Tag: กามภพ

ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

December 14, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 652 views 0

ถาม : ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

ตอบ : กำจัดกิเลส

ขยายเพิ่ม…

กำจัดความหลงที่พาให้อยากไปมีคู่

ขยายเพิ่มอีก…

ความอยากไปมีคู่นั้นคือ “ตัณหา” คืออาการแส่หา แสวงหาสิ่งที่อยากได้อยากเสพ เพราะหลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี ที่ควรได้ น่าเสพ มีประโยชน์ ฯลฯ ความหลงคือ “โมหะ” ความยึดคือ “อุปาทาน” ที่คนอยากไปมีคู่เพราะยึดในความหลงสุขจนปล่อยตัวปล่อยใจไปแสวงหาคู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องกำจัดคือความหลง แต่จะไปกำจัดความหลงตั้งแต่แรกไม่ได้ เพราะมันอยู่ลึก เราต้องเริ่มจากตื้นคือจัดการกับตัณหาเสียก่อน คุมทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ปาก ร่างกาย และใจ ไม่ให้ไหลไปตามความอยากเสียก่อน แล้วตั้งสติกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น แล้ววิจัยอาการนั้น ๆ ว่าเกิดจากการที่เราอยากเสพสิ่งใด เราถึงมีใจพุ่งไปเช่นนั้น จับอาการนั้นได้ เหมือนจับโจรได้ แต่ต้องลงโทษโจรให้เด็ดขาด สรุปคือต้องชัดก่อนว่าที่อยากมีคู่นั้นอยากได้อยากเสพเรื่องอะไร แต่ละคนจะมีเรื่องที่ติดไม่เหมือนกัน ต้องแจกแจงกิเลสในตัวเองให้ละเอียดจึงจะสามารถ ดำเนินการต่อในขั้นกำจัดได้ ในขั้นกำจัดนั้น ต้องอาศัยธรรมะจากผู้รู้ จากพระพุทธเจ้า จากครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่แค่แปะป้ายว่าอรหันต์ ต้องมีสภาวะจริง จึงจะได้ความรู้มาเพื่อพิจารณาล้างกิเลสในตน คือใช้ธรรมะ ล้างอธรรม จิตมันเบี้ยว มันหลงตรงไหน ใช้ธรรมะดัดให้ตรง ตัดให้ตรง เติมให้ตรง ทิฏฐิที่ผิดในความอยากมีคู่จะมีทั้งเกินและพร่อง ธรรมะของครูบาอาจารย์จะเป็นตัวเทียบว่าตนเองนั้นเกินหรือพร่อง นำมาพิจารณาเอาสิ่งที่หลงขาดหลงเกินออก จนได้เท่าครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านนั้นเป็นของจริง จะหมดความอยากมีคู่ได้จริง แต่ถ้าไม่ใช่ของจริง จะติดเพดานกิเลสของอาจารย์ท่านนั้น ๆ จะไม่สามารถไปไกลกว่าสภาวะจริงของท่านนั้น ๆ ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องเริ่มจากการพบสัตบุรุษหรือคนที่พาพ้นทุกข์ได้จริงเท่านั้น

ขยายละเอียดหน่อย…

ในภาคปฏิบัตินั้น เบื้องต้นคือการสำรวมอินทรีย์ ในส่วนของศีลหรือข้อปฏิบัตินั้นเราได้มาแล้ว คือตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสด มีศีลแล้วก็สำรวมตนอยู่ในศีล ตรงนี้จะไม่เหมือนที่เขาเป็นโสดหรือไม่อยากมีคู่กันโดยทั่วไป เพราะคนไม่อยากมีคู่ทั่วไปมักจะมีเงื่อนไขในการมีหรือไม่อยากมี เช่น ไม่อยากมีคู่หน้าตาไม่ดี ไม่อยากมีคู่ไม่รวย อันนี้มันเป็นกำแพงกิเลส ไม่ใช่กำแพงธรรม ในส่วนของนักปฏิบัติธรรม จะเรียกว่า ทำตนให้ยินดีพอใจในการอยู่เป็นโสด ไม่ยินดีในการหมกมุ่นกับเรื่องคู่ครองอันเป็นเรื่องน่าเศร้าหมอง

เมื่อเราตั้งใจสำรวมกาย วาจาและใจของเราแล้ว ธรรมชาติของกิเลสก็จะเกิดเป็นธรรมดา เราจะสามารถสังเกตอาการที่จะพุ่งออกไปเสพ อยากคุยด้วย อยากมองเขา ชอบที่จะคิดถึงเขา ฯลฯ หลาย ๆ อาการที่จะพุ่งออกไปเสพ แม้จะเป็นแค่ในใจก็ตาม เราก็จะจับอาการเหล่านั้นนั่นแหละ มาพิจารณาสาเหตุว่าเราหลงอะไรหนอ เราติดอะไรหนอ เราอยากได้อะไรหนอ

