ความตาย การจากพราก

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,100 views 0

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ฆ่าตัวตาย บาปอย่างไร?

ถาม: คุณดิณห์ ช่วยบอกผมหน่อย ว่าการฆ่าตัวตาย บาปได้อย่างไร ในเมื่อ เราตายคนเดียว คนอื่นไม่ได้ตายด้วย สมมติว่าถ้าเราไม่เหลือใครแล้ว และไม่มีใครให้ห่วง ไม่มีใครห่วง การตายของเราก็ไม่น่าทำให้ใครเดือดร้อนนะครับ

ตอบ: เป็นบาปเพราะทำให้ตัวเองเดือดร้อน เป็นการเบียดเบียนตนด้วยความเห็นผิดครับ

เพราะเราอาจจะเห็นว่าชาติก่อนไม่มี ชาติหน้าไม่มี ทำอะไรไปก็ไม่มีผล เช่นเดียวกับการฆ่าตัวตายไม่มีผล ย่อมดับสูญไป สลายไป สิ่งที่ทำลงไปแล้วถูกยกเลิกทั้งหมด จึงมักคิดเห็นว่าการฆ่าตัวตายในเงื่อนไขที่ว่าไม่เหลือใครไม่มีผลกระทบกับใครเพราะเรามองแต่องค์ประกอบในชาตินี้ ไม่ได้รู้เหตุที่มา และไม่รู้ที่ไปของมัน

ซึ่งจริงๆ การฆ่าตัวตาย มีผลกระทบกับตัวเราเองโดยตรงเลย ด้วยความที่เราสำคัญผิด คิดว่าตัวเราเป็นของเรา เรามีสิทธิ์ขาดที่จะตัดสินใจทำอะไรก็ได้ แน่นอนว่าภาพที่เห็นคงจะเป็นเช่นนั้น แต่การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลดีและร้ายอยู่ ถ้าเราทำดีเราก็จะได้รับผลดี ถ้าเราทำชั่วเราก็จะได้รับผลชั่ว

ทีนี้ชีวิตและร่างกายที่เราได้มานี่มันไม่บังเอิญนะ การที่เราเกิดมาครบ 32 มีสติปัญญาสามารถเข้าถึงคำสอนในศาสนาได้นี่มันไม่ได้มาลอยๆ มันไม่ใช่จับฉลากมาได้ มันมีเหตุมีที่มา เอาง่ายๆว่าเราต้องทำคุณงามความดีมาพอสมควรถึงจะได้สิทธิ์นั้น

สมมุติว่าเราต้องทำดีสัก 100 หน่วย ถึงจะมีสิทธิ์เกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ เราก็ทำดีสะสมมาหลายต่อหลายชาติกว่าจะสะสมได้ความดี 100 หน่วย ทีนี้พอเกิดมาเราก็มีความเห็นว่า เราไม่มีญาติเป็นห่วง เราตายไปก็ไม่น่าจะทำให้ใครเดือดร้อน ว่าแล้วเราก็ฆ่าตัวตาย ทิ้งความดี 100 หน่วยที่ได้สะสมมาอย่างไม่เสียดาย

กรรมดีเมื่อได้รับแล้วก็หมดไป เมื่อเราได้รับผลนั้น คือทำดีจนเกิดมาบนแผ่นดินที่มีธรรมะของพระพุทธเจ้าประกาศอยู่ ผลนั้นก็จบไป ดี 100 หน่วยที่ทำมาก็หายไป ถ้าอยากได้ใหม่ก็ต้องทำดีใหม่

ชี้กันชัดๆว่าการฆ่าตัวตายคือการโยนสิ่งที่ดีทิ้งไปโดยไม่รู้ว่ามันดี ชีวิตนี่มันดีนะ มันมีคุณค่า คนเกิดมาแล้วสามารถสร้างคุณค่าให้กับตัวเองได้ จะตกต่ำจนเป็นมหาโจรก็ได้ จะดีจนเป็นพ่อพระก็ได้ หรือจะพัฒนาจนถึงขั้นเป็นพระอรหันต์ก็ได้ หนึ่งชีวิตมันมีโอกาส มีคุณค่าแบบนี้ แล้วทีนี้เราไม่สนใจเลยว่ามันมีที่มายังไง เราได้มาเราไม่เห็นค่า เห็นแค่ว่าถึงโยนชีวิตทิ้งไปก็ไม่เดือดร้อนใคร เราก็โยนสิ่งดีทิ้งไปแบบนั้น

