Tag: การเพ่งโทษ

เพ่งโทษฟังกัน

March 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 618 views 0

เวลาที่คนมีความโกรธ เกลียด ชิงชัง จะฟังกันไม่รู้เรื่องหรอก เพราะเคยแต่เพ่งโทษ หาโทษ มองแต่โทษ ซึ่งบางทีก็ไม่ใช่โทษจริงหรอก แต่ฟังไม่ครบบ้าง ไม่พยายามทำความเข้าใจบ้าง แล้วจิตพยาบาทมันก็ปรุงไปต่อจนคิดว่าเป็นโทษจริง ๆ

ในชีวิตผมก็เจอบ่อยจนเป็นเรื่องธรรมดาไปแล้ว คนที่เขาเพ่งโทษนี่เขาจะอ่านหรือฟังไม่รู้เรื่องหรอก จับสาระไม่ได้ เราตอบไปแล้ว เขาก็จะอ่านไม่เข้าใจ หรือเข้าใจไม่ได้ บางทีจับประเด็นเพี้ยนอีก กลายเป็นฟังไม่ได้ศัพท์จับไปกระเดียดไปซะอีก

คือฟังแล้วมีการเพ่งโทษร่วมด้วย สภาวธรรมไม่ถึงด้วย ไม่เข้าใจ ก็จับไปกระเดียด ไปต่อเติมแต่ง ความความเข้าใจของตนเอง แล้วหลงว่าตนถูกซะด้วยนะนั่น

หรืออีกอาการที่เจอคืออาการหูดับ คือเขาจะเลือกฟังแต่สิ่งที่เขาชอบ แต่พอได้ฟังสิ่งที่ตรงข้ามกับที่เขาคิด ก็จะหูดับ ไม่ฟัง ไม่จำ ไม่รับรู้ ไม่แก้ไขความเห็นผิด

พวกเพ่งโทษฟังกันนี่ผมไม่เอาภาระหรอก ก็ให้เขาเป็นไปตามแบบของเขา คือเขาไม่สามารถรับการสื่อสารของเราได้ แม้ขั้นต่ำก็รับไม่ได้ ดีไม่ดีตีกลับ เป็นตีความผิดอีก กลายเป็นเข้าใจผิด เพ่งโทษ ถือสา ฯลฯ

อาจารย์สอนว่า “ให้ช่วยคนที่ศรัทธา” ถ้าจะให้ผมเอาภาระจริง ๆ ก็จะเอาเท่าที่เขาศรัทธานี่แหละ ส่วนพวกถือสานี่ไม่เอานะ ไม่เสียเวลาดีกว่า

ถ้ามีอาการในหมวดพยาบาท คือ โกรธ เกลียด อาฆาต เพ่งโทษ หรือหมวดอัตตา เช่น ถือดี อวดดี ยกตนข่ม สำคัญตนว่าเหนือกว่า ฯลฯ อะไรทำนองนี้ จะฟังกัน สื่อสารกันไม่รู้เรื่องหรอก

เพราะจิตมันจะไม่เอาประโยชน์ มันจะจ้องเอาแต่โทษ เพ่งแต่โทษ เป็นธาตุของคนพาล เป็นกำลังของคนพาล เราก็ห่าง ๆ ไว้ ชีวิตจะผาสุก

อยู่ใกล้คนขี้โกรธ ขี้หงุดหงุด ใครคิด/พูด/ทำ ไม่ถูกใจก็ขุ่นเคืองใจ ว่าแล้วก็ด่าบ้าง เหน็บบ้าง แขวะบ้าง ประชดประชันบ้าง ฯลฯ สารพัดลีลาอิตถีภาวะ(สภาพมีกิเลส) คนพวกนี้พระพุทธเจ้าว่าไม่ควรคบหา ไม่ควรเข้าใกล้ เปรียบเหมือนบ่อขี้ มีอะไรตกใส่กลิ่นก็เหม็นฟุ้ง

ทำไมจึงต้องวางตนให้พ้นและห่างไกลจากคนพาล?