ติดมุมไหนก็ต้องแก้มุมนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีใครทำสารบัญกิเลสในความอยากมีคู่ เพราะถึงจะทำกระดาษก็คงไม่พอ เพราะกิเลสเป็นเรื่องหยุมหยิบ ซับซ้อน น่าปวดหัว มีมารยา ไม่เปิดเผยตามจริง ดังนั้น การที่จะพิจารณาอาการได้ชัดจะต้องมีสัญชาติญาณคนตรงว่าติดตรงไหน โดยปกติกิเลสมันจะปัดป้องให้มันเบี้ยวออกไป เพื่อที่จะไม่ได้จับตัวมันได้ อาการที่เกิดขึ้นคือความจริง แต่กิเลสจะสร้างความคิดขึ้นมาว่านั่นไม่ใช่บ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง โดยเบื้องต้นต้องหัดที่จะยอมรับความจริงก่อนว่าเราหลงมามากจริง ยอมรับความจริงว่ามันติด มันชั่ว มันทุกข์ อยากจะออกจากความหลงติดหลงยึดหลงผิดไปชั่วนั้น มันจะเบิกทางได้ง่ายขึ้น ถ้ามาปฏิบัติตนเป็นโสดแล้วไม่ยอมรับความจริงตามความเป็นจริงในแต่ละอาการที่เกิดขึ้น เรียกว่าปิดประตูบรรลุธรรมได้เลย เพราะนอกจากจับโจรไม่ได้แล้ว ยังโดนโจรหลอกปั่นหัวอีกด้วย

เมื่อเราซื่อตรงกับตนเอง พบว่าตนเองหลงติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่าเป็นสุข น่าได้น่าเสพ ตรงนี้เราก็กำหนดศีลเพิ่ม ว่าเราจะกำจัดความหลงตัวนี้ในหมวดความอยากมีคู่เพิ่ม เรียกว่าอธิศีล คือศีลที่มีความละเอียดในการกำจัดกิเลสมากขึ้น เหมือนลงรายละเอียดระดับจุดทศนิยม เป็นข้อย่อยของกิเลส ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติในการกำจัดกิเลส เราจะแจกแจงกิเลสไปเรื่อย ๆ จนลึกถึงขั้นโมหะ จนถึงตอนนั้นก็เรียกว่าจุดทศนิยมหลายหลักเลยเชียวล่ะ

เมื่อกำหนดศีลว่าจะกำจัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ความรู้ของเราถึงขีดจำกัดแล้ว ธรรมะที่ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ เริ่มจะไม่ตอบโจทย์ที่ความลึกระดับนี้ ก็ให้หมั่นเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อสอบถามเพิ่มในรายละเอียด เข้าหาหมู่มิตรดีที่มีพลังในการพาพ้นเรื่องความอยากมีคู่ แล้วสอบถามสนทนา จะได้เหลี่ยมมุมในการรับมือกับกิเลส พร้อมกับปัญญาในการโต้กลับ ในตอนนั้น ปัญญาของเรายังเป็นระดับของสุตมยปัญญา คือปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ในขั้นต่อไปคือการพัฒนาตนไปสู่ภาวนามยปัญญา คือปัญญาจากการที่ได้พัฒนาจิตจนเกิดผล

ปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ก็เหมือนกับหลาย ๆ คน ในสำนักปฏิบัติธรรม สำนักใดสำนักหนึ่ง ที่อาจจะพูดหรือเข้าใจคล้าย ๆ กัน เพราะได้ยินได้ฟังและเข้าใจมาเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความเวลาเขาเหล่านั้นกระทบกับทุกข์แล้วจะยังสามารถดำรงจิตได้ตามสิ่งที่เคยได้ยินมา แต่ถ้าเราพัฒนาจิตของเราได้จริง จนเกิดภาวนามยปัญญาคือสภาพที่ล้างกิเลสจนเกิดปัญญาในตน จะทำให้เราไม่หวั่นไหวแม้กระทบสิ่งยั่วยุยั่วยวนอยู่ นั่นเพราะมีปัญญาเห็นโทษชั่ว เห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเองแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินได้ฟัง

เมื่อได้ศึกษามาแล้วมาตรวจในจิตตนเอง จะพบว่าธรรมะกับกิเลสมันจะไม่ไปทางเดียวกัน กิเลสมันจะเถียงเอาอย่างมันท่าเดียว ฟังครูบาอาจารย์หรือหมู่มิตรดีมาเท่าไหร่ มันจะมีเงื่อนไข มีข้อแม้ มีแต่ว่า… เพื่อให้ได้มาเสพเสมอ นี่คืออาการดิ้นของกิเลสเมื่อเจอกับธรรมะ มันจะไม่ยอมสลายตัว มันไม่ยอมให้จิตเราเป็นเนื้อเดียวกับธรรมะ มันจะเป็นส่วนเกินของจิตอยู่เสมอ

ก็หมั่นพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงตามที่ได้ศึกษาตามครูบาอาจารย์และหมู่มิตรดีมา กิเลสจะถูกทำลายโดยลำดับ เพราะมีพลังสัมมาทิฏฐิ มาเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ความสงบลงโดยลำดับ คือสามารถดับ 3 ภพ ของกิเลสได้โดยลำดับ คือ ดับกามภพ ดับรูปภพ ดับอรูปภพ

