Tag: เบียดเบียน

การมีคู่/อัตตา

August 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,473 views 0

การมีคู่ คือการแสดงความเป็นเจ้าของ ความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของ คือลักษณะหนึ่งของ อัตตา

ถ้าเราไม่เข้าไปเป็นเจ้าของสิ่งใด ก็คงจะไม่มีเหตุให้ต้องมีความทุกข์เพราะความเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้น

ช่วงนี้มีแมวจรแวะเวียนเข้ามาพักที่บ้าน ผมเองก็ไม่เคยเกิดความรู้สึกว่าเราจะต้องดูแลอะไรมันมากนัก ก็อยู่กันไปตัวใครตัวมัน ไม่สร้างความเป็นเจ้าของ แม้จริง ๆ เราจะมีอำนาจในการล่อลวงก็ตามที (เคยเลี้ยงมา)

ก็เลยนึกถึงการมีคู่นี่แหละ การมีคู่นี่คือจะเข้าไปเป็นเจ้าของอีกฝ่าย ไม่ให้คนอื่นได้ไป ฉันเป็นเจ้าของเธอคนเดียว ก็เหมือนกับการเลี้ยงสัตว์นั่นแหละ แต่เป็นสัตว์มนุษย์ บำเรอด้วยรักและการตามใจ

เพราะติดเสพในตัวตนของอีกฝ่าย เลี้ยงคนก็ติดคน เลี้ยงแมวก็ติดแมว ติดความเสพในรสสุขของอารมณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในความเป็นคู่ ในความเป็นเจ้าของ ในความเป็นของของฉันเพียงคนเดียว เขารักฉันเพียงคนเดียว ฉันคนเดียวที่มีสิทธิ์จะครอบครองเขา

พอคิด ๆ ไป อันนี้มันก็ชัดเลยว่า การไปมีคู่คือสภาพอัตตาเต็มบ้อง คือไปเอาบุคคล เป็นตัว ๆ มาเป็นตัวเราของเราเลย มีแมวก็แมวเป็นตัว ๆ มีคนก็คนเป็นตัว ๆ หยาบ ๆ เห็นได้ด้วยตา เป็นอัตตาก้อนใหญ่ ๆ ที่ใคร ๆ ก็เห็นได้

คนที่เขาไม่ได้มีศีล ไม่มีธรรม เขาก็ไม่ได้เสพแค่อัตตาเดียวหรอก เขาก็ต้องเสพหลาย ๆ อัตตา หลาย ๆ ตัวตน มีชู้ มีเมียเยอะ มีนั่นมีนี่เล็ก ๆ น้อย ๆ เต็มไปหมด

พอพัฒนาศีลธรรมขึ้นมา ศรัทธาเพิ่มขึ้นมา มีความเห็นไปในทางที่จะพาไปพ้นทุกข์มากขึ้น ก็จะลดลงมาเหลืออัตตาเดียว คือไปตกลงกันว่าเธอเสพฉัน ฉันเสพเธอ จับคู่กันบำเรอกามแก่กัน อันนี้ก็ยังดีขึ้นมากว่าขั้นก่อน ก็ไม่ได้เบียดเบียนไปทั่ว เหลือแต่เบียดเบียนกันเองนี่แหละ มีกันเอง ยึดกันเอง

ต่อมาพัฒนาลดละตัวตนไปเรื่อย ๆ มันก็ไม่เหลือคู่ไง ตัวตนข้างนอกมันหยาบ มันเป็นทุกข์ มันกำหนดไม่ได้ มันไม่ยั่งยืน สุดท้ายทุกข์จะสอนว่า การมีคู่นี่มันเป็นทุกข์มาก ๆ เลย ก็เลยต้องปฏิบัติสู่การละวางความยึดอัตตาในความเป็นคู่

