Tag: โอวาทปาติโมกข์

คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ”

December 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,483 views 0

ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

คำปลอบตนของคนดีที่ยังเบียดเบียน “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ” เพราะเธอได้สละเนื้อให้ฉันไปสร้างสรรค์สิ่งที่ดีงาม

มีความเห็นหนึ่งที่เป็นไปในแนวทางโลกสวย คือทุกอย่างล้วนสร้างมาเพื่อฉัน (all for one)ทุกคนจงทำเพื่อฉัน แล้วฉันจะทำดีเพื่อทุกคน ขอทุกคนจงรวมพลังมาที่ฉัน เสียสละเพื่อฉัน เพราะนั่นคือหน้าที่ของเธอ

ผมเคยรับรู้แนวคิดหนึ่ง มีความเห็นในแนวทางที่ว่า กินเนื้อเขา แล้วเขาจะได้ประโยชน์ เนื้อของเขาจะเลี้ยงชีวิตเรา ถ้าเราใช้ชีวิตไปทำดี แล้วเขาจะได้กุศล ซึ่งสรุปเป็นภาษาที่โลกเข้าใจได้ประมาณว่า “ฉันกินเธอ เธอได้บุญ

ความเห็นเหล่านี้เป็นเหมือนคำปลอบใจของคนที่พยายามจะเป็นคนดี โดยการสร้างชุดความคิดบวก เพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาโดยไม่ผิดบาป

ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว….

1.การที่เราจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์นั้นไม่ได้มีความสัมพันธ์ใดๆ กับการทำดีในชีวิตเลย แม้เราไม่กินเนื้อสัตว์เราก็ยังสามารถดำรงชีวิตไปสร้างคุณงามความดีได้อย่างปกติ

2.กรรมดีต้องสร้างด้วยตัวเอง ไม่ใช่กินเขาแล้วเขาจะได้ดีเพราะเรากิน แต่เขาจะดีเพราะเขาทำดีนั้นของเขาเอง สัตว์ก็เช่นกัน มันจะดีจะชั่วก็ขึ้นอยู่กับการกระทำของมันเอง ไม่ใช่ว่าถูกฆ่าแล้วถูกแยกชิ้นส่วนเข้าปากลงท้องคนอื่นแล้วจะเกิดสิ่งดีขึ้น อันนี้มันผิดหลักของกรรมอย่างชัดเจน

3.สัตว์ไม่ได้เกิดมาเพื่อเป็นอาหารของเรา เราคิดไปเองเท่านั้น มันก็เกิดมาตามธรรมชาติของมัน ไม่เกี่ยวอะไรกับเราเลย

4.สัตว์เหล่านั้นไม่ได้ยินดีสละชีวิต มันถูกแย่งชิงอิสระ ถูกทำร้าย และถูกพรากชีวิตมา เนื้อสัตว์นั้นย่อมถือเป็นทรัพย์ที่ไม่บริสุทธิ์ เจ้าของเขาไม่ได้ให้ มันถูกขโมยมา ดังนั้นเนื้อสัตว์นั้นจึงไม่ใช่สิ่งดี

5.การกินเนื้อสัตว์ในทุกวันนี้ ไม่ใช่การกินเพื่อดำรงชีวิตอีกต่อไป แต่เป็นการกินเพื่อสนองกาม ต้องการเสพมากๆ ต้องการเสพรูป รส กลิ่น สัมผัส เมนูใหม่ๆ อาหารรสเลิศ ฯลฯ ต้องการอวดว่าฉันได้กินเนื้อดี ราคาแพง ต้องการเสพสุขจากการมีเนื้อสัตว์ในชีวิต

6.จะเป็นอย่างไรหากมีคนแปลกหน้าบุกเข้ามาในบ้านคุณ จับคุณมัดไว้และขโมยของทุกอย่างออกไป รวมทั้งรื้อถอนบ้านออกไปด้วย ถึงแม้คุณจะมีคำถาม มีคำข้อร้องอ้อนวอน ก็ทำได้เพียงนั่งมองเขาพรากสิ่งที่รักไป สุดท้ายเหลือแต่คุณที่ถูกมัดนั่งอยู่บนพื้นดินโล่งๆ ที่ไม่ใช่กรรมสิทธิ์ของคุณอีกต่อไป เขาเดินมากระซิบกับคุณเบาๆว่า ขอโทษทีนะมีลูกค้าต้องการ เพราะเขาจะได้เอาไปใช้ประโยชน์ในการดำรงชีวิตเพื่อการทำดีของเขา… ว่าแต่คุณจะเลือกจองเวรใครระหว่างพนักงานที่มาขนของ กับคนที่ได้ของเหล่านั้นไปใช้

7.สัตว์ที่ถูกเลี้ยงดูมา มันมีความผูกพันกับเจ้าของบ้างไม่มากก็น้อย การที่เราจะพรากมันมาขายก็เหมือนกับพ่อแม่ที่อุ้มชูเลี้ยงดูเรามา พาเราไปเดินเล่น หาอาหารให้เรา แล้วอยู่มาวันหนึ่งพอเราโตขึ้น ก็ขายเราให้กับคนอื่นเพื่อที่เขาจะได้เอาอวัยวะของเราไปใส่ให้ลูกค้าได้นำไปใช้ดำเนินชีวิตต่อไป การเบียดเบียนเพื่อต่อชีวิตเช่นนี้มีความดีงามอย่างไร?

