Tag: กาลามสูตร

คนทุศีล เน่าใน น่าห่างไกลที่สุด

February 27, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 664 views 0

จากบทความที่ยก ชิคุจฉสูตร มาอธิบายก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า คนทุศีล หรือคนที่ผิดศีล แล้วไม่เปิดเผย ปิดบัง โกหก หลอกลวงผู้อื่นว่าตนเองปฏิบัติดี นั้นร้ายยิ่งกว่า คนขี้โกรธ ขี้งอน ขี้น้อยใจ ฯลฯ (แต่ก็ควรจะห่างไว้เช่นกัน)

ถ้าเราวิเคราะห์ ในประโยคที่ว่า “ไม่ใช่สมณะ แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่พรหมจารีบุคคล แต่ปฏิญาณตนว่าเป็นพรหมจารีบุคคล เน่าในภายใน

เราจะรู้เลยว่าคนพาลเช่นนี้ ร้ายสุดร้าย เพราะเบื้องหน้าเราจะไม่รู้เลย คบกันแรก ๆ เราจะไม่รู้จักเขาเลย เพราะเขาเน่าใน มันจะมองไม่เห็นได้ง่าย ๆ แถมเขายังแสร้งให้ผู้อื่นเห็นว่าเขาปฏิบัติดีและเขาตั้งใจปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์

นี่คือเหตุที่ผมพยายามจะขยายเรื่องคนพาลให้ละเอียดขึ้นในช่วงนี้ เพราะถ้าเจอคนน่าเกลียดเช่นนี้ จะต้องเสียเวลามาก ตั้งแต่เวลาไปคบหาเขา เวลาเชื่อเขา ดีไม่ดีไปสนับสนุนเขาอีก

ทั้งหมดนั้นเพราะเรายังไม่มีปัญญา ภูมิธรรมไม่ถึง ดูเขาไม่ออก ยกตัวอย่างเช่น กรณีเณรคำ ไม่ธรรมดานะ หลอกคนได้ตั้งเท่าไหร่ คนเขาก็เชื่อนะ ใช่ว่าคนจะยอมมอบเงินมอบศรัทธากันให้ง่าย ๆ เขาก็แสวงหาคนดีมีศีลที่เขาจะสนับสนุนนั่นแหละ แต่สุดท้ายเขาก็โดนหลอกไง คือคนพาลเนี่ย เขาจะเนียนสุดเนียนเลย บางทีพูดธรรมะ 95% แทรกกิเลสที่ตนอยากเสพไปอีก 5 % เอากำไรนิดหน่อย ทำให้เพี้ยนไปทีละนิดละหน่อย แต่พูดทุกวัน มันก็ได้เยอะ

คนพาลเขาก็ใช้ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสนี่แหละมาหากิน สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชก็มีการชำระนักบวชทุศีลที่เข้ามาปลอมปนมาเสพผลประโยชน์ในศาสนาพุทธออกไปเยอะ แต่ยุคนี้ไม่มีกิจกรรมนั้น ดังนั้นเราก็ต้องหมั่นศึกษาเรียนรู้เพื่อที่จะรู้ให้ทันคนพาล

เพราะเวลาในชีวิตเราสำคัญมาก บางคนเทไปให้คนผิด 1 ปี 5 ปี 10 ปี เสียไปแน่ ๆ คือเวลา แรงกาย ทรัพย์สิน โอกาส และอื่น ๆ อีกมากมาย แต่วิบากกรรมไม่ใช่จบแค่นั้น เราหลงสนับสนุนคนพาล คนชั่ว คนทุศีลไปเท่าไหร่ เราต้องรับผลแห่งความเห็นผิดเหล่านั้น เขากิเลสโตเพราะเราสนับสนุน เขาไปหลอกคนได้อีกมากมายเพราะเราสนับสนุน คนหลงและไม่พ้นทุกข์เพราะเราเป็นหนึ่งในแรงผลักดันคนพาล เราต้องรับวิบากนั้น มันหนีไม่ได้

ดีที่สุดคือห่างไกลคนพาล ไม่คบคนพาล ไม่สนับสนุนคนพาล แต่ปัญหาคือคนพาลดันแสร้งว่าเป็นบัณฑิตเสียอีก แล้วจะเอายังไงล่ะทีนี้ ปลอมซะเหมือนเลย รูปนอกตรวจไปก็ใช่ ธรรมะพูดมาค่ารวม ๆ ก็ใช่อีก มันจะไปทางไหน ก็มีแต่หลงกลเขาเท่านั้นแหละทีนี้

