Tag: เพ่งโทษ

การเพิ่มศรัทธา

June 23, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 628 views 0

วันก่อนได้คุยกับกลุ่มเพื่อนนักปฏิบัติธรรม มีประเด็นของความศรัทธาที่มีต่อกัน ว่าจะเพิ่มได้อย่างไร ต้องทำงานร่วมกัน?

ผมก็ให้ความเห็นว่า การจะเพิ่มศรัทธาได้แท้จริง มั่นคง ยืนยาวนั้น ต้องล้างกิเลสอย่างเดียว ถ้าล้างกิเลสได้จะมีอินทรีย์พละเพิ่มขึ้น ศรัทธาเป็นหนึ่งในองค์ประกอบนั้น

การทำงานจะทำให้เพิ่มศรัทธาแก่กันได้ไหม?

เพิ่มได้ แล้วก็ลดได้เหมือนกัน คนมาใกล้กันจะเป็นได้ทั้งสองทิศทางคือเพิ่มศรัทธาต่อกันและเสื่อมศรัทธาต่อกัน ก็อยู่ที่ธาตุของคนนั้นจะเป็นธาตุของบัณฑิตหรือธาตุของคนพาล

ถ้าเป็นธาตุบัณฑิตก็จะศรัทธาคนได้ง่าย ส่วนถ้าเป็นธาตุคนพาลทำงานกับใครก็เสื่อมศรัทธาเขาไปหมด เพ่งโทษ นินทา ถือสา ฯลฯ

แต่การทำงานจะสร้างกุศล คือความดี คือกรรมดี ที่จะเป็นพลังส่งผลไปสู่สิ่งที่ดี ดั้งนั้น การทำงานร่วมกันก็เป็นองค์ประกอบที่จะสร้างศรัทธาให้กับผู้ที่มีจิตที่ดี

ส่วนคนพาล ให้ห่างไว้ ไม่ต้องไปทำงานด้วย ยิ่งทำด้วยยิ่งเสื่อม ยิ่งเชื่อมยิ่งต่ำ เหมือนทำนาบาป หว่านข้าวไปเท่าไหร่มีแต่หญ้าขึ้น ไม่ได้ผล เสียเวลา เสียทุน เสียแรงงาน ได้ทุกข์ โทษ ภัย เป็นผล มีความเสื่อมเป็นกำไร

ดังนั้นการจะเพิ่มศรัทธาหรือทำความเจริญ ก็ต้องขยันร่วมทำงานทำกุศลร่วมกับบัณฑิต คือผู้ที่พยายามปฏิบัติสู่ความพ้นทุกข์และได้ผลโดยลำดับ จะไม่เสื่อมศรัทธา เพราะเป็นนาบุญ หว่านน้อยได้น้อย หว่านมากได้มาก ตามความเพียร มีผลเป็นทิพย์ เป็นความผาสุก เบิกบาน แจ่มใส

อาจารย์หมอเขียว ดร.ใจเพชร กล้าจน

June 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 481 views 0

เมื่อใครถามถึงครูบาอาจารย์ทางธรรม ผมก็จะบอกว่าเป็นอาจารย์หมอเขียว เพราะเป็นคนแรกในโลกที่ผมยอมรับว่าเป็นอาจารย์ ยอมก้มหัวให้ด้วยใจจริง ยอมให้สอน ยอมให้ติ ยอมให้ด่า ใจมันยอมแพ้หมดรูปเลย เพราะรู้ว่าถ้าแพ้คนนี้แล้วจะเจริญ เอาชนะไปนรก

ก่อนเจออาจารย์หมอเขียว ก็เคยศึกษาธรรมะอยู่พอสมควร เจอคนมากมาย แต่ก็ไม่มีใครที่จะตอบคำถามเราได้ เรียกว่าไม่ตอบโจทย์ ไม่ทันเรา ไม่มีสิ่งที่เราต้องการให้ศึกษา แม้พยายามคลุกวงในบ้างแล้ว แต่ก็คว้าน้ำเหลว นึกว่าจะมีแก่นสารสาระ แต่โดยมากก็ต้องเสียเวลาไปฟรี ๆ

จนมาเจออาจารย์หมอเขียว ได้พบ ได้ฟัง ได้ถาม จึงรู้ว่าคนนี้แหละ เพราะท่านรู้จักความเป็นเรา และรู้จักสิ่งที่ดีกว่า เหมือนโดนดักหัวดักท้าย ไปไม่เป็น ไปได้ทางเดียว คือตามที่ท่านแนะนำ เพราะมันไม่เห็นว่าสิ่งที่ตัวเองคิดมันจะดีไปกว่าที่ท่านแนะนำ

