Tag: รูปภพ

ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

December 14, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 651 views 0

ถาม : ปฏิบัติตนอย่างไร จึงทำให้ไม่อยากมีคู่

ตอบ : กำจัดกิเลส

ขยายเพิ่ม…

กำจัดความหลงที่พาให้อยากไปมีคู่

ขยายเพิ่มอีก…

ความอยากไปมีคู่นั้นคือ “ตัณหา” คืออาการแส่หา แสวงหาสิ่งที่อยากได้อยากเสพ เพราะหลงว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งดี ที่ควรได้ น่าเสพ มีประโยชน์ ฯลฯ ความหลงคือ “โมหะ” ความยึดคือ “อุปาทาน” ที่คนอยากไปมีคู่เพราะยึดในความหลงสุขจนปล่อยตัวปล่อยใจไปแสวงหาคู่ ดังนั้น สิ่งที่ต้องกำจัดคือความหลง แต่จะไปกำจัดความหลงตั้งแต่แรกไม่ได้ เพราะมันอยู่ลึก เราต้องเริ่มจากตื้นคือจัดการกับตัณหาเสียก่อน คุมทวารทั้ง 6 ตา หู จมูก ปาก ร่างกาย และใจ ไม่ให้ไหลไปตามความอยากเสียก่อน แล้วตั้งสติกำหนดรู้อาการที่เกิดขึ้น แล้ววิจัยอาการนั้น ๆ ว่าเกิดจากการที่เราอยากเสพสิ่งใด เราถึงมีใจพุ่งไปเช่นนั้น จับอาการนั้นได้ เหมือนจับโจรได้ แต่ต้องลงโทษโจรให้เด็ดขาด สรุปคือต้องชัดก่อนว่าที่อยากมีคู่นั้นอยากได้อยากเสพเรื่องอะไร แต่ละคนจะมีเรื่องที่ติดไม่เหมือนกัน ต้องแจกแจงกิเลสในตัวเองให้ละเอียดจึงจะสามารถ ดำเนินการต่อในขั้นกำจัดได้ ในขั้นกำจัดนั้น ต้องอาศัยธรรมะจากผู้รู้ จากพระพุทธเจ้า จากครูบาอาจารย์ที่ถูกตรงจริง ๆ เท่านั้น ไม่ใช่แค่แปะป้ายว่าอรหันต์ ต้องมีสภาวะจริง จึงจะได้ความรู้มาเพื่อพิจารณาล้างกิเลสในตน คือใช้ธรรมะ ล้างอธรรม จิตมันเบี้ยว มันหลงตรงไหน ใช้ธรรมะดัดให้ตรง ตัดให้ตรง เติมให้ตรง ทิฏฐิที่ผิดในความอยากมีคู่จะมีทั้งเกินและพร่อง ธรรมะของครูบาอาจารย์จะเป็นตัวเทียบว่าตนเองนั้นเกินหรือพร่อง นำมาพิจารณาเอาสิ่งที่หลงขาดหลงเกินออก จนได้เท่าครูบาอาจารย์ ถ้าครูบาอาจารย์ท่านนั้นเป็นของจริง จะหมดความอยากมีคู่ได้จริง แต่ถ้าไม่ใช่ของจริง จะติดเพดานกิเลสของอาจารย์ท่านนั้น ๆ จะไม่สามารถไปไกลกว่าสภาวะจริงของท่านนั้น ๆ ได้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าคนจะพ้นทุกข์ได้ ต้องเริ่มจากการพบสัตบุรุษหรือคนที่พาพ้นทุกข์ได้จริงเท่านั้น

ขยายละเอียดหน่อย…

ในภาคปฏิบัตินั้น เบื้องต้นคือการสำรวมอินทรีย์ ในส่วนของศีลหรือข้อปฏิบัตินั้นเราได้มาแล้ว คือตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสด มีศีลแล้วก็สำรวมตนอยู่ในศีล ตรงนี้จะไม่เหมือนที่เขาเป็นโสดหรือไม่อยากมีคู่กันโดยทั่วไป เพราะคนไม่อยากมีคู่ทั่วไปมักจะมีเงื่อนไขในการมีหรือไม่อยากมี เช่น ไม่อยากมีคู่หน้าตาไม่ดี ไม่อยากมีคู่ไม่รวย อันนี้มันเป็นกำแพงกิเลส ไม่ใช่กำแพงธรรม ในส่วนของนักปฏิบัติธรรม จะเรียกว่า ทำตนให้ยินดีพอใจในการอยู่เป็นโสด ไม่ยินดีในการหมกมุ่นกับเรื่องคู่ครองอันเป็นเรื่องน่าเศร้าหมอง

เมื่อเราตั้งใจสำรวมกาย วาจาและใจของเราแล้ว ธรรมชาติของกิเลสก็จะเกิดเป็นธรรมดา เราจะสามารถสังเกตอาการที่จะพุ่งออกไปเสพ อยากคุยด้วย อยากมองเขา ชอบที่จะคิดถึงเขา ฯลฯ หลาย ๆ อาการที่จะพุ่งออกไปเสพ แม้จะเป็นแค่ในใจก็ตาม เราก็จะจับอาการเหล่านั้นนั่นแหละ มาพิจารณาสาเหตุว่าเราหลงอะไรหนอ เราติดอะไรหนอ เราอยากได้อะไรหนอ

ติดมุมไหนก็ต้องแก้มุมนั้น ในปัจจุบันยังไม่มีใครทำสารบัญกิเลสในความอยากมีคู่ เพราะถึงจะทำกระดาษก็คงไม่พอ เพราะกิเลสเป็นเรื่องหยุมหยิบ ซับซ้อน น่าปวดหัว มีมารยา ไม่เปิดเผยตามจริง ดังนั้น การที่จะพิจารณาอาการได้ชัดจะต้องมีสัญชาติญาณคนตรงว่าติดตรงไหน โดยปกติกิเลสมันจะปัดป้องให้มันเบี้ยวออกไป เพื่อที่จะไม่ได้จับตัวมันได้ อาการที่เกิดขึ้นคือความจริง แต่กิเลสจะสร้างความคิดขึ้นมาว่านั่นไม่ใช่บ้าง เป็นอย่างอื่นบ้าง โดยเบื้องต้นต้องหัดที่จะยอมรับความจริงก่อนว่าเราหลงมามากจริง ยอมรับความจริงว่ามันติด มันชั่ว มันทุกข์ อยากจะออกจากความหลงติดหลงยึดหลงผิดไปชั่วนั้น มันจะเบิกทางได้ง่ายขึ้น ถ้ามาปฏิบัติตนเป็นโสดแล้วไม่ยอมรับความจริงตามความเป็นจริงในแต่ละอาการที่เกิดขึ้น เรียกว่าปิดประตูบรรลุธรรมได้เลย เพราะนอกจากจับโจรไม่ได้แล้ว ยังโดนโจรหลอกปั่นหัวอีกด้วย

เมื่อเราซื่อตรงกับตนเอง พบว่าตนเองหลงติดเรื่องนั้นเรื่องนี้ว่าเป็นสุข น่าได้น่าเสพ ตรงนี้เราก็กำหนดศีลเพิ่ม ว่าเราจะกำจัดความหลงตัวนี้ในหมวดความอยากมีคู่เพิ่ม เรียกว่าอธิศีล คือศีลที่มีความละเอียดในการกำจัดกิเลสมากขึ้น เหมือนลงรายละเอียดระดับจุดทศนิยม เป็นข้อย่อยของกิเลส ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติในการกำจัดกิเลส เราจะแจกแจงกิเลสไปเรื่อย ๆ จนลึกถึงขั้นโมหะ จนถึงตอนนั้นก็เรียกว่าจุดทศนิยมหลายหลักเลยเชียวล่ะ

เมื่อกำหนดศีลว่าจะกำจัดเรื่องนั้นเรื่องนี้ แต่ความรู้ของเราถึงขีดจำกัดแล้ว ธรรมะที่ศึกษามาจากครูบาอาจารย์ เริ่มจะไม่ตอบโจทย์ที่ความลึกระดับนี้ ก็ให้หมั่นเข้าหาครูบาอาจารย์เพื่อสอบถามเพิ่มในรายละเอียด เข้าหาหมู่มิตรดีที่มีพลังในการพาพ้นเรื่องความอยากมีคู่ แล้วสอบถามสนทนา จะได้เหลี่ยมมุมในการรับมือกับกิเลส พร้อมกับปัญญาในการโต้กลับ ในตอนนั้น ปัญญาของเรายังเป็นระดับของสุตมยปัญญา คือปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ในขั้นต่อไปคือการพัฒนาตนไปสู่ภาวนามยปัญญา คือปัญญาจากการที่ได้พัฒนาจิตจนเกิดผล

