Tag: อกุศลกรรม

โสดข้ามปี

January 1, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 783 views 0

ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่เป็นโสดข้ามปี เพราะอย่างน้อยก็พ้นการผูกด้วยเวร การข้องเกี่ยวกันด้วยอกุศลกรรมกันไปอีกปี

ก็คิด ๆ อยู่เหมือนกันว่า เรานี่ก็โสดข้ามมาหลายปีแล้ว มันก็สุขสบายดี ไม่ต้องแสวงหา ไม่ต้องกังวลใด ๆ

ผมเข้าใจคนมีคู่นะ ว่ามันทุกข์อย่างไร แต่เขาจะเข้าใจว่าผมไม่ทุกข์อย่างไรนี่ก็ไม่หวังว่าเขาจะเข้าใจนะ

การมีคู่ข้ามปีนี่มันต้องแบกรับความหวัง ความกดดัน ความบีบคั้นของหลาย ๆ อย่าง เชื่อไหมมันไม่เป็นสุขหรอก เพราะเขาก็ต้องการของเขา เราก็ต้องการของเรา มันก็บีบคอกันเพื่อสนองความต้องการของตัวเองเท่านั้นนั่นแหละ ถ้าแลกเปลี่ยนกันได้ สมยอมกันได้ มันก็รอดพ้นไปเป็นครั้ง ๆ

แต่คนคู่นี่มันไม่มีวันลงเอยด้วยคำตอบเดียวกันทุกครั้งหรอก เพราะมันคนละคนกัน มีอุปาทาน มีตัณหา มีภพ ต่างกันไป คนหนึ่งชอบภูเขา อีกคนชอบทะเล คนหนึ่งอยากอยู่บ้าน คนหนึ่งยอมฝ่ารถติดไปเที่ยว คนหนึ่งอยากประหยัดเงิน อีกคนจะเอาเงินไปเสพสุขวันปีใหม่

แล้วเทศกาลปีใหม่นี่ต้องยอมรับเลย มีแต่กาม กับกาม ของกินอร่อย ๆ อากาศดี ๆ วิวสวย ๆ กลิ่นหอม ๆ เสียงเพราะ หรือเสียงพลุก็ยังเป็นสิ่งเสพได้ สุดท้ายก็สัมผัส ตั้งแต่สัมผัสของของกินจนไปถึงเรื่องอื่น ๆ

คนคู่เขาจะอยู่กันได้ เขาต้องบำเรอกัน มันมีรายจ่ายทั้งที่เป็นเงินและไม่ใช่เงิน เป็นรายจ่ายที่ไม่จำเป็นเลยในชีวิต เพื่อแลกมาซึ่งการได้เสพสมใจบางอย่างตามที่ตนยึดไว้

ลองไม่บำเรอกันดูสิ บ้านแตก เอาแบบธรรมะเข้ม ๆ เลยก็ได้ ไม่สัมผัสร่างกาย ไม่มองตา ไม่คุยด้วย อันนี้ฐานอนาคามีในพระไตรปิฎกนะ เรียกว่าบ้านแทบแตก ไปฟังธรรมะพระพุทธเจ้ามา บรรลุธรรม กลับไปบ้านเปลี่ยนเป็นคนละคน เมียจิตตกหนัก สุดท้ายฝ่ายเมียไปบวชกับพระพุทธเจ้า บรรลุเป็นพระอรหันต์ (อ้าว…)

ที่ยกตัวอย่างมาก่อนหน้านี้มันแบบคนดีในอุดมคติละนะ เอามานำแปะหัวไว้ก่อน ทีนี้มาแบบคนทั่วไปบ้าง ลองไปบำเรอกันดูสิ ไม่งอนก็ทะเลาะ บ้านแตกล่ะทีนี้ มันก็อยู่ไม่ได้ ดังนั้นการอยู่เป็นคู่สุดท้ายมันก็ต้องยอมบำเรออีกฝ่ายอยู่ดี เพราะเขาต้องใช้เราเป็นสิ่งเสพ เป็นอาหาร พอเขาไม่ได้อาหาร เขาหิว เขาก็ร้องโวยวาย จะไปบำเรอเขามันก็เป็นบาป จะไม่ทำอีกมันก็อึดอัดกดดันอีก

นักปฏฺิบัติธรรมที่อยู่ในสภาพคู่ ก็ยังต้องทนเป็นผู้บำเรอต่อไป ยังมีสถานะเป็นทาสรัก เพราะเขาไม่ปล่อย ต้องอยู่ให้เขาเสพกามเสพอัตตาจากตัวเราไป ค่าตัวเรายังไม่สูงพอ ธรรมเรายังไม่เข้มพอ มารก็เลยเอาบ่วงคล้องคอไว้ได้นาน ถ้าปฏิบัติธรรมเข้ม ค่าตัวจะมากตาม เขาต้องจ่ายแพงเพื่อที่จะรั้งเราไว้ ไม่นานเขาหมดกุศลที่เคยทำร่วมกันมันก็หลุด แต่พวกค่าตัวถูก ศีลไม่เข้มก็อยู่ไปแบบดอกเบี้ยผ่อนบ้าน 20-30 ปีนู่น

ดังนั้นคนโสดไม่ต้องน้อยใจไป ว่าเรานี้อยู่เป็นโสดข้ามปี ให้เราทำใจให้ยินดีว่า ชีวิตเราไม่ได้ล่อลวงใคร ไม่ได้เบียดเบียนใคร ไม่ได้ทำให้ใครมาหลงรักเรา ไม่ได้พาใจเราไปหลงรักใคร

