Tag: สัมมาอริยมรรค

ปฏิบัติธรรมในปัจจุบัน

November 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 956 views 0

สัญญาของคนส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้ จะเข้าใจว่าการปฏิบัติธรรมนั้นต้องนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง ไปวัดบ้าง

แม้จะเป็นความเห็นที่เอ่ยเอ้งว่า “ปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน” ก็กลายเป็นการประยุกต์การนั่งสมาธิ การเดินจงกรมเข้ามาใช้อีก

ซึ่งมันแคบมากเมื่อเทียบกับองค์ประกอบทั้งหมดของมรรค ๘ และที่สำคัญ มันจะมีน้ำหนักไปทางลัทธิฤๅษีเสียด้วยซ้ำ

ซึ่งสัมมาอริยมรรคนั้นมีองค์ประกอบของการ คิด พูด ทำ ที่ถูกต้องอยู่ในปัจจุบัน

….แต่กลับไปปฏิบัติหยุดคิด ปิดวาจา นั่งนิ่งๆไม่ทำอะไร มันก็ผิดทางมรรคสิ ทำแบบนั้นมันก็สงบได้จริง แต่มันสงบแบบสมถะ ซึ่งเป็นทางของฤๅษีทั่วๆไปนั่นแหละ อย่างเก่งก็กดข่มเป็นฤๅษีสุดสงบ ไม่เสพกาม น่าศรัทธา ซึ่งมันก็มีรูปที่มองผ่านๆแล้วน่าเคารพอยู่ แต่มันผิดพุทธเท่านั้นเอง

ยิ่งถ้านักบวชไปเห็นผิด เอาความสงบแบบสมถะมาเป็นมรรคเป็นผลนี่ยิ่งแล้วใหญ่เลย กลายเป็นฤๅษีในผ้าเหลืองนั่นแหละ

ถ้าเริ่มต้นด้วยมิจฉามรรค ก็จะได้ผลเป็นมิจฉาผลตามกันด้วย เหตุแห่งความเสื่อมนั้นเกิดจากการไม่คบหาสัตบุรุษ ไม่ศึกษาในอธิศีล แล้วดันไปยึดมั่นถือมั่นในมิจฉาทิฏฐิ

…ปิดประตูไปอีกชาติ

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,492 views 0

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ

*ควรศึกษาเนื้อหาในบทความ “สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย” เพื่อความเข้าใจที่เพิ่มมากขึ้น

สัตว์และเนื้อสัตว์ สิ่งที่ชาวพุทธไม่ควรค้าขาย ภาคปฏิบัติ (การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถี)

เมื่อเราได้เรียนรู้ข้อควรปฏิบัติเพื่อละเว้นสิ่งที่จะสร้างทุกข์และวิบากบาป ที่จะมาสกัดกั้นไม่ให้ตัวเราเข้าถึงความผาสุกที่แท้จริง เราก็จะเข้าสู่ขั้นตอนของการปฏิบัติ

เมื่อเราได้เรียนรู้จากวณิชชสูตรแล้วว่า ไม่ควรค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ ดังนั้นภารกิจต่อมาคือการปฏิบัติสู่บทบัญญัตินั้นโดยลำดับ ซึ่งไม่ใช่ว่าคนทุกคนจะใช้การหักดิบได้ตั้งแต่แรก เราจึงควรศึกษาข้อปฏิบัติเพื่อเข้าถึงคุณประโยชน์เหล่านั้น

การค้าที่ผิด นั้นคือมิจฉาวณิชชา การจะเข้าสู่สัมมาวณิชชาหรือการค้าขายที่ถูกได้นั้น ไม่ใช่เพียงการเปลี่ยนด้วยข้อกำหนด แต่เป็นการเปลี่ยนไปถึงจิตวิญญาณ เปลี่ยนจากจิตที่มีความเห็นในทางมิจฉาไปสู่สัมมาโดยลำดับ ลดความผิดลง เพิ่มความถูกต้องทีละก้าว ทีละก้าว จนมีความเห็นที่ตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้อย่างแนบเนียนสนิท

การละเว้นการค้าขายเนื้อสัตว์บนมรรควิถีในบทความนี้ เราจะใช้สัมมาอริยมรรคเป็นทางปฏิบัติในการละความมิจฉาในเรื่องการค้าขาย เฉพาะสองข้อนี้เป็นหลัก

