ถาม-ตอบ

การกำจัดคนทุศีลออกจากหมู่คนดี

August 5, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,230 views 0

มีคนถามเข้ามาว่า เขาไปรู้เรื่องชู้สาวระหว่างพระกับสีกา เขาจะทำอย่างไรดี?

ตอบ เราก็เปิดเผยความจริงในส่วนที่เป็นประโยชน์ต่อเราและผู้อื่น

ไม่ว่ายุคสมัยไหนก็จะมีคนชั่วคนผิดศีลปนเข้ามาหาผลประโยชน์ในกลุ่มคนดีอยู่เสมอ ดังนั้น จึงต้องมีการกำจัดหรือชำระกันอยู่เป็นประจำ

ในสมัยพุทธกาลนี้ยังง่าย เพราะคนที่ทำผิด เมื่อถูกถาม ก็ยอมรับตามความเป็นจริง ถ้าใครได้อ่านพระไตรปิฎก ก็จะคุ้นเคยกับคำถามของพระพุทธเจ้าที่ถามประมาณว่า “เธอทำอย่างที่เขากล่าวหาจริงหรือ” ผู้ถูกถามที่ทำผิดจริงก็จะตอบว่า “เป็นจริงเช่นนั้นพระเจ้าข้า

แต่ในสมัยนี้ไม่ง่าย ความวกวนของกิเลสยิ่งทำให้คนมีมารยา ไม่ซื่อสัตย์ ปกปิด หมกเม็ด บิดเบือน ใช่ว่าจะจับได้ไล่ทันกันได้ง่าย ถามไปก็ไม่ตอบตามจริง เอาหลักฐานไปอ้างก็บิดเบือน ดีไม่ดีโจทย์ผู้กล่าวหากลับหรือไม่ก็ทำร้ายจนถึงฆ่าตัดตอนกันได้เลย

ดังนั้นคนที่จะชี้มูลความผิดในยุคปัจจุบันจึงต้องใช้ความระมัดระวังกันมากขึ้น การชี้ความผิดเป็นสิ่งดี แต่ก็ต้องระวังตัวด้วย เพราะคนชั่วสมัยนี้ร้ายลึก

ถ้าหลักฐานไม่แน่น เขาก็ดิ้นหลุดได้ง่าย คนชั่วที่มีอำนาจ มีบริวาร ก็จะมีคนหลงผิดคอยช่วยให้เขาได้พ้นข้อกล่าวหานั้น ดังนั้นจะชี้ความผิดคนชั่ว ทุศีล เน่าใน ฯลฯ พวกนี้ หลักฐานต้องแน่น และพยายามหาหมู่มวลที่มีกำลัง ปกป้องคุ้มครองตัวเองได้เป็นพวก

…ว่ากันตรง ๆ ผมก็ไม่ได้พูดทุกอย่างที่รู้หรอก ความจริงหลายเรื่องก็ระดับที่ทำลายศาสนาได้ แต่เราก็พูดตรง ๆ ไม่ได้ พูดหรือแสดงออกตรง ๆ เมื่อไหร่ก็ตายวันนั้นแหละ คือความจริงบางอย่างโลกก็รับไม่ได้ เขาอยากจะเชื่อแบบนั้น พอเราโผล่ขึ้นมาขัดแย้งความเชื่อของเขา คนหลงนี่เขาปรับใจไม่ได้ง่าย ๆ นะ เขายึดยังไง เขาก็ยึดแบบนั้นเลย

ถ้าคนทุศีลหรือพระทุศีล มีอำนาจหรือบารมีไม่มาก แค่ระดับบุคคลก็พอจะชี้โทษกันได้ แต่ถ้าคนมีอำนาจมาก ก็ต้องมีอำนาจมากพอที่จะคุ้มครองตนในระหว่างกระบวนการชี้โทษได้

เลิกช่วยคนไม่ดีไม่ได้

July 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,114 views 0

คำถามจากบทความ “เลิกรับใช้คนชั่ว” ถามว่า “รู้ว่าเขาไม่ดีแต่เลิกช่วยไม่ได้ เพราะคิดว่าเราเคยทำมา คงต้องช่วยต่อๆไปจนกว่าจะหมดวิบากนี้ใช่มั้ยคะ”

