Tag: ความมั่งคั่ง

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

February 8, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,762 views 0

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

ค่าสนองตัณหา : ความเสื่อมในความมั่งคั่งและความเจริญในความจน

เราเคยนึกกันหรือไม่ว่า ความอยากแต่ละครั้งที่เกิดขึ้นของเรานั้น ต้องถูกสนองไปด้วยทรัพยากรเท่าไหร่ ผลาญเงินกันไปกี่บาท กี่ครั้งกี่หนแล้วที่เราต้องจ่ายเงินให้กับการบำบัดความทุกข์ที่เรียกว่าความอยาก(ตัณหา)

หากเรามีเงินมากมายมหาศาล เรื่องราวต่อไปนี้คงจะไม่ใช่เรื่องน่าสนใจเลย แต่ในความจริงนั้นไม่ใช่ทุกคนที่จะร่ำรวยเงินทอง และเหล่าคนผู้ที่แสวงหาความเจริญทางจิตใจ ย่อมละทิ้งหนทางที่จะเจริญไปในทางโลก คือไม่ยินดีในความร่ำรวยเงินทอง เพราะรู้ดีว่า การมีเงินมากคือภาระ และร้ายยิ่งกว่านั้นคือเราจะไม่สามารถรับรู้ถึงโทษภัยของความอยากได้ง่ายนัก เพราะมีทรัพยากรที่นำมาใช้สนองความอยากเหล่านั้นให้สงบลงไปนั่นเอง

สาวกของพระพุทธเจ้าจึงมีการปฏิบัติที่ห่างไกลจากเงินโดยลำดับ ถ้าคนทั่วไปมุ่งหน้าแสวงหาเงินทอง ผู้มาศึกษาใหม่ก็อาจจะลดความโลภได้บ้าง แต่ก็ยังหวงเงินอยู่มาก พัฒนาขึ้นมาก็มีเงินเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ เก่งขึ้นมาอีกก็อยู่ได้โดยไม่ใช้เงินเลย และถ้าเป็นนักบวชนี่ต้องจริงจังถึงขั้นฝึกปฏิบัติด้วยการไม่พึ่งพาเงินเลย ให้พึ่งพาธรรมะนำพาชีวิตตัวเองไปแทน ตั้งแต่เริ่มต้นบวชกันเลยทีเดียว ถือว่าเป็นผู้เอาจริงเอาจังที่จะสละทางโลก

เมื่อเรามีเงินน้อย หรือไม่มีเงินเลย การจะได้บางสิ่งบางอย่างมานั้น จะต้องประหยัดรัดกุมมากขึ้น สมมติว่าเรามีเงินหนึ่งล้านบาท การจะ ”ซื้อขนม” ยี่สิบบาทมากิน ก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่จะต้องคิดให้เปลืองสมอง ขนาดเงินตกร้อยหนึ่งก็คงจะยังรู้สึกเฉยๆ ปล่อยวางได้ง่ายๆ

แต่ถ้าทั้งตัวเรามีเงินเหลืออยู่หนึ่งร้อย การจะไป “ซื้อขนม” ยี่สิบบาทกินนั้น ก็ต้องใช้การคิดทบทวนมากขึ้น และสำหรับผู้ที่ไม่มีเงินเป็นของตัวเอง การจะได้มาซึ่งขนมยี่สิบบาทนั้น ถ้าสิ่งนั้นไม่ได้มาเองโดยธรรม ก็ต้องใช้ความฉลาดของกิเลสตะล่อมเอามาแทนก็จะเป็นการปะทะกันระหว่างธรรมะกับอธรรม คือจะอดทนอดกลั้นต่อความอยากได้ไหม หรือจะอยากจนใช้กลอุบายเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้อยากเสพโดยที่ดูเผินๆแล้วไม่ผิดอะไร