การดับกามภพคือ ไม่ไปเสพกามในหมวดนั้น ๆ อีกแล้ว ในเรื่องการมีคู่ ผู้ที่ดับกามภพได้จะไม่ไปมีคู่อีกต่อไปแล้ว แต่ในใจลึก ๆ ยังมีความยินดีในการมีคู่อยู่ เรียกว่ารูปภพ คือรู้ว่าตนเองอยาก แต่ไม่ได้อยากระดับที่จะต้องไปมีคู่ จะมีการปรุงเพื่อเสพสุขอยู่บ้าง ก็เป็นภายในใจ ไม่เผยให้คนอื่นได้เห็น ในขั้นนี้ก็ยังมีความหลงผิดเหลือ แต่เหลือในระดับรูปภพ คือยังเห็นกิเลสปรุงอยู่ชัด ๆ แต่ยังกำจัดมันออกไปไม่ได้

เมื่อเจริญถึงขั้นดับรูปภพ จะเข้าสู่อรูปภพ กิเลสที่เหลือจะไม่เป็นรูปให้เห็นแล้ว ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ ขึ้นมาเป็นรูปชัด จะเหลือแต่อาการขุ่นข้อง หมองใจ หดหู่ ซึมเศร้า เห็นเขามีคู่ก็แอบฟู ๆ พอตนเองไม่มีก็ไม่สดชื่น ไม่สดใส ไม่เต็มใจ มันจะออกไปทางหมอง ๆ ไม่ใส ไม่ชัดเจนในความพ้นทุกข์ ในขั้นนี้จะมีอาการแล่บ ๆ ออกมาให้เห็นเป็นระยะอยู่ว่ายังไม่พ้น ซึ่งก็ตั้งศีลเพิ่มขึ้นไปอีก ละเอียดลงไปอีกว่าความหวั่นไหวแม้น้อยก็จะไม่มีเพื่อทำร้ายตนและผู้อื่น มันก็จะบีบกิเลสไปเรื่อย ๆ อาการจะชัดขึ้นเมื่อตั้งศีล สำรวมอินทรีย์ ก็ใช้วิธีเดิมในการปฏิบัติ ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนหมดโง่ พอหมดโง่ มันจะฉลาดเอง จะมีปัญญารู้เองว่าเคยโง่อะไร โง่แค่ไหน โง่อย่างไรมาก่อน ตัวพ้นทุกข์ คือปัญญาที่รู้แจ้งเท่าทันความโง่ในหมวดนั้น ๆ ทุกเหลี่ยมทุกมุม

เมื่อดับอรูปภพได้ จะไม่หวั่นไหวกับใครอีกต่อไปแล้ว แม้กระทบกับคนที่น่ารัก น่าเอามาเป็นคู่ที่สุดในโลกก็ตามที ในส่วนของการปฏิบัติ คือ ไม่เหลืองานในกิเลสเรื่องนี้ให้ทำอีกแล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตนเพื่อกำกัดความอยากมีคู่หมดแล้ว ก็เอากำลังกับธรรมะที่มีไปปฏิบัติเรื่องอื่น ๆ ที่หลงผิดต่อ

ที่เล่ามานี้ก็เป็นขั้นตอนโดยสรุปที่พยายามย่อให้สั้น ในรายละเอียดของการปฏิบัติ ก็ต้องเรียนรู้การตรวจสภาวธรรมข้ออื่น ๆ เช่น สติปัฎฐาน 4,เวทนา 108, อรูปฌาน 4 เพื่อใช้ในการตรวจสอบความหลงเหลือหลงโง่ในกิเลสเรื่องนั้น ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

14.12.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

July 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,919 views 1

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

อุปาทาน สมาทาน กรณีศึกษาการไม่กินเนื้อสัตว์

ในหนึ่งการกระทำอาจจะมีเหตุผลที่ต่างกันมากมาย การไม่กินเนื้อสัตว์ก็เช่นกัน แม้ดูเผินๆจะเหมือนว่าคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์หลายคนต่างก็เหมือนๆกัน แต่ในความเหมือนนั้นก็อาจจะมีลักษณะของจิตที่แตกต่างกัน ซึ่งก็อาจจะ ยึดบ้าง อาศัยบ้าง แล้วแต่ว่าผู้นั้นจะฝึกฝนจิตมามากน้อยเช่นไร

อุปาทานคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่น ในกรณีของการกินเนื้อสัตว์ก็มีทั้งผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์ และผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์ ในส่วนสมาทานคือสภาพของการยึดอาศัย ใช้เพียงแค่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ไม่ได้ยึดว่าต้องเป็นสิ่งใด โดยมีการพิจารณาประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นเป็นหลัก

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการกินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการกินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพยึดมั่นถือมั่นในจิตว่า คนจะต้องกินเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ผิด ใครๆเขาก็กินกัน เนื้อสัตว์มีคุณค่า ฯลฯ เป็นลักษณะของการยึดเพื่อเสพ วิธีตรวจดูความยึดมั่นถือมั่นก็ง่ายๆ เพียงลองละเว้นจากสิ่งเหล่านั้นสักช่วงเวลาหนึ่งอาจจะหนึ่งเดือน หนึ่งปี หรือหนึ่งชีวิต ถ้ามีความยึดมั่นถือมั่นก็จะมีอาการทุกข์เกิดขึ้น ที่มีความทุกข์นั้นเพราะเกิดจากการไม่ได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องได้เสพ กิเลสจะดิ้นทุรนทุรายและหาเหตุผลอันชอบธรรมเพื่อจะให้ได้กลับไปเสพเนื้อสัตว์เหล่านั้น

