Tag: ลดเนื้อกินผัก

ให้งดเนื้อสัตว์?

December 23, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,091 views 0

ผมไม่เคยบอกสักคำว่าทุกคนต้องงดเนื้อสัตว์ แค่นำเสนอข้อมูลไปแล้วให้ไปพิจารณาเอาเองว่าสมควรไหม? อย่างไร? แล้วก็เลือกกันเอาเอง

พิมพ์บทความเกี่ยวกับเรื่องลดเนื้อกินผักทีไร มีชาวยัดเยียดมาใส่ยศ “สาวกพระเทวทัต” กันทุกทีเลย ผมว่าพวกเขาน่าจะมีปัญหาในการจับใจความและการสรุปความนะ เป็นปัญหาใหญ่ในการสื่อสารเลย

มีบางคนบอกว่าผมพยายามให้คนเลิกกินเนื้อสัตว์ …แต่ผมว่าไม่นะ แค่เผยแพร่ความรู้ไปเท่านั้นแหละ มีของดีเราก็แจกจ่ายกันไป ทำไมต้องโง่ไปหวังผลด้วยล่ะว่ามันจะเกิดดีหรือไม่ดี แค่ทำดีก็พอแล้ว

…ผมไม่เห็นรู้สึกเดือดร้อนเลย ถ้าจะใครกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ ใครอยากกินก็กิน ไม่อยากก็ไม่ต้องกิน ทุกคนก็รับผิดชอบกรรมของตัวเองไป ทำไมต้องไปเดือดร้อนแทนคนอื่น??

ส่วนคนที่คิดจะมาศึกษาธรรมะ ผมจะบอกว่าถ้าแค่ฐานกินเนื้อสัตว์ ยังทำความเข้าใจไม่ได้ว่าเป็นโทษอย่างไร ไอ้ที่ยากกว่าเช่น กินจืด กินมื้อเดียว โสด ทำงานฟรี ฯลฯ นี่คุณจะไม่สามารถเข้าใจได้เลย

ธรรมะนี่ไม่ใช่เรื่องที่จะมาบังคับกันนะ แต่จะเป็นไปตามฐานของแต่ละคน คนที่ทำไม่ได้ก็ไม่ได้ ทำได้ก็ได้ คนที่เบื้องต้นยังไม่ได้ก็หัดขั้นต้นไปก่อน อย่าไปลัดเอาเบื้องปลาย มันไม่มีหรอก มันเฉโกเท่านั้นแหละ

สุดท้ายผมล่ะสงสารคนที่เห็นผิดจับใจ แค่เข้ามาข่มก็สร้างวิบากให้ตัวเองมากพอแล้ว ไม่ดูตาม้าตาเรือเลยว่าถิ่นนี้เขาคุยเรื่องอะไรกัน บางทีอัตตามันหนา พกความมั่นใจมาเต็มที่สุดท้ายได้กลับบ้านไปคือชั่วกับซวย…คุ้มไหมเนี่ย

………..

ลักษณะที่เจอส่วนใหญ่ คนจะเข้ามาพร้อมชุดความคิดที่สรุปมาแล้ว ว่าต้องเป็นอย่างนั้น ฉันเห็นอย่างนั้น ไม่ได้เข้ามาแลกเปลี่ยนกันหรอก แค่อยากจะมาสรุปว่าฉันเห็นของฉันแบบนี้ ของเธอผิดและของฉันถูก

บางทีเรื่องที่เอามากล่าวหาก็ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับบทความก็มี ไม่รู้ไปสุมไฟแค้นมาจากไหน ประเด็นมากมายปนกันมั่วไปหมด หลุดประเด็นหลักมาสร้างประเด็นใหม่ก็มีเหมือนกัน

ทำไมมันต้องเป็นอย่างที่เห็นแล้วเข้าใจด้วยล่ะ สิ่งที่เห็นและเข้าใจมันจะต้องถูกต้องเสมอไปเลยรื้อ~ บางทีก็มาเดาใจกันไปว่าฝืนทน กดข่ม อยากให้คนอื่นเลิกกินเนื้อสัตว์ ฯลฯ มันก็เดากันไปไกล รู้จักคบคุ้นเคยคุยกันรึเปล่าก็ไม่ใช่