ผมเองไม่ใช่สายศรัทธา ไม่ได้เลือกอาจารย์ด้วยศรัทธา แต่เลือกด้วยปัญญา แน่ล่ะ ครูบาอาจารย์ของผมก็ต้องมีปัญญามากกว่าผม ผมจะรู้เองว่าคนไหนทันผม คนไหนไม่ทันผม คนไหนล้าหลัง คนไหนปลอม พอมีปัญญามันก็จะดูคนออกง่าย แต่มันจะหาอาจารย์ยาก เพราะในโลกนี้คนที่มีปัญญาจริง ๆ มันจะน้อย แต่มันก็ดีอย่างคือมันจะไม่ไปเสียเวลาศรัทธาคนผิด

แต่สายปัญญาเวลาปัก จะแน่นกว่าสายศรัทธาหรือสายเจโต เพราะในปัญญานั้นจะมีทั้งปัญญาและศรัทธาผสมกันอยู่ในตัว และที่สำคัญคือได้ลองด้วยตนเองแล้วพบว่าได้ผลจริง แล้วจะวิ่งหนีไปไหนได้

เวลาที่ผมมีปัญหา มีคำถาม ก็ได้อาจารย์ช่วยไขความให้นี่แหละ ด้วยความที่เป็นผู้ชาย เลยเข้าถึงอาจารย์ได้ง่าย แต่นั่นก็ไม่ได้มีค่าเท่าความดีที่ได้เคยร่วมทำกันมา ผมสังเกตว่าถ้าผมมีปัญหาจริง ๆ จะไม่ค่อยมีอะไรกั้น แม้จะไม่ได้ถามก็จะได้คำตอบ

ครั้งหนึ่งเมื่อหลายปีก่อน เคยไปปรึกษาอาจารย์เกี่ยวกับการตัดสินใจไปรับคำเชิญไปบรรยายในงานมังสวิรัติ อาจารย์ได้ให้หลักพิจารณามาว่า เขาต้องการความรู้จากเราไหม และเรามีความรู้นั้นไหม ไม่มีการฟันธงใด ๆ แต่ผมก็สรุปเอาเองว่า ทั้งสองปัจจัยก็ไฟเขียว ที่เหลือคือสรุปว่าจะเอื้อหรือไม่เอื้อ ก็จบตรงที่ว่า การแบ่งปันมันก็ดีกับเราและผู้อื่น ก็ทำไป

ศึกษามาเรื่อย ๆ จนถึงปีที่ผ่านมา ก็ได้รับขุมทรัพย์กองใหญ่ ที่เรียกว่าหายากมาก ชนิดที่ว่าถ้าจะมุ่งศึกษาปัญญานี้ด้วยตัวเอง อาจจะใช้เวลาทั้งชีวิตเลยก็ได้ แต่ครั้งนี้ อาจารย์ก็รวบให้ในไม่กี่นาที

เรื่องก็ยังอยู่ในหมวดเดิม คือการประมาณในการช่วยคน ผมก็ติดปัญหาว่า เราก็ว่าเราเก่งแล้ว แต่ข้อผิดพลาดในการช่วยคนมันก็ยังเยอะอยู่

อาจารย์ก็ได้สอนว่า จริง ๆ มันไม่เกี่ยวกับเราเก่งที่เราไหร่ แต่เกี่ยวที่ว่าเขาศรัทธาเรารึเปล่า เราเก่งให้ตาย เขาไม่ศรัทธาเรา เราก็ช่วยเขาไม่ได้

อาจารย์ยังยกตัวอย่างย้ำว่า ขนาดพระอรหันต์ระดับเอตทัคคะ ยังสอนลูกศิษย์ข้ามสายกันไม่ได้เลย สอนไม่บรรลุ คนเขาจะเลือกคนที่เขาศรัทธาของเขาเอง

ฟังแล้วก็เข้าใจเลยว่า ปัญหาของเรา จริง ๆ มันไม่ใช่ปัญหาของเรา มันเป็นปัญหาของเขา แต่เราไม่รู้ เราก็เอามาแบกไว้ มันก็หนักใจอยู่แบบนั้น พอเราได้ฟังมันก็โล่งเลย เพราะเรื่องทิ้งภาระที่มันหนักนี่มันทิ้งไม่ยากอยู่แล้ว ไปโง่เอาภาระคนที่เขาไม่ได้ศรัทธาหรือศรัทธาไม่เต็ม มันก็เหนื่อยเปล่า