เมื่อเปรียบเทียบกับคนที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ ถึงเขาจะไม่กินตลอดชีวิตเขาก็จะไม่รู้สึกทุกข์ร้อนอะไร ไม่คิดถึง ไม่โหยหา ไม่กระวนกระวาย ไม่ต้องหาเหตุผลให้ไปกินเนื้อสัตว์ การที่ยังมีอาการทุกข์ในจิตนั้นเพราะไปหลงเสพ หลงติด หลงยึดในอะไรสักอย่างในเนื้อสัตว์

ความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากสิ่งที่ตนรัก พรากจากสิ่งที่ตนหวงแหน เมื่อเขายึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ดังนั้นแล้ว เขาย่อมไม่อยากพรากจากเนื้อสัตว์เหล่านั้น เขาจะไม่ยอมให้ธรรมะหรือความเห็นอื่นใดเข้ามาทำลายความยึดมั่นถือมั่นของเขา เขาจะยึดมันไว้เป็นสรณะ แม้ว่าเนื้อสัตว์เหล่านั้นจะเป็นเนื้อผิดศีลผิดธรรม เป็นเนื้อที่เขาฆ่ามา เป็นเนื้อสัตว์ที่ผิดไปจากหลักของการพ้นทุกข์ก็ตาม

เป็นลักษณะของการมีอุปาทานในเนื้อสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นที่ฝังลึกลงไปในจิตวิญญาณ ที่มักจะหาเหตุผลและสิ่งอ้างอิงต่างๆมาใช้เพื่อให้ตนได้เสพสิ่งที่ตนยึดมั่นถือมั่นโดยไม่ต้องรู้สึกผิดบาป ทั้งที่จริงแล้วเราไม่ควรคิดหาเหตุผลและข้ออ้างในการเบียดเบียนเลย เพราะความจริงนั้นมีปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปแล้วว่า แม้เราจะไม่เบียดเบียนสัตว์ก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติ แต่ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์จะไม่สามารถดำรงอยู่ได้ เพราะเขาเหล่านั้นจะทุกข์ทรมานจากความอยากเพราะสิ่งที่เขายึดมั่นถือมั่นนั้นเอง

ความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เป็นสภาพของการดูดดึงเข้าไปเสพสิ่งที่เป็นภัย ยังจมอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังหลงสุขลวงจากการได้เสพ เป็นทางโต่งไปในทางกามสุขลิกะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์( อุปาทานในการไม่กินเนื้อสัตว์ )

คือสภาพที่ยึดมั่นถือมั่นว่าการไม่กินเนื้อสัตว์นั้นดี เป็นสิ่งดีที่ควรจะทำ ใครไม่กินเนื้อดี ใครกินเนื้อไม่ดี โดยมักจะมีความกดดัน อึดอัด บังคับ ยัดเยียด ยกตกข่มท่านเข้าไปร่วมด้วย มักจะมีอาการรังเกียจเนื้อสัตว์และคนกินเนื้อสัตว์อยู่และไม่สามารถปล่อยวางความยึดดีเหล่านั้นได้จนมักเกิดอารมณ์ขุ่นมัวในจิตใจ

หากอยากลองทดสอบความยึดมั่นถือมั่นก็ให้ลองเข้าไปอยู่ในหมู่คนกินเนื้อสัตว์ อยู่ร่วมโต๊ะอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์ หรือกระทั่งลองกินเนื้อสัตว์ จะพบสภาพทุกข์ที่เกิดขึ้นในจิตใจที่เกิดจากการที่จิตมีอาการรังเกียจผลักไส เพราะยึดมั่นถือมั่นในการไม่กินเนื้อสัตว์แต่ถ้ามีอาการสุขเมื่อได้เสพเนื้อสัตว์แสดงว่ายังล้างกามไม่หมด ยังมีความดูดซ้อนในความผลักอยู่

การยึดมั่นถือมั่นในความดีจนตัวเองต้องทุกข์ทรมานด้วยความยึดดีนั้น เป็นการสร้างทุกข์ให้ตนเองเพราะมีอัตตา เป็นทางโต่งไปในด้านอัตตกิลิมถะ ไม่เป็นไปในทางสายกลาง

ผู้ที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นแต่ไม่กินเนื้อสัตว์( สมาทาน )

เป็นสภาพของการสมาทานหรือยึดอาศัย คืออาศัยสิ่งที่เป็นประโยชน์ละเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษ สิ่งใดเบียดเบียนก็ไม่เอา สิ่งใดมีประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นก็เอา ไม่มีความดูดดึงในเนื้อสัตว์ ไม่มีความอยากเข้าไปกิน และไม่มีอาการผลักไส หรือไม่อยากกิน แต่จะเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกายเป็นสำคัญ

การสมาทานหรือการยึดอาศัยนี้เอง คือจุดที่เป็นกลางที่สุด หรือที่เรียกกันว่าทางสายกลาง เป็นกลางบนกุศลสูงสุด ไม่ยึดชั่ว ไม่ยึดดี ไม่เสพกาม ไม่เมาอัตตา ไม่สุข ไม่ทุกข์ เป็นเพียงสภาวะที่จะอาศัยให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นเท่านั้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด

June 24, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,506 views 0

กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด

กิเลสสรรสร้าง ข้ออ้างเงื่อนไข ให้ไปมีคู่ ไม่รู้คุณโสด

………………………..

