Tag: ประมาท

ทำดีไม่ควรน้อยใจ

March 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 640 views 0

คนทำดีนี่ส่วนใหญ่เขาก็ทุ่มเททั้งหมดเท่าที่เขาเห็นว่าสิ่งนั้นมันดีนั่นแหละ แล้วที่นี้พอดีนั้นไม่เป็นดั่งใจหวัง เช่น คนอื่นเขาไม่เห็นว่าดีบ้าง ไม่เกิดผลดีบ้าง ไม่ดีจริงอย่างที่หวังบ้าง ก็อกหักอกพังน้อยเนื้อต่ำใจ

ขันติ คือตบะเผากิเลสอย่างยิ่ง ขันติคือความทน แกร่ง อึด ต่อความหวั่นไหว ความทนนี่แหละคือไฟที่จะเผาความท้อแท้หดหู่เศร้าหมอง วิธีทำดีอย่างไม่มีท้อ คือทนทำดี

ดร.ใจเพชร กล้าจน (หมอเขียว) มีประโยคทองที่ว่า “ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” นี่คือประโยคที่จะสะท้อนให้เห็นถึงความแกร่ง ทน อึด ต่อสภาพที่น่าผิดหวัง น่าหวั่นไหวทั้งหลาย แถมยังทิ้งการหวังผลไปไกลแบบข้ามภพข้ามชาติ การใจเย็นข้ามชาติไม่ได้หมายความว่าจะไปหวังผลชาติหน้า แต่หมายถึงใจเย็นไปเรื่อย ๆ ทำดีไปเรื่อย อย่างไม่มีกำหนดจะท้อ

เป็นกรรมฐานหนึ่งที่ผมถือไว้อาศัยฝึกใจเช่นกัน ผมได้ยินประโยคนี้ครั้งแรกระหว่างบำเพ็ญประโยชน์อยู่ที่ค่ายอบรม หลายปีก่อน ณ ขณะนั้นมันก็ยังมีความยึดดี ความหวังให้เกิดดีอยู่มาก ความสงสัยว่าทำไมดียังเกิดไม่ได้ ยังไม่ให้ผล ฟุ้งซ่าน หลอกหลอนอยู่ในใจ

พอได้ยินว่า “ทำดีเรื่อยไป ใจเย็นข้ามชาติ” เท่านั้นแหละ จบเลย อ้อนี่ เราไปตั้งภพ ไปตั้งเวลาไว้เองว่ามันจะต้องเกิดดีอย่างนั้นอย่างนี้ ตอนนั้นตอนนี้ ถ้าเราทำดีแบบไม่หวังผลตรงนี้ เราก็จะเบา เราไปแบกความคาดหวังไว้เอง ซึ่งจริง ๆ มันไม่ใช่หน้าที่เรา เรากำหนดผลกรรมไม่ได้ว่าจะออกมาแบบไหนเมื่อไหร่ เรากำหนดได้แค่ปัจจุบันเราจะทำดีหรือไม่ทำดีหรือทำชั่วเท่านั้นเอง

บางทีชีวิตมันก็ต้องการคำง่าย ๆ คำสั้น ๆ แค่นี้แหละ แต่จำเป็นต้องมีคุณภาพ เป็นสัจจะที่พาพ้นทุกข์ น่าเสียดายที่ยุคปัจจุบันไม่สามารถทำให้ดีเหล่านี้ยิ่งใหญ่กว่านี้ไปได้ ก็ดีได้เท่านี้ เผยแพร่ได้เท่านี้

ถ้าผมจะน้อยใจจริง ๆ นะ ผมน้อยใจไปนานแล้ว ก็ดูสิ เขาสอนธรรมะกันก็สอนกันไปทางโลภ โกรธ หลง สอนธรรมะกันยังสอนให้ยินดีในการมีคู่ มีเพื่อนมาร่วมศึกษา ก็โดนคนเห็นผิดชักจูงไปทางที่ผิด แถมยังเจอพวกผิดศีล เน่าใน ปะปนมาในสังคมคนดีอีก มันน่าท้อน่าหดหู่ขนาดไหน แค่เห็นยังท้อเลย

