Tag: ไม่อยากมีคู่

ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

December 14, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 651 views 0

ถาม : ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

ตอบ : กำจัดกิเลส

ขยายเพิ่ม…

กำจัดความหลงที่พาให้อยากไปมีคู่

ขยายเพิ่มอีก…

ความอยากไปมีคู่นั้นคือ “ตัณหา” คืออาการแส่หา แสวงหาสิ่งที่อยากได้อยากเสพ เพราะหลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี ที่ควรได้ น่าเสพ มีประโยชน์ ฯลฯ ความหลงคือ “โมหะ” ความยึดคือ “อุปาทาน” ที่คนอยากไปมีคู่เพราะยึดในความหลงสุขจนปล่อยตัวปล่อยใจไปแสวงหาคู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องกำจัดคือความหลง แต่จะไปกำจัดความหลงตั้งแต่แรกไม่ได้ เพราะมันอยู่ลึก เราต้องเริ่มจากตื้นคือจัดการกับตัณหาเสียก่อน คุมทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ปาก ร่างกาย และใจ ไม่ให้ไหลไปตามความอยากเสียก่อน แล้วตั้งสติกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น แล้ววิจัยอาการนั้น ๆ ว่าเกิดจากการที่เราอยากเสพสิ่งใด เราถึงมีใจพุ่งไปเช่นนั้น จับอาการนั้นได้ เหมือนจับโจรได้ แต่ต้องลงโทษโจรให้เด็ดขาด สรุปคือต้องชัดก่อนว่าที่อยากมีคู่นั้นอยากได้อยากเสพเรื่องอะไร แต่ละคนจะมีเรื่องที่ติดไม่เหมือนกัน ต้องแจกแจงกิเลสในตัวเองให้ละเอียดจึงจะสามารถ ดำเนินการต่อในขั้นกำจัดได้ ในขั้นกำจัดนั้น ต้องอาศัยธรรมะจากผู้รู้ จากพระพุทธเจ้า จากครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่แค่แปะป้ายว่าอรหันต์ ต้องมีสภาวะจริง จึงจะได้ความรู้มาเพื่อพิจารณาล้างกิเลสในตน คือใช้ธรรมะ ล้างอธรรม จิตมันเบี้ยว มันหลงตรงไหน ใช้ธรรมะดัดให้ตรง ตัดให้ตรง เติมให้ตรง ทิฏฐิที่ผิดในความอยากมีคู่จะมีทั้งเกินและพร่อง ธรรมะของครูบาอาจารย์จะเป็นตัวเทียบว่าตนเองนั้นเกินหรือพร่อง นำมาพิจารณาเอาสิ่งที่หลงขาดหลงเกินออก จนได้เท่าครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านนั้นเป็นของจริง จะหมดความอยากมีคู่ได้จริง แต่ถ้าไม่ใช่ของจริง จะติดเพดานกิเลสของอาจารย์ท่านนั้น ๆ จะไม่สามารถไปไกลกว่าสภาวะจริงของท่านนั้น ๆ ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องเริ่มจากการพบสัตบุรุษหรือคนที่พาพ้นทุกข์ได้จริงเท่านั้น

ขยายละเอียดหน่อย…

ในภาคปฏิบัตินั้น เบื้องต้นคือการสำรวมอินทรีย์ ในส่วนของศีลหรือข้อปฏิบัตินั้นเราได้มาแล้ว คือตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสด มีศีลแล้วก็สำรวมตนอยู่ในศีล ตรงนี้จะไม่เหมือนที่เขาเป็นโสดหรือไม่อยากมีคู่กันโดยทั่วไป เพราะคนไม่อยากมีคู่ทั่วไปมักจะมีเงื่อนไขในการมีหรือไม่อยากมี เช่น ไม่อยากมีคู่หน้าตาไม่ดี ไม่อยากมีคู่ไม่รวย อันนี้มันเป็นกำแพงกิเลส ไม่ใช่กำแพงธรรม ในส่วนของนักปฏิบัติธรรม จะเรียกว่า ทำตนให้ยินดีพอใจในการอยู่เป็นโสด ไม่ยินดีในการหมกมุ่นกับเรื่องคู่ครองอันเป็นเรื่องน่าเศร้าหมอง

