้งแต่เริ่มคิดจะมีคู่ ก็เอาตัวมาจ่อรออยู่หน้าเขาวงกตแล้ว พอมีคู่ก็พากันเดินเข้าเขาวงกต ทุกก้าวที่เดินไปก็โปรยตะปูเรือใบเอาไว้ด้วย ตะปูเหล่านั้นคือความยึดมั่นถือมั่นที่สร้างไว้ ป้องกันไม่ให้กลับไปหาความโสดได้ง่าย และยิ่งสะสมความหลงเสพหลงสุขตามกิเลสมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งไกลจากปากทางเข้ามากเท่านั้น

แล้วถ้าไปจนถึงขั้นแต่งงาน มีคนมายินดี ให้ลาภยศสรรเสริญสุขเข้ามากๆ ก็จะยิ่งเป็นวิบากบาปที่ต้องรับไว้ เพราะที่เขาเข้ามาแสดงความยินดีนั้น เพราะเขาไม่มีปัญญารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นโทษ เห็นคนมีคู่แสดงท่าทางว่ามีความสุข เขาก็หลงไปว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี การนำเสนอชีวิตรักจนถึงการจัดงานแต่งงานจึงเป็นการสร้างกรรมที่ลวงคนให้หลงยินดีในการครองคู่ นั่นหมายถึงต้องรับผลกรรมที่ทำให้คนอื่นหลงมัวเมาในสุขลวงเหล่านี้ด้วย ยิ่งเผยแพร่ไปมากเท่าไหร่ ยิ่งจัดงานยิ่งใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งจะต้องรับผลของกรรมมากเท่านั้น ถึงแม้โลกจะถือว่าการแต่งงานเป็นเรื่องมงคล แต่ในทางธรรมนั้นไม่ใช่อย่างแน่นอน

ทีนี้ยิ่งเดินก็ยิ่งไกล ยิ่งลึกเข้าไปในเขาวงกต ทางที่ผ่านก็มีแต่ตะปูเรือใบที่เผลอวางไว้โดยไม่รู้ตัว แม้คิดจะถอยหลังกลับ แต่กิเลสก็ไม่ยอมให้กลับไปง่ายๆ เดินไปข้างหน้าเสพสุขนั้นดูเหมือนจะสบายกว่าถอยหลงแล้วยอมทนทุกข์ ซึ่งโดยมากก็มักจะคิดเช่นนั้น

แน่นอนว่าคนมีคู่ก็คงไม่มีใครอยากกลับไปหาความโสด แต่โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ คนเราต้องพรากจากสิ่งที่รักที่ชอบใจเป็นธรรมดา วันหนึ่งเมื่อวิบากกรรมส่งผล อาจจะทำให้รักนั้นเกิดปัญหา ทะเลาะรุนแรง,รักจืดจาง,มือที่สาม หรืออาจจะเกิดอุบัติเหตุพิกลพิการ ป่วยหรือตายก็ได้ มีปัญหาอีกสารพัดที่จะทำให้ชีวิตคู่นั้นสั่นคลอน บางคู่ก็ประคองต่อไปได้ บางคู่ก็ต้องจบตรงนั้น

แล้วจะทำอย่างไรในเมื่อเขาวงกตนั้นไม่มีทางออก มันมีแต่ทางเข้า เข้าทางไหนมันก็ต้องออกทางนั้นจึงจะเป็นการแก้ปัญหาที่แท้จริง คนจำนวนหนึ่งยินดีที่จะหลงวนเวียนในเขาวงกตนั้นต่อไปเรื่อยๆ เจอคนใหม่ก็พากันหลงต่อไป ถึงไม่เจอก็รออยู่ตรงนั้นจนกว่าจะเจอ จมอยู่กับความอยากปริมาณมหาศาลที่ไม่มีทางออก เขาวงกตนี้เรียกว่าวัฏสงสารน้อยๆ (เฉพาะเรื่องคนคู่)