การอยู่เป็นโสด คือสถานะของผู้ที่ไม่เบียดเบียนใคร พากเพียรอยู่เป็นโสด คนมีธรรมะเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต เราโสดข้ามปีได้แสดงว่าเรามีของเก่ามาดี มีพอให้ปกป้องเราข้ามพ้นไปอีกปี แม้มันอาจจะไม่ได้เสพสุขตามที่ใจอยาก แต่มันก็ไม่ทุกข์มาก

ลองไปดูคนที่เขาแต่งงานแล้ว ส่วนใหญ่ดูไม่จืด ยังไม่รวมกับที่เขาไม่เปิดเผยนะ เวลาเขาทะเลาะกัน โกรธกันนี่เขาไม่เอามาพูดกันมากหรอก เขาก็เอาแต่ตอนดี ๆ มาโชว์เท่านั้นแหละ

เหมือนกับนิทานที่มันตัดจบตรงที่เจ้าหญิงเจ้าชายแต่งงานกัน เพราะหลังจากนั้นมันจะมีแต่ทุกข์ไง เขาเลยตัดจบตรงนั้น ให้คนฝัน ๆ เอา อย่าไปเชื่อคำลวงโลกมาก ไม่มีหรอกสุขแท้น่ะ มีแต่สุขลวง

สุขลวง คือสุขที่ปั้นขึ้นมาเองว่ามันเป็นสุข เหมือน เอาก้อนหินมาอมแล้วหลงว่ามีรสอร่อย เพราะจินตนาการรสขึ้นเอง เหมือนเด็กที่หลงในของเล่นชิ้นนั้นชิ้นนี้ พอโตมาไปเล่นของเล่นนั้นก็ไม่สุขเหมือนเคยแล้ว เพราะตอนเสพมันปั้นรสขึ้นมา พอเสพไปนาน ๆ มันจะชิน มันจะไม่สุขเหมือนตอนเสพแรก ๆ แล้วความจริงจะปรากฎ

ที่คนเขาไปแต่งงานกัน เพราะเขาหลงว่ามันจะมีรสสุขมากกว่าตอนที่คบกันเป็นแฟน พอความจริงเปิดเผย พอวิบากกรรมที่เคยบังตาจางคลายเท่านั้นแหละ จากที่เคยชี้ไม้เป็นนก ชี้นกเป็นไม้ นกจะกลับมาเป็นนก ไม้จะกลับมาเป็นไม้ แล้วปัญหาคือมันแต่งงานไปแล้ว ออกไม่ง่ายแล้ว เหมือนตอนโสดจะแก้ปัญหา มันก็มีสมการแค่ตัวแปรเดียว 2x+1=9 อะไรแบบนี้ พอมีคู่ไปแล้วสมการมันจะไม่ใช่แค่ตัวแปรเดียว มันจะไม่ใช่แค่ 2 ตัวแปรธรรมดา มันจะติดนั่นติดนี่เต็มไปหมด สารพัดสูตรสมการ ใส่เข้ามาเถอะ จะหารกี่ชั้น จะยกกำลังกี่รอบ จะซับซ้อนแค่ไหนก็ไม่ยากเท่าไขสมการคนคู่

ดีแค่ไหนแล้ว ที่เรายังเป็นโสดอยู่ได้จนถึงทุกวันนี้ ใครเลิกกันแล้วก็ไม่ต้องหวนคืนสังเวียนเพราะ สภาพคนคู่คือสภาพที่ต้องรบกันอยู่เรื่อยไป มันจะเหนื่อยมาก ถ้าไม่อยากเหนื่อย เป็นคนดูก็แล้วกัน ให้คนที่เขายังมีความอยากมาก ๆ เล่นในสังเวียนนี้ต่อไป เราอย่าไปเล่นกับเขาเลย

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

October 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,067 views 0

กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป...จริงหรือ?

วิเคราะห์ข้อคิดเห็น : กินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาป…จริงหรือ?

ในสังคมเรานั้นยังมีความเห็นที่แตกต่างกันอยู่มากในประเด็นของการกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาว่าบาปหรือไม่บาป ซึ่งผู้ที่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าไม่บาป ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็บอกว่าบาป แท้จริงแล้วมันบาปหรือไม่ ในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์กัน

ก่อนจะเข้าบทวิเคราะห์ เราก็ต้องปรับสัญญาให้ตรงกันก่อนว่า “บาป” นั้นคืออะไร บาปกับความชั่วหรือสิ่งไม่ดีนั้นเหมือนกันไหม เราจะมากำหนดหมายคำว่าบาป กับคำว่าอกุศล เพื่อให้เข้าใจตรงกันในเนื้อหาของบทความนี้

บาป นั้นหมายถึงกิเลส การสนองกิเลส การสะสมกิเลส การยั่วกิเลส การมัวเมาในกิเลสย่อมเป็นบาปทั้งนั้น ตรงข้ามกับ บุญ คือการชำระกิเลส เป็นตัวทำลายกิเลส

กิเลส คือ สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ จำแนกได้สามลักษณะใหญ่ๆ คือโลภ โกรธ หลง

อกุศล คือความชั่ว ความไม่ดี ความเบียดเบียน ตรงข้ามกับกุศล คือความดีงาม และอกุศลกรรมนั้นก็คือกรรมที่ให้ผลไปในทางลบ กรรมชั่ว กรรมดำอกุศลไม่ใช่บาป เป็นคนละอย่างกัน แต่การทำบาปสร้างอกุศล

บทนำในการวิเคราะห์ข้อมูลเบื้องต้น

การกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามา ไม่บาปจริงหรือ? หลายคนที่ยังกินเนื้อสัตว์มักจะมีความเชื่อว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่บาป ด้วยตรรกะหรือการได้ยินได้ฟังเหตุผลใดก็ตามแต่ สิ่งเหล่านั้นก็ยังเป็นเพียงแค่ความคิดเห็น ไม่ใช่ความจริง