จะมาตัดสินกันด้วยเวลาอันสั้นนี่มันไม่ได้หรอกน้า มันต้องดูกันไปนานๆ ศึกษากันไปนานๆ พระพุทธเจ้ายังตรัสไว้เลยว่าเรื่องศีลเรื่องปัญญาจะต้องดูกันนานๆ ไม่ใช่กาลเพียงชั่วครู่ คนมีปัญญารู้ได้ คนไม่มีปัญญาต่อให้นานแค่ไหนก็รู้ไม่ได้ … นี่มันเป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้จริงๆละน้า

แต่นักรบ anti มังฯ เขาก็บุกโจมตีชาวมังฯ ไปเรื่อยๆนั่นแหละ ก็ไม่มีอะไรหรอก แค่ไปดีขวางหูขวางตา เขาก็เล่นเอาแล้ว ถ้าไม่ดีจริงเขาก็เล่นเราอีก แหม่ คนเราจะมาจับผิดอะไรคนอื่นกันนักกันหนา เรื่องตัวเองไม่ค้นหา ผิดชาวบ้านนี่ล่ะจับกันจังเลย

………..

หลังจากที่พิจารณาแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรม ผมก็ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจ และเป็นคำตอบที่แลกมาด้วยการเปื้อนซะเยอะเลย

การที่มีคนเข้ามาเห็นต่างนั้นเป็นเรื่องปกติ ซึ่งอันนี้รู้กันอยู่แล้ว แต่มันเกิดจากสาเหตุกิเลสหยุมหยิมประการใดนั้นเป็นสิ่งที่ผมอยากรู้มาก เลยพยายามหาคำตอบอยู่พักใหญ่

ก็ได้ข้อสรุปเป็นว่าเขาก็มาเสพให้สมใจนั่นแหละ อันนี้ภาพกว้างๆ คงไม่ขยายไว้ในที่นี้ คือมาเสพการได้แสดงออก การได้พูด ได้ข่ม ได้แสดงตัวตน ฯลฯ ซึ่งผมเคยคิดว่ามุมนี้เป็นมุมติดดีน่าจะพอแก้ไขกันได้ แต่จริงๆไม่ใช่เลยนะ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หมายถึงถ้ามาแนวเพ่งโทษเมื่อไหร่ก็นั่นแหละคนพาล ซึ่งนี่มันเลวร้ายกว่าสภาพของการติดดีอีกนะ เพราะมันคือติดชั่ว อันนี้ที่ผมประเมินผิดไป

แล้วทีนี้มงคล 38 ข้อแรกท่านให้ห่างไกลคนพาล คือต้องห่างทั้งกาย วาจา ใจ เลย คืออย่าไปสาละวนอยู่กับคนพาล มันจะเปื้อน มันจะเละ และแก้ไขอะไรไม่ได้หรอก

สรุปว่าถ้ามาแนวๆเพ่งโทษ นี่ก็ให้ปล่อยไปเลย ไม่ต้องข้องแวะ ถือเป็นมงคลในชีวิตครับ (ภาษาฝรั่งว่า don’t feed trolls )

พอรู้แล้วเลยมาแบ่งปันประสบการณ์ให้ร่วมเรียนรู้กันครับ

เจตนาของการนำเสนอบทความลดเนื้อกินผัก

August 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,163 views 0

ที่พิมพ์บทความลดเนื้อกินผักออกมากันมากมาย เจตนาของผมไม่ได้ต้องการให้คนหันมากินมังสวิรัติ กินเจอะไรหรอกนะ

แต่ต้องการแบ่งปันประสบการณ์ในวิธีปฏิบัติสู่การทำลายกิเลส โดยใช้โจทย์ลดเนื้อกินผักเท่านั้นเอง

จริงๆแล้วจะใช้โจทย์อะไรก็ได้ ความโกรธ ความโลภ ความหลง มันเอามาปฏิบัติได้หมดแหละ แต่มันจะหาผัสสะกันยากหน่อย ถ้าเราเจาะไปในประเด็นไม่หลงเนื้อสัตว์นี่มันง่าย ทุกคนปฏิบัติได้เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างก็ง่าย แถมยังเป็นสิ่งที่เป็นการเบียดเบียนที่ขัดเจน

