Tag: ความเห็น

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

November 19, 2019 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,010 views 0

รักอย่างไร? รักอย่างสัมมาทิฏฐิ รักอย่างถูกต้องถูกตรง สู่การพ้นทุกข์

ความเห็นในความรักนั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจของแต่ละคน แต่ในทางพุทธศาสนา ทางที่ถูกต้องนั้นมีทางเดียว มีทิศเดียว ไม่มีทางอื่น ความเห็นที่ถูกต้องถูกตรงก็มีทิศทางเดียว คือเดินไปสู่ความไม่ยึดมั่นถือมั่น ถ้าในเรื่องความรักก็คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในเรื่องความรัก ในเรื่องคนคู่ ครอบครัว ญาติ ชุมชน ชาติหรือแม้กระทั่งโลกนี้ ก็ไม่ใช่สิ่งที่น่าเข้าไปยึดไว้เลย

ความเห็นเกี่ยวกับความรักนั้น แต่ละคนก็ว่ากันไปตามที่ตนชอบ ตามที่ตนว่าถูก อันนั้นก็เป็นเรื่องที่แล้วแต่ใครจะเชื่อ แต่ถ้าเราจะศึกษาว่ารักแบบใดเป็นรักที่ถูกต้อง ถูกตรงสู่ทางพ้นทุกข์ เป็นรักที่สัมมาทิฏฐิแล้วล่ะก็ จะยกเนื้อหาสำคัญมาให้ศึกษากัน

จุลศีลกับความรัก

ในหลักจุลศีล ถือเป็นหลักปฏิบัติอย่างละเอียดของชาวพุทธ โดยหลักการแล้วเป็นของนักบวช แต่หลักปฏิบัติในจุลศีลข้อนี้ ก็ได้ปรากฏอยู่ในข้อธรรมหมวดอื่น ๆ อีกด้วย ซึ่งเนื้อหานั้นได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจ

“ละการฆ่าสัตว์ เว้นขาดจากการฆ่าสัตว์ วางทัณฑะ วางสาตรา มีความละอาย มีความเอ็นดู มีความกรุณาหวังประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวงอยู่” ให้สังเกตว่าศีลข้อนี้จะมีอยู่ 2 ส่วนในการปฏิบัติ คือ ไม่ทำ และ ทำ  , ไม่ทำ คือไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ทำ คือเห็นใจและลงมือช่วยสัตว์อื่น สัตว์นั้นหมายรวมตั้งแต่สัตว์เดรัจฉานไปจนถึงมนุษย์

ความรักในหลักพุทธ ในเชิงแนวคิดหลัก ๆ ภาพรวมก็ประมาณนี้ คือไม่ไปเบียดเบียนเขา แล้วช่วยสิ่งเสริมเขาให้เกิดสิ่งดีที่พาเจริญขึ้น ทีนี้เรามาศึกษากันต่อว่าอะไรคือการเบียดเบียน ความรักแบบไหนคือการเบียดเบียน

ถ้าความรักของพุทธ (รักโลกุตระ) คือการปฏิบัติไปสู่ความเมตตาเกื้อกูล ไม่เบียดเบียนกัน โดยมีหลักคือการลดความโลภ โกรธ หลง สิ่งที่ตรงข้ามกันนั้นก็คือความรักในรูปแบบที่เบียดเบียน (รักโลกียะ) คือ พากันเพิ่มความโลภ โกรธ หลง และ ความรักที่เบียดเบียนที่เห็นได้ชัดและมีมากที่สุดก็คือการจับคู่ของคนอยากมีคู่สองคนมารวมกัน

ความรัก ที่ต้องพากันครองคู่อันนี้หยาบที่สุด ต้องเอาคนมาเสพ มาประทังความอยาก มีการเบียดเบียนสารพัดอย่าง ตั้งแต่การล่อลวงให้หลง ให้ปัญญาอ่อนลงไป ยั่วย้อมมอมเมา ให้กิเลสโตขึ้น ให้เกิดความอยากได้อยากครอบครอง ไปจนถึงต้องเอาอีกฝ่ายมาบำเรอตน ไม่ว่าจะกาม ทรัพย์สิน แรงกาย เวลา ปัญญา ฯลฯ ก็ต้องเอามาเทให้ตน แทนที่จะให้เขาเอาองค์ประกอบในชีวิตที่มีไปทำประโยชน์อื่นที่มากกว่า กลับเห็นแก่ตัว ลวงเขามาไว้ทำเพื่อตน เพื่อสนองกามตน เพื่อสนองอัตตาตนเอง