อาจารย์ยังนำเนื้อหามาย้ำสรุปในวันต่อมาว่า คนที่ศรัทธาจะไม่เพ่งโทษถือสาเอาความ ความไม่ถือสา ไม่คิดเล็กคิดน้อย ไม่หยุมหยิม คือตัววัด ส่วนคนที่ไม่ศรัทธาแม้เราจะคิดดี พูดดี ทำดี แค่ไหน เขาก็จะสามารถเพ่งโทษถือสาหาเรื่องได้

ปัจจุบันแม้ผมจะไม่ได้ไปอยู่ช่วยเหลือใกล้ชิดอาจารย์ เพราะฟ้าหรือวิบากกรรมไม่เอื้ออำนวย ผมก็ยังติดตามฟัง ติดตามเรียนรู้อยู่เป็นประจำ ไม่ห่างหาย เพราะเชื่อเสมอว่าการฟัง ทบทวน หรือแม้กระทั่งซักถามตามที่มีโอกาส นี่แหละ จะทำให้พ้นจากทุกข์ได้ไวที่สุด

พิมพ์ไว้เป็นเครื่องระลึกถึง อาจารย์หมอเขียว เนื่องในวันครบรอบวันเกิด อาจารย์ 11 มิถุนายน 2563 ครับ

เพ่งโทษฟังกัน

March 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 625 views 0

เวลาที่คนมีความโกรธ เกลียด ชิงชัง จะฟังกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเคยแต่เพ่งโทษ หาโทษ มองแต่โทษ ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่โทษจริงหรอก แต่ฟังไม่ครบบ้าง ไม่พยายามทำความเข้าใจบ้าง แล้วจิตพยาบาทมันก็ปรุงไปต่อจนคิดว่าเป็นโทษจริง ๆ

ในชีวิตผมก็เจอบ่อยจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว คนที่เขาเพ่งโทษนี่เขาจะอ่านหรือฟังไม่รู้เรื่องหรอก จับสาระไม่ได้ เราตอบไปแล้ว เขาก็จะอ่านไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ได้ บางทีจับประเด็นเพี้ยนอีก กลายเป็นฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดไปซะอีก

คือฟังแล้วมีการเพ่งโทษร่วมด้วย สภาวธรรมไม่ถึงด้วย ไม่เข้าใจ ก็จับไปกระเดียด ไปต่อเติมแต่ง ความความเข้าใจของตนเอง แล้วหลงว่าตนถูกซะด้วยนะนั่น

หรืออีกอาการที่เจอคืออาการหูดับ คือเขาจะเลือกฟังแต่สิ่งที่เขาชอบ แต่พอได้ฟังสิ่งที่ตรงข้ามกับที่เขาคิด ก็จะหูดับ ไม่ฟัง ไม่จำ ไม่รับรู้ ไม่แก้ไขความเห็นผิด

พวกเพ่งโทษฟังกันนี่ผมไม่เอาภาระหรอก ก็ให้เขาเป็นไปตามแบบของเขา คือเขาไม่สามารถรับการสื่อสารของเราได้ แม้ขั้นต่ำก็รับไม่ได้ ดีไม่ดีตีกลับ เป็นตีความผิดอีก กลายเป็นเข้าใจผิด เพ่งโทษ ถือสา ฯลฯ

อาจารย์สอนว่า “ให้ช่วยคนที่ศรัทธา” ถ้าจะให้ผมเอาภาระจริง ๆ ก็จะเอาเท่าที่เขาศรัทธานี่แหละ ส่วนพวกถือสานี่ไม่เอานะ ไม่เสียเวลาดีกว่า

ถ้ามีอาการในหมวดพยาบาท คือ โกรธ เกลียด อาฆาต เพ่งโทษ หรือหมวดอัตตา เช่น ถือดี อวดดี ยกตนข่ม สำคัญตนว่าเหนือกว่า ฯลฯ อะไรทำนองนี้ จะฟังกัน สื่อสารกันไม่รู้เรื่องหรอก

เพราะจิตมันจะไม่เอาประโยชน์ มันจะจ้องเอาแต่โทษ เพ่งแต่โทษ เป็นธาตุของคนพาล เป็นกำลังของคนพาล เราก็ห่าง ๆ ไว้ ชีวิตจะผาสุก

