Tag: ครอบครัว

โสดถ่วงโลก ไม่ให้จมดิ่งไปมากกว่านี้

May 16, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 603 views 0

โดยวิถีของโลกนี้ก็มีอยู่บล็อกเดียวอยู่แล้ว คือใช้ชีวิตตามอยาก หาคู่บำเรอกิเลส แล้วก็สร้างครอบครัวครอบตัวครอบใจกันไป มีลูกมีหลาน นอนบนกองทรัพย์ที่ลูกหลานหามา แล้วก็ตายกันไป

เป็นสูตรสำเร็จที่คนเอาไว้ใช้ป้องกันสิ่งที่ตนเองกลัว กลัวไม่มีคนรัก กลัวไม่มีทรัพย์ กลัวลำบาก กลัวป่วยแล้วไม่มีคนดูแล กลัวตายแล้วไม่มีคนเผา กลัวไม่มีคนทำบุญส่งไปให้ สารพัดความกลัวที่จะทำให้คนแสวงหาสิ่งใด ๆ มาแปะ มาเติมเต็มให้รู้สึกอุ่นใจ

ทีนี้โมเดลใช้ชีวิตอยู่คนโสดนี่มันก็มีอยู่ในสังคมเหมือนกัน คือโสดเพื่อที่จะเสพอีกอย่าง โสดไม่ผูกมัด โสดไม่เอาภาระเป็นต้น คือเอาแต่ใจตนเองสุด ๆ นั่นแหละ อันนี้มันก็จะคงสภาพได้ช่วงหนึ่ง แต่เดี๋ยวกิเลสมันก็แส้เฆี่ยนให้วิ่งไปหาคู่อยู่ดี แม้จะหาไม่ได้ แต่ใจก็ยังถวิลหา ระลึกถึง ฝันถึง ฝังใจ ฯลฯ

ทั้งมีคู่และโสดที่เต็มไปด้วยความอยากเหล่านั้น ต่างก็อยู่ฝั่งเดียวกันคือฝั่งโลก หรือโลกียะ ความเป็นโลกคือวนเวียนอยู่กับโสดหรือมีคู่ เปลี่ยนสถานะไป แต่ไม่พ้นความอยาก

ทีนี้อีกฝั่งหนึ่งคือฝั่งโลกุตระ ซึ่งมีน้อยมาก น้อยอย่างเทียบกันไม่ได้เลย แต่ก็จำเป็นต้องอยู่ แสดงตน แสดงธรรม เพื่อถ่วงโลกไว้ ไม่ให้ไหลลงมากกว่านี้ ไม่ให้มืดบอดไปมากกว่านี้

ถ้าไม่มีธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัส คนนี่มืดบอดเลยนะ ชีวิตจะเป็นไปได้ไม่กี่ทาง เช่น หาคู่ มีครอบครัว หรือไม่ก็โสดแบบอัตตาจัด ๆ เพื่อกลบเกลื่อนความอยาก

การมีธรรมะแสดงอยู่ ทำให้คนที่เขาทุกข์ เขาอยากหลุดพ้นจากทุกข์สามารถที่จะมีทางออกทาง ออกจากโลก มันก็มีแค่มาฝั่งโลกุตระเท่านั้นถึงจะพ้น เพราะความเป็นโลกคือความวน หลงเสพหลงสุขสารพัดลีลา ซึ่งจะทำพาทุกข์มาให้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

การที่ผมพิมพ์บทความเรื่องโสดบ่อย ๆ นี่คือการถ่วงโลกไว้ เพราะเรื่องนี้ไม่ค่อยมีคนทำจริง ๆ ครูบาอาจารย์ท่านก็ไม่ได้มีเวลามาขยาย แต่ก็ได้ให้แนวทางไว้ แต่คนที่จะมาแสดงตัวตนให้ชัด ๆ น่ะมีน้อย คนที่จะมาเปิดเผยอย่างจริงจังก็มีน้อย ดีไม่ดีมีพวกผีแอบปลอมปนเข้ามาอีก