ซึ่งลักษณะนี้ก็เข้ากับอุปกิเลสแบบหนึ่งคือ ลบหลู่คุณท่าน คือลบหลู่ ตีทิ้ง มองข้ามคุณความดีที่ตนทำมานี่แหละ แทนที่จะเอาร่างกาย ทรัพย์สิน ปัญหา ไปสร้างคุณค่าสร้างกรรมดีให้เราและโลกได้ใช้ แต่เรากลับเอาทั้งหมดไปโยนทิ้ง

ลองนึกภาพว่าเราต้องสร้างบันไดเพื่อไปให้ถึงยอดเขา เราก็เพียรสร้างมาหลายภพหลายชาติ แล้วชาติใดชาติหนึ่งก็เกิดความเห็นว่าจะสร้างทำไม ว่าแล้วก็พังบันไดเหล่านั้นทิ้ง สุดท้ายมันก็ต้องวนกลับไปเริ่มสร้างใหม่อยู่ดีนั่นแหละ เพราะนอกจากจะหลุดพ้นวัฏสงสารนี้ด้วยธรรมะของพระพุทธเจ้า โดยการทำลายกิเลสแล้ว ทางอื่นไม่มี ก็ต้องทำใหม่ เริ่มใหม่ แล้วชาติใดเห็นผิดอีก ก็ทำลายที่ตนเองสร้างมา แล้วก็วนกลับไปเกิดในกองทุกข์ พอทุกข์แล้วก็อยากพ้นทุกข์ ก็สร้างบันไดหนีทุกข์ใหม่ แล้วก็ทำลายไปอีก วนเวียนไปอยู่เช่นนี้

สภาพของคนที่คิดฆ่าตัวตายมักจะเกิดจากการไม่เห็นคุณค่าในตนเอง เป็นสภาพของความหดหู่ ซึมเศร้า หรือโกรธจัดซึ่งเกิดจากความไม่ได้ดั่งใจ ฯลฯ เป็นลักษณะหนึ่งของกิเลสที่สามารถแก้ไขได้ อยู่ในระดับของอบาย คือหยาบ ฉิบหาย เสียหายมาก เพราะถือว่าล้มโต๊ะ ทำลายคุณค่าที่ทำมาทั้งหมด

จริงๆแล้วไม่ใช่ว่าเราไม่มีคุณค่ากับใครหรอก เพียงแค่เราไม่รู้เท่านั้นเองว่ามี และไม่รู้จักการสร้างคุณค่า การที่เราหายไปนั้นมีผลกับคนอื่นไม่มากก็น้อย

ทรัพยากรที่เราใช้มาตั้งแต่เด็กจนโต สัตว์กี่ตัวที่ตายไปเพราะเรากิน ต้นไม้กี่ต้นหายไปเพราะการเรียนรู้ของเรา หลายสิ่งที่เราผลาญมาจนถึงวันนี้ เราสร้างคุณค่าชดเชยคืนให้กับมันอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง เราใช้ชีวิตเพื่อโลกให้มากพอกับที่เราเคยเอามาจากโลกแล้วหรือยัง หรือเราจะมาเพื่อเพียงเสพสุขแล้วเลือกที่จะจากโลกนี้ไปโดยทิ้งหนี้กรรมไว้ ไม่ยอมชำระสะสาง

ถึงแม้เราจะเหลือเป็นคนสุดท้ายในโลก ไม่มีใครให้ห่วง ไม่เหลือใครมาห่วงเรา ก็ยังไม่เห็นความจำเป็นว่าจะต้องทิ้งคุณค่าที่ตนมีไปเลย เรายังสามารถใช้ชีวิตสร้างสรรค์โลกได้นานตราบเท่าที่เราจะอยู่ไหว ถึงเวลาที่สมควรก็ปล่อยให้ร่างกายมันตายไปเอง ให้มันเป็นไปตามธรรมชาติ ไม่รีบเร่ง ไม่ฝืน ไม่ต่อต้าน มีแต่จะเสริมให้โลกนั้นหมุนเวียนไปอย่างสงบร่มเย็น

ในวัฏสงสารอันยาวนานนี้ หากสิ่งใดจะสำคัญที่สุดก็คือตัวเราเอง มีแต่ตัวเราเองเท่านั้นที่เป็นผู้สร้างกรรม และเป็นผู้รับผลกรรมเหล่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ

September 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,123 views 1

เมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ

เมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ

ทุกสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยง ความรักก็เช่นกัน มันอยู่บนพื้นฐานการเกิดและดับ แม้มันจะตั้งอยู่ คงอยู่ มีให้เห็นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็จะต้องดับไป เป็นการสิ้นอายุของความรักนั้นเอง

เรามักจะไม่รู้ตัวเมื่อความรักในความหลงได้บังเกิดขึ้นในใจ ปล่อยให้มันตั้งอยู่ คงอยู่ ให้มันดำเนินต่อไป และพัฒนาขึ้นไปโดยไม่คิดว่ามันจะต้องดับไปในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นความประมาทอย่างยิ่ง

ในบทความนี้จะมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพความรัก เป็นมุมของผู้ที่เห็นว่าความรักนั้นเที่ยง หรือมุมของของผู้ที่เห็นว่าการครองคู่นั้นสามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญได้ สามารถปล่อยวางได้ พาให้พ้นทุกข์ได้

1).ถ้าเรารักกันมากพอ

หลายคนคิดว่าหากเราดูแลความรักของเราดี หากเรารักกันมากพอ ความรักนั้นจะคงอยู่ตลอดไป จะมันไม่วันดับ ไม่มีวันจืดจาง จึงเฝ้าทำดีเติมเชื้อแห่งรักเข้าไปเพื่อให้กองไฟแห่งความรักนั้นลุกโชนอยู่ตลอดเวลา เขาไม่รู้เลยว่าความรักใดที่ต้องอาศัยอาหาร ความรักเหล่านั้นไม่เที่ยง เมื่ออาหารหมด รักนั้นก็จะหมดตามไปด้วย

ไม่มีใครรู้ว่าวันไหนคือวันที่รักจะหมดอายุ กรรมจะเป็นผู้ลิขิตเหตุการณ์นั้นเอง ผู้ที่คิดว่ารักนั้นเที่ยง หรือคิดว่าตนเองสามารถดูแลรักให้ดีไปตลอดได้ นั้นคือผู้ที่มีความยึด เป็นผู้ที่พยายามฝืนชะตากรรม ทั้งที่จริงตามสภาพแล้วจะต้องถูกชะตาฟ้าลิขิตให้เลิกรากันในวันใดวันหนึ่ง แต่ด้วยความยึดดี ติดดี เขาจึงเฝ้าพยายามดูแลความรักให้มากกว่าเดิม ทำดีให้มากกว่าเดิม เพื่อให้ความรักนั้นคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งท้ายที่สุดความรักก็ต้องจบลงอยู่ดี ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย การพลัดพรากจากของรักทั้งหลายย่อมทำให้ผู้ที่ยึดติดในความรักนั้นทุกข์ทรมานอยู่ดี

2).รักแต่ไม่ยึด

แม้กระทั่งผู้ที่มีความเห็นว่า ”ฉันจะรัก แต่ฉันจะไม่ยึด” เหมือนกับคนที่จะเสพความรักไปจนถึงจุดสูงสุด แล้วเมื่อเห็นว่ามีทิศทางลงสู่ความเสื่อมก็พร้อมจะสละเรือ ปล่อยสถานการณ์ต่างๆให้เป็นไปตามจริง ส่วนจิตนั้นก็ปล่อยวาง ความเห็นเหล่านี้เป็นเพียงอุดมคติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใดที่เข้าไปยึด ผู้นั้นไม่มีทางหนีทุกข์พ้น เพราะในสถานการณ์จริงเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่ารักนั้นจะจบลงเมื่อไหร่ และด้วยความหลงติด หลงยึด หลงสุข หลงเสพ เขาก็จะพยายามดูแลบำเรอรักให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารักนั้นกำลังจบ พอคิดว่าเหตุการณ์มีทีท่าไม่ดี ก็เร่งทำกุศล เร่งทำดีเพื่อให้กรรมดีมาเกื้อหนุนความรัก ซึ่งจะเกิดความยึดไปเรื่อยๆ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง เพราะถ้าวางได้จริงๆ ก็ควรจะวางตั้งแต่แรก ปล่อยวางจิตที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ก่อนที่ความสัมพันธ์จะเกินเลยคำว่าเพื่อนไป

