Tag: ความยึดมั่นถือมั่น

การช่วยเหลือคนทุศีล

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,478 views 0

จากบทความที่กล่าวถึง การเลิกรับใช้คนชั่ว ก็มีคำถามเข้ามาว่า “แล้วถ้ามีคนมาขอเงิน และเค้าเป็นคนทุศีล แต่เราให้แค่ข้าวเค้าพอกิน 1 มื้อ เพราะถือว่าฝึกการทำทานแบบไม่เลือกไม่เจาะจง อย่างนี้ได้ไหมคะ หรือ ไม่ควรให้เลย

ตอบ : ถ้าผมเห็นชัดแล้วว่าเขาเป็นคนทุศีล เน่าใน ประพฤติชั่วจริง ก็จะไม่ให้การสนับสนุนใด ๆ เลยครับ

การไปยุ่งกับคนชั่วคนพาลนั้นในท้ายที่สุดก็จะเป็นการสร้างทุกข์ให้ตน ดังนั้นมงคลชีวิตประการแรกเลย ก็คือการห่างไกลคนพาล ก็คือคนทุศีลเน่าในเหล่านั้นนั่นแหละ

ทีนี้มานิยามคนทุศีลเพิ่มกันหน่อย คนทุศีลคือผู้ที่ตั้งใจไว้ว่าจะถือศีล แล้วล่วงละเมิดศีลเหล่านั้นเป็นนิจ หรือคนที่ประกาศตนว่าจะเสียสละ แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน เป็นต้น คือคนที่ทำผิดจากธรรม แล้วไม่แก้กลับ ไม่กลับมาทำดี

แม้ใจเราจะบริสุทธิ์ แม้ทานที่เราให้จะบริสุทธิ์ แต่ผู้รับไม่บริสุทธิ์ มันก็ยังเหลือส่วนที่ไม่บริสทธิ์อยู่ดีนั่นเอง การห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชาจึงเป็นการอุดรูรั่วตรงนี้ คือเข้าไปอยู่ในสังคมที่ดี คบแต่คนที่ดีไปเลย โอกาสพลาดไปทำทานที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะลดลง

ส่วนการฝึกทำทานนั้น ทานในพุทธมีไว้เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเป็นอันดับแรก คือทำกิจตนก่อน อีกส่วนคือกิจท่าน หรือประโยชน์ของผู้อื่น อันนี้เราควรจะศึกษาเรียนรู้ให้ดีว่าเราควรจะให้ทานนั้นแก่ใคร

ในอนุตตริยสูตร ได้กล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยียม การบำรุงก็คือการทำให้สิ่งนั้นเจริญเติบโตยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสยกตัวอย่างว่า

“ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว”

จะเห็นว่าเราจะไปบำรุงส่งเสริมใครมั่ว ๆ ไม่ได้นะ เพราะจะกลายเป็นการบำรุงที่เลว ส่วนการบำรุงที่ดีคือการบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกนั่นเอง

การจะให้ทานที่ไม่เจาะจง ก็ควรจะตั้งทิศตั้งธงให้ชัดก่อนว่าจะให้ทานกลุ่มไหน เพราะจะมีกลุ่มที่ให้ไปแล้วไม่พาเราพ้นทุกข์กับกลุ่มที่พาเราพ้นทุกข์ เราก็ไม่เจาะจงในกลุ่มที่เราเห็นว่าดีนั่นแหละ คือไม่ใช่ยึดเอาตัวครูบาอาจารย์เป็นหลัก แต่ให้กระจายไปในกลุ่มคนดีนั้น ๆ

ไม่รักคนอื่นแล้วไม่รักตัวเองล่ะ จะพ้นทุกข์ไหม?

