Tag: อานิสงส์

ความหมายของบุญ

July 4, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,907 views 0

บุญ

บุญ

บุญ…ไม่ใช่การได้มาหรือการสะสม

บุญ…คือการสละออก

ชำระกิเลสออกจากใจ

……………………………….

คำว่า “บุญ” ในทุกวันนี้ถูกใช้งานอย่างสะเปะสะปะจนมีความหมายที่ทำให้ชวนงง กลายเป็น ทานบ้าง กลายเป็นกุศลบ้าง กลายเป็นกรรมบ้าง กลายเป็นอานิสงส์บ้าง

แต่ก็ยังมีบ้างที่แปลคำว่าบุญ ว่าเป็นการชำระกิเลสในสันดาน เป็นการขจัดกิเลสออก แต่นั่นก็เป็นเพียงสัญญาที่จำภาษาได้เท่านั้น เวลาใช้กันจริงกลับเอาคำว่าบุญไปใช้แทนกุศลกรรมบ้าง ไปแทนทานบ้าง ไปแทนคำอื่นๆจนผิดนิยาม ผิดธรรมกันไปหมดเปรียบเหมือนว่ารู้จักว่าสิ่งนี้คือจอบ เรียนรู้มาว่าจอบเอาไว้ขุดดิน แต่ถึงเวลาใช้จริงกลับเอาจอบไปตักน้ำ สรุปคือในทางทฤษฏีถูก แต่ในทางปฏิบัติผิด

เมื่อบุญถูกให้ความหมายผิด แล้วการปฏิบัตินั้นจะเป็นบุญแท้จริงได้อย่างไร? เมื่อเรายึดเอาสิ่งที่เข้าใจนั้นเป็นหลักแล้ว บันทึกลงเป็นสัญญาแล้ว แต่สัญญานั้นผิดไปจากสัจจะ แม้มันจะถูกตามสมมุติที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ แต่มันผิดไปจากทางพ้นทุกข์ เรายังจะยึดมั่นถือมั่นในสัญญาเดิมอยู่อีกหรือ? ในเมื่อคนส่วนใหญ่เขาก็เข้าใจเช่นนั้นแต่ก็ไม่ได้พ้นทุกข์

บุญคือการชำระกิเลสออก ไม่ใช่การสะสมหรือได้อะไรมาเลย มีแต่นำออกไป เสียกิเลสออกไปจากตัวเรา สละความชั่วออก ส่วนความดีจะเรียกว่ากุศล ทำดีแล้วเก็บสะสมผลดีไว้เรียกว่ากุศลกรรม การทำทานครั้งหนึ่งอาจจะเกิดกุศลแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดบุญ เพราะบุญต้องชำระกิเลส ทานใดที่ไม่ได้มีผลในการชำระกิเลสก็ไม่เกิดบุญ ยิ่งการทำทานโดยหวังจะได้ลาภ ยศ สรรเสริญก็จะทำให้เกิดบาป หรือเกิดกิเลสด้วยซ้ำ

ถึงแม้จะทำทานด้วยใจบาป ก็ยังมีกุศลอยู่บ้างในส่วนที่ทำ แต่ก็มีอกุศลในส่วนของจิตที่เป็นบาป และก็มีอานิสงส์หรือประโยชน์ที่จะเกิดตามธรรมต่อไปแต่บุญนั้นไม่เกิดขึ้นเลย

– – – – – – – – – – – – – – –

4.7.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

นำบุญมาฝาก

January 18, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 4,203 views 0

นำบุญมาฝาก

นำบุญมาฝาก

…ความหวังดี ที่พาให้หลงทางและห่างไปจากความเป็นพุทธ

ในปัจจุบันนี้คำว่า “บุญ” กับคำว่า “กุศล” นั้นแทบจะแยกกันไม่ออก หรือกลายเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว มิหนำซ้ำยังมีการทำบุญทำกุศลให้กันได้อีก เรียกว่าเตลิดกันไปไกล

หลักธรรมสั้นๆที่รู้กันโดยทั่วไปคือ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” และในเรื่องของกรรมคือ “เรามีกรรมเป็นของของตน” เพียงแค่ธรรมสองข้อนี้ก็ยืนยันได้แล้วว่าไม่ว่าบุญหรือกุศลก็ไม่สามารถ “ทำให้” แก่กันและกันได้ เพราะศาสนาพุทธบอกว่า อยากได้ต้องทำเอง เราทำกรรมอะไรไว้เราจึงจะได้รับผลของกรรมนั้นเอง คนอื่นทำให้เราไม่ได้