ถ้าไม่มีคนมาคอยชี้นี่จบเลย จริง ๆ ผมหูตาสว่างได้ก็เพราะศึกษาตามครูบาอาจารย์ ไม่งั้นต้องหลงไปนาน แล้วยังมีความหลงสนับสนุนคนพาลไปเป็นลำดับด้วยนะ มันจะหลุดเป็นลำดับจากการที่เรามีปัญญามากขึ้น

หลุดแล้วยังไงล่ะ พอมารู้ทีหลังว่าเขาเป็นคนพาลก็เลิกคบนั่นแหละ เพียงแต่พอเห็นปริมาณกรรมที่เคยไปสนับสนุนเขาไว้ มันทำให้รู้สึกว่า เราควรจะเผยแพร่เรื่องนี้ออกไปนะ คือสื่อสารโทษภัยของคนพาลนี่แหละ ไม่งั้นพลาดไปมันจะหนัก และนานมาก ก็น่าจะทำให้ผู้อ่านได้ตรึกตรองและทำตนให้พ้นภัยไปได้บ้าง

สนับสนุน คบหา เข้าใกล้คนพาลมีแต่เสียกับเสีย ประโยชน์ตนก็เสีย ประโยชน์ท่านก็ไม่มี เพราะคนพาลไม่ใช่เนื้อนาบุญ สนับสนุนไปก็กิเลสเพิ่มอีก มีแต่ความเดือดร้อนรออยู่

ดังนั้นจะคบใครอย่าเพิ่งรีบปักใจเชื่อ อย่าเพิ่งรีบลงแรงลงใจ ถ้าจะลงก็ดูศีลดูธรรมหน่อย ดูว่าเขาตั้งใจลดกิเลสไหม เขาลดโลภ โกรธ หลงได้แค่ไหน เขาพูดไปในทางลดหรือเสริม หรือไม่สนใจในการล้างกิเลส หรือดูกันไปนาน ๆ ผ่านไปปีหลายปี ดูพัฒนาการของเขาในการลดกิเลส ดูกลุ่มสังคม ดูเพื่อนของเขา ดูกิจกรรมของเขา ก็จะพอเห็นความจริงได้

แต่ถ้าดีที่สุด ก็ลองปฏิบัติตามแนวคิดของเขาดู ถ้าพ้นทุกข์ พ้นกังวลหวั่นไหวในเรื่องใด ๆ ขึ้นมาตามที่เขาสอน ก็ค่อยสนับสนุนเขาก็ยังไม่เสียหาย เพราะศาสนาพุทธเขาสอนกันฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายอยู่แล้ว

ดังนั้นก็ไม่ควรรีบปักใจไว้ที่ใคร เพราะเหตุต่าง ๆ เช่น เขาว่ากันมาว่า… เขาพูดถูกตามหลักฐาน เขาพูดเหมือนที่เราคิด … ฯลฯ (ศึกษาต่อได้ที่ “กาลามสูตร”) ควรจะเอามรรคผลของตัวเองเป็นหลัก ถ้าปฏิบัติตามแล้วพ้นทุกข์ได้จริง ก็ค่อยหันไปสนับสนุนท่านเหล่านั้นอย่างเต็มกำลังก็ยังไม่สาย

คนพาลสอนรัก

February 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 527 views 0

ความรักนี่ก็เป็นเรื่องหนึ่งที่พาคนหลงได้มากมายมหาศาลอยู่แล้ว และถ้าได้คนพาลมาสอนเรื่องความรักซ้ำไปอีกด้วย รับรองไปไหนไม่รอด เขาก็พาวนอยู่ในเรื่องคู่นั่นแหละ

ในสังคมทุกวันนี้ มีความเห็นที่หลากหลายมากมาย และก็มีความเห็นผิดเกี่ยวกับความรักปนอยู่ในนั้นเยอะมากเสียด้วย และที่ร้ายกว่านั้นก็คือ คำความเหล่านั้นดันออกจากผู้เห็นผิดที่หลงว่าตนเห็นถูกนั่นเอง

หากจะแสดงภาพรวมให้พอนึกออก ภาพกว้าง ๆ ของคำสอน ความเห็น ทฤษฎีเกี่ยวกับความรัก จะเป็นไปใน 2 แนวทาง คือพาให้ยินดีในการมีคู่ กับคลายความอยากมีคู่ มีแค่สองทิศนี้เท่านั้น ส่วนทิศกำกวมจะขยายทีหลัง

การพาให้คนยินดีในการมีคู่คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนาที่จะน้อมให้คนยินดีในการมีคู่ ปิดบังไม่ให้เห็นโทษภัยในการมีคู่ ไม่กล่าวถึงประโยชน์ในการอยู่เป็นโสด และยินดีเมื่อผู้รับสาร เกิดความยินดีในการมีคู่นั้น ๆ ไม่ว่าจะในเงื่อนไขใดก็ตาม