เมื่อเราตั้งใจสำรวมกาย วาจาและใจของเราแล้ว ธรรมชาติของกิเลสก็จะเกิดเป็นธรรมดา เราจะสามารถสังเกตอาการที่จะพุ่งออกไปเสพ อยากคุยด้วย อยากมองเขา ชอบที่จะคิดถึงเขา ฯลฯ หลาย ๆ อาการที่จะพุ่งออกไปเสพ แม้จะเป็นแค่ในใจก็ตาม เราก็จะจับอาการเหล่านั้นนั่นแหละ มาพิจารณาสาเหตุว่าเราหลงอะไรหนอ เราติดอะไรหนอ เราอยากได้อะไรหนอ

ติดมุมไหนก็ต้องแก้มุมนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีใครทำสารบัญกิเลสในความอยากมีคู่ เพราะถึงจะทำกระดาษก็คงไม่พอ เพราะกิเลสเป็นเรื่องหยุมหยิบ ซับซ้อน น่าปวดหัว มีมารยา ไม่เปิดเผยตามจริง ดังนั้น การที่จะพิจารณาอาการได้ชัดจะต้องมีสัญชาติญาณคนตรงว่าติดตรงไหน โดยปกติกิเลสมันจะปัดป้องให้มันเบี้ยวออกไป เพื่อที่จะไม่ได้จับตัวมันได้ อาการที่เกิดขึ้นคือความจริง แต่กิเลสจะสร้างความคิดขึ้นมาว่านั่นไม่ใช่บ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง โดยเบื้องต้นต้องหัดที่จะยอมรับความจริงก่อนว่าเราหลงมามากจริง ยอมรับความจริงว่ามันติด มันชั่ว มันทุกข์ อยากจะออกจากความหลงติดหลงยึดหลงผิดไปชั่วนั้น มันจะเบิกทางได้ง่ายขึ้น ถ้ามาปฏิบัติตนเป็นโสดแล้วไม่ยอมรับความจริงตามความเป็นจริงในแต่ละอาการที่เกิดขึ้น เรียกว่าปิดประตูบรรลุธรรมได้เลย เพราะนอกจากจับโจรไม่ได้แล้ว ยังโดนโจรหลอกปั่นหัวอีกด้วย

เมื่อเราซื่อตรงกับตนเอง พบว่าตนเองหลงติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่าเป็นสุข น่าได้น่าเสพ ตรงนี้เราก็กำหนดศีลเพิ่ม ว่าเราจะกำจัดความหลงตัวนี้ในหมวดความอยากมีคู่เพิ่ม เรียกว่าอธิศีล คือศีลที่มีความละเอียดในการกำจัดกิเลสมากขึ้น เหมือนลงรายละเอียดระดับจุดทศนิยม เป็นข้อย่อยของกิเลส ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติในการกำจัดกิเลส เราจะแจกแจงกิเลสไปเรื่อย ๆ จนลึกถึงขั้นโมหะ จนถึงตอนนั้นก็เรียกว่าจุดทศนิยมหลายหลักเลยเชียวล่ะ

เมื่อกำหนดศีลว่าจะกำจัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ความรู้ของเราถึงขีดจำกัดแล้ว ธรรมะที่ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ เริ่มจะไม่ตอบโจทย์ที่ความลึกระดับนี้ ก็ให้หมั่นเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อสอบถามเพิ่มในรายละเอียด เข้าหาหมู่มิตรดีที่มีพลังในการพาพ้นเรื่องความอยากมีคู่ แล้วสอบถามสนทนา จะได้เหลี่ยมมุมในการรับมือกับกิเลส พร้อมกับปัญญาในการโต้กลับ ในตอนนั้น ปัญญาของเรายังเป็นระดับของสุตมยปัญญา คือปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ในขั้นต่อไปคือการพัฒนาตนไปสู่ภาวนามยปัญญา คือปัญญาจากการที่ได้พัฒนาจิตจนเกิดผล

ปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ก็เหมือนกับหลาย ๆ คน ในสำนักปฏิบัติธรรม สำนักใดสำนักหนึ่ง ที่อาจจะพูดหรือเข้าใจคล้าย ๆ กัน เพราะได้ยินได้ฟังและเข้าใจมาเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความเวลาเขาเหล่านั้นกระทบกับทุกข์แล้วจะยังสามารถดำรงจิตได้ตามสิ่งที่เคยได้ยินมา แต่ถ้าเราพัฒนาจิตของเราได้จริง จนเกิดภาวนามยปัญญาคือสภาพที่ล้างกิเลสจนเกิดปัญญาในตน จะทำให้เราไม่หวั่นไหวแม้กระทบสิ่งยั่วยุยั่วยวนอยู่ นั่นเพราะมีปัญญาเห็นโทษชั่ว เห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเองแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินได้ฟัง

เมื่อได้ศึกษามาแล้วมาตรวจในจิตตนเอง จะพบว่าธรรมะกับกิเลสมันจะไม่ไปทางเดียวกัน กิเลสมันจะเถียงเอาอย่างมันท่าเดียว ฟังครูบาอาจารย์หรือหมู่มิตรดีมาเท่าไหร่ มันจะมีเงื่อนไข มีข้อแม้ มีแต่ว่า… เพื่อให้ได้มาเสพเสมอ นี่คืออาการดิ้นของกิเลสเมื่อเจอกับธรรมะ มันจะไม่ยอมสลายตัว มันไม่ยอมให้จิตเราเป็นเนื้อเดียวกับธรรมะ มันจะเป็นส่วนเกินของจิตอยู่เสมอ

ก็หมั่นพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงตามที่ได้ศึกษาตามครูบาอาจารย์และหมู่มิตรดีมา กิเลสจะถูกทำลายโดยลำดับ เพราะมีพลังสัมมาทิฏฐิ มาเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ความสงบลงโดยลำดับ คือสามารถดับ 3 ภพ ของกิเลสได้โดยลำดับ คือ ดับกามภพ ดับรูปภพ ดับอรูปภพ

การดับกามภพคือ ไม่ไปเสพกามในหมวดนั้น ๆ อีกแล้ว ในเรื่องการมีคู่ ผู้ที่ดับกามภพได้จะไม่ไปมีคู่อีกต่อไปแล้ว แต่ในใจลึก ๆ ยังมีความยินดีในการมีคู่อยู่ เรียกว่ารูปภพ คือรู้ว่าตนเองอยาก แต่ไม่ได้อยากระดับที่จะต้องไปมีคู่ จะมีการปรุงเพื่อเสพสุขอยู่บ้าง ก็เป็นภายในใจ ไม่เผยให้คนอื่นได้เห็น ในขั้นนี้ก็ยังมีความหลงผิดเหลือ แต่เหลือในระดับรูปภพ คือยังเห็นกิเลสปรุงอยู่ชัด ๆ แต่ยังกำจัดมันออกไปไม่ได้