February 20, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 597 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสสอนเกี่ยวกับมงคลชีวิตไว้หลายประการ ประการแรกคือ ให้ห่างไกลคนพาล

เป็นปัญญาแรกของการเข้าสู่ความเป็นมงคล คือต้องรู้ว่านั่นคือคนพาล นั่นคือความพาล นั่นเป็นโทษ นั่นเป็นสิ่งที่ต้องอยู่ให้ห่าง คือไม่เข้าไปคบหาหรือคลุกคลีกับคนพาล

เพราะคนพาลนั้นมีการเพ่งโทษเป็นกำลังและยังชักนำให้เป็นไปในทางเสื่อม การเพ่งโทษของคนพาลคือ คบกันไป เดี๋ยวก็ชักนำให้ไปเพ่งโทษคนนั้นคนนี้ ดีไม่ดีสุดท้ายจะกลายมาเพ่งโทษถือสาเราเสียเอง การชักนำสู่ความเสื่อมคือ พาให้ผิดศีล ไม่สนับสนุนในการเพิ่มศีล ไม่เข้าหาธรรม พาหมกมุ่นอบายมุข ให้มัวเมาในกาม ให้หลงในอัตตา

ถ้าไม่มีปัญญาเห็นโทษของคนพาล ก็จะคลุกอยู่กับคนพาล นอกจากจะไม่พาพ้นทุกข์แล้ว เผลอ ๆ ยังไปติดธาตุแห่งความพาลเพิ่มขึ้นมาอีก

ดังนั้นอันดับแรกของการปฏิบัติตนสู่ความผาสุก คือห่างไกลคนพาลให้ได้ก่อน อันนี้ง่ายที่สุด ชัดที่สุด ก็เอาคนพาลที่เป็นบุคคลให้ชัดเจนก่อน

เพราะความพาลนี่มันแพร่กระจายได้ แทรกซึมได้ เลียนแบบกันได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ห่างมาก่อน

แล้วมาคบบัณฑิตต่อ จึงจะดำเนินไปสู่ทางเจริญ ไม่คบบัณฑฺิตนี่ปิดประตูเจริญเลย เพราะธรรมในศาสนาพุทธเรียนรู้เองไม่ได้ พระพุทธเจ้าตรัสว่าคนจะบรรลุธรรมต้องเริ่มจากคบสัตบุรุษเท่านั้น

ผมใช้หลักนี้ในการคัดคนเป็นหลักเลย ใครที่เขาดูเหมือนจะดีนี่ต้องดูว่าเขาคบใครเป็นบัณฑิต เขาถือใครว่าบัณฑิต เขายกให้ใครใหญ่กว่าเขา หรือเขาถือว่าใครเป็นคนพาล เขาห่างไกลใคร ก็ต้องพิจารณากันไป เพราะสมัยนี้คนพาลมาแสร้งว่าเป็นบัณฑิตเยอะ มันก็ต้องพิสูจน์

อย่างบางคนก็มีแต่ความอวดเก่ง แต่ไม่มีความจริง คือเก่งวาทะ อวดดี อวดรู้ เหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนว่า โมฆะบุรุษนั้น เมื่อเรียนธรรม แม้จะรู้อยู่หลายสูตร แต่ก็ไม่มีประโยชน์อะไรนอกจากเอาความรู้ธรรมนั้นไปดูถูก อวดเบ่ง อวดดี หรือไม่ก็เอาไว้กันคนมานินทาเท่านั้นเอง

ยกเว้นน้อยท่านที่จะมีภูมิเก่ามามาก ท่านเหล่านั้นจะแสดงกำลังให้เห็นทั้งนามทั้งรูปว่ามีของจริง ถ้าเราสัมมาทิฏฐิ เราจะรู้ได้เองว่าสู้ไม่ได้ เพราะรูปก็จะเหนือกว่า นามก็จะเหนือกว่าอย่างถูกสมมุติ ที่เห็นได้อย่างชัดเจน