คำว่ากุศลนั้นยังพออนุโลมให้ได้บ้าง เพราะกุศลคือความดีงาม สิ่งดีทั้งหลาย เมื่อเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์ จึงเกิดเป็นความดีหรือที่เรียกว่าได้กุศล คือได้กรรมดีเก็บไว้ในธนาคารกรรมของตัวเอง ทีนี้หากเราไปเล่าเรื่องในการทำดีของเราให้คนอื่นฟังแล้วเขามีมุทิตาจิต อนุโมทนากับสิ่งดีที่เราทำนั้นก็เรียกว่าเราได้ทำกุศลอีกต่อคือการพูดสิ่งที่ดี และเขาก็ได้สร้างกุศลด้วย กุศลนั้นไม่ได้เกิดจากเราให้เขา แต่เกิดเพราะเขาสร้างกุศลขึ้นมาเอง เขาสร้างกรรมดีขึ้นมาเอง ทั้งหมดนี้อยู่ในหมวดของกุศลเท่านั้น

มากล่าวกันถึง “บุญ” บุญนั้นคือการชำระกิเลส การสละออก การนำสิ่งที่ยึดมั่นถือมั่นออก ดังนั้นกิจกรรมใดที่พาลดกิเลสจะเป็นบุญทั้งหมด ดังที่ยกตัวอย่างว่าเราไปทำทาน บริจาคทรัพย์แต่ถ้าเราให้เพื่อหวังว่าจะได้ลาภ ได้โชคดี ได้สิ่งดี ได้สวรรค์ ได้นิพพาน แบบนี้ไม่เป็นบุญเพราะให้เพื่อหวังผล กิเลสไม่ลด นอกจากกิเลสจะไม่ลดเผลอๆยังเพิ่มกิเลสเข้าไปอีก ซึ่งเป็นความเข้าใจในเรื่องบุญที่ผิดเพี้ยนไปมากในปัจจุบัน

แต่ถ้าเราบริจาคทรัพย์เพื่อลดความขี้งก ขี้เหนียว ลดความหวงแหนในสิ่งของ บริจาคเพื่อให้ความยึดมั่นถือมั่นลดลง สละของที่ตนรักให้ผู้อื่น แบบนี้เป็นบุญและการอนุโมทนาที่เป็นบุญนั้น จะยกตัวอย่างในกรณีที่เราไม่ชอบใจคนคนหนึ่ง ทีนี้พอเขาไปทำความดีแล้วเราก็ยังไม่ชอบอยู่ดีเพราะเรามีอาการผูกโกรธ การอนุโมทนา หรือสามารถทำจิตมุทิตาเห็นดีเห็นงามกับเขาที่เราไม่ชอบใจได้ คือการที่เราลดการผูกโกรธ ลดอัตตาตัวเองลงมา เมื่อสละกิเลสก็ถือว่าเป็นบุญ

ดังจะเห็นได้ว่ากิจกรรมเดียวกันสามารถเกิดบุญหรือไม่เกิดบุญก็ได้ ซึ่งนั่นขึ้นอยู่กับทิฏฐิหรือความเห็นความเข้าใจ คนที่มิจฉาทิฏฐิก็จะทำทานหวังได้บุญ ส่วนคนที่สัมมาทิฏฐิก็จะสละสิ่งของ สละแรงงาน ลดกิเลสเพื่อให้เกิดบุญ ซึ่งในส่วนของกุศลนั้นจะเกิดอยู่แล้วดังที่ยกตัวอย่างในข้างต้น

…ทีนี้พอเข้าใจได้ว่าบุญหรือกุศลต่างก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตนเอง ดังนั้นการจะทำบุญให้ใครนั้นเป็นไปไม่ได้อยู่แล้ว และการทำกุศลเพื่อให้เขาได้รับกรรมดีไปเป็นของเขาก็ทำไมได้เช่นกัน ถ้าจะทำได้ก็เพียงทำความดีกับเขาโดยตรง เขาจึงจะได้รับผลดีนั้น

แต่การที่เราคิดจะทำดี ทำสิ่งที่เป็นกุศลโดยใช้การอ้างอิงใครสักคนเช่น ถือศีลในวันพระให้พ่อแม่ พอเพียงเพื่อในหลวง ตรงนี้มันจะมีความซ้อนอยู่นิดหนึ่งคือเราใช้เขาเป็นแรงบันดาลใจในการทำดี เพราะมีเขาเป็นแรงกระตุ้น เราจึงคิดทำดี ถ้าไม่มีเขาเราก็ไม่คิดจะทำดี บุคคลผู้เป็นที่ตั้งแห่งแรงบันดาลใจเหล่านั้นก็จะได้รับผลแห่งกุศลไปด้วย ซึ่งตรงนี้ก็สามารถเห็นได้ทางรูปธรรมอย่างชัดเจน เช่น ถ้าเรามีความพอเพียง ไม่โลภ ก็จะไม่ซื้อสิทธิ์ขายเสียง เมื่อไม่มีผลประโยชน์เราก็สามารถที่จะตรวจสอบนักการเมืองได้อย่างเต็มที่โดยไม่มีอคติลำเอียง ทำให้สามารถคัดคนชั่วออกได้มากขึ้น พอคนชั่วน้อยก็มีอำนาจทุจริตน้อยลงประเทศก็สงบสุขขึ้น ปัญหาน้อยลง พัฒนามากขึ้น นี้เองคือกุศลร่วมที่เกิดขึ้นจากการใช้บุคคลเป็นแรงบันดาลใจ คนทำก็ได้กุศล คนที่เป็นแรงบันดาลใจก็ได้ผลแห่งกุศลที่ตนเองได้ทำไว้