เมื่อเจริญถึงขั้นดับรูปภพ จะเข้าสู่อรูปภพ กิเลสที่เหลือจะไม่เป็นรูปให้เห็นแล้ว ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ ขึ้นมาเป็นรูปชัด จะเหลือแต่อาการขุ่นข้อง หมองใจ หดหู่ ซึมเศร้า เห็นเขามีคู่ก็แอบฟู ๆ พอตนเองไม่มีก็ไม่สดชื่น ไม่สดใส ไม่เต็มใจ มันจะออกไปทางหมอง ๆ ไม่ใส ไม่ชัดเจนในความพ้นทุกข์ ในขั้นนี้จะมีอาการแล่บ ๆ ออกมาให้เห็นเป็นระยะอยู่ว่ายังไม่พ้น ซึ่งก็ตั้งศีลเพิ่มขึ้นไปอีก ละเอียดลงไปอีกว่าความหวั่นไหวแม้น้อยก็จะไม่มีเพื่อทำร้ายตนและผู้อื่น มันก็จะบีบกิเลสไปเรื่อย ๆ อาการจะชัดขึ้นเมื่อตั้งศีล สำรวมอินทรีย์ ก็ใช้วิธีเดิมในการปฏิบัติ ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนหมดโง่ พอหมดโง่ มันจะฉลาดเอง จะมีปัญญารู้เองว่าเคยโง่อะไร โง่แค่ไหน โง่อย่างไรมาก่อน ตัวพ้นทุกข์ คือปัญญาที่รู้แจ้งเท่าทันความโง่ในหมวดนั้น ๆ ทุกเหลี่ยมทุกมุม

เมื่อดับอรูปภพได้ จะไม่หวั่นไหวกับใครอีกต่อไปแล้ว แม้กระทบกับคนที่น่ารัก น่าเอามาเป็นคู่ที่สุดในโลกก็ตามที ในส่วนของการปฏิบัติ คือ ไม่เหลืองานในกิเลสเรื่องนี้ให้ทำอีกแล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตนเพื่อกำกัดความอยากมีคู่หมดแล้ว ก็เอากำลังกับธรรมะที่มีไปปฏิบัติเรื่องอื่น ๆ ที่หลงผิดต่อ

ที่เล่ามานี้ก็เป็นขั้นตอนโดยสรุปที่พยายามย่อให้สั้น ในรายละเอียดของการปฏิบัติ ก็ต้องเรียนรู้การตรวจสภาวธรรมข้ออื่น ๆ เช่น สติปัฎฐาน 4,เวทนา 108, อรูปฌาน 4 เพื่อใช้ในการตรวจสอบความหลงเหลือหลงโง่ในกิเลสเรื่องนั้น ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

14.12.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

July 30, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,389 views 1

Download ภาพขนาดเต็ม กดที่นี่

โสดอย่างไร ให้ใจเป็นสุข

ความโสดนั้นมีมิติที่หลากหลายแตกต่างกันไป หากเรามองความโสดด้วยมุมมองทั่วไปในสังคม ก็มักจะเป็นเรื่องที่ไม่มีใครให้คุณค่าหรือใฝ่ฝันว่าอยากจะเป็นโสดกันสักเท่าไหร่

ในบทความนี้ก็จะแบ่งความโสดออกเป็นระยะกว้างๆด้วยกันสามระยะ คือโสดที่ยังมีความอยากมีคู่ โสดที่ไม่อยากมีคู่ และความโสดที่ไม่มีทั้งความอยากและไม่อยากมีคู่ มาเริ่มกันที่ความโสดแบบแรกกันเลย

โสดอยู่ไม่เป็นสุข (นรกคนโสด)

คือความโสดที่ยังเต็มไปด้วยความอยาก มีความต้องการ แสวงหาคู่ครอง แม้ว่าจะแสดงอาการหรือไม่ก็ตาม หากใจนั้นยังไม่ปิดประตูของการมีคู่ ก็ยังเรียกได้ว่า โสดแบบอยู่ไม่เป็นสุข การที่ความอยากนั้นยังไม่แสดงอาการ ไม่ได้หมายความว่าไม่มีกิเลส ซึ่งอาจจะยังไม่ถึงเวลาที่เหมาะสม ยกตัวอย่างเช่นเด็กทารก เขายังไม่มีความอยากมีคู่ แต่ไม่ได้หมายความเขาจะไม่มีกิเลส

