Tag: ตบะแตก

การติติงคนพาล

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 585 views 0

การติเตือนกันนั้นเป็นองค์ประกอบหนึ่งของการปฏิบัติธรรม แต่การติคนพาลแล้วหวังจะให้เกิดความเจริญนั้น ก็เหมือนการตำน้ำพริกละลายลงในโอ่งที่ใส่น้ำกินน้ำใช้ พาลจะมีภัยถึงตัวเปล่า ๆ ต้องดูบารมีตัวเองด้วย เขาไม่ศรัทธาอย่าไปเอาภาระ

คนพาลนั้นหมายถึง คนไม่มีศีลบ้าง คนเกเรบ้าง และยังหมายถึงคนที่โง่เขลาในธรรมด้วย

สังคมปะปนกันด้วยคนหลากหลาย การจะรู้และจำแนกความต่างคนนั้นเป็นเรื่องยาก ต้องใช้เวลาศึกษากันนาน บางครั้งการจะรู้ก็เพราะพลาดไปติติงกันนี่แหละ

ส่วนของบัณฑิตนี่ไม่ต้องกังวลอะไร เพราะผู้ที่เป็นบัณฑิต มีปัญญา ฉลาดในธรรม พระพุทธเจ้าตรัสว่าบัณฑิตมีการไม่เพ่งโทษเป็นกำลัง ดังนั้น หากเราติบัณฑิต เราจะรู้ได้เลยว่าเราจะไม่มีภัย บัณฑิตจะไม่ทำร้ายเรา คือไม่ทำให้กิเลสเราเพิ่ม และจะช่วยให้เราลดกิเลสไปด้วยกัน

แต่ถ้าไปติคนพาล ตัวใครตัวมันล่ะคุณเอ๋ย บางทีเขาก็ไม่ได้สวนกลับทันทีหรอก แต่เขาจะสะสมความแค้นไว้ เพราะคนพาลมีการเพ่งโทษเป็นกำลัง บางทีเขาฝึกใจมาบ้าง ก็พอจะกดข่มได้เป็นพัก ๆ แต่พอติเข้ามาก ๆ ตบะแตกขึ้นมา อาจจะต้องย้ายที่อยู่หนีกันเลยทีเดียว

โดนคนพาลเพ่งโทษจองเวรจองกรรมคนเดียวก็ว่าแย่แล้ว แต่ที่แย่กว่านั้นคือคนเป็นสัตว์มีสังคม คนพาลเขาก็มีมิตรเป็นคนพาล เราติบัณฑิต ติถูก ติตรง บัณฑิตและเพื่อนก็สรรเสริญ ติผิดก็ไม่ถือสา แต่ถ้าไปติคนพาล จะติผิด ติถูก ติตรง ติแม่นแค่ไหน คนพาลก็จะถือสา เพ่งโทษ ผูกโกรธ แค่นั้นยังไม่พอ ยังมีเพื่อนคนพาลอีกชุด กลายเป็นว่ายกโขยงพากันเพ่งโทษเป็นหมู่ “รวมพลคนพาล” กันเลยทีเดียว

ใครอยากมีเจ้ากรรมนายเวรเยอะ ๆ ก็ให้ติไปตามใจ ตามที่เห็นควร ไม่ต้องประมาณ ไม่ต้องดูว่าคนไหนบัณฑิต คนไหนคนพาล

ส่วนใครอยากพ้นเวรพ้นกรรม ให้ห่างไกลคนพาล คบบัณฑิตไว้

จริง ๆ การไปติคนพาลก็คือการใกล้คนพาลนั่นแหละ ถ้าเรารู้แล้วว่าเขาผิดศีล ไม่เอาธรรมะ ไม่ปฏิบัติธรรมที่สมควรทำ เราก็เลิกยุ่งไปเลย ไม่ต้องไปเอาภาระ ไม่ต้องพยายาม เพราะขนาดพระพุทธเจ้ายังบอกให้ห่างไกลคนพาล แล้วจะเป็นมงคลชีวิต อันนี้คนที่เก่งที่สุดแล้วยังยืนยันแบบนี้ เราไม่ต้องไปฝืนไปพยายามหรือไปยึดดีให้มันเหนื่อยเลย

วิธีจัดการกับคนพาล คือไม่ต้องไปทำอะไรกับเขา ไม่ต้องยุ่ง ไม่ต้องติ ไม่ต้องชม ไม่ต้องสังเคราะห์อะไร ห่างไว้เป็นดี อย่าไปให้คุณค่า ให้ความสำคัญ

ถ้าเราไปให้ความสำคัญ คนพาลนี่เขามีกิเลสมากอยู่แล้ว อัตตาเขาจะโตในปริมาณที่มากกว่าคนดีทั่วไป คือถ้าเราไปเสริมกำลังให้เขา ความชั่ว ความผิดที่เขาจะทำ จะเติบโตได้มากกว่าที่เราคิด ดังนั้น การจะช่วยคนพาล ก็คือการไม่ให้อาหารความพาล ปล่อยให้ความพาลมันตายไป ไม่ต้องไปเลี้ยง เสียเวลา เสียทรัพยากร

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

April 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,967 views 0

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะได้ยินความสัมพันธ์ของสมถะและวิปัสสนากันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าต้องคู่กันเสมือนขาทั้งสองข้างต้องก้าวไปด้วยกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราจะมาขยายกันในบทความนี้ด้วย 8 หัวข้อที่จะมาเสนอข้อมูลในหลายๆ ประเด็น

1).สมถะและวิปัสสนา

สมถะนั้นเป็นการใช้อุบายต่างๆเข้ามาควบคุมใจ ไม่ว่าเราจะใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม สร้างตัวรู้ เจริญสติ เพ่งกสิณ หรือใช้การคิดบวกหรือพิจารณาธรรมเพื่อ “กด” ให้เกิดสภาพนิ่งของใจ ไม่ว่าจะอุบายเช่นไรแต่ถ้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความสงบใจ นั้นคือสมถะทั้งสิ้น

ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญา ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่กิเลสอยากให้เป็น

สมถะนั้นมีอยู่คู่โลกนานแล้ว ต่างจากวิปัสสนาซึ่งเป็นวิธีของพุทธโดยตรง หากจะกล่าวว่าสิ่งใดถูกตรงก็คือวิปัสสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตีทิ้งสมถะ เพราะสามารถใช้เป็นอุปการะได้ คือเป็นเครื่องช่วยให้เจริญวิปัสสนาให้ดีขึ้นได้ แต่จะช่วยอย่างไรจะไปขยายกันในข้อต่อไป

2).สมถะอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ แต่ถ้าจะให้บรรลุธรรมตามแนวทางของพุทธนั้นตอบว่าไม่ได้

เมื่อเราทำแต่สมถะเราก็จะได้ผลแบบสมถะ (มิจฉาผล) ทางของสมถะคืออุบายทางใจ ยิ่งทำยิ่งสงบ ยิ่งทำยิ่งติดภพ จมดิ่งเข้าไปในความมืด ดับความคิด ดับสัญญา ดับไม่เหลืออะไรเลย สภาพของผู้ทำสมถะนั้นมักจะมีภาพลักษณ์ที่ดูสงบต่อสถานการณ์ได้ดี

ถ้าในยุคสมัยก่อนก็จะเรียกว่าฤๅษี แต่ตอนนี้ไม่มีภาพเช่นนั้นแล้ว เพราะเปลี่ยนรูปกันมาอยู่ในผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งฆราวาสทั้งนักบวชก็มีฤๅษีปนอยู่มาก ซึ่งมรรค(วิถีการปฏิบัติ)ของเขาเหล่านั้นมักจะหนักไปในทิศทางของทำสมาธิ การระลึกรู้ หรือวนเวียนอยู่กับการควบคุมกดข่มจิตใจให้เกิดสภาพสงบ

3).วิปัสสนาอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ ซึ่งวิปัสสนานี้เองเป็นกระบวนการโดยตรงของพุทธอยู่แล้ว

เราสามารถวิปัสสนาเพียงอย่างเดียวได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสมถะเลย หากเรามีเจโตหรือพลังของจิตที่เคยสะสมไว้มากพอ เรียกได้ว่าสามารถพิจารณาทำลายกิเลสได้ด้วยปัญญาล้วนๆจนถึงปลายทางได้เลย เพราะถ้ามีปัญญาเต็มรอบมันก็ไม่ต้องไปกดข่มกิเลสให้เสียเวลา ชักดาบออกมาแล้วเชือดทิ้งได้ทันที

แต่ถ้าเรากำลังน้อย อินทรีย์พละอ่อน ก็อาจจะเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปสู้กับช้าง สมถะจะเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สมถะกดข่มได้เสมอไป เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลเช่น กรรมและผลของกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกินกำลังมากไป

สภาพของคนที่วิปัสสนาแต่ไม่มีกำลังมากพอก็เหมือนกับนักมวยผู้มีทักษะที่เก่งแต่ไม่ฝึกซ้อมร่างกาย ดังนั้นการจะเอาชนะกิเลสนั้นก็ยากหน่อย แต่ก็มีโอกาสถึงเป้าหมาย ต่างจากสมถะอย่างเดียวแม้จะเอาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมใดๆ

4).อะไรสำคัญกว่ากัน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าน้ำหนักของวิปัสสนามากกว่าเพราะมีมรรคผลในแบบพุทธอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะสรุปได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากันได้ชัดเจนเสมอไป

เราไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้สมถะกดก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาจึงจะถูก อันนี้มันก็ผิดสำหรับคนอินทรีย์พละแก่กล้า เพราะถ้าเขาไปเสียเวลาสมถะ เขาก็พ้นทุกข์ช้า และผิดไปจากสัจจะของพระพุทธเจ้านั่นคือธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า

และถ้าบอกว่าใช้แต่วิปัสสนา สุดท้ายก็ถึงอยู่ดี มันก็ถูก แต่ถ้ามันทำให้ช้า มันก็ผิด เพราะเมื่อปฏิบัติถึงระดับหนึ่ง ศึกษาสามอย่างคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไประดับหนึ่ง อินทรีย์พละที่มีอยู่มันจะเริ่มไม่พอ เพราะศีลที่ยากขึ้นจะต้องใช้จิตที่มากขึ้นและปัญญาที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้มีอินทรีย์พละแก่กล้าแม้ว่าจะวิปัสสนาได้ไวในช่วงแรก สามารถชำแหละกิเลสจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้ต่อกรกับกิเลสทุกตัวได้

ดังนั้นการจะสรุปว่าอะไรสำคัญกว่าคงต้องประเมินตามสถานการณ์ เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน มีกิเลสของตัวเอง จึงต้องใช้วิธีและสัดส่วนในการแก้ของตนเอง ไม่ใช่ว่าจะมาสรุปว่าต้องสมถะมากกว่าหรือวิปัสสนามากกว่า ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมได้ไว แต่ความว่องไวในการปรับความพอดีของสมถะและวิปัสสนาต่างหากจึงทำให้เจริญ

5).กลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะ

เมื่อมีผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับมือกับผัสสะโดยทั่วไปอย่างไม่ต้องศึกษากันเลยก็คือใช้สมถะกดข่มความคิดไม่ดีไว้ ถ้าเก่งขึ้นมาหน่อยก็เป็นสมถะจากการศึกษาธรรมะ เจริญสติบ้าง สร้างตัวรู้บ้าง ใช้ข้อธรรมะบ้าง ก็เอาไว้กดข่ม ดับความฟุ้งซ่าน ดับความคิดนั่นเอง

สมมุติว่ามีเหตุการณ์ดังเช่นว่า คนมานินทาเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง สมถะในระดับสามัญสำนึก จะกดไว้ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ สงบสยบความเคลื่อนไหว ถ้าเป็นผู้ศึกษาธรรมก็จะมีท่าของสมถะมากขึ้นในการตบผัสสะนั้นๆทิ้งเช่น บริกรรม ยุบหนอ พองหนอ , พุทโธ ,ตั้งสติรู้ไปที่ร่างกาย หรือใช้ข้อธรรมเข้ามาตบว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา สมถะจะทำงานในลักษณะนี้

ส่วนวิปัสสนานั้นจะต่างออกไปเพราะการวิปัสสนาได้นั้นต้องมีพื้นฐานของสติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าคนที่สามารถทำวิปัสสนาในระหว่างเกิดผัสสะนั้น เขามีอินทรีย์พละแกร่งพออยู่แล้ว จึงสามารถชำแหละกิเลส คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ของการนินทาได้ตรงนั้น ขณะนั้น จนกระทั่งสามารถทำให้เจริญถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริงได้จนทำลายกิเลสกันทั้งๆที่ถูกนินทาอยู่นั่นแหละ

ซึ่งผลของวิปัสสนานั้นเมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งจริงๆแล้วก็ถือว่าจบ คำนินทาเหล่านั้นแม้จะมีก็เหมือนไม่มีอีกต่อไป มาอีกเป็นกองทัพก็เฉยๆ จะต่างกับสมถะตรงที่ว่าสมถะจะใช้การกด เมื่อปริมาณผัสสะมากเข้าๆ ก็จะเกินกำลังที่จะกดได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีขอบเขตในการกดที่จำกัด ที่นี้พอสายสมถะโดนผัสสะกระทุ้งเอามากๆ สุดท้ายก็จะออกอาการที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นกลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะเมื่อเข้าใจสมถะและวิปัสสนาจึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ้าเรื่องนี้เริ่มเกินกำลังก็ให้กดไว้ก่อน ปัดทิ้งไปก่อน ปล่อยวางไปก่อน แล้วค่อยเก็บไปวิปัสสนาทีหลังก็ได้ แต่ถ้ามีกำลังมากพอ เจอผัสสะกระทบแล้วไม่ถึงกับออกอาการมาก เช่นโดนนินทาต่อหน้าแล้วยังเฉยๆ แต่ยังมีความไม่สบายใจ อึดอัดบ้างก็ให้ทำวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปข่ม เพราะมันจะเสียเวลาและเสียของสดไป นั่นเพราะการจะรู้ถึงกิเลสได้ต้องเผชิญกับผัสสะสดๆ กระทบกันสดๆ แม้ว่าเราจะสามารถระลึกย้อนได้แต่ก็ไม่ใช่ของสด เป็นของแห้ง พอใช้แทนกันได้แต่ไม่ดีเท่าสิ่งที่มากระทบสดๆ

6).การประมาณกำลัง

การใช้สมถะและวิปัสสนาไม่ได้ใช้เพื่อรับผัสสะหรือรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะใช้ศีลเข้ามาช่วยในการศึกษากิเลส ซึ่งจะต้องใช้สมถะและวิปัสสนาในกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นว่า เราตั้งใจว่าจะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุด เมื่อเราตั้งศีลนี้ขึ้นมา ผัสสะจะมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งศีล ศีลจะทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่ควรกำจัด เช่น เราไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน เรายังจะลดเนื้อกินผักได้ไหม ความอยากเราเกิด เรารู้ตัวไหม แล้วอยากขึ้นมาเราจะทำอย่างไร จะกดข่มความอยากคงสภาพรูปสวยด้วยสมถะไปก่อนดีไหม หรือมีแรงพอจะวิปัสสนาเลยไหม หรือจะเอาไว้ก่อน ยอมแพ้กิเลสไปก่อน

ธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง สติมาปัญญาไม่ได้มาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นปัญญาจากสภาพกิเลสสงบมันก็ใช่ แต่อธิปัญญานั้นต้องสร้างเอง จะมีผลได้ก็ต้องสร้างเหตุเอง หลักของวิปัสสนาคือการสร้างปัญญาให้เจริญขึ้นในจิตใจ ถ้าเอาแต่กดข่มด้วยสมถะ ปัญญาก็จะไม่เกิดเพราะไม่ได้วิปัสสนาต่อ ถ้าไม่ขยันวิปัสสนาไม่ติดกามก็ติดภพอยู่แบบนั้น

ยกตัวอย่างที่สองให้เห็นการประมาณที่ชัดขึ้น นั่นคือศีลที่ยากมากขึ้น เช่นเราตั้งใจจะถือศีลกินมื้อเดียว เราไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่เราเห็นว่าศีลนี้ดีนะ เขาว่าดี พระพุทธเจ้าก็ว่าดี แม้เราจะยังไม่เห็นได้ชัดอย่างเขาว่ามันดีอย่างไร แต่เบื้องต้นเราก็ว่าดี อันนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เป็นมรรค แต่เมื่อถึงเวลาจริงมันไม่มีปัญญาพอที่จะกินมื้อเดียวนะ คือมันรู้ว่าดีแต่มันกินไม่ได้ มันจะไปกินหลายมื้ออยู่เรื่อย ใช้สมถะกดก็แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนก็แล้ว สุดท้ายก็ตบะแตก ว่าแล้วก็ปล่อยวางศีล เดินตามกิเลสไปกินหลายมื้อเหมือนเดิมเฉยๆอย่างนั้น

แบบนี้เรียกว่าเกินกำลัง เพราะประมาณกำลังของกิเลสต่ำเกินไป ถ้าสมถะกดไม่ลงก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา เพราะเมื่อพ่ายแพ้ให้กับกิเลสมากๆมันจะท้อได้เหมือนกัน วิปัสสนาไปมันก็แพ้กิเลสเท่านั้นเอง และมันไม่ได้ง่ายขนาดว่าพิจารณากันครั้งเดียวผ่าน มันต้องใช้เวลาขึ้นอยู่กับว่าทำสะสมมาเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ากดข่มด้วยสมถะเก่งแล้วจะสามารถถือศีลนี้ได้เสมอไป แม้จะถือได้ด้วยสมถะแต่ถ้าไม่ทำวิปัสสนามันก็ไม่มีปัญญา มันก็ถือศีลแบบถือไว้อย่างนั้น ถือแบบงมงาย ถือแบบกดข่มเท่านั้นเอง

7). ผลของความพอดีจากสมถะและวิปัสสนา

ความพอดีของสมถะและวิปัสสนาที่ตอบสนองต่อผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบคือเกิดความเจริญสูงสุด ความเจริญนี้ไม่ได้หมายถึงสามารถกดข่มได้อย่างยอดเยี่ยมหรือพิจารณาทีเดียวเกิดปัญญารู้แจ้ง แต่หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุดที่จะสามารถทำได้ของคนนั้นๆ บางคนมีปัญญาต่อกิเลสในเรื่องนั้นๆ 50% การรักษาสภาพที่พอดีพอเหมาะสูงสุดอาจจะหมายถึง สมถะ 0 วิปัสสนา 100 หรือสมถะ 80 วิปัสสนา 20 ก็เป็นได้ และการเจริญจาก 50% ไปสู่ 51% ก็อาจจะเป็นความเจริญสูงสุดที่คนผู้นั้นทำได้ ณ เวลานั้นก็เป็นได้

เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้กระทำความดับในทันที แต่สอนให้เกิดปัญญาไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยใช้ไตรสิกขาคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อช่วยก้าวข้ามกิเลสสามภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งสภาพของกิเลสในแต่ละภพนี้เองก็คือความหยาบ กลาง ละเอียดไปโดยลำดับ

เราไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายภพของกิเลสเหล่านี้ได้ เพราะสมถะทำได้อย่างมากก็แค่กดข่ม แต่จะสามารถกดข่มได้กี่ภพกี่ชาตินั้นไม่รู้ ส่วนตัวที่จะทำลายภพชาติของกิเลสจริงๆนั้นคือวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรง ประมาณกำลังให้เหมาะก็จะมีทิศทางที่จะเจริญไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงผลสุดท้ายคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสหรือวิมุตติในที่สุด

8). สับสนสมถะวิปัสสนา

ในปัจจุบันมีความสับสนในวิธีการปฏิบัติของสมถะและวิปัสสนาอยู่มาก ทั้งในส่วนของบัญญัติภาษาและในส่วนของการปฏิบัติ

ในส่วนของบัญญัติภาษา มีอยู่มากที่เรียกสมถะของตนว่าวิปัสสนา ตั้งชื่อว่าวิปัสสนาแบบนั้นแบบนี้ แต่พอปฏิบัติก็ใช้การกดข่มจิตเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ หรือทั้งสมถะและวิปัสสนาของเขาก็เป็นแค่สมถะ แต่ไปแตกวิธีปฏิบัติสมถะว่านั่งสมาธิ แล้วหมายเอาว่าการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณากดข่มกิเลสนั้นเป็นวิปัสสนา คือถ้าอยู่ในแนวทางของอุบายทางใจนั่นก็คือสมถะทั้งหมด จะตั้งชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ แต่โดยสัจจะมันก็สมถะอยู่ดี

ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ แต่ก็น่าจะเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ปฏิบัติแต่สมถะและสมถะ แบบนี้มันก็พากันไปติดภพเท่านั้นเอง วิปัสสนาก็ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วยังเข้าใจผิดไปอีก แบบนี้จะติดอีกนานแสนนาน

ในส่วนของการปฏิบัตินั้นมีความสับสนอยู่มากเช่นเดียวกับบัญญัติภาษา บางคนก็กล่าวหาว่าการคิดนั้นผิด ทั้งๆที่วิปัสสนานั้นเป็นการคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งโดยมากจะเป็นสายสมถะที่กระทำแต่การหยุดคิดแล้วหมายเอาการหยุดคิดนั้นเป็นวิปัสสนา มันก็เลยสับสนเช่นนี้

ถ้าหนักๆเข้าก็ข่มว่าวิปัสสนานั้นเอาแต่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน ซึ่งมันก็ถูกอย่างที่เขาว่า แต่ถ้าจะบอกว่าผิดทางนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะวิปัสสนาไม่ใช่ภพของการกดข่ม ไม่ได้ทำเพื่อความสงบอย่างสมถะ คนที่ติดสมถะและไม่มีปัญญาวิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจการชำแหละกิเลสด้วยปัญญาจากความฟุ้งเหล่านั้น ที่มันฟุ้งซ่านเพราะมันมีกิเลส วิปัสสนานั้นกระทำต่อกิเลส ไม่ได้กระทำต่อความฟุ้งซ่านดังเช่นสมถะวิธี

เมื่อผู้ทำสมถะไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจและพากันตีทิ้งวิปัสสนา เข้าไปติดภพ ติดสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะสภาพสงบของสมถะมันสบายจริงๆ มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องเอาภาระ ไม่ต้องอะไรมาก เหมาะจะเอาไว้พักจิต ซึ่งสรุปแล้วมันก็เป็นเพียงแค่อุบายทางใจเอาไว้พักเมื่อคิดพิจารณาทำลายกิเลสด้วยวิปัสสนาจนหัวร้อนนั่นแหละประมาณว่าเป็นที่พักริมทางเมื่อต้องเดินทางไกล

ทีนี้บางคนติดสบายก็หมายเอาสมถะเข้ามาเป็นทางปฏิบัติ หนักเข้าก็หมายว่าเป็นทางบรรลุธรรม ตีทิ้งวิปัสสนาไปเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าจะยืนยันกันก็มีหลักฐานมากมายในยุคพุทธกาล ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดหลายท่านไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ นั่นเพราะท่าน “คิด” พิจารณาตามโดยแยบคาย เห็นไหม คนที่มีอินทรีย์พละแก่กล้าไม่จำเป็นต้องใช้สมถะเลย

บางคนที่เข้าใจสมถะและวิปัสสนาอย่างผิวเผิน พอปฏิบัติมันก็แยกไม่ออก ปนเปกันไป ทำสมถะอยู่แต่ก็เข้าใจว่าทำวิปัสสนา หรือพวกที่วิปัสสนาก็เรียนรู้เพียงทฤษฏี คือรู้โดยภาษานะว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร แต่พอปฏิบัติก็กลายเป็นสมถะหมด

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ให้อภัยใจแข็ง

December 5, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 6,096 views 0

ให้อภัยใจแข็ง

ให้อภัยใจแข็ง

…เมื่อการให้อภัยไม่ได้หมายถึงการกลับมาเคียงคู่กันเสมอไป

การใช้ชีวิตไปพร้อมกับการมีคู่รักก็คงต้องกระทบกันมากบ้างน้อยบ้างเหมือนลิ้นกับฟันอยู่ด้วยก็ต้องกระทบกันเป็นธรรมดา เมื่อคนสองคนที่มีความเข้าใจ ความคิดเห็น ความต้องการที่ต่างกันมาอยู่ร่วมกันแล้วความไม่ลงตัวย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดาเช่นกัน

หากการทะเลาะเบาะแว้งนั้นเกิดจากเรื่องที่พอจะตกลงปรับความเข้าใจกันได้ ก็มักจะให้อภัยกันได้ง่าย ยอมให้กันได้ง่าย แต่หากเหตุแห่งการไม่พอใจกันนั้นเกิดขึ้นเพราะมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งนำปัญหามือที่สามเข้ามาในชีวิตคู่ เช่นมีกิ๊ก คบชู้ มีเมียน้อยผัวน้อย การจะให้อภัยจนถึงการตัดสินใจต่อจากนั้นจะเป็นเรื่องที่ยากและซับซ้อนขึ้นมาทันที

อย่างที่เรารู้กันว่าการคบชู้นั้นผิดศีลข้อที่ ๓ ซึ่งเป็นความผิดร้ายแรงต่อคนที่รักกัน ไว้ใจกัน เชื่อใจกัน ถึงขั้นที่สามารถทำลายศรัทธา ทำลายความไว้เนื้อเชื่อใจทั้งหมดที่เคยมีมาได้เพียงแค่รับรู้เรื่องราวการผิดศีลนั้น เมื่อมีผู้ผิดศีลจึงมีผู้ถูกเบียดเบียน และผู้ถูกเบียดเบียนด้วยกายวาจาและใจนั้นก็มีสิทธิ์ที่จะตัดสินใจเลือกกรรมที่จะรับต่อไป

1).ไม่ให้อภัย

คนที่ถูกคู่รักทำลายความเชื่อมั่นที่เคยมี นั้นมีสิทธิ์ที่จะเลือกไม่ให้อภัย ไม่ยกโทษ ไม่เผาผี ไม่ต้องมาพบมาเจอกันอีกเลยในชาตินี้ เหตุเกิดจากความเจ็บปวดความทุกข์ทรมานที่โดนหักหลัง โดนทำลายความไว้ใจ ถูกทำให้กลายเป็นคนไม่มีคุณค่า ฯลฯ

พอเราเสียสิ่งที่เคยยึดมั่นถือมั่นไว้หรือเสียคู่ของเราให้กับคนอื่นไป คือการพลัดพรากจากของรัก เสียสิ่งที่รักไป แม้ว่าเขาจะกลับมาขอคืนดี ยอมเลิกกับชู้ แต่สิ่งที่รักนั้นไม่ใช่ตัวบุคคลเพียงอย่างเดียวยังหมายรวมถึงความเชื่อใจ ความสบายใจ ความอบอุ่นใจที่ได้ใกล้ชิดกัน เมื่อเสียสิ่งเหล่านี้ไป ก็จะเกิดอาการขุ่นเคืองไม่พอใจ โกรธ ผูกโกรธ อาฆาต พยาบาท ได้ตามระดับความรุนแรงของกิเลส

หากถามว่าเรามีสิทธิ์ที่จะไม่ให้อภัยไหม ในเมื่อสิ่งที่เขาทำกับเราช่างดูโหดร้ายเหลือเกิน ก็จะตอบว่ามีสิทธิ์ที่จะเลือกกรรมนั้น แต่หากพิจารณาดีๆแล้วอภัยทานนั้นเป็นทานที่มีกุศลมาก เป็นบุญมาก นั่นเพราะเป็นทานที่มีผลต่อการตัดกิเลส คือตัดความโลภ โกรธ หลง

2).ให้อภัย

การที่เราให้อภัยนั้นหมายถึงเราได้ยอมลดความโกรธที่มี ยอมทำลายความหลงที่มีในตัวเขา ทำลายความหลงติดหลงยึดว่าคู่รักต้องดีต่อกันเสมอ ยอมรับความจริงใหม่ที่เกิดขึ้นและเข้าใจว่าอดีตที่เราได้รับไปนั้นเกิดจากกรรมที่เราทำมาเอง เป็นสิ่งที่เราทำมาทั้งหมด อภัยทานคือทานที่ไม่เป็นภัยแก่ใครเลย เมื่อเราดับความโลภโกรธหลงได้ เราก็จะไม่ทำร้ายตัวเองด้วยการสั่งสมกิเลส และจะไม่ไปทำร้ายใจใครด้วยกิเลสของเราเช่นกัน

