Tag: วิบาก

ไม่ลดกิเลส จะไม่ทันพวกทำดีเอาหน้า พวกสร้างภาพ

June 11, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 442 views 0

วันนี้อาจารย์หมอเขียวพูดถึง คนที่ผิดศีลจะมีวิบาก(ผล) ให้ได้ข้อมูลผิด เช่น เห็นพวกทำดีเอาหน้าแล้วดูไม่ออก คือไม่เห็นความชั่วที่ซุกแอบซ่อนในการทำดีของเขา

ผมก็เคยพลาดมา แต่เราตั้งใจปฏิบัติศีล จึงได้เห็นข้อมูลจริง ว่าเขาผิดศีล ไม่ได้ขยันอย่างจริงใจ คือทำดีสร้างภาพ หวังลาภสักการะ ฯลฯ ซุกซ่อนกิเลสภายใน

ทีนี้ใช่ว่าเราออกมาได้ แล้วเราก็จะเฉย ๆ เราก็ช่วยคนอื่นโดยการเผยแพร่ข้อมูล ลักษณะของคนพาล และรูปรอยของคนผิดศีลนั่นแหละ ก็คงจะไม่ได้ประจานกันตรง ๆ เพราะชนกับคนพาลจะมีแต่เสีย แล้วเจตนาเราไม่ได้หวังจะช่วยคนพาล แต่จะช่วยคนดีที่ยังไม่รู้ทันคนชั่ว

เชื่อไหมว่า คนที่ปิดบังหรือไม่เปิดเผยความจริง ส่วนใหญ่ที่เข้ามาในชีวิต ไม่นานเขาจะหลุดความจริงออกมา ผมเคยตั้งจิตว่าขอให้ได้รู้ว่าใครเป็นใคร เท่านั้นแหละ พาลเป็นพาล บัณฑิตเป็นบัณฑิตเลย

พาลคือไม่ได้จริงอย่างที่พูด พูดอย่างทำอีกอย่าง พูดเกินความจริงที่ตนมี เช่นบรรลุขั้นนั้นขั้นนี้ แต่ชีวิตจริงยังไปจีบหญิงอยู่เลย แบบนี้เรียกพวกเน่าใน ทุศีล สร้างภาพว่าสวยงาม แต่ข้างในไม่ได้มีจริง บางทีเขาก็พูดเอาโก้ ๆ หลอกคน เพราะหลงโลกธรรม

ธรรมะนั้นเป็นของสูง คือมีลาภสักการะมาก มีสรรเสริญมาก คนชั่วเขาก็จะเข้ามาเอาประโยชน์ตรงนี้เหมือนกัน คือเข้ามาแล้วทำให้ดูเหมือนขยันทำดี ขยันเอาธรรม ขยันสนทนาธรรม บางทีเขาซ่อนกิเลสเขาไว้ แต่ไม่แสดงออก แล้วก็แอบเสพไป สร้างภาพไป

ด้วยความที่ผมทำดีมามาก เลยได้ข้อมูลค่อนข้างเยอะ ที่จะช่วยไม่ให้หลงไปคบคนผิดหรือคนพาลนาน พอเราได้ข้อมูลว่าเขาผิดศีล ไม่จริงอย่างที่พูด เราก็ไม่คบ มันก็ง่าย ๆ แค่นี้

แต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะสื่อสารให้คนอื่นได้รู้อย่างเรา แม้จะพูดไปเต็มปาก ก็ใช่ว่าเขาจะเชื่อได้ เพราะถ้าเขาทำดีมาไม่มากพอ ปฏิบัติศีลเจริญในธรรมได้ไม่มากพอ เขาจะไม่เห็นความชั่วที่แอบไว้ในความดีที่คนชั่วนำเสนอ

ก็สรุปกันง่าย ๆ ว่าโดนเขาสร้างภาพลวงให้หลงไว้นั่นแหละ สุดท้ายแม้เราพูดไป แล้วเขาไปศรัทธาคนที่ขยันทำดีแต่ไม่จริงใจมากกว่าเรา เขาก็จะเพ่งโทษเรา แทนที่จะช่วยเขา ก็กลายเป็นว่าเขาจะกลับมาเพ่งโทษถือสาเราอีก

ส่วนใหญ่ผมไม่ค่อยเสี่ยงแลกนักหรอก ถ้าดู ๆ แล้วคนเขาไม่ได้ศรัทธาเรามากพอ มันจะได้ไม่คุ้มเสีย บางคนเขาก็ทำเหมือนศรัทธาเรา แต่พอไปได้ยินคนนินทาเรื่องเรา กลับไม่มาถามเราสักคำว่า “เรื่องจริง ๆ” มันเป็นอย่างไร เราก็รู้เราว่าเขาเชื่อทางนั้น เราก็ไม่พูด เพราะพูดไปมันก็จะไปสู้กับสิ่งที่เขาศรัทธามันจะพังเปล่า ๆ