1). สัมมาทิฏฐิ – คือการทำความเห็นให้ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ เห็นทุกข์ของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ เห็นเหตุนั้น เห็นวิธีดับทุกข์นั้น และเห็นวิธีปฏิบัตินั้น สัมมาทิฏฐิเป็นด่านแรก เป็นเหมือนกระดุมเม็ดแรก เป็นเหมือนหางเสือที่กำหนดทิศทางของเรือ การมีความเห็นถูกไม่ได้หมายความว่าจะต้องหมดกิเลส ถ้าเรามีความเข้าใจเช่นว่า การค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ทำให้สัตว์ต้องเป็นทุกข์ การทำสิ่งที่ผิดจากที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นคือทางแห่งทุกข์ การเบียดเบียนคนอื่นคือการเบียดเบียนตนเอง เห็นลงไปถึงเหตุว่าความอยากและความหลงติดหลงยึดในเรื่องใดที่ทำให้ทุกข์นั้นเกิด แล้วจะดับมันอย่างไรจะทำเป็นลืมว่าเคยมีบัญญัตินี้หรือจะทำลายความเห็นผิดนี้

แม้จะยังมีความอยากซื้อขายอยู่ แต่ถ้ามีความเห็นไปในทางลด ละ เลิก ก็เรียกได้ว่ามีความเห็นที่ถูกตรงแล้ว ในขั้นนี้แม้เราจะยังออกจากการค้าขายไม่ได้ แต่ให้มีความเห็นไปในทิศทางที่ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นทางแห่งทุกข์ให้ได้ก่อน ถ้ายังไม่มีความเห็นเช่นนี้หรือเห็นค้านแย้งไปในทิศทางตรงข้าม ก็ควรศึกษาเพิ่มเติมเพื่อเข้าถึงประโยชน์ของสิ่งนี้

ถ้าทิฏฐิยังไม่ตรง ก็ยังไม่ต้องปฏิบัติอะไร เพราะปฏิบัติไปก็จะผิด จะมีทิศทางไปทางมิจฉามรรค จะเนิ่นช้า จะหลงทาง มีแต่จะเสียเวลาไปเปล่าๆ ดังนั้นจึงควรเน้นหนักไปที่ทิฏฐิ ทำให้เกิดความเห็นดีเห็นงามในการเข้าถึงประโยชน์นี้ให้ได้ก่อน ให้มีฉันทะก่อน จึงค่อยปฏิบัติมรรคองค์อื่นๆต่อไป

2). สัมมาสังกัปปะ – คือการคิดพิจารณาที่จะทำลายความเห็นผิดที่มีอยู่ไปโดยลำดับ คิดเรื่องประโยชน์ของการไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ และคิดเรื่องโทษของการจมอยู่กับสิ่งนั้น คิดย้อนแย้งกับกิเลส เถียงกิเลส ไม่เอาตามกิเลส มันอยากจะซื้อก็ไม่ซื้อ ไม่รีบซื้อ หรือซื้อให้น้อยกว่าปกติ

3). สัมมาวาจา – คือการเจรจาสื่อสารสิ่งที่ถูกตรง ถ้าต้องพูดกันในประเด็นเหล่านี้ ก็ให้พูดเรื่องการเบียดเบียนเป็นโทษ ว่าการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์เป็นโทษอย่างไร ถ้าไม่ค้าขายจะเป็นประโยชน์อย่างไร พูดให้เป็นไปตามธรรมของพระพุทธเจ้า ไม่พูดตามที่กิเลสสั่ง

4). สัมมากัมมันตะ – ทำกิจกรรมการงานที่ถูกตรง สิ่งแรกคือไม่ไปค้าขาย เพราะเป็นเหตุในการเบียดเบียนซึ่งอยู่ในกรอบของศีลข้อ ๑ ,เว้นขาดจากการลักขโมย ไม่รับของที่เขาขโมยมา ไม่รับของโจร ไม่รับของที่เขาฆ่ามา และเว้นขาดจากการลุ่มหลงในกามคุณของสัตว์และเนื้อสัตว์ พิจารณาก่อนเสพ ไม่หลงไปในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสของสัตว์และเนื้อสัตว์นั้น

5). สัมมาอาชีวะ– คือไม่เลี้ยงชีพด้วยการค้าขายชีวิตสัตว์และเนื้อสัตว์ ถึงจะมีอาชีพนั้นอยู่ก็ค่อยๆปรับเปลี่ยน ลดการค้าที่ยุ่งเกี่ยวกับสัตว์และเนื้อสัตว์ ปรับเปลี่ยนให้มีส่วนผิดน้อยลง และเพิ่มส่วนที่ถูกให้มากเรื่อยๆตามลำดับ หาอาชีพหรือรายได้เสริมอื่นทำ หรือหาช่องทางอื่นในการดำรงชีพ ละเว้นจากมิจฉาอาชีวะ ไม่ล่อลวงให้คนอื่นหลงในสัตว์และเนื้อสัตว์ ไม่เอาลาภที่ได้จากการเกี่ยวข้องกับสัตว์และเนื้อสัตว์มาสร้างลาภอื่นๆเพิ่มเติมให้กับตน

6). สัมมาวายามะ – เพียรทำสิ่งที่ถูกตรง สิ่งใดที่ผิดก็อย่าทำเพิ่ม เพียรแก้ไขสิ่งที่ผิดพลาดไป เพียรทำสิ่งดีที่ยังทำไม่ได้ให้เจริญขึ้น และรักษากระบวนการของความเพียรเหล่านี้ให้เจริญยิ่งขึ้นไปเรื่อยๆ ในขั้นตอนความเพียรนี้เอง แม้สิ่งใดที่ยังทำไม่ได้ในตอนแรก เราก็เพียรล้างความเห็นผิดของเราไปโดยลำดับ เพียรออกจากสิ่งชั่ว เพียรเข้าหาสิ่งดี เพียรที่จะลดการเบียดเบียน เพียรพยายามลดความยึดมั่นถือมั่นที่จะก่อให้เกิดทุกข์

7). สัมมาสติ – มีสติในการระลึกรู้กิเลส รู้ว่ากิเลสเข้ามาเมื่อใด ความเห็นใดเป็นความเห็นของกิเลส ความคิดใดเป็นความคิดของกิเลส คำพูดใดเป็นคำพูดของกิเลส กิจกรรมการงานและอาชีพใดเป็นไปเพื่อเสริมกิเลสสร้างอกุศล และความเพียรใดไม่เป็นไปเพื่อลดล้างกิเลส ให้มีสติจับอาการของกิเลสให้ได้ โดยใช้สติปัฏฐาน ๔ ผ่านกาย เวทนา จิต ธรรม คือจับอาการของกิเลสที่เกิดได้ รู้สุขทุกข์ที่เกิดมานั้นเพราะจิตมีกิเลสตัวใดปะปน และใช้ธรรมที่เหมาะควรมาพิจารณากิเลสนั้นซ้ำๆย้ำๆ ใคร่ครวญ ทบทวนจนกระทั่งปัญญาเจริญขึ้น คือสร้างธรรมใหม่ขึ้นมาบนธรรมเดิม เป็นธรรมะที่ละเอียดลึกซึ้งขึ้น ไม่ปะปนไปด้วยกิเลส ใสสะอาดกว่าธรรมเดิมที่เคยมีโดยลำดับ

8). สัมมาสมาธิ – ความตั้งมั่นในมรรคทั้ง ๗ องค์นั่นแหละ คือสัมมาสมาธิของพุทธ คือทำมรรคทั้ง ๗ ด้วยความตั้งมั่น นั่นคือความเป็นสมาธิที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

….เมื่อปฏิบัติดังนี้จะเกิดความเจริญขึ้นโดยลำดับ จะเกิดปัญญารู้แจ้งโทษชั่วของการค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์มากขึ้น มีปัญญารู้หนทางหลีกเลี่ยงสิ่งที่ผิด มีความเห็นที่มีความชัดเจนในแนวทางการพ้นทุกข์มากขึ้นโดยลำดับ ซึ่งการปฏิบัตินั้นไม่ใช่เพื่อการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทันที แต่เป็นไปเพื่อสร้างปัญญาให้เกิด และให้ความเปลี่ยนแปลงนั้นเป็นผลที่เกิดขึ้นเองด้วยเหตุที่ปัญญานั้นเจริญขึ้น

เมื่อมรรคถูก ผลก็ถูก คือจะมีความเห็นไปในแนวทางที่เป็นข้าศึกต่อกิเลส เป็นผู้ไม่เบียดเบียน ปฏิบัติตามข้อควรปฏิบัติคือไม่ค้าขายสัตว์และเนื้อสัตว์ได้โดยไม่มีความทุกข์ใดๆมารบกวนจิตใจ

