Tag: สมถะอย่างเดียว

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

April 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,967 views 0

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

การปฏิบัติร่วมกันของสมถะและวิปัสสนา

โดยทั่วไปแล้วเรามักจะได้ยินความสัมพันธ์ของสมถะและวิปัสสนากันไปต่างๆนาๆ บ้างก็ว่าต้องคู่กันเสมือนขาทั้งสองข้างต้องก้าวไปด้วยกัน แต่จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ เราจะมาขยายกันในบทความนี้ด้วย 8 หัวข้อที่จะมาเสนอข้อมูลในหลายๆ ประเด็น

1).สมถะและวิปัสสนา

สมถะนั้นเป็นการใช้อุบายต่างๆเข้ามาควบคุมใจ ไม่ว่าเราจะใช้วิธีนั่งสมาธิ เดินจงกรม สร้างตัวรู้ เจริญสติ เพ่งกสิณ หรือใช้การคิดบวกหรือพิจารณาธรรมเพื่อ “กด” ให้เกิดสภาพนิ่งของใจ ไม่ว่าจะอุบายเช่นไรแต่ถ้ากระทำไปเพื่อให้เกิดความสงบใจ นั้นคือสมถะทั้งสิ้น

ส่วนวิปัสสนานั้นเป็นอุบายทางปัญญา ที่จะทำให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริงตามความเป็นจริง ไม่ใช่ตามที่กิเลสอยากให้เป็น

สมถะนั้นมีอยู่คู่โลกนานแล้ว ต่างจากวิปัสสนาซึ่งเป็นวิธีของพุทธโดยตรง หากจะกล่าวว่าสิ่งใดถูกตรงก็คือวิปัสสนา แต่พระพุทธเจ้าท่านก็ไม่ได้ตีทิ้งสมถะ เพราะสามารถใช้เป็นอุปการะได้ คือเป็นเครื่องช่วยให้เจริญวิปัสสนาให้ดีขึ้นได้ แต่จะช่วยอย่างไรจะไปขยายกันในข้อต่อไป

2).สมถะอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ แต่ถ้าจะให้บรรลุธรรมตามแนวทางของพุทธนั้นตอบว่าไม่ได้

เมื่อเราทำแต่สมถะเราก็จะได้ผลแบบสมถะ (มิจฉาผล) ทางของสมถะคืออุบายทางใจ ยิ่งทำยิ่งสงบ ยิ่งทำยิ่งติดภพ จมดิ่งเข้าไปในความมืด ดับความคิด ดับสัญญา ดับไม่เหลืออะไรเลย สภาพของผู้ทำสมถะนั้นมักจะมีภาพลักษณ์ที่ดูสงบต่อสถานการณ์ได้ดี

ถ้าในยุคสมัยก่อนก็จะเรียกว่าฤๅษี แต่ตอนนี้ไม่มีภาพเช่นนั้นแล้ว เพราะเปลี่ยนรูปกันมาอยู่ในผู้ปฏิบัติธรรม ทั้งฆราวาสทั้งนักบวชก็มีฤๅษีปนอยู่มาก ซึ่งมรรค(วิถีการปฏิบัติ)ของเขาเหล่านั้นมักจะหนักไปในทิศทางของทำสมาธิ การระลึกรู้ หรือวนเวียนอยู่กับการควบคุมกดข่มจิตใจให้เกิดสภาพสงบ

3).วิปัสสนาอย่างเดียวทำได้ไหม

ตอบว่าได้ ซึ่งวิปัสสนานี้เองเป็นกระบวนการโดยตรงของพุทธอยู่แล้ว

เราสามารถวิปัสสนาเพียงอย่างเดียวได้ โดยที่ไม่จำเป็นต้องพึ่งสมถะเลย หากเรามีเจโตหรือพลังของจิตที่เคยสะสมไว้มากพอ เรียกได้ว่าสามารถพิจารณาทำลายกิเลสได้ด้วยปัญญาล้วนๆจนถึงปลายทางได้เลย เพราะถ้ามีปัญญาเต็มรอบมันก็ไม่ต้องไปกดข่มกิเลสให้เสียเวลา ชักดาบออกมาแล้วเชือดทิ้งได้ทันที