February 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 530 views 0

มีคำถามในประเด็นของ “การไม่รักใครคือที่สุดของความสุข ไม่มีความเศร้า” ว่า มันต่างอย่างไรกับคนที่รักหรือไม่รักตัวเอง เขาน่าจะหมายความว่า “แล้วทีนี้คนไม่รักตัวเองจะพ้นทุกข์ไหม” ล่ะนะ ก็เดา ๆ เอา

คำของพระพุทธเจ้าที่ว่า “ผู้ใดไม่มีสัตว์หรือสังขารอันเป็นที่รักในโลกไหนๆ ผู้นั้นเป็นผู้มีความสุข ปราศจากความโศก

คำว่า อันเป็นที่รักนั้น คือสภาพของอุปาทาน เป็นความยึดมั่นถือมั่น สำคัญมั่นหมายว่านี่คือฉัน นี่ของฉัน เพราะหลงว่าสิ่งเหล่านั้นเป็นประโยชน์แท้

ถ้าเรายึดไปว่าสัตว์ เช่นสัตว์เลี้ยงจะเชื่องกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งเขากัดเรา เราก็เจ็บ และเราก็ยังจะต้องเป็นทุกข์จากความผิดหวังอีกด้วย ถ้าเราไม่ยึดอะไร โดนกัดก็แค่เจ็บ แต่จะไม่ผิดหวัง เพราะไม่ได้ตั้งความหวัง

เช่นกันกับคนที่เรารัก ถ้าเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด แล้ววันหนึ่งมันมีเหตุปัจจัยให้เขาฉุนเฉียวใส่เรา เราก็จะผิดหวัง เศร้าหมอง เพราะเราไปยึดว่าเขาจะดีกับเราตลอด เราจะผิดหวัง เพราะเราไปตั้งความหวังไว้ผิด

เรื่องสังขารร่างกาย เช่น เราไปยึดว่าเรามีสุขภาพดี เราไม่เคยป่วย เรารักสังขารนี้ แต่พอวันหนึ่งมันป่วยขึ้นมา มันจะทุกข์มากกว่าที่ควรจะเป็นเพราะใจมันผิดหวัง มันไม่เป็นไปตามความยึดที่มี ใจมันก็ดิ้น ปฏิเสธความจริงในปัจจุบัน รำพึงรำพัน เช่นว่า เนี่ย เราไม่เคยป่วยเรา เราก็แข็งแรงมาตลอด ฯลฯ

เรื่องสังขารความคิดเช่น เรารักความเห็นนี้ของเรา เราชอบใจที่ว่าไม่กินเนื้อสัตว์นี่มันดี ไม่เบียดเบียนสัตว์ แต่พอมีคนมาพูดกระทบสิ่งที่เรารัก ทำให้สิ่งที่เรารักลดค่า โดนดูถูก เหยียดหยาม เหน็บแนม เราก็จะขุ่นเคืองใจ เพราะเราไม่อยากให้สิ่งที่เรารักเป็นอย่างอื่น อยากให้เราคิดแบบนั้น อยากให้คนอื่นเคารพในความคิดเรา อยากให้เขาคิดแบบเรา เราก็ทุกข์

ดังนั้นถ้าเราไปไม่ใส่ความรัก คือไม่ไปยึดสิ่งใดมาเป็นของตน ไม่พยายามทำให้สิ่งใดเป็นดั่งใจตน ไม่นิยมชมชอบสิ่งใดเป็นพิเศษ มันก็จะไม่ทุกข์ อันนี้อธิบายเหตุกันก่อน

ส่วนการที่ว่าคนไม่รักตนเองจะพ้นทุกข์ เป็นสุขไหม? อันนี้มันเป็นปัญหาของการสื่อภาษา จะอธิบายได้ทั้งสองแบบก็ได้ คือพ้นทุกข์กับไม่พ้นทุกข์

เช่น ถ้าไม่รักตนเอง ไม่หลงตน ไม่สำคัญตนในความเป็นตน ยังไงก็พ้นทุกข์ เป็นสุข คือสภาพของการสลายอัตตาทิ้ง จะเหลือแต่ปัญญา ก็ใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ทำสิ่งที่เป็นประโยชน์

หรือ ถ้าไม่รักตนเอง ทำแต่บาปและอกุศลกรรม ใช้ชีวิตเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น อันนี้มันก็มีแต่ทุกข์และนรกเป็นที่ไป