อย่างเช่นที่ผมแจกแจงธรรมะในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขาสัมมาทิฏฐิแต่ไม่มีภูมิเท่า เขาจะรู้ได้เองว่าเขาแจกขนาดนี้ไม่ได้ เขาไม่ละเอียดละออเท่า เขาจะรู้ว่าเขาไม่ชัดในสภาวะขนาดนี้ คนไม่รู้ธรรมจริงแจกสภาวะเป็นภาษาไม่ได้หรอก ให้แจกล่ะงงเป็นไก่ตาแตกเลย หรือไม่ก็พูดวน พูดมั่ว พูดไม่เต็มปาก ถ้าไม่เชื่อเอาหัวข้อที่ผมพิมพ์เด่น ๆ ไปขยายสิ เดี๋ยวผมจะติให้ เชื่อไหมว่าผมติเก่งกว่าผมพิมพ์อีกนะ เพราะตินี่มันง่าย หาจุดผิดนี่มันง่าย ยิ่งเราชัดในเรื่องไหน ๆ เราจะรู้จุดพลาดของเรื่องนั้น ๆ

เช่น ผมเผยแพร่ธรรมในหมวดคนโสดคนคู่ คนที่เขายังหลงผัวหลงเมียอยู่ ถ้าเขามีความเห็นถูกอยู่บ้าง เขาจะไม่กล้ามาแสดงความเก่งให้เห็นเลย เพราะเขาจะรู้ว่าเขาอยู่ในจุดด้อย น้ำท่วมปาก พูดไม่ออก พูดมาก็โดนสวน ผมก็ถามง่าย ๆ กลับนั่นแหละ ทำไมยังอยู่กับคู่? ยังมีประโยชน์อะไร? มีอะไรติดใจ? ไม่มีประโยชน์ใหญ่กว่านี้ให้ทำหรอ? กตัญญูผัวเมียมันดีกว่ากตัญญูพ่อแม่ตรงไหน? ฯลฯ เชื่อไหม ถาม ๆ ไปถ้าคนไม่มีภูมิถึง เขาจะหลุด เขาจะตอบไม่ได้ แล้วเขาจะโกรธ แต่ผมไม่ถามหรอก เพราะคนมีปัญญาเขาไม่มาสู้กับเราตั้งแต่แต่แรกแล้ว เราจะไปเปลืองแรงกับคนไม่มีปัญญากันทำไม

ถ้าคนเหนือกว่าเขาจะโชว์ภูมิให้รู้จักกัน ก็ไม่ยากหรอก เดี๋ยวเขาจะแสดงเพลงกระบี่เดียวกันที่ล้ำลึกกว่าให้เราได้เห็นเอง คือที่เราทำได้ เขาก็จะทำให้ดู และจะแสดงสิ่งที่เราทำไม่ได้เพิ่มเติมให้เราได้ศึกษาอีกด้วย คนที่เหนือกว่าเขาจะมีศิลปะในการแสดงตัวตนให้งดงาม หนักแน่น และน่าเลื่อมใส

ส่วนคนมิจฉาทิฏฐิก็ไม่รู้อะไรหรอก ดีไม่ดี พูดข่มเราเสียอีก สำคัญตนว่าเหนือกว่าเราเสียอีก ทั้ง ๆ ที่ทำอะไรก็ไม่ชัดเจน ก็มีเหมือนกัน

อันนี้เป็นมิติของคนพาลที่ล้ำลึกขึ้น คือเป็นคนพาล แต่แสร้งว่าเป็นบัณฑิต แสร้งว่าเป็นผู้รู้ เป็นกับดักที่ดักทั้งตัวเองทั้งคนอื่นไปในตัว

ดังนั้น ผมจึงใช้หลักนี้ในการประเมินข้อธรรม คนไม่เคยพบกัน ไม่เคยสัมผัสความจริงของกันและกันมันจะศึกษากันยาก เก่งสุดได้แค่สื่อภาษา การแจกแจงรายละเอียดนั่นแหละ คือการเผยให้ชัดเจนขึ้น บางทีมาเป็นข้อธรรม มาเป็นคำคม มันรู้ไม่ได้ชัด มันตรวจความจริงได้ยาก ว่าเป็นบัณฑิตจริงรึเปล่า เพราะจำมาก็มี เหมือนคำที่เขาว่า “พระใบลานเปล่า” รู้มากรู้หมดแต่เอาตัวไม่รอดก็มี

