การทำดี

การทำทาน เจาะจงหรือไม่เจาะจง

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,597 views 0

คำถามที่สองจากบทความการเลิกรับใช้คนชั่ว “การทำบุญแบบไม่เจาะจงหน่อยค่ะ

ตอบ : การทำบุญที่เขาหมายถึงคงหมายถึง “ทาน” คือการสละออก

เขาก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะคงจะไม่ชัดเจนในผล ว่าการทานแบบกระจุกหรือกระจายนั้นให้ผลแตกต่างกันอย่างไร

จะยกตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาพุทธ คือการตัดสินใจประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า

หลังจากท่านตรัสรู้แล้ว ได้มีจิตหนึ่งเกิดขึ้นว่า สอนไปก็เหนื่อยเปล่า ท่านก็จะปรินิพพานเลย ว่าแล้วก็มีท้าวสหัมบดีพรหมมาขอให้ท่านแสดงธรรมโปรดสัตว์ โดยให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า

“ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่”

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ไม่ใช่สัตว์ทั้งหมดในโลก นั่นหมายความว่าพุทธมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือผู้ที่มีปัญญาพร้อมที่จะเรียนรู้ธรรม (มีกิเลสน้อย)

เช่นเดียวกับการให้ทาน ทานคือการสละเพื่อขัดความหลงติดหลงยึดอันนี้เป็นกิจตน ส่วนการกระจายผลของทานไปยังสิ่งที่สมควรนั้นเป็นกิจท่าน

การขัดกิเลส มันก็มีแต่เรากับกิเลสของเรานี่แหละ ไม่มีคนอื่น ไม่เจาะจงอย่างอื่น เจาะจงแต่กิเลสตัวเอง

ส่วนกิจท่านหรือประโยชน์ท่าน คือการประมาณการกระทำนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะชีวิตคนเรานั้นมีต้นทุนต่อหนึ่งการกระทำเสมอ

ในอนุตตริยสูตรกล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยี่ยม การบำรุงที่ยอดเยี่ยมคือบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวก ส่วนการบำรุงที่เลว คือบำรุงแล้วไม่พาพ้นทุกข์ ก็ที่เหลือทั้งหมดในโลก

ก็ต้องเลือกเอาเองว่าเรามีน้ำอยู่ 1 ถัง เราจะเอาไปรดพืชผัก หรือจะเอาไปรดวัชพืช มันก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือกและพิสูจน์ผลนั้น

พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็เอาผลมาบอกว่า บำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกจะให้อานิสงส์มาก อันนี้คือลักษณะเจาะจง หรือระบุกลุ่มทานที่ให้ผลมาก

แต่จะไปกระจายอีกทีในกลุ่ม เช่นกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่รับผ้าที่พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นแม่เลี้ยง นำมามอบให้ แต่ท่านก็แนะนำว่าให้ไปให้แก่หมู่สงฆ์ อันนี้คือการกระจาย

เพราะเวลาศรัทธาใครแล้วจะจิตมันจะปักมั่นที่ผู้นำกลุ่มนั้น ๆ เลยต้องกระจายเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่ง

สรุปคือต้องเจาะจงให้ถูกกลุ่มแล้วกระจายแจกจ่ายไปในกลุ่มนั้น ๆ

ถ้าไม่เจาะจงให้ถูกกลุ่มตั้งแต่แรก รับรอง ถึงจะให้ทานแบบไม่เจาะจงก็ไม่พ้นทุกข์หรอก

ไม่ลดกิเลส จะไม่ทันพวกทำดีเอาหน้า พวกสร้างภาพ

June 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 512 views 0

วันนี้อาจารย์หมอเขียวพูดถึง คนที่ผิดศีลจะมีวิบาก(ผล) ให้ได้ข้อมูลผิด เช่น เห็นพวกทำดีเอาหน้าแล้วดูไม่ออก คือไม่เห็นความชั่วที่ซุกแอบซ่อนในการทำดีของเขา

ผมก็เคยพลาดมา แต่เราตั้งใจปฏิบัติศีล จึงได้เห็นข้อมูลจริง ว่าเขาผิดศีล ไม่ได้ขยันอย่างจริงใจ คือทำดีสร้างภาพ หวังลาภสักการะ ฯลฯ ซุกซ่อนกิเลสภายใน

