Tag: จาคะ

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

August 13, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 5,232 views 0

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทดแทนคุณพ่อแม่ : ตอบแทนอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่าทำตอบแทนแล้ว

ทำอย่างไรจึงจะได้ชื่อว่ากตัญญู สิ่งที่คนส่วนใหญ่ยึดถือและปฏิบัติมานั้น ใช่ความเป็นที่สุดแล้วหรือยัง และต้องทำอย่างไรจึงจะเรียกว่าได้กระทำการตอบแทนคุณพ่อแม่ที่สมควรแล้ว

การกระทำบางอย่างแม้จะเป็นสิ่งที่โลกให้การยอมรับนับถือและปฏิบัติสืบต่อกันมาอย่างยาวนาน แต่ก็อาจไม่ได้เป็นไปเพื่อกุศลสูงสุด ไม่ได้เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์ เช่นเดียวกับการตอบแทนคุณพ่อแม่ ในมุมมองของพุทธนั้นมีความลึกซึ้งและยากแท้ในการเข้าถึงคุณวิเศษเหล่านั้น

ในพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๒๗๘ พระพุทธเจ้าตรัสเกี่ยวกับการทดแทนคุณพ่อแม่ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ง่ายๆ แม้ว่าเราจะแบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้าง มีชีวิตยืนยาวดูแลท่านไปถึงร้อยปี อาบน้ำให้ท่าน นวดให้ท่าน ฯลฯ แม้ท่านจะขับถ่ายก็ให้ขับถ่ายลงบนบ่าทั้งสองของเรา แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย

และแม้ว่าบุตรจะให้อำนาจ ลาภ ยศ สรรเสริญแก่พ่อแม่สักเท่าไหร่ ให้ความสุขความสบาย ให้ปัจจัยสี่อันหาประมาณไม่ได้ แม้ว่าเราจะทำเช่นนี้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าตอบแทนบุญคุณท่านเลย นั่นเพราะพ่อแม่มีพระคุณแก่เรามาก บำรุงเลี้ยงดู ให้โอกาสเราได้เกิดมาเรียนรู้โลก

นั่นแสดงให้เห็นว่า แม้ว่าเราจะดูแลเอาใจใส่ไม่ให้ขาดตกบกพร่องอย่างไรก็ตาม ก็ยังไม่สามารถทดแทนพระคุณของพ่อแม่ได้ แต่กระนั้นก็ใช่ว่าจะไม่มีทางทดแทนได้ การทดแทนพระคุณในทางของพุทธที่ได้ชื่อว่าบุตรเป็นผู้ทดแทนพระคุณแล้วนั้นมีอยู่

นั่นคือการนำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่มีศรัทธาให้เกิดศรัทธาในพระพุทธศาสนา นำพาพ่อแม่ที่ไม่มีศีลให้ยินดีถือศีล นำพาพ่อแม่ที่ตระหนี่ให้เป็นผู้ที่ยินดีเสียสละ นำพาให้พ่อแม่ที่ยังไม่รู้จักโทษชั่วของกิเลสให้เกิดปัญญารู้เท่าทันกิเลส การกระทำเหล่านี้ ย่อมชื่อว่าลูกเหล่านั้นได้ตอบแทนพระคุณพ่อแม่แล้ว

ซึ่งสรุปความได้ว่านอกจากเราจะดูแลท่านด้วยปัจจัยสี่อันสมควรแก่กุศลแล้ว เรายังต้องพาท่านให้เจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาอีกด้วย ทางโลกเราก็ไม่ควรให้พร่องจนท่านต้องทุกข์ทรมาน ทางธรรมเราก็ควรทำให้เจริญยิ่งขึ้น ถึงแม้สุดท้ายต้องเลือกทางใดทางหนึ่ง เราก็สมควรจะเลือกทางธรรม เพราะเป็นทางเดียวที่จะทดแทนบุญคุณท่านได้อย่างบริบูรณ์ที่สุดแล้ว

แต่การจะทดแทนคุณในทางธรรมตามที่พระพุทธเจ้าตรัสนั้นไม่ง่าย การจะเป็นผู้ชี้นำให้ท่านเจริญใน ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น ไม่ใช่เพียงแค่ว่าเอาซีดีธรรมะให้ท่านฟัง เอาหนังสือธรรมะให้ท่านอ่าน พาท่านไปวัดไปฟังเทศน์ฟังธรรม ทำทานทำกุศลเท่านั้น แต่ยังจะต้องทำศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ให้เจริญขึ้นในตัวเองอีกด้วย