การพิมพ์ไปแต่ละบทความ คนที่มีปัญญาเขาจะได้ประโยชน์ทุกครั้ง แม้ทีละน้อยก็จะได้ประโยชน์ เพิ่มภูมิธรรม เพิ่มความรู้ แม้รู้อยู่แล้วก็ได้รู้เหลี่ยมรู้มุมเพิ่ม ส่วนคนที่ไม่มีปัญญาก็ตรงข้ามนั่นแหละ เหมือนน้ำเต็มแก้ว ที่สำคัญเป็นน้ำเน่าด้วย เพราะไม่รู้จักว่าอะไรดีอะไรไม่ดี อะไรควรอะไรไม่ควร ซึ่งจะก็มักทำสิ่งที่ไม่ดีไม่ควรลงไป

การบำเพ็ญทำดีก็ไม่มีอะไรมากกว่าการคิดดีซ้ำซาก การทำดีซ้ำซาก การพูดธรรมซ้ำซาก คือซ้ำ ๆ ทวน ๆ ไปอยู่แบบนั้น ซ้ำคือซ้ำ ย้ำในความดี ทวนคือทวนกระแสโลก

ถ้าได้ตามนี้ถือว่าเยี่ยม เชื่อไหม คนไม่มีภูมิธรรม ไม่ได้ปฏิบัติธรรมถึงผล ไม่มีมรรคผล เขาทำย้ำซ้ำทวนไม่ได้หรอก เพราะเขาจะไม่มีจิตยินดีในธรรม เขาจะเบื่อไปตามโลกีย์วิสัย คนที่มีญาณปัญญาจะมีความร่าเริ่งในธรรม ยินดีในธรรม เขาจะย้ำ ๆ ซ้ำ ๆ อยู่ในธรรมนั้นได้อยากผาสุก เบิกบาน แจ่มใส ก็เว้นเสียแต่ง่วงนอนมาก ๆ นั่นแหละ

ย้ำด้วยการทวนกระแสโลก อันนี้คือความจริง คนไม่มีธรรมจะไม่แกล้วกล้าอาจหาญ จะไม่กล้าท้า ไม่กล้าทวนกระแสโลก แสดงธรรมกระมิดกระเมี้ยน ไม่กล้าหาญ ไม่เปิดเผย มีแต่ภาพกว้าง ๆ แนวคิดกว้าง ๆ เป็นคอนเซ็ปต์ทั่ว ๆ ไปที่ใครก็รู้ได้ ไม่กล้าลงลึกในสภาวธรรม ไม่กล้าแจงแจงรายละเอียด เพราะตัวเองไม่พ้น มันก็จะเหนียม ๆ เก้อ ๆ อยู่แบบนั้น โดยเฉพาะตัวเองไม่มี มันก็ทวนไม่ได้ เขาก็ไม่กล้าแสดงตัวออกมาหรอก

สรุปคือเขาจะไม่มาทำงานพวกนี้หรอก ครูบาอาจารย์ที่ผมศรัทธาท่านพูดเรื่องเดิมมาหลายสิบปีแล้วก็ยังพูดเรื่องเดิมอยู่ ผ่อนน้ำหนักกว่าเก่าด้วย คือสมัยแรกท่านก็เข้มเชียว แต่มาตอนนี้น้ำหนักก็เบาลงแต่สวยงามมากขึ้น ศิลปะก็เปลี่ยนไปตามภูมิตามการประมาณของท่าน แต่หลักสำคัญคือเนื้อหาเก่า พูดเรื่องเก่า เรื่องเดิม

คือเรื่องที่สืบต่อมาตั้งแต่หลายต่อหลายชาติ ก็พูดเรื่องเดิมตั้งแต่ชาติที่แล้ว ยันชาตินี้ และคิดว่าชาติหน้าท่านก็คงจะพูดต่อไป เพราะมันเป็นเรื่องที่มีประโยชน์ที่สุดในโลก

คนมีปัญญาจะรู้ว่าพูดเรื่องการลดกิเลสเรื่องการไม่เบียดเบียนนี่มีประโยชน์ที่สุดในโลก ควรพูด ควรย้ำมากที่สุดในโลก เพราะไม่มีอะไรดีเท่ากับพูดหรือแสดงธรรมเรื่องเหล่านี้อีกแล้ว

เราไม่ควรที่จะมีความรักระหว่างหญิงชายอย่างนั้นหรือ?