ละวางความเป็นกันและกัน ละวางความเป็นเจ้าของ ปล่อยสัตว์เข้าป่า ปล่อยคู่เป็นอิสระจากความผูกพัน ปล่อยให้พ้นไปจากความหลง อันนี้เป็นบุญกุศลมากเชียวหละ เงินก็ไม่ต้องเสีย เสียแต่อัตตา …เพียงแต่คนเขาไม่ชอบทำแบบนี้กัน มันสวนทาง

คนส่วนใหญ่เขาก็ยึดอัตตา ยึดเขาหรือเธอมาเป็นตัวตน มันก็แบก มันก็หนัก ส่วนคนทวนกระแสเขาก็ไปอีกทาง ก็หัดละวางตัวตน ก็เริ่มจากที่มันไกล ๆ ตัวเราก่อน คือวางตัวคนอื่นนั่นแหละ ไม่ได้เกี่ยวกับชีวิตเรา ไม่ต้องเอามาแบกก็ได้

กุศลสูงสุดของความสัมพันธ์คือ อย่าไปเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใครเลย

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์
15.8.2563

มีคู่ดี หนียาก พ้นทุกข์ยาก

May 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 610 views 0

วันก่อนพิมพ์บทความเกี่ยวกับความผาสุกของคนที่มีคู่ดีเมื่อเทียบกับคนโสด วันนี้จะมาบอกโทษของการมีคู่ที่ดี เป็นคนดี นิสัยดี ฯลฯ

การมีคู่ดี ก็เป็นเรื่องที่คนในโลกส่วนมากใฝ่หาอยู่แล้ว ใครล่ะจะอยากมีคู่ไม่ดี เขาก็อยากมีดี ๆ กันทั้งนั้น เหมือนอาหาร เขาก็อยากกินแต่ของอร่อย ใครมันจะไปอยากกินของไม่อร่อย ความอยากมันก็แบบนี้ มันจะเสพมาก เอามาก เป็นภพที่ฝังวิญญาณอยู่ สะกดไม่ให้ได้ออกไปไหน

แต่โทษภัยในคู่ดีนั้นยิ่งล้ำลึกออกยาก เรียกว่าถ้าคนจะประพฤติตนเป็นโสดแล้วดันมาเจอคู่ดี ถ้าไม่มีปัญญาจริงก็เรียกว่าไปไม่เป็นกันเลย คือไปไหนไม่รอด ต้องจมปลักอยู่กับความดีของเขา

เพราะคู่ไม่ดี คู่ชั่ว ผิดศีลกันชัด ๆ นี่เขาก็มีโทษมาก มีเหตุผลให้ออกได้ง่าย ๆ แต่เชื่อไหม แม้จะมีคู่ชั่ว ผิดศีล คบชู้ นอกใจ ใช้ความรุนแรง หลายคนก็ยังออกไม่ได้เลย เขาชั่วอยู่ชัด ๆ ก็ยังออกไม่ได้เลย ด้วยความหลงสุขบ้าง หลงทรัพย์จากเขาบ้าง ไม่มีอำนาจเหนือเขา ต้องยอมอยู่ภายใต้การผิดศีลเบียดเบียน

ไม่ต้องคิดเลยว่าคู่ดีจะออกยากขนาดไหน มันจินตนาการไม่ออกเลยที่จะทิ้งคนที่ดีพร้อมตามที่เราต้องการ ยิ่งดีเหนือคนอื่น อัตตามันจะยิ่งโตไปกันใหญ่ จะยิ่งภูมิใจ ยิ่งยึดมาก

ที่ยึดมากเพราะเราไปให้คุณค่าเขาไว้เอง คือเขาดี มันก็ดีของเขา แต่เราไปเอาดีของเขามาเป็นของเรา มันก็จะให้ความสำคัญกับเขา แล้วมันก็จะไม่ยอมพราก เพราะเข้าใจว่าคู่ดีมีศีลคือสิ่งสำคัญ เป็นของหายากในโลก

