ถาม-ตอบ

การเพิ่มศีล

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,490 views 0

มีคำถามเข้ามาว่าให้ช่วยอธิบายการเพิ่มศีลให้สูงขึ้น

การเพิ่มศีลหรือ “อธิศีล” เป็นหนึ่งในองค์ประกอบของไตรสิกขา ซึ่งเป็นกระบวนการศึกษาเพื่อชำระล้างกิเลสโดยลำดับ

ปัจจุบันไตรสิกขาได้เลือนหายไปตามกาล จางไปตามกิเลส ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ไม่ค่อยมีใครปฏิบัติ แต่ความจริงที่ว่าสิ่งเหล่านี้เป็นกระบวนการศึกษาที่ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสโดยลำดับก็ไม่ได้เปลี่ยนไป

ศีล คือข้อปฏิบัติที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจับอาการของกิเลสในจิต เพื่อเข้าสู่กระบวนการของจิตที่พร้อมจะเรียนรู้ให้เกิดปัญญาและพัฒนาไปจบที่จิตผ่องใสแม้กระทบสิ่งเหล่านั้นอยู่

การเพิ่มศีล หรืออธิศีล คือการยกระดับของศีลที่ปฏิบัติอยู่ หลักการกว้าง ๆ เช่น ศีล 5 เพิ่มไปเป็นศีล 8 หรือเพิ่มไปเป็นศีล 10 โดยมีการกำหนดช่วงเวลาตามกำลังของจิตที่พอจะทนความลำบากไหว เช่น อาจจะถือศีล 8 มาปฏิบัติในวันหยุด แต่ถ้าอินทรีย์พละมาก จะทำทั้งชีวิตเลยก็ได้

การเพิ่มศีลยังมีรายละเอียดยิบย่อยในแต่ละบุคคล เพราะคนเรามีกิเลสหนาบางต่างกัน แต่ละโจทย์จึงมีความยากง่ายต่างกันตามบารมีที่บำเพ็ญสะสมมา

เช่นการเพิ่มศีลข้อ ๑ โดยทั่วไปก็จะรับรู้ว่าไม่ฆ่า อันนี้เราก็ทำให้ได้ก่อน แล้วเราก็เพิ่มศีลขึ้นมาเป็น ไม่เบียดเบียน ไม่ทำร้าย ก็จะทำให้เราปฏิบัติเก็บรายละเอียดได้มากขึ้น

ทีนี้พอไม่เบียดเบียนแล้วก็ต้องมานั่งคิดว่าอะไรล่ะที่เบียดเบียน มันก็ต้องละไปตามลำดับ เช่นโจทย์ทั่วไปคือไปสนับสนุนเขาฆ่าสัตว์โดยการซื้อมากินนี่มันเบียดเบียนนะ เบียดเบียนทั้งสัตว์ ทั้งคนฆ่าสัตว์ ทั้งตัวเรา

แต่จะให้เลิกทีเดียวทั้งหมดมันก็ไม่ไหว ก็อาจจะตั้งตอนแรกว่าไม่กินสัตว์ใหญ่ แล้วค่อยเพิ่มขอบเขตของศีลหรือการปฏิบัติเพื่อความละเว้นการเบียดเบียนไปตามที่ไหว เช่น ไก่ ปลา หอย ฯลฯ

การปฏิบัติอธิศีล ไม่ใช่ว่าจะกดเอาดื้อ ๆ คือเห็นว่าสิ่งนั้นแล้วชั่ว จึงเลิกเลย มันก็ไม่ใช่แบบนั้นเสียทีเดียว เพราะถ้าคิดและเข้าใจแบบนั้นก็อาจจะมีแนวโน้มไปทางกดข่ม ถือดีข่มไว้ก็เป็นได้

อธิศีล คือการสร้างกรอบขึ้นมาเพื่อ “ศึกษา” กิเลสในใจตนเอง โดยเอากิเลสตัวเองเป็นหลัก เอากิเลสตัวเองเป็นโจทย์ ไม่ใช่เอาเรื่องข้างนอกมาเป็นโจทย์หรือเป็นหลักชัย