คนที่เขาผิดศีลนั้นทำร้ายได้แม้กระทั่งคนที่ไว้ใจกัน เขาก็ทำบาปมากพอแล้ว ทำชั่วมากพอแล้ว การที่เราจะไปซ้ำเติมเขาจึงเป็นสิ่งที่ไม่ทำเสียเลยจะดีกว่า แม้ว่าเขานั้นจะมาทำร้ายจิตใจของเราก็ตาม เพราะเรารู้ตามจริงว่าการที่เขามาทำร้ายจิตใจของเรานั้นเป็นเพราะกรรมของเราดลให้เขาทำเช่นนั้นกับเรา ถ้าเราไม่เคยทำกรรมชั่วมามันก็ไม่มีทางได้รับ เพราะฉะนั้นเราจึงยินดียอมให้อภัยและรับกรรมนั้นเป็นของตนเองโดยไม่โทษใคร

เมื่อเราให้อภัย ไม่ถือโทษโกรธเคืองกับเขาแล้วแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะกลับมาเป็นเหมือนเดิม ตอนที่เขาได้นอกใจเราและเรื่องเปิดเผยออกมาแล้ว เรามีสิทธิ์ที่จะได้รับสถานะโสดกลับมาเป็นของเราอีกครั้ง ความโสดเป็นสมบัติที่มีค่าของเรา และเราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่รับความโสดนั้นกลับมาเช่นกัน

ในกรณีเมื่อเราให้อภัยจนหมดใจแล้ว คือไม่โกรธ ไม่แค้น ไม่อาฆาต ไม่ผูกโกรธ ไม่พยาบาท ไม่มีความขุ่นเคืองใจใดๆ ยอมรับกรรมที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง เมื่ออดีตคนรักมาขอร้องให้ช่วยให้อภัยเขาและกลับมาคบกันเหมือนเดิม ในส่วนของการให้อภัย เราสามารถให้อภัยได้หมดใจ แต่ในส่วนของการกลับมาคบกันเหมือนเดิมเราสามารถเลือกที่จะกลับไปคบหาหรือไม่กลับไปคบหากันเหมือนเดิมก็ได้

2.1).ให้อภัยใจอ่อน

มีหลายคนที่เลือกให้อภัยกับอดีตคู่รักที่ได้พลั้งพลาดเผลอตามกิเลสไปให้ผิดศีล แล้วยังใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในชีวิต ซึ่งการยอมให้เขากลับเข้ามาในชีวิตนั้นไม่ใช่ความต่อเนื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่เป็นการตัดสินใจใหม่ซึ่งเราได้เลือกตัดสินใจบนพื้นฐานจากข้อมูลเก่าที่มี เพราะเราเห็นดังเช่นว่า เขาน่าจะปรับปรุงตัวได้ เขาน่าจะสำนึกผิดแล้วไม่ทำอีก เขาน่าจะเข็ด น่าจะขยาดกับความผิดนี้ ในส่วนนี้เป็นเพราะความใจอ่อน เห็นใจเขา เมตตาเขา เห็นเขาอ้อนวอนแล้วสงสารอยากให้โอกาส ซึ่งถ้าพิจารณาจากข้อมูลเท่านี้ก็อาจจะทำให้ผิดพลาดได้ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วสาเหตุที่เขานอกใจคืออะไร อาจจะมีเหตุผลร้อยแปดพันเก้าที่ใช้ในการเป็นข้ออ้าง

ถ้าเรามองไม่ทะลุถึงเหตุที่แท้จริง ถ้าความรักยังบังตาอยู่ เราก็จะไม่สามารถเห็นกิเลสที่ผลักดันเขาได้ ซึ่งตรงนี้เองเป็นเชื้อร้ายที่สามารถกลับมากำเริบเมื่อไหร่ก็ได้ เมื่อการให้อภัยหรือการกลับมาคบกันไม่ได้มีผลไปลดกิเลสของเขา ความใจอ่อนในครั้งนี้อาจจะเป็นบทเริ่มของละครเรื่องเก่าที่นำมาเล่าใหม่ก็ได้

ในอีกมุมหนึ่งของความใจอ่อน คือมันอ่อนที่ตัวเราเอง อ่อนที่กิเลสเราเอง เรารู้ว่าเขาผิดศีลแล้วนะ เขาชั่วแล้วนะ แต่เราก็ยังรักเขา หวงเขา อยากได้เขากลับมา แม้เขาจะเคยทำผิดพลาดขนาดไหน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่เขาอ้างมา แต่ด้วยความอยากได้เขาคืนมา เราก็พร้อมจะยอมใจอ่อนให้เขากลับมาเสมอเพียงแค่เขาแสดงท่าทีสำนึกผิดให้รู้สึกสมใจเราสักนิดหนึ่ง ภาษาชาวบ้านก็เรียกว่า “ถ้ามาง้อสักหน่อยก็จะยอมคืนดี

หลายคนที่เวลาอดีตคนรักทำผิด ในช่วงแรกมักจะโกรธรุนแรง มีท่าทีผลักไส ทำท่าจะไม่เอา ไม่คบ ไม่อยากเจอ ทำเก๊ก มีฟอร์ม ซึ่งเป็นลักษณะหนึ่งของการ “งอน” ซึ่งจะมีความรุนแรงกว่าการงอนทั่วไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสุดท้ายก็จะพ่ายแพ้ด้วยการ “ง้อ” สรุปได้ว่าสุดท้ายก็ท่าดีทีเหลว ใจอ่อนตั้งแต่แรกแต่ก็ทำใจแข็งไปอย่างงั้นๆให้ดูดีเท่านั้นเอง

ในมุมนี้จะเป็นตัวเราเองที่ชักศึกเข้าบ้าน อย่างที่กล่าวอ้างมาก่อนหน้านี้แล้วว่า ถ้าไม่สามารถดับเหตุหรือกิเลสที่เขาไปนอกใจได้ ผลหรือการนอกใจก็อาจจะเกิดขึ้นอีกเมื่อไหร่ก็ได้ และส่วนมากเราจะใจอ่อนด้วยสาเหตุนี้เพราะเราเองก็มีกิเลสมาก อยากเสพเขาอยู่มาก ไม่สนใจว่าเขาจะชั่วจะเลวแค่ไหนขอให้ได้เสพเขาเป็นพอ เรากำลังเอาเขามาสนองกิเลสของเรา ซ้ำร้ายคนที่เราเอามานั้นยังเป็นคนบาป คนที่ทำชั่ว คนที่ห้ามใจตัวเองไม่ได้ ทั้งเราทั้งเขาก็กิเลสหนามันก็จะกลับมาเสพกันได้อยู่พักหนึ่งแล้วสุดท้ายมันก็จะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ไม่พอใจกัน จนเป็นเหตุให้มีคนใหม่หรือเลิกรากันอยู่ดี

ถ้าถามว่าการให้อภัยดีไหม ก็ตอบเลยว่าดีที่สุดในโลก แต่การกลับมาคบกันนั้นดีไหม ก็จะตอบว่าแล้วแต่เหตุปัจจัย ซึ่งโดยน้ำหนักแล้วคนที่นอกใจนั้นเป็นคนไม่ดี แล้วเรายังจะเสียดายคนไม่ดีไปทำไม จะเอาคนชั่ว คนบาปกลับมาในชีวิตทำไม

เราสามารถเป็นเพื่อนกับเขาได้ในระยะที่เหมาะสม พอให้เกิดกุศล ให้มีระยะห่างที่ตัวเราปลอดภัย สบายใจ ไม่เดือดร้อน ไม่กังวล หากจำเป็นต้องใกล้ก็ให้ระวังใจตัวเองไว้ให้ดีๆ อย่าไปพลั้งเผลอใจอ่อนเพราะเขามาง้อหรือเราอยากเสพเขาด้วยอารมณ์ชั่ววูบ

การที่เราใจอ่อนรับเขากลับเข้ามาในความสัมพันธ์ใดหรือในระยะใดก็ตาม ตัวเราเองได้กำหนดกรรมที่เราจะได้รับไว้ล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นในอนาคตเราจึงต้องรับกรรมนี้ไม่มากก็น้อย ซึ่งจะสุขน้อยทุกข์มาก หรือทุกข์มากจนทุกข์เกินทนนั้นก็สุดแล้วแต่กรรมจะบันดาล

2.2).ให้อภัยใจแข็ง

ในกรณีที่เขาทำผิดแล้วสำนึกผิดมาขออภัย เราสามารถให้อภัยเขาได้หมดใจ ไม่คิดแค้น แต่ไม่เอากลับเขาเข้ามาในชีวิตก็ได้ ซึ่งในมุมนี้คนจะมองเหมือนกับว่าเราไม่ให้อภัย ทั้งที่จริงการให้อภัยกับการรับเขากลับเข้ามาเป็นคนละเรื่องกัน

การที่เราให้อภัยเพราะเรามีจิตเมตตา ทั้งยังเห็นโทษของการจองเวร มีจิตพยาบาทผูกโกรธกันต้องมาชดใช้กันหลายภพหลายชาติ ซ้ำร้ายกิเลสที่เกิดขึ้นยังเป็นสิ่งน่ารังเกียจ เราจึงให้อภัยเพื่อตัวเราและผู้อื่น