ปัญญาจากการได้ยินได้ฟัง ก็เหมือนกับหลาย ๆ คน ในสำนักปฏิบัติธรรม สำนักใดสำนักหนึ่ง ที่อาจจะพูดหรือเข้าใจคล้าย ๆ กัน เพราะได้ยินได้ฟังและเข้าใจมาเหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความเวลาเขาเหล่านั้นกระทบกับทุกข์แล้วจะยังสามารถดำรงจิตได้ตามสิ่งที่เคยได้ยินมา แต่ถ้าเราพัฒนาจิตของเราได้จริง จนเกิดภาวนามยปัญญาคือสภาพที่ล้างกิเลสจนเกิดปัญญาในตน จะทำให้เราไม่หวั่นไหวแม้กระทบสิ่งยั่วยุยั่วยวนอยู่ นั่นเพราะมีปัญญาเห็นโทษชั่ว เห็นความจริงของสิ่งเหล่านั้นด้วยตนเองแล้ว ไม่ใช่เพียงแค่ได้ยินได้ฟัง

เมื่อได้ศึกษามาแล้วมาตรวจในจิตตนเอง จะพบว่าธรรมะกับกิเลสมันจะไม่ไปทางเดียวกัน กิเลสมันจะเถียงเอาอย่างมันท่าเดียว ฟังครูบาอาจารย์หรือหมู่มิตรดีมาเท่าไหร่ มันจะมีเงื่อนไข มีข้อแม้ มีแต่ว่า… เพื่อให้ได้มาเสพเสมอ นี่คืออาการดิ้นของกิเลสเมื่อเจอกับธรรมะ มันจะไม่ยอมสลายตัว มันไม่ยอมให้จิตเราเป็นเนื้อเดียวกับธรรมะ มันจะเป็นส่วนเกินของจิตอยู่เสมอ

ก็หมั่นพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงตามที่ได้ศึกษาตามครูบาอาจารย์และหมู่มิตรดีมา กิเลสจะถูกทำลายโดยลำดับ เพราะมีพลังสัมมาทิฏฐิ มาเปลี่ยนมิจฉาทิฏฐิ ความสงบลงโดยลำดับ คือสามารถดับ 3 ภพ ของกิเลสได้โดยลำดับ คือ ดับกามภพ ดับรูปภพ ดับอรูปภพ

การดับกามภพคือ ไม่ไปเสพกามในหมวดนั้น ๆ อีกแล้ว ในเรื่องการมีคู่ ผู้ที่ดับกามภพได้จะไม่ไปมีคู่อีกต่อไปแล้ว แต่ในใจลึก ๆ ยังมีความยินดีในการมีคู่อยู่ เรียกว่ารูปภพ คือรู้ว่าตนเองอยาก แต่ไม่ได้อยากระดับที่จะต้องไปมีคู่ จะมีการปรุงเพื่อเสพสุขอยู่บ้าง ก็เป็นภายในใจ ไม่เผยให้คนอื่นได้เห็น ในขั้นนี้ก็ยังมีความหลงผิดเหลือ แต่เหลือในระดับรูปภพ คือยังเห็นกิเลสปรุงอยู่ชัด ๆ แต่ยังกำจัดมันออกไปไม่ได้

เมื่อเจริญถึงขั้นดับรูปภพ จะเข้าสู่อรูปภพ กิเลสที่เหลือจะไม่เป็นรูปให้เห็นแล้ว ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ ขึ้นมาเป็นรูปชัด จะเหลือแต่อาการขุ่นข้อง หมองใจ หดหู่ ซึมเศร้า เห็นเขามีคู่ก็แอบฟู ๆ พอตนเองไม่มีก็ไม่สดชื่น ไม่สดใส ไม่เต็มใจ มันจะออกไปทางหมอง ๆ ไม่ใส ไม่ชัดเจนในความพ้นทุกข์ ในขั้นนี้จะมีอาการแล่บ ๆ ออกมาให้เห็นเป็นระยะอยู่ว่ายังไม่พ้น ซึ่งก็ตั้งศีลเพิ่มขึ้นไปอีก ละเอียดลงไปอีกว่าความหวั่นไหวแม้น้อยก็จะไม่มีเพื่อทำร้ายตนและผู้อื่น มันก็จะบีบกิเลสไปเรื่อย ๆ อาการจะชัดขึ้นเมื่อตั้งศีล สำรวมอินทรีย์ ก็ใช้วิธีเดิมในการปฏิบัติ ทำซ้ำไปเรื่อย ๆ จนหมดโง่ พอหมดโง่ มันจะฉลาดเอง จะมีปัญญารู้เองว่าเคยโง่อะไร โง่แค่ไหน โง่อย่างไรมาก่อน ตัวพ้นทุกข์ คือปัญญาที่รู้แจ้งเท่าทันความโง่ในหมวดนั้น ๆ ทุกเหลี่ยมทุกมุม

เมื่อดับอรูปภพได้ จะไม่หวั่นไหวกับใครอีกต่อไปแล้ว แม้กระทบกับคนที่น่ารัก น่าเอามาเป็นคู่ที่สุดในโลกก็ตามที ในส่วนของการปฏิบัติ คือ ไม่เหลืองานในกิเลสเรื่องนี้ให้ทำอีกแล้ว ถือว่าได้ปฏิบัติตนเพื่อกำกัดความอยากมีคู่หมดแล้ว ก็เอากำลังกับธรรมะที่มีไปปฏิบัติเรื่องอื่น ๆ ที่หลงผิดต่อ

ที่เล่ามานี้ก็เป็นขั้นตอนโดยสรุปที่พยายามย่อให้สั้น ในรายละเอียดของการปฏิบัติ ก็ต้องเรียนรู้การตรวจสภาวธรรมข้ออื่น ๆ เช่น สติปัฎฐาน 4,เวทนา 108, อรูปฌาน 4 เพื่อใช้ในการตรวจสอบความหลงเหลือหลงโง่ในกิเลสเรื่องนั้น ๆ ให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย

14.12.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก

June 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,683 views 0

ดับภพ ดับกิเลส มีลักษณะอย่างไร? กรณีศึกษา : ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผัก

เป้าหมายของการปฏิบัติธรรมคือการทำลายกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงไม่ให้เหลือแม้แต่ซาก ไม่เหลือแม้ฝุ่นผงในจิตใจให้ต้องเกิดอาการระคายเคือง ขุ่นใจใดๆอีกต่อไป

แต่การปฏิบัติธรรมนั้นต้องเป็นไปโดยลำดับ เป็นขั้นเป็นตอน เป็นส่วนๆ มีขอบเขตในการปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งเราจะใช้ศีลเป็นเครื่องมือในการกำหนดกรอบที่จะปฏิบัติ ยกตัวอย่างเช่นการลดเนื้อกินผัก เรามุ่งเป้าที่จะลดเนื้อเท่ากับศูนย์และผักเป็นหลัก

ถึงกระนั้นก็ใช่ว่าสามารถจะเข้าถึงผลได้ทันที แม้ว่าเราจะสามารถควบคุมร่างกายไม่ให้ไปเสพได้ แต่ถ้าจิตใจยังไม่สามารถชำระความหลงติดหลงยึดได้ ก็เรียกว่ายังมีกิเลสที่ต้องชำระหลงเหลืออยู่

การทำลายกิเลสนั้นเป็นการทำลายไปทีละภพของกิเลสโดยลำดับ เริ่มจากกามภพ รูปภพ และอรูปภพ เมื่อทำลายอรูปภพได้นั่นหมายถึงเราได้ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในภพทั้งหมด ทำลายความอยากที่มี จนเกิดสภาพของกิเลสดับ ซึ่งเกิดจากปัญญารู้แจ้งในกิเลส(วิชชา) ที่จะมาแทนที่ความไม่รู้(อวิชชา) ทั้งนี้ก็เป็นเพียงการหลุดพ้นเป็นเรื่องๆตามที่ขอบเขตของศีลได้กำหนดไว้

เราจะมาศึกษาเกี่ยวกับภพของกิเลสกันในกรณีศึกษา ไตรสิกขากับการลดเนื้อกินผักกัน

เมื่อเราได้เริ่มศึกษาศีลเกี่ยวกับการไม่ฆ่าและไม่เบียดเบียน ด้วยเหตุจากปัญญาที่ว่าการลดเนื้อกินผักนี้ก็เป็นหนึ่งในหนทางปฏิบัติที่เราจะไม่มีส่วนเบียดเบียน โดยมีสติเป็นเครื่องประกอบในการทนรับแรงยั่วของสิ่งที่เราเคยชอบเคยหลงใหลทั้งหลาย

