Tag: เห็นแก่ตัว

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,011 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การทำดีที่ยังเห็นแก่ตัว

October 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,388 views 0

การทำดีที่ยังเห็นแก่ตัว

การทำดี เพื่อให้ผู้อื่นมารัก ชอบ หลง ฯลฯ คือความเห็นแก่ตัวที่ใช้ความดีมาบังหน้า เป็นเชื้อชั่วที่ซ่อนอยู่ภายใต้หน้ากากคนดี

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

August 11, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,954 views 0

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักของข้ามันเห็นแก่ตัว มันต้องการที่จะครอบครอง

ความรักที่คิดจะครอบครองนั้น เป็นเหตุให้เราสร้างบาปและเป็นทุกข์ได้เสมอ เป็นทั้งการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่เป็นไปเพื่อความสุข ความเจริญ หรือการพ้นทุกข์ใดๆ

จากละครพระพุทธเจ้ามหาศาสดาโลกตอนที่ ๔๖ หญิงสาวคนหนึ่งได้ตกหลุมรักพระอานนท์จนแสวงหาวิธีที่ผิดในการครอบครองสิ่งที่หลงรักนั้น ซึ่งความอยากที่จะครอบครองสิ่งที่ตนรักไว้เป็นของตนเพียงผู้เดียวนี้เอง คือความเห็นแก่ตัวอย่างแท้จริง

ไม่ว่าเราจะคิดครอบครองด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม จะครอบครองแค่เสี้ยววินาทีหรือตลอดไปจนชั่วนิรันดร์ มันก็ยังเป็นความเห็นแก่ตัวอยู่ดี คนเรามักจะหาเหตุผลที่ดูดี น่าเชื่อถือ ดูเป็นที่น่ายอมรับให้เกิดการครองคู่ ได้ครอบครองโดยความชอบธรรม นั่นเป็นความเห็นแก่ตัวที่ละเอียดลึกลับซับซ้อน ซ่อนความชั่วไว้ในความดี เหมือนยาพิษที่แทรกลงไปในแต่ละอณูของเกล็ดน้ำตาล

นิยามความรักของพระอานนท์ ต่างจากความรักที่เจ้าคิด” เป็นเนื้อหาในบทพูดตอนหนึ่งของพระพุทธเจ้าในละครตอนนี้ ความรักของพุทธนั้นมีอิสระ ไม่ถูกจำกัดไว้ในเรื่องของครอบครัว คู่รัก ญาติ มิตร ฯลฯ แต่เป็นสิ่งที่แผ่กระจายออกไปให้ทุกคนได้สัมผัส

เช่นเดียวกับในบทละครตอนที่พระพุทธเจ้าบอกกับพระนางยโสธราในตอนที่ ๔๑ ว่า “ถ้าข้ายอมให้ความเศร้าของเจ้าสองแม่ลูก แล้วคนอีกไม่รู้เท่าไหร่ในโลกนี้ที่ทนทุกข์เล่า

ดังนั้นความรักของพุทธคือความรักที่มีให้ทุกคน การนำความรักไปทุ่มเทให้กับคนใดคนหนึ่งจะทำให้คนอื่นๆเสียโอกาส และนั่นหมายถึงเราเองก็เสียโอกาสในการสร้างสิ่งดีงามที่ยิ่งใหญ่ เพียงเพราะไปหลงยึดมั่นผูกพันไว้กับความสัมพันธ์ที่ลวงโลกที่สุด