ทั้งนี้ผลแห่งกุศลที่บุคคลผู้เป็นแรงบันดาลใจได้รับนั้นก็มาจากสิ่งที่เขาทำนั่นแหละ เพราะเขาทำดีเป็นตัวอย่าง เช่นพ่อแม่ทำดีให้เราเห็น เข้าวัดฟังธรรม ให้ทานแก่ผู้อื่นเป็นประจำ นี่คือกุศลที่เขาทำ เมื่อเราได้เห็นจึงเกิดศรัทธาและซึมซับความดีเหล่านั้นมา การทำดีของเราก็กลายเป็นดอกผลของความดีจากเขาเหล่านั้นนั่นเอง

ดังนั้นวิธีสร้างกุศลให้กว้างไกลออกดอกออกผลงอกงามก็คือการทำความดีให้มาก วิธีทำความดีนั้นมีมากมาย ไม่จำเป็นว่าต้องรอโอกาสสำคัญหรือไปตามสถานที่สำคัญเสมอไป ผู้มีปัญญาย่อมไม่ประมาทโอกาสในการทำความดี

และการทำความดีที่ให้อานิสงส์หรือให้ประโยชน์สูงสุดก็คือการล้างกิเลส การชำระล้างกิเลสก็คือการทำบุญ เมื่อชำระล้างกิเลสด้วยบุญจนหมดสิ้นแล้วมันก็จะไม่มีเชื้อชั่วอีกต่อไป เมื่อความชั่วไม่มีในจิตใจ เราก็จะไม่ทำชั่วอีก ทำแต่ความดี การชำระกิเลสจึงเป็นวิธีที่ปิดประตูนรกและเปิดสวรรค์ในเวลาเดียวกันและผลที่เหนือกว่านั้นก็ยังมีอยู่เช่นกัน

– – – – – – – – – – – – – – –

6.1.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

September 29, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,734 views 0

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ศาสนาไม่ได้เจริญขึ้นเพราะเงิน

ทุกวันนี้ศาสนาไม่ได้ถูกใช้เป็นวิถีทางแห่งการดับทุกข์เหมือนอย่างในอดีต แต่กลับกลายเป็นช่องทางให้ใครหลายคนได้ใช้เพื่อนำไปสู่ความมั่งคั่งด้วยชื่อเสียง เงินทอง บริวาร และสุขลวงๆ

ในยุคที่สังคมรีบเร่ง แก่งแย่งแข่งขัน ทำให้เราเหลือเวลาไม่มากพอที่จะใส่ใจแก่นแท้ของศาสนา นั่นทำให้เราเลือกที่จะไปทำบุญทำทานด้วยเงิน เป็นวิธีที่ง่ายที่สุดที่คนไทยส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติ เรามีงานประเพณีมากมายที่ใช้เงินเป็นตัวขับเคลื่อน ไม่ว่างานบุญ งานกฐิน หรือแม้กระทั่งงานบวชก็ยังต้องมีเงินหมุนเวียนมากมาย

เราอาจจะเห็นวัดวาอารามใหญ่โต เจริญขึ้น มีความสะดวกสบายมากขึ้น นั่นเป็นผลมาจาก…เงิน หรือจะให้ชัดก็คือ ผลมาจากแนวคิดเชิงทุนนิยม วัตถุนิยม กิเลสนิยม

แต่หลักของพุทธนั้นไม่ได้เป็นไปอย่างทางโลก พุทธไม่ได้สะสมวัตถุ ไม่ได้ต้องการวัดที่ใหญ่และความสะดวกสบายมากนัก เพราะศาสนาพุทธนั้นเป็นไปเพื่อการพราก ความมักน้อย ความไม่สะสม การขัดเกลากิเลส จนกระทั่งถึงการดับกิเลส

ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “เงินทองเหมือนดังอสรพิษ” ความมีจนเกินพอดี จะทำให้คนมัวเมาในกิเลสกลายเป็นพิษเป็นภัย แม้แต่ผู้ที่ตั้งใจบวชก็ยังพ่ายแพ้ต่อพลังของเงิน ใช้เงินสร้างวัตถุที่เกินความจำเป็น เพื่อชื่อเสี่ยง เพื่อบารมี เพื่อสะสมบริวาร ทั้งหมดนี้มีรากมาจากความโลภทั้งสิ้น