8.เราสามารถหลีกเลี่ยงเนื้อสัตว์ได้ โดยที่สังคมยอมรับและเข้าใจ โดยมากจะยินดีด้วย มีส่วนน้อยที่ไม่เห็นดีด้วย เพราะการละเว้นเนื้อสัตว์เป็นความดีที่ชัดเจน คนติเตียนได้ยาก กระทั่งนักบวชก็มีกลุ่มที่ไม่ยินดีรับเนื้อสัตว์อยู่มากมายในประเทศไทย

9.ไม่มีบุญ(การชำระกิเลส) หรือกุศล(ความดีงาม) อะไรเกิดขึ้นมาจากการเบียดเบียน มีแต่การจองเวรจองกรรม ทำทุกข์ทับถมตนด้วยการเบียดเบียนสัตว์อื่น เป็นไปเพื่อความทุกข์ชั่วกาลนาน

10.บุญจะเกิดกับสัตว์นั้นก็ต่อเมื่อ สัตว์นั้นสละชีวิตของตนมอบให้ผู้อื่นด้วยความเต็มใจ เป็นการสละชีวิตเป็นทานให้ผู้อื่น บุญได้เกิดตั้งแต่ตอนที่สละแล้ว ไม่ใช่เกิดเพราะคนได้กินเนื้อมัน ไม่ว่าเนื้อที่สละจะถูกกินหรือทิ้ง บุญก็สำเร็จผลไปแล้ว ส่วนถ้าคนเอาเนื้อที่สละมากินเรียกว่าได้อานิสงส์ คือได้กุศลได้ประโยชน์เพิ่มขึ้น

11.พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทำบุญได้บาป เมื่อคนนั้นนำสัตว์ที่ถูกฆ่ามาถวายพระพุทธเจ้าและสาวกของท่าน คือไม่เกิดผลดีเลย มีแต่บาปและอกุศลเท่านั้นที่จะได้ไป (พระไตรปิฎกเล่ม ๑๓ “ชีวกสูตร” ข้อ ๖๐ )

…เราไม่จำเป็นต้องสร้างความจำเป็นใดๆ ในการไปกินเนื้อสัตว์เลย ถึงเราจะคิดหาเหตุผลดีๆมากมายร้อยแปดเพื่อมาสร้างความดีความชอบที่จะได้กินเนื้อสัตว์ แต่ความชั่วก็คือความชั่ว ความดีก็คือความดี การเบียดเบียนผู้อื่นโดยไม่จำเป็นเพื่ออ้างว่าไปทำดี ไม่มีในพจนานุกรมของคนดีที่แท้จริง คนที่ขโมยเงินคนอื่นไปทำบุญทำทานเป็นคนดีหรือ? คนที่โกงเงินคนอื่นแล้วเอาไปบริจาคเป็นคนดีหรือ? นี่ขนาดยังไม่ถึงชีวิตยังชั่วชัดเจนขนาดนี้ แล้วการที่เรายังเสพสุขอยู่บนความตายของผู้อื่นสิ่งนั้นจะชั่วขนาดไหน

เหตุผลข้ออ้างต่างๆ ที่จะปลอบใจว่าฉันเป็นคนดี ฉันกินเนื้อสัตว์แล้วไปทำดี มันเป็นคนละเรื่องกันกับความจริง ส่วนที่ทำดีก็คือสิ่งดี แต่ส่วนที่ไม่ดีนั้นไม่จำเป็นต้องทำเลย ศาสนาพุทธมีหลักโอวาทปาติโมกข์ ซึ่งเป็นหลักใหญ่ของผู้ศึกษาและปฏิบัติ คือให้หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส หมายถึงสิ่งชั่วที่ให้หยุดทำก่อนเลย อย่าเพิ่งเอาทำดีมาขึ้นก่อน เอาชั่วออกจากชีวิตก่อน แล้วค่อยทำดีก็ยังไม่สาย คนไม่ชั่วเลย นั้นดีกว่าคนดีที่ยังทำชั่วอยู่

หลวงปู่ชา สุภัทโท มีได้มีคำกล่าวไว้ว่า“การทำบุญ โจรมันก็ทำได้ มันเป็นปลายเหตุ การไม่กระทำบาป ทั้งหลายทั้งปวงนั้นนะ เป็นต้นเหตุ

ถ้าให้เลือกคบเพื่อนที่ไม่ทำชั่วเลยแม้น้อย แต่เขาก็ไม่ได้ทำดีอะไรชัดเจน กับคนดีที่พยายามเข้าวัดทำทาน ฟังธรรม ทำกิจกรรมเพื่อสังคม แต่ยังไม่เลิกเบียดเบียน ยังดูถูกคนอื่น ยังนินทาคนอื่น ยังเอาเปรียบคนอื่น จะเลือกคบแบบไหน คนหนึ่งไม่ชั่วแต่ก็ไม่ทำดี แต่อีกคนหนึ่งทำดีไม่หยุดชั่ว อยากเจอคนแบบไหนในชีวิต ก็ทำตัวแบบนั้นนั่นแหละ

ผู้ปฏิบัติอย่างถูกตรงในหลักคำสอนของพุทธศาสนานั้นประเสริฐกว่าที่กล่าวมา เพราะนอกจากหยุดชั่วทั้งหลายแล้ว ยังทำดีไม่หยุดหย่อน ทั้งยังมีจิตใจผ่องใสจากกิเลสทั้งปวงอีกด้วย ไม่ใช่ว่าทำชั่วแล้วเอาดีมากลบทับ อันนั้นยังไม่เข้าท่า ยังเฉโกอยู่ ยังเป็นความเห็นผิดที่เอาแต่หาเรื่องดีๆมาปลอบตนว่าฉันเป็นคนดีอยู่นั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

22.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,316 views 0

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

บทวิเคราะห์ : ชาวพุทธควรกินเนื้อที่เขาฆ่ามาหรือไม่?