โทษของคู่ดีก็คือผูกเราไว้ในนรกนั่นแหละ จะว่าคู่ดีมันทุกข์น้อยกว่าคู่ไม่ดีมันก็ใช่ แต่มันยังทุกข์มากอยู่ เมื่อเทียบกับสถานะดี ๆ อีกมากมาย

ก็เหมือนนางวิสาขา เป็นพระโสดาบันตั้งแต่ 7 ขวบ แต่จนโตก็ตันอยู่ที่โสดาบัน เพราะหลงในความรัก คู่ครอง ครอบครัว มันก็ตันอยู่ตรงนั้น พระพุทธเจ้าอยู่ตรงหน้า เทศน์ให้ฟัง ให้ก้าวขึ้นมาจากความทุกข์ ให้ออกมาจากนรก ก็ไม่ได้มีสัญญาณใด ๆ ว่าพยายามจะขึ้นมา

หลักฐานจากพระไตรปิฎกก็มีอยู่แค่นี้ คือได้สอน แต่ไม่มีบทบรรยายว่าได้ฟังแล้วบรรลุธรรมหรือร่าเริงในธรรมเหมือนท่านอื่น ๆ ก็สรุปความได้ว่านางก็คงจะยินดีอยู่ตรงนั้นนั่นแหละ

ปฏิบัติธรรมมาประมาณหนึ่ง ชีวิตมันก็จะดี แถมเจอคนดีอีกต่างหาก มันจะก็จะออกยาก รักคู่ รักครอบครัว รักไปหมด มันก็ผูกไว้ ฝังไว้กับทุกข์ มันก็เป็นกิเลสนั่นแหละ ที่ดันไว้ไม่ยอมให้ขึ้นไปมากกว่านั้น แม้จะมีสัตบุรุษสูงสุดช่วยอยู่ แต่ถ้าไม่พาตนเองปีนขึ้นมาจากทุกข์มันก็ไปต่อไม่ได้

คู่ดีก็มีโทษประมาณนี้แหละ ก็อาจจะมีมรรคผลระดับหนึ่ง มีวิบากกรรมที่ดีระดับหนึ่งเลย ได้มาเจอคนที่ดี ที่เขามีศีล ไม่เบียดเบียนมาก

แต่มันก็ยังมีทุกข์มากอยู่ไง ทุกข์จนร้องห่มร้องไห้ เพราะความรักเป็นเหตุนั่นแหละ

ทุกข์มากที่ว่านี่มันก็เห็นกันได้ยาก คนทั่วไปเขาก็เห็นกันว่าทุกข์น้อย เขาเห็นว่ามีคู่ดี เขาก็ยอมทนทุกข์ที่จะเกิด เพราะเขาคิดว่ามันไม่น่าจะเยอะ ขนาดคู่ไม่ดีไม่มีศีล คนส่วนใหญ่เขายังยอมทนทุกข์กันเลย เพราะเขาหลงว่าสุขมันมากกว่าทุกข์ หรือแม้จะทุกข์ก็มีสุขให้เสพ

พระพุทธเจ้าบอกรักมีแต่ทุกข์ … ส่วนสุขท่านไม่ได้กล่าวถึง คือมันไม่มีนั่นแหละสุข แต่คนเขาปั้นขึ้นมาตามกิเลสเขา กิเลสมากก็สุขจากรักมาก กิเลสน้อยก็สุขจากรักน้อย ไม่มีกิเลส รักก็ไม่มีสุขเลย เพราะสุขมันลวงไปตามอำนาจของกิเลส

ความสุขความทุกข์ในรัก จะรุนแรงแปรผันตามกิเลส สุขเท่าใด ทุกข์เท่านั้น มีน้ำหนักที่จะเกิดแรงตามการปรุงแต่งในจิต