ถ้าผมไม่มีครูบาอาจารย์ที่ทนทำตัวอย่างให้ดูนี่ผมท้อและเลิกไปนานแล้ว ไม่มาพิมพ์หรอกบทความเนี่ย เงินก็ไม่ได้ (555) แถมบางทีโดนด่าอีก แต่ก็มีคนยินดีอยู่ ยังมีประโยชน์อยู่บ้าง แต่คิดว่าไม่มากเท่าไหร่ เดา ๆ ว่าได้ผลในขั้นทำให้คนตระหนักเฉย ๆ ไม่ได้มีผลลึกซึ้งมาก

แถมน้องที่เขามาศรัทธาเราก็ยังตายไปตั้งแต่ยังหนุ่มอีก เอาเข้าไป ชีวิตนักปฏิบัติธรรมมีแต่ความผิดหวัง สูญเสีย ไม่ประสบผลสำเร็จ แถมมีหนอนกินเนื้อในอีก มันน่าจะหมดหวังแล้วเอาตัวไปแปะในสังคมดี ๆ สักแห่งแล้วขัดส้วมล้างจานไปวัน ๆ ซะจริง ๆ

ที่ผมยังอึด ยังอดทนอยู่นี่เพราะมีที่พึ่งที่ดี มีพุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นที่พึ่ง มีครูบาอาจารย์ที่อึดแสนอึด ทนแสนทนเป็นตัวอย่าง ให้ผมรู้ว่าผมยังแกร่งได้กว่านี้ ยังทำประโยชน์ได้มากกว่านี้ แค่เราอดทนทำไป อย่างผู้แพ้นี่แหละ ในทางโลกเนี่ยเรียกว่าแพ้ได้เลย เพราะอยู่ก็ไม่ใช่ประโยชน์ใหญ่นัก และถ้าตายไปก็หายหมด ไม่เหมือนครูบาอาจารย์ที่ท่านสร้างสังคมไว้แน่นแล้ว

แต่จริง ๆ ผมก็ชนะนะ เพราะเราเองก็มีภูมิแค่นี้แหละ แค่พิมพ์บทความได้ก็พอหากินได้แล้ว มันก็ดีได้เท่าที่มีความสามารถนี่แหละ คือเก่งสุดคือทำดีได้แค่ขั้นนี้แหละ ที่ว่าแพ้มันก็เพราะเราอยากให้เกิดดีมากเกินไปเท่านั้นเอง แต่ถ้าเรามองดี ๆ แค่เราอดทน อึด พากเพียรทำดีไปเรื่อย ๆ เราจะเห็นการชนะโดยลำดับ คือชนะใจตัวเองไปเรื่อย ๆ แกร่งไปเรื่อย ๆ สิ่งนี้แหละที่สำคัญกว่า

โลกจะเป็นอย่างไรก็ต้องปล่อยให้เขาเป็นไป เราทำได้แค่ทำดี แล้วใจเย็นข้ามชาติเท่านั้นเอง อย่างน้อยดีที่ทำ ก็เป็นดีให้เราอาศัย ให้เราดำรงอยู่ ก็อยู่ไปล้างกิเลสไป ฟังธรรมปฏิบัติตามอาจารย์สอนไปเรื่อย ๆ ประโยชน์ข้างนอกไม่เกิดไม่เป็นไรหรอก ประโยชน์ในเราเกิด ก็พอแล้ว

ถ้าเราพอใจในผล ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเนี่ย มันจะจบเลยนะ ความท้อแท้น้อยใจจะไม่มี ถ้าเรายอมรับความจริงตามความเป็นจริง แม้กำไร 1 บาท ก็ดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ก็เป็นดีที่ควรยินดีจะรับผลนั้น ๆ แม้เราจะลงทุนไปหลายล้านก็ตามที

กำไร 1 บาท ก็ไปเพิ่มทุนในครั้งต่อไปยังไงล่ะ มันก็ทบไปเรื่อย ๆ นั่นแหละ ทีละนิดละหน่อย ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ไม่ควรเป็นผู้ประมาทแม้กุศลเพียงเล็กน้อย

ประมาทนั้น หมายถึง การมีจิตดูถูก ชิงชัง รังเกียจในกุศลแม้น้อยนั่นด้วย ดังนั้นเราจึงควรยอมรับดีที่ได้เกิดขึ้นจริง เพราะสิ่งนั้นมันจริงที่สุดแล้ว ไม่ใช่ความฝัน

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

October 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,517 views 0

การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

บทวิเคราะห์ : การไม่กินเนื้อสัตว์ ไม่มีผลต่อจิตใจจริงหรือ?