1).กามภพ

ในตัวอย่างนี้จะมีให้เห็นตัวเลือกของอาหารมื้อหนึ่งของผู้ศึกษาศีลนี้ มีตั้งแต่ข้อ ก ถึง ฉ ในส่วนของข้อที่ยังมีกรอบสี่เหลี่ยมไว้ให้เลือก นั้นหมายถึงสภาพของกามภพในชนิดของอาหารนั้นๆ คือยังไม่สามารถดับความอยากในระดับที่จะเข้าไปเสพได้

นั่นหมายถึงถ้ายังเป็นตัวเลือกที่เลือกได้อยู่ ก็ยังมีโอกาสที่จะกลับไปกินเสมอ แต่ในกรณีนี้ ได้เลือก ก.ผัดผัก ทั้งที่ ค.ส้มตำปลาร้า ,ฉ. ลูกชิ้นปิ้ง ก็ยังเป็นตัวเลือกอยู่ มีเหตุปัจจัยมากมายที่ทำให้เลือกผัดผัก ซึ่งเราจะเหมาเอาว่าการเลือกผัดผักเพราะลดกิเลสได้นั้นไม่แน่เสมอไป เพราะการที่ไม่กินลูกชิ้นอาจจะมีหลายเหตุผล เช่น หาลูกชิ้นกินไม่ได้ ลูกชิ้นที่ขายราคาแพง ร้านค้าดูไม่สะอาด หรืออายคนที่ไปด้วยกัน ซึ่งความอายนี้ก็อาจจะเกิดจากเหตุผลทางโลกเช่นกลัวโดนนินทาก็ได้ แต่ก็อาจจะเกิดจากความเจริญทางธรรมได้เช่นกัน คือเกิดจากหิริโอตตัปปะที่เจริญขึ้นในจิตใจ ดังนั้นการไม่เลือกเสพสิ่งใดๆ เราจึงควรวิเคราะห์เป็นกรณีไป ไม่สามารถเหมารวมว่าเป็นการลดกิเลสได้ทั้งหมด

ลักษณะของกามภพคือมีโอกาสกลับไปเสพได้เสมอ ยังเปิดตัวเลือกไว้อยู่เสมอ ยังไม่สามารถดับตัวเลือกนี้ได้สนิท ยังมีสิทธิ์ที่จะเข้าไปเสพได้อย่างเต็มที่ ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้นก็เช่น คนที่บอกว่าตนเองจะเป็นโสดก็ได้มีคู่ก็ได้ แม้จะดูเผินๆจะเป็นสภาพไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความจริงแล้วคือสภาพของกามภพที่ยังไม่สามารถปิดประตูนรกหรือหยุดพฤติกรรมที่จะพาให้ไปเสพกามนั้นได้สนิท

ดังนั้นการยังอยู่ในกามภพคือ โอกาสที่จะกลับไปทำชั่วได้เสมอเพราะไม่ได้มีปัญญาเจริญขึ้นถึงระดับรู้ว่าการไปเสพนั้นสามารถสร้างโทษชั่วให้กับชีวิตจิตใจของเราได้อย่างไร

2).รูปภพ

รูปภพคือสภาพของการยึดมั่นถือมั่นที่น้อยลงจนไม่ไปเสพ เกิดจากปัญญาที่เจริญขึ้นมา ไม่ใช่การกดข่มไม่ไปเสพ ถ้าเกิดจากการกดข่มไม่ไปเสพนั้น จะเรียกว่าอยู่ในกามภพ แต่สามารถใช้กำลังของจิตที่ตัวเองมีกดข่มไว้ได้ ซึ่งมีโอกาสตบะแตกได้เหมือนกัน

แต่รูปภพคือสภาพที่เจริญขึ้นมาในอีกระดับ คือจะไม่ไปเสพไม่ว่าจะเหตุผลใด แต่ก็ยังมีความอยากให้เห็นเป็นรูปอยู่ ในกรณีตัวอย่างก็คือ ง.ปลาทอด ในตัวอย่างนี้ไม่มีช่องสี่เหลี่ยมให้เลือกแล้ว นั่นหมายความว่าเราจะไม่เลือกอีกต่อไปแล้ว ไม่ใช่ว่าเลือกไม่ได้นะ “แต่ไม่เลือก” คนที่ปฏิบัติธรรมลดกิเลสได้กับคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มจะต่างกันตรงนี้ คือคนที่ลดกิเลสจะไม่เลือกด้วยจิตใจปกติเพราะมีปัญญารู้ว่าถ้าเลือกแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ส่วนคนที่กดข่มจะเลือกไม่ได้ หรือไม่ยอมเลือกเพราะไม่อยากให้ตนเองไปแตะต้องสิ่งที่ไม่ดีไม่งามโดยการใช้ความพยายามของจิตมาข่มความอยาก

ถึงกระนั้นรูปภพก็ยังมีอยู่ในรายการของอาหารที่อยากกิน นั่นหมายความว่าความอยากยังไม่หมด จนกระทั่งต้องเขียนออกมาเป็นรายการหนึ่ง เปรียบเทียบให้เห็นว่าแม้จะไม่เลือกแล้ว แต่ภายในจิตใจก็ยังมีความอยากเสพในสิ่งนั้นๆอยู่ ยังคิดและปรุงแต่งไปตามกิเลสว่าสิ่งนั้นยังเป็นสิ่งที่น่าใคร่น่าเสพอยู่ แต่ก็ไม่ได้ตกต่ำจนต้องไปเสพ

ลักษณะของการปรุงแต่งก็เช่น เห็นปลาทอด ฉันไม่กินหรอก แต่ก็คิดในใจอยู่ว่า ปลาทอดก็อร่อยดีนะ ความกรอบของปลา ความนุ่มของปลาก็น่าลิ้มลอง แต่ไม่กินหรอก ไม่เอาหรอก คือมีความอยากที่เห็นได้ จับรูปของกิเลสได้ว่ายังมีอยู่นั่นเอง

3).อรูปภพ

เป็นสภาพของจิตใจที่หลุดพ้นจากกิเลสมามากแล้ว ไม่มีรูปรอยของกิเลสให้เห็นเป็นตัวเป็นตนอีกต่อไป ไม่มีคำปรุงแต่งใดๆว่าอยากกิน ไม่มีความคิดว่าจะต้องไปกินหรือคิดว่าสิ่งนั้นน่าเสพอีก แต่ก็ยังไม่หลุดจากอำนาจของกิเลสอย่างสิ้นเกลี้ยง

อรูปภพคือภพที่อันตรายมาก เพราะคนจะประมาทต่อพลังของกิเลสที่สงบลงมาจนถึงภพนี้ มีลักษณะบางจนจับอาการแทบไม่ได้ ยิ่งถ้าปฏิบัติมาอย่างกดข่ม ไม่ได้ใช้ปัญญาในการพิจารณาล้างกิเลส จะไม่มีญาณปัญญารู้กิเลสในอรูปภพได้เลย เพราะระบบของการกดข่มกับการล้างกิเลสด้วยปัญญานั้นต่างกันอย่างสิ้นเชิง

ผู้ที่กดข่มเก่งๆจะมีสภาพเหมือนหลุดพ้นจากกิเลสแม้จะไม่เคยรู้จักแจ่มแจ้งในสามภพนี้ แม้จะเป็นคนที่ปฏิบัติธรรมมาอย่างถูกทางก็จะเหมือนมีสภาพหลุดพ้นจากกิเลสในอรูปภพเช่นกัน ซึ่งหลักฐานเดียวที่แสดงให้เห็นว่ายังไม่พ้นคืออาการขุ่นใจ ไม่พอใจ ไม่สบายใจ ไม่โปร่ง ไม่โล่ง ไม่เบิกบานทั้งหลายเมื่อไม่ได้เสพ ซึ่งแม้ว่าจะปฏิบัติมาอย่างถูกตรง แม่นยำในสติปัฏฐาน ๔ ก็ใช่ว่าจะจับตัวตนของกิเลสที่เหลืออยู่กันได้ง่ายๆ

ยิ่งถ้าคนที่ปฏิบัติแบบกดข่มก็คงไม่ต้องพูดถึง เพราะการกดข่มมีกระบวนการเดียวคือกดความอยากลงไปด้วยสติหรือข้อธรรมต่างๆ ที่เป็นอุบายทำให้จิตสงบต่อความอยาก การกดข่มผลของความอยากที่เกิดขึ้นไม่ใช่การเข้าไปรู้ตัวตนของกิเลส ซึ่งเป็นเหตุแห่งทุกข์ นั่นหมายถึงไม่ได้ปฏิบัติตามหลักอริยสัจ ๔ อย่างถูกตรง ดังนั้นเป็นไปไม่ได้ที่กระบวนการกดข่มจะสามารถดับกิเลสในระดับอรูปภพได้ เพียงแค่รู้ตัวตนของกิเลสยังทำไม่ได้เลย แล้วถ้าเป็นระดับอรูปภพนี่ถึงจะไม่กดข่มมันก็ดับไปเอง มันจะโผล่มาแวบๆวับๆ แล้วก็หายไป รวดเร็ว เบาบาง จนไม่จำเป็นต้องกดข่มใดๆ นั่นหมายถึงถ้าปฏิบัติอย่างกดข่ม อรูปภพจะกลายเป็นเหมือนสภาพที่ไม่มีอยู่จริง