เป็นข้อสงสัยกันมานานว่าแท้จริงแล้ว ชาวพุทธควรกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาหรือไม่ มีความเห็นที่แตกต่างกันมากมายในสังคม ทุกความเห็นล้วนฟังดูน่าเชื่อถือ แต่ความจริงที่สมควรทำตามหลักของศาสนาพุทธนั้นเป็นอย่างไร เราจะมาศึกษาจากบทความนี้กัน

ในบทความนี้จะไม่ลงไปในรายละเอียดของคำว่าบุญหรือบาป บรรลุธรรมหรือไม่บรรลุ ไม่กล่าวไปถึงเรื่องยิบย่อยในความเห็นต่างๆ แต่จะยกเพียงหลักใหญ่ๆของพุทธมาพิจารณาขอบเขตของกุศลและอกุศล คือจะชี้ชัดกันว่าสิ่งใดดี สิ่งใดชั่ว โดยจะยกพระสูตรอ้างอิงทั้งหมด 3 สูตร คือโอวาทปาติโมกข์, มหาปเทส และกาลามสูตร

ซึ่งคำถามว่าการที่ชาวพุทธนั้นจะไปกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นเรื่องสมควรไหม? มีผู้ให้ความเห็นกันมากมายทั้งผู้ที่มีชื่อเสียง มีผู้คนนับถือ ซึ่งความเห็นเหล่านั้นก็คือความเห็น และในบทความนี้เราจะมาวิเคราะห์เรื่องนี้จากคำตรัสของพระพุทธเจ้ากันดูว่า ความจริงนั้นควรจะเป็นเช่นไร

โอวาทปาติโมกข์

เป็นหลักใหญ่ของศาสนาพุทธ เป็นองค์รวมทั้งหมด ขึ้นต้นด้วยการหยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใส โดยลำดับ นั่นหมายถึงประการแรกท่านให้หยุดทำบาปหยุดทำชั่วทั้งหมด คือชั่วนี่ไม่ต้องทำเลย ทำแต่ความดี ไม่ใช่ชั่วบ้างดีบ้างนะ ทำครึ่งๆกลางๆ อันนั้นไม่พ้นทุกข์ ที่ถูกต้องไม่ควรมีบาปเลยแม้น้อย

จะหยิบยกข้อต่อมาคือ “ผู้ที่ทำสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะเลย”สมณะนั้นหมายถึงผู้สงบจากกิเลส คำว่าสมณะในพุทธศาสนาหมายถึงพระอริยะ ซึ่งหมายความว่าผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้นั้นย่อมไม่ทำให้สัตว์ใดลำบากเลย ผู้ที่ยังมีส่วนร่วมในการทำให้สัตว์อื่นต้องได้รับความลำบากอยู่ ย่อมไม่ชื่อว่าเป็นผู้สงบเช่นนั้นเอง

และข้อสุดท้ายที่จะยกมาคือ “ความเป็นผู้รู้ประมาณในการบริโภค”พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสให้สาวกจงกินไม่เลือก เห็นเป็นแค่การกิน สักแต่ว่ากินโดยไม่พิจารณาใดๆเลย แต่ท่านให้ประมาณในการกิน ให้รู้ว่ากินสิ่งใดแล้วเกิดกุศล ไม่เป็นโทษ ทำให้เกิดความเจริญ ทำให้หลุดพ้นจากทุกข์ ซึ่งในที่นี้จะกล่าวแต่ในอาหารที่กินเพื่อเลี้ยงร่างกายเท่านั้น อาหารอื่นๆจะยกไว้

พระพุทธเจ้าและสาวกเป็นตัวอย่างของการเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ เช่นในกรณีของสุกรมัทวะ อาหารมื้อสุดท้ายของท่าน ซึ่งจำเป็นต้องใช้สุกรมัทวะนี่เองเป็นตัวทำให้เกิดสิ่งที่ท่านประสงค์ ท่านจึงรับสุกรมัทวะนั้นไว้แต่ผู้เดียว และที่เหลือให้นำไปทิ้งอย่าให้สาวกอื่นได้ฉัน เพราะมันมีโทษ แต่ท่านจำเป็นต้องใช้โทษนั้นเพื่อประโยชน์ของท่าน มันมีความซ้อนในเหตุปัจจัย ดังนั้นพุทธวิสัยจึงเป็นเรื่องอจินไตย ไม่ควรคิดเอาเอง ถ้าหมกมุ่นคิดจะเป็นบ้าได้ เพราะมันเกินวิสัยที่คนทั่วไปจะเข้าใจ ให้ทำความเข้าใจตามเหตุปัจจัยที่เกิดขึ้นจริงเท่านั้น หรือตัวอย่างของพระสารีบุตร ในช่วงที่ท่านป่วย แม้ท่านจะได้รับยาแก้โรคนั้นมา แต่ท่านก็เห็นว่าควรจะเทยานั้นทิ้ง เห็นไหมว่าท่านไม่ได้ฉันทุกอย่างที่รับมา ท่านประมาณกุศลของท่าน เพราะท่านมีปัญญาเห็นว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ท่านเลยไม่เอาสิ่งเหล่านั้นเท่านั้นเอง ถ้าใครจะเอ่ยอ้างว่า กินไม่เลือก กินโดยไม่พิจารณา คงจะไม่ใช่หลักปฏิบัติของพุทธแน่นอน

