กรรมและผลของกรรม

ภาพจริงของนรก

July 13, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 954 views 0

ภาพจริงของนรก และกระทะทองแดงยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน แม้รูปจะเป็นหมู แต่จิตวิญญาณนั้นยังคงมีความทุกข์ มีเวทนาเหมือนกับคน นั่นหมายถึง จิตวิญญาณนั้นแค่ดำรงอยู่ในร่างหมูเพื่อรับกรรมที่ตนทำมา

การกำเนิดเดรัจฉาน หรือไปเกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานนั้นง่ายยิ่งกว่าง่าย แค่ไม่มีศีล ๕ เบียดเบียนสัตว์อื่นมาก ๆ ใช้ชีวิตตามใจอยาก กิน สูบ ดื่ม เสพ ก็จะได้รับสิทธิ์นั้นรอคอยอยู่ในเบื้องหน้าอย่างแน่นอน

ถ้าถามว่าผมจะเห็นใจใคร ระหว่างคนที่ยังหลงทำชั่ว หรือหมูตัวที่โดนหย่อนลงหม้อน้ำเดือด ภาพรวมก็เห็นใจทั้งคู่นั่นแหละ แต่หมูนั้นกำลังรับกรรมชั่วของตนอยู่ ชดใช้ไป ผลกรรมชั่วก็หมดไป ส่วนคนที่หลงผิด หลงทำชั่วอยู่นั้น เขากำลังสะสมกรรมชั่วของตน กำลังดำเนินไปในทางเสื่อม ก็รอคิวไปเป็นหมูตัวต่อไป ใครน่าสงสารกว่ากัน?

ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกัน

June 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 463 views 0

ระหว่างเดินทางวันนี้ ก็ได้มองไปรถที่กำลังขับผ่านไปอย่างช้า ๆ เป็นรถขนหมู

หมูในรถโต ๆ กันแล้ว ก็รู้ ๆ กันว่าปลายทางจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไปเข้าปากเข้าท้องคนที่เขาอยากกินนั่นแหละ แต่กระบวนการมันก็โหดร้ายเหลือเกิน คือมันต้องถูกฆ่า ไม่งั้นคนก็ไม่ยอมซื้อกิน ถ้าฆ่ามาขายคนจ่ายเงิน ถ้าไม่ฆ่าไปขายไม่ได้เงิน

สรุปว่าหมูวัยรุ่นเหล่านั้นกำลังจะเดินทางไปสู่ความตายอย่างแน่นอน นั่นหมายถึง นี่เป็นการได้พบกันครั้งแรกของผมกับหมูกลุ่มนั้น และก็เป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ทั้งหมดผ่านไปในไม่กี่วินาที ผมก็ต้องเดินทางของผมต่อไป หมูก็ต้องเดินไปตามกรรมที่ทำมาต่อไป แน่นอนว่าเราไปคนละทางกัน

การทำบาป ทำชั่ว ทำผิดศีล ย่อมก่อกรรมที่ทำให้เกิดเป็นเดรัจฉาน ก็เป็นการวนเวียนกันไประหว่างคนฆ่าและคนกิน เป็นการรักษาสมดุลของกรรม คือทำแล้วต้องรับ ทำแล้วต้องใช้ ไม่มีวันหมดไปจนกว่าจะใช้หนี้กรรมหมด

มีทางหนีทางเดียวคือทำตนให้หมดกิเลสแล้วปรินิพพานหนีซะ นอกนั้นไม่มีทางพ้นกรรม ถ้ายังเกิดอยู่ก็ยังต้องทนทุกข์ แล้วถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เหล่านี้ก็ยิ่งทุกข์ไปกันใหญ่

ก็เห็นใจทั้งหมู เห็นใจทั้งคนฆ่า เห็นใจทั้งคนกิน ก็กลุ่มเดียวกันนั่นแหละ ก้อนเดียวกัน กงเกวียนกงกรรม เกี่ยวเนื่องกันด้วยบาป หมุนไปด้วยกัน ทุกข์ไปด้วยกัน เพียงแค่สลับตำแหน่งกัน ล้อหมุนไป จุดหนึ่งอยู่บน จุดหนึ่งอยู่ล่าง หมุนไปอีก จุดหนึ่งอยู่ล่าง จุดหนึ่งอยู่บน สลับกันไปไม่จบไม่สิ้นด้วยเหตุแห่งความเกี่ยวเนื่องอาศัยกันและกัน