จึงเป็นเหตุผลที่ว่าสายที่ปฏิบัติธรรมอย่างฤๅษีทั้งหลายที่ใช้การกดข่มความอยาก ใช้สมถะอย่างเดียว จึงไม่สามารถบรรลุธรรมใดๆได้ ถึงแม้จะมีรูปสวย นั่งสมาธิได้เป็นวันเป็นเดือน กิริยาอาการน่าเคารพ พูดจาน่าเลื่อมใส มีชื่อเสียงขจรไกล แต่ถ้าไม่ฉลาดในเรื่องกิเลส ก็ยังเป็นบุคคลที่ยังมีภัยต่อตนเอง นั่นคือต้องมีการเวียนว่ายตายเกิดตามเหตุคือกิเลสกันต่อไป

ในตัวอย่างนี้ อรูปภพ จะถูกเปรียบเทียบด้วยข้อ จ. คือหมูปิ้ง หมูปิ้งไม่ใช่ตัวเลือกที่เห็นได้ชัด แต่กระนั้นก็ยังมีอยู่ มันเลือนรางจางหายไปจากเดิมมาก ถ้ามองผ่านๆก็อาจจะไม่เห็น แต่มันยังมีอยู่ มันไม่ได้หายไปไหน มันรอเวลาที่เราจะประมาทและกลับกำเริบได้

ทั้งนี้แม้จะปฏิบัติอย่างถูกตรงจนเจริญมาถึงอรูปภพ แต่ถ้าไม่กำจัดกิเลสให้สิ้นเกลี้ยงก็มีโอกาสที่จะเสื่อมถอยลงได้ เพราะกิเลสเป็นพลังงานที่เติบโตได้ สะสมได้ เรียกว่าบาป หากเราประมาทและไม่สามารถรู้ถึงตัวตนของกิเลสที่ยังเหลืออยู่ในอรูปภพได้ สักวันหนึ่งมันก็อาจจะโตและกลับมาเป็นกามภพได้ พอถึงตอนนั้นก็เมาหมัดกิเลสแล้ว หลงนึกว่าตนเองได้เปรียบอยู่ดีๆ เจอกิเลสลุกขึ้นมาสวนหมัดชนะน็อกไปเฉยๆก็เป็นเรื่องที่ไม่แปลกอะไรนัก เพราะสภาพของอรูปภพนั้นรู้ได้ยาก ดูภายนอกก็ดูแทบไม่ออก ใครก็มองไม่เห็นนอกจากตัวเราเอง

4).ข้ามสามภพ

มาถึงข้อสุดท้าย เป็นเป้าหมายของนักปฏิบัติธรรมหรือผู้แสวงหาทางพ้นทุกข์ทุกคน คือสภาพดับไม่เหลือของกิเลส ในตัวอย่างนี้จะเห็นว่ามี ก. ถึง ฉ. แต่ไม่มีข้อ ข.

แท้จริงแล้ว ข. นั้นมีอยู่ แต่มันไม่มีในจิตใจของผู้ที่ขัดเกลาตนเองจนถึงผล เพราะ ข. นั้นมี จึงไม่สามารถเลื่อน ค. เข้ามาเป็น ข. ได้ แม้มันจะดูเหมือนไม่มี แต่มันก็มีอยู่จริง แต่กลับไม่มีผลกระทบอะไรกับจิตใจของผู้ข้ามสามภพอีกต่อไป ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุขใดๆในสิ่งนั้น

จากตัวอย่างทั้งหมดนี้จึงแสดงให้เห็นว่ากิเลสนั้นจะถูกชำระเป็นชนิดๆไปตามลำดับ ตามศีลที่ตั้งไว้เพื่อศึกษา แม้ในศีลหนึ่งๆที่ศึกษานั้นก็ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยที่เข้าไปศึกษากิเลสในอาหารแต่ละชนิด เพราะเราไม่สามารถตั้งศีลแล้วชำระกิเลสได้ทั้งหมดเสมอไป เราจึงจำเป็นต้องศึกษากระบวนการของไตรสิกขา ที่จะสอนให้ค่อยๆทำ ค่อยๆล้าง ไม่โลภบรรลุธรรม ไม่รีบจนหลงผิด และไม่หลงผิดจนต้องเสียเวลาและสร้างบาป เวร ภัย สะสมแก่ตนเองโดยไม่รู้ตัว

มาถึงตรงนี้ก็ไม่ต้องไปทำอะไรกับ ข. แล้ว ก็ใช้เวลาศึกษากิเลสในอาหารตัวอื่นไปเช่น เรายังเสพสุขอะไรในส้มตำปลาร้า เราสุขเพราะปลาร้าหรือส้มตำก็แยกให้ออก เราติดอะไรในลูกชิ้น มันมีเนื้อสัตว์ผสมแม้จะไม่เป็นรูปชิ้นเนื้อแล้ว แต่มันก็ยังมีอยู่ เรายังอยากเสพอะไรในนั้น ในเมื่อเราจะไม่กินเนื้อสัตว์แล้วเราละเว้นดีไหม? ฯลฯ ซึ่งในแต่ละชนิดก็ต้องไล่ กามภพ รูปภพ อรูปภพไปเช่นกัน

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการย่อยลงในรายละเอียดของการปฏิบัติ แต่ถ้าใครอินทรีย์พละแกร่งกล้าพอ จะตัดเนื้อสัตว์ทั้งยวงไปเลยก็สามารถทำได้ สามารถถึงผลได้เช่นกันหากปฏิบัติอย่างถูกตรง โดยไม่หลงไปใช้การกดข่มแล้วเข้าใจว่าสามารถดับกิเลสได้

เพราะการที่เราไม่กินเนื้อสัตว์นั้น เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ จะเหมาเอาว่าเป็นการลดกิเลสทั้งหมดไม่ได้ ในบางกรณีอาจจะเพราะกิเลสเพิ่มด้วยซ้ำไป เช่นไปเพิ่มความยึดมั่นถือมั่นว่าฉันเป็นคนดี ว่าแล้วก็กดข่มความอยากในการกินเนื้อสัตว์ สิ่งที่จะเกิดขึ้นคืออัตตาเพิ่ม แต่กามไม่ได้ล้าง คือความหลงติดหลงยึดสุขในการเสพนั้นอาจจะยังไม่ได้หมดไป เพราะใช้ความดีเข้ามากดข่มนั่นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

23.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

การกินมื้อเดียว

March 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,620 views 0

การกินมื้อเดียว : ความเห็นความเข้าใจในเบื้องต้นสู่การศึกษาศีลกินมื้อเดียว

การกินมื้อเดียวนั้นเป็นศีลข้อหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในจุลศีลและจัดอยู่ในศีลที่เรียกว่าศีลเคร่ง (ธุดงควัตร) ซึ่งการกินมื้อเดียวนี้ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของพระหรือนักบวชเท่านั้น ศีลแต่ละข้อที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติมานั้นเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ดังนั้นการกินมื้อเดียวจึงเหมาะกับทุกคนที่ต้องการพ้นทุกข์

ในบทความนี้ก็จะขยายเนื้อหาที่น่าสนใจเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวมาทั้งหมด ๙ ข้อ เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติ

๑). ความเข้าใจที่ผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียว

แม้ว่าในเมืองไทยจะเป็นสังคมพุทธโดยส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวอยู่มาก มักจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องของพระ ฆราวาสไม่เกี่ยว เข้าใจไปว่าคนใช้พลังงานกินมื้อเดียวไม่ได้ เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะไม่มีแรง เข้าใจไปว่ากินมื้อเดียวแล้วจะหิว เข้าใจไปว่าร่างกายจะขาดสารอาหาร

ความเข้าใจเหล่านี้เป็นไปตามวิสัยของกิเลส และประกอบกับไม่มีปัญญาหาข้อมูลเกี่ยวกับการกินมื้อเดียวให้กระจ่างแจ้งจึงทำให้การกินมื้อเดียวนั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ยาก ดูลำบาก ทรมานตัวเอง ทำร้ายตัวเอง ฯลฯ ทั้งที่จริงแล้วการกินมื้อเดียวนี้คือความสมบูรณ์และความพอดีสูงสุดในชีวิต

