Tag: ทิฏฐิ

นิยาม “คุณค่า” ของชีวิต

October 3, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,412 views 0

ฝ่ายหนึ่งมองว่าการไม่มีกิเลสคือคุณค่าของชีวิต
อีกฝ่ายหนึ่งมองว่าการตอบสนองกิเลสคือคุณค่าของชีวิต
และอีกฝ่ายหนึ่งมองว่าจะมีหรือไม่มีกิเลสก็ช่างมัน เกิดมาใช้ชีวิตแล้วก็ตาย

…มันจะคุยกันรู้เรื่องไหมเนี่ย?

การที่เราคุยกันอยู่บนพื้นฐานของความเห็นความเข้าใจ (ทิฏฐิ) ที่ต่างกัน แล้วแต่ละคนยึดมั่นในทิฏฐินั้น ต่อให้คุยกันทั้งปีทั้งชาติก็ไม่เจริญหรอก เสียเวลาเปล่าๆ

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

September 9, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,437 views 0

สุกรมัทวะ สิ่งนี้คืออะไร?

*ภาพประกอบจากซีรี่พระพุทธเจ้า ที่มีความเห็นว่าสุกรมัทวะ คือเห็ด

สุกรมัทวะนั้นเป็นสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกหยิบยกมาอ้างอิง เมื่อมีความเห็นต่างในเรื่องพระพุทธเจ้าเสวยเนื้อสัตว์หรือไม่

มีการตีความสิ่งนี้ไปโดยสองทิศทางใหญ่ๆ คือ เนื้อและไม่ใช่เนื้อ ส่วนที่เป็นเนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเนื้อหมูอ่อน ส่วนที่ไม่ใช่เนื้อเขาก็จะตีความว่าเป็นเห็ดชนิดหนึ่งที่หมูชอบกิน

แต่ในความจริงแล้ว“สุกรมัทวะ”จะเป็นอะไรก็ไม่มีใครรู้ได้ ไม่มีใครสามารถนำหลักฐานมาอ้างอิงได้ เพราะมันผ่านมาตั้ง 2500 กว่าปีแล้ว สิ่งที่เคยเรียกว่าสุกรมัทวะในอดีตนั้น ปัจจุบันอาจจะไม่ใช่สิ่งเดียวกันก็ได้ เพราะสัญญานั้นไม่เที่ยง เราไม่สามารถที่จะใช้สัญญาที่เรากำหนดหมายในตอนนี้ไปเทียบเคียงกับอดีตได้เสมอไป

ถ้ากล่าวกันถึงเห็ด ทุกวันนี้ก็ยังมีคนมากมายที่ตายเพราะเห็ดพิษ คนเหล่านั้นไม่รู้ว่าเห็ดเหล่านั้นมีพิษ เข้าใจว่าเห็ดกินได้ จึงนำมาประกอบอาหาร ทำให้เจ็บป่วยและเสียชีวิตมากมาย นี่คือข้อมูลในยุคสมัยนี้ ยุคสมัยที่มีความรู้ว่าเห็ดชนิดใดกินได้ ชนิดใดมีพิษ แต่นั่นก็ยังไม่สามารถป้องกันความเข้าใจผิดของคนได้ 100 % นั่นหมายถึงไม่ต้องเดาเลยว่าเมื่อ 2500 ปีก่อนจะขนาดไหน….

ถ้าเทียบกับเนื้อหมู ทุกวันนี้ก็ไม่เห็นจะมีใครตายทันทีเพราะกินเนื้อหมู นอกเสียจากว่าติดคอ อย่างช้าๆก็คงเจ็บป่วยเพราะพยาธิหรือเป็นมะเร็ง ถ้าเป็นเนื้อหมูสุกๆดิบๆที่กินแล้วทำให้ตายได้นั้น ก็คงจะไม่เข้าหลักเกณฑ์ เพราะท่านตรัสไว้ในจุลศีลว่าไม่รับเนื้อดิบ ส่วนเรื่องย่อยยากนั้นถ้าหากเคี้ยวให้ละเอียดก็ไม่มีปัญหาอะไร ยกเว้นเสียแต่กินเนื้อหมูที่เน่าและเป็นโรค ก็คงจะทำให้อาหารเป็นพิษได้ แล้วเนื้อหมูที่เน่าเสียนั้นสมควรประเคนให้พระพุทธเจ้าหรือไม่?