ความเป็นคู่รักนั้นไม่เที่ยง มันเปลี่ยนแปลงแปรผันได้ทุกเวลา พบ พราก จาก ลา แล้วก็แสวงหาใหม่ ไม่เคยหยุด ไม่เคยจบสิ้น ไม่เคยมั่นคง เมื่อมีรักก็ย่อมมีทุกข์ การจะหนีทุกข์ในขณะที่หลงรัก หลงผูกพันกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่นั้น เป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งแท้จริงแล้วความสัมพันธ์ในเชิงคู่รักนั้นไม่มีอยู่จริงในโลกนี้ มันเป็นเพียงสิ่งสมมุติที่คนสร้างขึ้นมาและหลงติดหลงยึดว่ามันดี ว่ามันเป็นสุข หลอกจิตตัวเองโดยสมบูรณ์ว่าได้เสพ ได้รัก ได้เป็นคู่กันแล้วจะเป็นสุข ทั้งที่จริงแล้วสุขเหล่านั้นมันไม่มีตัวตนอยู่จริงเลย มันเป็นเพียงมายาที่เราต่างสร้างขึ้นมาหลอกกันและกัน และหลงวนเวียนอยู่ในเขาวงกตเหล่านั้นกันมาไม่รู้กี่ภพกี่ชาติแล้ว

– – – – – – – – – – – – – – –

11.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

July 19, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,050 views 0

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

กินผักกินหญ้ากับการหลุดพ้น กินอย่างวัวควาย กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักนั้นเป็นหนึ่งในข้อปฏิบัติที่จะลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เป็นทางแห่งบุญ สร้างกุศลกรรมอันมีแต่ประโยชน์ฝ่ายเดียว ไม่มีโทษใดๆเลย หากผู้ลดเนื้อกินผักนั้นมีความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์

แม้ว่าการลดเนื้อกินผักจะถูกมองว่าไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ หรือหลุดพ้นจากสิ่งใดได้ นั่นก็เป็นเรื่องปกติ เพราะหากผู้ที่ไม่มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า สิ่งเหล่านี้นำมาใช้ปฏิบัติอย่างไร ลดกิเลสอย่างไร เป็นประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้ทุกคนมีสัมมาทิฏฐินั้นไม่ใช่เรื่องง่าย เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นการเห็นต่างกันย่อมจะเป็นเรื่องธรรมดา

การลดเนื้อกินผักนั้นมิใช่การทำให้หลุดพ้นจากทุกสิ่งทุกอย่าง เพราะขอบเขตของมันก็เพียงแค่ทำลายความอยากในการกินเนื้อสัตว์ ดังนั้นประสิทธิผลสูงสุดของมันก็แค่เพียงทำให้ความอยากกินเนื้อสัตว์หมดไป ทำให้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์ ทำให้ไม่ต้องกลายเป็นทาสเนื้อสัตว์ ซึ่งก็เป็นประโยชน์ที่มากเกินพอแล้วสำหรับการดำรงชีวิตในสังสารวัฏนี้

เพราะพระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า การเบียดเบียนทำให้เกิดโรคมากและอายุสั้น ดังนั้นผู้ที่คิดจะบำเพ็ญบุญกุศลอยู่ในโลกนี้ ย่อมใช้การไม่เบียดเบียนนี่เอง ยังอัตภาพให้คงอยู่ เพื่อสร้างโอกาสให้ชีวิตได้เรียนรู้ที่จะทำให้เกิดบุญ และกุศลมากยิ่งขึ้น

กินอย่างวัวควาย

การลดเนื้อกินผัก มักจะถูกนำไปเปรียบเทียบว่า “ถ้าการไม่กินเนื้อสัตว์สามารถหลุดพ้นได้จริง วัวควายกินแต่หญ้าทั้งชีวิตก็หลุดพ้นไปแล้ว

ต้องทำความเข้าใจอย่างนี้ว่า วัวควายเหล่านั้นมันไม่ได้กินเนื้อสัตว์ ไม่ได้มีความอยากกินเนื้อสัตว์ เอาเนื้อสัตว์ไปให้มันก็ไม่กิน เพราะมันไม่มีสัญญาแบบนั้น มันไม่ได้หลงว่าเนื้อสัตว์กินได้ เป็นของน่าใคร่ เป็นของควรบริโภค ดังนั้นไม่ว่าจะให้เนื้อสัตว์ชั้นดีแค่ไหน มันก็ไม่กิน