December 17, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 728 views 0

ถาม : เราไม่ควรที่จะมีความรักระหว่างหญิงชายอย่างนั้นหรือ?

ตอบ : มีความรักในสิ่งใด ก็จะต้องเป็นทุกข์เพราะสิ่งนั้น ไม่ว่าจะคู่รัก ครอบครัว ประเทศหรือแม้กระทั่งรักในความเชื่อถือของตน ถ้าตอบตามแนวทางของพุทธ สภาพของการหลงรักก็คือสภาพของโมหะ หรือความหลง ในมุมของเป้าหมายในการปฏิบัติถือว่าไม่ควร แต่ในการปฏิบัติจะต้องเป็นไปตามลำดับคือ ค่อย ๆ ละ ความยึดมั่นถือมั่นไปโดยลำดับ เพราะแต่ละคนมีอินทรีย์พละไม่เท่ากัน จึงทำให้เข้าถึงธรรมได้ไม่เสมอกัน คนจะเข้าถึงสภาพที่พ้นจากความหลงรักได้โดยลำดับ ตามที่เขาได้ตั้งใจปฏิบัติ ดังนั้นการละเว้นจากความรักชายหญิงจึงเป็นเป้าหมายที่ควรปฏิบัติ ส่วนใครจะเข้าถึงสภาพที่ละหน่ายคลายได้อย่างผาสุก เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 998 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ทำไมจึงนอกใจ

July 28, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,819 views 1

ทำไมจึงนอกใจ

ได้อ่านกระทู้ที่เข้ามาเสนอความคิดกันในเรื่องที่ว่า ทำไมถึงนอกใจ? ทำไมถึงมีคนอื่น? ผมอ่านแล้วก็คิดว่าน่าจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไว้หน่อย เพราะน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่ยังไม่ชัดเจนว่าแท้จริงนั้นปัญหาเกิดจากอะไร

เมื่อความเป็นครอบครัวสั่นคลอน

ไม่ว่าคู่ครองจะเลวร้ายอย่างไร ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไปมีคนใหม่ เพราะความจริงนั้นเราสามารถทำให้ถูกต้องได้ คือพูดคุยทำความเข้าใจ ว่ากำลังเกิดปัญหาอะไรขึ้น แล้วหาวิธีที่จะร่วมกันแก้ปัญหา นี้คือสภาพที่ใจยังเป็นครอบครัวอยู่ ยังไม่เอาอัตตาเป็นใหญ่ แต่เอาครอบครัวเป็นใหญ่ ถ้าไม่ยินดีจะปรับปรุงทั้งคู่ จะเลิกรากันด้วยความเข้าใจก็ทำได้ แต่ถ้าจะไปหักอีกคนหนึ่งเพื่อเอาตัวรอดนั้น ก็เป็นการก่อเวรโดยไม่สมควร การเลิกกันนั้นควรเป็นความสมัครใจและไม่สร้างความแค้นเคืองใจแก่กันและกัน จากนั้นจะไปมีคนใหม่หรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

เราไม่สมควรทำตัวเหมือนเด็กที่ทิ้งของเล่นชิ้นเก่าแล้วไปสนุกกับชิ้นใหม่เพราะเบื่อได้ เพราะคนนั้นต่างจากวัตถุ มีชีวิตจิตใจ ที่สำคัญคือมีการจองเวรจองกรรม หากเราทำร้ายจิตใจเขา เขาก็มีสิทธิที่จะโกรธแค้นอาฆาตเราได้ บางครั้งทำร้ายกันแค่ในชาตินี้ชาติเดียว แต่เขาก็ถึงกับสาปแช่งจะจองเวรจองกรรมกันไปทุกชาติก็มี