การพาให้คนคลายความอยากมีคู่ คือ คำพูดหรือข้อความนั้น ๆ มีเจตนา พาให้คนออกจากความหลงมัวเมาในสภาพคนคู่ ชี้ให้เห็นโทษภัยของการอยู่เป็นคู่ ๆ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของการอยู่เป็นโสด อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสในหลายสูตร เช่น บัณฑิตพึงประพฤติตนเป็นโสด ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง , หรือการที่ท่านสอนให้ไม่ไปคลุกคลีกับเพศตรงข้าม เช่น สอนชายว่า ถ้าจะให้ชีวิตมีความผาสุก ไม่พึงเอาชีวิตไปคลุกคลีกับผู้หญิง หรือการได้ลูกหรือคู่ครอง พระพุทธเจ้าว่าเป็นการได้ลาภเลว เป็นต้น

เราจะเห็นว่าโลกุตระนี่มันชัด ๆ เลย ชี้ชัดไม่กำกวม ทิศไหนสวรรค์ ทิศไหนนรก ไม่มีตรงกลาง มีแต่ทางเจริญกับทางเสื่อมก็เลือกเอาเอง

การจะพาคนไปทางอยากมีคู่ เขาก็ทำกันทั่วบ้านทั่วเมืองอยู่แล้ว สื่อต่าง ๆ ละคร เพลง หนัง ฯลฯ นี่แหละสื่อกระตุ้นราคะอย่างหนัก เขาก็ทำกันอยู่เต็มโลก มอมเมาคนอยู่ในโลก

ส่วนที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้คือพวกกำกวม คล้าย ๆ จะเป็นทางสายกลาง คือ มีรักแต่จะไม่มีทุกข์ เช่นมีรักอย่างมีสติ มีรักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น หรือมีรักด้วยเมตตา จะเห็นว่าเขาจะเอาความดีมาผสมในรัก ให้รักนั้นน่าเสพ เหมือนเอาน้ำผึ้งมาเจือในยาพิษ ใส่สีใส่กลิ่น สวยงามหอมหวาน มันก็ดูเหมือนน่าเสพ ข้อความจะดูกำกวม ไม่ชัดเจนว่าตกลงมีแล้วดีหรือไม่มี แต่ถ้าจับใจความดูจะมีทิศทางที่ว่า มีคู่ก็ไม่มีโทษภัยนักหรอก

สรุปคือพวกกำกวมนี่สุดท้ายจะไปทางฝั่งพาให้ยินดีในการมีคู่ แต่มักจะวางตำแหน่งตัวเองไว้ว่าเป็นเหมือนบัณฑิตที่ปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ มันจะมีความย้อนแย้งในตัวของมัน แต่คนส่วนมากจะชอบ ยินดีชื่นชมในคำกำกวมเหล่านี้ เพราะมันได้เสพสมใจไง มันมีรักแล้วไม่รู้สึกผิด ไม่รู้สึกว่าบาป ไม่รู้สึกว่าโง่ ไม่ต้องอายใคร แค่มีวาทะเก๋ ๆ ก็กลบเกลื่อนได้หมดแล้ว

นี่คือมารยาของคนพาลที่หลอกคนซ้อนไปอีกทีหนึ่ง ลำดับแรกคือเขาหลอกตัวเองอยู่ก่อนแล้ว แล้วก็เอาความเห็นผิดของตัวเองมาหลอกคนต่อ ดังจะเห็นได้ว่าทุกวันนี้คำตรัสของพระพุทธเจ้าในหมวดความรักมักจะไม่ค่อยมีคนเอามาใช้เท่าไหร่ คำที่มันหนัก ๆ พระสูตรคม ๆ นี่เขาไม่เอามาใช้กันเลย แต่ถ้าใช้เวลาศึกษาจะเจอเยอะมาก

ที่เขาใช้กันบ่อย ๆ ก็บทที่ว่า สามีภรรยาจะได้เกิดมาเจอกันเรื่อยไป ต้องมีศีล ศรัทธา จาคะ ปัญญา เสมอกัน (สมชีวิสูตร เล่ม 21 ข้อ 55) สูตรนี้จะจบตรงประโยคที่ว่า “ย่อมเป็นผู้เสวยกามารมณ์ เพลิดเพลินบันเทิงใจอยู่ในเทวโลก ฯ” ตรงนี้เองที่ปราชญ์เขาไม่ค่อยได้ยกมาสอนกัน คือสภาพของคนคู่นี่ มันยังไม่ใช่สภาพที่สุดของความเจริญ แต่ภพของผู้เสพกามติดใจในสวรรค์