รักตัวเองก็เช่นกัน มันก็รักได้ทั้งแบบเพิ่มกิเลสและแบบลดกิเลส ถ้ารักให้ถูกต้องลดกิเลส ทำประโยชน์แก่ตน แต่คนทั่วไปเขาจะเข้าใจว่ารักตัวเอง คือการบำเรอตนเอง หาอาหารแพง ๆ อร่อย ๆ มาให้ตนเสพ พาตนเองไปเที่ยว ไปเสพสุขที่ต่าง ๆ อันนี้เขาก็เรียกว่ารักตนเอง

ภาษามันก็ดิ้นกันได้ มันต้องดูว่าเขามีเจตนาทางกาย วาจาใจอย่างไร ทำแล้วหมายให้เกิดอะไร แต่การจะไม่รักตัวเองให้ได้นั้น จะต้องเลิกรักสิ่งอื่น สัตว์อื่น คนอื่นให้ได้ก่อน เพราะตัวเรานี่เป็นสิ่งที่เรารักที่สุด มันต้องมีลำดับของการถอยออกมา คือเลิกรักสิ่งรอบตัวก่อน แล้วมันจะเหลือแต่ความรักตัว รักในความเห็นตัวเอง สุดท้ายจะไปติดแถว ๆ “มานะ” ซึ่งเป็นสังโยชน์เบื้องสูง นั่นคืออาการรักในความเห็นตน มันรัก มันยึด มันก็เลยไม่ไปไหน ไม่เจริญไปมากกว่านั้น

รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย

January 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 734 views 0

รักที่พาเจริญ ต้องไม่ทำร้าย

ความเห็นที่ว่าการมีรักนั้นก็พากันให้เจริญได้ ช่วยเหลือเกื้อกูลกันไปทั้งทางโลกทางธรรม จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ ไม่มีการทำร้ายกัน ไม่อย่างนั้นแล้ว วาทกรรมเหล่านั้นก็เป็นเพียงแค่คำลวงของมารที่จะล่อใจคนให้หลงเสพหลงสุข ลวงให้เห็นกงจักรเป็นดอกบัวเท่านั้นเอง

การทำร้ายนั้นมีหลากหลายมิติ ถ้าแบ่งชั้นต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายและจิตใจ ในมิติของการทำร้ายจิตใจก็จะมีรายละเอียดที่ลึกซึ้งแตกต่างกันไป

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายร่างกาย

การทำร้ายร่างกายนั้นเป็นการทำร้ายที่หยาบที่สุด เห็นได้ชัด ไม่ใช่ความปกติของคนดีมีศีล แต่เป็นธาตุของคนทุศีลที่หมายทำร้ายผู้อื่น เพื่อให้สาแก่ใจตน การทำร้ายกันในคู่รักมักจะมีความจัดจ้านรุนแรง ไม่เหมือนกับพ่อแม่ที่ตีลูกไป ตัวเองก็เสียใจไป การลงโทษลงทัณฑ์ โดยการทำร้ายในนามแห่งความรักนั้น มักจะมีความรุนแรงกว่าเหตุการณ์ปกติในชีวิตทั่วไป ใครไม่เคยเจอการทำร้ายกัน ก็อาจจะได้มาเจอกับคนรักที่ทำร้ายนี่แหละ บางคนพ่อแม่ไม่เคยตี แต่ก็มาโดนคู่รักทำร้าย อันนี้ก็เป็นตัววัดความไม่เจริญอย่างหยาบ การทำร้ายร่างกาย จะยิ่งทำให้เสื่อมจากความดีงามไปเรื่อย ๆ จนเป็นทำร้ายกันรุนแรงขึ้น ถึงขั้นฆ่ากันตายมีให้เห็นเป็นตัวอย่างกันมามากมาย