เรียกว่าถ้าหลงอยู่ก็มีโทษ ออกได้ก็เป็นประโยชน์

ถ้าทำลายความอยาก ทำลายกิเลสกันได้จริงๆแล้วจะกลับไปกินเนื้อสัตว์ก็ตามสบาย แต่ถ้าให้ดีก็ศึกษากันให้มาก เดี๋ยวกิเลสจะหลอกเอาว่ากินอย่างไม่มีกิเลสก็เป็นไปได้

ปล.ส่วนเรื่องโสด นี่เจตนาจะให้โสดกันจริงๆ เพราะจะมีบ่วงมาก ยังไม่ต้องถึงขั้นล้างกิเลสหรอก กดข่มกันไปอีกสักชาติก็ได้สำหรับเรื่องนี้

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

August 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,353 views 0

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

การลดเนื้อกินผักนั้นสามารถทำได้ด้วยเหตุหลายอย่าง บางคนใช้กำลังใจ บางคนใช้ความเมตตา บางคนใช้เหตุและผล บางคนใช้กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และในที่นี้เราจะมาแนะนำวิธีการทำลายความหลงกัน

การที่เรายังหลงกินเนื้อสัตว์อยู่นั้น เป็นภัยเงียบที่มีผลต่อการวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอย่างแท้จริง เพราะเป็นการหลงติดหลงยึดในกาม คือการเสพสุข โดยทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ การหลงติดใจในเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยร้ายที่ยากจะมองเห็น เพราะกิเลสได้บังไว้มิดเสียจนคนแยกไม่ออกว่าอยากกินหรือจำเป็นต้องกิน เวลาที่เราหลงติดหลงยึดกับอะไร เราก็จะไม่อยากที่จะพลัดพรากไปจากสิ่งนั้น หาเหตุผล หาข้ออ้างให้ได้เสพสุขจากสิ่งนั้นตลอดไป มองไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่น มองไม่เห็นกิเลส จึงมักจะทำให้โดนกิเลสหลอกว่าไม่มีกิเลส เหมือนกับคนเมาที่บอกว่าตัวเองไม่เมา

ถ้ายังมีความอยากอยู่(ตัณหา) ก็หมายถึงยังมีความยึดมั่น(อุปาทาน) ถ้ามีความยึดมั่นก็ทำให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นั่นหมายถึงถ้ายังมีความอยากอยู่ ก็ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ไปได้

คนที่มีกำลังจิตมาก มีกำลังปัญญามาก หากจะทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์โดยทันทีก็สามารถทำได้ แต่การทำลายความอยากของพุทธนั้นไม่ใช่แค่หยุดกิน ไม่ใช่แค่ทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการปฏิบัติไปจนถึงใจ เรียกว่าถึงจะไปแตะเสพเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่เกิดทั้งอาการอยากและไม่อยากอีกเลย ดังนั้นจึงเป็นการลดเนื้อกินผักที่ปฏิบัติได้ยาก แต่ถึงแม้จะปฏิบัติได้ยากก็มีผลที่คุ้มค่า

ส่วนคนที่มีกำลังจิตน้อย มีกำลังปัญญาน้อย ก็ต้องค่อยๆ แบ่งงานทำ ค่อยๆกำจัดความอยากในขอบเขตที่กำหนด เช่นกำหนดว่าจะทำลายความอยาก ความหลงติดหลงยึดในเนื้อหมู ก็ให้ทำลายในหมวดหมู่ของเนื้อหมูทั้งหมดก่อน เมื่อสำเร็จเกิดผลว่า ไม่เสพเนื้อหมูก็ยังมีความสุขสบายดี ถึงจะเห็นเนื้อหมูในเมนูต่างๆที่เคยชอบอยู่ตรงหน้า ก็ไม่มีความอยาก ไม่น้ำลายสอ ไม่ต้องอดทน ไม่รู้สึกเสียดาย ถึงจะกินเนื้อหมูเข้าไปก็ไม่มีความสุขหรือทุกข์ ก็เรียกได้ว่าสามารถผ่านโจทย์ของเนื้อหมู ไปจัดการตัวอื่นๆ เช่น ความอยากในเนื้อวัว ความอยากในเนื้อไก่ ความอยากในเนื้อปลา เป็นต้น