ตอบ วิบากกรรมจะหมดก็ต่อเมื่อไม่สร้างกรรมเช่นนั้น ขึ้นมาใหม่

ทีนี้มาดูกรรมใหม่หรือกรรมที่ตัดสินใจทำในปัจจุบัน เรารู้แล้วว่าเขาไม่ดี แต่เราเลิกช่วยไม่ได้ อันนี้ต้องมาตรวจอคติลำเอียงของเรา ว่าเรามีความ ชอบ โกรธ หลง กลัว อะไรรึเปล่า ถ้ามีอาการ 4 อย่างนี้ คืออาการของกิเลสปัจจุบัน ไม่ได้เกี่ยวกับวิบากกรรมเก่าขนาดนั้นหรอก เกี่ยวกับใจที่หลงผิดในปัจจุบันนี่แหละ

คนที่พ้นอคติ 4 จะมีอิสระในการตัดสินใจว่าจะช่วยหรือไม่ช่วย อันนี้เอาภายในใจก่อน ภายในใจจะไม่แพ้เหตุผลข้างนอก ปรับไปปรับมาได้อย่างไม่มีอาลัยอาวร ไม่ช่วยคือไม่ช่วย ไม่ห่วงหน้าพะวงหลัง ช่วยก็ช่วยต่อเมื่อมันเป็นประโยชน์จริง ๆ ไม่ได้ยึดมั่นหรือชิงชังรังเกียจ

ขนาดสงฆ์ที่ว่าปฏิบัติตนเพื่อความเกื้อกูลผองชน ยังสามารถคว่ำบาตร ไม่ยุ่งเกี่ยวกับฆราวาสที่ประพฤติไม่ดีได้เลย นับประสาอะไรกับคนธรรมดา ที่มีอิสระ ไม่มีกฏ ไม่มีวินัยอะไรมาบังคับ ก็ตัดสินใจเองตามองค์ประกอบได้เลยว่าจะเลือกคบหรือไม่คบใคร

ถ้าเราไปช่วยโดยไม่พ้นอคติ 4 เราก็ไม่มีวันพ้นวิบากเหล่านี้ มันจะมัด จะพันไปเรื่อย ๆ หมดชาตินี้ ไปต่ออีกทีชาติหน้า มีมาให้รับอย่างไม่จบไม่สิ้น เพราะเราไม่กำจัดเหตุ เมื่อมีเหตุก็ต้องมีผล ทำแล้วก็ต้องรอรับ ไม่ได้ทำก็ไม่ต้องรับ จะรับก็แค่ส่วนที่เคยทำมา

จะคิดว่าเราเคยทำมานั่นก็ใช่ แต่เราจะทำต่อไปไหม? นั่นก็อีกเรื่อง ถ้าเราไม่ได้ถูกบังคับข่มขู่ให้ทำหรือถึงขั้นไม่ทำแล้วคอขาดบาดตายอะไรแบบนี้ ก็ให้ตั้งสติตรวจใจดี ๆ ให้มันชัดในใจถึงกิเลสที่พาให้เกิดความลำเอียงต่าง ๆ แล้วกำจัดไปโดยลำดับ

ส่วนวิบากกรรมนี่มันก็ไม่ได้หมดกันง่าย ๆ หรอก คนเราทำดีทำชั่วสะสมเหตุมาหลายชาติ ขนาดพระพุทธเจ้าบำเพ็ญมาตั้งมากมาย วิบากกรรมสมัยที่ท่านเคยทำบาปก็ยังตามมาทวง ขนาดคนที่ดีที่สุดยังโดนกรรมตามมาทวง นับประสาอะไรกับคนทั่วไป

ดังนั้นจะไปตั้งจิตว่าทำให้มันหมด หรือรอให้มันหมด นี่มันจะทุกข์เสียเปล่า ๆ ก็ตั้งใจปฏิบัติล้างความหลงผิด ลำเอียง ยึดมั่นถือมั่น โลภ โกรธ หลง ฯลฯ ไปดีกว่า เพราะไม่ว่ายังไงผลกรรมมันก็ต้องรับอยู่แล้ว ถึงเวลาเขามาให้รับก็รู้เอง หรือมันหมด มันพักไปก็รู้เองว่ามันหมด มันไม่หมดก็รู้ว่ามันไม่หมด ก็รู้ไว้แค่นี้แหละ

ถ้าปฏิบัติธรรมเจริญได้เป็นลำดับ จะเลิกรับใช้คนชั่ว เลิกส่งเสริมคนชั่วได้มากขึ้นเรื่อย ๆ ไกลคนชั่วไปเรื่อย ๆ คนชั่วจะเข้าถึงยากขึ้นเรื่อย ๆ ก็เป็นผลของสัมมาอาชีวะ ที่เป็นกำลังเสริมให้เจริญยิ่ง ๆ ขึ้น คือ ไม่มอบตนในทางที่ผิด