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำร้ายจิตใจ

ในการทำร้ายจิตนั้น เบื้องต้นก็เป็นการทำร้ายร่างกายที่มีผลต่อจิตใจ อันนี้ก็เป็นอย่างหยาบ ละเอียดขึ้นมาหน่อยก็เป็นการใช้คำพูด ภาษา ในการทำร้ายจิตใจกัน ละเอียดขึ้นมาอีกก็เป็นการชักสีหน้า ออกอาการไม่พอใจ กดดันอีกฝ่าย ทำร้ายจิตใจกัน หรือเย็นชาสุด ๆ ก็กลายเป็นไม่พูด ไม่สนใจ กดดันโดยการคว่ำบาตร ก็เป็นการทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย การกระทำเหล่านี้จะมีเจตนาเป็นตัวกำหนดว่าตั้งใจทำให้อีกฝ่ายเป็นทุกข์ ต้องการสั่งสอน ลงทัณฑ์ ใช้อำนาจแห่งความรักในการทำร้ายกัน ถ้าไม่ได้มีเจตนาแฝงว่าทำไปเพื่อเสพสมใจตน ทำไปเพื่อให้เขายอมตน หรือทำไปเพื่อต้องการเอาชนะ ต้องการเพียงจะสื่อสาร อยากให้เขาปรับตัว ให้พ้นทุกข์โดยไม่ได้ยึดมั่นถือมั่น ก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ส่วนใหญ่แล้ว มักจะทำร้ายจิตใจผู้อื่นเพื่อเอาใจตนเองเป็นหลัก คือเอาแบบฉัน ฉันถูกที่สุด เธอผิด อะไรแบบนี้

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หวั่นไหว

การที่จะเจริญไปในทิศทางแห่งความผาสุกได้นั้น ใจจะต้องไม่หวั่นไหว การที่จะมีความรักแล้วต้องทนอยู่กับความหวั่นไหว จะเรียกว่าเป็นความเจริญนั้นเป็นไปไม่ได้เลย คนจะหวั่นไหวกันตอนไหน ก็เช่น ตอนเขามาจีบ ก็ตอนเขาบอกรัก หรือบอกเลิกกันนั่นแหละ คำเหล่านั้นล้วนเป็นคำที่มีเจตนาทำให้คนหวั่นไหว จิตใจสั่นคลอน อ่อนแอ ยอมรับรัก ยอมเป็นทาสรัก ยอมสารพัดยอม ยอมพลีกาย พลีใจให้กับการกระทำหรือคำพูดที่พาให้หวั่นไหว ให้ใจหลงเคลิ้ม อันนี้ก็เป็นการทำร้ายของมารที่แฝงมา คนดีมีศีลจะไม่ทำให้ใครหวั่นไหว จะไม่ล่อลวง จะไม่จีบ สุภาพบุรุษที่แท้จริงนั้นจะไม่จีบใคร ไม่เกี้ยวพาราสี เพราะเป็นเหตุที่จะทำให้คนหวั่นไหว เป็นทุกข์ กระวนกระวายใจ ก็เป็นการทำร้ายกันในมิติที่ลึกซึ้งขึ้น เป็นมิติที่คนทั่วไปยากจะเข้าใจแล้ว เพราะเขามองว่าการจีบกันรักกันเป็นเรื่องธรรมดา แต่ในทางธรรมนะนั้น การทำให้หวั่นไหว ให้เกิดความใคร่อยาก  ให้เกิดความกลัวที่จะไม่ได้เสพ ก็มีแต่มารเท่านั้นแหละ ที่จะทำสิ่งนั้น

 

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้หลง

การทำให้หลง เป็นการทำร้ายจิตใจกันอย่างลึกซึ้งแบบข้ามภพข้ามชาติ ทำให้อ่อนแอ เป็นทาส ขาดอิสรภาพ เหมือนคนตาบอด มืดมัว เศร้าหมอง อยู่แต่ในกรอบที่มารกำหนดไว้ คือรักแต่ฉัน หลงแต่ฉัน เชื่อแต่ฉัน ทุ่มเทชีวิตให้ฉัน การทำให้อีกฝ่ายอ่อนแอและไม่พึ่งตนเอง คือการทำลายศักยภาพของการเป็นมนุษย์ เป็นเบื้องต้นของการกระทำของมาร คือแสร้งว่า ฉันจะให้ความรัก ให้ความปลอดภัย ให้ความสุข ให้ความเจริญ เธอจงมาพึ่งฉัน อยู่กับฉัน ฯลฯ จะมีการหว่านล้อมให้หลงรัก หลงเชื่อใจ จนยอมทิ้งชีวิตจิตใจฝากไว้กับคน ๆ นั้น ทั้ง ๆ ที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ให้พึ่งตน ให้มีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์เป็นที่พึ่ง คือปฏิบัติให้ตนมีความเป็นพุทธะ ธรรมะ สังฆะในตนนั่นแหละเป็นที่พึ่ง ไม่ใช่เอาคู่รักเป็นที่พึ่ง แต่รักที่ทำร้าย เขาจะไม่ให้ไปพึ่งคนอื่น เขาจะให้พึ่งพาแต่เขา เขาจะให้หลงแต่เขา ให้รักแต่เขา ให้มัวเมาแต่เขา