เนื้อหาของสูตรนี้ไม่ใช่ว่าการตรวจเชคว่าคนนั้นคนนี้ใช่คู่ครองรึเปล่า แต่เป็นการถามเพื่อยืนยันสิ่งที่ตนต้องการ คือสามีภรรยาคู่หนึ่งมาหาพระพุทธเจ้า แล้วต่างเล่าว่าตนเองนั้นคบกับคู่ครองมาตั้งแต่ยังเป็นหนุ่มเป็นสาว ไม่เคยนอกใจ จึงไม่มีทางนอกกายไปได้ ว่าแล้วก็บอกความต้องการแก่พระพุทธเจ้าว่าทั้งสองต้องการจะพบกันตลอดไป พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบตามที่ถาม คนถามเขาไม่ได้ถามนะว่าทางพ้นทุกข์ ทางหมดทุกข์ไปทางไหน เขาถามทางให้ได้เจอกันเรื่อยไป พระพุทธเจ้าก็ตอบตามนั้นเท่านั้น แล้วท่านก็แทรกยาทิพย์ไปตามฐานของสามีภรรยาคู่นี้คือสอนให้สำรวม มีธรรมะ พูดจากันดี ๆ ไม่ใจร้ายหรือทำร้ายกัน แล้วก็จบด้วยทำแบบนี้จะเป็นผู้เสวยกามพอใจอยู่เทวโลก

มีหลายครั้งที่มีคนมาถามแบบ… จะเรียกว่ายังไงดี คือถามโง่ ๆ นั่นแหละ เช่น กระผมได้ยินมาว่าตรงนั้นตรงนี้เป็นอย่างนั้น พระพุทธเจ้าท่านก็ตอบว่า แม้เราก็ได้ยินมาว่าฯ คุยแบบนี้กันอยู่สักพัก… จนพระอานนท์ทนไม่ไหว ต้องชี้นำให้ถามให้ถูกซิ ถามแบบนั้นจะได้ประโยชน์อะไร คือบางทีเรื่องมันก็อยู่ที่ต้นทางด้วย ถ้าจะศึกษาธรรมะนี่บางทีก็ต้องลงรายละเอียดในพระไตรปิฎกเหมือนกัน มันก็เป็นหลักฐานที่มากที่สุดที่พอจะศึกษาหาความในเหตุและที่มาได้

ดังนั้นจึงไม่ควรรีบปักใจเชื่อ พระเขาเป็นเกจิอาจารย์ก็ตาม แม้เขาน่าเชื่อถือก็ตาม แม้เขามีชื่อเสียงก็ตาม แม้คนส่วนมากจะเชื่อตามเขาก็ตาม แม้เราจะชอบใจก็ตาม และแม้คำความเหล่านี้จะมีอยู่ในพระไตรปิฎกก็ตามที

ก็ต้องลองด้วยตัวเอง คือทำแล้วพ้นทุกข์ก็ทำ แต่ถ้าทำแล้วไม่พ้นทุกข์ก็เลิก (กาลามสูตร/ เกสปุตตสูตร) เพราะสุดท้ายความเป็นพาลก็ใช่ว่าจะรู้กันได้ง่าย ๆ ก็ต้องโดนหลอกจนทุกข์เข้าจริง ๆ นั่นแหละ จึงจะพอตาสว่างกันได้ เห็นทุกข์แล้วเห็นธรรมนี่คือมีปัญญา แต่เข้าไปคว้าทั้งที่มันทำให้ทุกข์นี่มันไม่มีปัญญา มันก็ต่างกันตรงนี้แหละ

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

October 8, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,473 views 1

ความเห็นผิดควรปิดไว้ ความเห็นถูกให้เปิดเผย

ความเห็นผิด ปิดไว้ ดีที่สุด

หากเผลอหลุด เอ่ยอ้าง อับอายเขา

หลงเมากาม เมาอัตตา ว่าตัวเรา

แล้วยึดเอา ว่าฉันนี้ ดีสุดเอย

– – – – – – – – – – – – – – –

คนที่เห็นผิด ก็จะเห็นถูกว่าเป็นผิด เห็นผิดว่าเป็นถูก ก็เลยมักจะนำเสนอสิ่งผิดด้วยความมั่นใจ เผยแพร่มันออกมาด้วยความเข้าใจว่าสิ่งเหล่านั้นถูกต้อง เมื่อความเห็นผิดเหล่านั้นถูกประกาศไปสู่คนที่มีเห็นผิดด้วยกัน เขาเหล่านั้นย่อมกลืนกินกันเองด้วยความเห็นผิด และมัวเมาหลงผิดกันอยู่เช่นนั้น ภูมิใจกับความหลงผิดเช่นนั้น นำเสนอความเห็นผิดเช่นนั้นโดยมิได้รู้สึกอับอายแม้แต่น้อย