๒). ประโยชน์ของการกินมื้อเดียว

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับประโยชน์ของการกินมื้อเดียวไว้ 5 ข้อด้วยกันคือ เจ็บป่วยน้อย ลำบากกายน้อย เบากายเบาใจ มีกำลัง เป็นอยู่ผาสุก การจะเกิดประโยชน์ทั้งหมดนี้ได้นั้นจะต้องกระทำให้ถึงที่สุดของศีลนั้นๆคือศึกษาศีลจนเกิดปัญญาขึ้นมาก็จะเข้าใจตามที่พระพุทธเจ้าตรัสได้

ซึ่งคนที่ฝึกใหม่หรือเริ่มหัดกินมื้อเดียวก็จะยังไม่สามารถเข้าถึงปัญญาเหล่านี้ได้ และยังต้องเสียพลังงานให้กับกิเลสอยู่มาก จึงทำให้การกินมื้อเดียวไม่เกิดประสิทธิภาพ ทั้งนี้ประโยชน์ของการกินมื้อเดียวสามารถขยายมาอธิบายทางโลกได้เพิ่มอีกเช่น ประหยัด มีเวลาว่างเพิ่มขึ้น ไม่ต้องเป็นภาระมาก ไม่ต้องกินมาก เหมือนรถที่เติมน้ำมันน้อยแต่วิ่งได้มากกว่ารถที่เติมน้ำมันเต็มถัง

๓). การกินมื้อเดียวแบบกดข่ม

การกินมื้อเดียวได้นั้น ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติตามหลักของพุทธเสมอไป เพียงแค่ใช้การกดข่มก็สามารถกินมื้อเดียวได้ทั้งปีทั้งชาติแล้ว โดยเฉพาะคนที่กินมื้อเดียวแบบเหยาะแหยะ คือกินข้าวมื้อเดียวนะแต่ต่อจากนั้นก็ตามด้วยน้ำปานะ นม ขนม เป็นระยะๆ ใส่พลังงานให้ร่างกายเป็นระยะ ทั้งที่จริงแล้วการกินครั้งเดียวต่อวันก็ให้พลังงานมากพอที่จะทำงานหนักทั้งวันได้

ซึ่งการกินแบบกดข่มหรือใช้สมถะเข้ามากดไว้ จะทำให้สามารถกินมื้อเดียวได้ไม่ยาก แต่ก็จะไม่มีปัญญารู้ในเรื่องกิเลส เพราะไม่ได้สนใจกิเลส รู้แค่กินได้กับกินไม่ได้ ดังนั้นจึงมีเป้าหมายคือต้องกดข่มจิตให้กินมื้อเดียวได้เท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น บางคนในระหว่างที่บวชพระก็กินมื้อเดียวได้ แต่พอสึกออกมาก็เลิกกินมื้อเดียว นั่นเพราะในช่วงที่บวชก็กดข่มไว้ แต่พอเลิกบวชไม่มีศีลมาบังคับก็เลิกกินมื้อเดียวไปด้วย ทั้งนี้เพราะไม่มีปัญญาเห็นคุณค่าของการกินมื้อเดียว และใช้การกินมื้อเดียวแบบกดข่มจึงทำให้ “ได้แค่กินมื้อเดียว” แต่ก็ไม่มีความเจริญทางธรรม

๔). การกินมื้อเดียวโดยใช้กิเลสล่อ

เราสามารถกินมื้อเดียวได้โดยใช้กิเลสล่อ เช่นมักมากในกาม อยากสวยและหุ่นดี เราก็ลดมื้อมากินมื้อเดียวก็สามารถทำได้กันมากมาย หรือมักมากในโลกธรรม อยากได้รับคำสรรเสริญเยินยอว่าทำได้ ก็พยายามกินมื้อเดียวเพื่อจะได้เสพโลกธรรม จะได้มีคนชม จะได้มีหน้ามีตา จะได้รับการยกย่องว่าทำได้

หรือใช้อัตตาเข้ามาเป็นเหตุ คือฉันทำได้ ฉันจะกินมื้อเดียว คนอื่นทำได้ฉันก็ทำได้ มันมีความยึดดีถือดีมาเป็นพลังขับดันให้ทำ ซึ่งนั่นหมายถึงเอาการกินมื้อเดียวมาเป็นตัวเป็นตน จะว่าดีมันก็ไม่ดีแท้ เพราะต้องมาล้างอัตตาที่หนาเตอะอีกที โดยเฉพาะคนที่ใช้อัตตาเข้ามากินมื้อเดียวจนยึดดีถือดี มักจะติดดีจนไม่สามารถเรียนรู้การล้างกิเลสได้เลย เพราะยึดว่าตนทำได้แล้ว ฉันเก่งแล้ว จึงไม่ฟังใคร ซึ่งจริงๆแล้วการกินมื้อเดียวโดยใช้อัตตาเข้ามา อาจจะเป็นแค่การกลบปมด้อยก็ได้ ซึ่งจะผูกปมซับซ้อนกับโลกธรรมและกามอีกทีก็เป็นได้

ทั้งนี้ทั้งนั้นการกินมื้อเดียวโดยมีกิเลสอื่นๆมาร่วม จะยิ่งทำให้ปัญหามากขึ้น เพราะลำพังความอยากกินหลายมื้อก็เป็นกิเลสที่จัดการยากอยู่แล้ว ยังเอากิเลสอื่นๆมากดมาข่ม เอามาบังปัญหาที่แท้จริงไว้อีก มันก็จะยากขึ้นอีก

๕). การศึกษาศีลในข้อกินมื้อเดียว

การถือศีลในหลักของพุทธไม่ใช่การถือแบบงมงาย ถือแบบเป็นตัวเป็นตน แต่การถือศีลนั้นๆ เรายึดถือไว้เพื่อศึกษาเกี่ยวกับกิเลสในศีลนั้นๆ เช่นศีลกินมื้อเดียวนี้ เป็นการชี้ให้เห็นว่าเรามีความอยากกินหลายมื้อมากเพียงใด เราจำเป็นต้องถือศีลให้เคร่ง แต่ไม่เครียด คือไม่ถือแบบเหยาะแหยะจนวนเวียนกลับไปกินหลายมื้อบ่อยๆ และไม่เครียดจนเกินกำลังที่จะทำได้

เมื่อฝึกอดทนบ้าง ฝึกฝืนบ้างก็จะเริ่มเห็นลีลาของกิเลสที่จะคอยให้เหตุผลกล่อมเรา เพื่อให้เรากลับไปกินหลายมื้อ ซึ่งในระยะแรกมักจะแยกกิเลสกับตัวเองไม่ออก กิเลสกับตัวเราหลอมรวมเป็นอัตตา เราจึงต้องใช้ปัญญาศึกษาศีลนี้ให้เห็นกิเลสแบบนี้ และศึกษาไปจนเห็นวิธีที่จะทำให้กิเลสเหล่านี้จางคลายไปตามลำดับ เรียกว่าการใช้ไตรสิกขา

ทั้งหมดเพื่อการข้ามกิเลสสามภพ คือข้ามกามภพ รูปภพ และอรูปภพ สามภพนี้ลีลาของกิเลสจะมีความรุนแรงต่างกัน ในกามภพก็คือ แม้ว่าจะถือศีลแต่ก็ยังแพ้ให้กับกิเลสกลับไปกินหลายมื้ออยู่

ในรูปภพหมายถึงข้ามกามภพมาได้แล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะข้ามได้สมบูรณ์ แต่ในขีดของรูปภพคือไม่ไปกิน แต่ยังมีความอยากกินปรุงอยู่ในใจ โดยสามารถรับรู้ความอยากได้

ส่วนอรูปภพเราจะไม่สามารถจับรูปของความอยากกินได้แล้ว จะไม่มีการปรุงแต่งจิตเป็นคำพูดใดๆ มีแต่อาการขุ่นมัว ไม่โปร่ง ไม่ใสเท่านั้น อาการเหล่านี้เบาบางและจางหายได้รวดเร็วมาก ถ้าคนเก่งสมถะมากๆแล้วสังเกตไม่ดีอาจจะกดข่มไปโดยอัตโนมัติแล้วหลงไปว่าข้ามอรูปภพก็ได้ ทั้งนี้อรูปภพนี่เองคือด่านสุดท้ายของการชำระกิเลสที่เรียกว่ายากสุดยาก ต้องอาศัยญาณหยั่งรู้กิเลสมาก ต้องใช้อินทรีย์พละมากในการเห็นหรือจับกิเลสที่อยู่ในภพนี้

๖). ข้อปฏิบัติในการกินมื้อเดียว

การหัดกินมื้อเดียวนั้น สำหรับผู้ที่ยังไม่เห็นประโยชน์ก็ให้หาความรู้เพื่อให้ได้ปัญญาที่เป็นพลังในการเริ่มต้น เพื่อที่จะเข้าถึงศีลให้ได้ก่อน เพราะถ้าจิตใจไม่มีความยินดี ไม่เห็นประโยชน์ คือไม่มีฉันทะ ก็จะไม่สามารถศึกษาศีลนี้ได้นาน