ส่วนต้นเหตุที่ทำให้เป็นแบบนั้นก็คือ คนที่หลงมัวเมาในการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่า เงินที่ให้ไปนั้น จะไปเพิ่มกิเลสให้กับพระหรือไม่ ถ้าให้เงินนั้นไปแล้ว พระนำไปสร้างวัตถุเพื่อสนองกิเลสของตน ก็เป็นการเพิ่มกิเลสให้กับพระ เป็นทานที่ให้ไปแล้วผู้รับ “ไม่บริสุทธิ์” ย่อมไม่เกิดอานิสงส์ที่สมบูรณ์ และอาจจะกลายเป็นอกุศลไปได้ด้วย หากพระผู้นั้นใช้ทานเหล่านั้นเพื่อไปเสพสมใจในกิเลสของตนมากเกินไปจนทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนา

การร่วมบุญกับคนบาป นั้นจะไม่บาป ไม่มีอกุศล ไม่มีผลทางลบนั้นคงเป็นไปไม่ได้ เราควรจะแยกคนพาล (คนผู้หลงมัวเมาในกิเลส) กับบัณฑิต(คนผู้มีสัจจะ เป็นไปเพื่อลด ล้างกิเลส) ออกให้ชัดเจน คนไหนเป็นคนพาลก็ให้ห่างไกลไว้ ไม่ร่วมกิจกรรมด้วย คนไหนเป็นบัณฑิต ก็ให้เข้าใกล้ ร่วมกิจกรรม ร่วมบุญกัน ก็จะเกิดกุศลและอานิสงส์มหาศาล

ทานที่ให้ควรประกอบด้วยความบริสุทธิ์ทั้งผู้ให้ ผู้รับ และทานนั้นๆ ผู้ให้ควรบริสุทธิ์ด้วยกายวาจาใจ ไม่ได้ให้เพื่อหวังสิ่งตอบแทนใดๆ ไม่ได้ให้ด้วยกิเลสตัณหา ผู้รับเองก็ควรบริสุทธิ์ด้วยศีล อันเป็นฐานะที่ควรทำให้เจริญขึ้นเรื่อยๆเพื่อยังประโยชน์แก่ผู้ให้ และทานนั้นก็ควรบริสุทธิ์ เป็นของที่ไม่เบียดเบียนใคร ไม่เดือดร้อนใคร

พระพุทธเจ้าได้ตรัสไว้ว่า “ตั้งตนอยู่บนความลำบาก กุศลธรรมเจริญยิ่ง” ถ้าเราปล่อยให้พระได้ลำบากพอประมาณ ในขีดที่ไม่ทรมาน เปลี่ยนจากการทำบุญทำทานด้วยวัตถุ มาเป็นออกแรง เช่น ทำความสะอาดวัด ก็จะทำให้พระไม่ได้รับความสะดวกสบายจากปัจจัยที่มากเกินพอดีนัก นั่นคือช่วยให้พระได้ตั้งตนอยู่บนความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้เจริญในธรรมยิ่งขึ้น และอานิสงส์เหล่านั้นก็จะย้อนกลับมาถึงเราด้วย เช่น เมื่อท่านได้เรียนรู้ธรรมจากความลำบากบ้าง ท่านก็จะได้นำธรรมเหล่านั้นมาสอนเรา

และพระพุทธเจ้ายังได้ตรัสไว้อีกว่า “เมื่ออยู่ตามสบาย อกุศลธรรมเจริญยิ่ง” นั่นหมายถึง ถ้าเรายิ่งเลี้ยงพระด้วยอาหารอันมีมาก ด้วยทรัพย์อันเกินประมาณ ด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกที่เกินพอดี ความเสื่อมจะยิ่งใกล้เข้ามาเรื่อยๆ กุศลธรรมจะเสื่อมลง อกุศลธรรมจะเจริญขึ้น สิ่งดีจะหายไป สิ่งชั่วจะเข้ามาแทนที่ ทั้งหมดนี้เป็นเพราะเราทำบุญทำทานกันอย่างหน้ามืดตามัว ทำทานกันอย่างเมาบุญ เห็นว่าที่ไหนพระดัง ก็พากันเอาเงินโถมเข้าไปทำลายวัดนั้นๆจนแตกกระเจิง ตบะแตกกันกระจาย ศีลแตกกันไม่มีเหลือ

พระส่วนมากก็คนธรรมดาเหมือนเรา จะไปมีพลังต้านทานกิเลสได้อย่างไร พอใส่เงินเข้าไปมากๆ ก็เริ่มจะโลภ เริ่มจะล่าบริวารมากขึ้น เริ่มตั้งลัทธิ ตั้งสำนัก เพื่อให้ตนเองนั้นได้ลาภ ยศ สรรเสริญ ดังที่เคยเป็นข่าวให้เราเห็นกันอยู่เป็นประจำ