แต่ถ้าเรากำลังน้อย อินทรีย์พละอ่อน ก็อาจจะเหมือนเอาไม้จิ้มฟันไปสู้กับช้าง สมถะจะเข้ามาเติมเต็มในจุดนี้ แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะใช้สมถะกดข่มได้เสมอไป เพราะมีองค์ประกอบอื่นที่ส่งผลเช่น กรรมและผลของกรรม หรือเหตุการณ์ที่เกินกำลังมากไป

สภาพของคนที่วิปัสสนาแต่ไม่มีกำลังมากพอก็เหมือนกับนักมวยผู้มีทักษะที่เก่งแต่ไม่ฝึกซ้อมร่างกาย ดังนั้นการจะเอาชนะกิเลสนั้นก็ยากหน่อย แต่ก็มีโอกาสถึงเป้าหมาย ต่างจากสมถะอย่างเดียวแม้จะเอาดีแค่ไหนก็ไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมใดๆ

4).อะไรสำคัญกว่ากัน

ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว จะเห็นว่าน้ำหนักของวิปัสสนามากกว่าเพราะมีมรรคผลในแบบพุทธอย่างชัดเจน แต่ถึงกระนั้นก็ไม่สามารถจะสรุปได้ว่าอะไรสำคัญกว่ากันได้ชัดเจนเสมอไป

เราไม่สามารถบอกได้ว่าต้องใช้สมถะกดก่อนแล้วค่อยวิปัสสนาจึงจะถูก อันนี้มันก็ผิดสำหรับคนอินทรีย์พละแก่กล้า เพราะถ้าเขาไปเสียเวลาสมถะ เขาก็พ้นทุกข์ช้า และผิดไปจากสัจจะของพระพุทธเจ้านั่นคือธรรมใดวินัยใดเป็นไปเพื่อความเนิ่นช้า ธรรมนั้นไม่ใช่ของพระพุทธเจ้า

และถ้าบอกว่าใช้แต่วิปัสสนา สุดท้ายก็ถึงอยู่ดี มันก็ถูก แต่ถ้ามันทำให้ช้า มันก็ผิด เพราะเมื่อปฏิบัติถึงระดับหนึ่ง ศึกษาสามอย่างคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไประดับหนึ่ง อินทรีย์พละที่มีอยู่มันจะเริ่มไม่พอ เพราะศีลที่ยากขึ้นจะต้องใช้จิตที่มากขึ้นและปัญญาที่มากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นผู้มีอินทรีย์พละแก่กล้าแม้ว่าจะวิปัสสนาได้ไวในช่วงแรก สามารถชำแหละกิเลสจนรู้แจ้งเห็นจริงได้ แต่ก็อาจจะไม่สามารถใช้ต่อกรกับกิเลสทุกตัวได้

ดังนั้นการจะสรุปว่าอะไรสำคัญกว่าคงต้องประเมินตามสถานการณ์ เพราะแต่ละคนมีกรรมเป็นของตน มีกิเลสของตัวเอง จึงต้องใช้วิธีและสัดส่วนในการแก้ของตนเอง ไม่ใช่ว่าจะมาสรุปว่าต้องสมถะมากกว่าหรือวิปัสสนามากกว่า ความยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ทำให้บรรลุธรรมได้ไว แต่ความว่องไวในการปรับความพอดีของสมถะและวิปัสสนาต่างหากจึงทำให้เจริญ

5).กลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะ

เมื่อมีผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ การรับมือกับผัสสะโดยทั่วไปอย่างไม่ต้องศึกษากันเลยก็คือใช้สมถะกดข่มความคิดไม่ดีไว้ ถ้าเก่งขึ้นมาหน่อยก็เป็นสมถะจากการศึกษาธรรมะ เจริญสติบ้าง สร้างตัวรู้บ้าง ใช้ข้อธรรมะบ้าง ก็เอาไว้กดข่ม ดับความฟุ้งซ่าน ดับความคิดนั่นเอง