เมื่อเห็นประโยชน์จากการกินมื้อเดียวแล้ว เราก็จะเริ่มถือศีลอย่างตั้งมั่นตามฐานที่เรามี ซึ่งควรจะเริ่มจากเล็กน้อย เช่น 1 วันต่อสัปดาห์ แต่ถ้ารู้สึกว่าไหว ไม่ทุกข์จนเกินไปก็เพิ่มวันไปเรื่อยๆพัฒนามาเป็น 1 สัปดาห์ต่อเดือน 1 เดือน 3 เดือน ครึ่งปี หนึ่งปี จนกระทั่งตลอดชีวิต ผู้ที่หัดใหม่จะไม่สามารถดำรงสภาพของศีลนั้นๆได้นานนัก จะมีเหตุแห่งกิเลสทำให้ศีลนั้นต้องขาดอยู่เสมอ แต่สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ปัญหาเพราะการที่เราเริ่มมาศึกษาศีล เราก็ย่อมไม่รู้เรื่องกิเลสเป็นธรรมดา จึงมักจะพ่ายแพ้ให้กับกิเลสเป็นธรรมดาเช่นกัน

เพื่อให้ได้ผลที่แน่นอน เราจำเป็นต้องมีผู้รู้หรือกัลยาณมิตรที่จะมาคอยชี้นำเป้าหมายไปตามลำดับ เพราะการปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนั้นต้องกระทำไปโดยลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่เพื่อบรรลุธรรมในทันที การถือศีลกินมื้อเดียวก็เช่นกัน ในศีลเดียวนี้เองจะมีระดับความละเอียดของมันไปตามภพของกิเลส ซึ่งการกินมื้อเดียวได้ ไม่ได้หมายความว่าหมดกิเลส การดับกามภพได้ไม่ได้หมายความว่าจะดับกามภพได้ตลอดกาล นั่นหมายถึงว่าแม้จะกินมื้อเดียวได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะบรรลุผลในการศึกษาศีลแต่อย่างใด

ดังที่กล่าวไว้ตอนต้น ว่าเราสามารถถึงผลในการกินมื้อเดียวได้หลายวิธี แต่การปฏิบัติที่ถูกทางพุทธนั้นมีอยู่ทางเดียว และไม่ปนเปื้อนด้วยกิเลสใดๆ รวมทั้งยังมีความรู้แจ้งในกิเลสเป็นผลที่จะได้รับอีกด้วย

๗). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวที่ยังมีความเห็นไม่ถูกต้อง

ในปัจจุบันนั้นมีผู้กินมื้อเดียวอยู่มากมายเช่นกัน ทั้งนักบวชและฆราวาส รวมถึงผู้ถือศีลในวันพระ ทั้งนี้ความรู้สึกทุกข์ใจเพราะไม่ได้เสพหลายมื้อ ความรู้สึกว่าต้องอดทนอดกลั้นเพื่อดำรงศีลนั้นไม่ให้ขาด ความรู้สึกว่าต้องทำเพราะเป็นกุศล การทำตามเขาเพราะเขาว่ามันเป็นสิ่งดี หรือแม้แต่การทำตามศีลนั้นเพราะพระพุทธเจ้าบัญญัติไว้โดยไร้ปัญญาเช่นกัน

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเชื่ออะไรง่ายนัก แต่ให้เข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ ละเว้นสิ่งที่เป็นโทษ นั่นหมายถึงผู้ที่จะเข้าถึงศีลนั้นๆ จะต้องใช้ปัญญาของตัวเองพิจารณาเอาเองว่าดีจริงหรือไม่ ถ้าดีจริงก็ให้เข้าไปทดลองทำ แต่ถ้าเห็นไม่ดี ไม่เป็นกุศลก็ให้ห่างออกมา ทั้งนี้ทั้งนั้นศีลที่พระพุทธเจ้าบัญญัติไว้เป็นศีลเพื่อความพ้นทุกข์อยู่แล้ว เป็นคำที่กล่าวไว้ดีแล้ว เราจึงควรพิจารณาหาประโยชน์เพื่อเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ด้วยใจที่เป็นสุขให้ได้

ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถเข้าถึงสิ่งที่เป็นประโยชน์ได้ทันทีเพราะขึ้นอยู่กับขอบเขตของอินทรีย์พละของเรา ถ้าคนเห็นผิดมาก แม้เขาเอาของไม่มีประโยชน์มาล่อก็ยังเห็นว่ามีประโยชน์ไปตามที่เขาล่อลวง ในทางกลับกันแม้ว่าจะมีสิ่งดีมาเสนอให้ เป็นสิ่งที่ดีแท้ แต่อินทรีย์พละเราไม่มากพอ ปัญญาเราไม่ถึง เราก็จะไม่เห็นว่ามันเป็นสิ่งที่ดี ดังที่เขาว่า “เห็นกงจักรเป็นดอกบัว” เพราะในเมื่อแนะนำสิ่งดีให้แล้วไม่ยินดี มันก็จะไปยินดีในสิ่งชั่วนั่นเอง

การถือศีลที่ยังรู้สึกว่าต้องทรมาน อยากกินก็ไม่ได้กินนั้น เป็นการถือศีลที่ยังเป็นแบบยึดมั่นถือมั่น เป็นศีลอุปาทาน เพราะไม่มีปัญญารู้แก่นสารสาระในศีลนั้น จึงถือศีลไปตามประเพณีโดยที่ไม่ได้รู้เลยว่าตัวปัญหาที่ทำให้ทุกข์แท้จริงแล้วคือกิเลส ไม่ใช่การไม่ได้กิน

ความเห็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นผิดอยู่จะเป็น “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” คือถือศีลแต่ไม่ได้เห็นตามศีล ยังเห็นไปตามโลก เห็นไปตามกิเลสอยู่ ส่วนจะถือศีลด้วยเหตุผลใดนั้นไม่ใช่สาระสำคัญเท่าความเห็นที่มีต่อศีล

๘). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างถูกต้องแต่ยังไม่พ้นจากความอยาก

คนที่กินมื้อเดียวได้ตามทิศทางของการลดกิเลสจะต้องเห็นกิเลสที่ถูกบังคับให้แสดงขึ้นมาโดยศีลเสียก่อน ในสมัยที่เรายังกินสามมื้อ กินไปก็ไม่รู้สึกผิดอะไร แต่พอเราถือศีลกินมื้อเดียว แล้วเราไปกินสามมื้ออีก เราก็จะรู้สึกผิด ความรู้สึกเหล่านี้คือหิริโอตตัปปะ ซึ่งถ้าคนถือศีลแล้วยังไม่มีหิริโอตตัปปะก็ยังไม่ถือว่าเจริญ

แต่สิ่งเหล่านั้นก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าถูกทางหรือผิดทางชัดนัก เพราะขึ้นอยู่กับเป้าหมาย ถ้าเป้าหมายคือถือศีลเพราะเขาว่ากันว่าดี อันนี้ยังไม่มีปัญญา แต่ถ้าถือศีลแล้วเห็นกิเลสตัวเอง เห็นความอยากกินหลายมื้อของตัวเอง เห็นว่าความอยากของตัวเองนี่แหละคือต้นเหตุที่ทำให้ทุกข์ ไม่ใช่การถือศีลทำให้ทุกข์ การเห็นกิเลสนี้เองคือประตูด่านแรก

ในด่านที่สองคือต้องมั่นใจว่าความอยากนี้แหละเป็นกิเลสที่ต้องทำลายอย่างแท้จริง ต้องทำลายกิเลสนี้เท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ได้ ไม่ใช่เลิกถือศีลจะหายทุกข์ แต่ต้องกำจัดความอยากกินเกินความจำเป็นนี้ให้สิ้นซากเท่านั้น นี่คือความปักมั่นในระดับที่สอง

เมื่อผ่านสองด่านเราจะเห็นศัตรู เห็นสมุทัยหรือเหตุแห่งทุกข์ชัดแล้ว ทีนี้เราจะต้องถือศีลอย่างตั้งมั่น ไม่ถือศีลแบบลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ คือเอาให้ตึงไปเลย การอนุโลมค่อยทำทีหลังก็ได้ แต่ตอนนี้ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน เฆี่ยนกิเลส บี้กิเลสให้มันตาย ถือศีลอย่างตั้งมั่นก็จะสามารถเห็นกิเลสที่ละเอียดลงไปได้ตามลำดับ และพิจารณาให้รู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริงโดยลำดับ จะสามารถทำลายกามและอัตตาที่ซ่อนอยู่โดยใช้ศีลเป็นเครื่องตรวจจับกิเลสนั้นๆได้