กามในมิติที่รู้กันโดยกว้างในสังคมก็คือการสมสู่ แต่กามก็ไม่ได้หมายเพียงแค่การสมสู่ เพราะการยินดีในการมองก็เป็นกาม การได้มองทุกวัน ได้เห็นเขายิ้ม ได้เห็นท่าทีลีลาอาการต่าง ๆ แล้วยินดี ก็เป็นกาม การได้ยินเสียงแล้วยินดีก็เป็นกาม ได้ยินเสียงเพราะ ๆ ของเขา แล้วชื่นใจ ก็เป็นกาม การยินดีในกลิ่นของเขาก็เป็นกาม เขาใส่น้ำหอมมาแล้วยินดี ชอบใจ ถูกใจในกลิ่นนั้นก็เป็นกาม การยินดีในการสัมผัสก็เป็นกาม การที่เขามาจับ แตะ ควงแขน สารพัดสัมผัส แล้วยินดี ก็เป็นกาม ถ้าไม่ได้เสพกามตามที่ติด ก็จะเกิดอาการทุกข์ ขุ่นข้องหมองใจ ฯลฯ จะเห็นได้ว่าการมีคู่ก็จะมีความยินดีในกามในหลายอิริยาบถ ซึ่งมันก็ไม่ได้ซ่อนลึกซึ้งอะไรหรอก มันก็เห็นกันอยู่ชัด ๆ นั่นแหละ เพียงแต่คนไม่รู้ว่านี่เป็นกาม

อัตตาเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก ลึกลับ ซับซ้อน และถูกปิดบังโดยกิเลส แม้แสดงอยู่ก็ใช่ว่าจะมองเห็นได้ เช่น ความเชื่อ ศักดิ์ศรี อำนาจ(ความสำคัญในตนเองว่ามี) การมีคู่นั้น จะมีอัตตาร่วมด้วยเป็นแรงหลักเสมอ กามเป็นตัวเคลื่อน(ให้เห็นอาการ) อัตตาเป็นแรงส่งอยู่ภายใน

ในมุมของอำนาจ เช่น สำคัญตนว่ามีอำนาจ สำคัญตนว่าใหญ่กว่า เจ๋ง เก๋า แน่ ครอบครองได้ ควบคุมได้ ก็เลยแสดงอาการเช่น พูด กอด จูบ หรือแสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของใด ๆ ที่แสดงถึงความเหนือกว่า ต่อหน้าคนอื่นก็ตามหรือต่อหน้าคู่ก็ตาม เพื่อแสดงให้เห็นว่าตนมีอำนาจ ตนสามารถควบคุมได้ อันนี้มันก็เป็นอาการของอัตตา ที่แสดงออกด้วยกาม

ในมุมของความเชื่อ เช่น เชื่อว่าชีวิตจะสมบูรณ์ก็ต้องมีครอบครัวที่ดีมีลูก หรือเชื่อว่าฉันจะสามารถมีคู่ครองแล้วพากันเจริญในธรรมได้ เป็นต้น อันนี้เป็นความเชื่อ แต่เป็นความเชื่อที่ไม่พาพ้นทุกข์ เพราะมันตรงข้ามกับที่พระพุทธเจ้าตรัส คือ “คนที่ประพฤติตนเป็นโสดเขาก็รู้กันว่าเป็นบัณฑิต ส่วนคนโง่ฝักใฝ่ในเรื่องคู่ย่อมเศร้าหมอง” คือทิศทางมันไม่ไปด้วยกันกับที่พระพุทธเจ้าตรัส