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “พึงตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แล้วค่อยพร่ำสอนผู้อื่นภายหลังจักไม่มัวหมอง” นั่นหมายถึงเราต้องทำตัวเองให้มีธรรมนั้นในตน เอาตัวเองให้รอดก่อน แล้วจึงคิดช่วยผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเราว่ายน้ำไม่เป็นแต่กระโดดน้ำลงไปช่วยคนจมน้ำ ก็จะพากันตายทั้งคู่ เช่นเดียวกันกับที่เรายังไม่ทำตนเองให้มีคุณธรรมเหล่านั้น เราก็จะไม่สามารถช่วยใครได้

พ่อและแม่นั้นเป็นผู้ที่เลี้ยงเรามาตั้งแต่เด็ก การจะทำให้ท่านศรัทธาในตัวของเรานั้นไม่ง่าย ถ้าเรายังใช้ชีวิตโดยไร้ศีลไร้ธรรม ไม่แสดงให้เห็นถึงความเจริญของการปฏิบัติธรรม ท่านก็จะไม่ศรัทธาทั้งตัวเราและในธรรมเหล่านั้น เราจะกลายเป็นผู้ที่กล่าวแต่ในสิ่งที่ตนทำไม่ได้ กล่าวแต่สิ่งที่จำเขามา ไม่ได้ตั้งตนอยู่ในคุณอันสมควรก่อน แต่กลับไปพร่ำสอนผู้อื่นเพราะหวังว่าจะตอบแทนพระคุณพ่อแม่ด้วยการให้ธรรมนั้น

ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้เลยถ้าหากเราจะให้สิ่งที่ไม่มีในตน หากเราไม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา แล้วเราจะเอาธรรมเหล่านั้นจากไหนไปนำพาพ่อแม่สู่ความเจริญได้ ดังนั้นเราจึงต้องมุ่งทำตนให้เจริญในธรรมเหล่านั้นเสียก่อน จึงค่อยชี้แนะผู้อื่น ซึ่งจะทำให้ธรรมเหล่านั้นไม่มัวหมอง

แม้กระนั้นก็ใช่ว่าจะสามารถทดแทนบุญคุณท่านได้โดยง่าย การพ้นทุกข์ การหลุดพ้นจากกิเลส ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจและปฏิบัติได้โดยง่าย ไม่ใช่เรื่องที่จะยึดถือและปฏิบัติกันโดยสามัญ แม้พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้กลับมาโปรดพ่อแม่ของท่านตั้งแต่แรก ท่านมีคุณธรรมที่บริสุทธิ์สมบูรณ์ที่สุดในโลก แต่ท่านก็รอให้กาลเหมาะสม รอให้พระเจ้าสุทโธทนะเกิดศรัทธา จึงค่อยกลับไปโปรด

อีกตัวอย่างหนึ่งของพระสารีบุตร แต่ท่านเลือกที่จะกลับไปหาแม่ของท่านในช่วงสุดท้ายก่อนที่ท่านจะละสังขาร แสดงธรรมโปรดแม่ จนแม่ของท่านบรรลุเป็นพระโสดาบันในที่สุด

ดังนั้นการทดแทนบุญคุณพ่อแม่ในทางธรรมจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปยัดเยียด บีบคั้น บังคับ ด้วยความยึดดีถือดี แต่ต้องใช้การประมาณอย่างมาก ให้ถูกกาลเทศะ ให้มีศิลปะ สร้างศรัทธาแต่อย่าให้เสื่อมศรัทธา ให้เป็นไปเพื่อกุศล ไม่สร้างอกุศล การทำคุณอันสมควรในตนว่ายากแล้ว การนำพาผู้อื่นให้ตั้งอยู่ในคุณอันสมควรนั้นยากยิ่งกว่า ดังนั้นหากเรายังไม่สามารถทำให้ตัวเองเจริญในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาได้แล้ว ก็พึงสังวรระวังในการแสดงธรรมที่ไม่เหมาะสมกับฐานะ พูดในเรื่องที่ตนเองยังไม่มีคุณเหล่านั้น ซึ่งสุดท้ายจะทำให้เกิดความเสื่อมเสียและมัวหมอง

เราจึงควรศึกษาและปฏิบัติให้เกิดธรรมเหล่านั้นในตนเอง ให้เจริญยิ่งขึ้นในศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา เมื่อเรามีสิ่งเหล่านี้อยู่ในตนเอง เป็นของตนเองอย่างแท้จริง เราก็สามารถแจกจ่ายธรรมเหล่านี้เป็นทาน ในกาลที่เหมาะสมแก่ท่านเหล่านั้นได้ โดยไม่ปล่อยโอกาสในการทดแทนพระคุณพ่อแม่ให้หลุดลอยไป โดยเปล่าประโยชน์ไปอีกชาติ

– – – – – – – – – – – – – – –

13.8.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

วิธีพิสูจน์รักแท้

December 24, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 16,902 views 0

วิธีพิสูจน์รักแท้

วิธีพิสูจน์รักแท้

…รักนั้นแท้จริงหรือ? เป็นกุศลจริงหรือ? นำมาซึ่งความสุขจริงหรือ?