เราไม่พึงเชื่อเพราะเขากล่าวอ้างมา เพราะเขาพูดกันมา ทำกันมา เพราะการคิดเอาเอง เพราะเห็นว่าสิ่งนั้นเหมือนกับที่ตนเข้าใจ เพราะเขาเป็นคนมีชื่อเสียง เพราะเขาเป็นอาจารย์ของเรา ฯลฯ แต่พึงพิจารณาด้วยปัญญาว่าสิ่งใดเป็นกุศลสิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงธรรมนั้น ถ้าเป็นอกุศลก็ละเว้นจากธรรมนั้นเสีย นี่คือข้อมูลส่วนหนึ่งจาก “กาลามสูตร” ซึ่งมีไว้เพื่อป้องกันความหลงมัวเมาในข้อมูล และป้องกันการติดภพหลงในความยึดมั่นถือมั่นและอื่นๆอีกมากมาย

อย่างที่เรารู้กันว่า ในสมัยนี้มีโรงฆ่าสัตว์มากมาย ธุรกิจค้าเนื้อสัตว์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องธรรมดาในสังคมบ้านเรา ซึ่งจะมีสัตว์ที่ถูกบังคับ ถูกทำร้าย ถูกฆ่าทุกวันๆ ซึ่งมีองค์ประกอบในการทำชีวิตสัตว์ให้ตกร่วงที่ครบพร้อม คือรู้ว่าสัตว์นั้นมีชีวิต และพยายามฆ่าจนสัตว์นั้นตาย นั่นหมายถึงผิดบัญญัติของพุทธเต็มประตูอยู่แล้ว คงจะไม่มีชาวพุทธคนไหนกล้ากล่าวว่าการฆ่าสัตว์นั้นไม่เบียดเบียน ไม่ผิดศีล

การไม่ฆ่าสัตว์นั้นถือเป็นบทบัญญัติแรกของศาสนาพุทธ เป็นขั้นต่ำที่สุดของผู้ที่ศรัทธาและปฏิบัติตามหลักของพุทธพึงกระทำ เรียกว่าอย่างน้อยที่สุดก็ต้องมีศีลข้อนี้ให้ได้ นี่เป็นเพียงศีลข้อแรกในศีล ๕ คือการงดเว้นการฆ่าสัตว์ไม่ใช้ให้ผู้อื่นฆ่า ไม่ยินดีในการฆ่า และชักชวนให้ผู้อื่นงดเว้นการฆ่า

ดังนั้นจะสรุปประเด็นนี้ไว้ก่อนเลยว่า แม้จะเรียกตนเองว่าชาวพุทธ ศรัทธาในศาสนาพุทธ เข้าวัดฟังธรรม แต่ถ้าศีล ๕ ยังถือปฏิบัติไม่ได้ ก็ไม่เรียกว่ามีความเป็นพุทธ เป็นเพียงผู้ที่ศรัทธาแต่ไม่สามารถเข้าถึงการปฏิบัติที่ถูกต้อง เพราะไม่มีปัญญารู้ว่าอะไรเป็นกุศล อกุศล ไม่สามารถแยกแยะดีชั่วได้ จึงไม่ยินดีในการเข้าถึงสิ่งที่ดี และไม่ละเว้นสิ่งที่เป็นภัย

แล้วทีนี้การฆ่าสัตว์นี้มันผิดทางพุทธ เป็นเรื่องนอกพุทธ ชาวพุทธเขาไม่ทำกัน เพราะไม่ใช่สิ่งที่ปฏิบัติแล้วนำพาความเจริญมาให้ชีวิต มีแต่ความเสื่อมและอกุศลกรรม ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมหลีกเลี่ยงจากการฆ่า แม้ว่าจิตตนนั้นจะยังไม่สามารถทำลายความโกรธและอาฆาตได้ก็ตาม

บทวิเคราะห์ : เนื้อที่ถูกฆ่ามา กับการซื้อขายเนื้อสัตว์

เมื่อการฆ่าสัตว์นั้นผิดทางพุทธ เนื้อที่ถูกฆ่ามาย่อมเป็นเนื้อที่ผิดแนวทางของพุทธด้วยเช่นกัน เพราะไม่ใช่เนื้อที่ได้มาด้วยการไม่เบียดเบียน แต่การจะได้มาต้องใช้การฆ่า นั่นหมายถึงเนื้อนั้นย่อมไม่ใช่สิ่งที่บริสุทธิ์ เป็นของที่ถูกพรากมา เป็นของที่ขโมยมาจากสัตว์เหล่านั้น และที่สำคัญมันไม่ได้ตายเพื่อเราด้วยเจตนาของมันเอง แต่เขาฆ่ามันให้ตายเพื่อที่จะได้ประโยชน์จากมัน

หลังจากได้เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาแล้ว ก่อนจะได้เนื้อสัตว์มากินนั้น ต้องผ่านจุดคัดกรองที่เรียกว่า มิจฉาวณิชชา ๕ ท่านบัญญัติว่าชาวพุทธไม่ควรค้าขายเนื้อสัตว์ ถ้าค้าขายก็ถือว่าผิด ปรับตกไปได้เลย ไม่ต้องคิดต่อว่าบาปหรือไม่บาป เพราะผิดพุทธมันไม่พ้นทุกข์อยู่แล้ว

บทวิเคราะห์ : กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา บาปหรือไม่?