คนโสดที่อยู่ไม่เป็นสุข ก็เหมือนอยู่ในนรกคนโสด ต้องทุกข์กับความอยากมีคู่ พอหาคู่ได้ก็เปลี่ยนไปอยู่ในนรกคนคู่ พอเลิกคบหากันแต่ยังมีความอยากอยู่ ก็เวียนกลับมานรกคนโสด ซึ่งไม่ว่าจะโสดหรือจะมีคู่ก็ต้องถูกเผาด้วยไฟราคะ คือทุกข์จากความอยากเสพรสสุขใดๆก็ตามในการมีคู่ วนเวียนโสดบ้างมีคู่บ้าง แต่ก็หนีไม่พ้นความทุกข์จากกิเลสอยู่ดี

โสดบนยอดเขาอันหนาวเหน็บ (อยู่ในโลก)

คือความโสดที่เกิดจากความไม่อยาก ด้วยการสร้างคุณค่าให้ตนเอง เติมช่องว่างในใจที่เคยเผื่อไว้ให้ใครสักคนให้เต็มด้วยอัตตาของตน จนกลายเป็นคนที่เต็มคน แข็งแกร่ง พึ่งตนเองได้ มีศักดิ์ศรี ไม่ยอมกลับไปมีคู่เพราะความยึดดี ซึ่งอาจจะเกิดจากความเจ็บช้ำ ความผิดหวังเมื่อตอนมีคู่ ผ่านประสบการณ์ที่ทำให้ได้เรียนรู้ว่าการมีคู่นั้นทำให้ต้องประสบทุกข์อย่างมาก

แต่แม้จะเป็นความโสดที่แข็งแกร่งเพียงใด ความไม่อยากนั้นก็ยังเป็นทุกข์อยู่ดี ซึ่งเกิดจากอาการผลักการมีคู่อย่างรุนแรง ไม่อยากมีคู่เพราะเหตุผลบางอย่าง แต่กิเลสนั้นเป็นพลังงานที่เติบโตได้ ขยายได้ ปรับเปลี่ยนขั้วได้ เพราะไม่ว่าอยากหรือไม่อยากก็คือตัณหาเหมือนกัน อยากในสิ่งหนึ่งก็เกลียดอีกสิ่งหนึ่ง ไม่อยากในสิ่งหนึ่งก็ชอบอีกสิ่งหนึ่ง เช่นอยากมีคู่ก็เกลียดความโสด อยากเป็นโสดก็เกลียดการมีคู่

เมื่อยังมีความอยากและไม่อยาก มันก็จะสร้างทุกข์ให้กับตัวเองอยู่เรื่อยๆ ซ้ำร้ายวิบากกรรมอาจจะดึงสิ่งที่ไม่อยากได้คือการมีคู่ให้มาเข้าใกล้ พอโดนยั่วกิเลสเข้ามากๆก็อาจจะเวียนกลับไปมีคู่ได้ สุดท้ายก็ต้องเจอกับทุกข์แล้ววกกลับมาโสดแบบเกลียดการมีคู่อีก เปลี่ยนภพไปมาแบบนี้จนกว่าจะทำลายความอยากและไม่อยากจนสิ้นเกลี้ยง

โสดอย่างเป็นสุข (อยู่เหนือโลก)

คือความโสดที่ข้ามพ้นจากความอยากและไม่อยาก แล้วเลือกเอาสิ่งที่เป็นประโยชน์และไม่มีโทษ มีทั้งประโยชน์ตนเองและประโยชน์ต่อผู้อื่น นั่นก็คือการเลือกเป็นโสด

ความโสดที่อยู่เหนือโลก นั้นคือโสดแบบโลกุตระ ไม่ไปเสพอย่างโลกีย์ และไม่ยึดดีอย่างโลกีย์ ไม่มีทั้งความอยากมีคู่ และความไม่อยากมีคู่ เพราะตัณหานั้นคือเหตุสู่ความทุกข์ สภาวะของความโสดเช่นนี้จึงเป็นสุขที่สุดในสภาพโสดทั้งหมด เป็นโสดที่ไม่มีทุกข์เจือปนอยู่แม้น้อย ที่ไม่มีทุกข์เพราะไม่มีกิเลสใดๆในเรื่องคู่ที่ผลักดันให้ต้องไปเสพ หรือต้องไปมีคู่กันให้ลำบาก