แต่กับคนที่มีกิเลส ให้เนื้อสัตว์ไป เขาก็กิน ถ้าลองเอาเนื้อสัตว์ชั้นดีมายั่ว เขาก็อยาก ร้านไหนจัดโปรโมชั่นเนื้อสัตว์หายากราคาถูกเมื่อไหร่ผู้คนก็ต่างกรูกันเข้าไปกิน เดินทางแสวงหาเนื้อสัตว์ชั้นดีมาบำเรอความอยากของตนโดยมีข้ออ้างในการกินเนื้อสัตว์มากมาย เช่น เราต้องการโปรตีน เราต้องการวิตามิน เราต้องกินเพื่ออยู่ ฯลฯ จึงทำให้หมกมุ่นอยู่กับการกินเนื้อสัตว์นั้นเอง

ถามว่า “วัวควายมันมีความอยากเหมือนคนไหม? ” มันไม่มีนะ มันต่างกันตรงนี้ เพราะวัวควายมีขอบเขตของจิต มันเกิดมาโดยมีข้อจำกัดมาก จิตวิญญาณก็พัฒนาไม่ได้มาก กิเลสก็พัฒนาไม่ได้มาก มันเกิดมาเพื่อชดใช้กรรมหรือเพราะจิตนั้นยังไม่พัฒนาสู่ความเป็นมนุษย์

ดังนั้นการจะเอาวัวควายไปเทียบกับคนในบริบทของการบรรลุธรรมมันไม่สามารถเทียบกันได้ มันคนละบริบท มันคนละอย่าง

การเอาวัวควายไปเทียบกับคนนั้นเพราะไม่รู้ความแตกต่างของการปฏิบัติในจิต วัวควายมันไม่ต้องปฏิบัติอะไรเพราะมันไม่ได้มีความอยากหรือยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์ แตกต่างจากคนที่มีความอยากและความยึดมั่นถือมั่นในเนื้อสัตว์เหล่านั้น ถ้ามองเห็นเพียงว่าการลดเนื้อกินผักไม่ใช่หนทางขัดเกลาความอยากของตน ก็เป็นเรื่องธรรมดาของผู้ที่ไม่เข้าใจการปฏิบัติตนสู่ความพ้นทุกข์ เพราะหากเราไม่ขัดเกลาความอยากแล้ว จะพ้นจากทุกข์ได้อย่างไร?

การจะเข้าใจว่ากินอย่างวัวควายไม่บรรลุธรรมก็เป็นเรื่องจริง หากว่ากินโดยที่ไม่รู้ประโยชน์ สักแต่ว่ากิน ไม่รู้ไปถึงตัณหา อุปาทานก็จะเป็นการกินผักกินหญ้าไปเช่นนั้นเอง แต่ถึงแม้ว่าจะเป็นอย่างนั้น คนที่กินผักกินหญ้าก็ยังเป็นคนที่ทำคุณประโยชน์ให้โลกมากกว่าเพราะไม่เบียดเบียนตนเองด้วยส่วนแห่งอกุศลกรรม ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น จึงเป็นชีวิตที่กินผักกินหญ้าที่มีประโยชน์ต่อโลก ไม่ตกต่ำไปกว่าสัตว์อย่างวัวควาย ควรค่าที่เกิดมาเป็นคน

กินอย่างมนุษย์

การลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญแล้ว คืองดเว้นการเบียดเบียนสัตว์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เมื่อรู้ว่าตนเองนั้นยังเป็นเหตุที่เขาจะต้องฆ่าสัตว์ ก็จะมีความยินดีที่จะงดเว้นเหตุแห่งการเบียดเบียนเหล่านั้นเสีย

เป็นความเจริญของจิตใจที่มีเมตตาขยายขอบเขตออกไปมากกว่าการเลี้ยงชีวิตตนเอง เพราะถ้าเราคนถึงแต่ชีวิตตนเอง มีแต่ความเห็นแก่ตัว เราก็จะใช้สิ่งอื่นมาบำเรอตนโดยที่ไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะมีต้นเหตุที่มาเช่นไร