เรามีอิสระที่จะเชื่อและทำอะไรก็ได้ เพียงแต่ว่าสิ่งนั้นมันถูกต้องหรือเปล่า แล้วจะถูกต้องตามหลักของใคร หลักของฉัน หลักของใคร หรือหลักของพระพุทธเจ้า ก็เลือกหลักกันเอาว่าจะปักหลักไหน แล้วก็พิสูจน์ความจริงกันไปว่ามันจะพ้นทุกข์หรือทุกข์จริง เศร้าหมองจริง อย่างที่พระพุทธเจ้าว่ามาหรือไม่

การยึดมั่นถือมั่นคืออัตตา เช่นเมื่อได้รู้แล้วว่ามันไปคนละทางกับทางพ้นทุกข์ ก็ยังจะดื้อ จะรั้น จะลองพิสูจน์ ซึ่งมันก็ไม่แปลก มันเป็นอาการของอัตตาที่เชื่อว่า ข้าแน่ ข้าเก่ง ข้าทำได้ และลึก ๆ ข้าก็คิดว่า แนวคิดของข้าเจ๋งกว่าพระพุทธเจ้าอีกด้วย

ในอัตตาเรื่องคู่นี้มักจะซ่อนกามไว้เสมอ คือจริงๆ ตนน่ะ อยากเสพกาม อยากสมสู่ แต่เอาเป้าอื่นมาล่อไว้ เอามาบังไว้ เอามาลวงไว้ให้ดูโก้ ๆ ดูเท่ ๆ ทำเป็นจะดูแลเขาไปตลอด ทำเป็นอยากแต่งงาน อยากมีครอบครัว ทำเป็นมีอุดมการณ์ แต่จริง ๆ อยากจะสมสู่กับคนที่หวังเท่านั้นแหละ ส่วนอุดมการณ์ หรืออัตตานั้นก็ปั้นขึ้นมาลวงคู่ตรงข้ามเฉย ๆ ดีไม่ดีลวงจิตตัวเองไปด้วย หลงเชื่อไปจริง ๆ ว่าตนอยากมีครอบครัว ทั้ง ๆ ที่จริง ๆ ตนแค่อยากเสพกาม ดังจะปรากฏผลเป็นการผิดศีลข้อ ๓ ที่เห็นกันโดยทั่วไป เพราะมันเสพแล้วมันไม่พอ มีแฟนคนเดียวมันไม่พอ แต่งงานแล้วมันไม่พอ อุดมการณ์มันกินไม่ได้ มันเสพไม่พอสุข สุดท้ายก็ต้องยอมผิดศีลผิดธรรม ไปตามอุดมกามของตนต่อไป

พรหมวิหารกับความรัก

ธรรมะอีกหมวดที่มักจะถูกยกขึ้นมาเมื่อกล่าวถึงเรื่องความรัก คือพรหมวิหาร ๔  คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา

เมตตาคือมีจิตที่จะช่วยเหลือเกื้อกูลเขา กรุณาคือลงมือช่วยเขา ( คือว่ากรุณา หมายถึงทำให้ ลงมือทำให้ เช่น กรุณาส่ง คือช่วยส่งให้หน่อย หรือกรุณาให้ทาง คือช่วยหลีกทาง เป็นลักษณะที่มีกายกรรมเกิดขึ้น ไม่ใช่เพียงมโนกรรม ไม่ใช่แค่คิด แต่ต้องลงมือทำด้วย)

สองข้อแรกจะสอดคล้องกับจุลศีล คือมีจิตที่จะช่วยและลงมือกระทำ มุทิตาคือมีจิตยินดี ในสิ่งที่เกิดขึ้น อุเบกขาคือปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น สรุปหลักของพรหมวิหารคือ เห็นใจ คิดที่จะเกื้อกูลและลงมือช่วย ได้ผลอย่างไรก็ยินดีไปตามนั้น และปล่อยวางในท้ายที่สุด แม้สิ่งที่คิดหรือช่วยทำนั้นจะเกิดผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จก็ตามที

จะเห็นว่าจริง ๆ แล้วพรหมวิหาร ไม่ได้เกี่ยวกับความรักในเชิงชู้สาวเลย หรือแม้กระทั่งครอบครัว ญาติ สังคม ประเทศชาติก็ไม่ใช่ เพราะมันไม่ได้เล็กแค่นั้น ธรรมหมวดนี้หมายถึงจิตที่เมตตากว้างไกลไม่มีประมาณซึ่งสามารถประยุกต์ใช้ได้กับทุก ๆ เหตุการณ์ ในชีวิต