และด้วยเหตุที่เรารักตัวเรามาก เราจึงไม่เปิดโอกาสให้เขาได้กลับมาทำร้ายเราอีก แม้จะดูมีความเสี่ยงน้อย แม้จะเหมือนว่าเขาจะสำนึกผิด ยอมรับผิดทุกอย่าง แม้จะดูเหมือนว่ามันจะไม่เกิดอีก แต่เราก็จะไม่ยอมเสี่ยงอีกเลย ก็คือการไม่กลับไปคบหาเป็นคนรัก ไม่เสี่ยงเพราะไม่ได้เล่นในเกมพนันครั้งนี้ เมื่อไม่เสี่ยงก็ไม่ต้องทุกข์เพราะกลัวจะเสียไป และไม่ต้องทุกข์ในยามเสียไป ความทุกข์ที่เกิดขึ้นเพราะการพรากในการตัดสินใจครั้งนี้อาจจะเป็นความทุกข์ที่น้อยกว่าทุกข์ในอนาคตมากนัก

เมื่อได้มองเห็นทุกข์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตนั้นแล้ว เราก็ปิดประตูทุกข์ ปิดทางทุกข์ไปเลยเสียดีกว่า ยอมให้ตัวเองเสียเขาไปวันนี้ดีกว่าต้องทุกข์ทรมานในวันหน้า เป็นความรักตัวเอง รักกรรมตัวเอง ไม่ทรมานตัวเองด้วยความอยาก ไม่เอาเขากลับมาเสพเพียงเพราะกลัวจะเสียเขาไป หรือเพราะเสียงของคนรอบข้าง

ความใจแข็งนี้นอกจากรักตัวเองแล้วยังรักอดีตคนรักอีก เพราะว่าแทนที่เราจะเปิดโอกาสให้เขากลับมาทำชั่วทำบาปกับเรา เรากลับปิดโอกาสนั้น ไม่ยอมให้เขาทำบาปทำชั่วกับเรา ถือว่าเป็นการช่วยเขาไม่ให้ทำเลวไปมากกว่านี้ หยุดบาปของเขาตั้งแต่ตอนนี้ ให้เขาได้สำนึก ให้เขาได้รับบทเรียน ให้เขาได้เรียนรู้จักการสูญเสีย ให้เขาได้รู้จักกรรม อันเป็นผลจากการกระทำของเขา เป็นความใจแข็งที่เต็มไปด้วยความเมตตา มองทะลุไปถึงบาปบุญกุศลอกุศลที่ซ่อนอยู่อีกมากมายในความใจแข็งนี้

หากเขาต้องการจะชดใช้ หรือแก้ตัว ก็ให้อยู่ในสถานะเพื่อน คนใกล้ชิด คนรู้จักหรือคนสนับสนุนอะไรก็ได้ที่อยู่ในระยะที่เหมาะสม ที่เราจะไม่เผลอไปทำบาปกับเขา และไม่ใกล้จนเขาเข้ามาทำบาปกับเรา บาปนั้นคือการเพิ่มกิเลส ถ้าเราใกล้กันแล้วกิเลสเพิ่มก็บาป เช่นการใกล้กันมากแล้วกลับไปใจอ่อนคบกันนี่มันก็เป็นบาป เพราะตอนแรกเรามีศีลที่จะไม่คบคนชั่วเป็นคนรัก แต่พอใกล้มากๆเราก็เกิดอาการอยากเสพสิ่งที่เขาเสนอให้หรืออยากเสพสิ่งที่เขามีแล้วเราก็ยอมลดศีลของเรา ยอมคบเขาดีกว่าถือศีล ยอมชั่วไม่ยอมอด ยอมบาปเพื่อที่จะได้เสพ

ความใจแข็งนี้หากเกิดเพราะความพยาบาท ความโกรธ นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าให้อภัยอย่างเต็มที่ เราจึงต้องล้างใจเราให้ดี ล้างกิเลสเราให้เกลี้ยงเสียก่อน แบ่งเรื่องเป็นสองเรื่องให้ชัดเจน คือเรื่องให้อภัยกับเรื่องกลับมาคบหากัน เพราะถ้าไม่ชัดเจน จะหลงไปว่าตนให้อภัยแต่ไม่กลับมาคบเพราะหลงว่าพิจารณาดีแล้ว แต่สุดท้ายพอเขามาง้อเข้ามากๆ ทำดีกับเรามากๆ เราก็ใจอ่อน อันนี้แสดงว่าเราไม่ชัดเจนตั้งแต่แรก เราไม่ได้ล้างใจตั้งแต่แรก การที่เราไม่กลับมาคบตั้งแต่ตอนแรกนั้นเพราะเรายังไม่ให้อภัย ไม่ใช่ให้อภัยใจแข็ง

ตรงนี้เองที่ทำให้เกิดความผิดคาดมากมาย หลายคนทำท่าเหมือนว่าใจแข็งปล่อยเวลาผ่านไปเป็นปีสองปี… ก็อาจจะกลับไปคบหากันได้เพราะว่าไม่ได้ล้างกิเลส แค่อยู่ในสภาพกดข่มไว้ วันดีคืนดีกิเลสเรากำเริบเราก็จะคิดใจอ่อน จนยอมให้อภัยกับเขาโดยไม่มีเหตุผลและกลับไปเสพเขาเอง เพราะมันอดอยากปากแห้งมานาน การอดโดยไม่ล้างกิเลสจะเกิดความทรมานสะสมสุดท้ายจะตบะแตก เหมือนกับคนที่โกรธอดีตคู่รักมาหลายปี พูดให้ใครฟังก็มีแต่ข้อเสีย สุดท้ายกลับไปคบกับเขาเอาเฉยๆ ซึ่งก็ทำให้คนรอบข้างหลายคนงงเป็นไก่ตาแตก เหตุการณ์แบบนี้ก็มีให้เห็นโดยทั่วไป

นั่นหมายถึงว่าหากเรายังไม่ล้างกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้จักกิเลสของตัวเอง ยังไม่รู้ ไม่ยอมรับว่ากิเลส เป็นความอยากที่ชั่วแค่ไหน เลวแค่ไหน นำความทุกข์ความฉิบหายให้ชีวิตแค่ไหน เราก็จะยังคงยินดีในการมีกิเลส สะสมบาป สะสมกรรมชั่วต่อไป แล้วก็ต้องมารับกรรมที่ตัวเองได้ก่อนไว้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

3.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

October 30, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,739 views 0

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

มนุษย์เป็นสัตว์กินตามกิเลส : ตอบสารพัดปัญหาไขทุกข้อข้องใจกับเรื่องมังสวิรัติ

ขึ้นชื่อว่ามนุษย์นั้น หลายคนก็คงจะเข้าใจว่าเป็นสัตว์ที่ประเสริฐ เป็นสัตว์ที่มีเมตตา มีปัญญา มีจิตใจสูงกว่าสัตว์เดรัจฉาน สร้างสรรค์สังคมและโลกให้เป็นไปอย่างสงบร่มเย็น

แต่ในขณะเดียวกันมนุษย์ก็สามารถเป็นสัตว์นรกได้เช่นกัน เบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งขัน เห็นแก่ตัว ทำลายสิ่งแวดล้อม ทำลายผู้อื่น อยากได้อยากมีสิ่งต่างๆมาปรนเปรอกิเลสตนเอง เป็นมนุษย์นรกที่สามารถสร้างความเดือดร้อนฉิบหายวายวอดให้กับคน สัตว์ และโลก สามารถทำสิ่งที่เลวร้ายเกินกว่าที่สัตว์เดรัจฉานจะสามารถทำได้

สัตว์นั้นล่าเพื่อดำรงชีพ ประทังความหิว ใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบันในทุกวัน แต่มนุษย์นั้นล่ามาเพื่อบำรุงบำเรอกิเลส จะว่ามีปัญญาสูงกว่าสัตว์ก็คงใช่ และจะว่ามีตัณหาสูงกว่าสัตว์ก็คงใช่อีกเหมือนกัน

เมื่อได้ศึกษาข้อมูลบางส่วนเกี่ยวกับผู้กินมังสวิรัติและปัญหาที่มีการถกเถียงกันในสังคมจึงนำมาวิเคราะห์และตอบคำถามกันใน 7 ประเด็นนี้

1)…คนเป็นสัตว์กินพืช หรือสัตว์กินเนื้อ

มีประเด็นที่ถกเถียงกันบ่อยครั้งระหว่างนักมังสวิรัติกับคนที่หลงรักเนื้อสัตว์ในเรื่องคนเป็นสัตว์กินพืชหรือกินเนื้อ โดยมักจะเอาหลักฐานมาตอบโต้กันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นลักษณะของฟัน ลำไส้และระบบการย่อย สำหรับเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เถียงกันไปก็เท่านั้น เอาชนะกันไปก็เท่านั้น ถึงจะพิสูจน์ได้ว่าจริงๆคนเป็นสัตว์กินพืช ยังไงคนที่เสพติดเนื้อสัตว์ก็ยังเลิกไม่ได้อยู่ดีนั่นแหละแต่ที่แน่ๆ คนเป็นสัตว์กินตามกิเลส