ดังนั้นการทำบุญทำทานอย่างไม่พิจารณาให้ถี่ถ้วนว่าผู้รับนั้นเหมาะสมหรือไม่ ควรหรือไม่ โดยใช้ความเจริญทางจิตใจของศาสนาเป็นหลักในการพิจารณา ไม่ให้ความอยากในการทำบุญทำทานของเรานั้นไปเป็นส่วนหนึ่งในความเสื่อมของชาวพุทธ เพียงคิดได้แค่นี้ก็เกิดกุศลยิ่งใหญ่แล้ว เพราะศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งปัญญา มิใช่ศาสนาที่พามัวเมาในบุญ ในสวรรค์ วิมาน เทวดา ฟ้าดิน แต่ท่านสอนให้เชื่อในเรื่องของกรรม

ชีวิตของคนเราจะดีนั้น ไม่ได้หมายความว่าไปบริจาคเงินทำบุญแล้วมันจะดีเสมอไป เพราะ “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน” ถ้าเราอยากจะให้เกิดสิ่งที่ดีในชีวิตเราต้องทำเอาเอง ไม่มีอะไรมาดลให้เกิดดีกับเราได้ นอกจากกรรมที่เราทำมา ยิ่งเราทำกรรมดีมากๆ แม้ไม่ได้ไปทำบุญหยอดตู้ใส่เงินให้กับวัด ชีวิตเราก็สามารถเกิดสิ่งที่ดีได้

และนั่นคือสิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายึด “กรรม” คือการกระทำของตนนั้นเป็นหลักในการปฏิบัติ ไม่ใช่ไปให้เงิน ให้วัตถุกับคนอื่นแล้วบอกให้เขาอวยพรให้มีความสุข ให้เราร่ำรวย ให้เราเจอแต่คนดี ให้เราไปสวรรค์ ให้เราไปนิพพาน อันนี้ไม่ถูกทางพุทธ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ปลายทางนั้นมีแต่จะทุกข์ เป็นนรกอย่างเดียว

– – – – – – – – – – – – – – –

28.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

September 14, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 13,264 views 0

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

การบำรุงศาสนาอย่างยั่งยืน

ศาสนานั้นเป็นที่พึ่งทางจิตใจของใครหลายคน คนที่นับถือศาสนาก็จะทำทำนุบำรุงศาสนานั้นๆด้วยการเผยแผ่ การสร้างวัดวาอาราม การสนับสนุนผู้ที่เขาเห็นว่าปฏิบัติดีซึ่งก็เป็นการสนับสนุนส่งเสริมศาสนาที่ดีทางหนึ่ง

ดังเช่นในศาสนาพุทธ พุทธศาสนิกชน ทั้งหลายมักจะพากันใช้เวลาช่วงหนึ่งเข้าวัด นั่งสมาธิ ถือศีล เดินจงกรม ฟังธรรม และมักบริจาคทานช่วยเหลือในส่วนต่างของศาสนา เช่น สร้างวัด สร้างพระ แม้จะไม่ได้ช่วยเป็นแรงเงิน ก็มักจะช่วยกันบอกต่อหรือไม่ก็ช่วยเป็นแรงกาย

จนบางครั้งวัดได้กลายเป็นที่ยึดเหนียวจิตใจของคนเหล่านั้นไปแล้ว ในบางคนถึงกับยึดมั่นถือมั่นเข้าใจว่าการบำรุงศาสนาที่ได้บุญมากคือการสร้างวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน …

ความเข้าใจเรื่องบุญกับอานิสงส์…

ซึ่งตรงจุดนี้เราต้องแยกคำว่าบุญกับอานิสงส์กันเสียก่อน การทำทานนั้นจะมีผล ก็คือประโยชน์ หรือมีอานิสงส์มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับทานนั้นไปสู่ที่ใด การให้ทานกับคนมีศีลก็มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานกับสัตว์ นั้นเพราะว่าคนมีศีลจะสามารถนำทานเหล่านั้นไปสร้างประโยชน์ได้มากกว่าสัตว์ การทำทานให้ผู้รับที่ต่างกันจนกระทั่งวิหารทาน ธรรมทาน อภัยทาน จึงมีอานิสงส์หรือประโยชน์ต่างกันจึงทำให้กุศลที่ได้รับนั้นต่างกันมากตามสิ่งที่ทำไปด้วย

ทีนี้มาถึงคำว่าบุญ บุญนั้นคือการสละออก หรือการสละกิเลสออกไป หลายครั้งที่เรามักจะได้เห็นคำว่า โกยบุญ ,บุญใหญ่ , บุญหล่นทับ ถ้าแปลกันแบบตรงไปตรงมาก็คงจะเป็น,โกยการสละออก? การสละออกครั้งใหญ่? การสละออกหล่นทับ? พิมพ์ไปก็เริ่มจะงงไป เพราะเราเองไม่เคยให้ความกระจ่างกับคำว่าบุญ , กุศล , อานิสงส์เลย