ถึงแม้จะได้เนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่านั้นมาฟรีๆ หรือเลี่ยงบาลีจนเข้าใจว่าตนเองซื้อเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ไม่ได้ฆ่าเอง จนได้เนื้อสัตว์นั้นมาก็ตาม ตรงนี้จะเป็นจุดวิเคราะห์ในเรื่อง “บาปหรือไม่” ถ้าบาปนั้นหมายถึงมีกิเลสเป็นองค์ประกอบร่วม กิเลสในที่นี้ที่จะระบุลงไปเลยคือความหลง (โมหะ) คือ การหลงยินดีในเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา(ยอมรับการผิดศีลว่าดี เป็นเรื่องที่กระทำได้โดยไม่มีโทษ)ถ้ามีจิตเช่นนี้ จะสรุปลงไปเลยว่า “บาป

เมื่อมีความรู้แน่ชัดแล้วว่า ในยุคสมัยนี้เนื้อสัตว์ใดก็ล้วนถูกฆ่ามาทั้งนั้น ชาวพุทธที่มีหิริโอตตัปปะ ย่อมสะดุ้งกลัวต่ออกุศลกรรมที่จะเกิดขึ้น ย่อมหลีกเลี่ยงสิ่งที่เป็นกรรมชั่ว คือการเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้เขาทำชั่ว ให้เขาฆ่าสัตว์ ให้เขาทำบาป ให้เขาทำผิดวิสัยของพุทธ

การสนับสนุนให้ผู้อื่นทำบาปและอกุศลกรรมย่อมไม่ใช่ลักษณะของมิตรที่ดี ชาวพุทธย่อมรักกันดูแลกันไม่ให้ตัวเองและผู้อื่นทำบาป ย่อมตักเตือนและชี้นำกันไปสู่ทางเจริญ เพราะรู้ดีว่าผลแห่งบาปนั้นสร้างทุกข์ขนาดไหน ดังนั้นผู้ที่ตั้งจิตไว้ดีแล้วย่อมไม่สนับสนุนให้คนได้ทำบาปนั้นๆต่อไป จึงไม่สามารถสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาได้ เพราะรู้ดีว่าการสนับสนุนด้วยการซื้อหรือรับเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น จะเป็นเหตุให้เขาต้องทำบาปนั้นต่อไป นั่นหมายถึงเจตนาในการสนับสนุนสิ่งที่เป็นอกุศลนั้นคืออกุศลกรรมของเราด้วย

ซึ่ง ณ จุดนี้เราสามารถเลือกได้ว่าเราจะสนับสนุนหรือไม่สนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เรากำลังจะวางเส้นทางกรรมของเรา ว่าจะให้เป็นไปอย่างไร ทางเลือกมีชัดเจนอยู่แล้วคือกุศลหรืออกุศล เบียดเบียนหรือไม่เบียดเบียน ถ้าเราไม่มีกิเลสก็ชัดเจนอยู่แล้วว่าเราต้องเลือกที่จะไม่เบียดเบียนเพราะการเบียดเบียนผู้อื่นก็คือการเบียดเบียนตนเอง ดังนั้นผู้มีปัญญาย่อมไม่เลือกการเบียดเบียนหากสามารถหลีกเลี่ยงได้

กิเลสคือตัวแปรหลักในการทำให้คนไม่สามารถมองเห็นความจริงตามความเป็นจริงได้ ไม่สามารถแยกกุศลกับอกุศลออกได้ เพราะมีความหลง (โมหะ) เป็นเหตุ เมื่อมีความหลงในความเห็นนั้น ก็หมายถึงยังมีบาปอยู่ในสิ่งคนเหล่านั้นคิดและเข้าใจ

เพราะถ้าผู้ใดรู้ชัดว่า การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเหตุให้ต้องเบียดเบียนสัตว์ และผลของกรรมนั้นเองจะสร้างทุกข์ให้ตนเองในท้ายที่สุด ผู้นั้นจะสามารถเข้าใจและสรุปได้ว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นอกุศล จึงเลือกที่จะละเว้นกรรมเหล่านั้น

แต่ด้วยความหลงในเนื้อสัตว์ เช่นหลงในรูป รส สัมผัส ฯลฯ หรือหลงไปจนทิฏฐิวิปลาส คือเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ดี ทั้งที่มันไม่ดีหรือหลงไปจนกระทั่งเห็นว่ากรรมและผลของกรรมไม่มี ก็จะเป็นเหตุที่ทำให้ไม่สามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นกุศลได้

เพราะจริงๆแล้วการกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้กระทบกับการฆ่าสัตว์โดยตรง เป็น demand & supply ที่แปรผันตามกันอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงการที่เรากินเนื้อสัตว์นั้นจะไปสนับสนุนการฆ่าสัตว์โดยตรง และยังจะไปสร้างความหลง ให้สังคมเข้าใจว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องดี เป็นเรื่องที่ทำได้ ถ้าถามว่ามันบาปตรงไหน มันก็บาปชัดๆกันตรงนี้แหละ คือทำให้คนหลงมัวเมาในความเห็นผิด เป็นความหลงที่หลอกกันซับซ้อนจนกลายเป็นความเข้าใจที่สุดแสนจะวิบัติไปแล้วว่า “กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่บาป”

หากจะสรุปว่า มันบาปตั้งแต่ตรงไหน ก็จะให้ความเห็นว่า บาปตั้งแต่มีความเห็นผิดแล้ว และคนที่มีความเห็นผิด ก็จะมีความคิดที่ผิด มีการกระทำที่ผิด เหตุเพราะถูกโมหะครอบงำจนโงหัวไม่ขึ้นจึงทำให้บาปกันต่อหลายชั้นหลายมิติ ตั้งแต่หลงมัวเมาในเนื้อสัตว์ หลงว่าการฆ่าเพื่อกินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าคนอื่นฆ่ามาแล้วเราเอามากินนั้นไม่ชั่วไม่บาป หลงว่าผลกรรมนั้นไม่ถึงตน ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