ซึ่งเราอาจจะเลือกกำจัดความอยากในเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่พร้อมกันก็ได้หากว่าเราสามารถทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจนเกินไป ทั้งนี้การทำลายความอยากไม่ใช่ทำได้เพียงแค่การอดทน แต่เป็นการค้นให้ลึกถึงเหตุของความอยาก ว่าเราไปหลงติดหลงยึดในอะไร เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในอะไร เราเสพสุขอะไรในเนื้อสัตว์นั้น แล้วใช้ปัญญาพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่ารสสุขที่เราหลงเสพอย่างนั้นสร้างทุกข์โทษภัยให้ตัวเราและผู้อื่นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ความอยากนั้นจางคลายไปโดยลำดับ จนกระทั่งสิ้นเกลี้ยงได้ในที่สุด

ซึ่งการทำลายความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น สามารถทำลายด้วยการดับภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โดยใช้วิธี “ไตรสิกขา” นั่นคือการศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ซึ่งการศึกษาเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไปเป็นไปความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นที่สุดของการปฏิบัติในศาสนาพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

สมรภูมิคนดี

August 10, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,343 views 0

สมรภูมิคนดี

สมรภูมิคนดี : บททดสอบที่จะประดังเข้ามาเพื่อพิสูจน์ความดีที่แท้จริง (กรณีศึกษามังสวิรัติ)

คนทุกคนย่อมพยายามผลักดันตนเองไปสู่ความดีที่ตนเห็นว่าดีกันทุกคน เส้นทางแห่งความดีนั้นไม่ใช่เส้นทางที่เดินได้ง่าย มีบททดสอบมากมายที่จะเข้ามาพิสูจน์ว่า สิ่งที่เราเห็นว่าดีนั้นดีจริงแท้หรือไม่

ในบทความนี้จะยกตัวอย่างคนที่พยายามลดเนื้อสัตว์หันมากินผัก กินมังสวิรัติ กินเจ พยายามที่จะทำตนเองให้ดีขึ้น ให้เบียดเบียนสัตว์อื่นน้อยลง เป็นทางสู่ความดีทางหนึ่งด้วยเนื้อหาต่างๆรวม 7 ข้อ

1). การทดสอบความตั้งมั่น(บททดสอบกาม – การเสพติดเนื้อสัตว์)

คนที่คิดจะพยายามทำดีในชีวิต เช่นในเรื่องของการลดเนื้อกินผัก จะเจอบททดสอบแรกที่ท้าทายความดี คือจะละเว้นเนื้อสัตว์ได้จริงไหม จะกินได้นานเท่าไหร่ ถ้าโดนยั่วยวนด้วยเมนูเนื้อสัตว์ต่างๆ เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะงานเลี้ยง รวมญาติ งานรื่นเริง หรือสถานการณ์ที่มีข้อจำกัดต่างๆ เราจะยังตั้งมั่นอยู่ไหม เราจะกลับไปกินไหม เราจะหาเหตุผลไปกินไหม และที่สำคัญที่สุดคือเรายังเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นมีคุณค่ามีประโยชน์ในชีวิตเราอีกไหม เรายังหลงว่ามันเป็นของดีอีกไหม เรายังมีความเข้าใจว่าเนื้อสัตว์เป็นสิ่งที่บำรุงร่างกายอยู่ไหม เรายังยินดีให้คนที่รักกินเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม เรายังเหลือเยื่อใยใดๆกับเนื้อสัตว์อยู่อีกไหม จะมีเหตุการณ์ต่างๆที่จะเข้ามาทดสอบความตั้งมั่นของผู้ที่จะลดเนื้อกินผักตลอดช่วงเวลาที่คิดจะทำดี

2). ออกสู่โลกภายนอก ( เตรียมเข้าสู่บททดสอบอัตตา )