                มีข้อขัดแย้งกันในประเด็นของจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปในทางเจริญเมื่อไม่กินเนื้อสัตว์ บ้างก็ว่ามีผล บ้างก็ว่าไม่มีผล หรือถึงจะมีผลก็ไม่ใช่สาระสำคัญอะไร ไม่ใช่สิ่งที่น่าใส่ใจเอามาปฏิบัติ ซึ่งในความจริงแล้วมีผลหรือไม่มีผล เรามาลองวิเคราะห์กันดู

การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาคือการไม่ส่งเสริมการเบียดเบียน” ความเห็นนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก เป็นสมการแบบแปรผันตามกัน เพราะการที่เราจะได้กินเนื้อสัตว์ก็มาจากการฆ่าในอุตสาหกรรมเนื้อสัตว์เป็นหลัก

ทีนี้คนจำนวนหนึ่งที่มีจิตเมตตา ได้รับรู้ถึงการเบียดเบียนที่โหดร้ายทารุณ จึงตั้งใจหยุดการบริโภคหรือหยุดสนับสนุนผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับสัตว์ ให้สังเกตตรงนี้ว่า จากเมตตานั้นพัฒนาเป็นกรุณา คือนอกจากสงสารแล้วยังลงมือทำด้วย ไม่ใช่ว่าสงสารแล้วยังกินเนื้อเขาอยู่ ซึ่งตรงนี้เป็น”ผล”ที่ได้เกิดขึ้นแล้ว

มีคนบางพวกซึ่งอาจจะเมตตา แต่ไม่ได้กรุณาอะไร ไม่ได้คิดจะลงมือเปลี่ยนแปลงอะไรให้เกิดสิ่งดีขึ้น คือมีจิตสงสารแต่ก็ปล่อยวางทั้งๆที่ยังไม่ได้ทำอะไร ความเข้าใจเช่นนี้คือทางลัดของกิเลสนั่นเอง ถ้าถามว่าจิตเช่นนี้จะเจริญหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “ไม่” เพราะสุดท้ายก็เสพกามเหมือนเดิม กินเนื้อสัตว์เหมือนเดิม เป็นปัญญากิเลสทั่วไปในสังคม ไม่ต้องปฏิบัติธรรมก็มีได้ ต่างจากกรณีแรกคือเมตตาแล้วกรุณา คือหยุดเสพกามอันเป็นเหตุให้เบียดเบียนนั้นด้วยจะเห็นได้ว่าการตั้งจิตดังเช่นว่า “ถ้าเลือกได้” จะไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเลยตลอดชีวิตจึงเป็นเรื่องยากที่ไม่ได้ปฏิบัติกันโดยทั่วไป

การปฏิบัติธรรมให้จิตใจเจริญนั้นมีหลักคือละเว้นจากอกุศล เข้าถึงกุศล ดังนั้นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจในสัตว์แล้วลงมือช่วย ย่อมมีผลเจริญขึ้นในจิตใจขึ้นมาบ้างแล้ว ต่างจากผู้ที่ไม่สามารถทำจิตเมตตาให้เจริญถึงขั้นลงมือละเว้นทั้งที่มีองค์ประกอบที่เอื้อให้ทำได้

นี่เป็นเพียงเรื่องของเมตตาที่เข้าใจกันโดยทั่วไป ยังไม่ต้องเข้าหลักปฏิบัติในศาสนาอะไรที่ลึกซึ้ง ก็เห็นแล้วว่ามีผล และไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้โดยทั่วไป เพราะทำได้ลำบาก ต้องใช้ความพยายามต้องอดทนอดกลั้น พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความอดทนอดกลั้น(ขันติ) นั้นเป็นเครื่องเผากิเลสที่ดีอย่างยิ่ง การจะกล่าวว่าการอดทนไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผลนั้น ย่อมไม่ใช่ความเห็นที่ถูกต้องนัก