ความต้องการที่จะมีใครสักคนเข้ามาอยู่ข้างกาย เข้ามาเป็นคู่ชีวิตนั้นเป็นความต้องการที่ยากจะต้านทานได้ แม้ว่าจะได้ยินคำบอกเล่าเรื่องจริงของความรักมามากมาย แต่เราก็มักจะเลือกเชื่อในมุมที่เราต้องการ เลือกที่จะเชื่อว่าความรักนั้นคือสิ่งที่สวยงาม เชื่อว่าความรักของเราคือความสุข คือความยั่งยืน เคียงคู่กันสร้างกุศลร่วมกันตลอดไป

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นดูจะเป็นเหตุผลที่มีน้ำหนักมากที่สุดที่ทำให้เราคิดว่าการมีคู่นั้นดี เพราะเป็นไปในแนวทางร่วมกันทำดี ร่วมกันเจริญ คงเป็นเรื่องยากที่เราจะสามารถต้านทานความดีความเพียบพร้อมสมบูรณ์แบบทั้งหน้าตา ฐานะ นิสัยของคู่รัก เราจึงสร้างเหตุผลต่างๆนาๆขึ้นเมื่อเพื่อให้เราได้มีคู่อย่างมั่นใจ เต็มใจ ภาคภูมิใจ เพื่อให้เราได้เสพสมใจในความรัก ในความมั่งคั่ง ในความสมบูรณ์ตามแบบที่โลกเข้าใจ

…รักแท้นั้นคืออะไร?

รักนั้นคือความต้องการ คือตัณหา คือความอยาก ส่วนคำว่าแท้นั้นหมายถึง เที่ยง ไม่แปรเปลี่ยน ไม่แปรปรวน ไม่หวั่นไหว ความรักแท้ก็คือความรู้สึกต้องการที่ไม่หวั่นไหว ในเรื่องของคู่รักนั้นก็หมายถึงความรู้สึกที่มีต่อคู่ของตนอย่างไม่มีวันเปลี่ยนแปลง

คนเรานั้นมีความพยายามที่จะทำสิ่งต่างๆเพื่อให้ได้มาในสิ่งที่ตัวเองอยากได้ ไม่ว่าสิ่งนั้นจะเป็นสิ่งที่ดีหรือร้ายก็จะพยายามไขว่คว้าให้ได้มาเสพสมใจ คนรักก็เช่นกัน เป็นหนึ่งในเรื่องที่เราต้องพยายาม ในมุมของผู้ชายก็ต้องดูแลเอาใจ เลี้ยงดู ป้อนคำหวานให้คำสัญญา ในมุมของผู้หญิงก็คล้ายๆกันแต่ก็มักจะมีเรื่องของความงามเข้ามาเกี่ยวมากหน่อย คือต้องทำตัวให้งาม ทั้งรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ว่าง่ายๆก็คือต้องพรั่งพร้อมด้วยกามคุณ เพื่อที่จะให้ชายสักคนมาหลงใหลได้ปลื้ม

เราจึงพยายามเร่งและบำรุงบำเรอกิเลสของอีกฝ่ายให้ตกลงปลงใจเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำนั้นเป็นสิ่งที่เที่ยงแท้ ถาวร มั่นคง ซึ่งในระยะนี้หลายคนจะเรียกว่า “ช่วงโปรโมชั่น” เป็นช่วงที่แต่ละฝ่ายจะพยายามให้ว่าที่คู่รักได้เห็นภาพที่ดีที่สวยงามของตนเอง เพื่อที่จะได้อีกฝ่ายมาเสพสมใจ ชายก็เสพหญิง หญิงก็เสพชาย เสพในตัวตนของกันและกัน

ทีนี้ช่วงโปรโมชั่นนั้นจะสั้นจะยาวก็ขึ้นอยู่กับกิเลส ถ้ากิเลสมากก็จะสั้น ถ้ากิเลสน้อยก็จะยาว ยกตัวอย่างเช่นพ่อบุญทุ่ม ที่ดูแลเทคแคร์เอาใจ เลี้ยงดูทั้งกายและใจของอีกฝ่ายหมายจะให้เขาหลงรัก ลักษณะนี้ก็มักจะเป็นแบบสั้น แต่ถ้าคบกันเป็นเพื่อนช่วยเหลือกันดูแลกันไปแบบนี้ก็มักจะยาวหน่อย