มหาปเทส

เป็นพระสูตรที่เอาไว้ใช้สำหรับตัดสินว่าสิ่งใดควร สิ่งใดไม่ควร ด้วยการเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัย จึงทำให้มีหลายสิ่งสูญหาย บางสิ่งเกิดขึ้นมาใหม่ ทั้งที่ไม่ตรงกับที่บัญญัติไว้บ้าง คาดเคลื่อนบ้าง เราจึงจะใช้หลักการนี้ตรวจสอบความถูกต้องของความเห็นนั้นๆว่าเป็นไปในทางพ้นทุกข์หรือไม่

และสูตรนี้เหมาะกับกลียุคเช่นนี้เป็นอย่างยิ่ง เพราะมีการตีความบัญญัติต่างๆให้เป็นไปในทางที่เอื้อต่อการที่กิเลสจะเติบโต มีการเลี่ยงบาลี หาช่องว่าง เช่นไม่ได้ตรัสไว้บ้าง ไม่มีระบุไว้บ้าง แปลความให้ผิดเพี้ยนบ้าง เป็นต้น พระสูตรนี้จึงเข้ามาอุดรอยรั่วเหล่านั้นได้สมบูรณ์ เว้นเสียแต่กิเลสนั้นไม่ยอมที่จะอุดรอยรั่วนั้น

ความตอนหนึ่งกล่าวว่า “สิ่งใดไม่ห้ามว่า ไม่ควร แต่สิ่งนั้นเข้ากับสิ่งไม่ควร ขัดกับสิ่งที่ควร สิ่งนั้นจึงไม่ควร” พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่า ไม่ควรกินเนื้อสัตว์ แต่ “เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา” นั้นมีเงื่อนไขที่เพิ่มเข้ามา เป็นอีกกรณีหนึ่ง คือมีการฆ่าซึ่งผิดหลักของพุทธอยู่ในนั้น การที่เราไปสนับสนุนเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นย่อมส่งผลตรงต่อความไม่ควร คือไปสนับสนุนให้เขาฆ่า เอาเงินเอาความหลงผิดให้เขาเป็นแรงผลักดันในการฆ่าต่อ จึงเป็นสิ่งไม่ควร ซึ่งขัดกับหลักของพุทธที่ว่าเมื่อตนเองตั้งอยู่ในศีลในธรรมได้แล้ว ก็ควรจะชักชวนคนอื่นให้อยู่ในศีลธรรมนั้นด้วย การสนับสนุนเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาจึงเป็นความขัดแย้งต่อกุศลของเขา ขัดกับสิ่งที่ควร ดังนั้นจึงสรุปว่า “การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควร

กาลามสูตร (เกสปุตตสูตร)

ในพระสูตรนี้เป็นสูตรที่จะใช้เพื่อทำความเห็นให้เป็นกลาง มองความจริงตามความเป็นจริง โดยใช้ปัญญาเข้าถึงการปฏิบัตินั้นๆจนรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ โดยไม่ให้รีบปักใจเชื่อ หรือยึดมั่นถือมั่นในคำกล่าวของใครต่อใครแม้คนผู้นั้นจะเป็นพระพุทธเจ้าก็ตามที

ในการวิเคราะห์พระสูตรนี้จะยกข้อความในพระไตรปิฎกเข้ามาประกอบในการอ้างอิง เพื่อความเป็นสากล เข้าใจตรงกันในหมู่ชาวพุทธ

๑.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย เราได้กล่าวคำใดไว้ว่า ดูกรกาลามชนทั้งหลาย มาเถอะท่านทั้งหลาย ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา … อย่าได้ยึดถือโดยนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา เมื่อใด ท่านทั้งหลายพึงรู้ด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ท่านผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว เป็นไปเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ เพื่อทุกข์เมื่อนั้น ท่านทั้งหลายควรละธรรมเหล่านั้นเสีย “

* * * ประการแรก ให้ตัดความสำคัญของแหล่งข้อมูลเสียก่อน เพราะมันจะหลอกเราได้ แต่ต้องรู้ว่าสิ่งใดเป็นอกุศล มีโทษ มีคนติเตียน ทำแล้วไม่เป็นประโยชน์ …กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันเป็นสิ่งดีไหม มีผลเสียไหม มันเบียดเบียนไหม ทุกวันนี้ยังมีคนติอยู่ไหม เป็นประโยชน์ยังไง