ขนมอย่างเดียวกันแต่การที่เรามีทรัพยากรต่างกันนั้น ทำให้เกิดความแตกต่าง ถ้าเรามีทรัพยากรไม่จำกัด เราก็ไม่ต้องใช้สมองไปสนใจเลยว่าสิ่งใดจำเป็นหรือไม่จำเป็น เราชอบสิ่งไหนเราก็หามาเสพได้ทั้งหมด แต่การมีทรัพยากรน้อยนั้น ต้องใช้ปัญญาไตร่ตรองให้ดีว่า มันสำคัญจริงไหม ความอยากกินขนมของเรานั้นคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายไปจริงหรือ? มันเป็นประโยชน์ขนาดที่เราต้องยอมจ่ายไปจริงหรือ?มันเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์จริงหรือ? หรือยิ่งเสพก็ยิ่งอยาก ยิ่งอยากก็ยิ่งทุกข์ ยิ่งทุกข์ก็ยิ่งต้องหาทางให้ได้เสพ สุดท้ายก็แสวงหาปัจจัยเพื่อให้ตนเองได้เสพสมใจอยาก วนเวียนอยู่เช่นนี้

ดังนั้น “คนรวย” จึงไม่มีเหตุปัจจัยที่ ”เอื้อ” ต่อความเจริญทางจิตใจที่เรียกว่า “ความจน” พระพุทธเจ้าท่านพาสาวกมาจน ให้มีปัจจัยสี่ที่น้อย เพราะจะเป็นการขัดเกลา ให้ใจพอ ให้พอเพียง ให้เกิดปัญญารู้ว่าแค่มีเพียงเท่านี้ก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข หากดำรงตนอยู่ในธรรมไม่ใช่ความจนที่เกิดเพราะไม่ขยัน ไม่มีปัญญาหาเลี้ยงชีพ หรือจนเพราะติดเหล้าติดพนัน แต่เป็นความจนที่ตั้งใจให้เกิดเพื่อการขัดเกลาความอยาก

แน่นอนว่าการมีน้อยใช้น้อยนี้ไม่สามารถทำได้สำหรับทุกคน แต่จะต้องเป็นผู้ที่มีศรัทธาตั้งมั่น ตั้งใจขัดเกลาปฏิบัติตนให้หลุดพ้นจากความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ยากตั้งแต่จะรู้จัก ยากแม้แต่จะทำความเข้าใจ ยากที่จะเข้าถึง ยากที่จะรู้จริง

ดังนั้นเมื่อธรรมะนั้นเข้าถึงได้ยาก ต้องขัดเกลา ต้องอดทนอดกลั้น ต้องประหยัด ต้องทรมานกิเลส ต้องทุกข์เพราะต้องสู้กับกิเลส เมื่อมันยากเย็นแสนเข็ญเช่นนี้ คนจึงหันหน้าไปสู่อธรรม เป็นทางที่พาไปเสพสุข ไปมัวเมา ไปหาความมั่งคั่งร่ำรวย เพื่อที่จะได้มีเสพมีใช้อย่างไม่มีวันหมด เหล่านี้คือวิธีแก้ปัญหาแบบโลกีย์ทั่วไป

ไม่ว่าจะชาวบ้าน คนเมือง หรือมหาเศรษฐี ต่างก็สามารถคิดได้ว่าเงินคือคำตอบในชีวิต เพราะความอยากของเขาเหล่านั้นต้องใช้เงินมาเป็นสิ่งแลกเปลี่ยน และมักจะมีความเห็นว่า เมื่อมีเงินจึงมีความสุข ไม่มีเงินก็เป็นทุกข์เพราะไม่ได้เสพสุข โดยที่เขาไม่ได้รู้ไปถึงต้นเหตุที่แท้จริงว่า “ความอยากคือตัวการทำให้เกิดทุกข์

เขาเพียงเข้าใจกันแค่ว่า ถ้าเรา “สนองความอยาก” เราจะเกิด “ความสุข” ซึ่งในความเป็นจริงความสุขนั้นก็คือความทุกข์ที่ถูกคลายลงเท่านั้น เป็นเพียงสภาพของปิศาจ(ตัณหา) ที่สงบเพราะได้เครื่องบรรณาการเท่านั้นเอง แท้จริงแล้วปิศาจตัวนั้นยังอยู่ มันยังคอยเรียกร้องอยู่เสมอ ถ้าไม่ให้ตามที่มันสั่ง มันก็จะทรมานเรานี่คือความทุกข์ที่เกิดเมื่อไม่ได้เสพที่ตามอยาก