แต่เมื่อปัจจัยต่างๆได้เปลี่ยนไป เช่น เปลี่ยนจากคนที่คบหาเป็นแฟน จากที่เคยมีระยะห่างก็จับมือถือแขนกอดจูบใกล้ชิด จากที่ไม่เคยมีอะไรกันก็มีอะไรกัน จากแฟนมาเป็นสามีภรรยา จากที่เคยเต่งตึงกลับหย่อนยาน จากที่เคยมีกันสองคนก็มีคนเพิ่มมาหลายคนจากที่เคยไม่มีภาระก็มีภาระ จากที่เคยสนองกิเลสกันได้ก็เริ่มจะไม่สามารถสนองกันได้จนเต็มอิ่ม

ปัจจัยเหล่านี้เองที่จะมาทดสอบความรักแท้ คนที่อ้างนักอ้างหนาว่าตนเองมีรักแท้ รักที่ตนมีเป็นของแท้ คนที่ตนเองเลือกคือเนื้อคู่ คือคนที่ฟ้าส่งมาให้ คือคนที่จะร่วมชีวิตไปจนตาย หลังจากการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ “ความรัก” ยังจะสามารถคง “ความแท้” ได้หรือไม่

เราจะเห็นได้ว่าความจริงมักจะเปิดเผยหลังการเปลี่ยนแปลง ว่าความรักนั้นแท้หรือไม่แท้ เอาของปลอมมาหลอกขายเป็นของแท้หรือไม่ โดยการดูจากเหตุการณ์เหล่านี้ หลายคู่เปลี่ยนแปลงไปหลังจากได้กัน หลายคนเปลี่ยนไปหลังจากเป็นแฟนกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากแต่งงานกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากมีลูกด้วยกัน หลายคู่เปลี่ยนไปหลังจากผ่านไปเป็นสิบยี่สิบปีก็มี

และหลายคู่เหล่านั้นทำได้แค่ประคองชีวิตคู่ต่อไปแบบที่ทั้งรักทั้งชัง หวานอมขมกลืน ใช้ชีวิตแบบน้ำท่วมปาก จะพูดว่าชีวิตดีก็พูดได้ไม่เต็มปาก แต่จะบอกทุกข์มันก็มีสุขร่วมด้วยอยู่บ้าง สุขทุกข์ปนกันไป ทุกข์มากหน่อย สุขนิดเดียว แต่ก็ยอมทนต่อไป บางคู่ทนไม่ได้ก็เลิกราหย่าร้างกันไป ทิ้งไว้เพียงคนที่อกหักผิดหวังกับความรัก รังเกียจความรัก ประณามความรัก

ทั้งหมดนั้นเกิดก็เพราะว่า “ความรักมันไม่แท้ตั้งแต่แรก” ไม่ใช่ว่าตอนแรกแท้แล้วตอนหลังมันไม่แท้ อันนี้มันเล่นคำ ของแท้จริงๆมันต้องไม่แปรเปลี่ยน ไม่เวียนกลับ ไม่เปลี่ยนจากรักเป็นเมินเฉย ไม่เปลี่ยนจากความต้องการเสพเป็นต้องการให้ออกไปจากชีวิต

การพิสูจน์ความรักแท้โดยรอการทดสอบจากกาลเวลาและกรรมนั้นช้าและเสี่ยง เพราะบางคู่กว่าจะรู้ตัวก็มีลูกเป็นเครื่องผูกมัดไปแล้ว หนีไม่ได้แล้ว ยังไงก็ต้องแบกไว้แบกทั้งลูกแบกทั้งความขมขื่นที่ได้รับ เราจึงควรศึกษาวิธีพิสูจน์รักแท้ในหัวข้อต่อไป

…การสร้างกุศลร่วมกันคืออะไร?