สรุปได้ว่า แนวทางความรักของพุทธนั้น ไม่ได้กระจุกอยู่ที่จุดเล็ก ๆ อย่างคู่ครอง คู่รักใด ๆ ดังนั้น ความรักที่ถูกต้องจึงเป็นคำที่ห่างไกลจากความอยากจะไปมีคู่อย่างมาก ไกลลิบ ๆ ไกลสุดลูกหูลูกตา เพราะความรักของพุทธนั้นกระจายออกไปโดยไม่ยึดมั่นถือมั่น แต่ความรักแบบคู่ครองนั้น กระจุกอยู่โดยยึดมั่นถือมั่นว่า ความเชื่อของฉันคือแบบนี้ ความสุขของฉันคือแบบนี้ เขาคนนี้คือความสุขของฉัน และความถูกต้องของฉันคือแบบนี้

ว่าแล้วก็แยกกันไปตามความเห็น ความเห็นแบบหนึ่งก็ไปแบบหนึ่ง ความเห็นอีกแบบก็ไปอีกแบบ ไม่ต้องเสียเวลามานั่งเถียงหรือทะเลาะอะไรกัน ต่างคนก็ต่างศึกษากันไป คนที่ศึกษาปฏิบัติตามพระพุทธเจ้าโดยหลักฐานก็จะพบว่ามีความทุกข์น้อย มีความผาสุกมาก ตลอดจนไม่มีทุกข์เลยก็มี ส่วนคนที่เห็นต่างก็ไปทางอื่น จะเรียกชื่อทางว่าอะไรก็แล้วแต่ ทางแห่งรักที่ถูกตรงก็ได้ ทางแห่งรักที่ไม่ยึดมั่นถือมั่นก็ได้ จะเปลี่ยนปกไปยังไงก็ได้ แต่ถ้าเนื้อในมันเน่า มันพาหลง มันเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มันก็จะต้องเป็นทุกข์อยู่อย่างนั้นไปตลอดกาล

18.11.2562

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

ถามไถ่เกี่ยวกับบทความเกี่ยวกับความรักก่อนวันวาเลนไทน์

February 13, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,232 views 0

เป็นอย่างไรกันบ้าง กับสองบทความล่าสุด “แน่ใจได้อย่างไรว่าสิ่งนี้คือความรัก” กับ “รักจริงที่หลอกลวง

สองบทความนี้เรียบเรียงขึ้นมาเพื่อให้ “รู้เรา” , “รู้เขา” ถ้ารู้จริงแล้วล่ะก็ จะรบกับกิเลสอีกกี่ครั้งยังไงก็ชนะ แต่ถ้ารู้ไม่จริงนี่แพ้ท่าเดียว แถมแพ้แล้วยังไม่รู้ตัวว่าแพ้อีกด้วย

จริงๆแค่รู้เราอย่างเดียวก็พอแล้ว รู้ให้ชัดจริงๆเถอะ ส่วนรู้เขานี่ให้เรียนรู้ไว้บ้าง เป็นการรู้โลกมีประโยชน์เหมือนกัน

มีความเห็นส่งเข้ามาบ้าง ทำให้ผมพอจะเห็นภาพของผู้รับสารมากขึ้น ก็ขอบคุณสำหรับทุกความเห็นครับ

ในปีนี้ผมตั้งใจลงดาบ ฟันกันลงไปตรงๆ ชัดๆ ชำแหละ “ความรัก” ให้เห็นกันไปเลยว่านี่กิเลสนะ มันปนอยู่ อย่าไปเลี้ยงมันไว้

อ่านทวนเองแล้วก็รู้สึกว่ามันโหดเหลือเกิน คนที่เขาอยากมีคู่มากๆ มันจะอ่านไม่ไหวนะ มันจะบีบใจมาก ยิ่งคนมี”หิริ”นี่จะรู้สึกละอายมาก

คนที่มีความเห็นไปในทิศทางที่ถูก จะยอมรับในกิเลสตน ยอมรับว่ายังมีความอยากได้อยากเสพ จะรู้สึกละอาย แม้จะยังละความอยากนั้นไม่ได้ก็ตามที