ส่วนคนที่เห็นถูก ก็จะเห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก แต่พอประกาศออกไปว่าสิ่งที่คนส่วนใหญ่นั้นเห็นและเข้าใจนั้นเป็นสิ่งผิด เมื่อคนเห็นผิดได้ยินดังนั้น ก็จะมองความถูกเป็นความผิดและมีข้อขัดแย้งในความเห็นเป็นเรื่องธรรมดา

คนเห็นผิดก็ขยันสร้างกรรมที่ผิด ส่วนคนเห็นถูกก็ต้องขยันที่จะเอาภาระ คอยแก้กลับสิ่งที่ผิดให้มันถูก คนหนึ่งสร้าง(ความเห็นผิด) คนหนึ่งทำลาย(ความเห็นผิด) มีอยู่คู่กันเช่นนี้ทุกยุคทุกสมัย

แล้วจะแยกอย่างไรในเมื่อคนเห็นผิดก็ประกาศความเห็นผิดของตน และคนที่เห็นถูกก็ประกาศความเห็นถูกของตน แล้วตกลงใครที่เห็นผิด ใครที่เห็นถูก แล้วเรากำลังมองในมุมไหน เราเห็นผิดหรือเราเห็นถูก แล้วเราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราเห็นถูก เพราะในเมื่อคนเห็นผิดก็จะเห็นความผิดของตนเป็นความถูกเสมอ ซึ่งเป็นปัญหาโลกแตกที่ทำให้คนทะเลาะกัน ทำร้ายกัน ฆ่ากันมามากมายแล้ว

ในกาลามสูตรได้สรุปเรื่องนี้ไว้ว่า อย่าพึ่งปักใจเชื่อง่ายๆ แต่ควรศึกษาและปฏิบัติสิ่งที่เห็นเหล่านั้นจนเกิดปัญญารู้ในตนว่าเป็นกุศลหรืออกุศล คือดีหรือชั่ว เป็นการเกื้อกูลหรือเบียดเบียน เป็นการสละออกหรือการสะสม เป็นไปเพื่อพรากหรือเพื่อผูก เป็นไปเพื่อลดกิเลสหรือสนองกิเลส เป็นไปเพื่อหลุดพ้นจากทุกข์หรือเป็นไปเพื่อทุกข์ชั่วกาลนาน

แต่ความหลงที่ร้ายกาจและรุนแรงที่สุดที่มีความซ้อนลึกจนยากที่จะแก้ นั่นคือการหลงว่าตนเองนั้นเป็นพระอริยะหรือพระอรหันต์ ซึ่งจะมีความซ้อนเข้าไปในวิถีปฏิบัติและปริยัติของลักษณะของศาสนาพุทธที่แยกได้ยากมาก ซึ่งเป็นความหลงที่แนบเนียนที่สุดที่จะมากวาดต้อนคนหลงผิดให้มัวเมาอยู่กับความเป็นโลกและความเป็นอัตตา

ซึ่งวิธีเดียวที่จะพ้นจากความหลงผิดที่สุดแสนจะเนียบเนียนเหล่านั้นได้ คือการทำความถูกให้เกิดในตน แล้วจะทำความถูกต้องได้อย่างไร ก็ต้องมีคนที่มีความเห็นที่ถูกต้องเป็นผู้ชี้ทางแล้วทีนี้ก็วนกลับมาเหมือนไก่กับไข่อะไรเกิดก่อนกัน…

แล้วตกลงใครที่มีความเห็นถูกต้องกัน ในเมื่อมองไปแล้วก็ดูเหมือนมีส่วนถูกด้วยกันทั้งนั้น อันนี้ก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรม ใครทำกรรมดีมามากก็มีโอกาสได้เข้าใกล้ความถูก ส่วนใครทำกรรมชั่วมามากก็มีโอกาสที่จะหลงมัวเมาในความผิด ยังรวมทั้งกรรมที่เคยเกื้อกูลคนที่ถูกต้องมาก็จะชักนำให้เจอคนที่ถูกต้อง และกรรมที่ไปเกื้อกูลคนที่ผิดก็จะชักนำให้เจอคนที่ผิด แต่ก็จะไม่รู้หรอกว่าคนไหนถูก คนไหนผิด จนกว่าจะได้ปฏิบัติตามจนมีความเห็นถูกนั้นขึ้นในตนเอง