อยู่ใกล้คนขี้โกรธ ขี้หงุดหงุด ใครคิด/พูด/ทำ ไม่ถูกใจก็ขุ่นเคืองใจ ว่าแล้วก็ด่าบ้าง เหน็บบ้าง แขวะบ้าง ประชดประชันบ้าง ฯลฯ สารพัดลีลาอิตถีภาวะ(สภาพมีกิเลส) คนพวกนี้พระพุทธเจ้าว่าไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ เปรียบเหมือนบ่อขี้ มีอะไรตกใส่กลิ่นก็เหม็นฟุ้ง

การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า

February 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 870 views 1

การประมาณในการช่วยคนที่ศีลธรรมต่ำกว่า

ถ้าการไม่คบคนพาลคือมงคล และการคบคนเลวทำให้เลวลง การะช่วยเหลือคนเหล่านี้ จะทำได้หรือไม่? และจะทำอย่างไร?

หลังจากที่นำ “ชิคุจฉสูตร” เกี่ยวกับการคบคนมาพิมพ์อธิบายเนื้อหา จะพบว่าคนที่เขาผิดศีล เน่าใน และพวกคนขี้โกรธ ขี้งอน ขี้น้อยใจนั้น เป็นบุคคลที่ไม่น่าคบหา ไม่ควรแม้แต่การเข้าไปอยู่ใกล้ ๆ เพราะจะทำให้เกิดภัยในชีวิต ก็ได้มีคำถามเข้ามาว่า แล้วอย่างนี้เราจะช่วยคนอื่นได้ไหม คนที่เขามีศีลธรรมต่ำกว่า แต่เขาเดือดร้อน เรายังจะพอช่วยเหลือเกื้อกูลเขาได้หรือไม่?อย่างไร?

ถ้าเป็นเหตุการณ์ฉุกเฉินหรือเร่งด่วนถึงแก่ชีวิตและความเดือดร้อนอื่น ๆ อันนี้เราก็ควรจะต้องช่วยเหลือกันให้ผ่อนและคลายจากสถานการณ์หนัก ๆ กันไปก่อน ส่วนที่จะกล่าวถึงนี้เป็นการช่วยแบบทั่วไป ไม่รีบเร่ง ไม่อันตราย มีเวลาที่พอจะใช้สติปัญญาพิจารณาความควรหรือไม่ควรพอเหมาะ

ใน “เสวิสูตร” (พระไตรปิฎก เล่ม 20 ข้อ 465) พระพุทธเจ้าได้แบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน แต่ในพระสูตรนี้แบ่งด้วยหมวดของศีล สมาธิ ปัญญา ท่านกล่าวถึงคนที่มีศีลสมาธิปัญญาที่เสมอกันหรือสูงกว่านั้น ควรคบหา ควรเข้าไปนั่งใกล้ ไปทำกิจกรรมสร้างสรรค์ร่วมกัน เพื่อความไม่เสื่อมในเบื้องต้นและความเจริญในธรรมที่สูงยิ่ง ๆ ขึ้นเป็นกำไร

ส่วนผู้ที่ไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้นั้น ท่านหมายถึงคนที่ “เป็นคนเลวโดยศีล สมาธิ ปัญญา”  มีศีลเลว คือ มีหลักปฏิบัติที่พาทุกข์พาหลง มีสมาธิเลว คือ วนอยู่กับเรื่องพาทุกข์ ไม่พ้นทุกข์จริง มีปัญญาเลวคือ พาแต่ให้ตัวเองและผู้อื่นเป็นทุกข์ เป็นคนมีความเห็นผิดในการปฏิบัติ คือมีการศึกษาศีลสมาธิปัญญาที่ไม่พาพ้นทุกข์ ไม่ละหน่ายคลายจากกิเลส  ความเห็นและการปฏิบัติเหล่านั้น ไม่เป็นไปเพื่อการหมดสิ้นซึ่งกิเลส แล้วท่านก็ยังตรัสต่อไปอีกว่า “บุคคลเห็นปานนี้ ไม่ควรเสพ ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าไปนั่งใกล้ นอกจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน

ท่านก็เตือนเราไว้ว่าอย่าไปยุ่งกับเขา ปล่อยเขาไป แม้เขาจะรู้ผิด ๆ ปฏิบัติผิด ๆ แม้ศึกษาศีลสมาธิปัญญาแต่ก็ยังทำเลวอยู่ ก็ให้ห่างไว้ อย่าไปคบ แต่ก็มีข้อยกเว้นนะ

ท่านก็บอกว่า นอกเสียจากจะเอ็นดู อนุเคราะห์กัน คือแม้เขาจะเป็นคนไม่ดีเป็นคนหลงผิดอย่างนั้นก็ตาม เราก็ยังพอช่วยเขาได้เป็นกรณี ๆ ไป ซึ่งจะมีจุดสังเกตในพระสูตรนี้เช่นกัน ในส่วนของการเข้าหาผู้ที่เจริญกว่า จะมีประโยคที่ว่า “บุคคลที่จะต้องสักการะเคารพ แล้วจึงเสพ” หมายความว่าอย่างไร?