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำลายอิสระในการทำดี

ความเจริญกับการทำดีนั้นเป็นของคู่กัน ถ้าความรักหรือคู่รักนั้นมาขัดขวางการทำดี นั่นก็แสดงว่า ความรักนั้นกำลังขัดขวางทางเจริญ การทำดีนั้นก็มีเรื่องของการทำทาน การถือศีลให้เกิดความลดละกิเลสได้ แต่ความรักผีที่แฝงตัวมาจะกั้นไม่ให้คนทำทาน ไม่ให้คนเสียสละ บางคนเสียเงินพอทนได้ แต่จะให้ไปปฏิบัติธรรม ทำดีกัน 5 วัน 10 วัน นี่เขาจะไม่ปล่อย เขาจะไม่ยินดี เขาจะกั้น สารพัดเหตุผล บ้านต้องดูแล งานต้องทำ เงินต้องหา ฯลฯ ทั้ง ๆ ที่องค์ประกอบเหตุปัจจัยมันอาจจะไม่ได้จำเป็นขนาดนั้น หรือในเรื่องถือศีล คู่รักกับศีล ๘ ในข้อประพฤติพรหมจรรย์จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกกัน เพราะเป็นธาตุตรงข้าม ผีกับมาร แค่ถือศีล ๕ ก็ว่ายากแล้ว ศีล ๘ นี่ยิ่งยากไปใหญ่ เขาจะไม่ยอม คนที่เขามีกิเลส มีความอยากมาก ๆ เขาจะไม่ยอมให้คู่ถือศีล ๘ เขาจะกั้นจากความดีที่เลิศกว่า จะจำกัดอิสระ ขังไว้ในความดีน้อย ๆ ความดีที่ต้องมีฉันเป็นกำแพง มีฉันเป็นเพดาน ดีไม่ดีเอาลูกมาผูกไว้อีก ดังที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกบุตรว่า บ่วง เพราะท่านรู้ว่านี่คือสิ่งที่จะผูกมัดท่านไว้ มารก็จะทำแบบนี้เช่นกัน เขาจะมัดคู่ไว้ด้วยการมีลูก คือสร้างบ่วง สร้างห่วงขึ้นมาให้มันมีเหตุที่จะต้องอยู่รับผิดชอบ ให้อยู่เล่นละครพ่อแม่ลูกไปกับเขา กั้นไม่ให้เราเหลือเวลาเอาไปทำความดีแก่ผองชนมาก ๆ ให้เราทำดีแต่ในคอกแคบ ๆ ที่เรียกว่าครอบครัว

