Tag: กำจัดความอยาก

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

August 14, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,350 views 0

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

กำจัดความหลงไปโดยลำดับ

การลดเนื้อกินผักนั้นสามารถทำได้ด้วยเหตุหลายอย่าง บางคนใช้กำลังใจ บางคนใช้ความเมตตา บางคนใช้เหตุและผล บางคนใช้กรรมและผลของกรรม ฯลฯ และในที่นี้เราจะมาแนะนำวิธีการทำลายความหลงกัน

การที่เรายังหลงกินเนื้อสัตว์อยู่นั้น เป็นภัยเงียบที่มีผลต่อการวนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอย่างแท้จริง เพราะเป็นการหลงติดหลงยึดในกาม คือการเสพสุข โดยทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และใจ การหลงติดใจในเนื้อสัตว์นั้นเป็นภัยร้ายที่ยากจะมองเห็น เพราะกิเลสได้บังไว้มิดเสียจนคนแยกไม่ออกว่าอยากกินหรือจำเป็นต้องกิน เวลาที่เราหลงติดหลงยึดกับอะไร เราก็จะไม่อยากที่จะพลัดพรากไปจากสิ่งนั้น หาเหตุผล หาข้ออ้างให้ได้เสพสุขจากสิ่งนั้นตลอดไป มองไม่เห็นความยึดมั่นถือมั่น มองไม่เห็นกิเลส จึงมักจะทำให้โดนกิเลสหลอกว่าไม่มีกิเลส เหมือนกับคนเมาที่บอกว่าตัวเองไม่เมา

ถ้ายังมีความอยากอยู่(ตัณหา) ก็หมายถึงยังมีความยึดมั่น(อุปาทาน) ถ้ามีความยึดมั่นก็ทำให้เกิดภพ ชาติ ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส นั่นหมายถึงถ้ายังมีความอยากอยู่ ก็ไม่มีวันที่จะพ้นทุกข์ไปได้

คนที่มีกำลังจิตมาก มีกำลังปัญญามาก หากจะทำลายความอยากกินเนื้อสัตว์โดยทันทีก็สามารถทำได้ แต่การทำลายความอยากของพุทธนั้นไม่ใช่แค่หยุดกิน ไม่ใช่แค่ทำร่างกายให้บริสุทธิ์ แต่เป็นการปฏิบัติไปจนถึงใจ เรียกว่าถึงจะไปแตะเสพเนื้อสัตว์นั้นก็ไม่เกิดทั้งอาการอยากและไม่อยากอีกเลย ดังนั้นจึงเป็นการลดเนื้อกินผักที่ปฏิบัติได้ยาก แต่ถึงแม้จะปฏิบัติได้ยากก็มีผลที่คุ้มค่า

ส่วนคนที่มีกำลังจิตน้อย มีกำลังปัญญาน้อย ก็ต้องค่อยๆ แบ่งงานทำ ค่อยๆกำจัดความอยากในขอบเขตที่กำหนด เช่นกำหนดว่าจะทำลายความอยาก ความหลงติดหลงยึดในเนื้อหมู ก็ให้ทำลายในหมวดหมู่ของเนื้อหมูทั้งหมดก่อน เมื่อสำเร็จเกิดผลว่า ไม่เสพเนื้อหมูก็ยังมีความสุขสบายดี ถึงจะเห็นเนื้อหมูในเมนูต่างๆที่เคยชอบอยู่ตรงหน้า ก็ไม่มีความอยาก ไม่น้ำลายสอ ไม่ต้องอดทน ไม่รู้สึกเสียดาย ถึงจะกินเนื้อหมูเข้าไปก็ไม่มีความสุขหรือทุกข์ ก็เรียกได้ว่าสามารถผ่านโจทย์ของเนื้อหมู ไปจัดการตัวอื่นๆ เช่น ความอยากในเนื้อวัว ความอยากในเนื้อไก่ ความอยากในเนื้อปลา เป็นต้น

ซึ่งเราอาจจะเลือกกำจัดความอยากในเนื้อวัว เนื้อหมู เนื้อไก่พร้อมกันก็ได้หากว่าเราสามารถทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบากจนเกินไป ทั้งนี้การทำลายความอยากไม่ใช่ทำได้เพียงแค่การอดทน แต่เป็นการค้นให้ลึกถึงเหตุของความอยาก ว่าเราไปหลงติดหลงยึดในอะไร เรากำลังยึดมั่นถือมั่นในอะไร เราเสพสุขอะไรในเนื้อสัตว์นั้น แล้วใช้ปัญญาพิจารณาความจริงตามความเป็นจริงว่ารสสุขที่เราหลงเสพอย่างนั้นสร้างทุกข์โทษภัยให้ตัวเราและผู้อื่นอย่างไร ซึ่งจะทำให้ความอยากนั้นจางคลายไปโดยลำดับ จนกระทั่งสิ้นเกลี้ยงได้ในที่สุด

ซึ่งการทำลายความอยาก ความยึดมั่นถือมั่น สามารถทำลายด้วยการดับภพทั้งสาม คือกามภพ รูปภพ อรูปภพ โดยใช้วิธี “ไตรสิกขา” นั่นคือการศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ซึ่งการศึกษาเหล่านี้จะเป็นไปเพื่อความเจริญ เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ ไปเป็นไปความหลุดพ้นจากกิเลส ซึ่งเป็นที่สุดของการปฏิบัติในศาสนาพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

14.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)