ถ้าในปัจจุบันเรายังโสด แต่ก็ยังไม่ตัดสินใจว่าจะโสดตลอดไป นั่นหมายความว่าเรายังเปิดประตูต้อนรับวิบากกรรมและเวรภัยทั้งหลายที่จะเข้ามาในชีวิตพร้อมตัวเวรตัวกรรม

แม้ว่าเราจะมี ”ความเห็นผิด” ว่า “โสดก็ได้มีคู่ก็ได้” เป็นความไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่แท้ที่จริงแล้วก็เป็นเพียงผู้ที่หลงวนอยู่ในกามภพ คือภพที่ยังมีความอยากเสพในปริมาณมากอยู่ กิเลสจะไม่ยอมให้เราปิดโอกาสที่จะได้เสพสิ่งนั้น แม้ว่าเราจะเป็นผู้โหยหาแสวงหาความรัก หรือเจ้าหญิงที่รอคอยเจ้าชายอยู่บนหอคอยอยู่อย่างเงียบๆก็ตาม การที่ยังมีข้ออ้างและเงื่อนไขให้ต้องสละโสดนั้นแหละคือกิเลส

ใช่ว่าคนที่ยังโสดจะโสดได้ตลอดไป เขาหรือเธออาจจะมีเงื่อนไขที่อยากเสพอะไรมากเป็นพิเศษ ดังเช่นประโยคที่ว่า “ถ้าหาดีกว่าอยู่คนเดียวไม่ได้ ไม่มีดีกว่า” สามารถตีความหมายได้สองมุมกว้างๆ ในมุมหนึ่งเป็นประโยคที่แสดงความกระหายในการเสพสุขที่มาก เรียกว่า “โลภ” ก็ว่าได้ เพราะเมื่อมีเงื่อนไขว่าต้องสุขกว่าตอนที่ฉันอยู่คนเดียว ใครบำเรอสุขนั้นได้ ฉันจะไปเป็นคู่ ถ้าไม่มีใครทำได้ฉันก็จะโสด นี้เองที่เรียกว่าไม่ยอมปิดโอกาสให้ตัวเอง ยังวนเวียนอยู่ในกามภพโดยมีเงื่อนไขมากมายเพื่อให้ได้เสพสุขอย่างที่ใจหมาย

เหมือนกับคนที่มีมาตรฐานในความต้องการสูง แม้ภาพลักษณ์จะดูสงบ ไม่โหยหาคู่ แต่กิเลสข้างในมันยังเรียกร้อง เสียงมันดังกึกก้อง อยากได้อยากเสพสุขที่ตนหวังไว้ แต่ก็ไม่มีสุขที่ว่านั้นมาให้เสพเสียที จึงทำได้แค่เพียงทำใจและยอมรับ จึงเกิดสภาพที่เหมือนจะยอมรับว่าโสดก็ได้ มีคู่ก็ได้ (ถ้าเจอคนที่ดีพอ หรือแปลตรงตัวว่าเจอคนที่มีศักยภาพในการบำเรอกิเลส)

ในอีกนัยหนึ่งก็คือการเล่นคำของผู้ที่ก้าวผ่านกามภพอย่างรู้แจ้ง คือรู้ดีกว่าไม่มีอะไรดีกว่าอยู่คนเดียวหรอก จึงแอบเผยความอยากโสดออกมาผ่านประโยคเหล่านั้น ในกรณีนี้เป็นไปได้ยาก เพราะถ้าจะให้พูด ก็คงจะใช้คำว่า “แล้วมันจะมีอะไรที่สุขกว่าความโสดอีก” แทนคำที่มีความหมายกำกวมที่อาจจะทำให้คนเข้าใจผิด

เพราะตามหลักฐานความรู้สู่ความพ้นทุกข์ที่มีปรากฏอยู่นั้น บุรุษผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้งก็ยังสรรเสริญความโสด “ผู้ตั้งใจประพฤติตนเป็นคนโสด เขารู้กันว่าเป็นบัณฑิต, ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเมถุน ย่อมเศร้าหมอง” ดังนั้นการที่ยังมีความเห็นว่าโสดก็ได้ มีคู่ก็ดีนั้น ย่อมไม่ใช่ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ ไม่ใช่วิสัยของบัณฑิต ไม่ใช่แนวทางของพุทธ ไม่เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญใดเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

24.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,683 views 0

ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก

เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมคือการทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงไม่ให้เหลือแม้แต่ซาก ไม่เหลือแม้ฝุ่นผงในจิตใจให้ต้องเกิดอาการระคายเคือง ขุ่นใจใดๆอีกต่อไป

แต่การปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นส่วนๆ มีขอบเขตในการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเราจะใช้ศีลเป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบที่จะปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นการลดเนื้อกินผัก เรามุ่งเป้าที่จะลดเนื้อเท่ากับศูนย์และผักเป็นหลัก