– – – – – – – – – – – – – – –

10.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

June 26, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,794 views 0

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

อยากโสด แต่กิเลสไม่ยอมให้โสด

สมัยที่ยังไม่เคยศึกษาธรรมะก็มักจะมองว่าความโสดไม่ดีมีแต่เหงา มีคู่สิดีมีอะไรมากมาย แม้จะเจ็บจากความรักเท่าใดก็ยังไม่ทิ้งความหวังที่จะมีความรักอีกครั้ง

จนกระทั่งได้มาศึกษาธรรมะ ได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์และผู้รู้ที่นำมาขยายและอธิบายว่าการมีคู่ทำให้เกิดทุกข์อย่างไร เป็นโทษอย่างไร ความโสดมีคุณประโยชน์อย่างไร ทำให้ชีวิตเจริญอย่างไร

ถึงแม้ว่าจะมีประสบการณ์ความเจ็บช้ำมามากเท่าไหร่ เห็นรักของใครต่อใครพังมามากแค่ไหน ได้เรียนรู้ว่าโสดนั้นดีกว่ามีคู่อย่างไร แต่ก็ยังไม่สามารถทำใจให้โสดสนิทได้ ทำอย่างไรมันก็ไม่ยอมโสด มันยังอยากมีคู่ เห็นคนอื่นควงกันมาแล้วก็ยังอิจฉา ดูละครเห็นพระเอกนางเอกจีบกันก็ยังสุขตาม บางทีก็ยังเฝ้าฝันถึงวันที่ได้มีคู่ ทำไมมันยังไม่ยอมโสดเสียทีทั้งที่มีความรู้ขนาดนี้แล้ว?

เรียนรู้ใช่ว่าจะรู้จริง

เราอาจจะเคยเจอกับสภาวะที่เรียกว่า ความรู้ท่วมหัวเอาตัวไม่รอด หรือ เข้าใจแต่ทำไม่ได้ การเรียนรู้โดยทั่วไปนั้นเป็นการนำความรู้นั้นเข้ามาใส่ความจำเท่านั้น ซึ่งในความจำนั้นก็ยังมีอีกมากมายหลายล้านเรื่องที่จำไว้ เช่นจำว่าเคยมีความสุขตอนมีคู่ จำได้ว่าตอนเสพมันเป็นสุข ซึ่งแม้จะจำได้ว่ามีคู่เป็นทุกข์ แต่เมื่อประสบกับสิ่งที่ถูกใจเข้าจริงๆก็มักจะแกล้งลืมความจำบางอย่างไปเสียหมด

สิ่งที่ทำให้เราเลือกจำแต่เรื่องที่ไร้สาระและเลือกเสพในสิ่งที่ไม่ใช่ความสุขแท้นั้นก็คือ “กิเลส” พลังของกิเลสจะทำหน้าที่บดบังความจริงตามความเป็นจริง สร้างความสุขลวงขึ้นมา ปั้นความลวงให้เป็นความจริง ถึงแม้สิ่งที่อยู่ตรงหน้าจะเป็นกงจักรก็ยังเข้าใจไปว่าเป็นดอกบัว นี่คือพลังของกิเลสที่ทำให้เห็นผิดเป็นถูก ทำให้ความจริงนั้นผิดเพี้ยนไป ดังนั้นเมื่อเราได้เรียนรู้อะไรมาก็ตาม หากเรายังมีกิเลสปนเปื้อนอยู่ ความรู้เหล่านั้นจะถูกบิดเบือนไปจนกระทั่งบันทึกสิ่งที่ผิดๆลงในความทรงจำ

ดังนั้นการเรียนมากก็ใช่ว่าพ้นทุกข์ได้ เพราะหากขยันเรียนแต่ยังมีกิเลสมากหรือความรู้ที่เรียนนั้นไม่ได้พาให้ลดกิเลส ความรู้นั้นก็ไม่ได้ช่วยให้พ้นทุกข์ได้เลย ยิ่งรู้มากยิ่งหลงผิดมาก เรียกว่ายิ่งเรียนยิ่งโง่ก็ว่าได้

โสดที่ยังมีกิเลส

เมื่อเราได้เรียนรู้ชีวิตและศึกษาธรรมะ เข้าใจเหตุแห่งความอยากในการมีคู่แล้วเห็นดีในความโสด ไม่ใช่การโสดเพราะอยากจะหนีหรือเพราะเจ็บปวดจากความรัก แต่เพราะเกิดปัญญาเห็นโทษภัยของการมีคู่และข้อดีของการโสด