แต่คนที่เห็นผิดจะไม่ละอาย สามารถกลับผิดให้เป็นถูกได้ มองการมีกิเลสเป็นเรื่องปกติ ที่ทำได้โดยไม่ผิดบาปอะไร

สองบทความนี้คงจะเป็นการชำแหละความรักมากที่สุดแล้ว ส่วนบทความต่อไปจะเป็นการขยายสภาพที่สุดแห่งความรัก และสภาพของการคลายจากความยึดมั่นถือมั่น
ใครมีความเห็นอะไร จะสรุปความเข้าใจหรือสงสัยในสิ่งที่ผมสื่อสารก็ถามเพิ่มเติมได้ครับ

ภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ (การขอแต่งงาน)

November 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,617 views 0

จากข่าวที่มีการขอแต่งงานที่มีคนดูมากกว่าล้านครั้ง : คลิปขอแต่งงานที่น่ารักมาก ขนมาทั้งญาติทั้งเพื่อน เซอร์ไพรส์สุดๆ

สมัยนี้เขาไม่ขอแต่งงานกันธรรมดาแล้ว มันต้องมีบันเทิง มีบท มีละคร เรียกง่ายๆว่ามีอบายมุขเข้ามาเป็นองค์ประกอบ

พร้อมคำสัญญาที่มีไว้เพื่อล่อหลอกให้ได้เสพอีกฝ่าย แน่นอนว่าตอนที่เขาใช้คำเหล่านั้นเขาก็อาจจะรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ แต่ความจริงคือสิ่งเหล่านั้นเป็นสิ่งที่ไม่จริง

หลายคนดูไปก็ซึ้งไป …แต่เดี๋ยวก่อน ทุกเสี้ยววินาทีที่คุณซึ้ง คุณสุขจากการเสพเรื่องราวเช่นนี้ คุณก็ได้สะสมกิเลสไปแล้วเท่านั้น

ใครประมาทก็จะบอกว่าไม่เห็นมีอะไรเลย แต่ถ้าคนเห็นโทษเห็นภัยของวัฏสงสารแล้วจะขำไม่ค่อยออกถ้าตนเองยังเหลือความเห็นผิดเหล่านั้นอยู่

แม้เผลอไปยินดีเพียงเสี้ยวเดียวในจิตใจ นั่นคือยังมีอุปาทานอยู่ ก็ต้องกลับมาตรวจกันยกใหญ่ว่ายังเหลือความเห็นผิดในอะไร สิ่งใดที่ทำให้เกิดรสสุขลวงขึ้นเช่นนี้

เกิดสุขจากเสพก็เป็นกิเลสแล้ว เพิ่มกิเลส สะสมกิเลสใครก็ทำได้ แต่ล้างกิเลสนี่ไม่ใช่เรื่องง่าย ก็ลองดูกันเองแล้วจะรู้ว่าการจะออกจากสิ่งที่ตัวเองหลงนั้นแทบเป็นไปไม่ได้เลย ถ้าไม่มีความรู้ที่พาล้างกิเลสได้จริง ถึงจะมีความรู้ก็ใช่ว่าจะล้างความเห็นผิดกันได้ง่ายๆ

คนที่บอกว่าตนเป็นโสด ไม่สนใจเรื่องคู่ ถ้ายังดูเรื่องราวเหล่านี้แล้วยังเกิดสุข ยังฝันตามเขาอยู่ ให้ทบทวนตัวเองใหม่ได้เลย อย่าประมาท เพราะกิเลสมันแอบโตแล้วมันเล่นเรากลับทีเดียวหงาย

แค่ล้างกิเลสยังต้องใช้เวลาหลายชาติ นี่ยังมายินดีในการเพิ่มกิเลสกันอีก ก็วนอยู่กับสุขลวงกันต่อไปละนะ

. . . . . . . . . . . .