ถ้าจะเปรียบการมีคู่ดี ก็คงจะเหมือนได้เงินมา 100 ล้านแล้วพอใจนั่นแหละ ตามที่เขาว่า “เสียทองเท่าหัว ไม่ยอมเสียผัวให้ใคร” คือคนรักนี่มันมีค่ามาก แต่เขาไม่รู้ว่า ที่ดีที่เลิศกว่าคนรักที่ดีก็ยังมีอยู่ ถ้าพ้นความอยากมีคู่ดีไปได้ ก็เทียบได้ว่ามีเงินเป็นอนันต์ ใช้ไม่มีวันหมด

แต่ 100 ล้านนี่มีหมด มันใช้หมดได้ ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่งนั่นแหละ เพราะกามราคะเปรียบเหมือนหนี้ สุดท้ายมีเท่าไหร่ก็ต้องจ่ายหนี้จนหมด

คู่ดีนี่มีค่าใช้จ่ายนะ คือต้องทำกรรมดีมามากพอถึงจะเจอคนดี แต่ถ้าเอากรรมดีไปแลกตามกิเลสนี่มันจะหมดไปอย่างรวดเร็ว พวกทำดีแลกกิเลส ภาพก็จะคล้ายเศรษฐีตกอับ วันหนึ่งมี อีกวันหนึ่งหมด พอหมดแล้วหมดเลย เป็นยาจกเลย

คู่ดีก็เหมือนกัน เขามีเวลาจำกัดของเขา เขาไม่เที่ยง เขาไม่ยั่งยืน ไม่แน่นอน แปรผันได้ตลอดเวลา แต่ความตั้งใจปฏิบัติตนเป็นโสดนี่สามารถทำให้ยั่งยืนไม่เวียนกลับไม่แปรผันได้ คือสามารถทำให้ความโสดนั้น “เที่ยง” ได้

พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับสภาวะนิพพาน 7 ประการ คือสภาพที่กิเลสดับ หนึ่งในนั้นคือ เที่ยง คือกิเลสดับอย่างแน่นอน ไม่แปรกลับ ไม่แปรปรวน คนที่ประพฤติตนเป็นโสดอย่างถูกมรรคผล จึงมีความผาสุกที่ยั่งยืน ยาวนาน ถาวร

ต่างจากคนมีคู่ดี ที่แม้จะดี แต่ก็จะมีความทุกข์ต่าง ๆ นา ๆ ที่เกิดด้วยเหตุแห่งคู่ครองหรือครอบครัวอยู่ทุกวี่วัน ต่างจากคนโสดที่จัดการความอยากของตนได้แล้ว เขาย่อมไม่เป็นทุกข์ อยู่ผาสุกสบายทุกวี่วัน

สรุปว่าโทษของการมีคู่ดี ก็คือมันยังพาทุกข์มากอยู่นั่นเอง เพราะสุขที่มากกว่านั้นมันยังมีอยู่ ไม่ใช่ว่าการมีคู่ดีคือสภาพที่เลิศยอด แต่ที่ยอดกว่าคือไม่มีคู่ชีวิตก็ยังดีอยู่ อันนี้สิดี

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 989 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เลิกกินเนื้อสัตว์ดีอย่างไร

November 16, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 797 views 0

เลิกกินเนื้อสัตว์แล้วดียังไง? เป็นคำถามที่หลายคนอาจจะติดค้างในใจ เพราะดูเผิน ๆ แล้วมันก็ดูเหมือนไม่ได้ประโยชน์อะไร แถมอดกินเนื้อสัตว์ที่ชอบอีกต่างหาก

หลายความเห็น หลายเหตุผล ผมเคยพิมพ์เป็นบทความ เผยแพร่กันแล้วในเว็บไซต์แห่งนี้ ใครสนใจก็ไปติดตามอ่านกันได้ใน หมวดหมู่ : มังสวิรัติ ได้ครับ แต่ในบทความนี้จะมานำเสนอ ประโยชน์ 3 ประการในการเลิกกินเนื้อสัตว์ของหมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน กันครับ

เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น (หมอเขียว ดร. ใจเพชรกล้าจน)

1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง

มาตรวจตามประเด็น ที่อาจารย์หมอเขียวได้พบ ว่าผมได้สัมผัสสิ่งใดบ้าง

1.ได้ร่างกายที่แข็งแรง ความเจ็บป่วยน้อยลง
– อันนี้จริงตามที่อาจารย์ว่า เพราะนอกจากจะแข็งแรงขึ้น หายโรคไวขึ้น แล้วน้ำหนักยังลดอีก น้ำหนักผมลดจากประมาณ 100 เหลือ เฉลี่ย 65 หรือจนกระทั่ง 60 ในบางที น้ำหนักที่ลงขนาดนี้ ความรู้ในโลกทำไม่ได้ง่าย ๆ นะ แต่การเลิกกินเนื้อสัตว์ทำได้ พอน้ำหนักลงแล้วอย่างอื่นก็ดีขึ้นเป็นเงาตามตัว การฟื้นฟูตัวเองก็ดีขึ้น กลิ่นตัวก็ไม่แรงเหมือนสมัยก่อน แถมยังคล่องตัวขึ้นกว่าเดิมด้วย อาการขาเบียดจากไขมันอันมากมายได้หายไปหมด เรียกว่าทั้งแข็งแรงขึ้น เจ็บป่วยน้อยลงจริง ๆ

2.ได้จิตใจที่เป็นสุข
– จิตใจที่เป็นสุขเกิดขึ้นจริง ๆ มันคือความสบายใจ ที่เราไม่ต้องเบียดเบียนสัตว์ มันคือความยินดี ภูมิใจ มั่นใจว่านี่แหละคือความประเสริฐของมนุษย์ นี่คือคุณค่าของความเป็นคน คือความไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น คือความเกื้อกูลสัตว์ ความมีอยู่ของเราไม่เป็นภัยต่อสัตว์อื่น เรามีชีวิตที่เป็นประโยชน์ต่อสัตว์อื่นจริง ๆ พอมันเป็นแบบนี้จิตใจมันก็ผ่องใส ไม่หม่นหมอง ไม่ต้องมีตราบาป ไม่ต้องทำบาปเพราะเห็นแก่กินอีกต่อไป

3.มีสิ่งดีๆเกิดขึ้นในชีวิต มีสิ่งดีๆเข้ามาในชีวิตมากขึ้น สิ่งเลวร้ายในชีวิตน้อยลง
– ตั้งแต่ปฏิบัติธรรมตามอาจารย์หมอเเขียวมา ก็เกิดสิ่งดี ๆ ในชีวิตมากมาย เจอเหตุการณ์ร้ายก็มีคนมีช่วยไวมาก ไม่เคยต้องลำบากนาน ไม่ต้องทนทุกข์นาน มีเหตุการณ์ดี ๆ ในชีวิตเกิดมากมาย คนที่เคยเข้าใจผิดก็หันมาเข้าใจ มายอมรับ มาศรัทธา มาสนับสนุน มาเป็นกำลังให้ ปัญญาที่เคยทึบ หลงโง่ หลงทุกข์ ก็ค่อย ๆ สว่าง กระจ่างขึ้น กำจัดความโง่ทนทุกข์ได้โดยลำดับ

สรุปแล้วก็เห็นดี เห็นควรตามที่อาจารย์หมอเขียวกล่าวไว้จริง ซึ่งข้อดีในการกินมังสวิรัติอาจจะมากกว่า ถ้ายกมาตรวจสอบกันก็อาจจะขยายผล ขยายประโยชน์ได้มากกว่านี้

อ่านเนื้อหาของอาจาย์หมอเขียวฉบับเต็มที่ : เลิกกินเนื้อสัตว์ได้โชค 3 ชั้น