Tag: ปรินิพพาน

ครั้งแรกและครั้งสุดท้ายที่ได้เจอกัน

June 8, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 473 views 0

ระหว่างเดินทางวันนี้ ก็ได้มองไปรถที่กำลังขับผ่านไปอย่างช้า ๆ เป็นรถขนหมู

หมูในรถโต ๆ กันแล้ว ก็รู้ ๆ กันว่าปลายทางจะไปอยู่ที่ไหน ก็ไปเข้าปากเข้าท้องคนที่เขาอยากกินนั่นแหละ แต่กระบวนการมันก็โหดร้ายเหลือเกิน คือมันต้องถูกฆ่า ไม่งั้นคนก็ไม่ยอมซื้อกิน ถ้าฆ่ามาขายคนจ่ายเงิน ถ้าไม่ฆ่าไปขายไม่ได้เงิน

สรุปว่าหมูวัยรุ่นเหล่านั้นกำลังจะเดินทางไปสู่ความตายอย่างแน่นอน นั่นหมายถึง นี่เป็นการได้พบกันครั้งแรกของผมกับหมูกลุ่มนั้น และก็เป็นครั้งสุดท้ายด้วยเช่นกัน

เหตุการณ์ทั้งหมดผ่านไปในไม่กี่วินาที ผมก็ต้องเดินทางของผมต่อไป หมูก็ต้องเดินไปตามกรรมที่ทำมาต่อไป แน่นอนว่าเราไปคนละทางกัน

การทำบาป ทำชั่ว ทำผิดศีล ย่อมก่อกรรมที่ทำให้เกิดเป็นเดรัจฉาน ก็เป็นการวนเวียนกันไประหว่างคนฆ่าและคนกิน เป็นการรักษาสมดุลของกรรม คือทำแล้วต้องรับ ทำแล้วต้องใช้ ไม่มีวันหมดไปจนกว่าจะใช้หนี้กรรมหมด

มีทางหนีทางเดียวคือทำตนให้หมดกิเลสแล้วปรินิพพานหนีซะ นอกนั้นไม่มีทางพ้นกรรม ถ้ายังเกิดอยู่ก็ยังต้องทนทุกข์ แล้วถ้าไปเกิดเป็นสัตว์เหล่านี้ก็ยิ่งทุกข์ไปกันใหญ่

ก็เห็นใจทั้งหมู เห็นใจทั้งคนฆ่า เห็นใจทั้งคนกิน ก็กลุ่มเดียวกันนั่นแหละ ก้อนเดียวกัน กงเกวียนกงกรรม เกี่ยวเนื่องกันด้วยบาป หมุนไปด้วยกัน ทุกข์ไปด้วยกัน เพียงแค่สลับตำแหน่งกัน ล้อหมุนไป จุดหนึ่งอยู่บน จุดหนึ่งอยู่ล่าง หมุนไปอีก จุดหนึ่งอยู่ล่าง จุดหนึ่งอยู่บน สลับกันไปไม่จบไม่สิ้นด้วยเหตุแห่งความเกี่ยวเนื่องอาศัยกันและกัน

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

July 29, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,834 views 0

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

กรรมชั่วไม่มีวันหมด ถ้ากิเลสยังคงอยู่

กรรมชั่วนั้นหมายถึงเจตนาที่จะทำสิ่งไม่ดี และเมื่อทำกรรมที่ไม่ดีลงไปแล้ว ก็จะสั่งสมกลายเป็นพลังงานที่จะสร้างผลของกรรมนั้นในวันใดก็วันหนึ่ง

ความเข้าใจในเรื่องกรรมนั้นสามารถทำให้เราพ้นทุกข์ได้ไม่ยากนัก เพราะการเข้าใจว่าสิ่งใดๆล้วนเป็นสิ่งที่เราทำมา จะทำให้เรายอมรับความจริงตามความเป็นจริงได้ง่าย แต่นั่นหมายถึงส่วนของกรรมเก่า

กรรมเก่าที่ได้รับแล้วก็จะหมดไป ปัญหาคือกรรมใหม่ที่กำลังสร้างนั้นเกิดจากอะไร? การทำดีทำชั่วนั้นมีอะไรเป็นแรงผลักดัน? การทำดีนั้นมีจิตที่ใฝ่ดี มีศีลธรรมเป็นตัวผลัก แต่กรรมชั่วนั้นมีกิเลสเป็นเหตุเกิด นั่นหมายถึงว่า หากเรายังมีกิเลสอยู่ เราก็จะสร้างกรรมชั่ว ให้ต้องวนเวียนมารับผลกรรมชั่วนั้นไปอย่างไม่จบไม่สิ้น

ความเข้าใจในเรื่องกรรมและผลของกรรมนั้นไม่ได้มีไว้เพื่อทำความเข้าใจที่จะรับต่อสถานการณ์ที่ไม่คาดหวังอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นไปในเชิงการป้องกันไม่ให้เกิดกรรมชั่วด้วย คือสามารถใช้ได้ทั้งการรับและรุก