ในสมัยพุทธกาล มีหลักฐานอ้างอิงอย่างน้อยสองครั้งที่พระพุทธเจ้าโดนกลุ่มที่คิดต่างประณามว่า ท่านกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา เขาเหล่านั้นโพนทะนาไปทั่วเมือง เพื่อทำลายความน่าเชื่อถือ จนหมอชีวกไปถามพระพุทธเจ้าว่าจริงไหม ท่านก็ตอบว่า “เราถูกกล่าวตู่” ซึ่งท่านจะกินเนื้อนั้นโดยมีเงื่อนไขที่ค่อนข้างรัดกุมมาก คือไม่เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้รังเกียจ ในกรณีเนื้อที่ไม่ได้ฆ่ามาจะยกไว้ก่อนไม่กล่าวในบทความนี้ แต่เนื้อที่ถูกฆ่ามานั้นย่อมเป็นไปไม่ได้ที่ท่านจะฉัน เพราะท่านตรัสไว้ชัดเจนว่า ผู้ประพฤติธรรมในศาสนาของท่านย่อมรังเกียจการฆ่า การผิดศีล การเบียดเบียน ย่อมไม่ทำเช่นนั้นหรือร่วมวงบาปกรรมนั้นด้วยเช่นกัน

ในอีกนัยหนึ่ง การที่กลุ่มที่เห็นต่างและต้องการทำลายความน่าเชื่อถือของพระพุทธเจ้าออกมาประณามท่านว่ากินเนื้อสัตว์นั้น เป็นตัวยืนยันชัดอยู่แล้วว่าท่านไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะถ้าท่านกิน จะประณามทำไมให้เสียเวลา ถ้าคนเขารู้ว่าท่านกินก็คงจะเป็นเรื่องปกติ แต่อันนี้มันไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องที่เขาจ้องจับผิดหาเรื่องมานาน แต่หาหลักฐานไม่ได้สักที พอมีหลักฐานนิดๆหน่อยๆก็ป่าวประกาศเลย ทั้งๆที่จริงท่านจะกินหรือไม่กินก็ไม่มีใครรู้ ดังนั้นจึงสรุปว่า การกินเนื้อจึงไม่ใช่เรื่องปกติของท่าน

ให้สังเกตว่าสมัยพุทธกาล คนที่กินเนื้อจะโดนประณาม แต่ในสมัยปัจจุบันกลับเป็นเรื่องที่ตีกลับแบบหน้ามือเป็นหลังมือ กลายเป็นสมัยนี้ใครกินเนื้อเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆเขาก็ทำกัน แต่ถ้าใครลุกขึ้นมาประกาศว่าชาวพุทธไม่ควรกินเนื้อ คนนั้นจะโดนประณามทันที เรื่องนี้ก็น่าคิด…

๒.”พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ท่านทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความไม่หลง เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อสิ่งไม่เป็นประโยชน์ ฯ

กา. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรกาลามชนทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ไม่หลง ไม่ถูกความหลงครอบงำ

มีจิตไม่ถูกความหลงกลุ้มรุมนี้ ย่อมไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่คบชู้ ไม่พูดเท็จสิ่งใดย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อความสุข สิ้นกาลนาน บุคคลผู้ไม่หลง ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น ฯ

กา. จริงอย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ”

* * * ประการที่สองคนผู้ไม่หลงย่อมชักชวนให้ผู้อื่นตั้งตนอยู่ในศีล แล้วคนที่ทำไม่รู้ร้อนรู้หนาว ไม่สนใจใยดีทั้งๆที่ผู้อื่นยังทำผิดศีล ก็ยังสนับสนุนอยู่ เรียกว่าชักชวนให้ผู้อื่นเป็นอย่างนั้นหรือ … ไม่ใช่อยู่แล้ว เพราะคนที่หลงย่อมไม่สามารถชักชวนคนให้มีศีลได้ ไม่สามารถเอื้อให้คนมีศีลได้ ไม่สามารถสร้างชุมชนหรือสังคมให้มีศีลได้ เพราะถ้าเขามีศีลแล้วใครจะฆ่ามาให้กิน??

๓. “ดูกรกาลามชนทั้งหลาย อริยสาวกนั้น ปราศจากความโลภ ปราศจากความพยาบาท ไม่หลงแล้วอย่างนี้ มีสัมปชัญญะ มีสติมั่นคง มีใจประกอบด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔ ก็เหมือนกัน ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกข์เหล่า ในที่ทุกสถาน ด้วยใจอันประกอบด้วยเมตตาอันไพบูลย์ ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ มีใจประกอบด้วยกรุณา … มีใจประกอบด้วยมุทิตา … มีใจประกอบด้วยอุเบกขาแผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ทิศที่ ๓ ทิศที่ ๔”

* * * ประการที่สาม สรุปกันตรงๆเลยพระอริยะไม่มีความเบียดเบียน ผู้ที่จะเป็นพระอริยะได้ย่อมไม่ดำรงอยู่อย่างเบียดเบียน เพราะเป็นอกุศลด้วย มีคนถือสาด้วย วกกลับไปติดอยู่ในประการแรก ที่สำคัญการส่งเสริมเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานี่มันคือการเมตตากรุณาต่อใครกัน? การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นเป็นความเมตตาไปทั่วทิศแก่สัตว์ทุกเหล่าเช่นนั้นหรือ? สัตว์จะยินดีในความเมตตากรุณาเช่นนั้นหรือ? ก็คงมีแต่คนที่หลงผิดเท่านั้นที่เข้าใจว่าสัตว์เหล่านั้นยินดีที่ได้ถูกฆ่าเพื่อกิน