การปล่อยวางความรัก คือการปล่อยโดยไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่เข้าไปยึดแล้วจึงพยายามปล่อยทีหลัง การปล่อยวางความรักตั้งแต่แรกนั้นเป็นหลักประกันว่าจะไม่ทุกข์ แต่การเข้าไปรักแล้วหวังว่าตนเองนั้นจะสามารถปล่อยวางได้ หรือรักอย่างไม่ทุกข์ได้ ไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะบอกว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ทุกข์ เพราะเมื่อเข้าไปยึดใครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว ก็ยากนักที่จะหลดพ้นจากอำนาจของความหลงติดหลงยึด ยากนักที่จะปล่อยวางได้อย่างเป็นสุข

3).ครองรักสร้างกุศล

พลังความดีที่เพียรพยายามสร้างขึ้นในขณะที่ครองรักกันนั้น ยากที่จะสู้พลังของความชั่วและพลังกิเลสที่สะสมไปในระหว่างที่ครองคู่กันได้ เพราะในการจะครองรักจับคู่กันนั้นโดยมากมีกิเลสเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อครองรักกันก็ต้องบำรุงบำเรอกิเลส พากันเสพสิ่งที่มอมเมา สมสู่กัน ทำร้ายกันด้วยคำหวานบ้าง คำสัญญาที่หลอกลวงบ้าง ทำร้ายกันด้วยคำพูดไม่ดี ตัดพ้อ ประชด ฯลฯ จนถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายกันบ้าง ทุกวินาทีของการครองรักเรียกได้ว่ามีแต่จะสะสมอกุศลกรรม

แล้วทีนี้จะเอาดีที่ไหนมาสู้ได้ ต้องทำดีแค่ไหนถึงจะพอ ถึงจะทำทานตักบาตรทุกวัน ถึงจะฟังธรรมทุกวัน หมั่นเข้าวัดกันเป็นประจำ ก็ใช่ว่าจะเอามาชดเชยหรือหักล้างกับอกุศลกรรมที่ทำสะสมไว้ได้ ชั่วก็ส่วนชั่ว ดีก็ส่วนดี สุดท้ายแม้จะทำดีได้มากขนาดไหน ก็จะมีดีก้อนหนึ่ง ชั่วก้อนหนึ่ง ทั้งชั่วและดีสุดท้ายก็จะต้องส่งผล ให้ได้รับทั้งทุกข์และสุข แตกต่างจากคนโสดที่ไม่ต้องมีส่วนชั่ว คือทำดีอย่างเดียว ผลชั่วไม่ต้องรับ เพราะไม่ได้ทำ

4).รักกันไปจนแก่

หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ แล้วคนที่รักกันไปจนแก่ล่ะ คนที่ตายพร้อมกันก็ยังมี ก็ต้องตอบว่าอันนี้เขาเป็นพวกรักอายุยืน บางทีรักกันไปถึงภพหน้าชาติหน้า หรืออีกหลายๆชาติต่อไปเลย หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องโรแมนติก เป็นรักในอุดมคติ เป็นที่สุดของโลก

รักมันก็ไปหมดอายุเอาตอนแก่ ตอนจะตายจากกันนั่นแหละ แม้ใครจะเป็นฝ่ายไปก็จะต้องทุกข์ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่อยู่ก็เศร้าหมอง ฝ่ายที่จะไปก็ผูกพันไม่อยากจาก จิตก็วนเวียนผูกอยู่ด้วยกันนั่นเอง ถ้ารักกันจนแก่นี่เรียกได้ว่ามีอุปาทานฝังลึกแล้ว ยากนักที่จะล้างได้ง่าย เดี๋ยวเกิดชาติใหม่ก็มาเจอกันอีก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสุขเหมือนเดิม เพราะถ้าเสพสุขจากกุศลกรรมไปหมดแล้ว ก็ต้องเวียนกลับไปรับทุกข์จากอกุศลกรรมแทน ดังนั้นพวกที่รักกันนานก็เกิดจากการที่เกลียดกันนานนั่นแหละ มันสลับขั้วกลับไปกลับมา ทำดีก็รักกัน หมดดีที่ทำก็เกลียดกัน ต่อมาก็ทำชั่วใส่กันจนทุกข์เกินทน แล้วก็กลับมาทำดีสุดท้ายก็กลับมารักกันอีก วนไปวนมาแบบนี้