เมื่อเราเลิกกินเนื้อสัตว์ได้ก็เป็นสิ่งที่ดีแล้ว แต่ถ้าอยากให้เกิดสิ่งดีมากขึ้น เป็นกุศลมากขึ้น ก็จะต้องทำหน้าที่เชิญชวนให้ผู้อื่นสนใจที่จะเลิกกินเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งสิ่งที่จะขวางกั้นไม่ให้เราได้เป็นคนดีขึ้นอย่างใจหวัง นั่นก็คืออัตตา หรือความยึดดีถือดี อัตตาจะทำให้เราต้องเป็นทุกข์เมื่อไม่ได้อย่างใจ ทำให้เราแข็งกระด้าง ทำให้เราไม่เมตตา ทำให้เราต้องสร้างศัตรู ทำให้เราไม่ประสบความสำเร็จในการชักชวนผู้อื่นให้ศึกษาเพื่อละเว้นการกินเนื้อสัตว์

ผู้ที่เข้ามาทดสอบจะเป็นไปตามธรรม เป็นไปตามสิ่งที่เราทำ ถ้าเราลดเนื้อกินผักอยู่ในภพ คือ กินโดยไม่ยุ่งเกี่ยวกับใคร โจทย์ก็มักจะน้อย แม้จะลดความอยากกินเนื้อสัตว์ได้ดี สามารถออกจากกามได้ แต่ก็ยากที่จะวัดเรื่องอัตตาได้

และถ้าเราเริ่มออกจากภพ ออกจากถ้ำ ออกจากที่มั่น เริ่มอธิศีลขึ้นไปอีกระดับ พยายามสร้างกุศลขึ้นไปอีก คือการพยายามชักชวนผู้อื่นให้ลดเนื้อกินผัก ก็จะเริ่มมีโจทย์ที่มากขึ้นมาตามธรรมเช่นกันและนี่คือการก้าวสู่คนดีที่ดียิ่งขึ้นอีก ซึ่งเป็นสิ่งที่ยากขึ้น เพราะต้องพร้อมรับความเห็นที่แตกต่างที่จะประดังเข้ามามากขึ้น

ซึ่งความหนักของบททดสอบนั้นจะมากและแรงขึ้นเรื่อยๆตามความดีที่ทำ ยิ่งทำดีมาก ยิ่งมีบารมีสูงมาก โจทย์ก็ยิ่งยาก ยิ่งหนัก ยิ่งแก้ยาก ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเข้ามาทดสอบว่าเราดีจริงหรือไม่ เราจะทำดีได้มากกว่านี้ หรือจะเลิกล้มลงตรงนี้

3). การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบสิ้น( รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง )

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนว่า การเอาชนะกัน การเถียงกัน เป็นการสู้รบที่ไม่มีวันจบสิ้น เราไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเห็นเหมือนเราได้ ขนาดบุรุษที่เก่งที่สุดในโลกก็ยังไม่สามารถทำให้ทุกคนศรัทธาได้

เราจึงต้องกำหนดเป้าหมายให้ดีว่า การทำดีของเรานั้นไม่ใช่เพื่อเอาชนะใคร ไม่ใช่เพื่อข่มเหงใคร ไม่ใช่เพื่ออวดในคุณความดีที่ตนได้ แต่เป็นการทำดีเพื่อจะสร้างเหตุในการขัดเกลาตนเองให้เป็นคนดีที่ดียิ่งขึ้น การต่อสู้ภายนอกนั้นไม่มีวันจบสิ้น การเถียงเอาชนะกันมีแต่จะเสื่อมศรัทธาต่อกัน เขาก็ยังกินเนื้อเหมือนเดิม เราก็ได้ศัตรูเพิ่ม ไม่มีประโยชน์อะไรที่จะเอาผลแพ้ชนะทางโลกเป็นเป้าหมาย การเพิ่มคนลดเนื้อกินผักไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด แต่เป็นการเพิ่มคนดีขึ้นมาอีกหนึ่งคน นั่นคือทำตัวเราให้ดียิ่งๆขึ้น ไม่ใช่การไปทำคนอื่นให้ดีอย่างใจเรา