แต่ถึงจะเห็นไปในทางที่ถูกเช่นนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถโสดโดยไม่มีสะดุด เพราะยังมีกิเลสคอยเป็นมารที่ขวางกั้นความสงบในชีวิต การเห็นว่าโสดนั้นดี คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกปรับเข้ามาในทิศทางที่ถูกแล้ว เหมือนเรือที่หันหางเสือไปยังทิศทางพ้นทุกข์ แต่ก็ยังไม่ออกเรือ เป็นเพียงการระบุทิศทางเท่านั้น

ซึ่งประเด็นนี้มักจะเป็นที่สงสัยของหลายคนว่า ได้ศึกษาธรรมจากพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรมจากครูบาอาจารย์ เข้าใจและเห็นด้วย แต่ทำไมเวลาไปเจอของจริงมันแพ้กิเลสทุกที นั่นเพราะเพียงแค่ความเข้าใจที่ถูกตรงแต่ยังมีกิเลสนั้นยังไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้

ความเข้าใจที่ถูกเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องมีเป็นอันดับแรก เพราะถ้าเข้าใจผิดเห็นว่ามีคู่ดีกว่า หรือถ้าเจอคู่ดีก็ควรมี หรือเหตุผลอะไรก็ตามแต่ที่จะทำให้ไปมีคู่ ก็เรียกได้ว่ายังเป็นความเข้าใจที่ผิด เป็นเรือที่อยากจะเดินทางไปสู่การพ้นทุกข์ แต่ตั้งหางเสือให้ไปในทิศทางของทุกข์อยากมีความสุขแต่กลับแสวงหาทุกข์ เพราะมีกิเลสมาบดบังปัญญาจึงทำให้หลงผิด

เมื่อมีความเข้าใจที่ถูก ก็จะต้องทำให้เกิดความคิดที่ถูกต้องตามมา ในตอนแรกจะไม่สามารถมีความคิดไปตามหลักของพระพุทธเจ้าได้ กิเลสมันจะค้านแย้งตลอด แม้จะได้เรียนธรรมมามาก มีข้อธรรมเยอะ จำได้มาก แต่ก็มักจะต้องแพ้ให้กับกิเลสเสมอ เพราะพลังของอธรรมนั้นมีมากกว่าธรรม ตั้งใจพิจารณากิเลสแทบตาย ฟังธรรมปฏิบัติธรรมกันอยู่เป็นสัปดาห์ ออกไปใช้ชีวิตแล้วเจอคนที่ถูกใจพูดด้วยไม่กี่คำก็เพ้อฝันไปไกล

การจะคิดได้อย่างถูกตรงนั้นไม่ง่าย จึงต้องใช้พลังของการปฏิบัติอื่นๆร่วมด้วย คือการพูดสิ่งที่ถูกตรง คือพูดไปในทางไม่เสริมกิเลส ขัดกิเลส ทำกิจกรรมการงาน เลี้ยงชีพอย่างถูกตรง โดยเฉพาะความเพียรที่ถูกตรง

ความเพียรที่ถูกคืออะไร? ในกรณีของการจะไปสู่ความโสดอย่างเป็นสุขได้นั้นจะต้องเพียรชำระล้างกิเลส ไม่ใช่ขยันทำการงาน แต่เป็นขยันชำระกิเลสในใจตน ขยันพิจารณาประโยชน์ของความโสดและโทษของการมีคู่ เพื่อให้อาหารกับธรรมะและงดให้อาหารอธรรม เพื่อไม่ให้ความชั่วโตขึ้นและเสริมสร้างความดีให้แข็งแรง

จนกระทั่งมาถึงสติที่ถูกตรง เป็นสติที่สามารถจับและวิเคราะห์กิเลสได้ รู้ได้ชัดว่ากิเลสใดเกิดขึ้น เป็นกิเลสชนิดไหน โลภ โกรธ หลงในสิ่งใด เราอยากเสพอะไร เราหลงติดหลงยึดในอะไร แล้วจะใช้ธรรมะเข้าใดเข้ามาขัดเกลากิเลสนี้