การที่เราทำความเคารพสักการะผู้ที่เจริญกว่า เป็นเหมือนการส่งสัญญาณว่า ให้เกียรติกัน ยกให้เหนือกว่า ยอมให้ทำหน้าที่สอน เป็นการบ่งบอกว่าพร้อมที่จะฟัง (แต่จะทำตามรึเปล่าก็อีกเรื่องหนึ่ง) เราก็ใช้หลักการนี้แหละ มาตรวจความพร้อมของคนที่เราจะช่วยเหลือ ว่าเขาพร้อมให้เราช่วยหรือไม่ ใช่หน้าที่เราหรือไม่ เราไม่ควรทำเกินหน้าที่ ไม่ควรทำสิ่งที่เขาไม่ยินดีให้ทำ ไม่ใช่ว่าเราไปทึกทักเอาเองนะว่าเขาอยากให้ช่วย เราทำเพื่อช่วยเขา แต่พอไปถามเขา เขาก็ไม่ยินดี จะไม่ไปยุ่งกับเขา เขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาไม่ได้ขอ จะกลายเป็นเบียดเบียนเขาเสียอีก

ในศีลข้อ ๒ อย่างละเอียด จะมีประโยคที่ว่า “รับแต่ของที่เขาให้ ต้องการแต่ของที่เขาให้” โอกาสในการช่วยเหลือก็เช่นกัน มันจะต้องเกิดเพราะเขาให้เรามา ไม่ใช่เราไปขยันสร้าง แต่การช่วยเหลือเกื้อกูลนั้น จะเริ่มต้นต่อเมื่อเขาส่งสัญญาณนั้นมาเท่านั้น คือเขาบอกเรานั่นแหละ ว่าให้เราช่วยเขาหน่อย ถ้าเป็นอย่างนี้ก็ทำได้ ไม่ผิดศีล ไม่บาป

ก็จะครบองค์ประกอบของเสวิสูตร คือคนต่ำว่าก็เคารพคนสูงกว่า คนสูงกว่าก็เอ็นดู อนุเคราะห์คนที่ต่ำกว่า ทำแบบนี้ก็ไม่ขัดในธรรม แต่ถ้าเขาเห็นว่าเราไม่ได้มีศีลสมาธิปัญญาที่เลิศกว่า เราก็อย่าไปทำเกินความจริงของเขาเลย เพราะจริงของเขาคือเราไม่ได้สูง ดีไม่ดีเขาเห็นเราต่ำกว่าเขาอีก ก็เขาเห็นแบบนั้น มันก็จริงของเขาแบบนั้น เราอย่าไปทำเก๊กท่าหรือทำทีว่าสูงกว่าเขา ก็เป็นแบบที่เราเป็นนั่นแหละ ถ้าเขาไม่ศรัทธา ก็ปล่อยเขาเป็นไปตามกรรมของเขาไป เว้นเสียแต่จะมีประโยชน์อื่น ๆ

ทางฝั่งเขาเราก็ต้องประมาณให้ดี ให้เขาบอก ให้เขาแจ้ง อย่าพยายามเดาเอา มันมักจะผิด บางทีมันจะเดาผิดเพราะเกิดจากตัณหาของเรา เกิดจากความยึดดีของเรา ความสำคัญตนว่าเก่งกล้าสามารถของเรา เราเลยไปทำเกินหน้าที่ กลายเป็นบาป เป็นผิดศีล แม้ผลจะสำเร็จ แต่ก็ขาดทุน เพราะตนผิดศีล แถมผลนั้นก็อยู่ไม่ได้นานหรอก เพราะเกิดจากความดื้อที่จะยัดเยียดสิ่งที่ดีให้เขา แต่เขาไม่ได้ยินดีจากใจเขา บางทีเขาก็รับเป็นมารยาท เพราะเกรงใจเรา เพราะสงสารเรา เพราะอยากตัดรำคาญจากเราก็มี

รู้เรา…

ทีนี้ถ้าฝั่งเขายื่นมือมาเต็มที่แล้ว ก็ต้องพิจารณาฝั่งเรา รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้งแม้จะไม่ชนะทุกครั้ง แต่ไม่พลาดไปทำบาป ไม่ทำเกินตัว ก็เรียกว่าไม่ขาดทุนกำไร