หลายคนที่คิดจะมีคู่ก็มักจะใช้เหตุผลเรื่องของการสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน การที่คนเราจะเจริญไปพร้อมๆกับคู่รักได้นั้น ต้องมี ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่เสมอกัน (สมชีวิสูตร) ความเสมอกันนี้จะทำให้ได้พบเจอกันในชาติภพต่อๆไป ชาติในที่นี้ไม่ใช่แค่ชีวิตหน้า แต่เป็นชีวิตนี้ที่จะเกิดความรู้สึกต่างๆในอนาคตต่อไป

คู่รักที่ประคองคุณสมบัติสี่ข้อนี้ให้เสมอกันได้จะทำให้ชีวิตรักเป็นไปอย่างราบรื่น ได้อยู่ด้วยกันนานตราบเท่าที่ยังเสมอกัน แต่ความเสมอกันนี้ไม่ได้หมายถึงแค่ความดีเท่านั้น อาจจะหมายถึงความเลวเสมอกันก็ได้ เช่นไม่มีศรัทธาในความดีเหมือนกัน ไม่ถือศีลเหมือนกัน ไม่เสียสละเหมือนกัน ไม่มีปัญญาเหมือนกัน คู่ที่เสมอกันเหล่านี้ก็สามารถร่วมภพร่วมชาติกันสร้างบาป เวร ภัยไปได้กันทุกภพทุกชาติเช่นกัน

ดังเป้าหมายของเราที่ตั้งไว้ว่าเราจะครองคู่กันเพื่อร่วมกันสร้างกุศล ร่วมบุญ สร้างความเจริญต่างๆ เราจึงไม่มีทางที่จะเลือกวิธีที่ทำให้ชีวิตตกต่ำอย่างแน่นอน เช่นเดียวกันกับคำว่าการสร้างกุศลนั้นคือการเพิ่มความดี นั่นหมายถึงเราต้องพากันทำดี เร่งทำความดีและจะไม่หยุดอยู่ที่เดิมแล้วใช้ชีวิตเสพสุขไปวันๆอย่างแน่นอน

การสร้างกุศลร่วมกันนั้นหมายถึงการยกระดับศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ไปด้วยกันกับคู่รัก ในบทนี้จะขอยกตัวอย่างในกรณีของศีลเพราะเห็นภาพได้ชัดเจน

ความเจริญของคนนั้นเริ่มต้นจากการมีศีล มีศีลก็มีธรรม มีศีลก็มีปัญญา จริงๆแล้วทั้งสี่ข้อนี้ไม่ได้แยกกันแต่เชื่อมโยงกันร้อยเรียงผูกพันกันอย่างน่ามหัศจรรย์ เมื่อหยิบยกข้อใดข้อหนึ่งมาอธิบาย ก็สามารถขยายไปถึงข้ออื่นๆได้เช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเราตั้งใจจะยกระดับการทำกุศลของชีวิตคู่ เราจึงตัดสินใจถือศีลในข้อที่ละเว้นการเบียดเบียนสัตว์อื่น เราจึงเลือกที่จะกินมังสวิรัติ การเลือกที่จะถือศีลนี้ต้องมีศรัทธา และมีความเสียสละความอยากเพื่อละเว้นการเบียดเบียน รวมถึงมีปัญญาที่จะทำให้การถือศีลเป็นไปในแนวทางที่พาพ้นทุกข์ได้

เมื่อเราถือศีลดังนี้ ก็จะเป็นกุศล เป็นความดีในชีวิตเรา แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าคู่ของเราจะสามารถถือศีลตามได้ด้วย เช่นเรากินมังสวิรัติ แต่เขากลับยินดีในการกินเนื้อสัตว์ ไม่ยินดีจะเป็นมังสวิรัติ เท่านี้ศีลก็เริ่มไม่เสมอกันแล้ว เพราะศรัทธาไม่เสมอ จาคะไม่เสมอ และปัญญาไม่เสมอ จึงไม่ยินดีที่จะถือศีลร่วมกัน

เมื่อเกิดความเหลื่อมล้ำขององค์ประกอบทั้งสี่ข้อนี้แล้ว ก็จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตคู่เกิดขึ้น เหมือนเทวดากับมารอยู่ด้วยกัน วิธีที่จะทำให้กลับมาเป็นคู่กันแบบปกติมีสองทาง ทางหนึ่งคือทำให้เป็นเทวดาทั้งคู่ ทางที่สองคือกลับไปเป็นมารเหมือนกันทั้งคู่

แต่ในเมื่อเราบอกว่าเรามีคู่เพื่อทำกุศลไปร่วมกัน เพื่อความเจริญทั้งทางโลกทางธรรมไปด้วยกัน หากคำตอบของเราที่ว่าจะยอมลดศีลไปเพื่อให้ชีวิตได้เคียงคู่กันอย่างปกตินั้น ก็สามารถเป็นเหตุผลได้แล้วว่าจริงๆเราไม่ได้อยากมีคู่เพราะจะทำกุศลร่วมกันหรอก เราแค่อยากมีคู่เฉยๆและอยากมีเพื่ออะไรก็มีกิเลสมากมายมารองรับในผลนี้ ส่วนการทำกุศลนั้นก็ถูกใช้เป็นข้ออ้างให้เราได้เสพคู่อย่างดูมีเหตุมีผลเท่านั้นเอง