ทีนี้ใช่ว่าเราออกมาได้ แล้วเราก็จะเฉย ๆ เราก็ช่วยคนอื่นโดยการเผยแพร่ข้อมูล ลักษณะของคนพาล และรูปรอยของคนผิดศีลนั่นแหละ ก็คงจะไม่ได้ประจานกันตรง ๆ เพราะชนกับคนพาลจะมีแต่เสีย แล้วเจตนาเราไม่ได้หวังจะช่วยคนพาล แต่จะช่วยคนดีที่ยังไม่รู้ทันคนชั่ว

เชื่อไหมว่า คนที่ปิดบังหรือไม่เปิดเผยความจริง ส่วนใหญ่ที่เข้ามาในชีวิต ไม่นานเขาจะหลุดความจริงออกมา ผมเคยตั้งจิตว่าขอให้ได้รู้ว่าใครเป็นใคร เท่านั้นแหละ พาลเป็นพาล บัณฑิตเป็นบัณฑิตเลย

พาลคือไม่ได้จริงอย่างที่พูด พูดอย่างทำอีกอย่าง พูดเกินความจริงที่ตนมี เช่นบรรลุขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ชีวิตจริงยังไปจีบหญิงอยู่เลย แบบนี้เรียกพวกเน่าใน ทุศีล สร้างภาพว่าสวยงาม แต่ข้างในไม่ได้มีจริง บางทีเขาก็พูดเอาโก้ ๆ หลอกคน เพราะหลงโลกธรรม

ธรรมะนั้นเป็นของสูง คือมีลาภสักการะมาก มีสรรเสริญมาก คนชั่วเขาก็จะเข้ามาเอาประโยชน์ตรงนี้เหมือนกัน คือเข้ามาแล้วทำให้ดูเหมือนขยันทำดี ขยันเอาธรรม ขยันสนทนาธรรม บางทีเขาซ่อนกิเลสเขาไว้ แต่ไม่แสดงออก แล้วก็แอบเสพไป สร้างภาพไป

ด้วยความที่ผมทำดีมามาก เลยได้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ ที่จะช่วยไม่ให้หลงไปคบคนผิดหรือคนพาลนาน พอเราได้ข้อมูลว่าเขาผิดศีล ไม่จริงอย่างที่พูด เราก็ไม่คบ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้

แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารให้คนอื่นได้รู้อย่างเรา แม้จะพูดไปเต็มปาก ก็ใช่ว่าเขาจะเชื่อได้ เพราะถ้าเขาทำดีมาไม่มากพอ ปฏิบัติศีลเจริญในธรรมได้ไม่มากพอ เขาจะไม่เห็นความชั่วที่แอบไว้ในความดีที่คนชั่วนำเสนอ

ก็สรุปกันง่าย ๆ ว่าโดนเขาสร้างภาพลวงให้หลงไว้นั่นแหละ สุดท้ายแม้เราพูดไป แล้วเขาไปศรัทธาคนที่ขยันทำดีแต่ไม่จริงใจมากกว่าเรา เขาก็จะเพ่งโทษเรา แทนที่จะช่วยเขา ก็กลายเป็นว่าเขาจะกลับมาเพ่งโทษถือสาเราอีก

ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเสี่ยงแลกนักหรอก ถ้าดู ๆ แล้วคนเขาไม่ได้ศรัทธาเรามากพอ มันจะได้ไม่คุ้มเสีย บางคนเขาก็ทำเหมือนศรัทธาเรา แต่พอไปได้ยินคนนินทาเรื่องเรา กลับไม่มาถามเราสักคำว่า “เรื่องจริง ๆ” มันเป็นอย่างไร เราก็รู้เราว่าเขาเชื่อทางนั้น เราก็ไม่พูด เพราะพูดไปมันก็จะไปสู้กับสิ่งที่เขาศรัทธามันจะพังเปล่า ๆ

บางทีถ้าพยายามจะสื่อเต็มที่แล้วเขาไม่เข้าใจ มันก็ต้องวาง ให้ทุกข์ได้สอนเขา เราพ้นจากคนพาลแล้วเราจะทุกข์อะไร เราไม่คบ ไม่สื่อสารกับคนพาล ไม่อนุเคราะห์คนพาลให้มันลำบากชีวิตหรอก

ทำดีไม่ควรน้อยใจ

March 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 730 views 0

คนทำดีนี่ส่วนใหญ่เขาก็ทุ่มเททั้งหมดเท่าที่เขาเห็นว่าสิ่งนั้นมันดีนั่นแหละ แล้วที่นี้พอดีนั้นไม่เป็นดั่งใจหวัง เช่น คนอื่นเขาไม่เห็นว่าดีบ้าง ไม่เกิดผลดีบ้าง ไม่ดีจริงอย่างที่หวังบ้าง ก็อกหักอกพังน้อยเนื้อต่ำใจ