สมมุติว่ามีเหตุการณ์ดังเช่นว่า คนมานินทาเราทั้งต่อหน้าและลับหลัง สมถะในระดับสามัญสำนึก จะกดไว้ด้วยการรักษาภาพลักษณ์ สงบสยบความเคลื่อนไหว ถ้าเป็นผู้ศึกษาธรรมก็จะมีท่าของสมถะมากขึ้นในการตบผัสสะนั้นๆทิ้งเช่น บริกรรม ยุบหนอ พองหนอ , พุทโธ ,ตั้งสติรู้ไปที่ร่างกาย หรือใช้ข้อธรรมเข้ามาตบว่า ทุกสิ่งไม่เที่ยง มันเกิดขึ้นตั้งอยู่ดับไป ไม่ใช่ตัวเราของเรา สมถะจะทำงานในลักษณะนี้

ส่วนวิปัสสนานั้นจะต่างออกไปเพราะการวิปัสสนาได้นั้นต้องมีพื้นฐานของสติที่สมบูรณ์อยู่แล้ว นั่นหมายถึงว่าคนที่สามารถทำวิปัสสนาในระหว่างเกิดผัสสะนั้น เขามีอินทรีย์พละแกร่งพออยู่แล้ว จึงสามารถชำแหละกิเลส คือเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ของการนินทาได้ตรงนั้น ขณะนั้น จนกระทั่งสามารถทำให้เจริญถึงขั้นรู้แจ้งเห็นจริงได้จนทำลายกิเลสกันทั้งๆที่ถูกนินทาอยู่นั่นแหละ

ซึ่งผลของวิปัสสนานั้นเมื่อเกิดปัญญารู้แจ้งจริงๆแล้วก็ถือว่าจบ คำนินทาเหล่านั้นแม้จะมีก็เหมือนไม่มีอีกต่อไป มาอีกเป็นกองทัพก็เฉยๆ จะต่างกับสมถะตรงที่ว่าสมถะจะใช้การกด เมื่อปริมาณผัสสะมากเข้าๆ ก็จะเกินกำลังที่จะกดได้ ซึ่งแต่ละคนจะมีขอบเขตในการกดที่จำกัด ที่นี้พอสายสมถะโดนผัสสะกระทุ้งเอามากๆ สุดท้ายก็จะออกอาการที่เรียกว่าตบะแตกนั่นเอง

ดังนั้นกลยุทธ์ในการรับมือกับผัสสะเมื่อเข้าใจสมถะและวิปัสสนาจึงควรใช้ให้เป็นประโยชน์ เช่น ถ้าเรื่องนี้เริ่มเกินกำลังก็ให้กดไว้ก่อน ปัดทิ้งไปก่อน ปล่อยวางไปก่อน แล้วค่อยเก็บไปวิปัสสนาทีหลังก็ได้ แต่ถ้ามีกำลังมากพอ เจอผัสสะกระทบแล้วไม่ถึงกับออกอาการมาก เช่นโดนนินทาต่อหน้าแล้วยังเฉยๆ แต่ยังมีความไม่สบายใจ อึดอัดบ้างก็ให้ทำวิปัสสนาไปเลย ไม่ต้องไปข่ม เพราะมันจะเสียเวลาและเสียของสดไป นั่นเพราะการจะรู้ถึงกิเลสได้ต้องเผชิญกับผัสสะสดๆ กระทบกันสดๆ แม้ว่าเราจะสามารถระลึกย้อนได้แต่ก็ไม่ใช่ของสด เป็นของแห้ง พอใช้แทนกันได้แต่ไม่ดีเท่าสิ่งที่มากระทบสดๆ