การทำทาน เจาะจงหรือไม่เจาะจง

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,690 views 0

คำถามที่สองจากบทความการเลิกรับใช้คนชั่ว “การทำบุญแบบไม่เจาะจงหน่อยค่ะ

ตอบ : การทำบุญที่เขาหมายถึงคงหมายถึง “ทาน” คือการสละออก

เขาก็สงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้เพราะคงจะไม่ชัดเจนในผล ว่าการทานแบบกระจุกหรือกระจายนั้นให้ผลแตกต่างกันอย่างไร

จะยกตัวอย่างที่ใหญ่ที่สุดในศาสนาพุทธ คือการตัดสินใจประกาศศาสนาของพระพุทธเจ้า

หลังจากท่านตรัสรู้แล้ว ได้มีจิตหนึ่งเกิดขึ้นว่า สอนไปก็เหนื่อยเปล่า ท่านก็จะปรินิพพานเลย ว่าแล้วก็มีท้าวสหัมบดีพรหมมาขอให้ท่านแสดงธรรมโปรดสัตว์ โดยให้ข้อมูลส่วนหนึ่งว่า

“ขอพระสุคตจงทรงแสดงธรรมเถิด สัตว์ทั้งหลาย ผู้มีกิเลสดุจธุลีในจักษุน้อยมีอยู่ ย่อมจะเสื่อมเพราะไม่ได้ฟังธรรม สัตว์ทั้งหลายผู้รู้ทั่วถึงธรรมจักยังมีอยู่”

จะเห็นได้ว่ากลุ่มเป้าหมายคือผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อย ไม่ใช่สัตว์ทั้งหมดในโลก นั่นหมายความว่าพุทธมีกลุ่มเป้าหมายชัดเจนคือผู้ที่มีปัญญาพร้อมที่จะเรียนรู้ธรรม (มีกิเลสน้อย)

เช่นเดียวกับการให้ทาน ทานคือการสละเพื่อขัดความหลงติดหลงยึดอันนี้เป็นกิจตน ส่วนการกระจายผลของทานไปยังสิ่งที่สมควรนั้นเป็นกิจท่าน

การขัดกิเลส มันก็มีแต่เรากับกิเลสของเรานี่แหละ ไม่มีคนอื่น ไม่เจาะจงอย่างอื่น เจาะจงแต่กิเลสตัวเอง

ส่วนกิจท่านหรือประโยชน์ท่าน คือการประมาณการกระทำนั้น ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะชีวิตคนเรานั้นมีต้นทุนต่อหนึ่งการกระทำเสมอ

ในอนุตตริยสูตรกล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยี่ยม การบำรุงที่ยอดเยี่ยมคือบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวก ส่วนการบำรุงที่เลว คือบำรุงแล้วไม่พาพ้นทุกข์ ก็ที่เหลือทั้งหมดในโลก

ก็ต้องเลือกเอาเองว่าเรามีน้ำอยู่ 1 ถัง เราจะเอาไปรดพืชผัก หรือจะเอาไปรดวัชพืช มันก็เป็นสิทธิ์ที่เราจะเลือกและพิสูจน์ผลนั้น

พระพุทธเจ้าท่านรู้แจ้งแล้ว ท่านก็เอาผลมาบอกว่า บำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกจะให้อานิสงส์มาก อันนี้คือลักษณะเจาะจง หรือระบุกลุ่มทานที่ให้ผลมาก

แต่จะไปกระจายอีกทีในกลุ่ม เช่นกรณีที่พระพุทธเจ้าไม่รับผ้าที่พระนางปชาบดีโคตมี ผู้เป็นแม่เลี้ยง นำมามอบให้ แต่ท่านก็แนะนำว่าให้ไปให้แก่หมู่สงฆ์ อันนี้คือการกระจาย

เพราะเวลาศรัทธาใครแล้วจะจิตมันจะปักมั่นที่ผู้นำกลุ่มนั้น ๆ เลยต้องกระจายเพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นอีกทีหนึ่ง

สรุปคือต้องเจาะจงให้ถูกกลุ่มแล้วกระจายแจกจ่ายไปในกลุ่มนั้น ๆ

ถ้าไม่เจาะจงให้ถูกกลุ่มตั้งแต่แรก รับรอง ถึงจะให้ทานแบบไม่เจาะจงก็ไม่พ้นทุกข์หรอก