ขันติ คือตบะเผากิเลสอย่างยิ่ง ขันติคือความทน แกร่ง อึด ต่อความหวั่นไหว ความทนนี่แหละคือไฟที่จะเผาความท้อแท้หดหู่เศร้าหมอง วิธีทำดีอย่างไม่มีท้อ คือทนทำดี

ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) มีประโยคทองที่ว่า “ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” นี่คือประโยคที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความแกร่ง ทน อึด ต่อสภาพที่น่าผิดหวัง น่าหวั่นไหวทั้งหลาย แถมยังทิ้งการหวังผลไปไกลแบบข้ามภพข้ามชาติ การใจเย็นข้ามชาติไม่ได้หมายความว่าจะไปหวังผลชาติหน้า แต่หมายถึงใจเย็นไปเรื่อย ๆ ทำดีไปเรื่อย อย่างไม่มีกำหนดจะท้อ

เป็นกรรมฐานหนึ่งที่ผมถือไว้อาศัยฝึกใจเช่นกัน ผมได้ยินประโยคนี้ครั้งแรกระหว่างบำเพ็ญประโยชน์อยู่ที่ค่ายอบรม หลายปีก่อน ณ ขณะนั้นมันก็ยังมีความยึดดี ความหวังให้เกิดดีอยู่มาก ความสงสัยว่าทำไมดียังเกิดไม่ได้ ยังไม่ให้ผล ฟุ้งซ่าน หลอกหลอนอยู่ในใจ

พอได้ยินว่า “ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” เท่านั้นแหละ จบเลย อ้อนี่ เราไปตั้งภพ ไปตั้งเวลาไว้เองว่ามันจะต้องเกิดดีอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนั้นตอนนี้ ถ้าเราทำดีแบบไม่หวังผลตรงนี้ เราก็จะเบา เราไปแบกความคาดหวังไว้เอง ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่หน้าที่เรา เรากำหนดผลกรรมไม่ได้ว่าจะออกมาแบบไหนเมื่อไหร่ เรากำหนดได้แค่ปัจจุบันเราจะทำดีหรือไม่ทำดีหรือทำชั่วเท่านั้นเอง

บางทีชีวิตมันก็ต้องการคำง่าย ๆ คำสั้น ๆ แค่นี้แหละ แต่จำเป็นต้องมีคุณภาพ เป็นสัจจะที่พาพ้นทุกข์ น่าเสียดายที่ยุคปัจจุบันไม่สามารถทำให้ดีเหล่านี้ยิ่งใหญ่กว่านี้ไปได้ ก็ดีได้เท่านี้ เผยแพร่ได้เท่านี้

ถ้าผมจะน้อยใจจริง ๆ นะ ผมน้อยใจไปนานแล้ว ก็ดูสิ เขาสอนธรรมะกันก็สอนกันไปทางโลภ โกรธ หลง สอนธรรมะกันยังสอนให้ยินดีในการมีคู่ มีเพื่อนมาร่วมศึกษา ก็โดนคนเห็นผิดชักจูงไปทางที่ผิด แถมยังเจอพวกผิดศีล เน่าใน ปะปนมาในสังคมคนดีอีก มันน่าท้อน่าหดหู่ขนาดไหน แค่เห็นยังท้อเลย

ถ้าผมไม่มีครูบาอาจารย์ที่ทนทำตัวอย่างให้ดูนี่ผมท้อและเลิกไปนานแล้ว ไม่มาพิมพ์หรอกบทความเนี่ย เงินก็ไม่ได้ (555) แถมบางทีโดนด่าอีก แต่ก็มีคนยินดีอยู่ ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่คิดว่าไม่มากเท่าไหร่ เดา ๆ ว่าได้ผลในขั้นทำให้คนตระหนักเฉย ๆ ไม่ได้มีผลลึกซึ้งมาก

แถมน้องที่เขามาศรัทธาเราก็ยังตายไปตั้งแต่ยังหนุ่มอีก เอาเข้าไป ชีวิตนักปฏิบัติธรรมมีแต่ความผิดหวัง สูญเสีย ไม่ประสบผลสำเร็จ แถมมีหนอนกินเนื้อในอีก มันน่าจะหมดหวังแล้วเอาตัวไปแปะในสังคมดี ๆ สักแห่งแล้วขัดส้วมล้างจานไปวัน ๆ ซะจริง ๆ