บางทีถ้าพยายามจะสื่อเต็มที่แล้วเขาไม่เข้าใจ มันก็ต้องวาง ให้ทุกข์ได้สอนเขา เราพ้นจากคนพาลแล้วเราจะทุกข์อะไร เราไม่คบ ไม่สื่อสารกับคนพาล ไม่อนุเคราะห์คนพาลให้มันลำบากชีวิตหรอก

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

September 12, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 23,529 views 0

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ตายกะทันหัน แล้วฉันจะไปไหน?

ถาม: ผมสงสัยว่าคนที่ทำดีมาตลอดชีวิตแต่มาเสียชีวิตเพราะอุบัติเหตุ คนกลุ่มนี้ไม่แม้แต่จะรู้ว่าตัวเองกำลังจะเสียชีวิต วิญญาณพวกเค้าจะไปสู่ภพภูมิที่ดีหรือไม่ เพราะเค้าไม่มีโอกาสคิดเรื่องดีๆที่เค้าทำมาทั้งชีวิต

ตอบ: การเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุนั้น ภาพที่เราเห็นอาจจะดูไม่ดีนัก แต่ในความเป็นจริงสิ่งนั้นอาจจะไม่ได้แย่อย่างที่เราคิดก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น คนหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ต้องทนทุกข์อยู่นานหลายปี อยากจะตายไปให้พ้นๆก็ไม่ตายสักที กับอีกคนเดินๆอยู่ก็มีรถพุ่งเข้ามาชนจากด้านหลัง ตายไม่รู้ตัว ถามว่าสองคนนี้ คนไหนทุกข์มากกว่ากัน? คนไหนที่เกิดอกุศลจิตมากกว่ากัน? คนไหนที่มีโอกาสทำบาปทางกาย วาจา ใจ มากกว่ากัน?

ประเด็นไม่ได้อยู่ที่ตายดีหรือตายร้าย แต่อยู่ที่ว่าทุกข์หรือไม่ทุกข์ต่างหาก เพราะไม่ว่าจะตายช้าตายเร็ว เราก็ต้องตายอยู่ดี จะตายดีตายร้ายเราเลือกไม่ได้ แต่ทุกข์หรือไม่ทุกข์นี่เราเลือกที่จะทำได้

ทำไมทำดีแล้วตายไม่ดี…

บางครั้งเราอาจจะสงสัย ว่าทำไมคนที่ทำดีต้องตายในสภาพที่ไม่ดี ทำไมตายไว ทำไมต้องพบทุกข์ทรมานมากแม้ว่าเขาจะทำดีมาทั้งชีวิต

เหตุของความเจ็บความตายเหล่านั้นไม่ได้มาจากการทำดีของเขา แต่มาจากกรรมชั่วที่เขาเคยทำมาเมื่อสมัยที่เขายังไม่ได้ทำดี อาจจะในชาตินี้หรือชาติก่อนก็ได้ เมื่อเขาทำดีเข้ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับกรรมชั่วที่เขาได้ทำมาได้ไวขึ้น เพราะกรรมชั่วจะมาให้เราได้ชดใช้และเพื่อสะท้อนให้คนดีได้เข้าใจว่าตนเองนั้นเคยทำบาปกรรมอะไรลงไป จะได้เข็ดขยาดและเลิกทำบาปนั้นๆเขาใช้กรรมชั่วไปแล้วกรรมนั้นก็หมดไป เกิดใหม่ก็ได้ร่างที่ดีกว่าเดิม ภพภูมิที่ดีกว่าเดิม

ในกรณีคล้ายๆกัน คนชั่วเองก็อาจจะตายด้วยอุบัติเหตุก็ได้ นั่นก็เพราะกรรมชั่วมันมีมากพอที่จะส่งผล หรือไม่ก็อาจจะทำบาปมากเกินไป จนกระทั่งเกินกว่าพลังของบุญบารมีที่เขาเคยทำจะปกป้องเขาไว้แล้วก็ได้ แต่เราก็มักจะเห็นคนชั่วหลายคนยังมีชีวิตเสพสุขปลอดภัย นั่นก็เกิดจากความดีที่เขาทำมาเมื่อก่อนหรืออาจจะเป็นชาติก่อนภพก่อนก็ได้ เมื่อเขายังได้รับกุศลที่เขาทำมายังไม่หมด ก็ยังไม่ถึงเวลาที่เขาจะต้องตายแต่เมื่อกุศลที่เขาทำมานั้นหมดลงเมื่อไหร่ ชั่วที่เขาทำในชาติก่อนและชาตินี้ก็จะส่งผล ไม่ว่าเขาจะต้องเกิดอีกกี่ครั้ง ไม่ว่าจะเกิดในภพไหน เขาก็ต้องได้รับทุกข์จากชั่วที่เขาเคยทำมาจนกว่าจะหมด