เมื่อวิถีปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์ทั้งหมดถูกปฏิบัติอย่างตั้งมั่น จึงเกิดเป็นสมาธิที่ถูกตรง เป็นลักษณะเฉพาะของผลการปฏิบัติในวิถีพุทธ นั่นคือเกิดสมาธิขึ้นเพราะความสงบจากกิเลส เป็นสมาธิที่ไม่ต้องนั่ง ไม่ต้องเดิน ไม่ต้องเข้า ไม่ต้องออก เป็นสภาพสามัญของ “สัมมาสมาธิ” ของผู้ที่ปฏิบัติ “สัมมาอริยมรรค” ๗ ข้ออย่างถูกตรงด้วยความตั้งมั่น ต่างจากวิธีปฏิบัติของลัทธิอื่นๆที่ต้องนั่งสมาธิหรือใช้อุบายให้จิตสงบเสียก่อนจึงเกิดจิตที่เป็นสมาธิได้ ซึ่งนั่นเป็นเพียงมิจฉาสมาธิเท่านั้น

โสดไม่มีกิเลส

เมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรงด้วยความเพียรอย่างสุดกำลัง จนกระทั่งเกิดปัญญารู้แจ้งในกิเลสนั้นๆ เป็นความรู้เดียวกับที่พระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์สอน ไม่ว่าใครที่รู้แจ้งในกิเลสก็จะได้สัมผัสรสเดียวกัน รับรู้เช่นเดียวกัน อารมณ์เดียวกัน คือมีสภาพปล่อยวางจากกิเลส ปล่อยให้กิเลสเดินออกจากจิตวิญญาณของเรา กิเลสไม่ใช่เราและเราไม่ใช่กิเลส ไม่จำเป็นต้องมีกันและกันอีกต่อไป

เมื่อเข้าใจดังนั้น ก็จะไม่ต้องพยายามโสด ไม่ต้องระวังว่าใครจะมาพรากความโสดได้ ต่อให้ยกบ้านยกเมืองให้ ให้เป็นเศรษฐีระดับโลก มีกินมีใช้ตลอดชีวิต มีคนที่พร้อมจะมาเป็นคู่ มีนิสัยดีแสนดี มีพร้อมทั้งความงามและปัญญามาแลกกับการสละความโสดก็ไม่เอา ดีแค่ไหนก็ไม่เอา ไม่ต้องคิด ไม่ต้องตัดสินใจ ไม่มีความอยากใดๆเกิดขึ้นแม้น้อย เพราะมีคำตอบเดียวคือ “โสด” ปิดประตูนรกของการมีคู่ไปได้เลย

ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆในคำสอนของพระพุทธเจ้าและครูบาอาจารย์อีก เพราะรู้แน่ชัดในตนเองแล้วว่าสิ่งนี้แหละเยี่ยมยอดที่สุดในโลก เป็นสภาวะที่ไม่สามารถจะหาสิ่งใดมาเปรียบ ไม่มีอะไรที่จะเอามาแลกได้ ไม่มีอะไรหักล้างได้ ยั่งยืน ถาวร ไม่เวียนกลับ คงอยู่ตลอดกาล ไม่แปรปรวนอีกต่อไป เกิดเป็นความรู้ในตน เป็นปัญญาของตน เป็นสมบัติของตนเอง ไม่ใช่ของที่หยิบยืมมาอ้างจากผู้อื่นอีกต่อไป กลายเป็นอริยทรัพย์เรื่องหนึ่งที่จะให้ผลต่อเนื่องไปตราบปรินิพพาน

– – – – – – – – – – – – – – –

26.6.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นักเดินทาง …สายกลาง

April 15, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,450 views 0

นักเดินทาง ...สายกลาง

นักเดินทาง …สายกลาง

ในชีวิตเรานั้นมีเส้นทางมากมายให้เลือกเดินทาง หลายคนไปดูภูเขา หลายคนไปชมทะเล หลายคนไปเยือนทุ่งกว้าง หลายคนไปหาประสบการณ์ในต่างแดน

แต่ก็มีบางคนที่เลือกเดินในเส้นทางที่ต่างออกไป เป็นเส้นทางที่ไกลแสนไกล ไกลเสียจนไม่รู้ว่าจุดหมายอยู่ที่ใด เพียงแต่ได้ยินเขาเล่าเขาล่ำลือมาว่า หากไปถึงเป้าหมายนั้นก็คือที่สุดแห่งชีวิตแล้ว ทางเส้นทางที่ว่านั้นก็คือหนทางธรรม