รักที่พาให้เจริญต้องไม่ผูกมัด

ความยึดมั่นถือมั่น คือการทำร้ายจิตใจตนเองและผู้อื่น ความเจริญนั้นจะเกิดขึ้นเมื่อผู้มีความรักนั้น รักอย่างไม่ยึดมั่นถือมั่น นั่นหมายความว่า ถ้าคู่ของเขา พร้อมจะจากไป ก็ยินดี ยอมให้ไปโดยไม่เหนี่ยวรั้ง เคารพสิทธิ์ เคารพความคิด คือ ถึงบทที่จะต้องจากกัน หรือมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ก็ไม่ยึด ยื้อ รั้ง กันไว้ ไม่ตรงก็ไม่ขังเขาไว้ ก็ปล่อยไปตามทางที่เขาเลือก ไม่ใช่เป็นไปตามใจที่เราเลือก ให้อิสระกับเขา ไม่ผูกมัดเขา ปล่อยวางจากเขา อันนี้คือความเจริญ ส่วนความเสื่อมก็คือไปล่อลวง อ้อนวอน หลอกล่อเขาไว้ให้อยู่กับตน พยายามจะผูกมัดเขาไว้ด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ อันนี้ความรักผี พาให้เป็นทุกข์ ตัวเองก็เป็นทุกข์ คนอื่นก็เป็นทุกข์ แสดงให้เห็นความคับแคบในใจ จะเอาแต่ใจตน ใจไม่กว้าง คิดจะรักต้องใจกว้าง ให้อิสระ เคารพความเห็นของคนอื่น ให้สิทธิ์เขาเลือกที่จะเดินเข้ามาหรือจากไป โดยไม่ยึดมั่นถือมั่น

รักที่พาเจริญต้องไม่หลอกหลอน

รักที่พาให้หลง คือความรักที่ทำให้จิตเกิดความหลอกหลอน วนเวียนเสพสุขกับความทรงจำ ที่แม้ปัจจุบันจะไม่เหลืออะไรแล้ว แต่ความสุข ความเศร้า บทละครมันยังวิ่งวนเวียนหลอกหลอนอยู่ในหัว คิดถึงทีไรก็เป็นสุข สุขที่ได้เสพความทรงจำ หอมหวานอยู่ในภพที่ฝังตัวเองไว้ ติดตรึงใจ หลอกหลอนไม่รู้ลืม ความรักที่พาให้เจริญจะไม่สร้างผลแบบนี้ จะมีเฉพาะความรักแบบผี หรือรักด้วยกิเลสเท่านั้น ที่สร้างผลที่จะหลอกคนให้หลงหลอนอยู่ในภพแห่งความฝัน

รักที่พาเจริญต้องไม่ทำให้เกิดทุกข์

ในมิติที่ละเอียดลึกซึ้งที่สุดคือ รักแล้วต้องไม่มีทุกข์ในใจเลย จึงจะเจริญได้ ถ้ายังมีทุกข์อยู่แสดงว่ายังไม่เจริญ ความเจริญคือความไม่ทุกข์ ไม่ใช่การจมอยู่กับทุกข์ อันนั้นเรียกว่าเสื่อม ไม่เจริญ ถดถอยไปเรื่อย ๆ อันนี้ต้องใช้สติไปจับอาการทุกข์ของตัวเองกันดี ๆ ว่ามีทุกข์เกิดมากเท่าไหร่ ทุกข์ขนาดไหน ในชีวิตประจำวัน ความกังวล ระแวง หวั่นไหว นั้นก่อให้เกิดทุกข์ แค่คู่ครองไม่รับโทรศัพท์ คู่ครองกลับบ้านไม่ตรงเวลา คู่ครองไปคุยกับคนอื่น มันจะผาสุกไหม มันจะทำใจให้เบิกบานได้ไหม ถ้ากระทบกับความไม่ได้ดั่งใจแล้วใจยังมั่นคงอยู่ในความผาสุกได้ก็เจริญ แต่ถ้าหวั่นไหว ทุกข์ทนข่มใจไปตามสถานการณ์ ที่เหมือนกับเรือที่ลอยอยู่ท่ามกลางทะเลที่แปรปรวนด้วยลมพายุ แม้จะทรงตัวอยู่ได้ ก็ใช่ว่าจะทนอยู่ได้ตลอดไป ก็อาจจะต้องพ่ายแพ้อับปางลงสักวัน ไม่เหมือนกับคนที่ปฏิบัติจนไม่ทุกข์ อันนั้นเขาไม่ติดโลก ไม่ติดทะเล เหมือนลอยอยู่ในอากาศ ความแปรปรวนใด ๆ ล้วนไม่มีผล ไม่น่ายึดไว้ ก็แค่ไปหาสภาพที่ดีกว่าอยู่ ไปหาที่สงบจากความแปรปรวน สงบจากความโลภ โกรธ หลง เพราะการอยู่กับคนที่มีกิเลสมาก ๆ รังแต่จะสร้างปัญหาให้ แม้จะไม่ทุกข์ใจ แต่ก็เป็นความลำบากกายที่ต้องทนรับไว้ เป็นภาระ เป็นบ่วง ดังนั้น คนที่เจริญ เขาจะไม่ยึดสภาพคู่ครองไว้ เพราะมันเป็นสภาพที่ไม่น่าเสพ เป็นภาระ เป็นความลำบาก พอไม่ยึดติด มันก็ไม่มีความสำคัญแบบมีกิเลสเป็นตัวแปรในตัวบุคคล ที่เหลือก็แค่ประเมินว่าที่ไหน ตรงไหน ตนเองจะทำประโยชน์ได้ดีกว่าเท่านั้นเอง