ในตอนแต่งงานเราก็ต้องเตรียมตัวยอมรับความเปลี่ยนแปลงในชีวิตหลังแต่งงานอยู่แล้ว แต่ในความจริงน้อยคนนักที่จะยอมรับชีวิตแต่งงานได้ นั่นเพราะไม่รู้จริงว่ามันเป็นทุกข์อย่างไร แต่ก็มีหลายคู่ที่ยอมทนทุกข์เพื่อที่จะได้เสพสุขบางอย่าง คนทนได้ก็ทนไป แต่คนที่ทนไม่ได้ก็มักจะเกิดปัญหา

การครองคู่นั้น จะต้องร่วมกันแก้ปัญหา ไม่ใช่เกิดปัญหาหนึ่งขึ้นมาแล้วก็สร้างอีกปัญหาหนึ่ง การมัวแต่โทษอีกฝ่ายนั้นไม่เกิดผลดีอะไร เพราะเมื่อเป็นครอบครัวแล้ว จะต้องแก้ปัญหาแบบครอบครัว ไม่ใช่แก้แบบฉันแก้ เธอแก้ แยกเป็นส่วนตน ไปตามอัตตาของแต่ละคน แน่นอนว่าส่วนตนก็ต้องแก้ แต่ต้องเอาความผาสุก ความสามัคคีของครอบครัวเป็นที่ตั้งด้วย บางครั้งการแก้ปัญหาอาจจะไม่ตรงจุดเสียทีเดียว แต่ก็ต้องยอมอะลุ่มอล่วยกันไปบ้าง ทั้งนี้ทิศทางที่ปัญหาจะคลายลงไปได้คือการแก้ไปสู่การลดความโลภ โกรธ หลง ทั้งหลาย ถ้าทำตรงข้ามจะเป็นการพอกพูนปัญหา

สาเหตุของการนอกใจ

การที่คนเรานอกใจคู่ครองไปหาคนอื่นนั้น ไม่มีสาเหตุอะไรนอกจากความใคร่อยากของตัวเองที่มากไปกว่าระดับของศีลธรรมที่ตนมี เพราะถ้าคนมีศีลธรรมสูง ถึงจะเจอปัญหาก็จะไม่ออกจากกรอบศีลธรรมนั้นๆ ของตน แต่ที่ออกจากกรอบศีลธรรม นั่นเพราะไม่เคยมีกรอบศีลธรรมนั้นจริงนั่นเอง

ศีล ๕ นั้นคือข้อปฏิบัติพื้นฐานสู่ความมั่นคงในการเป็นมนุษย์ แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนที่จะมีศีล ๕ อย่างตั้งมั่น แบบที่เห็นว่ามี วันหนึ่งอาจจะไม่มีก็ได้ เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นไปตามสภาพการพัฒนาของจิตวิญญาณ คนจะเจริญได้มันต้องจากต่ำมาสูง ไม่มีใครสูงตั้งแต่แรก ดังนั้นคนโดยมากจิตจึงแกว่งอยู่ระหว่างภพของมนุษย์ กับเปรต อสูร เดรัจฉาน ฯลฯ ไปจนกว่าจะเต็มรอบ จึงจะเป็นมนุษย์ที่มีศีล ๕ บริบูรณ์ได้นั่นเอง

เมื่อคนเรามีพื้นฐานศีลธรรมไม่เท่ากัน นั่นหมายถึงการแก้ปัญหาของคนที่ต่างกัน ถ้าคนมีศีลธรรมสูง เขาจะแก้เฉพาะปัญหาที่เกิด จะไม่สร้างปัญหาใหม่ ที่นอกกรอบศีลธรรมนั้นๆ แต่ถ้าคนไม่มีศีลธรรม เขาก็จะแก้ปัญหาโดยไม่มีกรอบ เอาความพอใจของตัวเองเป็นหลัก ซึ่งอาจจะนำมาสู่ปัญหาใหม่

การนอกใจนั้นไม่ใช่เรื่องของกรรมบันดาล แต่เป็นเรื่องของเจตนาที่คนคนหนึ่งตั้งใจทำด้วยเหตุอันมี ราคะ โลภะ โทสะ โมหะ เป็นมูลเหตุ