เราลองมาแปลคำว่า โกยบุญ บุญใหญ่ และบุญหล่นทับให้ตรงตามความหมายของการสละออก ,คำว่าโกยบุญ คือ รีบเก็บเกี่ยวโอกาสในการสละกิเลส เช่น มีคนตกทุกข์ได้ยาก มีญาติมิตรลำบาก ก็ไม่ดูดายรีบหาทางช่วย ,คำว่าบุญใหญ่นั้น คือโอกาสในการสละครั้งยิ่งใหญ่ เช่น สละทรัพย์ สละอวัยวะ สละชีวิต , ส่วนบุญหล่นทับ คือ โอกาสพิเศษในการสละออก เช่น มีคนจะมาขอคู่ครองคนรักของเราไปอยู่ด้วย เรายกให้เขาได้ไหม? ทั้งหมดนี่พยายามแปลงให้เข้าท่าที่สุดแล้วนะ

เมื่อเราไม่เข้าใจความหมายของคำว่า บุญ , กุศล , อานิสงส์ ก็จะทำให้เราหลง เมาบุญ ไม่รู้ว่าสิ่งใดคือเหตุสิ่งใดคือผล ไม่รู้ต้นไม่รู้ปลาย รู้แต่เขาบอกว่าทำแล้วดี ทำดีแต่มักไม่ถูกที่ถูกทาง ทำดีผิดไปจากที่ควร ทำดีแบบมิจฉาทิฏฐิ

ความเสื่อมของศาสนา…

ในประวัติศาสตร์ก็ได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ทุกอย่างจะเสื่อมสลายไปตามกาลเวลา แม้แต่อินเดียที่ได้ชื่อว่าเป็นถิ่นกำเนิดของศาสนาพุทธ แต่ตอนนี้กลับสูญสลายหายไปจนเกือบหมด หลักฐานใดๆก็แทบจะไม่มีเหลือ วัดวาอารามที่เคยสร้างเมื่อสมัยต้นพุทธกาล กลับกลายเป็นแค่กองหินกองดิน คัมภีร์พระไตรปิฏกถูกเผาทำลาย สูญหาย หรือถูกบิดเบือนไป พระสงฆ์ถูกฆ่า เดรัจฉานวิชาเข้ามาแทนที่ เกิดการแบ่งกลุ่มแบ่งแยกพวก กำเนิดลัทธิต่างๆมากมาย จนแทบจะจับหลักไม่ได้ว่าทางไหนคือทางที่ถูกที่ควรต่อการปฏิบัติตาม

นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต และจะเกิดขึ้นในอนาคตที่กำลังจะใกล้กลียุคเข้าไปทุกวัน เราทั้งหลายบำรุงพระพุทธศาสนา เพียงแค่รูปภายนอก คือ วัดวาอาราม โบสถ์สถูป เรียนท่องจำพระไตรปิฏก ถวายปัจจัยแก่สงฆ์ เหล่านี้คือการปฏิบัติของพุทธศาสนิกชนที่เห็นได้โดยทั่วไป ทั้งหมดนี้ดี แต่ไม่ยั่งยืน ไม่เที่ยง แปรผันได้ตลอดเวลา

เช่น วัด โบสถ์ อาคาร พระพุทธรูป ที่เราร่วมบุญร่วมก่อสร้าง วันหนึ่งก็ต้องมาพังทลายเพราะแผ่นดินไหว แผ่นดินถล่ม มีคนขโมย หรือกระทั่งผลจากสงคราม เมื่อเราไปยึดมั่นถือมั่นในวัตถุเหล่านั้น ใจเราก็พลอยจะพังทลายไปด้วย

เช่น คำสั่งสอนบางประการที่ได้ยินมา ที่เขาอ้างว่ามันคือพระธรรม แต่ขัดกับการปฏิบัติจริง ไม่สามารถทำให้พ้นทุกข์ได้จริง พอเราไปยึดมั่นในคำสอนที่ผิดหรือถูกบิดเบือนเหล่านั้น ก็จะทำให้เรายิ่งหลง ยิ่งทุกข์ ยิ่งโง่ ยิ่งเกิดความเดือดร้อนในชีวิต

เช่น ผู้บวชเป็นพระบางรูป เราก็หลงไปทำบุญ ไปศรัทธา ไปกราบไหว้ ไปปฏิบัติตาม สุดท้ายก็กลายเป็นพระทุศีล โกหก หลอกลวง สร้างลัทธิ ใช้เดรัจฉานวิชา อลัชชี เป็นผู้ที่หากินในคราบของพระ ถ้าเรายังยึดมั่นถือมั่น เราก็จะต้องหลงโง่ตามไปต่อเรื่อยๆ แม้เราจะเคยเลื่อมใสศรัทธา แต่พอหมดศรัทธาก็อาจจะเป็นเหตุให้เราทุกข์ โกรธ อาฆาต เสื่อมศรัทธาต่อบุคคลที่บวชเป็นพระ