ความโสดเช่นนี้ไม่ใช่สภาพที่จะเลือกเอาได้ แต่สามารถเลือกที่จะปฏิบัติจนถึงผลเช่นนี้ได้ โดยจะต้องใช้ความเพียรในการชำระล้างกิเลสในเรื่องของคนคู่ให้หมดสิ้นไป จึงจะเกิดสภาพของความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆเจือปนอยู่เลย

การพัฒนาจิตใจอย่างถูกตรงนั้นจะมีผลให้เกิดการหลุดพ้นอย่างถูกตรงเช่นกัน สภาพของความโสดอย่างเป็นสุข จะไม่มีการเวียนกลับไปมีคู่อีก ไม่กำเริบ ไม่แปรปรวน ยั่งยืน ยาวนาน ตลอดกาล ไม่เป็นอื่นใดอีก จะคงความโสดที่ไม่มีทุกข์ใดๆอยู่เช่นนั้นไปตลอดกาล

ไม่ใช่เพราะหาคู่ไม่ได้ ไม่ใช่เพราะว่าไม่มีใครเอา ไม่ใช่เพราะว่าแก่เกินวัย ไม่ใช่เพราะไม่เหมาะสมกับใคร ไม่ใช่เพราะไม่มีใครดีพอ แต่เป็นเพราะเกิดญาณปัญญารู้ว่าความโสดนี่แหละเป็นสุขที่สุดแล้ว ที่สุขที่สุดเพราะมันไม่มีทุกข์ใดๆเลย และนี่คือสิ่งที่ประเสริฐที่สุดแล้ว จะต่างกันกับชาวโลกีย์ที่มองว่าการมีคู่นั้นเป็นสุข หรืออย่างดีก็จะเห็นว่ามีสุขมีทุกข์ปนกันไป

แต่สำหรับชาวโลกุตระนั้นจะมองเห็นว่ามีเพียงแค่ทุกข์กับทุกข์เท่านั้น และเห็นว่าสุขที่เคยเข้าใจว่าเป็นสุขนั้น คือสุขลวงทั้งสิ้น ไม่เที่ยงแท้ ไม่ยั่งยืน ไม่มีตัวตน เป็นของว่างเปล่า ดังนั้นจึงไม่มีข้อกังขาใดๆ ในเรื่องของการมีคู่อีก ไร้ซึ่งความลังเลสงสัยแม้แต่น้อยนิดในใจว่าทำไมต้องเลือกความโสด เพราะรู้แน่ชัดในตนแล้ว เกิดปัญญารู้ในตนแล้ว จึงไม่มีสิ่งใดจะมาลบล้างได้อีก

ไม่ว่าจะถูกเสนอด้วยคู่ครองรูปงาม ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขโลกีย์อีกเท่าไหร่ ก็ไม่สามารถเปลี่ยนใจที่หลุดพ้นจากกิเลสในเรื่องคู่นี้ได้ เพราะไม่ว่าจะได้อะไรมาแลกก็จะไม่ยอมสละความโสดนี้ไป ไม่มีอะไรมีคุณค่ากว่าความโสดนี้ ไม่มีการตั้งเงื่อนไข ไม่มีข้อแม้ ไม่มีช่องว่างใดๆเหลือไว้ให้จิตใจคิดถึงการมีคู่อีก

….สรุปบทความนี้กันด้วยหลักทางสายกลาง ความโสดที่ยังแสวงหาอยู่นั้นคือความโต่งไปในด้านของกาม ส่วนความโสดที่เกลียดการมีคู่นั้นคือความโต่งไปในด้านอัตตา และความโสดอย่างเป็นสุขที่ไม่แสวงหาคู่ ไม่ต่อต้านการมีคู่ แต่ก็ไม่สนับสนุนการมีคู่ คือทางสายกลางอย่างแท้จริง

– – – – – – – – – – – – – – –

29.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)