นักเดินทางธรรมนั้นก็มีรูปแบบคล้ายกับนักเดินทางทั่วไป มีประสบการณ์จากผู้อื่น มีรีวิวสถานที่ท่องเที่ยว มีกระทู้ปัญหาที่ได้พบให้เราได้อ่านและเรียนรู้ แต่นั่นก็เป็นเพียงแค่คำล่ำลือ ถ้าอยากเห็นความงดงามนั้นก็ต้องเริ่มออกเดินทางด้วยตัวเอง

การเดินทางนั้นไม่ยาก เพียงแค่ตั้งใจก็ไปได้แล้ว ไม่ต้องเตรียมวีซ่า ไม่ต้องมีเงิน ไม่ต้องจัดเสื้อผ้า เราก็สามารถจะเดินทางออกไปได้เลย เมื่อเรามาถึงท่ารถ เราก็จะเจอกับสายรถต่างๆ มากมายหลายร้อยเจ้าที่บอกว่าทางสายกลางคือเส้นนี้ ,ทางของเราลัดที่สุด, ทางของเราถูกตรงที่สุด ,ทางคนอื่นผิดของเราสิถูก ฯลฯ

เป็นความสับสนอลหม่านของนักเดินทางมือใหม่ที่จะเริ่มเดินบนถนนหนทางธรรม เขารู้นะว่าต้องเดินทางสายกลาง แต่ทางสายกลางน่ะ…มันทางไหน จะเดินทางเองมันก็ไปไม่เป็นอยู่แล้ว หลงทางแน่นอน แต่จะไปกับคนอื่นก็มีมากมายหลายทางเลือกเหลือเกิน แต่ละคนก็บอกว่าตนเป็นทางสายกลางทั้งนั้น แต่กลับมีค่าใช้จ่ายและเส้นทางที่จะไปต่างกัน

ว่าแล้วเขาก็ค้นข้อมูลที่เคยอ่านมา มีหลายคนที่มารีวิวว่าเดินทางกับคนนั้นสิ คนนี้สิ สายนี้สิของแท้ สายนี้สิพาไปสู่จุดหมายแน่นอน แม้จะอ่านรีวิวมามากเพียงใด แต่ก็ยังมีความลังเลสงสัยอยู่ดี สุดท้ายเลยทำได้แค่เดาๆแล้วเลือกตามที่คนอื่นเขาว่าดี หรือทางที่คนส่วนใหญ่เลือกจะไป

…………

เส้นทางสู่ทางสายกลางนั้น ไม่จำเป็นต้องมีผู้คนจำนวนมากยืนยัน ไม่จำเป็นว่าเขาจะต้องเป็นผู้ชี้ทางที่ได้รับความนิยม ไม่จำเป็นต้องเชื่อตามที่เขาอวดอ้าง เพราะสิ่งที่เขานำเสนอให้เรานั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป มีหลายครั้งที่มีความเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างนักเดินทางกับผู้ชี้ทางที่ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปที่หนึ่ง แต่ผู้ชี้ทางกลับพาไปอีกเส้นทางหนึ่ง แม้ผู้ชี้ทางจะยืนยันว่าทางที่เขาบอกไปนั้นใช่ แต่ความรู้สึกลึกๆนั้นกลับรู้สึกว่ายิ่งเดินยิ่งห่างไกลเป้าหมาย

สิ่งที่จำเป็นคือต้องมีความถูกตรงในการพาเดินทางสู่ทางสายกลาง สัมมาอริยมรรคนั้นเป็นอย่างไร สัมมาหรือความถูกต้องถูกตรงนั้นเป็นอย่างไร อริยะคืออะไร มรรคคืออะไร หากเราเองไม่ได้ศึกษาให้ละเอียดรอบคอบก่อนแล้วเผลอกระโดดไปในเส้นทางใดเส้นทางหนึ่งด้วยความประมาท นอกจากจะพาให้หลงทางแล้วยังยากที่จะกลับมาเริ่มต้นใหม่เหมือนตอนแรกด้วย

เพราะคนที่ยึดมั่นถือมั่น จะเห็นว่าทางที่ตนไปนั่นแหละถูก ทั้งๆที่ทางนั้นอาจจะผิดก็ได้ โลกนี้มีวิธีการเดินทางสู่ทางสายกลางมากมายหลายสำนัก มีหลายสำนักก็หลายทิฏฐิ หลายวิธีการปฏิบัติ แต่ในความจริงแล้วคือมีทางเดียวที่จะไปถึงผลคือสัมมาอริยมรรค

ก่อนจะเข้าไปถึงทางสายกลางเราก็ต้องรู้ก่อนว่าทางโต่งทั้งสองด้านนั้นคือความติดสุขและการติดดี หรือกามและอัตตา เป็นกิเลสที่จะพาให้เราหลงทางทั้งคู่ ดังนั้นทางสายกลางก็คือการละออกจากทางโต่งหรือละกิเลสนั่นเอง ซึ่งจะสามารถทำได้ด้วยการปฏิบัติตามสัมมาอริยมรรค

สัมมาอริยมรรคคืออะไร?

คือความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ นั่นคือความเห็นความเข้าใจใดๆก็ตามที่พาลดกิเลส เข้าใจว่าสิ่งใดที่ลดกิเลส สิ่งใดที่พาให้หลงทาง

คือความคิดที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือความคิดที่พาลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส คิดไปในทิศทางที่ลดกิเลส

คือการพูดจาที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการพูดที่พาลดกิเลส ถ้อยคำที่ไม่เสริมกิเลสแก่กันและกัน

คือการกระทำที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการกระทำใดๆ ทั้งกาย วาจา ใจ ที่พาให้ลดกิเลส ไม่โต่งไปทั้งกามและอัตตา

คือการเลี้ยงชีพที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเลี้ยงชีพที่ไม่ขัดกับหลักของพุทธ เป็นไปเพื่อเอื้อต่อการลดกิเลส ไม่เสริมกิเลส ไม่สร้างกรรมชั่ว ไม่ทำให้ชีวิตมัวเมาไปกับโลกธรรม

คือความเพียรที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการเพียรล้างกิเลส เพียรสร้างโลกุตระธรรมให้เจริญขึ้นในตน เพียรศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา

คือสติที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือมีสติที่รู้ไปถึงตัวตนของกิเลสที่ฝังอยู่ข้างใน ชำแหละกิเลสออกมาเป็นส่วนๆด้วยความรู้ตัวนั้นๆ เป็นไปตามลำดับของการรู้กาย เวทนา จิต ธรรม

และสุดท้ายคือสมาธิที่ถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ คือการทำองค์ประกอบของสัมมาอริยมรรคทั้งหมดก่อนหน้านี้ให้เกิดสภาพตั้งมั่น นั่นแหละจึงจะรวมลงเป็นสัมมาสมาธิ

……ในข้อมูลมากมายที่ชี้นำการเดินทางบนถนนหนทางธรรมนี้ ไม่ง่ายนักที่จะสามารถจำแนกสิ่งที่ถูกออกจากสิ่งที่ผิดได้ พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่าอย่าเพิ่งปักใจเชื่อสิ่งใดง่ายนัก แต่ให้พิจารณาดูด้วยปัญญาของตนว่าสิ่งใดเป็นกุศล สิ่งใดเป็นอกุศล ถ้าคิดว่าสิ่งใดเป็นกุศลก็ให้เข้าถึงคุณประโยชน์ของสิ่งนั้น แต่ถ้าสิ่งใดเป็นอกุศลก็ให้ละเสีย

ในความเป็นจริงแล้วทุกอย่างนั้นไม่เที่ยงเสมอไป สิ่งที่เราคิดว่าเป็นกุศล เมื่อถึงจุดหนึ่งอาจจะไม่เป็นกุศลอย่างเคยก็ได้ เมื่อถึงตอนนั้นก็อย่าไปยึดมั่นถือมั่นนัก เพราะต้องใช้เวลาในการย้อนกลับมาเริ่มต้นใหม่ ยิ่งเรายึดมั่นถือมั่นก็จะยิ่งหลงทางไกล แต่นักเดินทางธรรมโดยมากก็ยอมที่จะยึดสิ่งที่ตนเชื่อไว้เช่นนั้นแม้ว่าจริงๆมันจะผิดก็ตาม

ทางดับทุกข์นั้นมีด้วยกันหลายทาง แม้ที่บอกว่าเป็นสัมมาอริยมรรคก็มีด้วยกันหลายเจ้า หลายแนวทางปฏิบัติ แต่ทางที่ถูกตรงของพุทธนั้นมีทางเดียว พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ทางนี้ทางเดียว ทางอื่นไม่มี ( เอเสวมัคโค นัตถัญโญ )”

– – – – – – – – – – – – – – –

15.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)