ความตายนั้นไม่ใช่จุดสิ้นสุด เพียงแต่เป็นการดับเพื่อเกิดใหม่เท่านั้น เพื่อทิ้งร่างเก่าที่มีวิบากร้าย เช่น ป่วย มีโรคมาก หรือกระทั่งหมดบุญ หมดกุศลที่ทำมา ก็ต้องทิ้งร่างนั้นไป เช่น บางคนมีชีวิตที่ดี ครอบครัวดี สังคมดี แต่ก็ต้องมาจากไปด้วยอุบัติเหตุ นั่นเพราะเขาได้รับดีที่เขาทำมามากพอแล้ว ในขณะเดียวกันเขาเองก็ไม่ได้ทำดีใหม่ขึ้นมา ใช้ชีวิตโดยการกินบุญเก่า พอกรรมดีเก่าที่เคยทำมาหมดลง ความชั่วที่เคยทำมาก็ส่งผลนั่นเอง

จิตสุดท้าย ก่อนตาย…

เรามักจะเข้าใจว่า ควรให้ความสำคัญกับจิตสุดท้ายก่อนตาย แต่จริงๆแล้วเราควรจะให้ความสำคัญกับทุกขณะจิตที่เรายังมีลมหายใจอยู่

ยกตัวอย่างง่ายๆ เรามีโอกาสอยู่ในร่างนี้ได้ 100 วัน ตั้งแต่เกิดถึงวันที่ 99 เราหยุดชั่ว ไม่ทำชั่ว ทำดีมาตลอด แต่วันสุดท้าย คือวันที่ 100 เรากลับมีความคิดวิตก กลัว ยึดมั่นถือมั่น ฟุ้งซ่าน โวยวาย ทุกข์ใจ ถ้าจะถามว่ามันดีไหม ก็ต้องตอบว่าไม่ดี แต่กรรมไม่ได้มองแค่เรื่องจิตสุดท้าย แต่หมายถึงทุกๆการกระทำใน 100 วันนั้น หากแม้เราเผลอพลาดทำจิตให้หม่นหมองในวันสุดท้ายก็ไม่เป็นไรหรอก เพราะเราทำดีมาตั้ง 99 วัน เราแค่ได้รับกรรมชั่ว 1 วัน แต่เราจะได้รับกรรมดี 99 วันเชียวนะ

ในกรณีคนที่ตายโดยไม่รู้ตัวในวันที่ 100 เมื่อเขาหยุดชั่ว ทำดี มาตลอด และก่อนตายก็ไม่ได้มีจิตวิตก มีทุกข์ มีความกังวลใดๆ เมื่อไม่มีทุกข์จากกิเลสก็ไม่เป็นบาป ก็ไม่ต้องกังวลเลยว่าเขาจะได้รับบาปนั้น ถึงจะตายในสภาพที่ดูไม่ดี แต่ก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้ เช่น ไปเกิดใหม่ในร่าง สังคม สิ่งแวดล้อมที่ดีกว่า ยกตัวอย่างเช่น ไม่ไปเกิดในช่วงกลียุค แต่ข้ามไปเกิดยุคพระพุทธเจ้าองค์ต่อไปเลย

ดังนั้น การไม่ได้ทบทวนสิ่งที่ดีก่อนตายในคนที่ประสบอุบัติเหตุตายกะทันหัน ไม่ใช่สิ่งสำคัญเลยเมื่อเทียบกับกรรมที่ทำมาทั้งหมดในชีวิต และก่อนที่เขาจะตายนั้น เขาก็อาจจะมีจิตที่ตั้งไว้ดีแล้ว มีความสุข มีสติ มีสมาธิดีแล้ว นั่นคือเขากำลังอยู่ในปัจจุบันที่ดีที่สุดแล้ว

สู่สุคติ สู่ภพภูมิใหม่ที่จะไป..