เพราะศาสนาพุทธมุ่งทำลายกิเลสเป็นหลัก ดังนั้นทุกการปฏิบัติ จะมีเป้าแรกที่กิเลสตนเองก่อนเสมอ ส่วนจะเอื้อเฟื้อออกไปถึงผู้อื่นมากเท่าไหร่ก็แล้วแต่บารมี

บาปกับธุรกิจฆ่าสัตว์

July 19, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,470 views 0

มีคำถามมาว่า ” ที่บ้านค้าขายเกี่ยวกับหมู แต่เราไม่อยากทำแต่ก็ช่วยพ่อแม่แบบนี้จะบาปมั้ยครับมีวิธีคิดยังไงครับ”

ตอบ ถ้าไม่มีจิตยินดีในการฆ่าและกิจกรรมที่ส่งเสริมเหล่านั้นก็ไม่บาปครับ

แต่มันจะมีวิบากกรรมในส่วนของ มิจฉาอาชีวะในข้อ ยอมมอบตนในทางที่ผิด คือยอมเอาชีวิตตัวเองไปรับใช้ในกลุ่มหรือธุรกิจที่เป็นการเบียดเบียนหรือผิดศีลต่าง ๆ

ทีนี้ตัววัดมันจะอยู่ตรงที่ว่า ใจเรายินดีหรือเราโดนบังคับ จำใจ หาทางออกไม่ได้ ถ้าเป็นอย่างหลังก็ไม่บาป มันเป็นสภาพโดนบังคับ เป็นช่วงที่อกุศลวิบากกำลังส่งผล ตามที่เราเคยไปส่งเสริมกิจกรรมที่ไม่ดีมามากในชาติก่อน ๆ แล้วมันสะสมผล พอถึงเวลาที่เราจะออก มันจะออกไม่ง่ายเหมือนใจคิด มันจะตัน มันจะคิดไม่ออก มันจะมองไม่เห็นทาง ได้แต่ก้มหน้าทำรับใช้กรรมไป

วิธีคิดที่แนะนำอย่างแรกคือ ยอมรับกรรม ยอมรับว่าเราก็เคยส่งเสริมมา และเราก็ยังมีส่วนเอื้อให้เกิดกิจกรรมนั้นอยู่ เวลาวิบากกรรมมันส่งผล เราจะหนีหรือจะปลีกตัวออกไม่ได้ ไม่ว่าทั้งดีทั้งร้าย เราก็ต้องรับ ดังนั้นในเมื่อยังไงก็ต้องรับ ก็รับด้วยความเบิกบาน รับด้วยความเข้าใจว่าเราทำชั่วสะสมมามาก การรับกรรมก็เหมือนใช้หนี้ ใช้แล้วก็หมดไป ได้ใช้หนี้ไปแต่ละวันหนี้ก็หมดไปเรื่อย ๆ ก็ทนทำไปด้วย ศึกษาเรื่องกรรมไปด้วย จะเข้าใจมากขึ้น ทำให้เบาใจขึ้นโดยลำดับ

ส่วนที่สองคือการเร่งชำระหนี้ ถ้าเราไม่ได้ทำดีมาก ไม่ได้มีศีลมาก เราก็เหมือนลูกจ้างค่าแรงต่ำ เขาใช้เงินไม่กี่ร้อยก็จ้างได้แล้ว หากว่าเราเป็นหนี้สักร้อยล้าน เขาก็จ้างเราได้ทั้งชีวิต

แต่ถ้าเรามุ่งทำดีมาก ๆ มีศีลมาก ทำใจให้ผ่องใสได้โดยลำดับ ไม่เบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น มีน้ำใจช่วยเหลือเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ กตัญญูผู้มีพระคุณ ค่าตัวต่อหนึ่งช่วงเวลาของเราจะเพิ่ม ยกตัวอย่างเช่น ถ้าทำดีมาก ๆ อาจจะเป็นค่าตัววันละล้าน แค่ร้อยล้าน 3 เดือนก็จ่ายหมด