คนที่มีปัญญาก็จะไม่รีบแต่งงาน จะดูกันไปคบกันไป เพิ่มอธิศีล คือกระทำศีลให้สูงขึ้นเรื่อยๆ ดูว่าคนที่เราเรียกว่าเนื้อคู่นั้นจะตามศีลเราไหวไหม เขามีอินทรีย์พละมากพอไหม เขามั่นคงไม่เปลี่ยนแปลงไหม ถ้าเรายกระดับศีลเรื่อยๆแล้วเขาตามไม่ทัน นั่นไม่ใช่เนื้อคู่ของเราอย่างแน่นอน เพราะถ้าเราสามารถถือศีล ปฏิบัติศีลยากๆได้ แต่เขาทำไม่ได้ ก็คือศีลไม่เสมอกัน ดังนั้น ศรัทธา จาคะ ปัญญา ก็จึงไม่เสมอกัน คนที่มีบุญบารมีไม่พอเหมาะกับเราก็ไม่มีทางเป็นเนื้อคู่เราได้อย่างแน่นอน

แต่ถึงกระนั้นก็ตาม แม้ศีลจะเป็นสิ่งที่ทดสอบความแท้ของคน ทดสอบบุญบารมีของคน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนจะสนใจทดสอบคู่ของตน ในทางกลับกันก็ยังยอมยินดีลดศีลของตนเพื่อให้ตัวเองได้มีคู่อีกด้วย เช่นบางคนกินมังสวิรัติได้ แต่เพื่อให้ได้มีสามีหรือภรรยาเป็นตัวเป็นตน ก็ยอมเลิกกินมังสวิรัติกลับไปกินเนื้อสัตว์เพราะคู่คนนั้นเขาไม่กินมังสวิรัติ ความจริงที่เกิดในโลกมันก็แบบนี้ ใครจะยอมเพิ่มศีลเพื่อคัดคนที่ตัวเองหลงออกจากชีวิตได้ เวลาคนหลงแล้วธรรมะก็ไม่เกิด กิเลสมันชั่วแบบนี้เพราะมันทำให้เราทิ้งศีลธรรม ยอมลดคุณงามความดีกลับไปชั่วเพื่อไปเสพให้สมใจตามที่กิเลสต้องการ

…ความสุขในการมีคู่คืออะไร?

การที่เราไปมีคู่นั้น ทั้งหมดทั้งมวลเกิดจากความหลงสุข หลงว่ามีคู่แล้วจะเป็นสุข หลงว่าชีวิตสมบูรณ์แล้วจะเป็นสุข ถ้าถามว่าความสุขของการมีคู่คืออะไรก็มักจะได้คำตอบแบบอุดมคติว่าอยู่ด้วยกัน ดูแลกัน พึ่งพากัน ฯลฯ ซึ่งจริงๆความสุขเหล่านี้มีอยู่แล้วในครอบครัว ในพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหาย เราสามารถใช้คำเหล่านี้ได้กับคนใกล้ตัวของเราทุกคน

สิ่งเดียวที่ต่างออกไปจากสิ่งที่ได้รับจากพ่อแม่ ญาติพี่น้อง มิตรสหายก็คือการสมสู่หรือเซ็กส์ (sex)…เรามักจะปิดบังความจริงไว้ใต้เหตุผลสวยหรูต่างๆให้ดูว่าความรักของตนนั้นสวยงามเลิศเลอและสูงค่า แต่สุดท้ายก็มาติดตรงเรื่องเซ็กส์ เรื่องการสมสู่ เป็นเรื่องลับๆที่ไม่มีใครเคยบอกกล่าว ว่าจริงๆแล้วฉันมีคู่และฉันแต่งงานก็เพราะอยากมีเซ็กส์นี่แหละ เรื่องเซ็กส์จึงเป็นเหมือนคลื่นใต้น้ำ เป็นปัญหาที่หลายคนสงสัยว่าทำไมหลายคนหลายคู่จึงทะเลาะเลิกรากัน หรือจนกระทั่งมีปัญหา ชู้ กิ๊ก เมียน้อย ฯลฯ เรื่องราวต่างๆเหล่านี้มักจะมีเรื่องเซ็กส์เป็นเบื้องหลังเสมอ