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าสามารถจะเข้าถึงผลได้ทันที แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้ไปเสพได้ แต่ถ้าจิตใจยังไม่สามารถชำระความหลงติดหลงยึดได้ ก็เรียกว่ายังมีกิเลสที่ต้องชำระหลงเหลืออยู่

การทำลายกิเลสนั้นเป็นการทำลายไปทีละภพของกิเลสโดยลำดับ เริ่มจากกามภพ รูปภพ และอรูปภพ เมื่อทำลายอรูปภพได้นั่นหมายถึงเราได้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในภพทั้งหมด ทำลายความอยากที่มี จนเกิดสภาพของกิเลสดับ ซึ่งเกิดจากปัญญารู้แจ้งในกิเลส(วิชชา) ที่จะมาแทนที่ความไม่รู้(อวิชชา) ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการหลุดพ้นเป็นเรื่องๆตามที่ขอบเขตของศีลได้กำหนดไว้

เราจะมาศึกษาเกี่ยวกับภพของกิเลสกันในกรณีศึกษา ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผักกัน

เมื่อเราได้เริ่มศึกษาศีลเกี่ยวกับการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียน ด้วยเหตุจากปัญญาที่ว่าการลดเนื้อกินผักนี้ก็เป็นหนึ่งในหนทางปฏิบัติที่เราจะไม่มีส่วนเบียดเบียน โดยมีสติเป็นเครื่องประกอบในการทนรับแรงยั่วของสิ่งที่เราเคยชอบเคยหลงใหลทั้งหลาย

1).กามภพ

ในตัวอย่างนี้จะมีให้เห็นตัวเลือกของอาหารมื้อหนึ่งของผู้ศึกษาศีลนี้ มีตั้งแต่ข้อ ก ถึง ฉ ในส่วนของข้อที่ยังมีกรอบสี่เหลี่ยมไว้ให้เลือก นั้นหมายถึงสภาพของกามภพในชนิดของอาหารนั้นๆ คือยังไม่สามารถดับความอยากในระดับที่จะเข้าไปเสพได้

นั่นหมายถึงถ้ายังเป็นตัวเลือกที่เลือกได้อยู่ ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับไปกินเสมอ แต่ในกรณีนี้ ได้เลือก ก.ผัดผัก ทั้งที่ ค.ส้มตำปลาร้า ,ฉ. ลูกชิ้นปิ้ง ก็ยังเป็นตัวเลือกอยู่ มีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เลือกผัดผัก ซึ่งเราจะเหมาเอาว่าการเลือกผัดผักเพราะลดกิเลสได้นั้นไม่แน่เสมอไป เพราะการที่ไม่กินลูกชิ้นอาจจะมีหลายเหตุผล เช่น หาลูกชิ้นกินไม่ได้ ลูกชิ้นที่ขายราคาแพง ร้านค้าดูไม่สะอาด หรืออายคนที่ไปด้วยกัน ซึ่งความอายนี้ก็อาจจะเกิดจากเหตุผลทางโลกเช่นกลัวโดนนินทาก็ได้ แต่ก็อาจจะเกิดจากความเจริญทางธรรมได้เช่นกัน คือเกิดจากหิริโอตตัปปะที่เจริญขึ้นในจิตใจ ดังนั้นการไม่เลือกเสพสิ่งใดๆ เราจึงควรวิเคราะห์เป็นกรณีไป ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นการลดกิเลสได้ทั้งหมด

ลักษณะของกามภพคือมีโอกาสกลับไปเสพได้เสมอ ยังเปิดตัวเลือกไว้อยู่เสมอ ยังไม่สามารถดับตัวเลือกนี้ได้สนิท ยังมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเสพได้อย่างเต็มที่ ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้นก็เช่น คนที่บอกว่าตนเองจะเป็นโสดก็ได้มีคู่ก็ได้ แม้จะดูเผินๆจะเป็นสภาพไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความจริงแล้วคือสภาพของกามภพที่ยังไม่สามารถปิดประตูนรกหรือหยุดพฤติกรรมที่จะพาให้ไปเสพกามนั้นได้สนิท

ดังนั้นการยังอยู่ในกามภพคือ โอกาสที่จะกลับไปทำชั่วได้เสมอเพราะไม่ได้มีปัญญาเจริญขึ้นถึงระดับรู้ว่าการไปเสพนั้นสามารถสร้างโทษชั่วให้กับชีวิตจิตใจของเราได้อย่างไร

2).รูปภพ

รูปภพคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นที่น้อยลงจนไม่ไปเสพ เกิดจากปัญญาที่เจริญขึ้นมา ไม่ใช่การกดข่มไม่ไปเสพ ถ้าเกิดจากการกดข่มไม่ไปเสพนั้น จะเรียกว่าอยู่ในกามภพ แต่สามารถใช้กำลังของจิตที่ตัวเองมีกดข่มไว้ได้ ซึ่งมีโอกาสตบะแตกได้เหมือนกัน