การช่วยเหลือคนทุศีล

July 21, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,761 views 0

จากบทความที่กล่าวถึง การเลิกรับใช้คนชั่ว ก็มีคำถามเข้ามาว่า “แล้วถ้ามีคนมาขอเงิน และเค้าเป็นคนทุศีล แต่เราให้แค่ข้าวเค้าพอกิน 1 มื้อ เพราะถือว่าฝึกการทำทานแบบไม่เลือกไม่เจาะจง อย่างนี้ได้ไหมคะ หรือ ไม่ควรให้เลย

ตอบ : ถ้าผมเห็นชัดแล้วว่าเขาเป็นคนทุศีล เน่าใน ประพฤติชั่วจริง ก็จะไม่ให้การสนับสนุนใด ๆ เลยครับ

การไปยุ่งกับคนชั่วคนพาลนั้นในท้ายที่สุดก็จะเป็นการสร้างทุกข์ให้ตน ดังนั้นมงคลชีวิตประการแรกเลย ก็คือการห่างไกลคนพาล ก็คือคนทุศีลเน่าในเหล่านั้นนั่นแหละ

ทีนี้มานิยามคนทุศีลเพิ่มกันหน่อย คนทุศีลคือผู้ที่ตั้งใจไว้ว่าจะถือศีล แล้วล่วงละเมิดศีลเหล่านั้นเป็นนิจ หรือคนที่ประกาศตนว่าจะเสียสละ แต่กลับแสวงหาผลประโยชน์ใส่ตน เป็นต้น คือคนที่ทำผิดจากธรรม แล้วไม่แก้กลับ ไม่กลับมาทำดี

แม้ใจเราจะบริสุทธิ์ แม้ทานที่เราให้จะบริสุทธิ์ แต่ผู้รับไม่บริสุทธิ์ มันก็ยังเหลือส่วนที่ไม่บริสทธิ์อยู่ดีนั่นเอง การห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต บูชาบุคคลที่ควรบูชาจึงเป็นการอุดรูรั่วตรงนี้ คือเข้าไปอยู่ในสังคมที่ดี คบแต่คนที่ดีไปเลย โอกาสพลาดไปทำทานที่ไม่บริสุทธิ์ก็จะลดลง

ส่วนการฝึกทำทานนั้น ทานในพุทธมีไว้เพื่อทำลายความยึดมั่นถือมั่นเป็นอันดับแรก คือทำกิจตนก่อน อีกส่วนคือกิจท่าน หรือประโยชน์ของผู้อื่น อันนี้เราควรจะศึกษาเรียนรู้ให้ดีว่าเราควรจะให้ทานนั้นแก่ใคร

ในอนุตตริยสูตร ได้กล่าวถึงการบำรุงที่เลวและการบำรุงที่ยอดเยียม การบำรุงก็คือการทำให้สิ่งนั้นเจริญเติบโตยิ่งขึ้น พระพุทธเจ้าตรัสยกตัวอย่างว่า

“ก็ปาริจริยานุตตริยะเป็นอย่างไร ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลบางคนในโลกนี้ ย่อมบำรุงกษัตริย์บ้าง พราหมณ์บ้าง คฤหบดีบ้าง บำรุงคนชั้นสูงชั้นต่ำบำรุงสมณะหรือพราหมณ์ผู้เห็นผิด ผู้ปฏิบัติผิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย การบำรุงนี้นั้นมีอยู่ เราไม่กล่าวว่า ไม่มี ก็แต่ว่าการบำรุงนี้นั้นเป็นการบำรุงที่เลว”

จะเห็นว่าเราจะไปบำรุงส่งเสริมใครมั่ว ๆ ไม่ได้นะ เพราะจะกลายเป็นการบำรุงที่เลว ส่วนการบำรุงที่ดีคือการบำรุงพระพุทธเจ้าและสาวกนั่นเอง

การจะให้ทานที่ไม่เจาะจง ก็ควรจะตั้งทิศตั้งธงให้ชัดก่อนว่าจะให้ทานกลุ่มไหน เพราะจะมีกลุ่มที่ให้ไปแล้วไม่พาเราพ้นทุกข์กับกลุ่มที่พาเราพ้นทุกข์ เราก็ไม่เจาะจงในกลุ่มที่เราเห็นว่าดีนั่นแหละ คือไม่ใช่ยึดเอาตัวครูบาอาจารย์เป็นหลัก แต่ให้กระจายไปในกลุ่มคนดีนั้น ๆ