ที่ยกตัวอย่างมานี้คือการเปรียบเทียบให้เข้าใจเรื่องบารมี คือถ้าเราเป็นคนทั่ว ๆ ไป ค่าตัวก็ถูกเป็นธรรมดา แต่ถ้าเราเป็นคนมีชื่อเสียง ค่าตัวก็แพง ในทางธรรมก็เหมือนกัน แต่ความแพงนั้นไม่ใช่เงิน สิ่งที่ต้องจ่ายคือการบำเพ็ญความดีหรือกุศลวิบาก

เช่น ผู้ที่ถวายอาหารมื้อแรกและมื้อสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ที่มีอานิสงส์มาก ก็ใช่ว่าจะเป็นใครก็ได้มาถวาย มันต้องเป็นนางสุชาดาในมื้อแรก และนายจุนทะในมื้อสุดท้ายเท่านั้น ทั้งสองท่านต้องทำกุศล สร้างบารมีสะสมมามาก ถึงจะได้สิทธิ์นั้น

หรือกรณีพระเทวทัต ก็เกิดจากบาปที่พระพุทธเจ้าเคยไปฆ่าน้องชายต่างแม่มาเมื่ออดีตชาติอันไกลโพ้น แต่ผลวิบากนั้นก็ยังไม่หมด แต่ถึงที่สุดพระเทวทัตก็จะทำร้ายพระพุทธเจ้าได้สูงสุดตามที่พระพุทธเจ้าต้องรับส่วนของวิบากกรรมในชาตินี้ จะทำร้ายไม่ได้มากเท่าที่ใจคิด เช่น คิดจะกลิ้งหินลงมาทับให้ตาย ผลสุดท้ายทำได้เพียงแค่ให้ท่านห้อเลือด

การจะเข้าถึงคนที่ดีมาก ๆ จำเป็นจะต้องทำความดีมามากด้วย เช่นเดียวกันกับการที่เราจะหนีจากสิ่งไม่ดี เราก็ต้องทำดีมาก ๆ เพื่อที่จะให้คนที่จะมาเกี่ยวข้องกับเรานั้น มีอัตราส่วนเป็นคนดีมีศีลเป็นส่วนมาก หรือเจอสิ่งดีมากกว่าสิ่งร้าย หรือเจอสิ่งร้ายไม่นานก็กลับมาดี

การเข้าถึงนรก

July 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,517 views 0

วันก่อนแชร์เรื่องที่เขาเอาหมูไปต้มแบบเป็น ๆ แล้วมีเนื้อหาเกี่ยวกับ “นรก..” ก็มีคนถามว่า ” นรก คือการที่จิตตกลงไปเกิดใหม่ในสภาพนี้หรือเปล่า”

ก็ตอบว่า ใช่

นรกคือ จิตที่เกิดสภาพเป็นทุกข์ เดือดร้อนกายใจ ไม่ว่าจะสวมเนื้อหนังแบบใด แต่ถ้าจิตเข้าถึงความทุกข์ร้อนกระวนกระวาย ก็คือจิตไปเกิดในนรก

การเข้าถึงนรก ก็ไม่ใช่แค่ว่าต้องตายจากโลกนี้ไปแล้วไปนรก สภาพของนรกนั้นเกิดขึ้นได้ในชีวิตประจำวัน ก็ตามแต่วิบากกรรมของแต่ละคน บางคนก็นรกน้อย บางคนก็นรกมาก ลึกตื้นหนาบางไปตามกรรมกิริยาที่ทำมาและกำลังทำอยู่

นรกคือความเดือดเนื้อร้อนใจ การเดือดเนื้อ หรือเนื้อเดือดอย่างหมูที่ถูกต้มทั้งเป็น ก็เป็นทุกข์ที่เลี่ยงไม่ได้ แต่อาการร้อนใจนั้นเป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ กำจัดให้หมดไปได้