พระพุทธเจ้าได้ตรัสเกี่ยวกับความเสื่อมของพุทธไว้ว่าจะเหมือนเป็นกลองอานกะ แม้จะมีชื่อว่ากลองอานกะ แต่วัสดุของกลองดั้งเดิมนั้นไม่มีเหลืออยู่แล้ว ไม้ก็ถูกเปลี่ยน หนังก็ถูกเปลี่ยน เหมือนกับพุทธในวันนี้ แม้จะได้ชื่อว่าศาสนาพุทธที่พาคนพ้นทุกข์ แต่ไส้ในนั้นได้ถูกเปลี่ยนไปหมดแล้ว แม้มีชื่อว่าพุทธ แต่ไม่มีความเป็นพุทธเหลืออยู่แล้ว

เช่นเดียวกับมรรคที่ปฏิบัติไปเพื่อลดการเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ในสมัยนี้มักจะไม่มีทิฏฐิเช่นนี้กันแล้ว ผู้ที่ยังกินเนื้อสัตว์ก็มักจะมองว่า “สุกรมัทวะ” นั้นเป็นเนื้อหมู ส่วนผู้ที่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็จะมองว่าสิ่งนั้นเป็นเห็ด ซึ่งเป็นไปตามทิฏฐิของตน

ถ้าถามว่าทิฏฐิเช่นไรจึงจะพาให้พ้นทุกข์ ก็ต้องชี้ชัดกันไปเลยว่า “เป็นผู้ไม่เบียดเบียน” หากความเห็นหรือกิจกรรมใดๆของเรานั้นมีส่วนให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อน มีเราเป็นเหตุแห่งความเดือดร้อนนั้น เราย่อมระงับเหตุเหล่านั้นเสีย อย่าให้เราต้องเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้ประสบทุกข์เลย หรือหากมีข้อจำกัดก็จะเบียดเบียนให้น้อยที่สุด แต่ทำประโยชน์ให้โลกคืนให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เรียกว่าต้องประมาณให้อกุศลน้อยที่สุด ในขณะที่ทำกุศลให้มากที่สุด หรือจะเรียกว่าประโยชน์ตนประโยชน์ท่านก็ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

9.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความเห็นในการละสิ่งที่เป็นภัย (ลฑุกิโกปมสูตร)

June 28, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,077 views 0

อ่านพระไตรปิฎกเจอบทที่น่าสนใจ สรุปมาอ่านกัน

เมื่อพระพุทธเจ้าได้กล่าวว่า “จงละสิ่งนี้” ก็จะมีผู้ที่เห็นต่างกันออกไป โมฆบุรุษบางคน ก็มักจะเห็นว่า จะมาขัดเกลาอะไรกันนักกันหนา กับเรื่องเล็กน้อยแค่นี้ต้องทำด้วยหรือ เมื่อไม่เห็นควรตามนั้นจึงไม่ยอมละ ทั้งยังไม่พอใจ

บางพวกสนใจศึกษาแต่อินทรีย์พละอ่อนก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นเป็นสิ่งที่ยาก แม้จะเป็นเรื่องเล็กน้อย ก็ยังยากที่จะละสิ่งนั้น

บางพวกสนใจศึกษาแต่มีิอินทรีย์พละมากก็มองว่าสิ่งที่ท่านให้ละนั้นสามารถทำ ได้โดยง่าย จึงทำได้โดยไม่ยากไม่ลำบาก แม้เรื่องยากกว่านี้ก็ทำได้

(ความตอนหนึ่งของ ลฑุกิโกปมสูตร)

…………………………………….