…ก็ลองพิจารณากันดู ประตูแรกของการจะข้ามพ้นความหลงในความรักก็คือ ยอมรับว่ามันทุกข์ ยอมรับว่ามีแล้วมันก็ไม่ได้พาเจริญกันอย่างที่เขาว่ากันหรอก ก็มีแต่กามแต่อัตตานั่นแหละที่จะเติบโตขึ้น พากิน พาเสพ พาเมา พาโลภ โกรธ หลง  พายึดกันอยู่ทุกวี่วัน จะหาความเจริญมาจากไหน?

8.1.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

November 13, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 845 views 0

ธนาคารอวิชชาใต้อุปาทาน

ธนาคารน้ำใต้ดิน เป็นกระแสความรู้เกี่ยวกับการจัดการน้ำ ที่ค่อนข้างจะเป็นที่กล่าวถึง ในช่วงกลางปี พ.ศ.2562 มานี้ โดยเฉพาะการนำพาปฏิบัติของอาจารย์หมอเขียว ได้ทำให้จิตอาสาและผู้สนใจร่วมกันศึกษาเรียนรู้อย่างรวดเร็ว

ผมเห็นการทำธนาคารน้ำใต้ดินในระดับบุคคลแล้วก็นึกถึงการขุดค้นหาต้นตอของกิเลส การขุดรูลงไปโดยใช้แรงคนนั้นไม่ง่าย เป็นงานหนัก ยิ่งลึกก็ยิ่งขุดลำบาก ลงไปในหลุมแคบ ๆ อากาศไม่ถ่ายเท เต็มไปด้วยเศษฝุ่นเศษดิน แถมยังต้องยกดินที่ขุดออกขึ้นไปเทอีก เหมือนกับกิเลสที่ต้องขุดลงไปโดยลำดับ จากผิวตื้น ๆ กิเลสจะมีลำดับ มีชั้น มีความลึก มีมวลที่แตกต่างกัน ในการขุดจริงบางทีก็จะเจอก้อนหินใหญ่ ซึ่งทำให้งานยากลำบากขึ้น เช่นเดียวกับการขุดล้างกิเลส บางทีบางหลุมของอวิชชาก็ต้องเจองานหิน ต้องเจอกิเลสที่ทั้งหนา ทั้งใหญ่ ทั้งหนัก ซึ่งแต่ละคนก็จะไม่เหมือนกัน แตกต่างกันไปตามวิบากกรรมหรือกิเลสที่ได้สั่งสมมา สั่งสมมามากก็ยาก สะสมมาน้อยก็ไม่ลำบากนัก