ดังนั้นคนที่ใช้เงินมาบำเรอสุขตัวเองมากๆ ก็ไม่ต่างอะไรจากคนที่เลี้ยงปิศาจในจิตใจของตัวเองจนมันอ้วน มันแข็งแกร่ง มันฉลาด มันสอนให้เราไปเอาเปรียบ ไปหาเงินมามากๆ ทำสิ่งที่ได้กำไรมากๆ ไม่ว่าจะผิดกฎหมาย, ผิดศีลธรรม, เป็นอบายมุข, มอมเมาคน, เป็นสิ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย ฯลฯ ทั้งหมดนั้นไม่ใช่สิ่งที่มันสนใจ มันต้องการเพียงแค่ได้รับการสนองทุกๆความต้องการของมันเท่านั้น

ในทุกวันนี้ เราเสียเงินให้กับการสนองความอยากเท่าไหร่ นั่นคือเรากำลังให้อาหารปิศาจในจิตใจของเรา เลี้ยงให้มันอ้วน ให้มันแข็งแกร่ง ให้มันบีบคั้นเราให้ทุกข์มากขึ้นเมื่อไม่ได้เสพ ให้เราต้องหามาเสพ ให้เราเป็นยิ่งกว่าคนติดยา ให้ตกเป็นทาสของปิศาจนั้น

เรามักจะไม่ได้มองการสนองความอยากเป็นตัวเงินที่เสียไป ว่าวันนี้ฉันเสียเงินให้กับความอยากไปเท่านั้นเท่านี้ แต่มักจะมองว่าวันนี้ฉันซื้อความสุขไปเท่านั้นเท่านี้ คือไปมองในด้านที่เป็นผลจากการสนองความอยาก ไม่ได้มองความอยากเป็นปัญหา ซ้ำร้ายยังไปมองว่าการสนองความอยากที่ได้ทำลงไปนั้นเป็นประโยชน์ หรือถึงจะเป็นทุกข์เพราะไม่ได้สิ่งสนองตามความอยาก ก็จะไม่โทษความอยาก แต่จะโทษเหตุปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ไม่ได้สมใจในสิ่งที่อยากได้อยากเสพนั้น เช่น เงินไม่พอ ของไม่มีขาย แบบที่ชอบไม่มี ไม่มีเวลาไปซื้อ ฝากเขาซื้อแล้วไม่ยอมซื้อให้ ฯลฯ

ความอยากของเด็กที่อยากกินไอติมสักแท่ง เพียงแค่ไม่กี่สิบบาท ก็คงพอจะทำให้หายทุกข์จากความอยากไปได้เป็นครั้งคราว แต่ความอยากของเด็กคนเดิมที่โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ผ่านมาหลายสิบปี ไอติมแท่งเดียวมันพอให้หายอยากไหม? หรือต้องใช้บ้าน ใช้รถ ใช้ตำแหน่งหน้าที่ ใช้ชื่อเสียง ใช้คำสรรเสริญเยินยอ ใช้คู่ครอง และสิ่งต่างๆ อีกมากมายเข้ามาบำบัดความอยาก สิ่งเหล่านั้นผลาญเงินไปเท่าไหร่ นี่คิดแค่เรื่องเงินนะ ยังไม่คิดเรื่องเวลา สุขภาพ ปัญญา หรือเรื่องกรรมอีก

หากเรายังมุ่งหน้าแสวงหาเงินมาบำบัดทุกข์บำเรอสุขลวงอยู่เช่นนี้ ยากนักที่เราจะเห็นความร้ายกาจของความอยาก ศาสนาพุทธไม่เคยสอนให้คนมุ่งหน้าไปสู่ความรวยเพื่อขัดเกลา แต่ให้พากันจนเพื่อขัดเกลาตนเอง เพราะความจน ความประหยัดนี่แหละที่จะทำให้เห็นร่างของปิศาจที่แอบซ่อนอยู่ในจิตใจของเรานี้ได้ชัดเจนขึ้น