เลือกกิน เลือกกรรม

October 1, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,367 views 0

เลือกกิน-เลือกกรรม

เลือกกิน เลือกกรรม

ศาสนาพุทธนั้นเป็นศาสนาแห่งปัญญา มีความรู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ สิ่งใดทำไปแล้วเป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ หรือสิ่งใดเป็นไปเพื่อความทุกข์และเสื่อมถอย นั่นเพราะมีความรู้ในเรื่องกรรมและผลของกรรมอย่างแจ่มแจ้ง

พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง กรรมใดที่กระทำลงไปแล้ว จะให้ผลดีร้ายเช่นไร ท่านรู้ได้ทั้งหมด ท่านยังตรัสไว้ด้วยว่า “บาปแม้น้อย อย่าทำเสียเลยดีกว่า” ท่านยังเปรียบไว้อีกว่า “เราไม่ควรดูหมิ่นในบาปที่เล็กน้อย แม้น้ำหยดทีละหยดก็ทำให้หม้อเต็มได้ บาปนั้นก็เช่นกัน” นั่นหมายถึง แม้อกุศลกรรมเพียงเล็กน้อยก็มีผล การกระทำใด ๆ ล้วนมีผลทั้งหมด และมีผลต่างกันไปตามเหตุของกรรมนั้นๆ

ศาสนาพุทธนั้นปฏิบัติไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติไปเพื่อสั่งสมความทุกข์ให้กับตนเอง พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ใน “อนายุสสสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๒ ข้อ ๑๒๕)” ว่าด้วยเหตุที่ทำให้อายุสั้นและอายุยืน หนึ่งในเหตุที่ทำให้อายุสั้นนั้นคือกินของที่ย่อยยาก และเหตุที่ทำให้อายุยืนนั้นคือกินของที่ย่อยง่าย ซึ่งพุทธนั้นเป็นศาสนาที่ปฏิบัติไปเพื่อให้เป็นประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น การที่ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบนั้นมีอายุยืนจะเป็นประโยชน์มาก เรื่องนี้คงจะไม่มีใครเห็นแย้ง ดังนั้นเพื่อประโยชน์แก่ทุกฝ่าย ก็ควรจะเลือกกินของที่ย่อยง่ายเป็นหลัก หากไม่ได้ยึดว่าร่างกายนี้เป็นตัวเราของเราก็ควรจะเลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายนี้และเพื่อให้ผู้อื่นได้ประโยชน์จากการที่ร่างกายนี้ยังทำงานได้ดีอยู่

เช่นเดียวกับคนที่มีอาการแพ้อาหารบางอย่าง การ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารที่แพ้นั้น ก็ถือว่าเป็นปัญญาทั่วไป ไม่ทำความลำบากให้แก่ตน เพราะถ้ากินไปแล้วป่วยหรือเสียชีวิต ก็จะไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้ใดเลย เพราะการทำความลำบากให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุสั้นตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

เช่นเดียวกับคนที่เลือกเฟ้นอาหารที่มีคุณค่า เลือกอาหารที่ไร้สารพิษ และ “เลือกที่จะไม่กิน” อาหารหรือวัตถุดิบที่มีสารพิษมากเช่น เนื้อสัตว์ พืชผักรวมถึงวัตถุดิบอื่นๆ ที่มีโอกาสที่จะมีสารพิษตกค้าง แม้แต่การเลือกที่จะไม่กินอาหารขยะ , ขนม นม เนย ฯลฯ ก็เป็นการทำความสบายให้แก่ตน ให้ตนได้มีสุขภาพดี อายุยืน อย่างน้อยก็ลดเหตุปัจจัยในการเกิดโรคลงได้ การทำความสบายให้แก่ตนนี้เป็นหนึ่งในเหตุที่จะทำให้อายุยืนตามที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้

ในส่วนของฆราวาสนั้นก็คงไม่ได้ปฏิบัติยากเท่าไหร่ ผู้ที่อยากเป็นอยู่อย่างผาสุกก็จะเลือกสิ่งที่ย่อยง่ายและไม่มีโทษให้กับตนเอง และจะเลือกสิ่งดีเหล่านั้นแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นด้วยเช่นกัน

แล้วทีนี้นักบวชล่ะจะทำอย่างไร ในเมื่อนักบวชควรจะเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย แล้วจะเลือกกินสิ่งที่ดีมีประโยชน์อย่างไร

นักบวชในพระพุทธศาสนานั้นมีจะกระบวนการหนึ่งที่เรียกว่าเป็นการพิจารณาอาหาร คือพิจารณาว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ และพิจารณาลงไปให้ลึกถึงกิเลสภายใน สิ่งใดเสพแล้วลดกิเลส สิ่งใดเสพแล้วเพิ่มกิเลส และพระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในกาลามสูตรว่า สิ่งใดที่เป็นประโยชน์ให้เข้าถึงสิ่งนั้น สิ่งใดที่เป็นโทษให้ละเว้นสิ่งนั้นเสีย นี่คือการเลือกอย่างชัดเจน