ถ้าหาใครไม่ได้ก็ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ซึ่งในยุคนี้ยังพอมีหลักฐานที่มีความถูกต้องเป็นส่วนมากให้ศึกษาอยู่ บทไหน หมวดหมู่ไหน ศึกษาให้มาก ให้หลากหลาย ถ้าสามารถทำได้ก็ทำตามที่ท่านแนะนำให้หมด สิ่งใดเป็นไปเพื่อความไม่เจริญในธรรม ทำให้ลุ่มหลงมัวเมาในกิเลสให้ละเว้น สิ่งใดขัดเกลากิเลสให้ศึกษา และทำใจในใจให้เห็นตรงกับที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่น ท่านบอกให้ภิกษุผู้บวชกับท่านถือศีล ๓ หมวด คือจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ถ้าเราเป็นฆราวาสแล้วรู้สึกว่าศีล ๕ ยังไม่ชัดเจน ก็ให้ศึกษาศีลใน ๓ หมวดนี้ในข้อที่พอจะกระทำได้โดยไม่ทรมานจนเกินไป ศึกษาและปฏิบัติให้จิตนั้นแนบแน่น แนบเนียนไปกับศีลเหล่านั้น ให้เกิดปัญญาเห็นจริงว่า ความพ้นทุกข์นั้นถูกตรงตามศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสจริงๆ ถือศีลแล้วพ้นทุกข์พ้นภัยจริงๆ ศีลประเสริฐจริงๆ ศีลวิเศษจริงๆ ศีลเยี่ยมยอดที่สุด …แต่ถ้าไม่ไหวก็ศึกษาและปฏิบัติในศีล ๕ ให้ได้ความเห็นในแนวทางนี้แล้วค่อยขยับจาก ๕ ๘ ๑๐ พร้อมๆกับศึกษาทางเลือกเสริมสู่ความเจริญใน ศีล ๓ หมวด และบัญญัติข้ออื่นๆ ไปพร้อมๆกันก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,318 views 0

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

เป็นข้อสงสัยกันมานานว่าแท้จริงแล้ว ชาวพุทธควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายในสังคม ทุกความเห็นล้วนฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงที่สมควรทำตามหลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร เราจะมาศึกษาจากบทความนี้กัน

ในบทความนี้จะไม่ลงไปในรายละเอียดของคำว่าบุญหรือบาป บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุ ไม่กล่าวไปถึงเรื่องยิบย่อยในความเห็นต่างๆ แต่จะยกเพียงหลักใหญ่ๆของพุทธมาพิจารณาขอบเขตของกุศลและอกุศล คือจะชี้ชัดกันว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว โดยจะยกพระสูตรอ้างอิงทั้งหมด 3 สูตร คือโอวาทปาติโมกข์, มหาปเทส และกาลามสูตร

ซึ่งคำถามว่าการที่ชาวพุทธนั้นจะไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องสมควรไหม? มีผู้ให้ความเห็นกันมากมายทั้งผู้ที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนับถือ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็คือความเห็น และในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้ากันดูว่า ความจริงนั้นควรจะเป็นเช่นไร

โอวาทปาติโมกข์

เป็นหลักใหญ่ของศาสนาพุทธ เป็นองค์รวมทั้งหมด ขึ้นต้นด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยลำดับ นั่นหมายถึงประการแรกท่านให้หยุดทำบาปหยุดทำชั่วทั้งหมด คือชั่วนี่ไม่ต้องทำเลย ทำแต่ความดี ไม่ใช่ชั่วบ้างดีบ้างนะ ทำครึ่งๆกลางๆ อันนั้นไม่พ้นทุกข์ ที่ถูกต้องไม่ควรมีบาปเลยแม้น้อย

จะหยิบยกข้อต่อมาคือ “ผู้ที่ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”สมณะนั้นหมายถึงผู้สงบจากกิเลส คำว่าสมณะในพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้นั้นย่อมไม่ทำให้สัตว์ใดลำบากเลย ผู้ที่ยังมีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์อื่นต้องได้รับความลำบากอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเช่นนั้นเอง

และข้อสุดท้ายที่จะยกมาคือ “ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สาวกจงกินไม่เลือก เห็นเป็นแค่การกิน สักแต่ว่ากินโดยไม่พิจารณาใดๆเลย แต่ท่านให้ประมาณในการกิน ให้รู้ว่ากินสิ่งใดแล้วเกิดกุศล ไม่เป็นโทษ ทำให้เกิดความเจริญ ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวแต่ในอาหารที่กินเพื่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น อาหารอื่นๆจะยกไว้