การประมาทในกุศลแม้น้อย ก็ยังถือว่าเป็นความประมาทที่ยิ่งใหญ่ พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราย่อมไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย จะกล่าวไปใยว่า เราจะสรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย อนึ่ง เราย่อมสรรเสริญความเจริญ ไม่สรรเสริญความหยุดอยู่ ไม่สรรเสริญความเสื่อมในกุศลธรรมทั้งหลาย

ความเจริญของจิตใจแม้เพียงเล็กน้อย สามารถพัฒนาไปเป็นความเจริญที่ยิ่งใหญ่ต่อไปได้ ผิดกับคนที่ไม่เห็นดีกับผู้ที่คิดจะนำความเจริญมาสู่จิตใจตน เขาย่อมตกลงสู่ความเสื่อม และยึดมั่นถือมั่นในความเห็นที่ต่อต้านการเข้าถึงกุศลธรรมนั้น จนปิดประตูในการทำกุศลเหล่านั้นเพราะเห็นว่าไม่มีค่า ไม่สำคัญ ไม่มีผล จนเสื่อมจากกุศลธรรมในเรื่องนั้นไปในที่สุด

ผู้ที่ไม่สามารถเห็น “ผล” ในการตั้งใจหยุดเบียดเบียน คือผู้ที่ไม่มีญาณปัญญารับรู้ ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดาสำหรับผู้ที่ยังมีความเห็นผิด (มิจฉาทิฏฐิ) เพราะในความเห็นที่ถูกต้อง (สัมมาทิฏฐิที่ยังเป็นสาสวะ) ในข้อแรกได้กล่าวไว้ว่า “ทานที่ทำแล้วมีผล” แล้วมีผลอย่างไรจึงจะสัมมาทิฏฐิ คือทานที่ทำแล้วนั้นมีผลในการลดกิเลส ลดความหลงติดหลงยึดได้

การจะมีสัมมาทิฏฐิไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ใช่เรื่องที่รับรู้กันโดยทั่วไป ไม่ใช่แค่อ่านตามแล้วจะเข้าใจได้ แต่ต้องมีญาณปัญญาที่เกิดจากการปฏิบัติอย่างถูกตรงนั้นอยู่ในตน ดังนั้นการที่ใครจะมีความเห็นว่า “การไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ไม่มีผลต่อความเจริญในจิตใจ” ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ยังมีมิจฉาทิฏฐิ คือไม่สามารถรับรู้ได้ว่า สิ่งใดทำแล้วมีผล สิ่งใดทำแล้วไม่มีผล ทำอย่างไรจึงมีผล ทำอย่างไรจึงไม่มีผลเพราะไม่มีญาณรู้ในผลที่เกิดขึ้นได้

ความเห็นว่ากรรมและผลของกรรมมีผลนั้นเป็นหนึ่งในสัมมาทิฏฐิ ผู้ที่เห็นว่ากรรมที่ทำนั้นไม่มีผล ไม่เห็นว่าสิ่งใดที่ทำลงไปไม่ว่าจะดีหรือร้ายนั้นมีผล ก็จะทำให้เกิดความประมาท และร้ายยิ่งกว่าสำหรับผู้ที่รู้ว่ากรรมนั้นส่งผลเสีย เบียดเบียน เป็นทุกข์ แต่ก็ไม่คิดจะหยุดทำกรรมชั่วนั้นทั้งๆที่สามารถหยุดได้ คนเช่นนี้ไม่มีกำลังในการต้านความชั่วเลย สติก็ไม่มี ปัญญาก็ไม่มี จึงใช้ชีวิตโดยประมาท ปล่อยให้กรรมชั่วนั้นดำเนินต่อไป