ที่ผมยังอึด ยังอดทนอยู่นี่เพราะมีที่พึ่งที่ดี มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นที่พึ่ง มีครูบาอาจารย์ที่อึดแสนอึด ทนแสนทนเป็นตัวอย่าง ให้ผมรู้ว่าผมยังแกร่งได้กว่านี้ ยังทำประโยชน์ได้มากกว่านี้ แค่เราอดทนทำไป อย่างผู้แพ้นี่แหละ ในทางโลกเนี่ยเรียกว่าแพ้ได้เลย เพราะอยู่ก็ไม่ใช่ประโยชน์ใหญ่นัก และถ้าตายไปก็หายหมด ไม่เหมือนครูบาอาจารย์ที่ท่านสร้างสังคมไว้แน่นแล้ว

แต่จริง ๆ ผมก็ชนะนะ เพราะเราเองก็มีภูมิแค่นี้แหละ แค่พิมพ์บทความได้ก็พอหากินได้แล้ว มันก็ดีได้เท่าที่มีความสามารถนี่แหละ คือเก่งสุดคือทำดีได้แค่ขั้นนี้แหละ ที่ว่าแพ้มันก็เพราะเราอยากให้เกิดดีมากเกินไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าเรามองดี ๆ แค่เราอดทน อึด พากเพียรทำดีไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นการชนะโดยลำดับ คือชนะใจตัวเองไปเรื่อย ๆ แกร่งไปเรื่อย ๆ สิ่งนี้แหละที่สำคัญกว่า

โลกจะเป็นอย่างไรก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไป เราทำได้แค่ทำดี แล้วใจเย็นข้ามชาติเท่านั้นเอง อย่างน้อยดีที่ทำ ก็เป็นดีให้เราอาศัย ให้เราดำรงอยู่ ก็อยู่ไปล้างกิเลสไป ฟังธรรมปฏิบัติตามอาจารย์สอนไปเรื่อย ๆ ประโยชน์ข้างนอกไม่เกิดไม่เป็นไรหรอก ประโยชน์ในเราเกิด ก็พอแล้ว

ถ้าเราพอใจในผล ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเนี่ย มันจะจบเลยนะ ความท้อแท้น้อยใจจะไม่มี ถ้าเรายอมรับความจริงตามความเป็นจริง แม้กำไร 1 บาท ก็ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็เป็นดีที่ควรยินดีจะรับผลนั้น ๆ แม้เราจะลงทุนไปหลายล้านก็ตามที

กำไร 1 บาท ก็ไปเพิ่มทุนในครั้งต่อไปยังไงล่ะ มันก็ทบไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ ทีละนิดละหน่อย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ไม่ควรเป็นผู้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย

ประมาทนั้น หมายถึง การมีจิตดูถูก ชิงชัง รังเกียจในกุศลแม้น้อยนั่นด้วย ดังนั้นเราจึงควรยอมรับดีที่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะสิ่งนั้นมันจริงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ความฝัน

เชื่อมร้อยความดี ด้วยกระทงกระดาษ

June 27, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,906 views 0

เชื่อมร้อยความดีด้วยกระทงกระดาษ

ถ้าใครได้ไปสนามหลวงในช่วงที่โรงทานต่าง ๆ ยังอยู่ในสนามหลวง จะเห็นได้ว่ามีจิตอาสามากหน้าหลายตาที่นำทั้งสิ่งของและแรงงานมาแบ่งปัน แต่ในวันนี้ไม่เหมือนวันนั้น การแบ่งปันสิ่งของทำได้ยากขึ้น แรงงานก็เช่นกัน

ทุกวันนี้คนที่อยากทำดีหลายคนเกิดสภาพตกงาน ถึงจะมาทำดีก็ใช่ว่าจะหางานทำได้เหมือนสมัยก่อน มีเพียงบางกิจกรรมเท่านั้นที่ยังเอื้อให้ทุ่มเททุนทรัพย์และแรงกายแรงใจทำความดีต่อไปได้ หนึ่งในนั้นคือกิจกรรมโรงทาน

แต่ก็ใช่ว่าทุกคนจะมาเปิดโรงทานกันได้ง่าย ๆ เหมือนสมัยก่อน ตอนนี้มีทั้งกฎ ระเบียบ หรือข้อจำกัดเพิ่มมากขึ้น แต่ยังมีสิ่งหนึ่งที่ทุกคนมีสิทธิที่จะร่วมทำความดีได้ คือการพับกระทงกระดาษมาสนับสนุนงานโรงทาน