4.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

September 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,269 views 0

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

การซื้อขายเนื้อสัตว์ คือเหตุที่ทำให้ต้องฆ่าสัตว์

ไม่มีใครยอมเลี้ยงสัตว์เหล่านั้นฟรีๆ เขาเลี้ยงเพื่อขายให้ได้เงิน

ไม่มีใครยอมฆ่าสัตว์เหล่านั้นฟรีๆ เขาฆ่าเพื่อขายให้ได้เงิน

ไม่มีใครยอมรับเนื้อสัตว์เหล่านั้นมาแจกฟรีๆ เขารับมาเพื่อขายให้ได้เงิน

เงินหรือสิ่งแลกเปลี่ยนใดๆ ก็ตามทั้งรูปธรรมหรือนามธรรม

คือสิ่งที่เป็นแรงหนุนให้การฆ่าสัตว์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง

เมื่อการเบียดเบียนไม่เคยหยุดและไม่เคยหมดไปจากโลก

อกุศลกรรมที่เกิดขึ้น คือทุกข์โศกโรคภัยทั้งปวงจึงตกอยู่แก่ผู้ร่วมกรรมนั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

แนะนำบทความ : สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย

– – – – – – – – – – – – – – –

10.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

January 27, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,316 views 0

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

เมื่อเธอเรียนรู้ที่จะรักตัวเอง

…ทำอย่างไรถึงเรียกว่ารักตัวเอง เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง ไม่ทำร้ายตัวเอง

รักตัวเอง” เป็นประโยคสั้นๆ ที่เข้าใจกันได้อย่างหลากหลาย เรามักจะใช้ประโยคนี้ในการปลอบใจตัวเอง เยียวยาจิตใจที่กำลังเศร้าหมองด้วยการให้คุณค่ากับตัวเอง

การรักตัวเองนั้นสามารถแสดงออกได้หลายลีลาท่าทาง แน่นอนว่าหลายคนก็ต่างพูดว่าตนนั้นรักตัวเอง ทำเพื่อตนเอง หรือกระทั่งทำเพื่อผู้อื่นเพื่อให้ตนเองมีความสุข และอื่นๆอีกมากมาย

ทำไมทุกคนที่บอกว่ารักตัวเองถึงมีวิถีชีวิตต่างกัน มีวิธีคิดต่างกัน มีเป้าหมายที่ต่างกัน แล้วรักตัวเองแบบไหนถึงจะเรียกว่ารักจริง เราจะลองมาเรียนรู้ที่จะรักตัวเองกันได้อย่างแท้จริงเสียที จาก 3 ลีลาความรักตัวเอง รักด้วยกาม รักด้วยอัตตา รักด้วยอนัตตา จะเป็นแบบไหนลองมาอ่านกัน

1). รักตัวเอง (กาม)

ความรักตัวเองในมุมของกามหรือการหา รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส จนกระทั่งหา คน สัตว์ สิ่งของมาเสพ จะเป็นมุมที่เห็นได้ทั่วไปเช่น คนที่คิดว่าเกิดมาครั้งเดียวต้องใช้ชีวิตให้มันสุดๆ กิน เที่ยว เล่น ให้มันสุขสุดๆ เพราะเข้าใจว่ารักตัวเองเลยพยายามหาสิ่งมาบำเรอความสุขให้กับตัวเอง เข้าใจว่าต้องทำให้ตัวเองเป็นสุขจากการเสพจึงจะเรียกว่ารักตัวเอง

ความรักตัวเองในมุมของกามเช่นนี้ ยังอยู่ในลักษณะที่เห็นแก่ตัวอยู่มาก เช่น เราชอบกินเนื้อสัตว์ เรารักตัวเองมากจึงพยายามหาเนื้อสัตว์มาเสพสุข พร้อมทั้งหาข้อมูลอ้างอิงว่าเนื้อสัตว์นั้นดี มีคุณค่า ให้ความสุข หาธรรมะมาอ้างว่ากินเนื้อสัตว์ไม่ผิด ยึดมั่นถือมั่นเนื้อสัตว์เป็นตัวเป็นตน เป็นสิ่งจำเป็น เป็นของสำคัญ จะให้ตัดเนื้อสัตว์ออกจากชีวิตก็ไม่ได้ เพราะรักตัวเอง กลัวอด กลัวไม่ได้เสพสุข กลัวขาดสารอาหาร เมื่อเรารักตัวเองมากๆ จนเข้าขีดของความเห็นแก่ตัว จึงยินดีที่จะเบียดเบียนผู้อื่นทั้งทางตรงและทางอ้อมเพื่อให้ตัวเองได้เป็นสุข

แม้แต่การรักผู้อื่นก็เช่นกัน ในมุมของการเอาใจผู้อื่น บางครั้งก็เกิดจากความรักตัวเองมาก จนสามารถใช้การล่อลวง ใช้คำหวาน ใช้ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เข้าไปทำให้ผู้อื่นหลงงมงายจนยอมตกลงปลงใจกับเรา จนกระทั่งเราได้รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสเหล่านั้นมาเสพ นั่นเพราะเรารักตัวเองมาก เราจึงทำทุกอย่างเพื่อให้ได้คนอื่นมาเสพ

การรักตัวเองแล้วบำเรอสุขจากการเสพให้ตัวเองนั้น ไม่ใช่ความรักตัวเองเลย แต่เป็นความหลงในกิเลส หลงว่ากิเลสเป็นตัวเราก็เลยเอาอาหาร ทรัพย์สินเงินทอง เวลา สุขภาพ ฯลฯ ไปให้กับกิเลสโดยหลงเข้าใจว่านั่นคือตัวเรา หลงไปว่าตัวเราชอบกินเนื้อสัตว์ ตัวเราชอบเที่ยว ตัวเราชอบแต่งตัว ตัวเราอยากได้รถโก้และบ้านหลังโต ทั้งที่ทั้งหมดนั้นเป็นคำสั่งจากกิเลส