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ ธรรม ๓ ประการนี้เป็นลักษณะของคนพาล ๑. ไม่เห็นว่าสิ่งที่เป็นโทษนั้นเป็นโทษ ๒.เมื่อเห็นว่าสิ่งนั้นเป็นโทษแล้วไม่แก้กลับให้ถูกตามธรรม ๓. เมื่อผู้อื่นชี้ให้เห็นโทษ ก็ไม่ยอมรับรู้ตามธรรมนั้น “ ดังนั้นผู้ที่ได้รับรู้แล้วว่าสิ่งใดเบียดเบียน แต่ไม่พยายามหลีกเลี่ยงหรือละเว้น ทั้งยังทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงกุศลธรรม กลายเป็นคนพาลในที่สุด

จริงอยู่ที่ว่า ในหมู่ผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์อาจจะมีผู้ที่ไม่ได้มีผลเจริญในจิตใจขึ้นมาเลย แต่ก็ไม่สามารถเหมาได้ว่าทุกคนนั้นไม่มีผล เพราะคนที่ไม่กินเนื้อสัตว์ด้วยความเห็นถูกตรงก็มี ดังนั้นการจะเหมาเอาว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่มีผล จึงเป็นความประมาทของผู้ที่กล่าวข้อความเช่นนี้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ผู้ประมาทก็เหมือนกับคนที่ตายแล้ว เช่นเดียวกันกับคนที่คิดว่าการไม่กินเนื้อสัตว์ไม่มีผล เขาย่อมตายจากกุศลธรรมที่ควรจะเกิด ตายจากความเจริญที่ควรจะมี ตายจากความดีที่เคยเป็นมา

– – – – – – – – – – – – – – –

8.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

มิตรแท้คนโสด

May 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,301 views 0

มิตรแท้คนโสด

ผมพิมพ์บทความเกี่ยวการไปสู่ความเป็นโสดไว้มากมาย เพราะเล็งเห็นแล้วว่า ปัญหาในชีวิตคู่รักแต่ละอย่างนั้นไม่มีทางแก้ไขได้เด็ดขาดหากยังจะต้องเป็นคู่รัก จึงสร้างบทความที่จะตัดเหตุแห่งทุกข์เหล่านั้นไปเลย

บทความแต่ละบทนั้นมีถ้อยคำที่ข่ม ประณาม ด่ากิเลสอยู่ด้วยเสมอ ชี้แจ้งโทษของการมีคู่และประโยชน์ของความโสด ซึ่งจะไปสู่ผู้อ่านที่มีลักษณะดังนี้

1). คนมีกิเลสที่เห็นว่ากิเลสคือทางชั่ว: แม้ว่าจะยังไม่สามารถสู้กิเลสได้ แต่เมื่ออ่านบทความไปแล้วก็จะกระตุก จะรู้สึกผิด จะมีความเกรงกลัวขึ้นมา คนเหล่านี้หากเพียรพิจารณาธรรม ที่ว่าด้วยประโยชน์ของความโสดและโทษชั่วของการมีคู่จะสามารถทำให้จิตตั้งมั่นขึ้นได้ เมื่อจิตตั้งมั่นแล้ว (พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าการพิจารณาโทษของกิเลสจะทำให้เกิดสมาธิ : วิตักกสัณฐานสูตร) การพิจารณาธรรมเพื่อชำระกิเลสจึงเป็นไปโดยง่าย

2). คนมีกิเลสที่สงสัยในกิเลส : คนเช่นนี้จะยังลังเลอยู่ว่า จะโสดดี หรือไม่โสดดี อย่างไหนเป็นสุขกว่ากัน ก็ให้เพียรศึกษาไปเรื่อยๆ พิจารณาประโยชน์ในการโสด และโทษของการมีคู่ให้มาก แต่ถ้าไปพิจารณาโทษของความโสดและประโยชน์ของการมีคู่มันก็มีทิศทางไปทางเสพกิเลส ไปนรกนั่นเอง

3). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลส : คนที่ประมาทต่อภัยของกิเลสนั้น พระพุทธเจ้าท่านเปรียบเหมือนบุคคลที่ตายแล้ว แม้จะมีธรรมที่พาให้ปลดเปลื้องกิเลสออกแสดงอยู่ทุกวี่ทุกวัน ก็เหมือนกับตักน้ำรดหัวตอ เหมือนกับเอาไฟไปเอาศพ เหมือนเอาดาบไปแทงศพ ร่างที่ตายไปแล้วนั้นก็ไม่รู้สึกอะไรเลย