ดังที่มีคำกล่าวไว้ว่า “ สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม” ใครจะไปที่ไหน ทำอะไรอย่างไร ก็เป็นไปตามกรรมที่เราได้ทำมา เช่นในชาตินี้ เราเห็นคุณค่าของการทำบุญทำกุศล เราก็มักจะเข้าวัด ทำทาน ฟังธรรม พบปะครูบาอาจารย์ของเราอยู่เป็นประจำ เพราะเรามีกรรมที่จะต้องเข้าใจคุณค่าของการทำบุญทำกุศลซึ่งเราได้ทำสะสมมาหลายชาติแล้ว ทำให้เราสามารถเข้าถึงคุณค่าของการทำบุญทำกุศลในชาตินี้ได้ง่าย นี่คือ เราเป็นไปตามกรรมที่เราเคยทำมา แม้ในขณะที่เรายังมีชีวิตเราก็ยังต้องดำเนินไปตามกรรมที่เราทำมา

เมื่อเราต้องเสียชีวิตนี้ ทิ้งร่างกายนี้ไป กรรมก็จะพาเราไปที่ที่เราเคยทำมา ใครทำอะไรมาก็จะไปอยู่ที่นั่น คนที่ทำบุญทำกุศลก็จะได้เกิดในที่ที่เอื้ออำนวยต่อการทำบุญทำกุศล มีสังคมสิ่งแวดล้อม ที่ผลักดันให้เขาเข้าไปสู่การทำบุญทำกุศล เพราะนั่นคือกรรมของเขา

ส่วนคนที่มัวเมาในอบายมุข ทำบาป โลภ เบียดเบียนคนอื่น เขาก็ต้องไปเกิดในที่ที่จะเอื้อให้เขาได้รับกรรมที่เขาทำมา ยกตัวอย่างเช่น คนที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายอยู่ในสิ่งลวงต่างๆ เขาก็ต้องได้รับกรรมที่เขาทำมาคือมีสังคม คนรอบข้างที่กินเหล้า ติดยาเสพติด เมามายในอบายมุข เพื่อให้เขาได้รับทุกข์จากกรรมนั้นๆที่เขาทำมา วนเวียนอยู่ในกองทุกข์ กองกิเลส จนกระทั่งวันใดวันหนึ่งที่เขาทุกข์เกินทน ดังคำตรัสที่ว่า “ เห็นทุกข์จึงเห็นธรรม ” เขาจะเข้าใจถึงทุกข์โทษภัยของการทำบาปและอกุศลกรรม จึงเริ่มพยายามที่จะสร้างกรรมดีขึ้นมาใหม่ พยายามจะพาตัวเองหลุดจากกรรมชั่วเหล่านั้น

เกิดและตาย วนเวียนอยู่ในวัฏสงสาร…

เมื่อทำกรรมดีไปมากๆ ก็จะสะสมความดี กลายเป็นคนดีมากขึ้นเรื่อยๆในทุกชาติที่เกิดใหม่ เมื่อเป็นคนดีที่เต็มไปด้วย ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็จะมีกิเลสพอกพูนหนาขึ้นเรื่อยๆ อยากได้โลกธรรมมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มเบียดเบียน เริ่มแย่งชิงอำนาจ เริ่มสะสม จนเริ่มทำชั่วอีกครั้ง เพาะเชื้อชั่วอีกครั้ง จนความชั่วกลายเป็นกรรมที่ฝังแน่น จนกระทั่งชั่วสุดชั่ว ทีนี้วิบากกรรมก็จะดลบัลดาลเหตุการณ์ต่างๆ ที่ทำให้ทุกข์ทรมานแสนสาหัส จนทนทุกข์ไม่ไหว พอเห็นทุกข์ก็เห็นธรรม กลับมาเป็นคนดีอีกครั้ง พอเป็นคนดี มีทรัพย์มีอำนาจแต่ล้างกิเลสไม่เป็น วันหนึ่งก็จะวนกลับไปชั่วอีกครั้ง พอชั่วมากก็เวียนกลับมาเป็นคนดี วนเวียนอยู่ในวัฏสงสารอยู่แบบนี้ไม่มีวันจบสิ้น

จนกระทั่งวันหนึ่งมีพระพุทธเจ้ามาบังเกิด คนผู้มีบุญบารมีเหล่านั้นจึงได้ฟังธรรมที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ และได้ปฏิบัติธรรมตามคำสั่งสอนของท่าน พากเพียรจนกระทั่งบรรลุธรรม รู้แจ้งเหตุปัจจัยของทุกสิ่ง นำมาซึ่งการไม่ต้องวนเวียนว่ายตายเกิดเหมือนคนทั่วไป เป็นผู้มีอิสระ เป็นผู้ไกลจากกิเลส

– – – – – – – – – – – – – – –

12.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์