คำว่าผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่ายนั้นหมายรวมถึงผู้ที่ไม่ทำตนให้เป็นภาระด้วย ดังที่กล่าวมาข้างตน ถ้ากินไม่เลือกแล้วเกิดผลให้เจ็บป่วย เป็นโรค ก็ไม่ควรเรียกว่าเป็นผู้เลี้ยงง่ายบำรุงง่าย เพราะการเจ็บป่วยนั้นจะทำให้เป็นผู้เลี้ยงยากบำรุงยากในทันที

จริงอยู่ที่นักบวชนั้นไม่ควรเลือกที่จะรับตามที่สมมุติโลกนั้นเข้าใจ แต่ไม่ได้หมายความว่าห้ามเลือกที่จะกิน ทุกกรรมกิริยาที่เกิดขึ้นระหว่างกินนั้น ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น มือที่เอื้อมไปตักของที่ย่อยยากและมีโทษมากเช่นเนื้อสัตว์ ก็ควรกำหนดรู้ว่าสิ่งนั้นเป็นโทษ ไม่เป็นไปเพื่อความสบาย ทุกการขยับ การตัก การนำเข้าปาก การเคี้ยว ล้วนมีผลทั้งหมดทั้งสิ้น เว้นเสียแต่ว่าไม่มีความรู้เรื่องกรรม ไม่มีสติมากพอจะจับเจตนาซึ่งอาจจะปนเปื้อนด้วยกิเลส ก็จะไม่สามารถเข้าใจได้ว่า อันนี้เราทำบาปกรรมอยู่ จึงสะสมบาปกรรมที่ไม่รู้ตัวว่าทำไปเรื่อย ๆ  ซึ่งตรงกับที่ยกไว้ข้างต้นว่า บาปแม้น้อยก็สะสมกลายเป็นบาปที่เต็มรูปได้ เมื่อบาปเต็มที่ กิเลสก็เต็มขั้น กามก็โต อัตตาก็แกร่งกล้า ถ้าไม่สึกไปแสวงหากาม ก็แสวงหากามในคราบผ้าเหลืองนั่นแหละ

พระพุทธเจ้าตรัสเหตุของการเกิดตัณหาใน “ตัณหาสูตร (พระไตรปิฎกเล่ม ๒๑ ข้อ ๙)” ไว้สี่ข้อ โดยรวมแล้วก็คือปัจจัยสี่ หนึ่งในนั้นคือ ตัณหาเกิดด้วยการบิณฑบาต นั่นก็หมายถึงกิเลสมันเกิดก็เพราะเรื่องห่วงกินนี่แหละ ดังนั้นนักบวชก็ควรจะพิจารณาในการกินของตน ว่ากินสิ่งใดแล้วกิเลสมันเพิ่มก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วร่างกายเป็นทุกข์ ทำให้อายุสั้น ก็ไม่ควรกิน กินสิ่งใดแล้วเป็นไปเพื่อส่งเสริมความมัวเมา ก็ไม่ควรกิน

ที่บอกว่าควร “เลือกกิน” นั้นเพราะ นักบวชนั้นพึงรู้เองว่าสิ่งใดสมควรหรือไม่สมควร เพราะไม่มีใครมาบังคับใครให้ใครตักอะไรใส่ปากได้ มือก็เป็นของท่าน ปากก็เป็นของท่าน กรรมก็เป็นของท่าน ท่านล้วนกำหนดกรรมของท่านเอง

การจะกินทุกอย่างนั้น ก็ดูจะเป็นคนละโมบไปเสียอีก เพราะหากผู้ศรัทธาเขาเอาอาหารมาพันอย่าง ก็ต้องกินทุกอย่างจนพุงแตกกันเลยเชียวหรือ ส่วนการจะกินเพื่อให้เขาศรัทธา ให้เขาดีใจปลื้มใจนี่มันก็ควรจะประมาณให้เหมาะสมเป็นบางกรณี ไม่ใช่กินให้เขาทุกวันจนตัวเองอ้วน เดินลำบาก ขยับลำบาก ป่วยเป็นโรค อันนี้ก็เป็นการทำให้ตนเองเป็นทุกข์ไปเปล่า ๆ มันต้องเลือกกินสิ่งที่มีประโยชน์เพื่อตนเป็นหลัก ไม่ใช่มุ่งเอาใจคนอื่นเป็นที่ตั้ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “อย่าพรากประโยชน์ตน เพื่อผู้อื่นแม้มาก” หมายถึงไม่จำเป็นต้องไปทำเพื่อใครขนาดที่ตนเองต้องทนทุกข์ทรมาน ต้องกิเลสเพิ่ม ต้องอายุสั้น ต้องเสียโอกาสในการปฏิบัติธรรม แม้สิ่งเหล่านั้นจะดูเหมือนมีประโยชน์มากก็ตามที