ในความเป็นจริงแล้วคนกินได้ทั้งพืชและเนื้อสัตว์ เราสามารถย่อยและได้พลังงานจากแหล่งพลังงานทั้งสอง แต่ผลที่ได้จะไม่เหมือนกัน หมู่คนที่มักกินเนื้อเป็นหลัก กินเนื้อเป็นส่วนมาก มักจะมีโรคมากและอายุสั้น เช่นชาวเอสกิโม มีโอกาสที่จะตายตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 30 ด้วยเหตุแห่งโรคเช่น มะเร็ง ในทางกลับกันชาวฮันซาได้ชื่อว่าอายุยืนนั้น มักจะไม่กินเนื้อสัตว์ กินพืชเป็นหลัก มีผลทำให้อายุเฉลี่ยประมาณ 120 ปี และไม่มีอาการป่วยจากโรคยอดฮิตเช่น มะเร็ง เบาหวาน ฯลฯ ชาวฮันซาที่อายุ 90 ยังแข็งแรงและสามารถเต้นได้

ดังจะเห็นได้ว่าทั้งพืชและเนื้อสัตว์มันกินได้เหมือนกันแต่ผลออกมาไม่เหมือนกัน ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” ดังนั้นคนที่หลงเสพติดเนื้อสัตว์ กินเนื้อสัตว์มาก มีส่วนเบียดเบียนมาก เขาก็จะมีโรคมากและอายุสั้น เขาเหล่านั้นใช้ชีวิตของตัวเองพิสูจน์สัจจะนี้ เขาเสียสละให้เราเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์มีทุกข์ มีโทษอย่างไร เราก็ดูเขาไป ไม่ต้องไปบังคับให้ใครเขามาเชื่อตามเราว่าการกินมังสวิรัตินั้นดี หรือไปบอกว่าทุกคนควรกินมังสวิรัติ

เพราะการจะมากินมังสวิรัติได้นั้น จำเป็นต้องพิจารณาให้รู้อย่าลึกซึ้งถึงคุณค่าของการกินมังสวิรัติและโทษจากการเบียดเบียนสัตว์อื่นเป็นอย่างมาก และไม่ใช่ทุกคนที่จะเข้าใจในเรื่องนี้ได้ หลายคนยินดีที่จะเบียดเบียนเพื่อให้ได้เสพรสที่ตนติดใจและหลงใหล โดยไม่หวั่นเกรงต่อบาป เวร ภัยที่จะเกิดกับตัวเองแม้แต่น้อย

การที่เรามัวแต่จะไปเอาชนะกัน ข่มกัน เอาเหตุผลมาขัดแย้งกันด้วยอารมณ์เป็นการสร้างความบาดหมาง ซึ่งก็ไม่ได้เป็นประโยชน์กับใครเลย ผู้กินมังสวิรัติไม่ควรจะไปเถียงกับใครจนเกิดความผิดใจกัน ควรจะชี้แจงด้วยเหตุผลแต่พอดี เขาจะเชื่อก็ได้ ไม่เชื่อก็ได้ เราได้บอกเขาแล้ว เราก็วาง สุดท้ายผลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่บาปบุญของเขา แต่เราจะไม่ไปทะเลาะกับเขาอย่างแน่นอน

ผู้กินมังสวิรัตินั้นนอกจากจะต้องมีเมตตาต่อเหล่าสัตว์เดรัจฉานแล้วยังต้องมีความเจริญทางจิตใจด้วย ไม่อย่างนั้นคนกินเนื้อเขาจะดูถูกเอาว่ากินผักกินหญ้าเหมือนวัวเหมือนควาย กินมังสวิรัติแล้วไม่มีปัญญา กินมังสวิรัติแล้วยังนิสัยเสียอยู่เหมือนเดิม เมื่อชาวมังสวิรัติถูกกล่าวหา พึงตั้งตนอยู่ในคำสอนสองประการของพระพุทธเจ้าคือ ๑ พึงตั้งตนอยู่ในความจริงแท้ ๒. ไม่หวั่นไหวขุ่นเคือง ผู้ที่สามารถทนต่อแรงกระแทกของโลก หรือทนต่อคำพูดของคนส่วนใหญ่ที่เขายังเสพเนื้อและหาเหตุผลมากมายที่จะยืนยันว่าการเสพเนื้อนั้นดีได้โดยไม่มีการทะเลาะวิวาท จึงจะเป็นผู้ที่เจริญ ดังคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า ผู้ไม่โกรธตอบ ผู้ที่กำลังโกรธอยู่ จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ชนะสงครามที่ชนะได้ยาก

คนที่เขาเห็นผิด เขาก็ต้องเห็นความถูก(มังสวิรัติ)เป็นความผิดอยู่แล้ว จะให้เขาเห็นเรื่องที่ถูกที่ดี เป็นเรื่องที่ถูกไม่ได้ ดังที่เขาเห็นว่าการกินเนื้อสัตว์นั้นถูกนั้นดี ทั้งที่จริงๆแล้วการเบียดเบียนเป็นสิ่งไม่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น สัตว์โลกย่อมเป็นไปตามกรรม เขาจะได้รับทุกข์ โทษ ภัย จากการเบียดเบียนของเขาในวันใดก็วันหนึ่ง และสุดท้ายในชาติใดชาติหนึ่งเขาก็จะเข้าใจและหันมากินมังสวิรัติเอง

2)…มังสวิรัติมีงานวิจัยรองรับไหม?

เรื่องมังสวิรัติมีงานวิจัยมากมาย และหลักฐานที่น่าเชื่อถือกว่างานวิจัยคือ มีคนกินมังสวิรัติที่ยังใช้ชีวิตปกติหรือมีศักยภาพมากกว่าคนทั่วไป ให้ได้ตรวจสอบคุณค่าของการกินมังสวิรัติ เป็นหลักฐานตัวเป็นๆ ไม่ใช่แค่กระดาษที่อาจจะสามารถอุปโลกน์กระบวนการวิจัยหรือบิดเบือนการเก็บข้อมูลได้ ยังเป็นคนที่ใช้ชีวิตมังสวิรัติอยู่ในโลกใบนี้ โลกเดียวกับคนที่เห็นว่าเนื้อสัตว์นั้นดี โลกเดียวกับคนที่คิดว่าการขาดเนื้อสัตว์จะไม่แข็งแรงนั่นแหละ

ในปัจจุบันเรามีความเจริญทางด้านการแพทย์ในการดูแลสุขภาพมากมาย แต่เรากลับพบโรคมากขึ้น คนป่วยมากขึ้น หมอและพยาบาลทำงานหนักมาขึ้น ทั้งที่จริงแล้ว เมื่อสังคมพัฒนาไปเรื่อยๆเราก็น่าจะมีความสุขขึ้น มีโรคน้อยลง อายุยืนยาวขึ้นสิ

แต่ในทุกวันนี้กลับเป็นไปในทางตรงกันข้าม เรามีอายุน้อยลง มีโรคมากขึ้น มีความสุขน้อยลง แม้ว่าเราจะได้เสพสมใจในสิ่งต่างๆก็ตาม ซึ่งอาจจะเป็นไปอย่างสอดคล้องกับคำตรัสของพระพุทธเจ้าที่ว่า “การเบียดเบียนทำให้มีโรคมากและอายุสั้น” เรากำลังใช้ชีวิตเบียดเบียนใครอยู่หรือเปล่า ทางที่เราเดินนั้นจะพาเราไปสู่ความสุขจริงหรือ การกินเนื้อสัตว์นั้นทำให้แข็งแรงจริงหรือ

โดยส่วนตัวแล้ว ผมเชื่องานวิจัยของพระพุทธเจ้าที่ท่านประกาศมาเมื่อกว่า 2600 กว่าปีมาแล้ว ว่าคนที่จะสงบจากกิเลสคือคนที่ไม่เบียดเบียน ,คนที่จะมีความผาสุกคือคนที่ไม่เบียดเบียน ส่วนใครจะเชื่องานวิจัยยุคใหม่ว่าเนื้อสัตว์ดีอย่างนั้นจำเป็นอย่างนี้ก็ตามใจ เพราะผมเองเชื่อเต็มใจว่าไม่มีใครรู้โลกอย่างแจ่มแจ้งไปกว่าพระพุทธเจ้าแน่นอน

3)…ยังเห็นพระฉันเนื้อสัตว์อยู่เลย

กลายเป็นเรื่องปกติของนักบวชยุคนี้ไปแล้วที่มีการฉันเนื้อสัตว์ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความพระทั้งหมดจะกินเนื้อสัตว์ ยังมีพระและนักบวชบางส่วนที่ท่านไม่ยินดีฉันเนื้อสัตว์ทำไมถึงมีทั้งนักบวชที่ยินดีและไม่ยินดี?