จะเห็นได้ว่าการละสิ่งใดได้ยากหรือง่ายนั้นเกิดจากอินทรีย์พละที่สะสมมา ซึ่งแต่ละคนมีต้นทุนที่ปฏิบัติมาต่างกัน คนทำมามากก็มีมาก คนทำมาน้อยก็มีน้อย บางคนมีน้อยถึงขั้นหลงผิดไม่พอใจพระพุทธเจ้าก็ยังมี

คนที่มีมากเขาก็ละสิ่งที่เป็นภัยได้ง่าย เช่น ศึกษากันไม่นานก็สามารถถือศีลยากๆได้ ส่วนคนที่มีน้อยแค่เจอศีลง่ายๆเขาก็หงายแล้ว

เรื่องแข่งบุญแข่งวาสนามันแข่งกันไม่ได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าเปรียบเทียบกับใคร อย่าคิดว่าคนนั้นคนนี้ทำได้แล้วเราจะทำได้ โดยเฉพาะการศึกษาพระไตรปิฎกจะเห็นว่าบรรลุธรรมกันง่ายๆ แค่ฟังไม่กี่ประโยคก็บรรลุแล้ว

ซึ่งนั่นก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะทำได้ ถึงแม้เราจะอ่านพระไตรปิฎกทั้งหมดก็ใช่ว่าจะเข้าใจหรือบรรลุธรรมใดๆได้ ดังนั้นปฏิบัติธรรมอย่าไปเปรียบเทียบกับใคร อย่าไปลอกใคร ให้เอากระบวนการปฏิบัติเป็นหลักส่วนได้มรรคผลอย่างไรเป็นเรื่องของแต่ละคน

ไม่เช่นนั้นก็จะท้อมากเมื่อเห็นเพื่อนกัลยาณมิตรก้าวหน้าไปไกลแต่เรากลับยัง อยู่ที่เดิม นั่นเพราะมีเหตุปัจจัยต่างกัน มีอินทรีย์พละต่างกัน และอาจจะมีทิฏฐิที่ต่างกัน ซึ่งตรงนี้ต้องศึกษาและตรวจสอบให้ดี

นำบุญมาฝาก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,202 views 0

นำบุญมาฝาก

นำบุญมาฝาก

…ความหวังดี ที่พาให้หลงทางและห่างไปจากความเป็นพุทธ

ในปัจจุบันนี้คำว่า “บุญ” กับคำว่า “กุศล” นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก หรือกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว มิหนำซ้ำยังมีการทำบุญทำกุศลให้กันได้อีก เรียกว่าเตลิดกันไปไกล

หลักธรรมสั้นๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และในเรื่องของกรรมคือ “เรามีกรรมเป็นของของตน” เพียงแค่ธรรมสองข้อนี้ก็ยืนยันได้แล้วว่าไม่ว่าบุญหรือกุศลก็ไม่สามารถ “ทำให้” แก่กันและกันได้ เพราะศาสนาพุทธบอกว่า อยากได้ต้องทำเอง เราทำกรรมอะไรไว้เราจึงจะได้รับผลของกรรมนั้นเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้

คำว่ากุศลนั้นยังพออนุโลมให้ได้บ้าง เพราะกุศลคือความดีงาม สิ่งดีทั้งหลาย เมื่อเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์ จึงเกิดเป็นความดีหรือที่เรียกว่าได้กุศล คือได้กรรมดีเก็บไว้ในธนาคารกรรมของตัวเอง ทีนี้หากเราไปเล่าเรื่องในการทำดีของเราให้คนอื่นฟังแล้วเขามีมุทิตาจิต อนุโมทนากับสิ่งดีที่เราทำนั้นก็เรียกว่าเราได้ทำกุศลอีกต่อคือการพูดสิ่งที่ดี และเขาก็ได้สร้างกุศลด้วย กุศลนั้นไม่ได้เกิดจากเราให้เขา แต่เกิดเพราะเขาสร้างกุศลขึ้นมาเอง เขาสร้างกรรมดีขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของกุศลเท่านั้น

มากล่าวกันถึง “บุญ” บุญนั้นคือการชำระกิเลส การสละออก การนำสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออก ดังนั้นกิจกรรมใดที่พาลดกิเลสจะเป็นบุญทั้งหมด ดังที่ยกตัวอย่างว่าเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์แต่ถ้าเราให้เพื่อหวังว่าจะได้ลาภ ได้โชคดี ได้สิ่งดี ได้สวรรค์ ได้นิพพาน แบบนี้ไม่เป็นบุญเพราะให้เพื่อหวังผล กิเลสไม่ลด นอกจากกิเลสจะไม่ลดเผลอๆยังเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจในเรื่องบุญที่ผิดเพี้ยนไปมากในปัจจุบัน