โดยปกติแล้วเรามักจะไม่ยอมรับในเรื่องเซ็กส์หรอก มันเป็นกิเลสที่เก็บไว้ลึกๆ เก็บไว้สนองกันในคู่ของตน ไม่มีใครกล้าพูดออกมาเพราะเป็นเรื่องน่าอาย แต่เราสามารถเห็นภาพสะท้อนได้จากสังคมที่เปลี่ยนไป เช่น มีการผลิตยาปลุกเซ็กส์ หรือยาที่ทำให้อวัยวะเพศแข็งตัว หรือเมื่อมีกระแสสมุนไพรกระชับช่องคลอดหรือทำให้หน้าอกใหญ่ก็มีแต่คนตามหา ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับเรื่องเพศนั้นเป็นตลาดที่มีการเจริญเติบโตอย่างลับๆแม้ว่าจะไม่เปิดเผย แต่ก็มี supply & demand มากจนสังเกตได้ถึงขนาดที่ว่าในยุคสมัยนี้มีการศัลยกรรมเพื่อให้มีหน้าอกใหญ่กลายเป็นเรื่องปกติ หรือมีดารานักน้องที่แต่งตัวโป๊ เต้นด้วยท่าเต้นที่ยั่วยวนจนถึงขั้นที่เรียกได้ว่ามากเกินไปจนอุจาดตา ซึ่งเป็นเจตนาที่ชัดเจนในการกระตุ้นทางเพศ

ถ้าเราสามารถตัดเรื่องเพศ เรื่องการสมสู่ออกไปจากชีวิตคู่ได้ เราจะไม่รีบแต่งงาน เราจะไม่มีรู้สึกว่าต้องการ การกอด การจูบ หรือแม้แต่การถูกเนื้อต้องตัวกัน ไม่รีบเสียตัวให้กันและกันเพียงเพราะความใคร่อยาก เราจะคบกันไปเรื่อยๆ ดูกันไปเรื่อยๆ เพราะหวังคบกันอย่างเพื่อนชีวิต เมื่อเซ็กส์ไม่ใช่คำตอบในชีวิต การแต่งงานหรือการคบหาในลักษณะแฟนก็ไม่ใช่คำตอบในชีวิตเช่นกัน คนที่รักกันอย่างจริงใจจะไม่รีบหรือผูกมัดกันและกันด้วยการสมสู่หรือการแต่งงาน

นอกจากเรื่องการสมสู่แล้วคนทั่วไปก็ยังคบหากันด้วยผลประโยชน์ต่างๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ในเรื่องลาภก็คบกันเพราะเขามีเงิน เพราะเขารวย มีกำลังปรนเปรอกิเลสของเรา เราจึงมีความสุข ในเรื่องยศเพราะเขามีหน้าที่มีตำแหน่งมีอำนาจเราจึงเสพสุขด้วยผลพวงแห่งอำนาจของเขา ในเรื่องสรรเสริญเพราะเขาเป็นคนที่ได้รับความนิยม เป็นคนที่สังคมยอมรับเราจึงพลอยหลงใหลได้ปลื้มไปกับเขาด้วย ในเรื่องโลกียสุขคือเราได้เขามาปรนเปรอกิเลสต่างๆ มาดูแลเอาใจ มาบำรุงกาม มาบำเรออัตตาของเรา เราจึงเป็นสุขและหลงในสุขเหล่านั้น

มีหลายต่อหลายคู่ที่คบหากันด้วยผลประโยชน์ทางโลกเหล่านี้ ไม่ว่าอย่างไรความสุขของคนมีกิเลสก็หนีไม่พ้นอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา แม้จะมีเหตุผลมากมายที่ยอมรับได้ในทางโลกแค่ไหน ก็เป็นเพียงข้ออ้างที่สวยหรูที่ใช้กันในสังคมอุดมกิเลส เพื่อที่จะทำให้การเสพกิเลสเป็นเรื่องที่ยอมรับได้ เป็นเรื่องปกติ เช่น ถึงคนคนนี้จะดีแสนดีแค่ไหนแต่ถ้าจนฉันก็ไม่แต่งงานด้วยถึงแม้เขาจะเป็นคนดีแต่ถ้าเลี้ยงดูบำรุงบำเรอกิเลสฉันไม่ได้ก็ไร้ค่าและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย ในทางตรงกันข้ามถึงแม้คนคนนี้จะเลวทรามแค่ไหนแต่ถ้ารวยฉันก็ยอมได้ฉันพร้อมจะหาข้อดีของเขาแม้จะยากปานงมเข็มในมหาสมุทรก็จะหาและสังคมอุดมกิเลสก็จะเออออตามไปด้วย เหล่านี้เองเรียกว่าการเสพสุขทางโลกซึ่งเป็นภาพที่เห็นได้ทั่วไปในสังคม มีให้เห็นกันเป็นประจำตามข่าวสารประจำวัน