การพิจารณาความพร้อมของฝั่งเราก็เหมือนกับ Supply & demand มีความต้องการ มีสินค้า ลูกค้าก็ไม่รอเก้อ ทางฝั่งเราที่จะไปช่วยเหลือคนอื่นก็ต้องตรวจดูว่าเรามีความรู้ความสามารถที่จะช่วยเหลือเขาได้หรือไม่ มันพอมือเราหรือมันตึงมือ ก็ต้องหัดเรียนรู้ตัวเองว่าตนเองนั้นมีความจริง มีธรรมะอยู่ระดับไหน

ปัจจัยที่ส่งผลต่อความสำเร็จในการช่วยเขาได้นั้นคือเรามีสิ่งนั้นจริง ๆ  เช่น เขาต้องการใช้เงินฉุกเฉิน เรามีเงิน เราก็ให้เขายืมได้ หรือถ้าเขากำลังเจ็บป่วยหนัก เรามีความรู้จริง จึงจะสามารถช่วยบรรเทาอาการเขาได้ (ถ้ารู้ไม่จริง แก้ผิด มันจะไปทิศตรงข้ามกับความสบาย) ธรรมะก็เช่นกัน เราก็ต้องมีของจริงในจิตตัวเอง ถ้าเราไม่มี เราก็ไม่ควรโกหก ทำวางท่าว่ามี มันจะเป็นบาปซ้อนไป ถ้าเราไม่มี เราก็บอกว่าไม่มี แต่ก็เคยได้ยินได้ฟังครูบาอาจารย์ท่านนั้นท่านนี้ว่ามา พระพุทธเจ้าว่ามา ก็ลองพิจารณาดู เป็นการยืมพลังคนอื่นมาช่วย อันนี้ไม่ผิด เพราะเราไม่ได้โกหก และช่วยเหลือตามที่เป็นจริง

รบกันอีกสักครั้ง…

การลงมือไปช่วยเหลือคือของจริง ซึ่งผลอาจจะดีหรือร้ายก็ได้ การเข้าไปช่วยเหลือผู้ที่มีศีลธรรมต่ำกว่านั้น จะต้องวางใจไว้ในเบื้องต้นเลยว่า เขาจะไม่สามารถเข้าใจที่เราสื่อสารได้ทั้งหมด เพราะเขามีความรู้น้อยกว่าเรา ดังนั้นศรัทธาที่เขามีให้เราตามที่กล่าวไว้ก่อนหน้านี้ จะช่วยเป็นหลักประกันไม่ให้เกิดความผิดพลาดร้ายแรง ความศรัทธากันจะลดการเพ่งโทษถือสา แม้จะช่วยเหลือกันไม่สำเร็จ แต่ก็จะไม่ผิดใจกัน ตรงนี้เราจะต้องประมาณ ต้องสังเกตว่าเขาศรัทธาเราพอที่จะช่วยเหลือเขาไหม บางเรื่องเป็นเรื่องใหญ่ ต้องใช้กำลังศรัทธามาก เชื่อถือ เชื่อฟัง เชื่อมั่นกันมาก จึงจะสำเร็จ

พอไปช่วยเข้าจริง อะไรจะเกิดก็ได้ จะดีจะร้ายก็ได้ ถ้ามันดีก็คงจะไม่มีอะไร แต่ถ้ามันร้าย หรือมีร้ายในดี เขาก็อาจจะแสดงอาการไม่พอใจออกมา ตรงนี้แหละที่เราจะต้องประเมินไว้ก่อนล่วงหน้าเลยว่าเรารับความเสี่ยงที่จะไม่สำเร็จและจะควบคุมอาการตนเองไม่ให้โกรธเมื่อเขาทำไม่ดีกับเราได้ไหม เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย

ทีนี้บุคคลที่เขาเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาเนี่ย เขามีพิษทั้งนั้นแหละ แล้วแต่ว่าจะพิษแรงเท่าไหร่ก็ขึ้นอยู่กับปริมาณกิเลสของเขา แล้วที่นี้เราจะไปช่วยคนที่เขามีพิษ แล้วตัวเราเป็นแผล ไม่กันพิษ เราจะรอดไหมล่ะ? ก็เหมือนกับคนที่ยังควบคุมกายวาจาใจไม่ได้ ทะลึ่งไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ เขาก็หันมาโทษเรา แล้วเราดันไปโกรธเขาอีก หาว่าเขาไม่เห็นบุญคุณ อุตส่าห์มาช่วย ฯ อะไรทำนองนี้ ถ้าคิดว่าตนเองไม่ไหว มีโอกาสที่จะออกอาการทุจริตทำนองนี้ อย่ารีบไปช่วยใครเลย รีบช่วยตนเองให้พ้นทุกข์ดีกว่า เพราะไปช่วยคนอื่นแล้วจะกลายเป็นกอดคอพากันลงนรกเปล่า ๆ ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “อย่าพรากประโยชน์ตนเพื่อประโยชน์ผู้อื่นแม้มาก