เมื่อคนเรามีกิเลสมาก และมีกรอบศีลธรรมต่ำ จึงมีแนวโน้มที่จะนอกใจได้ง่าย เมื่อเขามีราคะมาก เขาจึงมีความใคร่อยากในการเสพกามที่มาก เมื่อกรอบศีลธรรมต่ำ เขาจะไม่สนใจสิ่งใด ขอแค่ให้ตนได้เสพก็พอ, เมื่อเขามีโลภะมาก เขาจะไม่พอใจในการได้ครอบครองคู่เพียงแค่คนเดียว เขาจะอยากได้อยากเสพมากขึ้นไปอีก ให้มีสำรองไว้บำเรอเขามากๆ, เมื่อเขามีโทสะมาก เขาจะไม่มีสติที่จะรับรู้ความจริงตามความเป็นจริง ทุกคนจะผิดยกเว้นเขา คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดีดั่งใจเขา เขาก็จะใช้ความผิดของคนอื่นตามที่เขาเข้าใจนี่แหละ เป็นเหตุผล เป็นน้ำหนัก เป็นความเห็นอกเห็นใจที่เขาจะนอกใจได้อย่างชอบธรรมตามที่เขาคิด ทั้งหมดนั้นคือความหลงของเขา(โมหะ) เพราะเขาหลงว่าการนอกใจเป็นสิ่งที่ดี หลงว่าเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ หลงว่าเป็นสิ่งที่ทำให้เขาพ้นทุกข์ได้ เขาจึงยินดีนอกใจ แม้ว่ามันจะสร้างปัญหาอีกมากมายก็ตามที

คนกิเลสมากก็มักจะมีศีลธรรมต่ำเป็นธรรมดา เขาจะไม่มีปัญญารู้ถึงโทษของสิ่งที่กระทำลงไป เรียกว่าเห็นกงจักรเป็นดอกบัว หลายคนมักจะเห็นว่าการนอกใจของตนเองนั้นเป็นสิ่งที่ดี เป็นคำตอบของชีวิต เป็นสิ่งที่สมควรเลือก ไม่อย่างนั้นเขาคงไม่นอกใจ ซึ่งจริงๆ แล้วมันเป็นความเห็นที่สร้างแต่ความฉิบหายให้ชีวิต นี่คือสภาพของคนที่หลง

จริงๆ ตอนแต่งงานนั่นแหละ คือตอนที่คนคิดจะหยุดแล้ว พร้อมแล้ว พอใจแล้วกับคนที่จะแต่งงานด้วย ถ้าไม่โดนคลุมถุงชนหรือท้องก่อนแต่งโดยมากก็จะเป็นเช่นนั้น แต่เขาคิดแต่ตอนนั้น เขาไม่รู้จักกิเลสตัวเอง เขาไม่รู้ว่ามันไม่รู้จักพอ กิเลสมันอยากได้อยากเสพไม่มีหยุด มันก็เลยนอกใจในท้ายที่สุด พร้อมด้วยเหตุผลต่างๆ นานา ว่าการนอกใจที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นจากปัญหาของครอบครัวหรือสิ่งแวดล้อม ทั้งที่ความจริงปัญหามันอยู่ที่ตัวศีลธรรมของผู้ที่นอกใจเอง

ตอนที่เราเลือกใครสักคนมาเป็นคู่ ตกลงกัน แต่งงานกัน หลายคู่ก็จะมีคำมั่นสัญญา ที่ดูซาบซึ้ง อบอุ่น มั่นคง จริงใจ เป็นแบบนี้กันทั้งนั้น ซึ่งตอนนั้นเขาก็มักจะคิดอย่างนั้นจริงๆ จะอยู่คู่กันไปจนแก่เฒ่า เขาก็คิดแบบนั้นกันจริงๆ ทีนี้วันหนึ่งเขาก็ผิดสัจจะของตัวเอง นี่ไปผิดศีลข้อ ๔ อีก การนอกใจคู่นี่พาให้ผิดศีลทุกข้อนั่นแหละ เรียกว่าลากลงนรกกันไปเลย