4). คนมีกิเลสแต่ไม่เห็นกิเลสและมีอัตตาจัด: คนที่เห็นกงจักรเป็นดอกบัว นอกจากจะไม่เห็นภัยของกิเลสแล้วยังเห็นกิเลสเป็นมิตร “เอากิเลสมาเป็นอัตตาของตน” พอกิเลสโดนด่าก็เหมือนตนถูกด่า เพราะในใจลึกๆมันเสพติดการมีคู่ จนกระทั่งไม่ยอมให้ใครมาทำลายทิฏฐินั้น แม้ใครเห็นแย้งไม่ว่าจะเป็นเทพหรือมารมาจากไหน คนที่เมาอัตตาก็จะสู้กับเขาไปหมด

ส่วนคนไม่มีกิเลสขอยกไว้ แต่ถึงแม้ท่านเหล่านั้นจะมาอ่าน ท่านก็ย่อมยินดีในธรรมที่พาให้ลดกิเลส คือลดความโลภ โกรธ หลง อยู่ดี

เมื่อเห็นประโยชน์ในการพิจารณาธรรมที่พาออกจากกิเลสดังนี้ ผมจึงขอแนะนำบทความเกี่ยวกับความรักที่เป็นทางที่จะพาไปสู่รักที่ไม่มีกิเลสใดๆมาปนให้หม่นหมอง

คลังบทความ ความรัก(ที่เพียรละกิเลส)

 

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

April 5, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,560 views 0

เสพแต่สุข ทุกข์ไม่เอา

พอได้เสพหลงเป็นสุขไม่ระวัง พอทุกข์ขังเกลียดชิงชังรีบผลักไส

จิตใจโลภหวังแต่เสพไม่เอาภัย ความจริงไซร้สุขและทุกข์อยู่คู่กัน

 

คนเราเวลาได้เสพสุขมักจะประมาท ไม่ทันระวังภัยที่จะเป็นผลตามมา

อย่างเช่นในเรื่องของการมีคู่หรือที่เข้าใจกันไปว่าความรัก

ตอนได้รักมักจะเสพแต่สุข ไม่ระวังตัว ไม่ศึกษาธรรมะ ไม่เข้าใจความจริง

หลงวนเวียนอยู่กับการเสพกามและอัตตาจนมัวเมา

เมื่อหมดวิบากกรรมชุดที่ได้เสพนั้นๆ ก็จะต้องถูกพราก ไม่มีให้เสพสุขเหมือนเดิม

คนเหล่านั้นก็จะทุกข์ ทรมาน โศกเศร้า คร่ำครวญ รำพัน ร้องไห้ เสียใจ

พอตอนเสพสุขมันมัวเมา ก็เสพอย่างไม่ลืมหูลืมตา

พอเป็นทุกข์ขึ้นมา ตาก็ไม่ได้สว่างอะไร แค่เสียของรักแล้วฟูมฟาย

จมอยู่ในกามและอัตตา(ที่ไม่ได้เสพ) เช่นเคย

คนเรานี่มันจะเอาแต่ได้ มันจะเอาแต่สุข พอมันทุกข์มันจะไม่เอา

พยายามจะหนี กดข่ม ปัดทิ้ง เปลี่ยนเรื่อง หาสุขอื่นมาเติม

มันก็วนอยู่อย่างนั้นเอง ถ้าไม่ไปสร้างเหตุให้มันทุกข์แต่แรกก็ไม่ต้องลำบาก

…แต่ใครเล่าจะสนใจ เพราะเวลาสุขจากการได้เสพกามและอัตตา

ธรรมะมันหายไปหมด ศีลธรรมมันเสื่อมไปหมด ทิ้งศีล ทิ้งธรรมกันไปเลย

สร้างเหตุแห่งทุกข์ แล้วผลมันก็ต้องทุกข์ นรกจึงเกิดด้วยเหตุอย่างนี้เอง

 

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)