เพื่อที่เราจะได้แก้ปัญหากันอย่างถูกจุด ไม่ใช่การหลงว่าการทำตามความอยากนั้นคือการทำให้หมดปัญหา ทำให้เกิดความสุข แต่การทำลายความอยากอันเป็นเหตุแห่งทุกข์ต่างหากคือสิ่งที่ควรศึกษา ถ้าไม่อย่างนั้นแล้ว เราก็คงจะเป็นทาสที่คอยวิ่งตามคำสั่งของความอยาก ไม่ว่าจะรวยหรือจนถ้ายังมุ่งแก้ปัญหาทุกข์จากความอยากด้วยการหามาเสพอยู่ ก็ไม่มีวันพ้นไปจากทุกข์ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

7.2.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

รวยเท่ากับซวย #3

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,866 views 0

รวยเท่ากับซวย #3

รวยเท่ากับซวย #3

…เมื่อความมั่งคั่งในทางโลก คือความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

คนที่เกิดมาพร้อมกับความรวยนั้นดีจริงหรือ?มีบุญวาสนาเป็นตัวผลักดันจริงหรือ?เรารู้กันหรือยังว่าสิ่งใดเป็นตัวผลักดันให้เกิดความมั่งคั่งตั้งแต่เกิดมาจากท้องพ่อท้องแม่ว่าสิ่งนั้นคืออะไร

สิ่งที่ทำให้คนเกิดมารวยก็คือ “กุศล” กุศลโลกียะแบบชาวบ้านๆนี่แหละ เช่นไปทำทานด้วยเงิน ส่งเสริมคนอื่นด้วยเงิน ช่วยเหลือคนอื่นไว้ด้วยเงินและด้วยปัจจัยอันมาก พอตายแล้วเกิดมาก็แค่ได้รับผลแห่งกุศลที่ตัวเองทำไว้ ไม่ได้เกี่ยวกับบุญแม้แต่น้อย เพราะบุญเป็นเรื่องของการลดกิเลส

ทีนี้พอเกิดมารวยแล้วไม่รู้ที่มาของความรวยนั้นก็จะถล่มใช้เงินเหล่านั้นทำบาป เสพกิเลส เพราะคนรวยนั้นมีศักยภาพที่จะสนองกิเลสมากกว่าคนอื่น สะสมบาปเวรภัยไปเรื่อยๆ เมื่อไปทำทานอย่างไม่มีปัญญารู้เรื่องบุญก็ได้แต่กุศลมาสะสม ทำให้เมื่อตายไปก็จะเกิดมารวยอีก แล้วก็เกิดมาสนองกิเลสอีกหลายภพหลายชาติจนกว่าบาปจะสั่งสมมากพอเป็นวิบาก เป็นผลทำให้เกิดทุกข์ โทษ ภัยในวันใดวันหนึ่ง

เมื่อเกิดทุกข์โทษภัย ทำให้ชีวิตลำบากหรือเกิดในชาติที่ชีวิตลำบากยากจน พอเห็นคนอื่นรวยก็อิจฉาแล้วก็ขยันหาเงินอีก พอมีเงินก็เอาไปทำทานเพื่อกุศล จนรวยขึ้นมาแล้วก็ตาย เกิดมาเสพกุศลตัวเองรวยไปอีกชาติ ก็วนเวียนจนๆรวยๆอยู่เช่นนี้ วนอยู่ในโลกแบบนี้ชั่วกัปชั่วกัลป์

….เกิดมารวยมันก็เท่านั้น

เกิดมารวยมันก็เท่านั้นเอง มันไม่ได้ยืนยันว่าจะเป็นสุขมากกว่าเด็กชาวเขาที่วิ่งเล่นกันทุกวันโดยไม่ต้องคิดอะไร ไม่ต้องเรียนพิเศษ ไม่ต้องแต่งตัวเรียบร้อย ไม่ต้องมีมารยาท ถ้าหากเราใช้เงินและความมั่งคั่งมาเป็นตัววัดความสุข เรากำลังมีความเห็นผิดอย่างรุนแรง เพราะเงินเป็นเพียงปัจจัยอำนวยความสะดวกแต่ซื้อความสุขไม่ได้