6).การประมาณกำลัง

การใช้สมถะและวิปัสสนาไม่ได้ใช้เพื่อรับผัสสะหรือรับมือเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันในชีวิตเพียงอย่างเดียว แต่ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะใช้ศีลเข้ามาช่วยในการศึกษากิเลส ซึ่งจะต้องใช้สมถะและวิปัสสนาในกระบวนการเหล่านี้เช่นกัน

ยกตัวอย่างเช่นว่า เราตั้งใจว่าจะลดเนื้อกินผักให้ได้มากที่สุด เมื่อเราตั้งศีลนี้ขึ้นมา ผัสสะจะมากกว่าคนที่ไม่ได้ตั้งศีล ศีลจะทำหน้าที่เป็นตัวชี้ให้เห็นถึงกิเลสที่ควรกำจัด เช่น เราไปกินข้าวกับเพื่อนร่วมงาน เรายังจะลดเนื้อกินผักได้ไหม ความอยากเราเกิด เรารู้ตัวไหม แล้วอยากขึ้นมาเราจะทำอย่างไร จะกดข่มความอยากคงสภาพรูปสวยด้วยสมถะไปก่อนดีไหม หรือมีแรงพอจะวิปัสสนาเลยไหม หรือจะเอาไว้ก่อน ยอมแพ้กิเลสไปก่อน

ธรรมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นลอยๆ ปัญญาไม่ได้เกิดขึ้นเอง สติมาปัญญาไม่ได้มาเองโดยอัตโนมัติ ถ้าเป็นปัญญาจากสภาพกิเลสสงบมันก็ใช่ แต่อธิปัญญานั้นต้องสร้างเอง จะมีผลได้ก็ต้องสร้างเหตุเอง หลักของวิปัสสนาคือการสร้างปัญญาให้เจริญขึ้นในจิตใจ ถ้าเอาแต่กดข่มด้วยสมถะ ปัญญาก็จะไม่เกิดเพราะไม่ได้วิปัสสนาต่อ ถ้าไม่ขยันวิปัสสนาไม่ติดกามก็ติดภพอยู่แบบนั้น

ยกตัวอย่างที่สองให้เห็นการประมาณที่ชัดขึ้น นั่นคือศีลที่ยากมากขึ้น เช่นเราตั้งใจจะถือศีลกินมื้อเดียว เราไม่เคยทำมาก่อนเลย แต่เราเห็นว่าศีลนี้ดีนะ เขาว่าดี พระพุทธเจ้าก็ว่าดี แม้เราจะยังไม่เห็นได้ชัดอย่างเขาว่ามันดีอย่างไร แต่เบื้องต้นเราก็ว่าดี อันนี้เรียกว่ามีปัญญาที่เป็นมรรค แต่เมื่อถึงเวลาจริงมันไม่มีปัญญาพอที่จะกินมื้อเดียวนะ คือมันรู้ว่าดีแต่มันกินไม่ได้ มันจะไปกินหลายมื้ออยู่เรื่อย ใช้สมถะกดก็แล้ว ทุกอย่างไม่เที่ยง ไม่มีตัวตนก็แล้ว สุดท้ายก็ตบะแตก ว่าแล้วก็ปล่อยวางศีล เดินตามกิเลสไปกินหลายมื้อเหมือนเดิมเฉยๆอย่างนั้น

แบบนี้เรียกว่าเกินกำลัง เพราะประมาณกำลังของกิเลสต่ำเกินไป ถ้าสมถะกดไม่ลงก็แทบจะไม่ต้องพูดถึงวิปัสสนา เพราะเมื่อพ่ายแพ้ให้กับกิเลสมากๆมันจะท้อได้เหมือนกัน วิปัสสนาไปมันก็แพ้กิเลสเท่านั้นเอง และมันไม่ได้ง่ายขนาดว่าพิจารณากันครั้งเดียวผ่าน มันต้องใช้เวลาขึ้นอยู่กับว่าทำสะสมมาเท่าไหร่ ไม่ใช่ว่ากดข่มด้วยสมถะเก่งแล้วจะสามารถถือศีลนี้ได้เสมอไป แม้จะถือได้ด้วยสมถะแต่ถ้าไม่ทำวิปัสสนามันก็ไม่มีปัญญา มันก็ถือศีลแบบถือไว้อย่างนั้น ถือแบบงมงาย ถือแบบกดข่มเท่านั้นเอง