แต่รูปภพคือสภาพที่เจริญขึ้นมาในอีกระดับ คือจะไม่ไปเสพไม่ว่าจะเหตุผลใด แต่ก็ยังมีความอยากให้เห็นเป็นรูปอยู่ ในกรณีตัวอย่างก็คือ ง.ปลาทอด ในตัวอย่างนี้ไม่มีช่องสี่เหลี่ยมให้เลือกแล้ว นั่นหมายความว่าเราจะไม่เลือกอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเลือกไม่ได้นะ “แต่ไม่เลือก” คนที่ปฏิบัติธรรมลดกิเลสได้กับคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มจะต่างกันตรงนี้ คือคนที่ลดกิเลสจะไม่เลือกด้วยจิตใจปกติเพราะมีปัญญารู้ว่าถ้าเลือกแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ส่วนคนที่กดข่มจะเลือกไม่ได้ หรือไม่ยอมเลือกเพราะไม่อยากให้ตนเองไปแตะต้องสิ่งที่ไม่ดีไม่งามโดยการใช้ความพยายามของจิตมาข่มความอยาก

ถึงกระนั้นรูปภพก็ยังมีอยู่ในรายการของอาหารที่อยากกิน นั่นหมายความว่าความอยากยังไม่หมด จนกระทั่งต้องเขียนออกมาเป็นรายการหนึ่ง เปรียบเทียบให้เห็นว่าแม้จะไม่เลือกแล้ว แต่ภายในจิตใจก็ยังมีความอยากเสพในสิ่งนั้นๆอยู่ ยังคิดและปรุงแต่งไปตามกิเลสว่าสิ่งนั้นยังเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพอยู่ แต่ก็ไม่ได้ตกต่ำจนต้องไปเสพ

ลักษณะของการปรุงแต่งก็เช่น เห็นปลาทอด ฉันไม่กินหรอก แต่ก็คิดในใจอยู่ว่า ปลาทอดก็อร่อยดีนะ ความกรอบของปลา ความนุ่มของปลาก็น่าลิ้มลอง แต่ไม่กินหรอก ไม่เอาหรอก คือมีความอยากที่เห็นได้ จับรูปของกิเลสได้ว่ายังมีอยู่นั่นเอง

3).อรูปภพ

เป็นสภาพของจิตใจที่หลุดพ้นจากกิเลสมามากแล้ว ไม่มีรูปรอยของกิเลสให้เห็นเป็นตัวเป็นตนอีกต่อไป ไม่มีคำปรุงแต่งใดๆว่าอยากกิน ไม่มีความคิดว่าจะต้องไปกินหรือคิดว่าสิ่งนั้นน่าเสพอีก แต่ก็ยังไม่หลุดจากอำนาจของกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง

อรูปภพคือภพที่อันตรายมาก เพราะคนจะประมาทต่อพลังของกิเลสที่สงบลงมาจนถึงภพนี้ มีลักษณะบางจนจับอาการแทบไม่ได้ ยิ่งถ้าปฏิบัติมาอย่างกดข่ม ไม่ได้ใช้ปัญญาในการพิจารณาล้างกิเลส จะไม่มีญาณปัญญารู้กิเลสในอรูปภพได้เลย เพราะระบบของการกดข่มกับการล้างกิเลสด้วยปัญญานั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ผู้ที่กดข่มเก่งๆจะมีสภาพเหมือนหลุดพ้นจากกิเลสแม้จะไม่เคยรู้จักแจ่มแจ้งในสามภพนี้ แม้จะเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมมาอย่างถูกทางก็จะเหมือนมีสภาพหลุดพ้นจากกิเลสในอรูปภพเช่นกัน ซึ่งหลักฐานเดียวที่แสดงให้เห็นว่ายังไม่พ้นคืออาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่เบิกบานทั้งหลายเมื่อไม่ได้เสพ ซึ่งแม้ว่าจะปฏิบัติมาอย่างถูกตรง แม่นยำในสติปัฏฐาน ๔ ก็ใช่ว่าจะจับตัวตนของกิเลสที่เหลืออยู่กันได้ง่ายๆ

ยิ่งถ้าคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะการกดข่มมีกระบวนการเดียวคือกดความอยากลงไปด้วยสติหรือข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นอุบายทำให้จิตสงบต่อความอยาก การกดข่มผลของความอยากที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเข้าไปรู้ตัวตนของกิเลส ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ นั่นหมายถึงไม่ได้ปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ อย่างถูกตรง ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่กระบวนการกดข่มจะสามารถดับกิเลสในระดับอรูปภพได้ เพียงแค่รู้ตัวตนของกิเลสยังทำไม่ได้เลย แล้วถ้าเป็นระดับอรูปภพนี่ถึงจะไม่กดข่มมันก็ดับไปเอง มันจะโผล่มาแวบๆวับๆ แล้วก็หายไป รวดเร็ว เบาบาง จนไม่จำเป็นต้องกดข่มใดๆ นั่นหมายถึงถ้าปฏิบัติอย่างกดข่ม อรูปภพจะกลายเป็นเหมือนสภาพที่ไม่มีอยู่จริง

จึงเป็นเหตุผลที่ว่าสายที่ปฏิบัติธรรมอย่างฤๅษีทั้งหลายที่ใช้การกดข่มความอยาก ใช้สมถะอย่างเดียว จึงไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆได้ ถึงแม้จะมีรูปสวย นั่งสมาธิได้เป็นวันเป็นเดือน กิริยาอาการน่าเคารพ พูดจาน่าเลื่อมใส มีชื่อเสียงขจรไกล แต่ถ้าไม่ฉลาดในเรื่องกิเลส ก็ยังเป็นบุคคลที่ยังมีภัยต่อตนเอง นั่นคือต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดตามเหตุคือกิเลสกันต่อไป