ถ้ามันผิดคำสัญญาแล้วไปทางเจริญกว่า เช่น จะไปบวชไม่สึก ไปแสวงหาความผาสุกที่ยิ่งกว่า นี่มันก็ไปทางธรรมะ แต่ถ้าผิดคำสัญญาแล้วไปทางเสื่อม เช่นไปนอกใจ มีกิ๊ก มีชู้ มีเมียน้อย นี่มันไปทางอธรรม โลกนี้ไม่เที่ยงอยู่แล้ว ดังนั้นอย่าไปยึดสัญญาว่าเที่ยง อย่าไปหวังว่ามันจะเป็นเช่นนั้นตลอดไป ดังนั้นถ้าเขาผิดสัญญาแล้วไปทางธรรมะมันก็น่าอนุโมทนา แต่ถ้าเขาผิดสัญญาแล้วไปทางอธรรมก็ควรจะเมตตาเขา เพราะคนที่เห็นการผิดศีลเป็นสิ่งดีนี่เขาก็สร้างทุกข์ให้ตนเองมากพออยู่แล้ว เราจะไปเหยียบย่ำซ้ำเติมให้เขาลงนรกลึกลงไปอีกทำไม

รู้อย่างนี้แล้วคนที่คิดจะนอกใจก็อย่าไปพยายามหาเหตุผลให้มันมากมาย ถึงมันจะมีเหตุผลที่ดูดีแค่ไหน แต่กรรมจากการนอกใจคู่ครองนั้นให้ผลเจ็บแสบกว่าที่คิดแน่นอน เพราะการผิดศีลในระดับต่ำกว่าศีล ๕ ก็เหยียบภพที่ต่ำกว่ามนุษย์ทั้งนั้น ส่วนคนที่ทำไปแล้วก็ควรสังวร ยอมรับบาปที่ได้ทำลงไป ยอมรับว่ากิเลสเรานี่มันร้าย อย่าไปโทษคนอื่น เรียกว่ายอมรับผิด แล้วแก้ไขจิตที่บิดเบี้ยวให้มันถูกตรง จะมีโอกาสเจริญได้ในวันใดวันหนึ่ง

แต่โดยสามัญของกิเลสแล้ว เมื่อมีกามมาก ก็จะมีอัตตามากเป็นเงาตามตัว ผู้ที่ผิดศีลผิดธรรมนอกใจคู่ครอง ก็ใช่ว่าจะยอมรับกันได้ง่ายๆ เพราะอัตตานั้นเอง คือตัวที่จะขวางกั้นไม่ให้เข้าใจความจริงตามความเป็นจริง คนมีอัตตาจัด จะสำคัญตนผิด จะเอาตนเป็นหลัก โลกจะหมุนรอบตน ทุกคนต้องบำเรอตน ตนไม่มีวันผิด ถึงตนผิดก็ผิดน้อยกว่าผู้อื่น เมื่อผู้มีอัตตาจัดทำผิด ความจริงจึงถูกบิดเบี้ยว ไปโทษคนนั้นที คนนี้ที จึงเป็นความเสื่อมที่ต่อเนื่องของผู้ที่ผิดศีลนั่นเอง

ล้างใจจากคนนอกใจ

ทีนี้หลายคนที่ถูกคู่ครองนอกใจก็มักจะเป็นทุกข์ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต จองเวรจองกรรม บางคนก็สาปแช่ง ว่าให้เขาเจอแบบที่เราเจอ เขาถึงจะได้รู้สึกว่ามันชั่ว มันทุกข์ มันทรมานแค่ไหน … ก็นี่ไง เรากำลังเจออยู่นี่ไง การที่เราถูกเขานอกใจนี่แหละคือผลกรรมที่เราเคยหลงทำมา ชาติใดชาติหนึ่งเราก็หลงมาเหมือนเขานั่นแหละ เราก็เลยต้องมารับผลกรรมที่เราทำมาในชาตินี้