ดังนั้นศาสนาพุทธจึงมุ่งดับความร้อนใจ อันเป็นนรกเผาใจให้ทุกข์ร้อน และฝึกฝนปฏิบัติเพื่อปรับใจให้ยินดีเต็มใจรับความเดือดเนื้อ ลำบากกาย ด้วยเหตุแห่งวิบากกรรมด้วยความเต็มใจ

เพราะกรรม ทำแล้วจะไม่ส่งผลเป็นไม่มี กรรมทำแล้วต้องรับผลกรรม หนีไม่ได้ แถมมันไม่ต่อรองกับเราอีกต่างหาก ถึงเวลาวิบากกรรมชั่วส่งผล ก็จะมีแต่ทุกข์ร้อนเหมือนตกนรก นั่งห้องแอร์เย็นฉ่ำแต่ร้อนใจอยู่ไม่เป็นสุขก็มี

สรุปก็คือ นรกคือสิ่งที่สร้างขึ้นมาเอง ถ้าไม่อยากตกนรก ก็เลิกสร้างเหตุแห่งนรก คือความเบียดเบียนทั้งหลาย ทางกาย วาจา ใจ ต่อตนเองและผู้อื่น

การไปเกิดเป็นเดรัจฉาน

July 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,545 views 0

ก็มีคำถามในแชร์โพสที่เขาต้มหมูทั้งเป็นประมาณว่า “ผู้​ทุศีล​ก็ต้องตกไปเกิด​เป็น​เดรัจฉาน​ได้​ใช่ไหม

ก็ตอบว่า ใช่

ซึ่งอ้างอิงจากโลหิจจสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า “ผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เรากล่าวว่า มีคติอย่าง ๑ ใน ๒ อย่าง คือ นรกหรือกำเนิดเดรัจฉาน”

คนที่มักทุศีล คือผิดศีล เน่าใน หรือคนไม่มีศีล ก็คือไม่มีสัมมาทิฏฐิ นั่นหมายถึงเขาเหล่านั้นเป็นมิจฉาทิฏฐินั่นเอง เมื่อมีความเห็นผิด ทางไปก็มีแต่นรกหรือเกิดเป็นเดรัจฉานเท่านั้นเอง

ผู้ที่มีสัมมาทิฏฐิ ก็จะมีศีล สมาธิ ปัญญา เป็นเนื้อ เป็นแก่นในจิตวิญญาณ ซึ่งจะเป็นเจริญไปตามลำดับตามความพากเพียรในการปฏิบัติธรรม

ในเบื้องต้นก็ศีล ๕ ต่อไปก็ ๘ ๑๐ วินัยก็เป็นอีกส่วนของนักบวช แต่ตัวปฏฺิบัติ คือศีล

ศีลกับวินัยนั้นแตกต่างกัน ศีลคือข้อปฏิบัติเพื่อฝึกฝนให้เกิดความเจริญ วินัยคือกฏข้อบังคับ ซึ่งอาจจะมีบางข้อที่ทับซ้อนกันบ้าง แต่ทั้งหมดนั้นก็เป็นข้อควรปฏิบัติ

คนที่เขาเห็นผิด เขาก็จะไม่เอาศีล ไม่เอาศีลนำ ไม่เอาศีลตั้ง ไม่เอาศีลเป็นหลักชัย ไม่เอาศีลเป็นตัวปฏิบัติ เมื่อศีลคือหลักปฏิบัติ แล้วไม่ปฏิบัติตามศีล เขาก็ปฏฺิบัติตามหลักตัวเองนั่นแหละ ซึ่งพอไม่ปฏิบัติตามหลักพุทธ มันก็ไปนอกพุทธ ก็เรียกว่ามิจฉาทิฏฐิ ปฏิบัติไปก็ไม่พ้นทุกข์ เห็นผิด พาหลง ไปนรก เข้าถึงความเป็นเดรัจฉานเป็นผลในที่สุด