ผมมองเห็นว่า นัยสำคัญของการพับกระทงกระดาษ คือการเชื่อมร้อยความดี ในความเป็นจริงแล้วเราสามารถสั่งหรือใช้กระทงกระดาษสำเร็จรูปที่มาจากโรงงานเลยก็ได้ ซึ่งอาจจะมีต้นทุนต่ำกว่าด้วยซ้ำ แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้เชื่อมร้อยความดี ไม่ได้ร่วมจิตวิญญาณ คือมีแต่วัตถุ ไม่มีพลังความดีที่เกื้อหนุนกัน

การจะได้กระทงกระดาษมาสักหนึ่งชิ้นไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องมีกระบวนการในการพับ ซึ่งต้องสละเวลาและแรงงาน ตรงนี้เองที่เป็นประเด็นสำคัญ ในชีวิตของคนเราทุกคนสามารถเลือกที่จะทำอะไรก็ได้เท่าที่ตนสามารถทำได้ แต่การจะเลือกพับกระทงกระดาษ หรือทำความดีเพื่อคนอื่นนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะกิเลสจะชักจูงเราออกไปทำสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและผู้อื่นเสมอ

หรือถ้ามองง่าย ๆ ตื้น ๆ ประมาณว่า “โรงทานต้องการใช้กระทงกระดาษ ก็เอาเงินเทลงไปเลย ซื้อกระทงกระดาษสำเร็จรูปไปให้เลยแล้วเอาเวลาไปเที่ยวเล่นหาความสุขใส่ตัวดีกว่า” อะไรประมาณนี้ ผมมีความเห็นว่าความดีไม่ได้สร้างได้ด้วยเงิน ศาสนาไม่ได้เกิดขึ้นจากคนโยนเงินลงมา แต่เกิดจากคนพากเพียรทำความดี เงินเป็นองค์ประกอบร่วม แต่ก็ไม่ได้ทำให้เกิดความดีเท่าไรนัก จิตวิญญาณของคนที่คิดจะทำดีต่างหาก คือความยิ่งใหญ่

เมื่อเห็นดังนั้น ผมจึงให้ความสำคัญกับการพับกระทง แม้ว่ามันจะไม่สวยหรู ต้องใช้เวลา หรือมีต้นทุนในการผลิตและจัดส่งที่มากก็ตาม แต่สิ่งเหล่านั้นมันไม่ได้ขาดทุนเลย เพราะการที่เราจดจ่ออยู่กับการทำความดี ที่ร่วมกันทำในโอกาสพิเศษนี้ เป็นสิ่งที่เชื่อมร้อยความดี เชื่อมร้อยจิตวิญญาณ เป็นกุศลกรรมที่จะผูกพันกันไปในอนาคตข้างหน้า

ในโลกนี้มีความดีมากมายให้ทำก็จริง แต่ดีไหนล่ะที่จะเชื่อมต่อกับคนดีได้มากที่สุด แล้วคนแบบไหนล่ะที่เราเห็นว่าเป็นคนดีมากที่สุด เราก็ทำดีนั้นแหละให้ได้มากที่สุด ตามกำลัง ตามปัญญา ตามองค์ประกอบเหตุปัจจัยของเรา

เพราะถ้าหากเราไม่เพียรทำความดีแล้ว กิเลสก็ย่อมจะลากเราไปทำชั่ว ไปทำในสิ่งที่ไร้สาระและไม่เป็นประโยชน์ต่อใคร ไม่เกื้อกูลแบ่งปันเสียสละ จนสุดท้ายเหตุการณ์สำคัญผ่านไป ต้องเสียโอกาสในการสร้างประโยชน์เหมือนภาพจิตอาสาตกงานที่ปรากฏเด่นชัดมากขึ้นในทุกวันนี้

ชีวิตก็เช่นกัน หากเกิดมาแล้วมัวหลงระเริงกับการใช้ชีวิตไปตามกิเลส จนสุดท้ายชีวิตหนึ่งได้ผ่านพ้นไป ก็ต้องเสียโอกาสในการสร้างประโยชน์ เหมือนกับชีวิตทั่วไปที่เกิดมา เติบโต หากิน แล้วก็ตายไป พลาดโอกาสไปอย่างน่าเสียดาย

เกริ่นกันมาก็ยาว ในบทความนี้ก็อยากจะขอเชิญชวนทุกท่านร่วมพับกระทงกระดาษแล้วนำส่งมายังโรงครัวต่าง ๆ ในพื้นที่โรงครัวที่หน่วยงานรัฐได้จัดสรรไว้ ซึ่งในตอนนี้อยู่แถวสะพานผ่านพิภพลีลา

27.6.2017

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์