การรักตัวเองแบบนี้ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้อะไรก็ได้ แค่ปล่อยตัวปล่อยใจไปตามกิเลสนำพา ตรงไหนสุขก็ไปเสพ ตรงไหนทุกข์ก็หนี แสวงหาที่เสพสุขวนเวียนสะสมบาปสะสมอกุศลอยู่เรื่อยไป เพราะความรักตัวเองเช่นนี้ คือการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอย่างแท้จริง นำวิบากบาปมาให้ตนเองอย่างแท้จริงเป็นทางแห่งทุกข์อย่างแท้จริง

การจะบอกว่ารักตัวเองแล้วยังแสวงหาสุขลวงจากกิเลสมาเสพ นั่นหมายถึงการทำทุกข์ทับถมตัวเองไปเรื่อยๆ แล้วจะเรียกว่ารักตัวเองได้อย่างไร

2). รักตัวเอง (อัตตา)

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา เป็นอีกมุมหนึ่งที่เห็นได้เป็นประจำ กามและอัตตาจะยังมีผสมปนเปอยู่ในจิตใจของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่เสมอ ไม่ได้หมายความว่ามีอัตตาแล้วจะไม่มีกาม ทางโต่งทั้งสองด้านนี้จะเติมพลังให้แก่กันอยู่เสมอ ผลัก-ดูด, รัก-ชัง, ชอบ-ไม่ชอบ สลับกันไปมาเช่นนี้เสมอ

อัตตาคือความยึดมั่นถือมั่น คือมีตัวเราของเรา เห็นกิเลสเป็นตัวเป็นตนของเรา เช่นเรารักตัวเองมาก เห็นว่าตัวเองเป็นคนดี เข้าวัด ทำบุญ แต่พอมีคนมานินทา เหน็บแนม ก็รู้สึกโกรธนั่นก็เพราะว่าเรารักตัวเองมากเกินไป รักจนยึดเป็นตัวเป็นตน รักจนไม่ยอมให้ใครมาแตะต้องได้

หรือการที่เรามีความคิดเห็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ความเชื่อความเข้าใจแบบใดแบบหนึ่ง เราก็จะรักและยึดมั่นสิ่งเหล่านั้นเป็นตัวเรา กอดมันไว้กับเรา ถ้ามีใครเห็นด้วยเราก็จะยินดีกับเขา แต่พอมีคนที่ไม่เห็นด้วยพร้อมทั้งการแสดงท่าทีหรือความเห็นที่แตกต่าง ความเห็นเหล่านั้นก็กระทบกับเกราะแห่งรัก(อัตตา,รักลวง) ก่อนที่จะเข้ามาถึงใจเรา นั่นคือเมื่อเรารักตัวเองมาก เราก็จะ”ไม่ฟัง” ไม่ยินดีรับฟัง ไม่อยากฟังอะไรที่ขัดกับความเห็นของเรา เขาพูดอะไรก็จะไม่สนใจ คิดแต่เพียงว่า ฉันก็เชื่อของฉันแบบนี้, ฉันได้ของฉันแบบนี้, ของเธอไม่ดีหรอก หรือถ้าหนักๆเข้าก็อาจจะถล่มอีกฝ่ายด้วยความรักตัวเองจนเกินจะระงับไว้ได้นั่นเอง

คนที่มีความเห็นผิดก็มักจะยึดเอาความเห็นผิดไว้เป็นที่พึ่ง เป็นหลักยึด เป็นคติ เป็นข้อปฏิบัติ และเห็นสิ่งที่ผิดเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะควรอยู่แล้ว นั่นคือเกิดสภาพยึดไปแล้ว และเป็นการยึดความเห็นผิดอีกต่างหาก อัตราส่วนของคนที่ยึดความเห็นผิดต่อความเห็นที่ถูกต้องก็ราวๆ จำนวนเส้นขนวัวทั้งตัวเมื่อเทียบกับ 2 เขาวัว ซึ่งนั่นหมายความว่าโอกาสที่จะได้รับฟังความเห็นที่ถูกก็น้อยยิ่งกว่าน้อย และเมื่อคนที่ยึดความเห็นผิดเป็นตัวเป็นตน เมื่อได้ฟังความเห็นที่ต่างจากที่ตัวเองยึดไว้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะถูกแต่ก็จะเป็นผิดทั้งหมด

ความรักตัวเองในมุมของอัตตาจะส่งผลให้กลายเป็นคนที่ติดอยู่ในภพ ติดอยู่ในความเชื่อหนึ่งๆ ตัวตนหนึ่งๆ สภาพหนึ่งๆ รูปแบบหนึ่งๆ กลายเป็นคนเห็นแก่ตัว คือเห็นแต่เรื่องของตัวเองเป็นสำคัญ เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญ ของตนสำคัญที่สุด คนอื่นผิด ฉันถูก หรือคนอื่นอาจจะผิดไม่มาก แต่ฉันถูกเสมอ

การรักตัวเองแบบมีอัตตาก็จะสามารถรักและเมตตาคนอื่นได้เช่นกัน แต่จะเป็นสภาพที่ซับซ้อนของกิเลส นั่นคือไปยึดเหตุการณ์ รูปแบบ ลักษณะแทน เช่น ฉันจะต้องเป็นคนมีเมตตา ฉันจะต้องมีน้ำใจ ฉันจะต้องเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งอาจจะมีความซ้อนตรงที่แอบเสพความสุขจากการได้เป็นผู้ให้เหล่านั้นเช่น เสพติดการได้รับคำชม ได้ชื่อเสียง ได้ความเคารพ ลักษณะเหล่านี้จะซับซ้อนและสังเกตได้ยาก เป็นอัตตาที่ซ่อนตัวอยู่ในโลกธรรม