ในตัวอย่างนี้ อรูปภพ จะถูกเปรียบเทียบด้วยข้อ จ. คือหมูปิ้ง หมูปิ้งไม่ใช่ตัวเลือกที่เห็นได้ชัด แต่กระนั้นก็ยังมีอยู่ มันเลือนรางจางหายไปจากเดิมมาก ถ้ามองผ่านๆก็อาจจะไม่เห็น แต่มันยังมีอยู่ มันไม่ได้หายไปไหน มันรอเวลาที่เราจะประมาทและกลับกำเริบได้

ทั้งนี้แม้จะปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเจริญมาถึงอรูปภพ แต่ถ้าไม่กำจัดกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงก็มีโอกาสที่จะเสื่อมถอยลงได้ เพราะกิเลสเป็นพลังงานที่เติบโตได้ สะสมได้ เรียกว่าบาป หากเราประมาทและไม่สามารถรู้ถึงตัวตนของกิเลสที่ยังเหลืออยู่ในอรูปภพได้ สักวันหนึ่งมันก็อาจจะโตและกลับมาเป็นกามภพได้ พอถึงตอนนั้นก็เมาหมัดกิเลสแล้ว หลงนึกว่าตนเองได้เปรียบอยู่ดีๆ เจอกิเลสลุกขึ้นมาสวนหมัดชนะน็อกไปเฉยๆก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรนัก เพราะสภาพของอรูปภพนั้นรู้ได้ยาก ดูภายนอกก็ดูแทบไม่ออก ใครก็มองไม่เห็นนอกจากตัวเราเอง

4).ข้ามสามภพ

มาถึงข้อสุดท้าย เป็นเป้าหมายของนักปฏิบัติธรรมหรือผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ทุกคน คือสภาพดับไม่เหลือของกิเลส ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่ามี ก. ถึง ฉ. แต่ไม่มีข้อ ข.

แท้จริงแล้ว ข. นั้นมีอยู่ แต่มันไม่มีในจิตใจของผู้ที่ขัดเกลาตนเองจนถึงผล เพราะ ข. นั้นมี จึงไม่สามารถเลื่อน ค. เข้ามาเป็น ข. ได้ แม้มันจะดูเหมือนไม่มี แต่มันก็มีอยู่จริง แต่กลับไม่มีผลกระทบอะไรกับจิตใจของผู้ข้ามสามภพอีกต่อไป ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขใดๆในสิ่งนั้น

จากตัวอย่างทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่ากิเลสนั้นจะถูกชำระเป็นชนิดๆไปตามลำดับ ตามศีลที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา แม้ในศีลหนึ่งๆที่ศึกษานั้นก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เข้าไปศึกษากิเลสในอาหารแต่ละชนิด เพราะเราไม่สามารถตั้งศีลแล้วชำระกิเลสได้ทั้งหมดเสมอไป เราจึงจำเป็นต้องศึกษากระบวนการของไตรสิกขา ที่จะสอนให้ค่อยๆทำ ค่อยๆล้าง ไม่โลภบรรลุธรรม ไม่รีบจนหลงผิด และไม่หลงผิดจนต้องเสียเวลาและสร้างบาป เวร ภัย สะสมแก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว

มาถึงตรงนี้ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับ ข. แล้ว ก็ใช้เวลาศึกษากิเลสในอาหารตัวอื่นไปเช่น เรายังเสพสุขอะไรในส้มตำปลาร้า เราสุขเพราะปลาร้าหรือส้มตำก็แยกให้ออก เราติดอะไรในลูกชิ้น มันมีเนื้อสัตว์ผสมแม้จะไม่เป็นรูปชิ้นเนื้อแล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่ เรายังอยากเสพอะไรในนั้น ในเมื่อเราจะไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเราละเว้นดีไหม? ฯลฯ ซึ่งในแต่ละชนิดก็ต้องไล่ กามภพ รูปภพ อรูปภพไปเช่นกัน

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการย่อยลงในรายละเอียดของการปฏิบัติ แต่ถ้าใครอินทรีย์พละแกร่งกล้าพอ จะตัดเนื้อสัตว์ทั้งยวงไปเลยก็สามารถทำได้ สามารถถึงผลได้เช่นกันหากปฏิบัติอย่างถูกตรง โดยไม่หลงไปใช้การกดข่มแล้วเข้าใจว่าสามารถดับกิเลสได้

เพราะการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จะเหมาเอาว่าเป็นการลดกิเลสทั้งหมดไม่ได้ ในบางกรณีอาจจะเพราะกิเลสเพิ่มด้วยซ้ำไป เช่นไปเพิ่มความยึดมั่นถือมั่นว่าฉันเป็นคนดี ว่าแล้วก็กดข่มความอยากในการกินเนื้อสัตว์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออัตตาเพิ่ม แต่กามไม่ได้ล้าง คือความหลงติดหลงยึดสุขในการเสพนั้นอาจจะยังไม่ได้หมดไป เพราะใช้ความดีเข้ามากดข่มนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)