มีคนมากมายที่ไม่มีโอกาสสัมผัสกับความร่ำรวยแต่ก็ยังมีความสุขในชีวิตประจำวัน มีความสบายใจที่ไม่ต้องแบกภาระแบกกิเลสอันมากมายของเงิน แบบนี้สิเขาเรียกว่ามีบุญวาสนาบารมี เพราะเขามีการลดกิเลสมาอยู่แล้ว เขาสามารถมีความสุขได้ทั้งๆที่ไม่มีเงินมากมาย เพราะกิเลสเขาน้อย ชีวิตจึงไม่จำเป็นต้องลำบากหาเงินจำนวนมากเพื่อเลี้ยงชีพ ไม่ต้องดิ้นรนไขว่คว้าให้มันลำบากกาย ลำบากใจ เพราะไม่มีกิเลสหรือพลังแห่งบาปเป็นแรงผลักดัน

…รวยไม่ได้หมายความว่าทำบุญได้มากกว่า

การที่เรารวยไม่ได้หมายความว่าเราจะมีศักยภาพในการทำบุญมากกว่าคนอื่น การทำบุญหรือการลดกิเลสนั้นทุกคนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ยากจนหรือรวย ก็สามารถที่จะเรียนรู้เรื่องลดกิเลสได้เหมือนกัน ในส่วนการทำกุศลเช่นนำเงินจำนวนมากไปบริจาคสร้างสถานที่หรือสนับสนุนโครงการต่างๆ นั้นก็เป็นกุศลอยู่บ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนจนจะทำกุศลไม่ได้ เพราะมีคนจนหลายคน ที่สร้างตัวเองให้เป็นนักสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้ทุกคนสร้างความดี ทำให้คนในชุมชนทำดี แบบนี้มันกุศลมากกว่า เพราะความดีมันเกิดในจิตใจคน ไม่ใช่เพียงวัตถุสิ่งของ

เห็นไหมว่าการทำกุศลไม่จำเป็นต้องใช้เงินเลย เงินจะเป็นปัจจัยที่ด้อยค่าด้วยซ้ำเมื่อเทียบกับการทำความดีของคน ดังจะเห็นได้ว่ามีคนนำเงินไปบริจาคให้กับผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบจำนวนมากนั่นเพราะเขาเห็นว่าผู้ปฏิบัติดีเหล่านั้นจะสามารถใช้เงินให้เกิดประโยชน์ได้มากกว่าเขา นั่นเป็นเพราะว่าความดีในจิตใจของคนนั้นมีแค่เหนือเงินนั่นเอง

….คนรวยติดสุข

ความรวยนี่เองที่จะทำให้เราอยู่กับทุกข์ชั่วกาลนาน เพราะคนที่รวยจะติดสุข ติดไปกับโลกธรรมอยู่เรื่อยไป จะไม่มีวันเห็นทุกข์ในโลกธรรม เพราะตัวเองนั้นยังติดสุขอยู่กับลาภ ยศ สรรเสริญ ที่เกิดจากความรวยของตน ชีวิตก็ติดอยู่ในภพของเทวดา มีคนหาของมาบำเรอ อยากได้อะไรก็หาได้ กลายเป็นเทวดาในร่างคน ติดภพ ติดสุข อยู่เช่นนี้ กอดความรวยของตนเองไว้หลงว่าเป็นสุข หลงว่าเป็นบุญ ทั้งๆที่เป็นเพียงกุศลหรือผลของความดีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นเมื่อเทียบกับบุญ

คนที่เกิดมารวยหรือคนที่พยายามจะรวยนั้น โดยมากจะมีกิเลสหรือพรั่งพร้อมไปด้วยกามคุณอยู่เสมอ ใช้ชีวิตบำเรอกาม รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสอยู่ไม่ขาด ไปที่ไหนก็ต้องกินดี ไปที่ไหนก็ต้องนอนดี อยู่ในที่ดีๆ ติดสุขอยู่แบบนี้ ยินดีในความรวยอยู่แบบนี้ จิตจึงตั้งมั่นอยู่ในความรวย แล้วพยายามสร้างกุศลให้ตัวเองได้เกิดมารวยอีกต่อไปเรื่อยๆ