พระพุทธเจ้าและสาวกเป็นตัวอย่างของการเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของสุกรมัทวะ อาหารมื้อสุดท้ายของท่าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สุกรมัทวะนี่เองเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่ท่านประสงค์ ท่านจึงรับสุกรมัทวะนั้นไว้แต่ผู้เดียว และที่เหลือให้นำไปทิ้งอย่าให้สาวกอื่นได้ฉัน เพราะมันมีโทษ แต่ท่านจำเป็นต้องใช้โทษนั้นเพื่อประโยชน์ของท่าน มันมีความซ้อนในเหตุปัจจัย ดังนั้นพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดเอาเอง ถ้าหมกมุ่นคิดจะเป็นบ้าได้ เพราะมันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ให้ทำความเข้าใจตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หรือตัวอย่างของพระสารีบุตร ในช่วงที่ท่านป่วย แม้ท่านจะได้รับยาแก้โรคนั้นมา แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะเทยานั้นทิ้ง เห็นไหมว่าท่านไม่ได้ฉันทุกอย่างที่รับมา ท่านประมาณกุศลของท่าน เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ท่านเลยไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นเอง ถ้าใครจะเอ่ยอ้างว่า กินไม่เลือก กินโดยไม่พิจารณา คงจะไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธแน่นอน

มหาปเทส

เป็นพระสูตรที่เอาไว้ใช้สำหรับตัดสินว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จึงทำให้มีหลายสิ่งสูญหาย บางสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้บ้าง คาดเคลื่อนบ้าง เราจึงจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบความถูกต้องของความเห็นนั้นๆว่าเป็นไปในทางพ้นทุกข์หรือไม่

และสูตรนี้เหมาะกับกลียุคเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการตีความบัญญัติต่างๆให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการที่กิเลสจะเติบโต มีการเลี่ยงบาลี หาช่องว่าง เช่นไม่ได้ตรัสไว้บ้าง ไม่มีระบุไว้บ้าง แปลความให้ผิดเพี้ยนบ้าง เป็นต้น พระสูตรนี้จึงเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านั้นได้สมบูรณ์ เว้นเสียแต่กิเลสนั้นไม่ยอมที่จะอุดรอยรั่วนั้น

ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดไม่ห้ามว่า ไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นจึงไม่ควร” พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ “เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา” นั้นมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือมีการฆ่าซึ่งผิดหลักของพุทธอยู่ในนั้น การที่เราไปสนับสนุนเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นย่อมส่งผลตรงต่อความไม่ควร คือไปสนับสนุนให้เขาฆ่า เอาเงินเอาความหลงผิดให้เขาเป็นแรงผลักดันในการฆ่าต่อ จึงเป็นสิ่งไม่ควร ซึ่งขัดกับหลักของพุทธที่ว่าเมื่อตนเองตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้แล้ว ก็ควรจะชักชวนคนอื่นให้อยู่ในศีลธรรมนั้นด้วย การสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงเป็นความขัดแย้งต่อกุศลของเขา ขัดกับสิ่งที่ควร ดังนั้นจึงสรุปว่า “การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร

กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)

ในพระสูตรนี้เป็นสูตรที่จะใช้เพื่อทำความเห็นให้เป็นกลาง มองความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาเข้าถึงการปฏิบัตินั้นๆจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยไม่ให้รีบปักใจเชื่อ หรือยึดมั่นถือมั่นในคำกล่าวของใครต่อใครแม้คนผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามที

ในการวิเคราะห์พระสูตรนี้จะยกข้อความในพระไตรปิฎกเข้ามาประกอบในการอ้างอิง เพื่อความเป็นสากล เข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธ

๑.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา … อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย “

* * * ประการแรก ให้ตัดความสำคัญของแหล่งข้อมูลเสียก่อน เพราะมันจะหลอกเราได้ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล มีโทษ มีคนติเตียน ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ …กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นสิ่งดีไหม มีผลเสียไหม มันเบียดเบียนไหม ทุกวันนี้ยังมีคนติอยู่ไหม เป็นประโยชน์ยังไง

ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานอ้างอิงอย่างน้อยสองครั้งที่พระพุทธเจ้าโดนกลุ่มที่คิดต่างประณามว่า ท่านกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เขาเหล่านั้นโพนทะนาไปทั่วเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ จนหมอชีวกไปถามพระพุทธเจ้าว่าจริงไหม ท่านก็ตอบว่า “เราถูกกล่าวตู่” ซึ่งท่านจะกินเนื้อนั้นโดยมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในกรณีเนื้อที่ไม่ได้ฆ่ามาจะยกไว้ก่อนไม่กล่าวในบทความนี้ แต่เนื้อที่ถูกฆ่ามานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะฉัน เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ประพฤติธรรมในศาสนาของท่านย่อมรังเกียจการฆ่า การผิดศีล การเบียดเบียน ย่อมไม่ทำเช่นนั้นหรือร่วมวงบาปกรรมนั้นด้วยเช่นกัน

