การเพิ่มศีล

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,481 views 0

มีคำถามเข้ามาว่าให้ช่วยอธิบายการเพิ่มศีลให้สูงขึ้น

การเพิ่มศีลหรือ “อธิศีล” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อชำระล้างกิเลสโดยลำดับ

ปัจจุบันไตรสิกขาได้เลือนหายไปตามกาล จางไปตามกิเลส ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติ แต่ความจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการศึกษาที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยลำดับก็ไม่ได้เปลี่ยนไป

ศีล คือข้อปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจับอาการของกิเลสในจิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการของจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ให้เกิดปัญญาและพัฒนาไปจบที่จิตผ่องใสแม้กระทบสิ่งเหล่านั้นอยู่

การเพิ่มศีล หรืออธิศีล คือการยกระดับของศีลที่ปฏิบัติอยู่ หลักการกว้าง ๆ เช่น ศีล 5 เพิ่มไปเป็นศีล 8 หรือเพิ่มไปเป็นศีล 10 โดยมีการกำหนดช่วงเวลาตามกำลังของจิตที่พอจะทนความลำบากไหว เช่น อาจจะถือศีล 8 มาปฏิบัติในวันหยุด แต่ถ้าอินทรีย์พละมาก จะทำทั้งชีวิตเลยก็ได้

การเพิ่มศีลยังมีรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละบุคคล เพราะคนเรามีกิเลสหนาบางต่างกัน แต่ละโจทย์จึงมีความยากง่ายต่างกันตามบารมีที่บำเพ็ญสะสมมา

เช่นการเพิ่มศีลข้อ ๑ โดยทั่วไปก็จะรับรู้ว่าไม่ฆ่า อันนี้เราก็ทำให้ได้ก่อน แล้วเราก็เพิ่มศีลขึ้นมาเป็น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ก็จะทำให้เราปฏิบัติเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น

ทีนี้พอไม่เบียดเบียนแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าอะไรล่ะที่เบียดเบียน มันก็ต้องละไปตามลำดับ เช่นโจทย์ทั่วไปคือไปสนับสนุนเขาฆ่าสัตว์โดยการซื้อมากินนี่มันเบียดเบียนนะ เบียดเบียนทั้งสัตว์ ทั้งคนฆ่าสัตว์ ทั้งตัวเรา

แต่จะให้เลิกทีเดียวทั้งหมดมันก็ไม่ไหว ก็อาจจะตั้งตอนแรกว่าไม่กินสัตว์ใหญ่ แล้วค่อยเพิ่มขอบเขตของศีลหรือการปฏิบัติเพื่อความละเว้นการเบียดเบียนไปตามที่ไหว เช่น ไก่ ปลา หอย ฯลฯ

การปฏิบัติอธิศีล ไม่ใช่ว่าจะกดเอาดื้อ ๆ คือเห็นว่าสิ่งนั้นแล้วชั่ว จึงเลิกเลย มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะถ้าคิดและเข้าใจแบบนั้นก็อาจจะมีแนวโน้มไปทางกดข่ม ถือดีข่มไว้ก็เป็นได้

อธิศีล คือการสร้างกรอบขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” กิเลสในใจตนเอง โดยเอากิเลสตัวเองเป็นหลัก เอากิเลสตัวเองเป็นโจทย์ ไม่ใช่เอาเรื่องข้างนอกมาเป็นโจทย์หรือเป็นหลักชัย

เพราะศาสนาพุทธมุ่งทำลายกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นทุกการปฏิบัติ จะมีเป้าแรกที่กิเลสตนเองก่อนเสมอ ส่วนจะเอื้อเฟื้อออกไปถึงผู้อื่นมากเท่าไหร่ก็แล้วแต่บารมี

Related Posts

  • บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑ บทวิเคราะห์ : การกินเนื้อสัตว์กับศีลข้อ ๑ มีประเด็นในการวิจารณ์เรื่องนี้อยู่มากในสังคม คนไม่กินเนื้อก็มักจะใช้ข้อนี้ในการอ้างอิงว่าผิด คนกินเนื้อก็จะใช้ข้อนี้ในการปฏิเสธว่าไม่ผิดเช่นกัน เพราะถ้าอ้างศีลข้อ ๑ ตามที่ ” […]
  • เกมที่สนุกที่สุดในโลก เกมที่สนุกที่สุดในโลก: การปฏิบัติไตรสิกขา อธิบายเปรียบเทียบกับการเล่นเกมกรณีศึกษา การกินมังสวิรัติ ถ้าพูดถึงเรื่องธรรมะ การปฏิบัติธรรม การล้างกิเลส ก็ดูจะเป็นเรื่องของคนมีอายุ คนใจบุญ คนปลงชีวิต คน...อะไรก็ว่าไป […]
  • มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม มังสวิรัติกับการปฏิบัติธรรม หลายคนคงจะสงสัยว่าการกินมังสวิรัติเกี่ยวกับการปฏิบัติธรรมอย่างไร? จะเรียกว่าการถือศีลได้อย่างไร? […]
  • มารมาทำอย่างไร? มีคนถามว่า เมื่อมีจิตคิดไม่ดี จนกระทั่งพูดไม่ดีออกไป กลายเป็นมารร้ายต้องทำอย่างไร? ต้องเพิ่มสติใช่ไหม? ผมก็ตอบว่า : ศีลเอาไว้กำหนดขอบเขตในการละเว้นสิ่งชั่ว สติเอาไว้ให้รู้ตัวไม่หลุดไปทำชั่ว […]
  • การกินมื้อเดียว การกินมื้อเดียว : ความเห็นความเข้าใจในเบื้องต้นสู่การศึกษาศีลกินมื้อเดียว การกินมื้อเดียวนั้นเป็นศีลข้อหนึ่งในพุทธศาสนา ซึ่งอยู่ในจุลศีลและจัดอยู่ในศีลที่เรียกว่าศีลเคร่ง (ธุดงควัตร) […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply