Tag: ฟังธรรม

กว่าจะถึงธรรมทาน

November 27, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,366 views 0

กว่าจะถึงธรรมทาน

กว่าจะถึงธรรมทาน

…กว่าจะสร้าง กว่าจะให้ กว่าจะรับ กว่าจะเข้าใจ

            ขึ้นชื่อว่าธรรมทานนั้นก็รู้กันดีว่าเป็นทานที่ยิ่งใหญ่ มีกุศลมาก เป็นบุญมาก มีอานิสงส์มาก แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนัก กว่าจะสร้างธรรมขึ้นมาในตัวก็ว่ายากแล้ว การจะให้ธรรมนั้นยากยิ่งกว่าและการจะให้ไปจนถึงผลเจริญนั้นยากที่สุด

ก่อนจะให้ธรรมทานนั้นเราต้องมีธรรมนั้นในจิตวิญญาณก่อน เป็นธรรมะแท้ที่เกิดในจิตของเราเป็นของจริงของเรา เมื่อเรามีของจริงแล้วจึงจะสามารถให้ใครก็ได้

แต่การจะให้ธรรมทานนั้นไม่ใช่เรื่องง่ายนักจะเรียกว่ายากสุดยากเลยก็ว่าได้ ก่อนที่เราจะให้นั้นเราต้องบุกป่าฝ่าดงออกจากกองกิเลสของเราก่อน ทำลายดงอัตตาที่ผูกพันตัวเราออกเสียก่อนจึงจะสามารถส่งต่อธรรมทานได้อย่างสมบูรณ์ ถ้าไม่ทำลายกิเลสของเราก่อนมันก็จะเป็นธรรมที่ไม่ผ่องใสเป็นธรรมที่ปนกิเลสเหมือนกับการให้ของสดปนกับของเน่า และการจะให้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ว่าเราจะมีของดีแค่ไหน ดีที่สุดโลก ดีกว่าที่ใครต่อใครมี ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะยินดีรับธรรมนั้น การให้แก่ผู้ที่ไม่ยินดีรับย่อมไม่ใช่การให้แต่เป็นการยัดเยียดซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ดีเลย

ถึงแม้ว่าเขาจะเปิดใจรับธรรมนั้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธรรมนั้นจะทะลุถึงใจเขาทันที เราต้องฝ่าด่านกิเลสที่ผูกมัดเขาและกำแพงอัตตาอันสูงใหญ่ของเขา เหมือนกับว่าเขาเปิดประตูบ้านต้อนรับเราก็จริง แต่ทางเข้าบ้านนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม มีกำแพงปกป้องบ้านอยู่มากมายหลายชั้น

ไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะให้ธรรมนั้นแล้วเข้าไปถึงจิตใจจนมีผลเจริญทันที โดยส่วนมากเรามักจะต้องผ่าดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขาซึ่งเป็นสิ่งที่ยากลำบากและทำให้ผู้ให้และผู้รับหลายคนบาดเจ็บกันมานักต่อนักแล้ว เพราะการที่เขาบอกว่ายินดีฟังธรรมจากเราไม่ได้หมายความว่าเขาจะยินดีทั้งหมด เหมือนกับเราเข้าบ้านเขาไปแล้วไปรื้อดงกิเลสสุดหวงของเขา ไปทำลายกำแพงอัตตาสุดที่รักของเขา เขาก็อาจจะโกรธแล้วก็ไล่เราออกจากบ้านได้เหมือนกัน

การประมาณเป็นทักษะที่จำเป็นมาก ต้องรู้ว่าเราคือใคร เรากำลังให้อะไร ผู้รับเป็นใคร ผู้รับต้องการอะไร แค่ไหนที่เขาต้องการ เรื่องไหนที่ไม่ควรก้าวล่วง มีหลายครั้งที่เราอาจจะต้องเสี่ยง เมื่อมีการเสี่ยงนั่นหมายถึงผลอาจจะออกมาเป็นได้ทั้งดีและร้าย ธรรมะไม่เคยทำร้ายใคร แต่สิ่งที่ทำร้ายคือกิเลสของเราเอง รวมถึงดงกิเลสและกำแพงอัตตาของเขานั้นคือสิ่งกั้นธรรมะไว้

การที่เราจะให้ธรรมใดก็ตาม แม้ว่าจะเป็นธรรมสั้นหรือยาว ลึกตื้นหนาบาง เล็กน้อยหรือยิ่งใหญ่ โลกียะหรือโลกุตระ จำเป็นต้องให้ธรรมหรือแสดงธรรมให้นุ่มนวลที่สุด เหมือนกับนักย่องเบาที่ก้าวผ่านดงกิเลสกำแพงอัตตาเข้าไปทำลายกิเลสโดยที่ผู้ฟังไม่รู้ตัวว่ากำลังโดนสอนธรรม เหมือนการผ่าตัดด้วยหมอที่มีความแม่นยำด้วยมีดอันคบกริบผ่ากิเลสออกได้โดยไม่สร้างบาดแผลที่ไม่จำเป็น

ยังมีอีกหลายเทคนิคที่ต้องใช้ต่างกันไปสำหรับต่างคน ต่างจริต ต่างกรรม เช่น บางคนต้องพูดตรงๆแรงๆ บางคนต้องพูดอ้อมๆ บางคนต้องพูดกระทบชิ่ง บางคนพูดไม่ได้ต้องทำให้ดู บางคนพูดไม่ได้เลยทำอะไรก็ไม่ได้ต้องปล่อยวางรอเวลาอย่างเดียวก็มี

การให้นี่ก็ยากแล้วใช่ไหม แต่เราให้ธรรมไปก็เป็นสิ่งดีแล้วถ้าเราให้ไปด้วยใจที่ไม่ยึดติดในผลก็เป็นสิ่งที่ดีที่สุดที่เราจะทำได้แล้ว เพราะการจะให้ธรรมจนเกิดผลเจริญนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย ไม่ได้ดูง่ายดายเหมือนในประวัติศาสตร์สมัยพุทธกาลที่พระพุทธเจ้าท่านสอนเพียงไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมกันได้แล้ว

สมัยนั้นผู้ให้ธรรมทานก็เก่งที่สุดในโลกและเหล่าสาวกก็ยังเป็นผู้มีบุญบารมีที่ติดตามกันมาหลายภพหลายชาติ ย่อมจะฟังกันได้ง่าย พูดกันไม่กี่ประโยคก็เข้าใจ ต่างกับยุคเราที่อ่านธรรมพระพุทธเจ้าก็แล้ว ฟังธรรมหลวงปู่หลวงพ่อครูบาอาจารย์ก็แล้ว ปฏิบัติกันมาก็แล้ว ยังไม่บรรลุธรรมกันเสียที

เพราะธรรมทานไม่ใช่เรื่องง่ายแค่เปิดซีดีฟัง เปิดยูทูปฟัง หรืออ่านหนังสือธรรมะ การแสดงธรรมแบบสดๆ การถามตอบในเรื่องธรรมกันแบบสดๆจะมีพลังงานที่ต่างกันออกไป เป็นเรื่องสดใหม่ที่ถูกสังเคราะห์ขึ้นมาจากบุญของผู้พูดและบุญของผู้ฟัง เกิดเป็นธรรมนั้นๆ ธรรมที่ถูกปรุงแต่งให้เข้ากับเหตุการณ์ เข้ากับยุคสมัย เข้ากับคน เข้ากับจริต ตรงประเด็นของกิเลส ทำลายอัตตาได้

ยังมีเบื้องหลังอีกมากมายที่เรามองไม่เห็นเกี่ยวกับการบรรลุธรรมจากการฟังธรรม คนที่บุญบารมีถึงรอบที่ควรแค่ใบไม้หล่นก็บรรลุธรรมได้ ฟังธรรมไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ ถึงจะไม่ตั้งใจแต่ก็จะมีเหตุดลให้เข้าใจธรรมหรือให้ได้มาฟังธรรมนั่นก็เพราะเขามีบุญบารมีที่ควรจะได้รับธรรมนั้น เพราะเขาทำมาเขาจึงได้รับสิ่งนั้น

ส่วนคนที่บุญน้อยบารมีน้อย สะสมมาน้อย ทำมาน้อย แม้ว่าจะมีครูบาอาจารย์อยู่ตรงหน้า มีพระอริยะคอยสั่งสอน หรือมีพระพุทธเจ้าแสดงธรรมให้ได้ฟัง ก็จะไม่เข้าใจธรรม ไม่บรรลุธรรม ฟังเท่าไรก็ไม่เข้าใจ ยิ่งฟังยิ่งงง เพราะเขาสะสมบุญบารมีมาน้อย ปฏิบัติธรรมมาน้อย ฟังธรรมมาน้อย เขาจึงไม่มีโอกาสได้รับธรรมนั้น เพราะเขาไม่ได้ทำมาเขาจึงไม่มีสิทธิ์รับสิ่งนั้น

ดังนั้นการให้ธรรมเป็นทานจนถึงผล จึงเป็นเรื่องสุดวิสัย เป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดาผลได้ เพราะเราไม่รู้ว่าตอนนั้นเขาบุญเปิดหรือบาปเปิดอยู่ เราอาจจะต้องลองโยนหินถามทางไปก่อนถามแหย่ไปก่อน สังเกตว่าเขาอยากฟังเราไหม หรือแค่อยากจะบ่นระบายปัญหาในชีวิตเท่านั้นไม่ได้ต้องการคำปรึกษา หรือถ้าหากต้องการคำปรึกษาเราจะพูดเรื่องอะไร เขาสนใจเรื่องอะไร ลองเกริ่นหัวข้อไปก่อนเขาสนใจก็ค่อยพูด เขาไม่สนใจก็ผ่านไปก่อน คนที่วิบากบาปยังส่งผลอยู่ยัดให้ตายก็ยัดไม่เข้า พูดไปก็เปลืองเวลาแถมยังเป็นโทษทั้งสองฝ่ายอีก

ทั้งหมดนี้คือความยากของการเกิดธรรมทาน ตั้งแต่การสร้างธรรมะนั้นในตัว การให้ธรรมะนั้นออกไปกับคนอื่น และการแสดงธรรมให้แจ่มแจ้งจนเกิดผลเจริญทางจิตใจ เป็นสิ่งที่ยากสุดยาก แต่ผลที่ได้นั้นก็คุ้มสุดคุ้มเพราะสามารถให้ธรรมนั้นไปเจริญในจิตใจของผู้อื่นจนเขาใช้ธรรมนั้นเป็นเครื่องมือดับทุกข์ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

27.11.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

เพ่งโทษฟังธรรม

October 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,957 views 0

เพ่งโทษฟังธรรม

เพ่งโทษฟังธรรม

การที่คนเราจะสามารถเรียนรู้สิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นั้นจำเป็นต้องมีการเปิดใจรับฟัง มีการนำมาพิจารณาถึงเนื้อหานั้นๆ ไม่ว่าสิ่งที่ได้ฟัง ได้เรียนรู้มานั้นจะเป็นความรู้ทางโลกหรือทางธรรมก็ตาม

เมื่อคนเรานั้นได้เรียนรู้โลกจนได้ความรู้มาหนึ่งชุด ก็มักจะยึดมั่นถือมั่นความรู้ชุดนั้นเป็นอัตตา เช่นไปศึกษากับครูบาอาจารย์ท่านใดก็จะยึดคำสอนนั้นเป็นหลักยึดทันที เมื่อได้ฟังธรรมใหม่ๆก็จะนำมาตรวจเทียบกับความรู้เดิมของตน เมื่อสิ่งใดไม่เหมือนสิ่งที่ตนเคยเรียนรู้มาก็มักจะมองว่าสิ่งนั้น “ผิด” โดยที่ตนเองก็ไม่ได้ปฏิบัติจนเข้าใจในคำสอนนั้น สักแต่ว่าฟังมาแล้วเอามายึด เอามาถือ เอามาพูดต่อ เอามาประดับเป็นยศของตัวเองว่าเป็นผู้รู้ธรรมมาก ใช้ความรู้ที่ฟังมาคอยเพ่งโทษเอาผิดผู้อื่น โดยที่ตัวเองก็ไม่ได้มีการปฏิบัติหรือเข้าใจธรรมใดๆด้วยตนเองเลย

ทำให้คนที่ติดยึดเหล่านั้นไม่มีโอกาสที่จะได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง แม้จะนั่งฟังอยู่แต่ก็เพ่งโทษฟังธรรม แล้วก็จะไม่เข้าใจสาระแท้ในสิ่งที่ผู้พูดได้สื่อสาร พอไม่ฟังก็ไม่สามารถบรรเทาความสงสัยได้กลายเป็นยิ่งฟังก็ยิ่งสงสัย เพราะไม่ได้ตั้งใจฟัง เมื่อเป็นดังนั้นจึงไม่มีโอกาสทำความเห็นให้ถูกต้องตามที่ความจำเป็น เช่นเขาพูดอีกอย่าง เราฟังเป็นอีกอย่างกลายเป็นคนจับประเด็นไม่เป็น สุดท้ายจิตของผู้เพ่งโทษฟังธรรมนั้นก็จะขุ่นมัว ไม่เลื่อมใส ไม่ศรัทธา มีจิตคอยคิดเพ่งโทษ และไปปรามาสในธรรมได้ในที่สุด ถ้าธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ไม่แท้ เป็นธรรมที่ปนเปื้อนด้วยกิเลสก็ยังพอจะเรียกว่าเสมอตัวได้บ้าง แต่หากธรรมนั้นเป็นธรรมแท้ เป็นธรรมที่พาลดกิเลส ธรรมลดความยึดมั่นถือมั่น การเพ่งโทษฟังธรรมครั้งนี้จะกลายเป็นผลเสียอย่างมากต่อความสุขความเจริญเลยทีเดียว

ในบทของกำลัง๘ พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “บัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลังและคนพาลมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง” จึงจะเห็นได้ว่าผู้ที่จะก้าวเป็นบัณฑิตจึงไม่เพ่งโทษใครๆเลย แม้ว่าจะได้ยินธรรมที่แสดงอยู่นั้นไม่ตรงตามหลักแห่งการพ้นทุกข์ ก็จะไม่ไปเพ่งโทษใดๆทั้งยังมีจิตมีเมตตา หากบอกสิ่งที่ถูกได้ก็บอก ถ้าบอกไม่ได้ก็ปล่อยวางได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นการจะบอกสิ่งที่ถูกจะต้องเป็นสิ่งที่ถูกจริง หากผู้ใดหลงตนว่าเป็นบัณฑิตหยิบเอาธรรมที่ได้ยินได้ฟังมากล่าวอ้างโดยไม่มีความรู้ในตนเอง ก็อาจจะกลายเป็นภัยต่อตัวเองได้เช่นกัน

ส่วนคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษผู้อื่นเป็นกำลัง กำลังนี้เองที่จะพาให้คนพาลคอยจ้องจับผิดผู้อื่น แม้ว่าจะอยู่ในคราบของนักบวช นักบุญ ผู้ถือศีล บุคคลที่มีชื่อเสียงน่าเคารพนับถือ แต่หากยังมีการเพ่งโทษผู้อื่นอยู่เสมอก็เรียกได้ว่าเป็นคนพาล พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ในมงคล ๓๘ เป็นข้อแรกว่าให้ห่างไกลคนพาลนี้เสีย เพราะคนพาลนั้นมักจะมีการเพ่งโทษว่าร้ายผู้อื่น นำพาไปสู่เรื่องเสื่อมทรามอยู่เสมอ ถ้าเป็นผู้ปฏิบัติธรรมก็มักจะคอยชี้นำให้คนอื่นเพ่งโทษคนที่คิดเห็นไม่ตรงกับที่ตนเข้าใจ ทำให้เกิดความแตกแยกในหมู่คนที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ มักจะทำให้ผู้ปฏิบัติธรรมแตกแยกกัน เสื่อมศรัทธาต่อกัน ซึ่งเป็นกรรมหนัก คนที่เชื่อในคนพาลก็จะพากันลงนรกด้วยกันกับคนพาล ดังนั้นท่านจึงว่าให้ห่างไกลคนพาลเข้าไว้

ผู้ที่คอยเพ่งโทษเวลาฟังผู้อื่น ก็จะฟังผู้อื่นไม่เข้าใจ ฟังเด็กพูดก็ไม่เข้าใจเด็ก ฟังผู้ใหญ่พูดก็ไม่เข้าใจผู้ใหญ่ ฟังคนแก่พูดก็ไม่เข้าใจคนแก่ ฟังพระพูดก็ไม่เข้าใจพระ ถึงแม้จะดูเหมือนเข้าใจ แต่ก็จะไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไปอีกอย่างหนึ่งได้

สัมมาทิฏฐิ

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับปัจจัยแห่งการเกิดสัมมาทิฏฐิไว้สองประการ สัมมาทิฏฐินั้นคือความเห็นความเข้าใจที่ถูกต้องถูกตรงสู่การพ้นทุกข์ แล้วสิ่งใดคือสัมมาทิฏฐิ เชื่ออย่างใดจึงจะเป็นความเชื่อที่ถูกต้อง เราเพียงแค่รู้จักกับคำนี้เพียงแค่ว่า “ความเห็นชอบ” แต่สุดท้ายก็ไม่รู้ว่าเห็นชอบในอะไร ได้แต่เดาไปเอง เข้าใจไปเองตามปัญญาที่มี โดยที่ส่วนใหญ่ไม่ได้ค้นหาความจริงเกี่ยวกับสัมมาทิฏฐิ

ความเห็นที่ถูกต้องนั้นต้องพาให้ลดกิเลส พาให้ไม่สะสม รู้ว่าการลดกิเลสมีผลเจริญ เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อว่ากรรมยุติธรรมเสมอ รู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริง และรู้ว่าอริยสาวกนั้นก็มีอยู่จริง รู้ว่าโลกียะมีและโลกุตระก็มี คือรู้ว่าเรายังมีกิเลสอยู่และรู้ว่าความสุขกว่าการมีกิเลสก็มีอยู่ รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงหรือการเกิดใหม่ทางวิญญาณมีจริง คือคนที่เลวก็สามารถกลับตัวเป็นคนดีได้ และเชื่อว่าผู้ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบที่สอนธรรมะอย่างถูกตรงในโลกนี้ยังมีอยู่ รู้ว่าเป็นใครและรู้ด้วยว่าหากปฏิบัติตามท่านเหล่านั้นก็จะสามารถพ้นทุกข์ได้จริง

ปัจจัยแห่งสัมมาทิฏฐิ

การจะนำตัวเราไปสู่ความเห็นความเข้าใจที่ถูกตรงนั้นมีเหตุปัจจัยอยู่ด้วยกันสองประการ นั่นคือ ๑.ปรโตโฆสะ ๒.โยนิโสมนสิการ

ปรโตโฆสะ

คือการตั้งใจรับฟัง เปิดใจฟังสิ่งที่แตกต่างจากที่ตนคิดโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่นเข้าไปปน ฟังอย่างลึกซึ้งให้เข้าใจว่าผู้สื่อสารนั้นกำลังตั้งใจสื่อสารอะไร ผู้ที่ไม่มีปรโตโฆสะก็มักจะฟังไปด้วยคิดแย้งไปด้วย เช่นพอผู้พูดกล่าวมาหนึ่งประโยค เขาก็จะมีความคิดเห็นแย้งต่อประโยคนั้นทันที คือไม่เชื่อ อันเกิดจากความไม่รู้ ยึดมั่นถือมั่น หรือลังเลสงสัย ถ้าค้านแย้งหนักๆก็จะกลายเป็นการเพ่งโทษฟังธรรม ฟังไปก็จับผิดไป คิดแย้งไป พูดไม่เหมือนที่ฉันเรียนมา พูดไม่เหมือนที่ฉันเข้าใจ มันต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ ปรโตโฆสะคือใช้ความไม่มีอัตตา ฟังด้วยอนัตตาคือไม่ถือตัวถือตน

กลายเป็นผู้ฟังที่ไม่ดีในที่สุด นอกจากจะฟังไม่รู้เรื่องแล้วยังทำให้เกิดวิบากกรรมอีกด้วย ผู้ฟังที่ดีมีหน้าที่แค่ฟัง ฟังอย่างตั้งใจ ไม่รีบคิดตีความใดๆ ก่อนเวลาอันควร ยอมให้ความรู้อื่นที่เราไม่เข้าใจ เข้ามาเพิ่มในความรู้เดิมของเราเสียก่อน ยินดีที่จะรับฟังเสียก่อนค่อยตัดสินใจ

โยนิโสมนสิการ

เมื่อเปิดใจรับฟังแล้ว เราก็จะนำข้อความ เรื่องเล่า ความรู้เหล่านั้นพิจารณาไปถึงแก่นสารสาระของธรรมที่สอดแทรกอยู่ในนั้นๆ หรือที่เรียกกันว่าการทำใจในใจให้แยบคาย คือเมื่อฟังแล้วก็มีการพิจารณาสิ่งเหล่านั้นตามไปด้วย ไม่ใช่สักแต่ว่าฟังเข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ฟังจบแล้วก็ลืมไป แต่การมีโยนิโสมนสิการจะทำให้สามารถเข้าใจในสิ่งที่ฟังได้มากขึ้น สิ่งที่ฟังนั้นเข้าไปในใจ ไปในความรู้สึก ไม่ใช่แค่ในความคิด เมื่อพิจารณาลงสู่ใจจะได้ความรู้สึกอีกแบบหนึ่งจะ “เข้าใจ” ลึกซึ้งขึ้น

….เมื่อเรามีสองปัจจัยนี้แล้ว ไม่ว่าเราจะฟังหรือเรียนรู้เรื่องทางโลกหรือทางธรรม การฟังหรือเรียนรู้นั้นๆก็จะเกิดประสิทธิภาพที่สูงที่สุด จะฟังเรื่องทางโลกก็สามารถเข้าใจแก่นสารสาระของสิ่งนั้น จะฟังเรื่องทางธรรมก็สามารถเข้าใจธรรมนั้นๆได้โดยลำดับตามฐานของตน

ความเสื่อมของชาวพุทธ

การเพ่งโทษฟังธรรมนั้นเป็นหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ ความเสื่อมนี้เกิดในคนที่เสื่อม ไม่ใช่ศาสนาเสื่อม เพราะเขาเหล่านั้น ขาดการเยี่ยมเยียนครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ ถึงแม้จะไปเยี่ยมก็กลับละเลยการฟังธรรมสนใจเอาแต่กุศลน้อยๆเช่นทำทาน บริจาค กวาดลานวัด ฯลฯ พอไม่ได้ฟังธรรมก็เลยไม่ได้ศึกษาและปฏิบัติในอธิศีล ไม่เรียนรู้เรื่องศีล ไม่รู้วิธีทำให้ตัวเองเจริญในศีลนั้น เพราะเมื่อไม่มีผู้รู้สอนก็ไม่สามารถรู้และปฏิบัติด้วยตนเองได้ พอไม่ศึกษาและปฏิบัติอธิศีลก็เริ่มจะไม่เข้าใจคุณค่าของศีล เริ่มเห็นช้างเป็นมด ไม่ให้ค่ากับคนผู้มีศีล มองเห็นทุกคนเทียบเท่ากันหมด ไม่ศรัทธาในครูบาอาจารย์ไม่ว่าจะแก่หรือเด็ก จะเห็นว่าเท่ากันหมด

พระพุทธเจ้าได้ตรัสว่า “ผู้มีปัญญาย่อมมีศีล ผู้มีศีลย่อมมีปัญญา” คนมีปัญญาจึงถือศีล คนไม่มีปัญญาก็ไม่ถือศีล คนมีปัญญาจึงเคารพในผู้มีศีล ส่วนคนไม่มีปัญญาจึงไม่สนใจผู้มีศีล ในชาดกตอนหนึ่งท่านว่า หากกลุ่มชนใดไม่สามารถแยกแยะคนดีกับคนชั่วได้ เห็นว่าคนมีศีลกับคนไม่มีศีลเสมอกัน ท่านให้พรากจากสังคมหรือกลุ่มชนนั้นเสีย จะเห็นได้ว่าท่านให้พรากจากคนผู้ไม่มีปัญญา

เมื่อไม่มีปัญญาแยกแยะคนผู้มีศีลกับคนทั่วไป สุดท้ายก็จะกลายเป็นคนพาลในที่สุดเพราะไม่มีความเคารพในผู้ปฏิบัติดีทั้งผู้ปฏิบัติมาก่อนและปฏิบัติใหม่ เมื่อได้ฟังธรรมที่ไม่เคยได้ยินได้ฟังก็มักจะมีจิตตำหนิติเตียน “เพ่งโทษฟังธรรม” หากธรรมที่แสดงอยู่นั้นเป็นธรรมที่พาลดกิเลสและพาพ้นทุกข์ ผู้เพ่งโทษฟังธรรมก็จะเดินย้อนไปอีกทางคือไปทางนรก

เมื่อไม่เชื่อตามธรรมที่ผู้ปฏิบัติดีสอนสั่ง คอยเพ่งโทษฟังธรรม ก็จะไม่เข้าใจธรรม แม้จะทำบุญทำทานก็จะกลายเป็นการแสวงบุญนอกขอบเขตพุทธศาสนา คือไปทำบุญตามประเพณีที่สังคมเข้าใจ แต่ไม่เกิดบุญกุศลตามหลักของศาสนาพุทธ และจะมีความเข้าใจในเรื่องบุญกุศลที่ผิดเพี้ยน

เมื่อเข้าใจการทำบุญที่ผิดไปจากพุทธก็จะเริ่มไปศรัทธาลัทธิที่อ้างว่าตนเองเป็นพุทธแต่ปฏิบัติไม่ถูกตามหลักพุทธ เช่นการเอาสวรรค์วิมานมาเป็นเครื่องล่อ การเอาลาภยศสรรเสริญมาเป็นเครื่องลวง การนำหลักปฏิบัติของศาสนาอื่นมาปนเช่น พราหมณ์ ฤาษี หรือลัทธิอื่นนอกพุทธ ไปเคารพบูชาเทพเจ้า เคารพบูชาคนผู้อวดอ้างเป็นเจ้าลัทธิ สุดท้ายจะเลิกนับถือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แล้วก็จะหลุดจากพุทธไปศาสนาอื่นเลย

นี่เองคือกระบวนการแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ เป็นชาวพุทธเองที่เสื่อมไปจากธรรมที่แท้ ไม่ใช่ธรรมนั้นเสื่อม แต่เป็นคนที่เสื่อมไปจากธรรม ธรรมะคือสิ่งที่มีอยู่เช่นนั้น เป็นอยู่แบบนั้นไม่มีวันเสื่อมสลาย หากแต่คนผู้มีความเสื่อมศรัทธาในการลดกิเลส จะค่อยๆพาตัวเองเสพกิเลสและเสื่อมจากธรรมไปเอง นี้เองคือเหตุแห่งความเสื่อมของชาวพุทธ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ ( ความเสื่อมของชาวพุทธ๗ )

– – – – – – – – – – – – – – –

11.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,569 views 0

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ถาม: ผมสงสัยว่าคนที่ทำดีมาตลอดชีวิตแต่มาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต วิญญาณพวกเค้าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ เพราะเค้าไม่มีโอกาสคิดเรื่องดีๆที่เค้าทำมาทั้งชีวิต

ตอบ: การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุนั้น ภาพที่เราเห็นอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในความเป็นจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปี อยากจะตายไปให้พ้นๆก็ไม่ตายสักที กับอีกคนเดินๆอยู่ก็มีรถพุ่งเข้ามาชนจากด้านหลัง ตายไม่รู้ตัว ถามว่าสองคนนี้ คนไหนทุกข์มากกว่ากัน? คนไหนที่เกิดอกุศลจิตมากกว่ากัน? คนไหนที่มีโอกาสทำบาปทางกาย วาจา ใจ มากกว่ากัน?

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตายดีหรือตายร้าย แต่อยู่ที่ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะตายช้าตายเร็ว เราก็ต้องตายอยู่ดี จะตายดีตายร้ายเราเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์นี่เราเลือกที่จะทำได้

ทำไมทำดีแล้วตายไม่ดี…

บางครั้งเราอาจจะสงสัย ว่าทำไมคนที่ทำดีต้องตายในสภาพที่ไม่ดี ทำไมตายไว ทำไมต้องพบทุกข์ทรมานมากแม้ว่าเขาจะทำดีมาทั้งชีวิต

เหตุของความเจ็บความตายเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำดีของเขา แต่มาจากกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเมื่อสมัยที่เขายังไม่ได้ทำดี อาจจะในชาตินี้หรือชาติก่อนก็ได้ เมื่อเขาทำดีเข้ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับกรรมชั่วที่เขาได้ทำมาได้ไวขึ้น เพราะกรรมชั่วจะมาให้เราได้ชดใช้และเพื่อสะท้อนให้คนดีได้เข้าใจว่าตนเองนั้นเคยทำบาปกรรมอะไรลงไป จะได้เข็ดขยาดและเลิกทำบาปนั้นๆเขาใช้กรรมชั่วไปแล้วกรรมนั้นก็หมดไป เกิดใหม่ก็ได้ร่างที่ดีกว่าเดิม ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม

ในกรณีคล้ายๆกัน คนชั่วเองก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุก็ได้ นั่นก็เพราะกรรมชั่วมันมีมากพอที่จะส่งผล หรือไม่ก็อาจจะทำบาปมากเกินไป จนกระทั่งเกินกว่าพลังของบุญบารมีที่เขาเคยทำจะปกป้องเขาไว้แล้วก็ได้ แต่เราก็มักจะเห็นคนชั่วหลายคนยังมีชีวิตเสพสุขปลอดภัย นั่นก็เกิดจากความดีที่เขาทำมาเมื่อก่อนหรืออาจจะเป็นชาติก่อนภพก่อนก็ได้ เมื่อเขายังได้รับกุศลที่เขาทำมายังไม่หมด ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องตายแต่เมื่อกุศลที่เขาทำมานั้นหมดลงเมื่อไหร่ ชั่วที่เขาทำในชาติก่อนและชาตินี้ก็จะส่งผล ไม่ว่าเขาจะต้องเกิดอีกกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน เขาก็ต้องได้รับทุกข์จากชั่วที่เขาเคยทำมาจนกว่าจะหมด

ความตายนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพียงแต่เป็นการดับเพื่อเกิดใหม่เท่านั้น เพื่อทิ้งร่างเก่าที่มีวิบากร้าย เช่น ป่วย มีโรคมาก หรือกระทั่งหมดบุญ หมดกุศลที่ทำมา ก็ต้องทิ้งร่างนั้นไป เช่น บางคนมีชีวิตที่ดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่ก็ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุ นั่นเพราะเขาได้รับดีที่เขาทำมามากพอแล้ว ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้ทำดีใหม่ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยการกินบุญเก่า พอกรรมดีเก่าที่เคยทำมาหมดลง ความชั่วที่เคยทำมาก็ส่งผลนั่นเอง

จิตสุดท้าย ก่อนตาย…

เรามักจะเข้าใจว่า ควรให้ความสำคัญกับจิตสุดท้ายก่อนตาย แต่จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกขณะจิตที่เรายังมีลมหายใจอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีโอกาสอยู่ในร่างนี้ได้ 100 วัน ตั้งแต่เกิดถึงวันที่ 99 เราหยุดชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดีมาตลอด แต่วันสุดท้าย คือวันที่ 100 เรากลับมีความคิดวิตก กลัว ยึดมั่นถือมั่น ฟุ้งซ่าน โวยวาย ทุกข์ใจ ถ้าจะถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ดี แต่กรรมไม่ได้มองแค่เรื่องจิตสุดท้าย แต่หมายถึงทุกๆการกระทำใน 100 วันนั้น หากแม้เราเผลอพลาดทำจิตให้หม่นหมองในวันสุดท้ายก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราทำดีมาตั้ง 99 วัน เราแค่ได้รับกรรมชั่ว 1 วัน แต่เราจะได้รับกรรมดี 99 วันเชียวนะ

ในกรณีคนที่ตายโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 100 เมื่อเขาหยุดชั่ว ทำดี มาตลอด และก่อนตายก็ไม่ได้มีจิตวิตก มีทุกข์ มีความกังวลใดๆ เมื่อไม่มีทุกข์จากกิเลสก็ไม่เป็นบาป ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะได้รับบาปนั้น ถึงจะตายในสภาพที่ดูไม่ดี แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ไปเกิดใหม่ในร่าง สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไปเกิดในช่วงกลียุค แต่ข้ามไปเกิดยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเลย

ดังนั้น การไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ดีก่อนตายในคนที่ประสบอุบัติเหตุตายกะทันหัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยเมื่อเทียบกับกรรมที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต และก่อนที่เขาจะตายนั้น เขาก็อาจจะมีจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว มีความสุข มีสติ มีสมาธิดีแล้ว นั่นคือเขากำลังอยู่ในปัจจุบันที่ดีที่สุดแล้ว

สู่สุคติ สู่ภพภูมิใหม่ที่จะไป..

ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ใครจะไปที่ไหน ทำอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา เช่นในชาตินี้ เราเห็นคุณค่าของการทำบุญทำกุศล เราก็มักจะเข้าวัด ทำทาน ฟังธรรม พบปะครูบาอาจารย์ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีกรรมที่จะต้องเข้าใจคุณค่าของการทำบุญทำกุศลซึ่งเราได้ทำสะสมมาหลายชาติแล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณค่าของการทำบุญทำกุศลในชาตินี้ได้ง่าย นี่คือ เราเป็นไปตามกรรมที่เราเคยทำมา แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินไปตามกรรมที่เราทำมา

เมื่อเราต้องเสียชีวิตนี้ ทิ้งร่างกายนี้ไป กรรมก็จะพาเราไปที่ที่เราเคยทำมา ใครทำอะไรมาก็จะไปอยู่ที่นั่น คนที่ทำบุญทำกุศลก็จะได้เกิดในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบุญทำกุศล มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เขาเข้าไปสู่การทำบุญทำกุศล เพราะนั่นคือกรรมของเขา

ส่วนคนที่มัวเมาในอบายมุข ทำบาป โลภ เบียดเบียนคนอื่น เขาก็ต้องไปเกิดในที่ที่จะเอื้อให้เขาได้รับกรรมที่เขาทำมา ยกตัวอย่างเช่น คนที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายอยู่ในสิ่งลวงต่างๆ เขาก็ต้องได้รับกรรมที่เขาทำมาคือมีสังคม คนรอบข้างที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายในอบายมุข เพื่อให้เขาได้รับทุกข์จากกรรมนั้นๆที่เขาทำมา วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่เขาทุกข์เกินทน ดังคำตรัสที่ว่า “ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม ” เขาจะเข้าใจถึงทุกข์โทษภัยของการทำบาปและอกุศลกรรม จึงเริ่มพยายามที่จะสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ พยายามจะพาตัวเองหลุดจากกรรมชั่วเหล่านั้น

เกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร…

เมื่อทำกรรมดีไปมากๆ ก็จะสะสมความดี กลายเป็นคนดีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกชาติที่เกิดใหม่ เมื่อเป็นคนดีที่เต็มไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีกิเลสพอกพูนหนาขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โลกธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเบียน เริ่มแย่งชิงอำนาจ เริ่มสะสม จนเริ่มทำชั่วอีกครั้ง เพาะเชื้อชั่วอีกครั้ง จนความชั่วกลายเป็นกรรมที่ฝังแน่น จนกระทั่งชั่วสุดชั่ว ทีนี้วิบากกรรมก็จะดลบัลดาลเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทนทุกข์ไม่ไหว พอเห็นทุกข์ก็เห็นธรรม กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง พอเป็นคนดี มีทรัพย์มีอำนาจแต่ล้างกิเลสไม่เป็น วันหนึ่งก็จะวนกลับไปชั่วอีกครั้ง พอชั่วมากก็เวียนกลับมาเป็นคนดี วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่แบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด คนผู้มีบุญบารมีเหล่านั้นจึงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่าน พากเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม รู้แจ้งเหตุปัจจัยของทุกสิ่ง นำมาซึ่งการไม่ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดเหมือนคนทั่วไป เป็นผู้มีอิสระ เป็นผู้ไกลจากกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

12.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์