ในความเจริญสูงสุดตามหลักการของพุทธ สุดท้ายคู่รักก็จะกลายเป็นเสมือนญาติคนหนึ่ง เหมือนเพื่อนคนหนึ่ง ไม่มีเซ็กส์ ไม่มีการกอดจูบลูบคลำ ไม่มีการสนองกิเลสใดๆแก่กันและกัน สรุปแล้วก็เหมือนได้ญาติเพิ่มมาคนหนึ่ง แล้วจะเอาเขามาเพิ่มทำไมในเมื่อจริงๆแล้วเราก็มีญาติพี่น้องมิตรสหายให้ดูแลมากอยู่แล้ว

คนที่อยากจะรักใคร ดูแลใครสักคนตราบชั่วชีวิตจริงๆ มีรักแท้จริงๆ เขาจะไม่ไปหาคู่ให้เสียเวลาหรอก เพราะเขามีพ่อแม่ ญาติพี่น้องและเพื่อนมิตรสหายที่พร้อมจะให้เขาดูแลอยู่ตั้งมากมายแล้ว ทำไมยังต้องเอาคนที่ไม่รู้จักกันเข้ามาในชีวิตเพียงเพราะอยากเสพกิเลสบางอย่างแค่นั้นเอง

การเพิ่มใครสักคนเข้ามาในชีวิตจะทำให้เราเสียเวลาในการดูแลคนสำคัญในชีวิตไปเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่น เรามีแฟนเพิ่มมาหนึ่งคนก็ลดเวลาที่เราจะพูดคุยและดูแลพ่อแม่ไปส่วนหนึ่ง แต่ถ้าเรามีแต่งงานมีลูกเราก็แทบจะไม่มีเวลาดูแลพ่อแม่เลย นี่หรือสิ่งที่เราเรียกว่าความรัก นี่หรือคือสิ่งที่เราตอบแทนคนที่รักเรามากที่สุด กับคนที่ห่วงใยเรามาทั้งชีวิตเรายังให้ค่า ให้ความสำคัญไม่เท่าใครก็ไม่รู้ที่เข้ามาในชีวิตเรา เพียงเพราะเขามาบำเรอสุขให้เรา เพียงเพราะต้องการสมสู่ เพียงเพราะแค่อยากมีลูก จึงทำให้เราเห็นแก่ตัวเอาความสุขนั้นไว้คนเดียวแล้วทิ้งให้คนที่รักเรารอคอยอย่างเดียวดายหรือ

ความสุขในการมีคู่ของคนมีกิเลสก็จะเยอะแยะมากมายไปหมด ให้พูดกันทั้งวันก็ไม่จบ มีหลักฐานมีที่อ้างตามแต่กิเลสจะพาไป แต่ถ้าได้ลองล้างกิเลสกันดูจะพบว่ามันไม่เห็นว่าจะมีความสุขตรงไหน คบกันเป็นเพื่อนก็ได้ เป็นคู่กันไปก็มีแต่ภาระ พาชั่ว พาจน ยากนักที่จะพาให้เจริญในศีลในธรรมร่วมกัน แต่การพากันเสพกิเลสไม่ว่าจะเรื่องอบายมุข กาม โลกธรรม อัตตานั้นเป็นเรื่องง่ายสุดง่าย

แต่ก็อย่างว่า ขึ้นชื่อว่าคนมีกิเลสก็คือคนที่หลงมัวเมาในสุขลวง หลงมัวเมาในเรื่องโลก ไม่สามารถแยกแยะสิ่งที่เป็นกุศลอกุศลได้ ไม่สามารถแยกแยะความดีความชั่วจริงๆได้ ก็จะวนเวียนต่อไปในเรื่องคู่เพราะหลงว่าเป็นสุข มีความสุข สามารถบำเรอสุขให้ตนได้ ที่จริงแล้วมันก็กิเลสแท้ๆ กิเลสบริสุทธิ์ เป็นทุกข์แท้ๆ เพราะเห็นกงจักรเป็นดอกบัว เพียงแค่ได้สุขลวงมาเสพ ก็ยินยอมที่จะทุกข์ทรมานไปชั่วกัปชั่วกัลป์

– – – – – – – – – – – – – – –

24.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,912 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อิสรภาพทางการเงิน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,585 views 0

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน

เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข

เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข

การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น

เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย

นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้

นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า

ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?

ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง

แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย

ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง

แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน

อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ

อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน

อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม

คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง

คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…

…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา

…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก

…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ

…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น

…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ

…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้

…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน

เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส

เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์