ทำบุญทำทานให้ถูกที่ มีอานิสงส์ดียิ่งนัก…

การทำบุญทำทาน นอกจากจะเป็นการทำเพื่อสละกิเลสออกจากใจแล้ว ยังต้องมีปัญญารู้ว่าผลหรืออานิสงส์นั้นจะเกิดสิ่งใดด้วย เพราะศรัทธาของพุทธนั้น คือศรัทธาที่เกิดจากปัญญา มิใช่ศรัทธาที่หลงงมงายดั่งเช่นศรัทธาในแบบพ่อมดหมอผีฤาษีหมอดู แต่เป็นเพราะเรารู้ว่าการศรัทธาในสิ่งนั้นจะนำมาซึ่งประโยชน์ต่อเราและผู้อื่นอย่างแท้จริง

เช่น เราทำบุญสร้างโบสถ์ เราทำด้วยใจที่สละรายได้ สละอาหารมื้อพิเศษ สละของที่อยากได้ให้กับวัด แต่วัดนั้นขึ้นชื่อเรื่องเครื่องรางของขลัง การสร้างวัตถุฟุ่มเฟือย เป็นไปเพื่อความบันเทิงและชื่อเสียง ก็ให้เราช้าไว้ก่อน ลองดูว่าวัดไหนที่ยังขาดปัจจัยบ้าง เช่นบางวัดไม่มีศาลา ไม่มีโบสถ์ เราก็ควรจะส่งเสริมวัดนั้นๆประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมเกิดขึ้นเมื่อเราให้ผู้ที่ขาด มากกว่าให้ผู้ที่มีพร้อม

เช่น เราทำบุญช่วยเผยแพร่ธรรมะ แต่ธรรมะนั้น เป็นธรรมะที่ไม่พาพ้นทุกข์ พาให้สะสม พาให้หลงผิด พาให้เพิ่มกิเลส เพิ่มความโลภ โกรธ หลง เพิ่มอัตตา เราก็ช่วยเผยแพร่ด้วยใจเสียสละนะ แต่สิ่งที่เราช่วยเผยแพร่เป็นมิจฉาทิฏฐิ ดังนั้นประโยชน์หรืออานิสงส์ย่อมไม่เกิด และอาจจะทำให้ผู้รับหลงงมงายเข้าไปอีกด้วย ซึ่งกรรมนั้นแหละจะกลับมาให้ท่านหลงผิด หลงทางในธรรมไปด้วย

เช่น เราทำบุญทำทานให้ผู้บวชเป็นพระ เรายินดีสละทรัพย์ สละโอกาสที่จะซื้อของที่ชอบให้พระรูปนั้น แต่พระรูปนั้นก็ไม่ได้นำปัจจัยของเราไปสร้างสิ่งดีงามอะไร ในขณะเดียวกัน พระอีกวัดกำลังสร้างโรงเรียนให้เด็กในชุมชน การทำทานให้พระรูปนั้นจะได้อานิสงส์มากกว่า เพราะท่านได้นำทรัพย์ที่เราสละไปสร้างประโยชน์ให้กับชุมชม เป็นกุศลหลายชั้น ชั้นแรกคือเราให้พระ ชั้นที่สองคือพระนำไปสร้างประโยชน์ ชั้นที่สามคือเด็กๆ ได้มีที่เรียน ชั้นที่สี่คือชุมชนพัฒนา ชั้นที่ห้า หก เจ็ด ฯลฯ… ดังจะเห็นได้ว่าการบริจาคทานแก่พระที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ ช่วยเหลือชุมชน ปลดทุกข์ให้ชาวบ้าน ทำกิจของตนเองคือการศึกษาธรรม ล้างกิเลสและกิจกรรมของผู้อื่น คือช่วยเหลือคนและชุมชน จะได้รับอานิสงส์มากกว่าการบริจาคให้พระที่ไม่ทำประโยชน์อะไรให้กับชุมชน

การทำบุญทำทานที่คิดแค่ว่า “ ทำๆไปเถอะ ขำๆ อย่าคิดมาก” ได้ยินได้ฟังแล้วอาจฟังดูดี ดูปล่อยวาง แต่ก็อาจจะเข้าใจแบบไม่มีปัญญาก็ได้ ชาวพุทธจึงควรทำบุญทำทานส่งเสริมคนดี วัดดี พระดี ให้คนดีเหล่านั้นได้มีกำลังทำดีต่อไป เพื่อให้เกิดสังคม สิ่งแวดล้อมที่ดี (คำว่าดีในที่นี้ คือดีในทางสวนกระแส ไม่ไปตามกิเลส ขัดกิเลส ล้างกิเลส)

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืน….