ความเห็นแก่ตัวหรือจะเรียกว่าความเห็นแก่กิน หรือการกินโดยไม่ใช้ปัญญาไตร่ตรองว่าเนื้อสัตว์นั้นเป็นเนื้อที่สมควรหรือไม่ เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมไม่ใช่เนื้อที่สมควรบริโภค เนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาไม่ควรสนับสนุนด้วยประการทั้งปวง เนื้อที่เขาฆ่ามาย่อมเป็นที่น่ารังเกียจของผู้เจริญ

แต่ความเห็นแก่ตัวนั้นจะทำให้จิตใจคับแคบ สายตาคับแคบ มองเห็นเพียงแค่เนื้อสัตว์นั้นทำให้ชีวิตตนดำรงอยู่ มองเห็นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของที่อยู่ตรงหน้า มองเห็นแค่ในระยะที่ตนเองเอื้อมถึง ไม่มองไปถึงเหตุเกิดที่มาของสิ่งเหล่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่าดับทุกข์ต้องดับที่เหตุ ผู้ที่ไม่สามารถมองเห็นเหตุเกิดของสรรพสิ่งทั้งปวงย่อมไม่สามารถดับทุกข์หรือบรรลุธรรมใดๆได้เลย

กินลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์ผู้เจริญ จึงเป็นการกินผักที่มองไปถึงเหตุเกิด มองไปถึงสิ่งที่ทำให้ต้องไปกินเนื้อสัตว์ นั้นก็คือความอยากได้อยากเสพเนื้อสัตว์ ความหลงติดหลงยึดในเนื้อสัตว์ ความยึดมั่นถือมั่นในคุณค่าลวงที่โลกปั้นแต่งให้กับเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามาเหล่านั้น และมุ่งทำลายเหตุเหล่านั้นโดยการไม่ให้อาหารกิเลส ทรมานกิเลส ไม่ตามใจกิเลส

ดังนั้นการลดเนื้อกินผักของผู้มีความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ก็คือการไม่ยอมไปกินเนื้อสัตว์นั้นตามที่กิเลสลากให้ไปกิน กิเลสจะหาเหตุผลมากมายให้ได้ไปเสพเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ให้ไปเบียดเบียนโดยที่ไม่ต้องรู้สึกผิด ให้หลงว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามานั้นไม่มีผล

ทุกการกระทำใดๆที่มีเจตนาย่อมสั่งสมเป็นกรรม การกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาก็ย่อมมีผลเช่นกัน ซึ่งผลกรรมของมันก็จะต่างกับการกินพืชผักอย่างแน่นอน ดังนั้นผู้ที่มีปัญญาย่อมไม่แสวงหาเหตุผลในการสร้างอกุศลกรรมใดๆให้ตนเอง ไม่หาเหาใส่หัวโดยที่ไม่จำเป็น เพราะหากไม่มีความอยากกินเนื้อสัตว์แล้ว แม้จะมีเนื้อสัตว์ชั้นดีที่ผู้คนต่างใคร่อยาก มาวางอยู่ตรงหน้า จัดให้กินฟรีๆทุกวี่ทุกวัน ก็ไม่มีความหมายใดๆ สำหรับผู้หลุดพ้นจากความอยากกินเนื้อสัตว์เลย เป็นความหลุดพ้นจากความเป็นทาส

จึงสรุปได้ว่าการลดเนื้อกินผักอย่างมนุษย์คือการขัดเกลากิเลสที่เกาะกุมอยู่ในจิตใจ ซึ่งเป็นเหตุที่จะทำให้อยากจะไปเสพเนื้อสัตว์ แต่การลดเนื้อกินผักอย่างวัวควายก็เป็นธรรมชาติของวัวควาย และเป็นความเข้าใจของผู้ที่ยังเห็นไม่รอบ ยังไม่เห็นกิเลส ยังไม่เห็นตัวตนของความอยากนั้น ยังไม่สามารถเข้าใจได้ว่าความอยากนั้นเป็นภัยแก่ตนอย่างไร ยังไม่รู้ว่าตัณหาเป็นเหตุของอุปาทาน ที่จะทำให้เกิด ภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส

– – – – – – – – – – – – – – –

19.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)