การทำธนาคารน้ำใต้ดินนั้น เป็นความมุ่งหมายที่จะทำจุดเติมน้ำลงไปถึงชั้นหินอุ้มน้ำและให้น้ำถ่ายเทไปยังพื้นที่รอบข้าง ไม่ท่วมขัง เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ซึ่งจะต้องขุดผ่านชั้นของอุปาทาน คือความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งใด ๆ ก็ตาม ที่หลงติดหลงยึดไว้ โดยมีความมุ่งหมายที่จะขุดลงไปถึงชั้นอวิชชา คือความโง่ ความหลงในสิ่งลวง ความไม่รู้ดี ไม่รู้ชั่วอย่างแท้จริง และนำพาธรรมะเติมเข้าไปให้ถึงชั้นของอวิชชา จากเดิมที่ธรรมะนั้นไหลลงมากระทบ เหมือนฝนตกที่เทลงมา แม้จะกระหน่ำ หนัก หนา นาน สักเพียงใด น้ำฝนเหล่านั้นก็ไม่ได้ไหลไปยังที่ที่ควรจะไป แต่ก็ไหลทิ้งไปตามทาง ไปสู่แม่น้ำลำคลอง ลงทะเลต่อไป เช่นเดียวกับการล้างกิเลส ถ้าเราไม่เริ่มขุดชั้นของอุปาทานให้เป็นบ่อ เป็นจุด เป็นที่กำหนดหมายว่าฉันจะล้าง จะชำระ จะทำลาย จะทำสิ่งนั้น ๆ ให้บริสุทธิ์ ก็คงจะไม่มีจุดให้ธรรมะที่ได้รับนั้นเข้ามากระทบ ก็เป็นเพียงแค่สายน้ำชุ่มเย็นที่ไหลหลั่งรดลงมา ให้พื้นดินชุ่มชื้น แล้วก็จางหายไปนั่นเอง

การเรียนรู้และคลี่คลายชั้นของอุปาทานโดยลำดับ จะทำให้ธรรมะในเรื่องนั้น ๆ มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น ดังคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียวที่ว่า “ปัญญาแห่งธรรม คือรางวัลของผู้บำเพ็ญ” เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ผลของการล้างกิเลสก็คือปัญญา คือการรู้แจ้งโทษชั่วของสิ่งนั้น นำมาซึ่งผลสืบเนื่องในอีกสองด้านคือ 1. นำปัญญานั้นไปชำระความโง่ของตนเอง (ทำลายอวิชชา) 2.นำปัญญานั้นไปช่วยเกื้อกูลผองชนให้พ้นจากทุกข์ ตามเหตุปัจจัยที่ตนได้เคยศึกษามา และต่อจากนั้นก็จะมีปัญญาที่เป็นผลตามมาอีก เหมือนน้ำที่ซึมผ่านชั้นหินอุ้มน้ำ แผ่ขยายไปรอบทิศทาง ทำให้ผืนดินชุ่มชื้น มีพลังชีวิต ต้นไม้เติบโตได้ดี เหล่าสัตว์มีกินมีใช้

ในมุมของการทำธนาคารน้ำใต้ดิน ก็มีหลักการและความรู้เช่นว่า จะต้องขุดลงตรงไหน ตรงไหนถึงจะเป็นจุดรวม เป็นจุดที่เก็บและกระจายน้ำได้ การล้างกิเลสก็เช่นกัน จะต้องมีจุดที่กำหนดไว้ มีเรื่องที่กำหนดไว้ มีศีลเป็นขอบเขตกำหนดว่าจะต้องปฏิบัติตรงไหน เท่าไหร่ แค่ไหน… ส่วนฝนที่จะตกลงมานั้น ก็จะเป็นไปตามฤดูกาล คือเป็นไปตามวิบากกรรม ซึ่งจะกำหนดไม่ได้ แต่การรับน้ำฝนคือธรรมะนั้น สามารถกำหนดได้ เข้าถึงได้ ประมาณได้ คือการเข้าหาสัตบุรุษ สาวกของพระพุทธเจ้า ผู้รู้ธรรม มีธรรมที่พาพ้นทุกข์ได้จริง ฟังธรรม นำมาปฏิบัติตาม และสร้างองค์ประกอบแวดล้อมที่ดีให้กับตนเองตามคำกล่าวของอาจารย์หมอเขียว คือ “คบและเคารพมิตรดี ไม่โทษใคร ใจไร้ทุกข์ ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” ก็จะเป็นการทำธนาคารธรรมะที่สำเร็จ ยั่งยืน มีกินมีใช้ มีทุกข์น้อย พบสุขมาก เป็นความผาสุกให้ชีวิตตนและผู้อื่นได้อาศัยต่อไป

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

13.8.2562