….ทั้งหมดนี้เป็นเพียงเรื่องกุศล อกุศล เรื่องดีและเรื่องชั่วเท่านั้น การใช้ปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมนั้นแยกแยะดีชั่วเป็นพื้นฐานของความเจริญ สิ่งดีให้เข้าถึง สิ่งชั่วให้ละเว้น

สมัยก่อนนี้ไม่ได้มีพระไตรปิฎก สาวกแต่ละท่านมีโอกาสฟังธรรมของพระพุทธเจ้าไม่มากนัก อาจจะไม่ได้หลากหลายเท่าในปัจจุบันอย่างเราด้วย ซึ่งอาจจะทำให้ตกหล่นในบางเรื่องบางตอนไม่ได้รับรู้หลักเกณฑ์ระบุไว้แน่ชัดว่าสิ่งใดผิดสิ่งใดถูก แต่ท่านเหล่านั้นก็ได้ใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาลงไปว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ เป็นกุศล หรือสิ่งใดเป็นโทษ เป็นอกุศล ด้วยความเห็นที่มองโลกตามความเป็นจริง ไม่ใช่สิ่งที่ตนเองอยากให้เป็น

เรื่องกุศลกับอกุศล คนที่หลงจะแยกไม่ออก เขาจะแยกดีแยกชั่วไม่ได้ จะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว ตีทิ้งกุศล กอดเก็บอกุศล จนบางครั้งถึงกับประณามสิ่งที่เป็นกุศล แล้วโอ้อวดความเห็นผิดของตนด้วยก็มี ความหลงนี่มันหลงได้ลึกและอันตรายตั้งแต่หลงในธรรม จนกระทั่งหลงว่าตนเองบรรลุธรรม และสิ่งเดียวที่จะชี้ชัดความจริงได้ มีเพียงแค่กุศล และอกุศล เป็นเรื่องสามัญของโลกที่เข้าใจกันโดยทั่วไปว่าสิ่งนั้นดี สิ่งนั้นไม่ดี เป็นเพียงแค่สมมุติสัจจะที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องถึงขั้นปรมัตถสัจจะ ศาสนาพุทธไม่ได้ทิ้งสมมุติสัจจะ พระพุทธเจ้าท่านยังอนุโลมให้กับเรื่องบางเหตุการณ์ที่ผู้คนเขาถือสา ผู้คนเขาติเตียนมาเป็นข้อปฏิบัติและวินัยต่างๆ

ดังนั้นจะสรุปข้อธรรมทั้งหมดลงมาเพียงแค่ว่า “แยกดี แยกชั่ว” ให้ได้ก่อน แล้วสิ่งไหนดีให้เข้าถึงสิ่งนั้น และสิ่งไหนชั่วก็ให้ออกจากสิ่งนั้น ซึ่งเป็นข้อสรุปของกาลามสูตรในกรณีข้อมูลมีความขัดแย้ง สับสนในเนื้อหาและความหมายต่างๆ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

July 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,299 views 11

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์

มังสวิรัติกับพระพุทธศาสนานั้นเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันมานานแสนนานว่า พระพุทธเจ้าท่านกินเนื้อสัตว์หรือไม่? ในบทความนี้ไม่มีหลักฐานทางวิชาการใดๆที่จะมาแสดง มีเพียงผลของการปฏิบัติตามแนวทางของพระพุทธศาสนาที่จะมายืนยันกันว่า พระพุทธเจ้าท่านไม่กินเนื้อสัตว์

พระพุทธเจ้าไม่ได้บัญญัติว่าสาวกห้ามกินเนื้อสัตว์ แต่มีข้อแม้มากมายในการได้กินเนื้อสัตว์นั้นๆ เช่นเนื้อสัตว์ที่ห้ามกินอย่างเด็ดขาดสิบอย่างในมังสัง ๑๐ คือห้ามกินเนื้อ มนุษย์ ช้าง ม้า สุนัข งู สิงโต เสือโคร่ง เสือเหลือง หมี เสือดาว หรือแม้แต่เนื้อสัตว์ที่เขาลากมา บังคับมา แล้วก็ฆ่ามา เป็นเนื้อที่มีบาป เป็นเนื้อสัตว์นอกพุทธ ดังนั้นจึงไม่ควรกินอยู่แล้ว อีกทั้งบัญญัติว่าสามารถกินเนื้อที่ไม่เห็นว่าเขาฆ่ามา ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา ในข้อไม่รังเกียจนี้เองเป็นตัววัดหิริโอตตัปปะ เพราะเนื้อสัตว์ที่ถูกเบียดเบียนมาย่อมไม่เป็นที่น่ายินดีในหมู่สาวก เนื้อสัตว์ที่ได้มานั้นย่อมเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ

ซึ่งในทุกวันนี้เรียกได้ว่ายากนักที่จะหาเนื้อสัตว์ที่ไม่มีบาปบน เพราะเนื้อสัตว์ที่ขายอยู่ก็มีแต่เนื้อที่เขาฆ่ามาทั้งนั้น ใครๆก็รู้ว่ามันไม่ได้ตายเอง เขาเพาะเลี้ยงมา เขาจับมา เขาฆ่ามา แล้วเขาก็เอามาขายเรา เมื่อเรารู้ดังนี้ย่อมไม่ยินดีส่งเสริมให้เขาทำอาชีพที่เป็นบาปเหล่านั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ถึงการค้าขายที่ชาวพุทธไม่ควรทำ มีสองข้อที่เกี่ยวกันคือ ห้ามค้าขายชีวิต และห้ามค้าขายเนื้อสัตว์ นั่นหมายความว่าหากฝืนทำก็ไม่ใช่พุทธ เพราะพุทธไม่ส่งเสริมให้เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม

ในบทโอวาทปาติโมกข์ยังได้กล่าวว่า ผู้เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่เรียกว่าเป็นสมณะเลย สมณะนั้นคือผู้สงบจากกิเลส เป็นสงฆ์สาวกของพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เรารู้ในใจกันดีอยู่แล้วว่าการไม่กินเนื้อสัตว์คือการไม่มีส่วนในการเบียดเบียนสัตว์นั้น การยังกินเนื้อสัตว์อยู่เป็นการเบียดเบียนกันอย่างตรงไปตรงมา เพียงแต่เราไม่คิดจะสนใจที่ไปที่มาของเนื้อสัตว์เหล่านั้นเท่านั้นเอง

ถ้าหากเรายังยืนยันว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่สมควรแล้วล่ะก็ ความเห็นของเราก็จะไปขัดกับพระสูตรต่างๆอยู่เสมอ เช่น พระพุทธเจ้าตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น แต่คนที่หลงว่าเนื้อสัตว์เป็นคุณค่าก็จะกินเนื้อสัตว์โดยหวังให้ร่างกายแข็งแรง ซึ่งขัดกับสัจจะของพระพุทธเจ้าโดยสิ้นเชิง ถ้าท่านตรัสแนวทางปฏิบัติไปสู่การพ้นทุกข์ ผู้ที่เห็นต่างจากพระพุทธเจ้าก็มีความเห็นที่ดำเนินไปสู่ความเป็นทุกข์เท่านั้นเอง

ความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม

ผมเองเป็นคนหนึ่งที่ใช้หลักปฏิบัติของพระพุทธศาสนาเข้ามากำจัดความอยาก จากคนที่เคยหลงใหลชอบใจในรสของเนื้อสัตว์ เคยยึดมั่น เคยผูกพัน แต่ก็สามารถใช้กระบวนการของพุทธเข้ามากำจัดความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นได้

เมื่อหมดความอยากกินเนื้อสัตว์ ก็ไม่รู้สึกว่าเนื้อสัตว์มีคุณค่าแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องไปกินให้เมื่อย ไม่ต้องเบียดเบียนสร้างกรรมชั่วให้ต้องลำบากรับการมีโรคมากและอายุสั้นในภายหลัง ไม่ต้องคอยคิดปั้นแต่งเหตุผลใดๆที่จะทำให้การกินเนื้อสัตว์นั้นดูเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ไม่ต้องผูกภพผูกชาติกับเนื้อสัตว์ ไม่ต้องเป็นทาสเนื้อสัตว์อีกต่อไป

และยังมีปัญญารู้อีกด้วยว่า การกินเนื้อสัตว์ เป็นโทษ ทุกข์ ภัย ผลเสียอย่างไร มีปัญญาที่จะหลีกเลี่ยงละเว้น และอนุโลมบ้าง โดยไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆ ให้ใจต้องเป็นทุกข์จากความอยากและไม่อยาก ไม่มีทั้งความทั้งความอยากกินเนื้อสัตว์ และไม่อยากกินเนื้อสัตว์ ไม่ใยดี ไม่สนใจ ไม่ให้คุณค่า มีเพียงประโยชน์และโทษตามความเป็นจริง โดยรวมเนื้อสัตว์ส่วนใหญ่นั้นเป็นโทษอยู่แล้ว เราจึงไม่เอาสิ่งที่เป็นโทษนั้นเขามาใส่ตัวด้วยใจที่เป็นสุข

นี่คือผลที่ปฏิบัติมาด้วยการชำระล้างความอยากกินเนื้อสัตว์ให้หมดไปจากจิตวิญญาณ ถือเป็นกิเลสระดับที่ไม่ยากไม่ลำบากนัก สาวกระดับกระจอกๆอย่างผมยังทำได้ แล้วผู้ที่มีบุญบารมีมากกว่าจะไม่ได้หรืออย่างไร แล้วพระพุทธเจ้าผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งจะขนาดไหน ท่านรู้ทุกอย่างในโลก ท่านรู้ที่มาที่ไปของทุกเหตุปัจจัย ขนาดผมไม่รู้ถึงขนาดท่านก็ยังรู้เลยว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่ไม่ควรบริโภค เพราะค่าโดยรวมแล้วมีโทษมากกว่าประโยชน์ เรียกว่าได้รสสุขนิดหน่อย แต่เก็บสะสมอกุศลกรรมสร้างทุกข์ไปอีกนานแสนนาน

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ปัญญาที่จะรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดเป็นสาระแท้ สิ่งใดเป็นสิ่งลวง เมื่อเราเห็นความจริงตามความเป็นจริงแล้วว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ เราก็ไม่ควรจะเอาโทษนั้นมาใส่ตัว หากว่าเราไม่มีกิเลส ก็คงจะไม่มีแรงต้านมากนัก แต่หากกิเลสมาก ก็คงจะคิดหาวิธีที่จะให้ได้เสพเนื้อสัตว์โดยไม่ต้องรู้สึกผิดหรือถูกกล่าวหาใดๆ