คลิปนี้มีคนเห็นกว่า 2 ล้าน(ตอนนี้) ถ้ามีคนติดสุขตามสัก 1.5 ล้าน แสดงว่าได้กระตุ้นกิเลสแล้ว 1.5 ล้านคน*กิเลสของเขา

คนทั่วไปก็มองว่าเป็นกำไร แต่จริงๆคือความขาดทุน เพราะสิ่งที่ทำก็คือกรรม คือเราเป็นเหตุในการกระตุ้นกิเลสเขา เราทำเท่าไหร่เราก็ต้องรับผิดชอบเท่านั้น

ลองคิดดูว่าถ้าชาตินี้มีคนมายั่วกิเลสเราให้เราอยากแต่งงาน 1.5 ล้านครั้ง เราจะทนไหวไหม แต่มันไม่มาแบบนั้นหรอก มันจะทยอยมาชาติละนิดละหน่อย มาล่อลวงให้เราหลงไปตามกรรมที่เราทำไว้ ไม่ขาดไม่เกิน

อะไรที่มันไม่พาพ้นทุกข์ท่านให้ปิดไว้ ถึงจะรักกันหลงกันยังไงก็ให้ปิดไว้เงียบๆเท่าที่จะทำได้ เปิดเผยมามันจะไม่งาม เพราะสิ่งที่เปิดเผยนั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ เพราะโง่จึงเปิดเผย เพราะโง่จึงหลงผิด

. . . . . . . . . . . .

บทความนี้คนมีศีลในระดับต่างกันจะมีความเห็นต่างกัน (*ศีลในทีนี้คือสามารถปฏิบัติได้อย่างปกติ มีศีลนั้นเป็นสามัญ มีปัญญารู้แจ้งในคุณของศีลนั้น)

1.คนไม่มีศีล มองเป็นเรื่องธรรมดา ใครๆก็ทำได้ ไม่เห็นแปลก สุขจะตาย

2.คนฐานศีล 5 ก็ยังมองว่าสุขอยู่ รู้ว่าไม่ดีหรอก แต่ชาตินี้ขอมีคู่ก่อนแล้วกันนะ

3.คนฐานศีล 8 ในระดับมรรคจะมีความละอายถ้าตนรู้สึกยินดีในเรื่องมีคู่ ถ้าในระดับผลจะไม่มีความยินดีใดๆแล้ว

4.ศีลมากกว่านั้น เห็นเป็นเรื่องไร้สาระ ที่คนหลงเสพหลงสุขมัวเมากันไป เหมือนมองเด็กๆ เล่นดินเล่นทราย หยิบขี้หมาแห้งมากินแล้วหัวเราะมีความสุข

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

October 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,377 views 0

ปัญญาก็มีตามศีลที่มีนั่นแหละ !

ยุคสมัยนี้ปฏิบัติ ศึกษาธรรมะกันแต่ไม่ค่อยสนใจศีล ลืมศีล ไม่เข้าใจศีล ถ้าไม่ยึดศีลแบบงมงาย ก็ตีทิ้งศีลไปเลย พอไม่มีศีลมันก็เลยไม่มีปัญญา แล้วจะเอาปัญญาที่ไหนมารู้แจ้งเห็นจริงในธรรม

ศีลกับปัญญานั้นเป็นคู่กัน ถ้าปฏิบัติศีลอย่างสัมมาทิฏฐิกันจริงๆ ยังไงก็หนีไม่พ้นการมีปัญญา

แต่เดี๋ยวนี้ถือศีลกันแล้วหมายเอาแค่ศีลมาคลุมแค่ร่างกาย กับคำพูดคำจา แต่ความจริงแล้ว ศีลก็ปฏิบัติทั้งกาย วาจา ใจ นั่นแหละ ซึ่งก็อยู่ที่ความเห็นของผู้ที่ศึกษา ถ้าเข้าใจก็เข้าใจ ถ้าไม่เข้าใจก็ไม่เข้าใจ จะติดอยู่แค่ร่ายกาย กับคำพูดเท่านั้น จะไปต่อถึงใจไม่เป็น

สรุปลงไปเลยว่า ศีลนี่แหละคือข้อปฏิบัติที่จะชำระกิเลสในใจ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า “ศีลที่เป็นกุศล ยังอรหัตตผลโดยลำดับ” นั่นหมายถึงแค่มีศีลนี่แหละ พอแล้วจบกิจแน่ๆ แต่ต้องสัมมาทิฏฐินะ~