การรับกรรมอย่างเข้าใจจะทำให้เราไม่เป็นทุกข์มาก ส่วนการรุกก็คือการหยุดทำกรรมชั่ว แล้วสร้างกรรมดีขึ้นมาแทนที่ในแต่ละวินาทีของชีวิต ให้ละเว้นกรรมชั่วให้น้อยลง และสร้างกรรมดีให้มากขึ้น

ทีนี้ถ้ากรรมดีที่ทำนั้นยังไม่สามารถทำขนาดที่จะทำลายกิเลสได้ ก็จะยังมีเหตุแห่งทุกข์ มีเชื้อชั่วทำงานอยู่ตลอดเวลา แม้เราจะทำกรรมดีแค่ไหน แต่ถ้ากิเลสยังอยู่ก็จะบังคับเราให้ทำกรรมชั่วด้วยเช่นกัน ทีนี้กรรมดีกับกรรมชั่วมันไม่ได้หักลบกัน ทำกรรมดีก็ต้องได้รับผลดี ทำกรรมชั่วก็ต้องได้รับผลชั่ว ดังนั้นใช่ว่าเราจะทำดีบ้าง ไม่ดีบ้างปนกันไป ศาสนาพุทธไม่ได้สอนเช่นนั้น แต่สอนให้เราหยุดชั่ว คือไม่ทำชั่วเลย แล้วทำแต่ความดี และทำจิตใจให้ผ่องใสจากกิเลส

ถ้าเราไม่กำจัดกิเลส เราก็จะเป็นคนดีที่สร้างกรรมชั่วโดยที่ไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ แม้จะเข้าใจเรื่องกรรมและผลของกรรม แต่ไม่เข้าใจถ่องแท้ถึงขนาดที่ว่าเหตุเกิดแห่งกรรมดีและร้ายนั้นมีที่มาอย่างไร ก็ไม่สามารถที่จะบริหารจัดการชีวิตของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นหากจะถามหาประสิทธิผลที่พอหวังได้ก็คงจะไม่มี

ผู้ที่ทำลายกิเลสได้หมดจะไม่สร้างกรรมชั่วอีกเลย แต่ผลของกรรมชั่วนั้นจะเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ผลของกรรมชั่วจะไม่มีวันหมดไปเพราะกรรมนั้นเมื่อทำแล้วจะถูกแบ่งส่วนของการรับไปทั้งชาตินี้ ชาติหน้า และชาติอื่นๆต่อไป นั่นหมายความว่ากรรมใดๆที่เราได้รับอยู่ในชาตินี้ ล้วนแต่เป็นเศษกรรมที่เราทำมาทั้งนั้น นั่นหมายถึงทั้งดีและร้ายที่เราได้รับนั้น เป็นเพียงแค่ส่วนเล็กน้อยเท่านั้น ยังมีผลของกรรมอีกมากมายที่รอส่งผลในภายภาคหน้า

เมื่อรู้ได้เช่นนี้เราก็ควรจะหยุดกรรมชั่วเสียทั้งหมด เพราะแม้เราจะไม่เห็นผลในชาตินี้ แต่แน่นอนว่ามันจะส่งผลไปต่อถึงชาติหน้า เหมือนกับเหตุการณ์ร้ายๆที่เราได้รับมาในชาตินี้โดยที่เราไม่สามารถสืบหาสาเหตุที่เหมาะสมได้เลย

พระพุทธเจ้าซึ่งเป็นบุรุษที่เก่งที่สุดในโลก สะสมบารมี ทำดีมามากมายหลายกัป แต่ท่านก็ยังมีผลของกรรมที่ท่านเคยได้ทำชั่วมาตั้งแต่ปางไหนก็ไม่รู้ ที่ยังต้องมารับกันในชาติที่เป็นพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นหลักฐานว่ากรรมชั่วนั้นจะติดตามเราไป แม้ว่าเราจะดับกิเลสได้จนสิ้นเกลี้ยงแล้วก็ตาม ในจักรวาลนี้คงมีวิธีเดียวที่จะพ้นจากผลของกรรมที่ทำมาได้นั่นคือปรินิพพาน

แต่นั่นก็ยังไม่ใช่สาระสำคัญเท่ากับการที่เราสามารถทำลายกิเลสได้หมดหรือไม่ ถ้ากิเลสยังไม่หมด ยังไม่จบสิ้น ก็อย่าไปกล่าวกันถึงเรื่องปรินิพพานที่สุดแสนจะไกลตัวให้เสียเวลากันเลย

เพราะแก่นของศาสนาพุทธคือการหลุดพ้นจากกิเลส ไม่มีอะไรยิ่งใหญ่กว่าการที่เราหลุดพ้นจากความเป็นทาสของกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือกิเลส เป็นผู้อยู่เหนือโลก เป็นโลกุตระ

– – – – – – – – – – – – – – –

28.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)