7). ผลของความพอดีจากสมถะและวิปัสสนา

ความพอดีของสมถะและวิปัสสนาที่ตอบสนองต่อผัสสะหรือสิ่งที่เข้ามากระทบคือเกิดความเจริญสูงสุด ความเจริญนี้ไม่ได้หมายถึงสามารถกดข่มได้อย่างยอดเยี่ยมหรือพิจารณาทีเดียวเกิดปัญญารู้แจ้ง แต่หมายถึงประสิทธิภาพสูงสุดที่จะสามารถทำได้ของคนนั้นๆ บางคนมีปัญญาต่อกิเลสในเรื่องนั้นๆ 50% การรักษาสภาพที่พอดีพอเหมาะสูงสุดอาจจะหมายถึง สมถะ 0 วิปัสสนา 100 หรือสมถะ 80 วิปัสสนา 20 ก็เป็นได้ และการเจริญจาก 50% ไปสู่ 51% ก็อาจจะเป็นความเจริญสูงสุดที่คนผู้นั้นทำได้ ณ เวลานั้นก็เป็นได้

เพราะศาสนาพุทธไม่ได้สอนให้กระทำความดับในทันที แต่สอนให้เกิดปัญญาไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด โดยใช้ไตรสิกขาคืออธิศีล อธิจิต อธิปัญญา เข้ามาเพื่อช่วยก้าวข้ามกิเลสสามภพ คือ กามภพ รูปภพ และอรูปภพ ซึ่งสภาพของกิเลสในแต่ละภพนี้เองก็คือความหยาบ กลาง ละเอียดไปโดยลำดับ

เราไม่สามารถใช้สมถะในการทำลายภพของกิเลสเหล่านี้ได้ เพราะสมถะทำได้อย่างมากก็แค่กดข่ม แต่จะสามารถกดข่มได้กี่ภพกี่ชาตินั้นไม่รู้ ส่วนตัวที่จะทำลายภพชาติของกิเลสจริงๆนั้นคือวิปัสสนา ดังนั้นเมื่อปฏิบัติอย่างถูกตรง ประมาณกำลังให้เหมาะก็จะมีทิศทางที่จะเจริญไปเรื่อยๆจนกระทั่งถึงผลสุดท้ายคือสภาพหลุดพ้นจากกิเลสหรือวิมุตติในที่สุด

8). สับสนสมถะวิปัสสนา

ในปัจจุบันมีความสับสนในวิธีการปฏิบัติของสมถะและวิปัสสนาอยู่มาก ทั้งในส่วนของบัญญัติภาษาและในส่วนของการปฏิบัติ

ในส่วนของบัญญัติภาษา มีอยู่มากที่เรียกสมถะของตนว่าวิปัสสนา ตั้งชื่อว่าวิปัสสนาแบบนั้นแบบนี้ แต่พอปฏิบัติก็ใช้การกดข่มจิตเข้ามาเป็นหลักในการปฏิบัติ หรือทั้งสมถะและวิปัสสนาของเขาก็เป็นแค่สมถะ แต่ไปแตกวิธีปฏิบัติสมถะว่านั่งสมาธิ แล้วหมายเอาว่าการใช้ธรรมเข้ามาพิจารณากดข่มกิเลสนั้นเป็นวิปัสสนา คือถ้าอยู่ในแนวทางของอุบายทางใจนั่นก็คือสมถะทั้งหมด จะตั้งชื่ออย่างไรก็แล้วแต่ แต่โดยสัจจะมันก็สมถะอยู่ดี