ดังนั้นจะไปโกรธคนที่นอกใจมันก็ไม่ถูก เพราะสิ่งนั้นเราทำมาเอง เป็นผลจากเหตุของเราเอง แล้วเราจะไปโกรธแค้นชิงชังรังเกียจเขาทำไม ในเมื่อเราก็เคยทำสิ่งนั้นมาก่อน จริงๆ แล้วเราควรจะเมตตาเขาด้วยซ้ำ นี่เขาหลงอยู่นะ เขาเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เขาไม่รู้ดีรู้ชั่ว เรื่องศีลธรรมนี่มันก็พอจะบอกกันได้ แต่จะให้เข้าใจลึกซึ้งถึงโทษภัยของการไม่มีศีลธรรมนี่มันต้องเรียนผิดเรียนถูกกันอีกหลายชาติ สรุปคือเราไม่ควรจะไปจองเวรจองกรรมเขาอีก ผลกรรมใดที่เรารับแล้วก็จบไป ไม่ต้องไปต่อความยาวสาวความยืด แล้วก็ทำความเข้าใจและเมตตาเขา คนมีกิเลสก็แบบนี้ คนหลงก็แบบนี้ คนไม่มีศีลธรรมก็แบบนี้ ก็เรานี่แหละที่หลงเลือกเขามาเป็นคู่เอง สุดท้ายปัญญาเราก็เท่านี้ จะไปหวังให้เขาดีอะไรกันมากมาย เขาก็ดีได้เท่าที่เขาจะดีนั่นแหละ

ส่วนคนที่เขานอกใจ เขาก็ต้องเรียนรู้จากการรับผลกรรมจากการกระทำนั้นอีกหลายชาติ จนกว่าเขาจะรู้ซึ้งว่าการนอกใจนี่มันชั่วนะ มันไม่ดีนะ มันไม่มีประโยชน์ มันทำร้ายเบียดเบียนผู้อื่นนะ พอเขามีปัญญาเต็มรอบ เขาก็จะเลิกทำเอง พอเขาเลิกทำชั่ว ทีนี้มันก็จะเหลือแต่รับผลกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเท่านั้น นั่นคือ ชาติใดชาติหนึ่งในอนาคต แม้เขาจะเป็นคนดีมีศีลธรรม เขาก็จะเจอกับคนที่มาทำผิดศีลต่อเขา มานอกใจเขา เหมือนอย่างที่เราต้องมารับผลกรรมในวันนี้

นั่นหมายถึงว่าไม่ว่าเราจะทำดีแสนดี เป็นคนดี มีศีลธรรมแค่ไหน เราก็จะต้องเจอกับผลกรรมที่เราทำไว้อย่างไม่ขาดไม่เกิน แล้วเราจะทำอย่างไรในเมื่อเราไม่อยากเป็นทุกข์? เราก็ต้องล้างกิเลสในส่วนของเรา ส่วนที่เราจะไปผิดศีลนั้นเราอาจจะไม่ทำแล้ว แต่ถ้าคนอื่นมาทำผิดศีลกับเราแล้วเรายังชั่วอยู่ไหม? ชั่วในส่วนนี้คือ เรายังไปหลงชิงชังรังเกียจ เคียดแค้น อาฆาต พยาบาท จองเวรจองกรรมกับเขาอยู่หรือไม่ เรายังมีความหลงไม่เข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมอยู่หรือไม่ นี่คือส่วนของความชั่วที่เราจะต้องชำระล้างบาปในตัวเรา

บาป หรือกิเลสของเขา เขาก็ต้องล้างของเขา เราบอกได้ก็บอก ช่วยได้ก็ช่วย ช่วยไม่ได้ก็ปล่อยวาง แต่บาปของเรา เราก็ต้องล้างเอง จะรอให้รับผลกรรมชั่วหมดแล้วมีแต่คนดีรอบตัวนั้นเป็นไปไม่ได้ เพราะโลกนี้พร่องอยู่เป็นนิจ นั่นหมายความว่าไม่มีวันที่จะมีอะไรสมบูรณ์แบบอย่างที่ใจเราคิด ดังนั้นถ้าเราหมั่นล้างความยึดมั่นถือมั่นในความสมบูรณ์แบบ ล้างความยึดดีถือดี พร้อมกับวางใจ ให้อภัยกับความผิดพลาดของผู้อื่น เราก็จะได้พบกับความผาสุกที่มั่นคงและยั่งยืนในวันใดก็วันหนึ่ง

27.7.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)