Tag: ทุนนิยม

VIP โลกีย์ ราคีโลกุตระ

July 13, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,075 views 0

ถ้าตามสมมุติโลก คนที่เขามีชื่อเสียงมาก สนับสนุนมาก คนเขาก็นับว่าเป็น VIP (Very Important Person) จึงให้การต้อนรับ ดูแล ใส่ใจเป็นพิเศษ อันนั้นก็ตามโลกเขาไป

แต่ในความเป็นโลกุตระ หรือคนที่มุ่งปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสนั้น จะไม่ได้เอาสมมุติเหล่านั้นมาเป็นตัวยึดถือ ด้วยความเป็นบุญนิยม คือนิยมในการทำบุญ หรือการชำระล้างกิเลส ให้คุณค่ากับการชำระล้างกิเลส เว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียนเป็นโทษภัยโดยลำดับ จึงไม่ได้นิยมตามแบบทุนนิยม

แบบทุนนิยมก็ตามที่เรารู้กัน ใครมีเงินมาก มีชื่อเสียงมาก มีทุนมาก คนเขาก็ให้การยอมรับ ดูแล ใส่ใจ ให้โอกาส เป็น VIP ดังนั้น บุญนิยมกับทุนนิยมจึงแตกต่างกันคนละขั้ว

สังคมธรรมมีราคี เมื่อมีทุนยิยมเข้ามาปนในบุญนิยม คือคนที่เขาเอาระบบทุนนิยมเข้ามาปน เข้ามาใช้ในสังคมปฏิบัติธรรม มันจะทำให้เกิดความเสื่อมจากธรรม เพราะไปเอาอธรรมมาเป็นตัวนำ

ผมเคยเห็นคนที่เขาป่าวประกาศว่าจะเข็นกงล้อธรรมจักร ปากเขาก็พูดไป 1 ปี 5 ปี 7 ปี เขาก็พูดอยู่อย่างนั้น แต่การกระทำเขาไม่เหมือนที่ปากพูด เขาก็เอาทุนนิยมนี่แหละมาปฏิบัติ พอมีคนมาสนับสนุนเขา ด้วยเงินก็ตาม ด้วยการยอมรับเขาก็ตาม เขาก็ให้ความเป็น VIP กับคนนั้น ยิ่งถ้าเอาเงินก้อนโตไปให้เขาด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นลีลาการเลียอันน่าขยะแขยงสุดจะพิศดารยิ่งนัก ด้วยความที่ปกติดูจะเป็นคนที่แสดงออกไปในเชิงกล้าและกร่าง แต่พอเจอเงิน เจอคนมีอำนาจก็ถึงกับอ่อนยวบยาบ กลายเป็นอวยเขา เลียเขา ส่งเสริมเขา (เพราะเขามาส่งเสริมตน) ซึ่งในกระบวนการทั้งหลายนี้ ไม่ได้มีวิถีบุญนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่วิถีโลกีย์หรือทุนนิยมล้วน ๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นรอยด่างของกลุ่มนักปฏิบัติธรรมที่จะต้องจัดการคนเหล่านี้ ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ตามหลักที่ในหลวง ร๙ ได้ตรัสไว้ว่า …

“….ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”

(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)

ในสังคมปฏฺิบัติธรรมก็เช่นกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีพร้อมกัน เสมอกันหมดได้ ความเป็นสังคมคือความปะปนกันในฐานะที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเราจะส่งเสริมให้สังคมเกิดความเจริญในธรรม เราก็ต้องจัดการควบคุมคนที่มีลักษณะเมาในทุนนิยมหรือเป็นทุนนิยมโดยพฤติกรรม และส่งเสริมคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักบุญนิยม ให้ได้มีอำนาจ ปกครองคนไม่ดี ก็จะเจริญได้ตามลำดับ

ถ้าปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทมากหรือมีอำนาจมาก ก็จะชักนำให้เกิดความเสื่อม เป็นราคีในหมู่โลกุตระ เป็นวิบากร้าย เป็นความล้าช้า ความลำบากในการปฏิบัติธรรม เป็นตัวถ่วงกลุ่ม เป็นยางเหนียวที่เป็นอุปสรรคต่อการเข็นกงล้อธรรมจักร

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,250 views 0

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

หุ้นขึ้นใจลอย หุ้นตกใจตรม

….ผลกำไรที่ได้รับมานั้นคุ้มค่ากับการลงทุนจริงหรือ

การลงทุนในตลาดหุ้น เป็นกิจกรรมที่ได้รับความนิยมเป็นอันมากในหมู่คนเมืองและคนทำงานในยุคสมัยนี้ เพราะนอกจากจะทำให้ภาพลักษณ์นั้นดูเหมือนว่าเป็นนักลงทุน มองการไกล วิเคราะห์เก่ง แล้วยังสามารถสร้างรายได้ขึ้นมาได้จริงๆด้วย เป็นอะไรที่ตอบโจทย์โลกธรรมทั้งในมุมของลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อย่างเต็มที่