การต่อสู้ภายในนั้นมีวันสิ้นสุด เพราะแท้จริงแล้ว เราไม่ได้สู้กับใครเลย เราสู้กับใจตัวเองเท่านั้น สู้กับความยึดดีถือดี ความเอาแต่ใจ ความคาดหวัง เราสู้กับกิเลสของตัวเราเองเท่านั้น คนที่วุ่นวายอยู่กับการต่อสู้ภายนอก จะเป็นคนดีที่มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องสู้กับคนที่เห็นต่างไปชั่วกัปชั่วกัลป์

4). ผู้เข้ามาทดสอบ(บททดสอบอัตตา – การยึดดีถือดี )

กรรมจะลิขิตขีดเขียนสร้างเหตุการณ์และผู้ที่เข้ามาทดสอบความยึดดีถือดีด้วยลักษณะและลีลาที่ต่างกัน ซึ่งอาจจะเข้ามาเพื่อกระทบแค่ครั้งเดียว ,มาๆหายๆ , มาแบบกัดไม่ปล่อย, ลากเราไปรุมขยี้ ฯลฯ ก็เป็นรูปแบบการเข้ามาของบททดสอบต่างๆ ซึ่งเราควรพึงระลึกไว้เสมอว่า สิ่งที่เข้ามากระทบทั้งหมดนั่นคือผลของกรรมที่เราทำมา เรากำลังได้รับผลกรรมของเรา เพื่อที่จะขัดเกลาจิตใจให้ดียิ่งขึ้น และใช้หนี้กรรมชั่วให้หมดไป โดยจะยกตัวอย่างลักษณะของผู้ที่เข้ามาคร่าวๆดังนี้

นักเลง คนพาล –มักจะมาในลักษณะหาเรื่อง เพ่งโทษ มีการดูถูก ประชด เยอะเย้ย ฯลฯ คือขอให้ได้ข่มก็พอใจ ถ้าเจอคนลักษณะนี้ก็ให้วางเฉยเสีย อย่าไปถือโทษโกรธเคือง เขามาวัดโทสะเรา ว่าเราจะโกรธไหม จะแค้นไหม จะขุ่นเคืองไหม เราก็เจริญเมตตาจิตไป และค้นหาเหตุแห่งความโกรธว่าการที่เขามาว่า มาด่าเรานั้น เราจะโกรธทำไม เรายึดดีถือดียังไงเราจึงต้องไปโกรธเขา

คนที่พูดกันไม่รู้เรื่อง – อาจจะเป็นคนที่รีบสรุป อ่านน้อย ฟังน้อย หรือเข้าใจผิด มักจะพูดคนละประเด็น หรือพูดกันเท่าไหร่ก็ไม่เข้าใจ พอจะคุยกันได้ ไม่ทะเลาะกันรุนแรง แต่มักจะหาข้อสรุปไม่ได้ ยิ่งคุยก็ยิ่งงง เจอแบบนี้ก็ตรวจดูว่าหงุดหงิดขุ่นเคืองใจไหม พยายามจะไปยัดเยียดความรู้ให้เขาไหม ก็ล้างความยึดดีถือดีของเราไป บางครั้งก็ต้องปล่อยวางกับเรื่องที่หาคำตอบไม่ได้ ถ้าเปลี่ยนเรื่องได้ก็เปลี่ยน เลี่ยงได้ก็เลี่ยง

ผู้คมกฎ – เป็นคนที่เข้ามาบัญญัติ ข้อกำหนดว่าต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ ทำแค่นี้ไม่ได้ ทำแบบนี้ไม่เรียกว่าเป็นมังสวิรัติ ถ้าทำแบบนี้ผิด แบบนี้ถูก อาจจะพ่วงท้ายด้วยการประณามหยามเหยียดได้ในบางกรณี ก็กลับมาตรวจใจเราว่าขุ่นเขืองไหม สิ่งที่เขาแนะนำเป็นกุศล สมควรทำจริงหรือไม่ เหมาะสมกับฐานจิตของเราหรือไม่ ถ้าเขาแนะนำเกินก็ไม่เป็นไร เราก็ปฏิบัติเหมือนเดิมตามฐานจิตของเรา เท่าที่เราจะทำไหวในขีดที่เราจะพัฒนาขึ้นไปได้โดยลำดับ