หากเรามองในมุมของโลก คิดบนวิถีแห่งโลกีย์ ความรักเช่นนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนาของใครหลายๆคน แต่ในมุมมองของผู้ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์นั้น การรักกันจนกว่าจะแก่ตายไปข้างหนึ่งนั้นคือสภาพที่น่าขยาดเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครยินดีที่จะไปทำเช่นนั้น เพราะการไปผูกกับคนใดคนหนึ่ง ต้องไปดูแลเขา หรือต้องให้เขามาดูแลนั้น คือการไม่มีอิสระ มีความเป็นทาสต่อกัน ขัดขวางกันและกัน แทนที่จะได้เอาเวลาไปทุ่มเทศึกษาหนทางสู่การพ้นทุกข์ กลับต้องมาคอยดูแลสิ่งที่ไม่พาให้พ้นทุกข์

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะคนที่มีความเห็นความเข้าใจไปในทางโลกก็จะมองอย่างหนึ่ง คนที่ไปทางธรรมก็จะมองอีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถทำให้ใครมองเห็นว่าการครองรักกันจนแก่นั้นเป็นทุกข์ได้ จนกว่าเขาจะเห็นทุกข์นั้นด้วยตนเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

6.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมฆกับความรัก

September 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,635 views 0

เมฆกับความรัก

ลูกหมู : โอ๊ะ!! นั่นเมฆรูปหัวใจโชคดีจังที่ได้เห็น ความรักครั้งใหม่ของฉันจะต้องดีแน่เลย

หมูเด็ก : แต่เดี๋ยวมันก็เปลี่ยนไปเป็นรูปอื่นนะ

ลูกหมู : เมฆเปลี่ยนแต่ความรักของฉันจะไม่เปลี่ยนไปนะ

หมูเด็ก : ความรักก็เหมือนเมฆนั่นแหละ ตอนแรกมันก็ไม่มีหรอก ต่อมามันก็ก่อตัวให้เห็น ให้เรารัก ให้เราหลงว่ามันจะดี แต่สุดท้ายมันก็สลายหายไป

ลูกหมู : ฉันจะพยายามทำให้ความรักอยู่กับเราไปนานๆ

หมูเด็ก : ถึงจะพยายามอย่างไร แต่สุดท้ายมันก็จะเปลี่ยนไป แม้อย่างนั้นเธอก็ยังอยากจะพยายามเพื่อสิ่งนั้นอยู่อีกหรือ?

ลูกหมู : ใช่แล้ว เพราะฉันจะพยายามรักษาความรักให้คงอยู่ ดูแลกันไป ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปเป็นคู่กันไป

หมูเด็ก : แบบนั้นก็พอจะทำให้ครองรักกันไปนานๆได้นะ แต่สุดท้ายก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงก็ต้องทุกข์อยู่ดี

ลูกหมู : ฉันจะมีความรักโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น ฉันพร้อมจะปล่อย ฉันจะได้ไม่ต้องทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลง

หมูเด็ก : ก็ปล่อยตั้งแต่ตอนนี้เลยสิ ตอนที่ความสัมพันธ์ยังไม่ลึกซึ้ง ยังไม่ผูกพันกันมาก

ลูกหมู : …

ลูกหมู : …(a. ถ้าคุณเป็นลูกหมู จะตอบว่าอย่างไร?)

หมูเด็ก : …

– – – – – – – – – – – – – – –

*เนื้อหาในตอนนี้ก็อาจจะไม่ได้จบเพียงเท่านี้ ซึ่งอาจจะมีการแก้ไขและมีเนื้อหาต่อเนื่องไปเรื่อยๆตามที่เหตุปัจจัยจะอำนวย เช่นมีคนมาเสนอความคิดเห็น ผมก็จะลองพิมพ์ต่อไปเรื่อยๆ ตามที่เห็นว่าเหมาะสม เข้ากับเนื้อหาและเป็นประโยชน์

– – – – – – – – – – – – – – –

3.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

August 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,334 views 0

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ถ้าฉันอยู่ไปจนถึง ๑๐๐ ปี

ฉันคงได้เผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลง การพลัดพรากจากลา

ได้เห็นการเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปของหลายสิ่ง

ได้เห็นความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความลวงของสิ่งต่างๆ