แม้แต่การกล่าวหาว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ ก็ไม่สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นเหล่านี้ได้เลย ไม่มีหลักฐานชี้ชัดใดๆเลยสักอย่างเดียว เรื่องราวทั้งหมดนั้นผ่านมากว่าสองพันห้าร้อยปีแล้ว สิ่งที่เหลือไว้มีเพียงคำสั่งสอนให้เพียรปฏิบัติจนเกิดปัญญารู้ขึ้นเอง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ควรเชื่อแต่แรก แต่ควรพิสูจน์ให้เห็นด้วยปัญญาของตนเองว่าเนื้อสัตว์นั้นควรละเว้นหรือควรบริโภค

ผู้ที่ศรัทธาในพระพุทธศาสนานั้นก็มีมากมายหลากหลาย มีอินทรีย์พละต่างกัน ผู้ที่สามารถตัดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็มี ผู้ที่ยังหลงเมามายอยู่กับรสของเนื้อสัตว์ก็มี แต่หากมุ่งปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ก็เป็นสาวกในพระพุทธศาสนาทั้งนั้น แม้ว่าจะยังไม่สามารถละเว้นการเบียดเบียนทั้งหมดได้ แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ทิ้งคนเหล่านั้น เพราะพวกเขายังมีความดี ยังมีทิศทางในการลดละกิเลสอยู่ จึงไม่มีบัญญัติใดๆที่ระบุว่าห้ามกินเนื้อสัตว์อย่างชัดเจน มีเพียงข้อแม้ต่างๆตามที่ได้ระบุไว้ดังที่ยกตัวอย่างบางส่วนมาก่อนหน้านี้

คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็จะหาช่องว่างในเนื้อหาและตัวอักษรเหล่านั้นให้ตัวเองได้กินเนื้อสัตว์ ส่วนคนที่ปฏิบัติจนลดและทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ก็จะไม่สงสัยใดๆอีกว่าควรจะกินเนื้อสัตว์หรือไม่กิน

การเลือกกินเนื้อสัตว์เป็นเจตนา ซึ่งเป็นกรรมของแต่ละคน ดังนั้นจึงควรพิจารณาอาหารเสียก่อนว่าเราควรจะทำกรรมนี้หรือเราจะเลี่ยงกรรมนี้ หากมีผักและเนื้อสัตว์อยู่ตรงหน้า เราจะเลือกเขี่ยสิ่งใดออก เราจะเลือกนำสิ่งใดเข้าปากเรา เราจึงควรใช้ปัญญาของเราพิจารณาให้เห็นความจริงตามความเป็นจริง ให้เห็นประโยชน์และโทษของมัน ควรเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ เข้าถึงสิ่งที่มีประโยชน์ จึงจะพบกับความผาสุก

ตราบใดที่เรายังกำจัดความหลงในเนื้อสัตว์ไม่ได้ เนื้อสัตว์เหล่านั้นก็จะยังคงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าในชีวิตเรา มีอิทธิพลต่อเรา เป็นตัวกำหนดทุกข์และสุขของเรา เป็นเจ้านายของเรา เพราะเราไปยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้นจนเป็นเหตุให้ต้องทุกข์เมื่อไม่ได้เสพ เป็นสุขเมื่อได้เสพ วนเวียนอยู่ในสุขทุกข์แบบโลกๆอย่างไม่มีวันจบสิ้นเพราะเป็นทาสเนื้อสัตว์

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :ข้อสรุปจากบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง :กรณีการโต้แย้งต่างๆในบทความ “พระพุทธเจ้าไม่ฉันเนื้อสัตว์ จากความเห็นความเข้าใจจากผลการปฏิบัติธรรม”

– – – – – – – – – – – – – – –

13.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

โอวาทปาติโมกข์ ๓

March 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,121 views 0

โอวาทปาติโมกข์ ๓

๑. ไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. ทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. ทำจิตใจให้ผ่องใส

– – – – – – – – – – – – – – – –
๑). การไม่ทำบาปนั้นหมายถึงการไม่ส่งเสริมและไม่สนองตามกิเลสใดๆเลย เพราะ “บาป” นั้นเองคือการสะสมกิเลส ซึ่งตรงข้ามกับ “บุญ” ที่หมายถึงการชำระกิเลส

๒). การทำกุศลนั้นหมายถึงการทำความดี ทำสิ่งดีที่ ตรงข้ามกับการทำอกุศลคือการทำสิ่งที่ชั่ว แน่นอนว่าเมื่อเราไม่ทำบาป ไม่ทำตามกิเลสแล้ว เรายังต้องทำสิ่งที่ดีอีกด้วย ไม่ใช่ว่าไม่ทำชั่วแล้วไม่ทำสิ่งดีอะไรเลย

๓). การทำจิตใจให้ผ่องใส ให้ขาวรอบ ไม่มีความขุ่นมัว ไม่มีกิเลสปน ซึ่งหมายถึงการชำระกิเลสซึ่งเป็นที่ทำให้เกิคความเศร้าหมองและเป็นสิ่งไม่จำเป็นในชีวิตให้หมดไปจากใจ

….เกิดมาเป็นมนุษย์ ทั้งชีวิตทำได้แค่ 3 อย่างนี้ก็เป็นยอดมนุษย์แล้ว