ผู้ไม่เห็นด้วย –คนทั่วไปที่เข้ามาแสดงความเห็นในมุมที่แตกต่าง มักจะมีข้อมูล มีเหตุผล มีที่อ้าง เราจะวางใจได้ไหม ถ้าเขามีข้อมูลที่แย้งกับของเรา เราจะลองศึกษาของเขาดูบ้างได้ไหม เราจะเมตตาให้ความรู้กับเขาโดยที่ไม่ไปแข่งดีเอาชนะกับเขาได้ไหม และถ้าเขาไม่เอาดีตามเรา เราจะปล่อยวางได้ไหม จะยอมปล่อยให้เขาเชื่อในแบบของเขาได้ไหม

ผู้ที่เห็นว่าดีแต่ไม่เอาด้วย – คนที่เข้ามาเห็นดีกับเราในบางส่วน แต่ไม่ยินดีจะเอาด้วย ไม่ร่วมด้วย มักจะมีข้ออ้าง ข้อหลบเลี่ยงในการไม่เอาดี นั่นเพราะเขายังไม่เห็นว่าทำแบบเรานั้นดีพอที่เขาจะเอา มักจะมีภพที่เข้าใจว่าดีกว่ายึดอาศัยอยู่ เข้าใจว่ามีสิ่งที่ดีกว่าที่เราทำ ซึ่งมักจะเข้ามาชมแกมข่ม ลูบหลังแล้วตบหัว มักจะมีแนวทางของตัวเองอยู่ มักประกาศตนอยู่เนืองๆว่ามีดีกว่า ซึ่งอาจจะทำให้เรางงว่าจะมายังไงกันแน่ ก็ลองตรวจใจตัวเองว่าขุ่นเคืองใจไหม เขามาข่มจะยอมให้เขาข่มได้ไหม ยอมให้เขาเผยแพร่ความเห็นของเขาได้ไหม บอกเขาไป เตือนเขาไปแล้วเขาข่มกลับ เราวางใจได้ไหม

คนดีที่เห็นต่าง – เป็นโจทย์ที่ยากกว่าคนทั่วไป เช่นการนำคำพูดของคนที่ปฏิบัติดี มีชื่อเสียง น่าเคารพ น่านับถือมาอ้างอิง ซึ่งขัดแย้งกับสิ่งที่เราเชื่อและปฏิบัติอยู่ จะทำอย่างไรในเมื่อคุณความดีของเราก็สู้เขาไม่ได้ เราจะทุกข์ทรมานจากความยึดดีไหม เราจะแสวงหาคำตอบเหล่านั้นไหม เราจะอึดอัดขัดเคืองกับการไม่สามารถโต้แย้งใดๆได้หรือไม่ เพราะบางครั้งมันก็ไม่สมควรไปโต้แย้งในบางประเด็น เราจะวางใจได้หรือไม่ ลองพิจารณาทบทวนตามที่เขาว่าได้ไหม สำรวจตัวเองอีกครั้งได้ไหมว่าสิ่งที่เราคิดและทำอยู่นั้น เราถูกจริงดีจริงเป็นประโยชน์จริงหรือไม่ แม้จะมีคนดีที่เห็นต่าง เราจะยังมั่นคงอยู่ในคุณความดีที่เราทำได้จริงได้หรือไม่

คนดีที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยบางประเด็น – เป็นโจทย์ที่ยากที่สุดก็คือการที่คนดีที่เห็นตรงกันแล้วมาเห็นต่างกันในบางประเด็นนี่แหละ โจทย์นี้จะวัดความยึดดีถือดีของเราได้อย่างรุนแรงที่สุด ในเมื่อเขาก็เห็นอย่างเรา และปฏิบัติได้อย่างเรา แต่มีบางประเด็นที่เห็นต่างกันไป เราจะยอมรับได้ไหม เราจะยินดีฟังไหม เราจะยึดว่าของเราดีกว่าของเขา จนไม่ฟังไหม คนดีที่เห็นตรงกันจะแนะนำสิ่งที่แตกต่างกันด้วยความหวังดี เรียกว่าการชี้ขุมทรัพย์ให้กัน แต่ก็ไม่ง่ายนักที่จะยอมรับ เพราะชี้ผิดก็มี ชี้ถูกก็มี ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วยิ่งคนดีมากเท่าไหร่ก็จะยิ่งยึดดี อย่าคิดว่าคนดีจะวางดีกันง่ายๆ ยิ่งเก่ง ยิ่งสะสมบารมีมากก็จะยึดมั่นถือมั่นมากเป็นธรรมดา ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งล้างความยึดมั่นถือมั่นในความดีนี้