ถ้าเขามีมาวางให้เลือก ก็เลือกกินสิ่งที่เป็นประโยชน์ ไม่ใช่ว่า เขาเอาไก่ทอดมาวาง เอาผัดผักมาวาง มีแค่สองอย่างนี้ ว่าแล้วก็ตักไก่ทอดใส่ปากก่อนเลย อันนี้ต้องอ่านจิตตัวเองดี ๆ ว่าทำไมมันไปเอาของที่มันมีโทษก่อน เพราะแม้ในทางโลก เขาก็รู้กันอยู่แล้วว่า เนื้อสัตว์ทอดนั้นเป็นอาหารที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ นา ๆ อันนี้ปัญญาโลก ๆ ก็รู้ได้ คนที่รักษาสุขภาพเขาก็รู้ได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ถึงปัญญาโลกุตระหรอก ถ้าปัญญาโลกุตระนี่ไม่มีแล้วที่จะกินสิ่งที่เป็นโทษ มีแต่กินสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างเดียวเท่านั้น

สรุปรวมแล้วศาสนาพุทธนั้น “เลือก” ที่จะศึกษาและปฏิบัติเพื่อเว้นขาดจากสิ่งชั่ว ที่ให้โทษ ที่ทำให้เป็นทุกข์ทำ ฯลฯ มุ่งทำสิ่งที่ดี และทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส เพราะรู้ชัดว่าสิ่งที่ทำนั้นจะเกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่น ทั้งในปัจจุบันและอนาคตทีเดียว

1.10.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

คู่กรรม (สอบถาม)

August 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,203 views 2

ผมเคยพิมพ์เรื่องกรรมกับเรื่องคู่ไว้ แต่ก็ไม่ได้หมายความที่เราทนความอยากที่จะมีคู่ไม่ได้นั้นเป็นเพราะผลกรรมเก่าทุกคน เพราะจริงๆ มันมีกรรมใหม่ร่วมด้วย

ถ้ายังไม่เคยได้รับรู้ธรรมะ ไม่เคยรู้มาก่อนว่าการมีคู่นั้นเป็นเหมือนบ่วง ไม่เคยรู้มาก่อนว่ามันเป็นทางที่ตรงกับข้ามกับการเป็นบัณฑิต(ผู้รู้ธรรม) แล้วไปมีคู่นั้น ก็เรียกว่าโดนโลกมอมเมา เป็นเพราะแรงกรรมส่วนหนึ่ง แรงกิเลสในขณะนั้นส่วนหนึ่ง หรือจะเรียกว่าผลของกรรมมันบังปัญญาที่เคยมี ให้ปัญญานั้นต่ำกว่ากิเลสก็เลยไปมีคู่

แต่คนที่มาศึกษาธรรมะแล้ว ได้มารู้โทษของการมีคู่แล้ว ได้รู้แล้วว่าทางหลุดพ้นจริงๆ สุดท้ายทุกคนก็จะเป็นโสด ฯลฯ คือรู้แล้วว่าอะไรดี อะไรชั่ว แล้วดันไปเลือกมีคู่ อันนี้จะโมเมอ้างกรรมเก่าไม่ได้แล้วครับ เพราะคุณมีโอกาสตัดสินใจแล้วว่าจะเลือกเอาธรรมะหรือเอากิเลส พระพุทธเจ้าตรัสว่าสิ่งที่ส่งผลต่อการตัดสินใจทำกรรมของแต่ละคนนั้นขึ้นอยู่กับมีกิเลสหรือไม่มีกิเลสเท่านั้นแหละ

ถ้าคนมีของเก่ามามาก แล้วได้รู้ธรรมจะหลุดได้ง่ายครับ แต่ถ้าไม่มีนี่อาจจะจมยาวเลย มีคู่ มีลูก มีหลานอะไรกันไปตามเรื่องตามราว

ประเด็นนี้มีใครสนใจจะเสริม หรือสอบถามอะไรเพิ่มเติมไหมครับ? คิดว่าวันหนึ่งจะเรียบเรียงบทความนี้ขึ้นมาใหม่ครับ