ถามว่าทำได้ไหม มันก็ทำได้ แต่ก็น่าจะเรียนรู้ความต่างของสมถะและวิปัสสนา ไม่ใช่ปฏิบัติแต่สมถะและสมถะ แบบนี้มันก็พากันไปติดภพเท่านั้นเอง วิปัสสนาก็ยังเข้าใจไม่ได้ แล้วยังเข้าใจผิดไปอีก แบบนี้จะติดอีกนานแสนนาน

ในส่วนของการปฏิบัตินั้นมีความสับสนอยู่มากเช่นเดียวกับบัญญัติภาษา บางคนก็กล่าวหาว่าการคิดนั้นผิด ทั้งๆที่วิปัสสนานั้นเป็นการคิดพิจารณาเพื่อให้เกิดปัญญา ซึ่งโดยมากจะเป็นสายสมถะที่กระทำแต่การหยุดคิดแล้วหมายเอาการหยุดคิดนั้นเป็นวิปัสสนา มันก็เลยสับสนเช่นนี้

ถ้าหนักๆเข้าก็ข่มว่าวิปัสสนานั้นเอาแต่คิด ยิ่งคิดยิ่งฟุ้งซ่าน ซึ่งมันก็ถูกอย่างที่เขาว่า แต่ถ้าจะบอกว่าผิดทางนั้นก็ตอบว่าไม่ใช่ เพราะวิปัสสนาไม่ใช่ภพของการกดข่ม ไม่ได้ทำเพื่อความสงบอย่างสมถะ คนที่ติดสมถะและไม่มีปัญญาวิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจการชำแหละกิเลสด้วยปัญญาจากความฟุ้งเหล่านั้น ที่มันฟุ้งซ่านเพราะมันมีกิเลส วิปัสสนานั้นกระทำต่อกิเลส ไม่ได้กระทำต่อความฟุ้งซ่านดังเช่นสมถะวิธี

เมื่อผู้ทำสมถะไม่ได้เรียนรู้วิปัสสนาก็จะไม่เข้าใจและพากันตีทิ้งวิปัสสนา เข้าไปติดภพ ติดสงบ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติเพราะสภาพสงบของสมถะมันสบายจริงๆ มันไม่ต้องคิด ไม่ต้องเอาภาระ ไม่ต้องอะไรมาก เหมาะจะเอาไว้พักจิต ซึ่งสรุปแล้วมันก็เป็นเพียงแค่อุบายทางใจเอาไว้พักเมื่อคิดพิจารณาทำลายกิเลสด้วยวิปัสสนาจนหัวร้อนนั่นแหละประมาณว่าเป็นที่พักริมทางเมื่อต้องเดินทางไกล

ทีนี้บางคนติดสบายก็หมายเอาสมถะเข้ามาเป็นทางปฏิบัติ หนักเข้าก็หมายว่าเป็นทางบรรลุธรรม ตีทิ้งวิปัสสนาไปเลยก็มีเหมือนกัน ถ้าจะยืนยันกันก็มีหลักฐานมากมายในยุคพุทธกาล ในสมัยนั้นพระพุทธเจ้าเทศน์โปรดหลายท่านไม่กี่ประโยคก็บรรลุธรรมได้ นั่นเพราะท่าน “คิด” พิจารณาตามโดยแยบคาย เห็นไหม คนที่มีอินทรีย์พละแก่กล้าไม่จำเป็นต้องใช้สมถะเลย

บางคนที่เข้าใจสมถะและวิปัสสนาอย่างผิวเผิน พอปฏิบัติมันก็แยกไม่ออก ปนเปกันไป ทำสมถะอยู่แต่ก็เข้าใจว่าทำวิปัสสนา หรือพวกที่วิปัสสนาก็เรียนรู้เพียงทฤษฏี คือรู้โดยภาษานะว่าวิปัสสนาเป็นอย่างไร แต่พอปฏิบัติก็กลายเป็นสมถะหมด

– – – – – – – – – – – – – – –

5.4.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)