แต่ถ้าเราบริจาคทรัพย์เพื่อลดความขี้งก ขี้เหนียว ลดความหวงแหนในสิ่งของ บริจาคเพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นลดลง สละของที่ตนรักให้ผู้อื่น แบบนี้เป็นบุญและการอนุโมทนาที่เป็นบุญนั้น จะยกตัวอย่างในกรณีที่เราไม่ชอบใจคนคนหนึ่ง ทีนี้พอเขาไปทำความดีแล้วเราก็ยังไม่ชอบอยู่ดีเพราะเรามีอาการผูกโกรธ การอนุโมทนา หรือสามารถทำจิตมุทิตาเห็นดีเห็นงามกับเขาที่เราไม่ชอบใจได้ คือการที่เราลดการผูกโกรธ ลดอัตตาตัวเองลงมา เมื่อสละกิเลสก็ถือว่าเป็นบุญ

ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเดียวกันสามารถเกิดบุญหรือไม่เกิดบุญก็ได้ ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับทิฏฐิหรือความเห็นความเข้าใจ คนที่มิจฉาทิฏฐิก็จะทำทานหวังได้บุญ ส่วนคนที่สัมมาทิฏฐิก็จะสละสิ่งของ สละแรงงาน ลดกิเลสเพื่อให้เกิดบุญ ซึ่งในส่วนของกุศลนั้นจะเกิดอยู่แล้วดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น

…ทีนี้พอเข้าใจได้ว่าบุญหรือกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง ดังนั้นการจะทำบุญให้ใครนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำกุศลเพื่อให้เขาได้รับกรรมดีไปเป็นของเขาก็ทำไมได้เช่นกัน ถ้าจะทำได้ก็เพียงทำความดีกับเขาโดยตรง เขาจึงจะได้รับผลดีนั้น

แต่การที่เราคิดจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลโดยใช้การอ้างอิงใครสักคนเช่น ถือศีลในวันพระให้พ่อแม่ พอเพียงเพื่อในหลวง ตรงนี้มันจะมีความซ้อนอยู่นิดหนึ่งคือเราใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำดี เพราะมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เราจึงคิดทำดี ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่คิดจะทำดี บุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็จะได้รับผลแห่งกุศลไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเห็นได้ทางรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเรามีความพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เมื่อไม่มีผลประโยชน์เราก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอคติลำเอียง ทำให้สามารถคัดคนชั่วออกได้มากขึ้น พอคนชั่วน้อยก็มีอำนาจทุจริตน้อยลงประเทศก็สงบสุขขึ้น ปัญหาน้อยลง พัฒนามากขึ้น นี้เองคือกุศลร่วมที่เกิดขึ้นจากการใช้บุคคลเป็นแรงบันดาลใจ คนทำก็ได้กุศล คนที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ผลแห่งกุศลที่ตนเองได้ทำไว้

ทั้งนี้ผลแห่งกุศลที่บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจได้รับนั้นก็มาจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เพราะเขาทำดีเป็นตัวอย่าง เช่นพ่อแม่ทำดีให้เราเห็น เข้าวัดฟังธรรม ให้ทานแก่ผู้อื่นเป็นประจำ นี่คือกุศลที่เขาทำ เมื่อเราได้เห็นจึงเกิดศรัทธาและซึมซับความดีเหล่านั้นมา การทำดีของเราก็กลายเป็นดอกผลของความดีจากเขาเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นวิธีสร้างกุศลให้กว้างไกลออกดอกออกผลงอกงามก็คือการทำความดีให้มาก วิธีทำความดีนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องรอโอกาสสำคัญหรือไปตามสถานที่สำคัญเสมอไป ผู้มีปัญญาย่อมไม่ประมาทโอกาสในการทำความดี

และการทำความดีที่ให้อานิสงส์หรือให้ประโยชน์สูงสุดก็คือการล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสก็คือการทำบุญ เมื่อชำระล้างกิเลสด้วยบุญจนหมดสิ้นแล้วมันก็จะไม่มีเชื้อชั่วอีกต่อไป เมื่อความชั่วไม่มีในจิตใจ เราก็จะไม่ทำชั่วอีก ทำแต่ความดี การชำระกิเลสจึงเป็นวิธีที่ปิดประตูนรกและเปิดสวรรค์ในเวลาเดียวกันและผลที่เหนือกว่านั้นก็ยังมีอยู่เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)