ความเห็นความเข้าใจในระดับนี้จะเป็น “ กินมื้อเดียวก็น่าจะเป็นสุขอย่างที่เขาว่า แต่กินหลายมื้อมันก็ยังสุขอยู่นะ ” คือจะอยู่ในสภาพที่เห็นดีกับการถือศีลนี้แล้ว แต่ยังไม่ถึงผล ยังมีกิเลสเข้ามาทำให้ความเห็นยังเป็นไปในแนวทางของกิเลสอยู่

๙). สภาวะของผู้ที่กินมื้อเดียวได้อย่างเป็นปกติสุข

เมื่อใช้ไตรสิกขา ศึกษาอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา จนสามารถก้าวข้ามกามภพ รูปภพ อรูปภพได้ตามลำดับจึงจะถึงผลของการศึกษาศีลนั้นๆ เรียกว่าจบการศึกษาศีลนั้น จบกิเลสในเรื่องๆนั้น ก็จะได้อินทรีย์พละเพิ่มขึ้นมาจากการหลุดพ้นจากกิเลส มีกำลัง มีปัญญา มีสติ ฯลฯ ที่เพิ่มมากขึ้น

ยิ่งถ้าคนที่สามารถชำระกิเลสในระดับของการกินมื้อเดียวได้ การกินมังสวิรัติหรือการกินจืดจะง่ายไปเลยในทันที เรียกว่าเก็บสิ่งที่ยากก่อนแล้วค่อยวกไปเก็บสิ่งที่ง่ายก็จะทำได้ไม่ยาก ทั้งนี้ทั้งนั้นการทำสิ่งที่ยากก่อนได้นั้น จะทำได้เฉพาะผู้มีบุญบารมีเก่าเท่านั้น ส่วนคนที่ไม่เคยทำมาเลย ถ้าฝืนจะทำให้ทรมานมาก ซ้ำร้ายกิเลสก็ไม่ตาย กามก็เพิ่ม อัตตาก็หนาขึ้นอีก ดังนั้นการถือศีลควรจะประมาณกำลังของตัวเองด้วยว่าไหวหรือไม่

คนที่กินมื้อเดียวได้อย่างปกติสุขนั้น จะไม่มีความรู้สึกว่าจะต้องกินหลายมื้ออีกเลย จะเกิดความสบายใจขึ้นในชีวิตว่าเรานี้กินวันละมื้อก็อยู่ได้ ประหยัดอาหารไปมาก ประหยัดเงินก็มาก แถมความอยากกินหลายมื้อก็ไม่มีให้ทุกข์ทรมานจิตใจ ดูคนอื่นเขากินหลายมื้อไปก็ได้ ร่วมโต๊ะกับเขาก็ได้ แต่ไม่กินกับเขาโดยที่ไม่มีความทุกข์ใจใดๆแม้น้อย ให้ไปกินหลายมื้อก็ไม่กินเพราะรู้ว่ามันจะทรมานร่างกาย เพราะมันเกินพอดี สิ่งที่เกินพอดีก็จะกลับมาเบียดเบียนร่างกายทำให้เกิดทุกข์ทางกาย แต่ทุกข์ใจนั้นไม่มีแล้ว สะอาดจากกิเลส หมดความอยากที่จะมาทำให้จิตใจเป็นทุกข์อีกต่อไป

ความเห็นความเข้าใจจะเปลี่ยนไปจากตอนแรกโดยสิ้นเชิง คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่า “กินหลายมื้อสิเป็นสุข กินมื้อเดียวเป็นทุกข์” ส่วนคนที่บรรลุผลของศีลจะเข้าใจว่า “กินมื้อเดียวสุขที่สุดในโลก กินหลายมื้อสิเป็นทุกข์” มันจะกลับหัวกลับหางกันแบบนี้เลย

การอนุโลมนั้นเป็นไปในบางกรณีหากประมาณแล้วว่ากุศลนั้นมากกว่าอกุศล ซึ่งการประมาณกุศล-อกุศลจะต้องเรียนรู้โลกไปตามลำดับ การประมาณนั้นจะไม่เที่ยง บางครั้งก็จะขาดๆเกินๆ แต่สภาวะสุขสงบจากการไม่ต้องกินหลายมื้อนั้นเที่ยงแท้ ถาวร ไม่เวียนกลับ ไม่กำเริบ ยั่งยืนตลอดกาล เหล่านี้คือผลจากการปฏิบัติตามหลักของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

7.3.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กะลา 3 ใบ

February 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,166 views 0

กะลา 3 ใบ

กะลา 3 ใบ

ความเข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรม โดยการใช้การกินมังสวิรัติมาเป็นโจทย์และสามารถประยุกต์ใช้กับกิเลสอื่นๆได้ (* เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจปฏิบัติธรรม )

การปฏิบัติธรรมตามแนวทางของศาสนาพุทธนั้นดำเนินไปเพื่อ “ความเป็นกลาง ไม่โต่งไปทางด้านกามและอัตตา” คือไม่ไปเสพตามกิเลสและไม่ทรมานตัวเองด้วยความยึดดี ซึ่งในบทความนี้จะมาอธิบายความแตกต่างของการปฏิบัติธรรมโดยใช้มังสวิรัติกับการกินมังสวิรัติโดยทั่วไป

กะลา…

กะลา 3 ใบ จะถูกแทนด้วยสภาวะสามแบบ ใบแรก ก็คือกามในเนื้อสัตว์ การมีความอยากกินเนื้อสัตว์ ที่ยังไปกินเนื้อสัตว์นั้นๆอยู่ ยังไม่สามารถเลิกเนื้อสัตว์ได้

ใบที่สอง จะเป็นอัตตาในเนื้อสัตว์ คือความยึดมั่นถือมั่นว่าเนื้อสัตว์นั้นจำเป็นต่อชีวิต เนื้อสัตว์มีประโยชน์ ไม่กินเนื้อสัตว์จะป่วย กินอาหารให้ครบ 5 หมู่ต้องมีเนื้อสัตว์ หรือความยึดในมิติอื่นๆ เช่นยึดในกามคุณ คือติดรสชาติของเนื้อสัตว์ หรือยึดในโลกธรรม คือเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่แสดงความอุดมสมบูรณ์ของชีวิต ยิ่งกินเนื้อที่คนเขาว่าดีเท่าไหร่คนอื่นก็จะยิ่งชื่นชมและอิจฉามากเท่านั้น

ส่วนใบที่สาม จะเป็นอัตตาในมุมยึดดี เป็นความรู้สึกว่าฉันเป็นคนดี ฉันไม่เบียดเบียนสัตว์ เป็นความยึดมั่นถือมั่นว่าเราไม่ควรเบียดเบียนสัตว์ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งวัตถุดิบทางตรงและสังเคราะห์ หรือยึดมั่นถือมั่นจนกระทั่งไม่ยอมให้ส่วนหนึ่งส่วนใดของเซลล์สัตว์เข้ามาร่วมในอาหารที่กิน ซึ่งอาจจะมีโลกธรรมเข้ามาเป็นแรงผลักดันในการยึดเช่น อยากได้ชื่อว่าเป็นคนดี อยากให้คนชม อยากให้คนนับถือ

…ซึ่งกะลา 3 ใบนั้นแท้จริงแล้วก็คือภพที่คนเข้าไปติดไปยึดอยู่นั่นเอง เราจะมาอธิบายภาพกันต่อไปเพื่อให้เห็นรายละเอียดของความต่างระหว่างคนที่ยังกินเนื้อสัตว์ คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์ และคนที่ปฏิบัติธรรม

ก). คนที่ยังกินเนื้อสัตว์

คนที่ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อยู่ โดยทั่วไปแล้วก็มักจะต้องกินตามความอยาก จะอยู่ในกามภพของเนื้อสัตว์ คือยังไปเสพ ไปติด ไปยึดในการกินเนื้อสัตว์อยู่ ถ้าแบบหยาบๆก็คือเสพติดเนื้อสัตว์ขนาดว่าต้องตระเวนหาเนื้อที่เขาว่าดีมากิน ร้านไหนดีก็ตามไปกิน ถ้าแบบกลางๆ ก็คนกินเนื้อสัตว์ทั่วไป อย่างดีหน่อยก็พวกรักสุขภาพที่กินผักมากกว่ากินเนื้อสัตว์

ถึงแม้ว่าจะเป็นคนที่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ แต่ถ้ายังอยากกินเนื้อสัตว์จนต้องไปกินอยู่ก็ยังถือว่าอยู่ในภพนี้ ยังไม่ตัดให้ขาด ยังวนเวียนอยู่ในการกินเนื้อสัตว์ แม้จะเลิกกินได้เป็นสิบปียี่สิบปี แล้ววนกลับมากินด้วยความอยากก็ถือว่ายังไม่สามารถทำลายกามภพได้