ได้เห็นเด็กน้อยในวันนี้เติบโตจนกระทั่งกลายเป็นคนแก่

ได้เห็นคนวัยเดียวกัน และคนที่สูงวัยในวันนี้ จากไปทีละคน

ไม่ว่าจะคนดีหรือคนชั่วล้วนถูกกรรมกลืนกินไปตามกาลเวลา

ฉันคงได้แต่มองดูการเปลี่ยนแปลงของโลกไปอย่างเงียบๆ

เมื่อฉันนึกถึงวันนั้น ในวันที่ฉันจะมีอายุ ๑๐๐ ปี ในอนาคต

ทุกอย่างที่เกิดขึ้นในวันนี้ราวกับว่าเป็นเรื่องตลก

คนที่เคยรัก ค่อยๆแก่ เจ็บป่วย และตายจากฉันไป

คนที่เคยชัง ก็ค่อยๆ ตายจากโลกนี้ไปเช่นเดียวกัน

คนที่เคยสวย เคยหล่อ ค่อยๆเหี่ยวย่น แก่ชรา และตาย

คนที่รวยล้นฟ้า มีหน้าที่การงานดี มีชื่อเสียง ก็ตายไปเช่นกัน

มันดูเป็นเรื่องตลกที่ฉันยังหลงมัวเมาอยู่กับหลายสิ่งในวันนี้

ในอนาคตข้างหน้า ในวันที่ฉันมีอายุถึง ๑๐๐ ปี

คนที่เคยอยู่ข้างฉัน เป็นเพื่อนฉัน เป็นกำลังใจให้ฉันในวันนี้

ก็คงจะทยอยหายจากชีวิตของฉันไปจนเกือบหมด

คงไม่เหลือใครที่จำอดีตในวันนี้ของฉันได้ แม้แต่ตัวฉันเอง

ตัวตนของฉันย่อมจะถูกกลืนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

ฉันในวันนี้ กับฉันในอนาคตก็คงจะไม่ใช่คนเดียวกัน

ในเมื่อฉันได้เห็นว่าความเป็นฉันมันไม่แน่นอนอย่างนี้

ฉันก็ไม่รู้ว่าจะต้องเป็นฉันในแบบทุกวันนี้ไปทำไม

แม้แต่คนรอบตัวฉันก็ไม่แน่นอน ฉันก็ไม่รู้จะยึดไว้ทำไม

ในเมื่อทุกสิ่งทุกอย่างจะต้องถูกกรรมและกาลพรากไป

ฉันก็ไม่รู้จะต่อต้านมันไปเพื่ออะไร …

ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นสิ่งที่แน่นอน

แล้วฉันจะไปหวังให้สิ่งที่ฉันรัก อยู่กับฉันตลอดไปได้อย่างไร

สิ่งที่ฉันจะทำได้ก่อนที่ฉันจะมีอายุถึง ๑๐๐ ปี ไม่ใช่การไขว่คว้า

แต่เป็นการพยายามปล่อยวางในสิ่งที่ฉันยังยึดมั่นถือมั่น

ปล่อยวางให้ได้ก่อนกรรมและกาลเวลาจะมาพรากมันไป

ถึงฉันจะไม่ยอมปล่อยให้สิ่งที่รักนั้นจากไป

แต่วันหนึ่งมันก็ต้องจากฉันไปอยู่ดี

ดังนั้นฉันจึงตัดสินใจที่จะลงมือก่อน

ฉันจะไม่รอกรรม ฉันจะไม่รอกาลเวลามาพรากมันไป

ฉันจะทำลายความยึดมั่นถือมั่นเหล่านั้นด้วยตัวฉันเอง

ทั้งคนที่ฉันรัก คนที่ฉันชัง และไม่ว่าสิ่งใดที่รัก สิ่งใดที่ชัง

ฉันจะปล่อยให้สิ่งเหล่านั้น เป็นไปตามธรรมชาติของมัน

ฉันจะอยู่กับสิ่งเหล่านั้น อย่างกลมกลืนไปตามธรรมชาติของมัน

แต่ฉันจะไม่เอาสิ่งนั้นเข้ามาเป็นของฉัน เป็นตัวฉัน เป็นชีวิตของฉัน

ฉันอยากให้เป็นการก้าวไปสู่ ๑๐๐ ปีที่ดีที่สุดในช่วงชีวิตของฉัน

แม้ว่าฉันอาจจะอยู่ได้ไม่ถึง ๑๐๐ ปีก็ตาม…

– – – – – – – – – – – – – – –

28.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)