ซึ่งการจะออกนั้นคือต้องกลับไปทางที่เข้ามา ยึดมั่นถือมั่นในอะไรก็ต้องทุกข์เพราะสิ่งนั้น สร้างไว้เท่าไหร่ก็ต้องรับเท่านั้น เหมือนกับการที่ต้องทนเจ็บปวดลุยเหยียบตะปูเรือใบเพื่อกลับไปที่ปากทางเข้า แล้วเข้ามาทางไหนก็จำไม่ได้ กี่แยกกี่ซอยที่วกวนผ่านพ้นมา เสียเวลาหลงทางมากขึ้นไปอีก ถึงแม้จะกลับออกไปได้ แต่ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความอยากมีคู่ เดี๋ยวก็จะพากันเข้ามาหลงสุขในเขาวงกตนี้ใหม่ (กี่ชาติๆ ก็ยังไม่เข็ด)

นี่คือความซวยของคนคู่ คือต้องทุกข์เพราะตนเองหลงสุขในกิเลส อยากได้ก็เป็นทุกข์ พยายามหามาก็เป็นทุกข์ ได้เสพก็เพิ่มเชื้อทุกข์(ความยึดมั่นถือมั่น) เสียไปก็ทุกข์ วนเวียน อยาก แสวงหา เสพ สูญสลาย เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป แล้วก็เกิดขึ้นอีกวนเวียนไปอย่างนี้ไม่จบไม่สิ้น

ซึ่งสุดท้ายทุกคนก็ต้องไปคนเดียว สถานะสุดท้ายยังไงก็ต้องจบที่โสด ไม่โสดตอนเป็นก็โสดตอนตาย เวลาตายเราก็ไปของเราคนเดียว ไม่มีใครไปด้วย ซึ่งในกรณีนี้เป็นการถูกบังคับให้โสด ต้องโสดด้วยความจำยอม ผู้บังคับคือวิบากกรรมของเราเอง ต่างจากผู้ที่ประพฤติตนเป็นโสด เป็นผู้ที่ขีดเส้นกรรมด้วยตัวเอง ยินดีที่จะเป็นโสดด้วยตนเอง จึงไม่ต้องพบกับทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง ความผิดหวัง หรือการพลัดพรากใดๆเลย

สรุปก็คือคนที่แต่งงานสุดท้ายก็ต้องกลับไปเป็นโสดอยู่ดีนั่นเอง ไม่ว่าจะเพราะกรรมบังคับ หรือเพราะการเจริญในทางธรรมก็ตาม นั่นหมายถึงแต่งงานไปก็ไม่ได้อะไรขึ้นมา ได้แต่ความยึดมั่นถือมั่นและวิบากบาปสารพัดติดตัวมา แม้จะกลับมาประพฤติตามธรรมอยู่เป็นคนโสด แต่ก็จะมีวิบากบาปมากกว่าการตั้งใจอยู่เป็นโสดตั้งแต่แรก เรียกว่าเริ่มต้นที่ติดลบก็ว่าได้ ในส่วนปัญญาแม้จะรู้เรื่องคู่มากแต่ถ้าไม่รู้เท่าทันความอยากมีคู่ของตัวเองมันก็ยังไปเทียบกับคนที่ปฏิบัติตนให้เป็นโสดไม่ได้

การเป็นโสดนั้น ไม่ได้และไม่ต้องเสียอะไร ไม่ทำร้ายและไม่เบียดเบียนใคร ใครที่เข้าใจแล้วพาตนเองให้เป็นโสดก่อนก็จะได้พบกับความผาสุกก่อน ต่างจากคนคู่ที่มุ่งทำร้ายทำลายกัน(เช่นการสมสู่กัน) หลอกลวงกันด้วยความหลงและสร้างความยึดมั่นถือมั่นให้แก่กัน ซึ่งเป็นไปเพื่อการจองเวรกันชั่วกาลนาน ดังนั้นใครโสดได้ก่อนก็ไม่ต้องซวยทีหลัง ส่วนคนที่อยากสละโสดก็ต้องพบกับความซวยกันต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

21.4.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)