เมื่อมีความติดสุขก็ย่อมไม่เห็นทุกข์ เมื่อไม่เห็นทุกข์ก็ไม่มีทางเห็นธรรม คนที่รวยมากๆจะเข้าถึงธรรมได้ค่อนข้างยาก จะเข้าถึงก็ได้แค่เพียงวัด แค่พระ แต่จะไม่เข้าถึงใจที่เป็นทุกข์จริงๆ การที่เราจะบรรลุธรรมได้นั้นเราต้องไปถึงที่สุดแห่งทุกข์ในกิเลสด้านใดด้านหนึ่ง แต่คนรวยจะไม่ยอมทุกข์เพราะว่าตนเองติดสุข จะให้ไปทุกข์นั้นเขาจะไม่เอา แต่ถ้าให้ไปทำกิจกรรมในวัดที่เสริมโลกธรรมอันนี้จะชอบ เช่นแต่งชุดขาวเป็นประธานกฐิน ออกหน้าออกตาในสังคม อันนี้มันก็เป็นกุศลที่อาจจะปนบาปไปด้วยเช่นกัน

….ความซวยชั่วกัปชั่วกัลป์

ความหลงติดในความรวย ในความสุขสบายนี้เอง จะทำให้เราหลงติดอยู่ในโลกนี้ ไม่ยอมสละไม่ยอมทิ้ง คนที่ยอมสละได้ทิ้งได้ย่อมเป็นคนมีบุญเป็นอันมากและเมื่อทิ้งแล้วย่อมไม่ใช่คนรวย ดังเช่นพระพุทธเจ้าที่ทรงสละทุกอย่างมาออกบวช แม้รองเท้าก็ไม่เอาเป็นอดีตคนรวยที่สละทุกสิ่งเพื่อสิ่งที่ดีกว่า

ถ้าท่านยังคงติดอยู่ในราชสมบัติติดอยู่ในความสบายก็คงจะไม่มีคำสอนเรื่องธรรมะมาถึงพวกเราจนถึงทุกวันนี้ คนรวยในปัจจุบันนี้ก็เช่นกัน หากยังหลงในความรวยอยู่ ยังยึดติดว่าต้องรวยก่อนจึงจะทำกุศลได้อยู่ ยังมีความเห็นผิดเป็นอันมากอยู่ ก็จะกอดเก็บและสะสมความรวยนั้นไว้ สร้างบาป เวร ภัยต่อตัวเอง เป็นคนขี้โลภที่กอดกิเลสไว้ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมสละความรวย ไม่ยอมจน คนที่จะพ้นทุกข์ได้ไม่ใช่คนรวย พระพุทธเจ้าท่านก็ทำให้ดูแล้ว แต่ต้องเป็นคนจน จนขนาดที่ว่าแทบไม่มีอะไรเป็นของตัวของตนเลย มีเพียงแค่บาตร จีวรและเครื่องบริขารอีกเล็กน้อยไว้ดำรงชีพเท่านั้นจึงจะทำให้ชีวิตเบา

เพราะยิ่งรวยก็ยิ่งต้องแบกภาระ ก็ยิ่งต้องหนัก แต่พอจนมันไม่ต้องแบกไม่ต้องรับผิดชอบ ที่จริงคนรวยนี่เองคือคนที่ติดสุข ติดกิเลส ติดสะดวกสบาย ก็เลยหากาม หาโลกธรรมมาบำเรอตัวเองจนรวยเพื่อที่จะได้เสพความสบายวนเวียนไปอยู่เช่นนี้ติดภพติดสุขอยู่ในโลกไปเช่นนี้อย่างไม่มีวันจบสิ้น

– – – – – – – – – – – – – – –

15.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,899 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อิสรภาพทางการเงิน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,569 views 0

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน

เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข

เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข

การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น

เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย

นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้

นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า

ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?

ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง

แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย

ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง

แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน

อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ

อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน

อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม

คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง

คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…

…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา

…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก

…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ

…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น

…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ

…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้

…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน

เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส

เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์