เหตุนั้นคงเพราะกิเลส นักบวชคนใดที่ไม่มีกิเลส รู้ถึงโทษของการเบียดเบียน ก็จะพร่ำสอนให้เหล่าศิษย์และผู้ศรัทธาได้เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ ในกรณีเดียวกัน นักบวชใดที่ยังไม่ตระหนักว่าความอยากกินเนื้อสัตว์คือกิเลส ก็จะไม่พร่ำสอนให้เลิกกินเนื้อสัตว์ หากสอนให้เลิกกินเนื้อสัตว์ไปแล้ว ตนเองก็อาจจะอดเสพเนื้อสัตว์ที่ตนหลงชอบไปด้วย

นักบวชนั้นอาจจะรับประเคนเนื้อสัตว์ก็ได้ แต่ท่านจะฉันหรือไม่เป็นอีกเรื่อง ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราไปถวายอาหารให้พระ ก็จะมีอาหารมากมายหลากหลาย ท่านสามารถพิจารณาอาหารได้ตามที่สมควร ตามกิเลสและปัญญาที่ท่านมี กิเลสมากก็หยิบเนื้อสัตว์กินไป กิเลสน้อยก็กินพืชผักแล้วพร่ำสอนให้คนได้เห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์

ในความเป็นจริงแล้ว ไม่มีคุณหรือประโยชน์ใดๆเลยในการเบียดเบียน ไม่ใช่สิ่งที่น่าสรรเสริญ กลับเป็นสิ่งที่ควรละอาย ว่าเรายังต้องใช้ชีวิตสัตว์อื่นมาเลี้ยงกายเพื่อเสพกิเลส

พระพุทธเจ้าท่านไม่เคยตรัสว่าห้ามกินเนื้อสัตว์ เพราะจริงๆแล้วมีเนื้อสัตว์ที่กินได้อยู่ นั่นคือเดนสัตว์ ซากสัตว์ที่สัตว์อื่นล่ามาแล้วเหลือทิ้งไว้ และสัตว์ที่ตายเองตามกรรมของมัน นั่นคือเนื้อที่กินได้ ไม่บาปในส่วนของปานาติปาต

ท่านยังตรัสตอบในตอนที่พระเทวทัตขอให้บัญญัติว่าให้นักบวชในพุทธศาสนาห้ามกินเนื้อสัตว์ ใครกินถือว่าผิด พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้เออออตามพระเทวทัต เพราะโดยสัจจะนั้นมีเนื้อที่กินได้ตามที่กล่าวมาข้างต้น ท่านจึงได้บัญญัติว่าสามารถกินเนื้อได้โดยให้เนื้อนั้นบริสุทธิ์ โดย ๓ ประการ คือ

๑ไม่ได้เห็นว่าเขาฆ่ามา .. เนื้อชิ้นนั้นเราไม่ได้เห็นไม่ได้รับรู้ว่าเขาได้จากการฆ่าสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารในมื้อนี้ .. แต่เราก็เห็นแล้วว่ามีฟาร์มสัตว์ มีโรงฆ่าสัตว์..

๒ไม่ได้ยินว่าเขาฆ่ามา … เนื้อชิ้นนั้นเราไม่ได้ยินใครกล่าวอ้างว่าเขาได้จากการสัตว์มาเพื่อเป็นอาหารในมื้อนี้ .. แต่เราก็ได้ยินแล้วว่าเนื้อชิ้นนั้นซื้อมาจากตลาด ที่มาจากโรงฆ่าสัตว์

๓ไม่รังเกียจว่าเขาฆ่ามา … ข้อสุดท้ายนี้คือข้อวัดคุณธรรมของคนอย่างแท้จริง ในสองข้อแรกนั้นยังพอใช้กิเลสหลีกเลี่ยงว่าไม่ผิดได้ แต่ในข้อสุดท้าย เรารู้อยู่เต็มอกว่าเนื้อสัตว์ในยุคสมัยนี้เกิดจากการฆ่ามา ไม่ว่าจะเนื้อสัตว์ในจานใดๆ เขาก็ฆ่ามาทั้งนั้น

เมื่อเกิดการฆ่า นักบวชผู้สงบจากกิเลสย่อมไม่ยินดีในการฆ่านั้น เมื่อไม่ยินดีจึงเกิดความรังเกียจในเนื้อนั้น เมื่อเกิดความรังเกียจก็ไม่สามารถกินเนื้อนั้นได้ เพราะไม่สบายใจเป็นอย่างยิ่งที่จะกินเนื้อสัตว์ที่เบียดเบียนมา

ในข้อสุดท้ายนี้ก็มีคนเฉโกเป็นอย่างมาก คือตีความเข้าข้างกิเลส ประมาณว่าอยากกินเนื้อเลยตีความให้กินเนื้อได้ ก็เลยบอกว่าตนเองไม่รังเกียจเนื้อที่เขาฆ่ามา ตีความเป็นแบบนี้ก็ออกนอกพุทธแล้ว เพราะพุทธนั้นย่อมไม่เบียดเบียน ย่อมไม่ยินดีในการเบียดเบียน พอตนรู้ว่าเนื้อนี้เขาฆ่ามา ไม่รังเกียจ เฉยๆ จิตว่าง คิดเอาเองว่ากินได้ ไม่บาป แล้วสุดท้ายก็กินเข้าไป มันก็มีแต่เพิ่มกิเลสเท่านั้นเอง เหมือนจะปล่อยวาง แต่ก็ไม่ปล่อยวาง

ผู้ปล่อยวางที่แท้จริงคือ ผู้ที่วางการเบียดเบียน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ไม่ทำให้สัตว์อื่นลำบาก คนที่ปล่อยวางโดยคำพูดแต่ยังเคี้ยวชิ้นเนื้ออย่างมีความสุขนั้นคือผู้ที่พูดธรรมะด้วยความคิด ไม่ใช่ความเข้าใจ

บางคนถึงกับอ้างว่าพระพุทธเจ้ากินเนื้อสัตว์ เอาเข้าจริงๆก็ไม่มีใครรู้หรอกเพราะเกิดไม่ทัน แม้ท่านจะรับประเคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าท่านกินเนื้อสัตว์ ในยุคนี้ไม่มีใครเกิดทัน คนที่อยากกินเนื้อสัตว์ก็ได้แต่เดาๆกันไปว่าท่านกินเนื้อสัตว์ประมาณว่าหาเหตุผลเพื่อที่จะได้กินเนื้อสัตว์โดยชอบธรรม

พระพุทธเจ้าบอกไว้ก่อนปรินิพพานว่า หลังจากท่านปรินิพพานไปแล้วพระธรรมจะเป็นศาสดาแทนท่าน และในบทโอวาทปาติโมกว่าด้วย เรื่องบรรพชิต (ผู้ออกบวช) ว่าถ้ายังกำจัดสัตว์อื่นอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้ออกบวชในพุทธศาสนา และ สมณะ (ผู้สงบจากกิเลส) ถ้ายังเบียดเบียนสัตว์อื่นให้ลำบากอยู่ก็ไม่ถือว่าเป็นผู้สงบจากกิเลสเลย

ธรรมะของศาสนาพุทธนั้น เป็นไปเพื่อความไม่เบียดเบียน เพื่อความมักน้อย เพื่อลดละกิเลส และกิเลสในด้านความอยากกินเนื้อสัตว์เป็นกิเลสในระดับหยาบ ไม่ใช่กิเลสที่ฝังลึกแก้ยากแต่อย่างใด สามารถกำจัดได้ง่าย ได้โดยไม่ลำบากนัก หากนักบวชใดยังมีความสุขจากการเสพเนื้อสัตว์อยู่นั้นก็ดูจะห่างไกลจากคำว่าผู้สงบจากกิเลสอยู่มาก

ถ้าเราเจอพระ หรือครูบาอาจารย์ที่เคารพก็ลองถามดูได้ว่าทำไมท่านไม่สนใจกินมังสวิรัติ ถ้าท่านยังไม่รู้โทษภัยของการเบียดเบียนก็ถวายธรรมเป็นทานให้แก่ท่านก็ได้ ว่าการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามาเบียดเบียนอย่างไร เปิดวีดีโอ เอาสื่อให้ท่านดู ให้ท่านพิจารณาเอาตามปัญญาของท่าน ที่เหลือก็สุดแล้วแต่บุญแต่กรรมว่าท่านจะเห็นว่าอย่างไร ถ้าท่านเห็นดีด้วยเราก็ให้ข้อมูลเพิ่ม ถ้าท่านไม่เห็นดีด้วยเราก็ปล่อยก็วางไป และกินมังสวิรัติของเราต่อไป วันใดวันหนึ่ง ชาติใดชาติหนึ่ง ที่ท่านเห็นโทษภัยของการเบียดเบียน ท่านก็จะเลิกกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา หันมากินมังสวิรัติเองนั่นแหละ

แต่ก็อย่างว่า… นี่มันก็ใกล้กลียุคแล้ว การที่ศาสนาจะเพี้ยนไปในทางเบียดเบียน เป็นไปในทางสะสม เป็นไปในทางเพิ่มกิเลสก็เป็นไปได้ ดังที่เราเห็นในข่าวที่ประโคมอยู่ในปัจจุบัน อย่าว่าแต่มังสวิรัติเลย ที่ชั่วกว่ามังสวิรัติก็มีมาก อลัชชีหรือคนหากินกับผ้าเหลืองที่แฝงมาในศาสนาก็ทำให้ภาพลักษณ์ศาสนาดูเหมือนจะเสื่อมไปไม่น้อย

4)…กินมังสวิรัติไม่มีแรง

เป็นประเด็นอุปาทานระดับโลก ถ้าไปถามคนหัดกินมังสวิรัติใหม่ๆเขาก็จะตอบอย่างนั้น เพราะเขาไม่เข้าใจการกินมังสวิรัติ หรือกินไม่เป็น คือเลือกกินอาหารที่ไม่มีคุณค่า แต่ถ้าไปถามผู้ที่ใช้ชีวิตไปกับมังสวิรัติเขาก็จะตอบทันทีว่า “ข้อคิดเห็นที่ว่ากินมังสวิรัติแล้วไม่มีแรง ไม่เป็นความจริง

จากการทดลองกินมังสวิรัติ แม้ว่าจะกินมื้อเดียวต่อวัน (กินครั้งเดียว นอกจากนั้นไม่มีอะไรเข้าปากอีก ยกเว้นน้ำเปล่า) ยังสามารถที่จะมีกำลังขุดดิน ปลูกต้นไม้ ขนถุงปุ๋ย ผสมปูน ออกแบบงาน ออกแบบสถานที่ ฟังธรรม เรียกได้ว่ามีแรงทั้งบู๊และบุ๋น ได้ทั้งสายแรงงานและสายคิดคำนวณ ในเวลาทั้งวัน ตื่นตั้งแต่ตี 5.45 จนถึง 21.00 โดยประมาณ