5). การเรียนรู้โลกจากบททดสอบ

เราสามารถเรียนรู้ได้จากทุกอย่างที่ประดังเข้ามาหาเรา ถ้าเขาติมาเราก็ฟังไว้ จะได้นำไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดบกพร่อง จุดที่คนถือสา จุดที่เป็นอกุศล ฯลฯ การที่จะมีคนมาช่วยชี้ช่วยบอกจุดบกพร่องของเรานี่ไม่ง่ายนะ เขามาทำให้ฟรีๆ ไม่ต้องจ้าง ต้องขอบคุณเขา ส่วนที่เราเป็นสุขเป็นทุกข์ เราก็กลับมาล้างใจของเรา

6). การขัดเกลาจิตใจตนเองให้ดียิ่งขึ้น

การที่คนเห็นต่างเข้ามาแนะนำ ติชม ด่า ว่า เหน็บแนม ประชด ดูถูก ฯลฯ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์มากในการปฏิบัติธรรมเพื่อขัดเกลาจิตใจให้เป็นคนดียิ่งขึ้นได้ เพื่อให้เราได้นำสิ่งกระทบเหล่านั้นเข้ามาตรวจสอบว่า เราโกรธหรือไม่ เราไม่ชอบใจหรือไม่ เราขุ่นใจหรือไม่ ใจเราสั่นไหวหรือไม่ ที่เป็นเช่นนั้นเพราะอะไร แล้วจะกำจัดอาการเหล่านั้นได้อย่างไร การชมเชย และการให้กำลังใจก็เช่นกัน เราอิ่มใจ ฟูขึ้นในใจหรือไม่ เราลอยหรือไม่ เราเหลิงหรือไม่ เราหลงไปในคำชมเหล่านั้นหรือไม่ ทั้งนินทาและสรรเสริญนี้เองจะเป็นสิ่งที่เข้ามาเป็นวัตถุดิบในการขัดเกลาจิตใจของเรา

7). ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น

เป้าหมายของการขัดเกลาจิตใจคือการทำดีด้วยความไม่ยึดมั่นถือมั่นว่าจะต้องเกิดผลดี ซึ่งจะต้องเกิดจากการทำดีอย่างเต็มที่เท่าที่จะมีกำลังพอจะทำได้ แล้ววางผลที่จะเกิดขึ้นนั้นให้ได้ เรามุ่งเน้นการทำดี แต่ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผล เพราะผลเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ยาก

การปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นที่ยากที่สุดคือการปล่อยวางการยึดในบทบาทและหน้าที่ เพราะเรานั้นไม่ได้อยู่ค้ำฟ้า เราช่วยทุกคนไม่ได้ หากเรายังยึดว่าเราจะต้องช่วยสัตว์ ช่วยทุกคนให้พ้นจากการเบียดเบียน เราเองจะเป็นคนที่ไม่พ้นไปจากทุกข์

การทำดีโดยที่ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น ไม่มีอัตตา ไม่มีตัวกูของกู จะเป็นการทำดีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เพราะเป็นการทำดีที่พร้อมจะวางดีทุกเมื่อ พร้อมจะพังได้ทุกเมื่อ เมื่อไม่ยึดมั่น ก็ไม่ทุกข์ ไม่ท้อถอย พร้อมจะล้มและพร้อมจะลุกเดินหน้าทำดีต่อไปอีก เป็นคนดีที่เป็นอมตะ ไม่มีวันตายไปจากความดี พร้อมจะทำดีโดยไม่มีเงื่อนไขให้ใจต้องเป็นทุกข์

– – – – – – – – – – – – – – –

9.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)