ในอีกนัยหนึ่ง การที่กลุ่มที่เห็นต่างและต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของพระพุทธเจ้าออกมาประณามท่านว่ากินเนื้อสัตว์นั้น เป็นตัวยืนยันชัดอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะถ้าท่านกิน จะประณามทำไมให้เสียเวลา ถ้าคนเขารู้ว่าท่านกินก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เขาจ้องจับผิดหาเรื่องมานาน แต่หาหลักฐานไม่ได้สักที พอมีหลักฐานนิดๆหน่อยๆก็ป่าวประกาศเลย ทั้งๆที่จริงท่านจะกินหรือไม่กินก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงสรุปว่า การกินเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องปกติของท่าน

ให้สังเกตว่าสมัยพุทธกาล คนที่กินเนื้อจะโดนประณาม แต่ในสมัยปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ตีกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นสมัยนี้ใครกินเนื้อเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ถ้าใครลุกขึ้นมาประกาศว่าชาวพุทธไม่ควรกินเนื้อ คนนั้นจะโดนประณามทันที เรื่องนี้ก็น่าคิด…

๒.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ

กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ

มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จสิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ”

* * * ประการที่สองคนผู้ไม่หลงย่อมชักชวนให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในศีล แล้วคนที่ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจใยดีทั้งๆที่ผู้อื่นยังทำผิดศีล ก็ยังสนับสนุนอยู่ เรียกว่าชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นหรือ … ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะคนที่หลงย่อมไม่สามารถชักชวนคนให้มีศีลได้ ไม่สามารถเอื้อให้คนมีศีลได้ ไม่สามารถสร้างชุมชนหรือสังคมให้มีศีลได้ เพราะถ้าเขามีศีลแล้วใครจะฆ่ามาให้กิน??

๓. “ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา … มีใจประกอบด้วยมุทิตา … มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔”

* * * ประการที่สาม สรุปกันตรงๆเลยพระอริยะไม่มีความเบียดเบียน ผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้ย่อมไม่ดำรงอยู่อย่างเบียดเบียน เพราะเป็นอกุศลด้วย มีคนถือสาด้วย วกกลับไปติดอยู่ในประการแรก ที่สำคัญการส่งเสริมเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันคือการเมตตากรุณาต่อใครกัน? การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นความเมตตาไปทั่วทิศแก่สัตว์ทุกเหล่าเช่นนั้นหรือ? สัตว์จะยินดีในความเมตตากรุณาเช่นนั้นหรือ? ก็คงมีแต่คนที่หลงผิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าสัตว์เหล่านั้นยินดีที่ได้ถูกฆ่าเพื่อกิน

….ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องกุศล อกุศล เรื่องดีและเรื่องชั่วเท่านั้น การใช้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นแยกแยะดีชั่วเป็นพื้นฐานของความเจริญ สิ่งดีให้เข้าถึง สิ่งชั่วให้ละเว้น

สมัยก่อนนี้ไม่ได้มีพระไตรปิฎก สาวกแต่ละท่านมีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก อาจจะไม่ได้หลากหลายเท่าในปัจจุบันอย่างเราด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ตกหล่นในบางเรื่องบางตอนไม่ได้รับรู้หลักเกณฑ์ระบุไว้แน่ชัดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาลงไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือสิ่งใดเป็นโทษ เป็นอกุศล ด้วยความเห็นที่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากให้เป็น

เรื่องกุศลกับอกุศล คนที่หลงจะแยกไม่ออก เขาจะแยกดีแยกชั่วไม่ได้ จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตีทิ้งกุศล กอดเก็บอกุศล จนบางครั้งถึงกับประณามสิ่งที่เป็นกุศล แล้วโอ้อวดความเห็นผิดของตนด้วยก็มี ความหลงนี่มันหลงได้ลึกและอันตรายตั้งแต่หลงในธรรม จนกระทั่งหลงว่าตนเองบรรลุธรรม และสิ่งเดียวที่จะชี้ชัดความจริงได้ มีเพียงแค่กุศล และอกุศล เป็นเรื่องสามัญของโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เป็นเพียงแค่สมมุติสัจจะที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ศาสนาพุทธไม่ได้ทิ้งสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าท่านยังอนุโลมให้กับเรื่องบางเหตุการณ์ที่ผู้คนเขาถือสา ผู้คนเขาติเตียนมาเป็นข้อปฏิบัติและวินัยต่างๆ

ดังนั้นจะสรุปข้อธรรมทั้งหมดลงมาเพียงแค่ว่า “แยกดี แยกชั่ว” ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งไหนดีให้เข้าถึงสิ่งนั้น และสิ่งไหนชั่วก็ให้ออกจากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นข้อสรุปของกาลามสูตรในกรณีข้อมูลมีความขัดแย้ง สับสนในเนื้อหาและความหมายต่างๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)