ถ้าสามารถข้ามพ้นอุปาทาน หรือสภาพที่คิดไปเอง ข้ามความยึดมั่นถือมั่นว่าถ้าไม่กินเนื้อสัตว์แล้วจะหมดแรง อ่อนเพลีย ไปได้ ก็จะสามารถเข้าใจได้ว่าจริงๆแล้วกินมังสวิรัติมันก็ไม่ได้ทำให้ร่างกายแตกต่างจากทั่วไปนักหรอก ออกจะเอนเอียงไปในทิศทางสบายกว่าเดิมด้วยซ้ำ

5)…เขาเกิดมาเพื่อให้เรากิน กินเขาแล้ว เขาได้บุญ

คนกินเนื้อหลายคนหลงเข้าใจผิดว่าสัตว์นั้นเกิดขึ้นมาให้เรากิน จริงๆเขาไม่ได้เกิดมาให้เรากิน เราไปจับเขามา นำเขามาใส่กรง เพาะพันธุ์เขา ข่มขืนเขาด้วยกระบอกน้ำเชื้อ ให้เขาได้ออกลูกออกหลานมาให้เรากิน กักขังเขา ผลิตเขา มองเขาเป็นทรัพย์ของเรา เป็นอาหารของเรา ทั้งที่จริงแล้วเขาไม่เคยพูดกับเราสักคำว่ายินดีให้เรากิน ไม่มีสัตว์ตัวไหนยินดีจะตาย มันทั้งวิ่งหนี ทั้งร้องไห้ เมื่อมันจะต้องถูกจับ ถูกฆ่า สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ยืนยันว่าเขาเกิดมาเพื่อให้เรากินหรือ? เราสามารถข่มเหงเขาได้หมายความเขาเป็นของเราหรือ? การที่เขาวิ่งหนีคือความยินดีให้เรากินจริงๆหรือ?

เราสามารถเลือกที่จะกินหรือไม่กินเขาได้ แต่โดยสามัญของกึ่งพุทธกาล คนส่วนมากมันโดนมอมเมาด้วยกิเลส หลงมัวเมาว่ากินเนื้อไม่ผิด เราจำเป็นต้องกินเนื้อ ถึงขนาดหลงหนักๆไปว่ากินเขาแล้วเขาจะได้บุญ ก็เฉโกกันไปตามกำลังกิเลสของแต่ละคน

เราไปกินเนื้อสัตว์ที่ถูกฆ่ามามันไม่มีบุญอยู่แล้ว เพราะครบองค์แห่งปาณาติปาต บาปเน้นๆไม่ต้องคิดกังวลเลย แม้แต่ในบทของมิจฉาวณิชชาว่าด้วยการค้าที่ชาวพุทธไม่ควรกระทำ คือ ค้าขายสัตว์เป็น และค้าขายสัตว์ตาย สรุปคือไม่ว่าจะขายสัตว์เป็นหรือตายก็ไม่ใช่พุทธ พระพุทธเจ้าท่านไม่ได้ห้าม แต่บอกว่าชาวพุทธไม่ควรทำ จะทำก็ได้ แค่ไม่อยู่ในวิสัยของพุทธ และถ้าศาสนาพุทธเป็นไปเพื่อความผาสุก แล้วเราทำไม่ถูกทางพุทธ ก็หันหัวไปนรกเท่านั้นเอง

สัตว์ที่ถูกฆ่ามาเป็นอาหารก็ไม่มีทางได้บุญ เพราะคำว่าบุญ หมายถึงการชำระกิเลส การลดกิเลส แล้วโดนฆ่าตายมันกิเลสลดตรงไหน ถ้าบอกว่าตายเพื่อใช้กรรมอันนี้ค่อยตรงประเด็น เพราะถ้าไม่ทำกรรมมาก็ไม่ต้องไปต้องมาตายอย่างทรมาน ก็เป็นไปตามสัจจะ ดังนั้นการจะบอกว่าเรากินเขา เขาได้บุญ อันนี้คิดเข้าข้างตัวเองกันไปเพราะความหลง

หรือถ้าสมมุติแบบมั่วๆมิจฉาทิฏฐิหลุดโลกเลยว่า “กินเขา เขาได้บุญ” เอาแบบคิดเฉโกสุดๆไปเลย แล้วเรากินเขา สุดท้ายเราเอาร่างกายที่ได้พลังงานจากเนื้อของเขาไปทำบาป ไปเสพกิเลส ล่าลาภ ยศ สรรเสริญ ไปทำลายโลก ไปหลงมัวเมากับกิเลส เช่น เอาร่างกายไปแต่งตัวโป๊ๆยั่วกามชาวบ้าน เอาร่างกายไปเสพอาหารอร่อย เอาร่างกายไปท่องเที่ยวบันเทิงเริงใจ เอาร่างกายไว้ห้อยกระเป๋าแพงๆ เอาร่างกายไว้ทำสารพัดกิจกรรมสนองกิเลส…มันจะได้บุญตรงไหน เขาตายไปเพื่อให้คนกิเลสหนา เอาไปต่อชีวิตสะสมกิเลส แล้วก็ไปกินพวกพ้องเขาต่อ มันได้บุญตรงไหน อย่างไร?

6)…มังสวิรัติ พวกโลกสวย

ถ้ามังสวิรัติคือโลกสวย โลกที่ไม่เบียดเบียนกัน แล้วมันไม่ดีหรือไร หรือเราชอบโลกที่เบียดเบียน แก่งแย่ง แข่งขัน ชิงดีชิงเด่น ฆ่าฟันกัน อยากกินต้องล่า โดยไม่สนใจว่าผู้ที่ถูกล่า ถูกเบียดเบียนจะรู้สึกเช่นไร อย่างนั้นมันดีหรืออย่างไร ..อยากได้โลกแบบไหนต้องสร้างเอาเอง โลกมันจะเป็นอย่างไหนมันก็อยู่ที่คนสร้างให้เป็นแบบนั้น คนมีกิเลสสร้างโลกก็เต็มไปด้วยกิเลส มันก็เป็นเช่นนั้น โลกสวยเริ่มสร้างได้ตั้งแต่ตนเอง ครอบครัว ชุมชน สังคมขยายขึ้นไปเรื่อยๆ เท่าที่กำลังจะทำได้ ถึงจะไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ แต่อย่างน้อยแค่พยายามทำตนเองให้เบียดเบียนผู้อื่นน้อยที่สุดก็พอแล้ว

7)…รู้หมดแต่อดไม่ได้

การกินมังสวิรัติไม่ได้ง่ายขนาดจะคิดเอาแล้วตัดได้ทั้งหมด หลายคนลดการกินสัตว์ใหญ่ได้ก็เป็นเรื่องที่ดีแล้ว แต่ก็ยังมีความอยากกินเนื้อสัตว์อื่นๆเหลืออยู่ บางคนแม้ว่าจะงดกินเนื้อสัตว์ทั้งหมดได้ แต่ก็ยังมีความอยากกินอยู่ จนบางครั้งตบะแตกกลับไปกินเนื้อสัตว์ อยู่ในสภาพที่ว่ารู้หมดว่าอะไรดี อะไรชั่ว แต่มันอดไม่ได้จริงๆ

อันนี้เรียกว่าไม่รู้จริง เพราะถ้ารู้จริง มันจะไม่มีความอยากเหลือเลย มันจะเบื่อ มันจะคลายความอยากไปเอง ต่อให้เอาเนื้อสัตว์ชั้นดีส่งฟรีถึงบ้านทุกเช้าก็ไม่สนใจใยดี ถ้ารู้จริงมันก็ต้องรู้แบบนี้ ถ้ารู้หมดแต่อดไม่ได้นี่แสดงว่ารู้ไม่จริง

การที่จะดับความอยากได้นั้น จำเป็นต้องมีผู้สอนและถ่ายทอดวิธีการฆ่ากิเลสให้ ไม่ใช่เรื่องธรรมดาทั่วไปที่เข้าใจได้โดยการท่องจำ ธรรมะของพระพุทธเจ้าไม่ใช่เรื่องที่เดาเอาเองได้ ไม่ใช่เพียงแค่ดูสัตว์ทรมานหรือดูสัตว์ตาย หรือเมตตาสัตว์แล้วจะผ่านไปได้ เพราะนรกจริงๆมันอยู่ที่ความสุขตอนเอาเนื้อสัตว์เข้าปาก ถ้ายังเหลืออารมณ์สุขอยู่แสดงว่ากิเลสยังไม่ตาย ต่อให้กินมังสวิรัติมาทั้งชีวิตแต่กิเลสไม่ตายมันก็ไม่ได้พบกับความผาสุกที่แท้จริงเสียที

ดังนั้นผู้ที่กินมังสวิรัติได้ไม่ควรประมาท เพราะการกินพืชผักทั้งชีวิต วัวควายมันก็กินได้ เราเป็นมนุษย์ เป็นสัตว์ประเสริฐผู้ประกอบไปด้วยปัญญา จึงควรเห็นค่าของมังสวิรัติมากกว่าแค่การกินพืชผัก มากกว่าแค่เมตตาสัตว์ มากกว่าแค่ไม่เบียดเบียนผู้อื่น นั่นคือการกินมังสวิรัติเพื่อดับความอยากอย่างสิ้นเกลี้ยง จึงจะถือได้ว่าเป็นคุณค่าสูงสุดของการกินมังสวิรัติ

– – – – – – – – – – – – – – –

30.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์