เพราะการจะศึกษา การจะช่วยเหลือ แบ่งปันเกื้อกูลกันนั้นต้องมีของจริง คือทำตัวให้เป็นตัวอย่างได้จริง จะมีกำลังมาก ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “บัณฑิตพึงทำตนให้ได้ในคุณอันสมควรก่อน แล้วจึงสอนผู้อื่นภายหลัง จะไม่มัวหมอง”

บางทีแจกมาก แต่เป็นลักษณะก็อบเกรด A ก็มีเหมือนกัน พูดเหมือนครูบาอาจารย์เป๊ะ ๆ แต่ลอกมาล่าโลกธรรม ก็มีเหมือนกัน ในกลุ่มปฏิบัติธรรมก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ

คนพาลจึงมีสองมิติใหญ่ ๆ คือพาลให้เห็นกันชัด ๆ กับแบบพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิต แม้สองประเภทนี้ ก็ควรจะห่างไกลเข้าไว้ เพราะคบไว้ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

แล้วจึงหาบัณฑิตจริง ๆ คบบัณฑิตที่รู้ธรรมแจ่มแจ้ง ทำตนเองและได้ตามนั้นจริง บูชาบัณฑิตนั้นด้วยการปฏิบัติตาม จึงจะทำให้พ้นภัยและพ้นทุกข์

จุดเริ่มต้นของการปฏิบัติธรรมคือ ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิต เอาที่เป็นบุคคล ตัวตนเราเขา จริง ๆ นี่แหละ เพราะมันต้องอาศัยการพรากออกจากธาตุที่เลว และการศึกษาจากธาตุที่ดี จิตจึงจะเจริญได้ ต้องอาศัยรูปถึงจะเรียนรู้นามได้ ไม่ใช่นึกคิดหรือศึกษาด้นเดาเอาเองแล้วจะบรรลุได้

คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง เป็นอย่างไร?

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 716 views 0

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง หรือแปลเป็นภาษาบ้าน ๆ ว่า คนพาลชอบเพ่งโทษ หรือ การเพ่งโทษคือพลังของคนพาล

ผมจะยกตัวอย่างให้อ่านกันกับเคสเพ่งโทษถือสา แบบมีอคติฝังใจ จะได้ศึกษาว่าถ้าแบบนี้ให้ห่างไว้

ก็เคยมีครั้งหนึ่งที่ผมคุยกับกับเพื่อนอีก 2 คน คนหนึ่งเป็นเพื่อนใหม่ คุยกันก็หลายเรื่อง จนเราพูดทักเพื่อนใหม่ไป เขาก็รีบสรุปเลยว่า เราเพ่งโทษในเรื่องที่เขาพูด เพราะเราไปทักในเรื่องที่เขาศรัทธา ทั้ง ๆ ที่เราไม่ได้มีเจตนาเพ่งโทษ แต่เรามีเจตนาจะช่วยเพื่อน เห็นเพื่อนจิตใจฟุ้งฟูล้นปลี่ไปกับโลกธรรม ก็เห็นว่าเป็นเพื่อนนักปฏิบัติธรรม แล้วเขาสนใจมาศึกษาร่วมกับเรา ก็เลยช่วย เราทักกิเลสเขา แต่เขาไปตีความว่าเราเพ่งโทษเรื่องเขา

แต่อันนั้นเขาคิดคนเดียวนะ อีกสองเสียงไม่ได้เห็นตามเขา คือผมก็เห็นอย่างผม เพื่อนอีกคนก็เห็นอย่างผม ได้ฟังก็เข้าใจว่าไม่ได้เพ่งโทษอะไร เพียงแค่บอกกัน มันเป็นเรื่องเข้าใจผิดประเด็นกัน แต่เพื่อนใหม่นี่พอเขาเข้าใจอย่างนั้น เหมือนจิตเขาหลุดเลย เขา”เดา“ไปว่าเราเพ่งโทษเขาอีก นี่มันเพ่งโทษซ้อนในเพ่งโทษ เป็นนรกตื้น ๆ ที่ผมคิดว่าไม่น่าจะเกิด ก็ยังเกิดได้

ปกติถ้าไม่มีใครขอไว้ ผมจะไม่ไปติหรือไปทักใครเป็นส่วนตัว หรือถึงจะขอไว้ แต่ก็จะดูอินทรีย์พละด้วยว่าไหวหรือไม่ ซึ่งปกติผมคุยกับเพื่อนสนิทก็ทักกัน วิเคราะห์เรื่องกิเลสประจำอยู่แล้ว เรียกว่าชินล่ะนะ

ทีนี้เอามาตรฐานที่เราทำประจำมาใช้กับเพื่อนที่เข้ามาใหม่ แล้วความเห็นมันไม่ตรงกัน แล้วเขาปรับไม่ทัน เขาเพ่งโทษไปแล้ว เขาปิดประตูไปแล้ว ไม่ฟังเสียงคนอื่นแล้ว เขาถอนความเห็นผิดไม่ได้แล้ว อธิบายไปก็ไม่ช่วยอะไร

ผ่านไปไม่กี่วัน เพื่อนสนิทผมไปคุยปรับใจให้ เพราะเห็นว่าเขาเพ่งโทษแค่ผม ไม่ได้เพ่งโทษเพื่อน น่าจะพอฟังกันได้อย่างไม่มีอคติ แต่ที่ไหนได้ เพื่อนสนิทผมมาเล่าให้ฟังทีหลังว่า พูดไม่เข้าเลย เหมือนมีอะไรกั้น เขาไม่ฟัง แถมจิตเขาฝังความเข้าใจผิดไปอย่างยึดมั่นถือมั่นแล้วด้วย

โอ้โห! ผมนี่ซึ้งเลย เวลาคนจะโง่ นี่เขาโง่ได้หนักแน่นจริง ๆ คนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลังจริง ๆ เดาเอาเอง สรุปเอง ชิงชังเอง ยึดเอง แล้วพาลมาข่มผมซ้ำด้วยนะว่าผมไปเพ่งโทษ ภูมิผมไม่ถึง ไม่น่าเล่าให้ผมฟัง

ทั้งที่จริง ๆ มันตรงกันข้าม เหมือนมีเด็กได้ของเล่นชิ้นใหม่มา แล้วตื่นเต้น เอามาอวด ผมก็ทักไปว่าความตื่นเต้นมันไม่งาม เด็กก็โกรธ ไม่พอใจ แล้วสรุปว่าไม่น่าเอาของเล่นมาโชว์เราเลย อะไรประมาณนี้ …

ก็เอานะ แบบนี้ก็ห่าง ๆ กันไว้ จริง ๆ เขาก็ห่างจากเราไปเพราะเขาเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก เขาก็ไม่ศรัทธาเราอยู่แล้วนั่นแหละ

เจอแบบนี้ก็ได้เรียนรู้ว่า อย่าไปรีบปักใจเชื่อว่าเขาจะรับเราไหวนะ บางคนเหมือนจะแกร่ง แต่ก็ได้แค่ท่าดี อินทรีย์พละเป็นเรื่องของจิต ไม่ใช่ท่าที ไม่ใช่บุคลิก ดูเผิน ๆ ดูไม่ออกหรอก ต้องคบคุ้นกันนาน ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ

ก็ได้เรียนรู้อีกว่าไม่ต้องไปเอาภาระมาก บางทีบางเรื่องมันก็ต้องดูกันไปยาว ๆ ก่อนจะตัดสินใจช่วย ไม่ช่วยนี่ไม่ยากเท่าไหร่ ไม่ต้องคิดอะไร แต่ถ้าจะช่วย ศรัทธาเขาต้องเต็มที่ เต็มใจ ไม่ใช่มาแบบลองของ อันนั้นเสียเวลาสุด ๆ

จะมีอะไรเสียเวลาชีวิตเท่ากับไปคบคนพาล สร้างกุศลก็ได้น้อย ส่วนบุญนี่ไม่มีเลย เพราะคนพาลไม่ใช่เนื้อนาบุญ ไม่ต้องไปลงทุน ไม่ต้องไปยุ่งมาก

การติติงคนพาล

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 585 views 0

การติเตือนกันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่การติคนพาลแล้วหวังจะให้เกิดความเจริญนั้น ก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายลงในโอ่งที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ พาลจะมีภัยถึงตัวเปล่า ๆ ต้องดูบารมีตัวเองด้วย เขาไม่ศรัทธาอย่าไปเอาภาระ

คนพาลนั้นหมายถึง คนไม่มีศีลบ้าง คนเกเรบ้าง และยังหมายถึงคนที่โง่เขลาในธรรมด้วย

สังคมปะปนกันด้วยคนหลากหลาย การจะรู้และจำแนกความต่างคนนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาศึกษากันนาน บางครั้งการจะรู้ก็เพราะพลาดไปติติงกันนี่แหละ

ส่วนของบัณฑิตนี่ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะผู้ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา ฉลาดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้น หากเราติบัณฑิต เราจะรู้ได้เลยว่าเราจะไม่มีภัย บัณฑิตจะไม่ทำร้ายเรา คือไม่ทำให้กิเลสเราเพิ่ม และจะช่วยให้เราลดกิเลสไปด้วยกัน

แต่ถ้าไปติคนพาล ตัวใครตัวมันล่ะคุณเอ๋ย บางทีเขาก็ไม่ได้สวนกลับทันทีหรอก แต่เขาจะสะสมความแค้นไว้ เพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง บางทีเขาฝึกใจมาบ้าง ก็พอจะกดข่มได้เป็นพัก ๆ แต่พอติเข้ามาก ๆ ตบะแตกขึ้นมา อาจจะต้องย้ายที่อยู่หนีกันเลยทีเดียว

โดนคนพาลเพ่งโทษจองเวรจองกรรมคนเดียวก็ว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนเป็นสัตว์มีสังคม คนพาลเขาก็มีมิตรเป็นคนพาล เราติบัณฑิต ติถูก ติตรง บัณฑิตและเพื่อนก็สรรเสริญ ติผิดก็ไม่ถือสา แต่ถ้าไปติคนพาล จะติผิด ติถูก ติตรง ติแม่นแค่ไหน คนพาลก็จะถือสา เพ่งโทษ ผูกโกรธ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีเพื่อนคนพาลอีกชุด กลายเป็นว่ายกโขยงพากันเพ่งโทษเป็นหมู่ “รวมพลคนพาล” กันเลยทีเดียว

ใครอยากมีเจ้ากรรมนายเวรเยอะ ๆ ก็ให้ติไปตามใจ ตามที่เห็นควร ไม่ต้องประมาณ ไม่ต้องดูว่าคนไหนบัณฑิต คนไหนคนพาล

ส่วนใครอยากพ้นเวรพ้นกรรม ให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิตไว้

จริง ๆ การไปติคนพาลก็คือการใกล้คนพาลนั่นแหละ ถ้าเรารู้แล้วว่าเขาผิดศีล ไม่เอาธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมที่สมควรทำ เราก็เลิกยุ่งไปเลย ไม่ต้องไปเอาภาระ ไม่ต้องพยายาม เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกให้ห่างไกลคนพาล แล้วจะเป็นมงคลชีวิต อันนี้คนที่เก่งที่สุดแล้วยังยืนยันแบบนี้ เราไม่ต้องไปฝืนไปพยายามหรือไปยึดดีให้มันเหนื่อยเลย

วิธีจัดการกับคนพาล คือไม่ต้องไปทำอะไรกับเขา ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องติ ไม่ต้องชม ไม่ต้องสังเคราะห์อะไร ห่างไว้เป็นดี อย่าไปให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

ถ้าเราไปให้ความสำคัญ คนพาลนี่เขามีกิเลสมากอยู่แล้ว อัตตาเขาจะโตในปริมาณที่มากกว่าคนดีทั่วไป คือถ้าเราไปเสริมกำลังให้เขา ความชั่ว ความผิดที่เขาจะทำ จะเติบโตได้มากกว่าที่เราคิด ดังนั้น การจะช่วยคนพาล ก็คือการไม่ให้อาหารความพาล ปล่อยให้ความพาลมันตายไป ไม่ต้องไปเลี้ยง เสียเวลา เสียทรัพยากร