ความรักตัวเองในมุมของอัตตา แม้ว่าจะไม่ได้หาวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของภายนอกมาเสพเหมือนกาม แต่ก็ยังเสพเหตุการณ์อยู่ ยังติดดียึดดีอยู่ รักความเป็นตัวของตัวเอง รักนิสัย รักศักดิ์ศรี รักลาภ ยศ สรรเสริญ รักความสุข จึงหาเหตุการณ์เหล่านี้มาบำเรอสุขให้ตนอยู่

แม้จะสามารถรักตัวเองจนดำเนินชีวิตให้ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน เป็นผู้มีรายได้มาก มีตำแหน่งใหญ่โต มีคนยกย่องนับถือ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นการรักตัวเองอย่างแท้จริง เพราะการหาเหตุการณ์ใดๆมาเสพให้สมใจตัวเอง ไม่ว่าจะความสำเร็จ ความมั่งคั่ง ความนิยม ซึ่งมักจะต้องแลกมาด้วยการทำบาป

บาป” นั้นหมายถึงการสะสมกิเลส เสริมกิเลส บำรุงกิเลส ซึ่งจะตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส ลดกิเลส ล้างกิเลส ทำลายกิเลส

หากเราได้สิ่งเหล่านั้นมาเสพจนกระทั่งเกิดความสุขจากสิ่งนั้น เหตุการณ์นั้น สภาพนั้น และเมื่อไม่ได้เสพสมดังใจหมายก็ผิดหวังเป็นทุกข์เศร้าโศกเสียใจ ก็ให้รู้ไว้เลยว่าสิ่งเหล่านั้นไม่ใช่เหตุการณ์ที่มาโดยกุศลกรรม แต่หากเป็นผลจากพลังของกิเลสที่ผลักดันเราให้ยึดมั่นถือมั่นในการจะได้เหตุการณ์ใดๆจนแสวงหามาเพื่อให้ได้เสพสมใจให้สมกับอัตตาที่มีนั่นเอง

3). รักตัวเอง (อนัตตา)

เมื่อเห็นแล้วว่าการรักตัวเองด้วยการหามาเสพด้วยวัตถุ คน สัตว์ สิ่งของ หรือแม้กระทั่งสร้างเหตุการณ์ต่างๆที่ทำให้สมใจนั้น เป็นการทำตามกระแสของกิเลสทั้งนั้น กิเลสจะพาให้เราเสพสิ่งต่างๆ ให้เรายึดมั่นถือมั่นและหามาเสพไปเรื่อยๆ สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่คนหลงว่าเป็นความสุข เป็นการให้รางวัลชีวิต เป็นเป้าหมายในชีวิต เป็นคุณค่าของชีวิต เป็นความหมายของการเกิดมา เป็นตัวเป็นตน เป็นการรักตัวเองโดยการสนองตัวเองให้เสพสุขไปกับสิ่งเหล่านั้น

สิ่งที่จะกล่าวกันต่อไปนี้ อาจจะขัดใจกันสักหน่อย นั่นคือสิ่งที่คนแสวงหาทั้งหมดไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นการทำทุกข์ทับถมตนทั้งสิ้น สร้างอกุศลคือความชั่ว สะสมไปเป็นอกุศลกรรม คือกรรมชั่วที่จะส่งผลให้เราทุกข์ไม่ว่าทางใดทางหนึ่ง ในวันใดวันหนึ่ง นั่นก็เพราะเรามีการสะสมกิเลสซึ่งเป็นเชื้อทุกข์ที่ร้ายสุดร้ายเข้าไปในจิตวิญญาณ

ไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์จากทั้งกามและอัตตา ความรู้สึกเหล่านั้นก็จะสะสมกิเลสไปเรื่อยๆ ได้เสพก็ติดสุข ไม่ได้เสพก็ทุกข์จนต้องหามาเสพ นั่นหมายถึงว่าทุกๆวันของชีวิตการคือสะสมบาป เวร ภัย ทุกข์ให้กับตัวเอง ดังนั้นจึงเรียกสิ่งเหล่านั้นว่าการรักตัวเองไม่ได้

ไม่ว่าจะกามหรืออัตตา ต่างก็เป็นทุกข์ ไม่เที่ยง ไม่มีตัวตน หลายคนบอกว่าที่ฉันเสพมันก็สุขนะ ได้กินของอร่อย ได้ท่องเที่ยว ได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ฯลฯ ซึ่งมันก็สุขจริง แต่เป็นสุขลวงแถมด้วยความทุกข์แท้ๆ ได้เสพก็สุขนิดหน่อยแต่สุดท้ายก็จะทุกข์มาก ทุกข์เพราะความอยากเสพ ทุกข์เพราะวิบากบาปในการหามาเสพ เหมือนยาเสพติดหยุดไม่ได้ ถึงจะรู้ว่ามีโทษแต่ก็สุขจนหยุดเสพไม่ได้ จึงกลายเป็นทุกข์แท้ๆเลยทีเดียว

ความไม่เที่ยงนั้นคือสภาพสุขที่ได้เสพ โอกาสที่จะได้เสพ หรือความสุขเหล่านั้นต่างไม่เที่ยง ไม่คงที่ สุขไม่นานก็จางคลาย เช่นเรากินอาหารที่อร่อย ความอร่อยนั้นอยู่ตรงไหน เรากินทุกวันมันจะอร่อยเหมือนวันแรกไหม สุขที่เกิดขึ้นมันไม่เที่ยงเลย มันเปลี่ยนไปตลอดเวลา