คำตรัสนี้เอาไว้ป้องกันความเห็นผิดของเรา เอาไว้กันการจัดลำดับความสำคัญที่ผิดของเรา เราควรจะจัดความสำคัญให้กับการทำใจตนเองให้ผาสุก ให้พ้นทุกข์ก่อนที่จะไปช่วยคนอื่น แม้ประโยชน์คนอื่นจะมากแค่ไหนก็ตามที กิเลสจะหลอกให้เราไปทำนาคนอื่น ไม่ทำนาตัวเอง ไปทำเรื่องที่ไม่พ้นทุกข์ โดยเฉพาะเรื่องช่วยคนที่ต่ำกว่านี่เป็นเรื่องที่พาลำบากเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว

รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง…

ก็มีคนที่เขาสงสัยเหมือนกันว่าทำไมพระพุทธเจ้าถึงยอมให้พระเทวทัตเข้ามาบวชปนอยู่ในหมู่กลุ่ม ทำไมไม่คัดออก ไม่เอาออกไปให้ห่างไกล  ความจริงเรื่องเหล่านี้คืออจินไตย เป็นเรื่องที่คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออก ไม่ควรคิดเพราะเป็นพุทธวิสัย คือเกินปัญญาของคนที่ไม่ใช่พระพุทธเจ้าจะเข้าใจได้

แต่ถ้าเราลองเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าในหลาย ๆ สูตรมาศึกษาก็จะพอเห็นภาพได้ว่า มือท่านไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่เป็นอันตราย คือคนที่หมดกิเลสแล้วเนี่ย ท่านจะมีพลังในการช่วยเหลือคน 100% ชีวิตเป็นไปเพื่อผู้อื่น 100% อย่างพระพุทธเจ้าตรัสรู้ พบว่าตนเองรู้อยู่คนเดียวในโลก คนอื่นไม่รู้ นั่นหมายความว่าทุกคนในโลกล้วนเลวด้วยศีลสมาธิปัญญาสำหรับพระพุทธเจ้าหมด ตอนแรกท่านก็ว่าจะไม่สอน แต่ด้วยจิตเมตตาของท่านและเห็นว่ายังมีคนที่กิเลสน้อย (มีธุลีในดวงตาน้อย) คือสอนให้เห็นจริงได้ไม่ยาก สอนให้พ้นทุกข์ได้ไม่ยาก

จะเห็นได้ว่า แม้พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้สอนทุกคน ไม่ได้ช่วยทุกคนได้นะ ท่านก็สอนแต่ผู้ที่มีธุลีในดวงตาน้อยกับผู้ที่ศรัทธาท่าน เคารพและยินดีจะฟังท่านเท่านั้นแหละ พระเทวทัตที่แม้แต่ชั่วที่สุด เน่าในที่สุด ก็ยังรู้จักปฏิบัติไปตามธรรม คือสร้างภาพลักษณ์ที่พอจะเกาะมาตรฐานไว้ได้ แล้วยังรู้มารยาที่จะเคารพพระพุทธเจ้า และที่สำคัญ พระเทวทัตไม่เป็นภัยต่อพระพุทธเจ้าเลย เพราะแม้พระเทวทัตจะพยายามทำร้ายพระพุทธเจ้าและหมู่สงฆ์เท่าไหร่ พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่มีความโกรธ โลภ หรือหลงใด ๆ เกิดขึ้น นี่คือสภาพที่มือไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย คือถ้าเรารักษาใจให้ไม่พลาดได้แล้ว เราก็จะมีกำลังที่จะเอื้อคนได้หลายฐานะมากขึ้น ทั้งคนดี คนบ้า คนมุ่งร้าย ก็จะสามารถให้เขาอยู่ร่วมกันไปได้ เกาะกลุ่มกันทำดีตามฐานะไปได้