คนส่วนมากในสังคมปัจจุบันจะอยู่ในภพนี้ แม้ว่าเขาจะเห็นโทษหรือไม่เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ก็ตาม ภาพที่เห็นก็คือยังกินเนื้อสัตว์อยู่ แต่สิ่งที่ซ่อนไว้ข้างใต้นั้นก็คืออัตตาที่หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ดี การกินเนื้อสัตว์เป็นสุข เมื่อมีการยึดมั่นถือมั่นนี้ จึงส่งผลให้เกิดการพาตัวเองไปเสพเนื้อสัตว์ตามที่ใจอยาก

ข). คนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

เมื่อเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์มากเข้า คนบางพวกจึงหันมาลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์นั้นเสียทั้งหมด ซึ่งหลายคนก็สามารถผ่านพ้นกามภพนั้นได้ นั่นหมายถึงไม่ไปกินเนื้อสัตว์อีกเลย

กระบวนการเหล่านี้ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติธรรมแต่อย่างใด แต่เป็นสามัญสำนึกหรือการยึดดีถือดีโดยธรรมชาติของคน เป็นความดีทั่วไปที่เข้าใจได้ไม่ยากว่าการกินเนื้อสัตว์คือการทำสิ่งไม่ดีทางอ้อม อยากทำดีก็เลิกกินเนื้อสัตว์มันก็เท่านี้

ความอยากให้เกิดดีนั้นคือหมายให้เกิดผล แต่เหตุคือจะต้องเลิกกินเนื้อสัตว์ ด้วยแรงบันดาลใจอะไรก็ได้เช่น ไม่อยากเบียดเบียน สงสารสัตว์ รักษาสุขภาพ ฯลฯ แต่ภาพสุดท้ายที่ได้จากการเลิกกินเนื้อสัตว์คือจะได้ภาพคนดีติดมาไม่มากก็น้อย ซึ่งถ้าใครพอใจในจุดนี้ก็มักจะจบที่ตรงนี้ กินมังสวิรัติได้ กินเจได้สมบูรณ์ก็จบไป ไม่ศึกษาต่อ เพราะได้อยู่ในภพคนดีที่ตนต้องการแล้ว

การเกิดภพเช่นนี้ไม่ใช่การทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์ แต่เป็นการกดข่มความอยากกินเนื้อสัตว์ไว้ด้วยความยึดดี เหมือนเอากะลาคนดีมาครอบความชั่วไว้ มันก็จะเห็นแต่ความดี ส่วนที่ซ่อนอยู่นั้นไม่รู้ ซึ่งความยึดดีถือดีนี้จะสามารถกดข่มความอยากจนมิดเลยก็ได้

การกดข่มด้วยความยึดดีจะเปลี่ยนสภาพกามในเนื้อสัตว์มาเป็นกามในผัก แต่จะพัฒนาจนปรุงแต่ง รูปร่าง กลิ่น สี รส ของอาหารให้เหมือนเนื้อสัตว์ได้ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสังเคราะห์ สิ่งเหล่านี้คือหลักฐานว่าความอยากไม่ตาย เพียงแต่กดมันไว้ด้วยความยึดดี พอมันอยากแต่ไม่ได้กินสิ่งที่อยากมันก็สร้างสิ่งทดแทนมาเท่านั้นเอง ซึ่งสมัยนี้สิ่งทดแทนเหล่านี้หาได้ง่ายและราคาไม่แพงจนเกินไป

ทีนี้ปัญหามันก็จะอยู่ที่ความยึดดีนี่แหละ ถามว่าคนที่อยู่ในภพเช่นนี้เลิกกินเนื้อสัตว์ทั้งชีวิตได้ไหม? ก็จะบอกเลยว่าได้ เพราะเวลายึดดีถือดีนี่มันยึดกันข้ามภพข้ามชาติได้เลย บางคนเกิดมาชาตินี้แค่คิดก็สามารถเลิกกินเนื้อสัตว์ได้เลย อาการแบบนี้คือมีพลังกดข่มสะสมมามาก

แต่ถ้าถามเรื่องกิเลสก็จะไม่รู้ชัดแจ้ง ถามเรื่องความอยากก็จะไม่เข้าใจอย่างถ่องแท้ เพราะไม่ได้ใช้ปัญญาในการทำลายกิเลส แต่ใช้พลังสมถะ พลังจิต พลังเจโต อัตตาฝ่ายดีในการกดข่มความอยาก จึงเกิดสภาพ กดดัน อึดอัด ไม่โปร่ง ไม่โล่ง เจ้าระเบียบ ไม่ปล่อยวาง ติดดียึดดี เต็มไปด้วยกฎ ไม่ยืดหยุ่น แข็งกร้าว เอาแต่ใจ หมกมุ่น ถือตัวถือตน โดนด่าไม่ได้ โดนดูถูกไม่ได้รังเกียจคนกินเนื้อ รังเกียจที่ต้องกินเนื้อสัตว์ ทุกข์เมื่อเห็นเมนูเนื้อสัตว์ฯลฯ

ยิ่งคนที่มีอัตตามากและฝึกสมถะมามากจะสามารถกดกามภพ คือไม่ไปเสพ กดรูปภพ คือไม่คิดจะเสพ ลงได้แบบไม่ทันรู้ตัว คือกดข่มแบบอัตโนมัติ เป็นไปตามสัญชาติญาณ เอาง่ายๆว่าจะดูสงบไม่หวั่นไหวเหมือนผู้บรรลุธรรมกันเลยทีเดียว ทั้งที่จริงๆแล้วเป็นสภาพของจิตที่กดข่มความชั่วโดยอัตโนมัติแล้วสติไม่ทันรู้ตัวก็หลงว่าตัวเรานั้นพ้นจากอัตตาได้เช่นกันบางทีหลงเข้าใจว่าการกระบวนการทำงานของจิตเหล่านั้นคือสติไปด้วย ทั้งๆที่สภาวะใดๆที่ทำโดยอัตโนมัติและไม่มีปัญญานั้นไม่มีสติเป็นองค์ประกอบทั้งนั้น

จึงขอยืนยันเลยว่าการลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติ กินเจได้ทั้งชีวิต ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติธรรมที่ถูกแนวทางพุทธแม้แต่นิดเดียว แม้ผู้ที่ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีศาสนา หรือมิจฉาทิฏฐิที่เสื่อมที่สุดในโลกก็สามารถที่จะไม่กินเนื้อสัตว์ได้

ค). คนที่ปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรม โดยใช้วิถีปฏิบัติของพุทธศาสนาเข้ามาเรียนรู้กิเลส โดยใช้การลดเนื้อกินผัก กินมังสวิรัติเข้ามาเป็นโจทย์ในการฝึกปฏิบัตินั้นจะต่างออกไปจากการใช้ความยึดดีเข้ามากลบความชั่ว

เพราะการปฏิบัติที่ถูกต้องไปโดยลำดับนั้น จะให้ผลคือการทำลายทีละภพไปตามลำดับตั้งแต่เลิกกินเนื้อสัตว์ ทำลายความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ และทำลายความติดดี ยึดดีถือดีว่าฉันเป็นคนที่เลิกกินเนื้อสัตว์

นั่นคือการทำลายแต่ละภพที่จิตได้ยึดมั่นถือมั่นไว้โดยลำดับ ซึ่งจะต่างไปจากการกดข่ม เพราะมีขั้นตอนและกระบวนการที่เป็นไปโดยลำดับตั้งแต่หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ได้ใช้อัตตาเข้ามากดข่มความชั่วแล้วเลิกกินเนื้อสัตว์ในทันที

ผลที่แตกต่างจากวิธีที่ใช้อัตตาเข้ามาช่วยในการเลิกกินเนื้อสัตว์ คือมีความยืดหยุ่น มีปัญญารู้แจ้งในโทษชั่วของความอยากกินเนื้อสัตว์ รู้เหลี่ยมรู้มุมของกิเลสที่เจอมา ไม่สุขไม่ทุกข์ใดๆ แม้ว่าจะต้องกินเนื้อสัตว์ หรือไม่ได้กินเนื้อสัตว์ เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่นใดๆอีก

แต่โดยสามัญแล้วจะไม่ไปกินเนื้อสัตว์ เพราะมีปัญญารู้ว่ากินแล้วจะเกิดผลร้ายอย่างไร ไม่ใช่การไม่ไปกินเพราะความยึดดีถือดีด้วยอัตตา สภาพสุดท้ายจะเหมือนคนที่กินมังสวิรัติทั่วไป

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อจะชี้ให้เห็นถึงความต่าง ซึ่งสุดท้ายแล้ว ก็แล้วแต่ว่าใครจะสนใจและพอใจที่จะอยู่ในภพแบบไหน บางคนยังอยากเสพ บางคนยังยินดีกับการยึดดี ชอบเป็นคนดี หรือจะเรียนรู้การทำลายภพก็สามารถเลือกเอาได้ตามกำลังศรัทธา

– – – – – – – – – – – – – – –

27.2.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)