และความไม่มีตัวตน นั่นหมายถึงสภาพสุขจากการเสพนั้นแท้จริงไม่มีตัวตน มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่ได้สุขจากการเสพนั้น แต่กิเลสทำให้เราสุข แต่เป็นสุขลวงๆ แล้วเราก็หลงยึดสุขน้อยทุกข์มากนั้นเป็นตัวเราของเรา ยึดกิเลสเป็นตัวเรา ทั้งที่มันไม่ใช่ตัวเรา เราไม่จำเป็นต้องกินเนื้อสัตว์ เราไม่จำเป็นต้องกินสามมื้อ เราไม่จำเป็นต้องแต่งหน้าแต่งตัว เราไม่จำเป็นต้องกินเหล้า เราไม่จำเป็นต้องมีบ้านใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีคู่ครอง เราไม่จำเป็นต้องมีตำแหน่งใหญ่โต เราไม่จำเป็นต้องมีชื่อเสียง เราไม่จำเป็นต้องร่ำรวยมั่งคั่ง เราไม่จำเป็นต้องมีคนนับหน้าถือตา แต่เพราะเรามีตัวตนของกิเลสเป็นของเรา เราจึงเชื่อว่าสิ่งเหล่านั้นจำเป็น เชื่อว่าเป็นสาระของชีวิต เชื่อว่าเป็นความสุข ความเจริญ ทั้งที่สิ่งเหล่านั้นมันไม่มีตัวตน ไม่มีสาระอะไรเลย

ความรักตัวเองในมุมของอนัตตา คือความรักแบบไม่มีตัวตน นั้นคือไม่มีตัวตนของกิเลสในจิตวิญญาณ ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา เพราะทำลายทั้งกามและอัตตาจึงเข้าสู่สภาวะของอนัตตา แต่ไม่ได้หมายถึงแค่ไม่มีตัวเรา ไม่ใช่อนัตตาแบบท่องจำที่ทำกันโดยทั่วไป “ทุกสิ่งเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป,ทุกสิ่งไม่ใช่ตัวเราของเรา” ท่องแบบนี้มันก็ท่องได้ เป็นสมถะ เอาไว้กดอาการของจิตได้ดีแต่ทำลายกิเลสไม่ได้

การปฏิบัตินั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง สภาวะของอนัตตานั้นเป็นผลของการปฏิบัติ ไม่ใช่วิถีทางปฏิบัติ(มรรค) ซึ่งหลายคนเข้าใจผิดเอาอนัตตามาเป็นตัวปฏิบัติ เพราะการจะรักตัวเองได้อย่างแท้จริงนั้น ต้องเว้นจากทางโต่งสองด้าน คือกามและอัตตา โดยปฏิบัติยึดหลักทางสายกลาง จนเกิดเป็นผลที่เรียกว่า “อนัตตา

ความรักตัวเองด้วยอนัตตานี้เองจะเป็นความรักที่สร้างแต่กุศลอยู่ฝ่ายเดียว ทำแต่กุศลกรรม มีแต่การสร้างอนาคตที่ดี ไม่มีการสะสมบาป หรือสะสมอกุศลกรรมใดๆให้ตัวเองต้องได้รับทุกข์ โทษ ภัย ในอนาคตทั้งในชาตินี้และชาติหน้า นี่คือความรักตัวเองอย่างแท้จริงเพราะได้ส่งต่อสิ่งที่ดีให้กับตัวเองในอนาคต สร้างกรรมดีให้กับตัวเองในอนาคต จึงจะมีแต่เจริญไปข้างหน้าเรื่อยๆ ไม่มีถอยหลัง ไม่ตกต่ำ ไม่กลับมาชั่ว ปิดนรก ปิดทางฉิบหายได้สนิท ไม่ว่าจะในชาตินี้หรือชาติหน้าจนกระทั่งชาติอื่นๆต่อไป

เมื่อเรารักตัวเอง เราจึงควรเรียนรู้ที่จะรักตัวเองด้วยการเว้นขาดจากทางโต่งสองด้านคือกามและอัตตา จนกระทั่งทำลายกิเลสที่เป็นตัวผลักให้เราไขว้เขวไปในทางโต่งทั้งสองด้านจนสิ้นเกลี้ยง ทีละเรื่อง สองเรื่อง เริ่มจากกิเลสที่ไม่ยากมาก ให้โอกาสตัวเองได้เรียนรู้ความรักที่แท้จริง ความรักที่ไม่มีกาม ไม่มีอัตตา รักที่เป็นอนัตตาอย่างเที่ยงแท้ แน่นอน ไม่มีหลอกลวง เป็นประโยชน์ให้กับตัวเองและผู้อื่นตลอดไป สะสมอนัตตาในแต่ละเรื่อง เจริญขึ้นไปเรื่อยๆตามลำดับโดยการศึกษาเรียนรู้ ศีล สมาธิ ปัญญา ที่พัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อก้าวข้ามภพของกิเลสทั้งหมด ไปจนกระทั่งเป็นผู้ที่มีแต่ความผาสุกอย่างยั่งยืน

การรักตัวเองได้อย่างแท้จริง จะทำให้เราไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตัวเองไปทำบาป ไม่ชักชวนให้คนอื่นทำบาป ไม่ส่งเสริมให้คนทำบาป ไม่ยินดีในบาปเหล่านั้น ไม่ทำอกุศลกรรมใดๆ ที่จะกลายเป็นสิ่งที่ผูกมัดตัวเองไว้กับทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

26.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)