แล้วหมู่สงฆ์จะคัดกรองคนออกไปเอง มันเป็นธรรมชาติที่คนชั่วจะปะปนเข้าไปในหมู่คนดี แต่กระนั้นภาพรวมก็เป็นหมู่ที่มีศีล เป็นพระอริยะ พระเทวทัตจึงทำอะไรศาสนาของพระพุทธเจ้าไม่ได้เลย คือได้แต่ทำ แต่ไม่มีผลเสียกับส่วนรวม เสียแต่กับตัวเองและหมู่คนพาลที่ตนคบเท่านั้น

สรุปว่าคนที่หมดกิจตนอย่างพระพุทธเจ้า ท่านก็เหลือแต่งานช่วยคนอื่นนั่นแหละ ส่วนจะช่วยใครยังไง เพราะไรนั้น บางทีมันก็เกินจะเข้าใจ เพราะบางเรื่องเป็นเหตุที่สะสมมาหลายต่อหลายชาติ ใช่ว่าจะศึกษากันให้รู้ได้ง่าย ๆ ดังนั้นท่านจึงสรุปว่าพุทธวิสัยนั้นเป็นอจินไตย อย่าไปอยากรู้มันเลย รู้แค่มือที่ไม่มีแผล จับยาพิษก็ไม่อันตราย ก็พอแล้ว

ไม่รู้จริงแล้วฝืนรบ…

ถ้าเรารู้จักคนอื่น รู้จักตัวเอง ประมาณธรรมให้เหมาะ ช่วยคนให้เหมาะกับฐานะ จะไม่ผิด จะไม่เดือดร้อนมาก ถ้าเราไม่มีความสามารถจริง หลงไปช่วยแล้วบังเอิญผลออกมาดี แล้วเขาชมเรา เห็นว่าเราช่วยเขาสำเร็จ เราก็ขาดทุน เพราะจริง ๆ ความสำเร็จนั้นไม่เกิดจากความสามารถของเราจริง ๆ หรอก ยิ่งถ้าเราไม่มีความสามารถ ไปช่วยเขาแล้วไม่สำเร็จ จะพาลให้เพ่งโทษถือสา จองเวรจองกรรมกันไปอีก

แม้เราจะมีความสามารถจริง แต่ใจเขาไม่ได้ศรัทธา เขาไม่ได้ยินดีให้เราช่วย เราไปยัดเยียดดี ช่วยเขา แม้จะเหมือนว่าสำเร็จ แต่จริง ๆ จะไม่สำเร็จ เพราะความจริง หรือความศรัทธาของเขานั้นยังไม่เต็มรอบ เราไปเติมฝั่งเขาด้วยอัตตามานะของเรา ผลที่ได้มันก็จะเป็นภาพลวงเราไปแบบนั้น

พระพุทธเจ้าท่านตรัสไว้ว่า “เราเป็นเพียงผู้ชี้ทาง ส่วนการเดินทางเป็นเรื่องของท่าน” เราก็ทำหน้าที่เดียวคือบอกทางเมื่อเขามาถาม ไม่ใช่ว่าไปชี้ ไปพาเขาเดิน เป็นผู้บีบคั้นหักคอให้เห็นทางและจ้ำจี้จ้ำไชให้เดินไปตามทางนี้ซะทีเดี๋ยวนี้ ทำทั้งที่เขาไม่ต้องการนะ เอาภาระแบบนั้น บำเพ็ญแบบนั้น ทำความดีแบบนั้น มันไม่พาพ้นทุกข์ทั้งเขาและเรานั่นแหละ

สรุปตอนท้ายไว้ว่า จะช่วยคนต่ำกว่าก็ช่วยได้ เพียงแต่ควรจะประมาณตนดี ๆ เอาตนเป็นหลักเลย ให้ตนไม่พ้นทุกข์ ไม่ทำบาป ไม่เบียดเบียน ไม่โลภ ไม่โกรธ ไม่หลง อันนี้ถือว่าได้สำเร็จผลเป็นส่วนใหญ่แล้ว ถ้าเรามีใจที่บริสุทธิ์ จากความโลภ โกรธ หลง การช่วยเขาจะเกิดประสิทธิผลสูงสุด

ดังประโยคทองของสมณะโพธิรักษ์ว่า “ความบริสุทธิ์เท่านั้น ที่จะชนะทุกสิ่งทั้งโลก ในที่สุด” ดังนั้น มุ่งทำตนให้บริสุทธิ์จากกิเลสไว้ก่อน แล้ววันใดวันหนึ่งข้างหน้า ในชาตินี้หรือชาติหน้าเราก็จะช่วยเขาได้สำเร็จแน่นอน

29.2.2563

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์