ดังจะเห็นได้ว่า การทำบุญให้เกิดการสละอย่างแท้จริงนั้นยาก และการจะให้เกิดอานิสงส์มากนั้นก็ยาก แถมสิ่งเหล่านั้นก็ไม่เที่ยง เปลี่ยนแปลง เปลี่ยนสภาพ ถูกบิดเบือนได้ตลอดเวลา

อ่านมาถึงตรงนี้คงจะมีคำถามกันแล้วว่า แล้วเราจะส่งเสริมศาสนาอย่างไรจึงจะทำให้ศาสนาคงอยู่ได้อย่างยั่งยืน …

ความเป็นพุทธนั้น ไม่ได้ถูกเก็บไว้ในวัตถุ ไม่ได้เก็บไว้ในวัด ไม่ได้เก็บไว้ในคัมภีร์พระไตรปิฏก ไม่ได้เก็บอยู่ในคนที่บวชเป็นพระ ความเป็นพุทธ หรืออริยทรัพย์ที่แท้จริงนั้นถูกเก็บไว้ในวิญญาณของแต่ละคน เป็นที่เก็บธรรมะที่ไม่มีวันจะเสื่อมสลาย ไม่มีวันพังทลาย ไม่มีวันถูกบิดเบือน

การส่งเสริมศาสนาพุทธอย่างยั่งยืนนั้น เราจึงควรสร้างความเป็นพุทธะ คือความรู้แจ้งเข้าใจในกิเลสนั้นๆ โดยผ่านการศึกษาธรรมะ และการปฏิบัติ จนเกิดสภาพการรู้เห็นความจริงตามความเป็นจริงในตน กลายเป็นอริยทรัพย์ติดไปข้ามภพข้ามชาติ ไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ชาติไหน ภพไหน ก็จะมีสภาพนั้นติดตัวไปด้วย จะสามารถปลดเปลื้องกิเลสนั้นๆได้ง่าย เป็นการเก็บความเป็นพุทธไว้ในวิญญาณ ไว้ในกรรม เมื่อเรามีสร้างกรรมที่เข้าใจแจ่มแจ้งในเรื่องใดๆแล้ว ผลของกรรมก็คือเราไม่ต้องไปเสพ ไปยึดมั่นถือมั่น ไปทุกข์ เพราะเรื่องนั้นๆอีก ก็จะเกิดสภาพแบบนี้ไปทุกๆชาติ แม้ในชาตินี้ที่ยังไม่ตายก็ตาม

ยกตัวอย่างเช่น เราสามารถพัฒนาจิตใจตัวเองให้เลิกกินเนื้อสัตว์หันมากินมังสวิรัติได้แล้ว วันพรุ่งนี้เราก็จะกินมังสวิรัติอย่างมีความสุข ไม่ว่าเดือนหน้า ไม่ว่าปีหน้าก็จะเป็นอย่างนี้ ดังนั้นชาติหน้าก็จะเป็นเช่นนี้เหมือนกัน เพราะเราสร้างกรรมดีแบบนี้ เราก็เลยมีสภาพรับกรรมดีแบบนี้ไปเรื่อย

พระพุทธเจ้าได้ตรัส เกี่ยวกับอริยทรัพย์ไว้ใน หัวข้อ อริยทรัพย์ ๗ คือทรัพย์แท้อันประเสริฐ ได้แก่ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา

ดังนั้นถ้าเราปฏิบัติและเก็บสะสม พัฒนาสภาวะต่างๆ คือ ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา ให้เจริญยิ่งๆ ขึ้น ก็ไม่ต้องกลัวเลยว่า เกิดชาติไหนชีวิตจะลำบาก เพราะปฏิบัติได้ในชีวิตนี้ ก็เกิดดีจนเห็นได้ในชีวิตนี้ แถมยังส่งให้ไปปฏิบัติต่อในชีวิตหน้า ดังที่จะเห็นได้ว่า คนเราเกิดมาดีเลว ร่ำรวยยากจน แข็งแรงมีโรค มีโอกาสไร้โอกาส ฯลฯ แตกต่างกัน เหล่านี้คือผลมาจากกรรมคือทรัพย์ที่เก็บสะสมมาแตกต่างกัน ดังจะเห็นได้จากตัวเราตอนนี้

เมื่อเข้าใจเรื่องกรรมได้ชัดแจ้ง ก็จะไม่สงสัยเลยว่าต้องทำอย่างไรจะบำรุงศาสนาพุทธได้อย่างยั่งยืน เพราะเป็นเรื่องที่ง่ายมาก ก็คือทำดีให้เกิดในตัวเรานี่แหละ ลด ละ เลิกการยึดมั่นถือมั่นในกิเลสของเราไปเรื่อยๆ เก็บสะสมอริยทรัพย์ไปเรื่อยๆ ล้างกิเลสไปเรื่อยๆ หยุดชั่ว ทำดี ทำจิตใจให้ผ่องใสไปเรื่อยๆ นี่แหละคือการรักษาศาสนาพุทธที่ดีที่สุด

– – – – – – – – – – – – – – –

14.9.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์