แม้ว่าการลงทุนในตลาดหุ้นจะสามารถสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำ มากมายขนาดที่ว่าการขยันหาเงินทั้งชีวิตก็อาจจะไม่ได้เงินมากเท่าลงทุนในตลาดหุ้นซึ่งก็มีบุคคลที่ประสบความสำเร็จให้เห็นเป็นตัวเป็นตนกันมากมาย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความทุกคนจะสามารถประสบความสำเร็จในการลงทุนเหล่านี้ได้

การประสบความสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่งนั้น มีปัจจัยที่ส่งผลมากกว่าสิ่งที่เห็นได้ด้วยตาหรือวิเคราะห์ด้วยปัจจัยแวดล้อมทางด้านเศรษฐกิจและสังคม นั่นคือพลังงานของกรรม ขึ้นชื่อว่ากรรมก็เป็นเรื่องอจินไตยยากจะคาดเดาผล แต่การจะเกิดกรรมนั้นก็มาจากการกระทำ เราสามารถมองเผินๆได้ว่าเพราะเขามีการวิเคราะห์เป็นการกระทำเขาจึงประสบความสำเร็จ แต่ในมิติของกรรมนั้นลึกซึ้งกว่านั้นมาก

เพราะการจะเกิดเหตุการณ์ใดเหตุการณ์หนึ่งหรือสิ่งที่เรียกว่าประสบผลสำเร็จ จะต้องมีกรรมทั้งในส่วนของปัจจุบันคือการวิเคราะห์และตัดสินใจ และกรรมในส่วนของอดีตที่เราเคยทำมาสังเคราะห์กันอย่างลงตัวจึงจะเป็นผลที่ว่าสำเร็จหรือไม่สำเร็จ

ดังนั้นหากเราสังเกตดีๆว่า แม้เราจะลงทุนตามคนที่ประสบความสำเร็จแต่เราจะไม่ได้รับเหตุการณ์ดังที่เราคาดหมายตลอดไป นั่นเป็นเพราะกรรมของเรา เราไม่มีกรรมที่จะได้รับลาภจากการลงทุนในลักษณะนี้เราจึงไม่มีทางได้มัน ไม่ว่าเราจะพยายามเท่าไรเราก็จะไม่มีวันประสบความสำเร็จ เว้นเสียแต่ว่าเราสะสมกิเลสเข้ามากๆ หมกมุ่นเข้ามากๆ เราจึงจะพอประสบความสำเร็จได้บ้าง แต่นั่นก็หมายถึงเราแลกมาด้วยบาปจำนวนมาก เพราะไม่มีอะไรที่เราจะได้รับโดยที่เราไม่ได้ทำ การที่เราจะได้รับอะไรสักอย่าง เราต้องแลกมาด้วยบางสิ่งบางอย่างเสมอ และสิ่งนั้นอาจจะไม่ใช่สิ่งที่เรามองเห็นก็ได้

….หุ้นขึ้นก็กิเลสขึ้น หุ้นตกก็กิเลสขึ้น

ถ้าหากเรามีเวลาทบทวนใจของเราดีๆ จะสังเกตได้ว่าเวลาที่หุ้นที่เราถือครองอยู่นั้นปรับค่าขึ้นหรือมีแนวโน้มที่จะขึ้นจิตใจของเราก็จะฟูขึ้นด้วยความดีใจ ตามติดมาด้วยความโลภที่จ้องจะขายเมื่อถึงราคาที่เราพอใจ บ่อยครั้งที่ชะล่าใจขายไม่ทันแล้วสุดท้ายราคาร่วงลงมา และบ่อยครั้งที่รีบขายทั้งที่ราคายังพุ่งขึ้นไปได้อีก ไม่มีเหตุการณ์ใดเลยที่ไม่มีกิเลสเข้าไปปนในกระบวนการเหล่านั้น ทุกความดีใจเสียใจล้วนปนไปด้วยกิเลสทั้งสิ้น

แม้ว่ายามหุ้นตก จิตใจก็ตกต่ำตาม ด้วยความเสียดายเงินที่ลงไป พยายามติดตามข่าวด้วยใจที่หวังว่ามันจะขึ้น จะได้เงินจะมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลในเรื่องของการลงทุนนั้นก็เป็นไปในรูปแบบของการพนันทั้งสิ้น แม้เราจะนิยามมันว่า การลงทุน มีการวิเคราะห์ปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคมมากมาย แม้จะดูเหมือนเป็นนักวิเคราะห์ เป็นผู้รู้ เป็นนักวางแผน แต่ก็อยู่ใต้เกมของกรรมกิเลสที่เรียกว่าอบายมุขอยู่ดี

….หุ้นคืออบายมุข

การลงทุนในหุ้นแม้จะได้รับการยอมรับในสังคม แม้จะไม่ถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ก็เป็นสิ่งที่ผิดในทางธรรม เป็นทางเสื่อมแห่งอบายมุขอยู่ดี ไม่ว่าเราจะสรรหานิยามมาปรุงแต่งการลงทุนให้ดูสวยหรูเพียงใด ดูดีมีประโยชน์แค่ไหน การลงทุนเหล่านี้ก็เป็นได้แค่หนึ่งในทางฉิบหายของชีวิตหรือที่เรียกว่าอบายมุข นั่นคือการพนันนั่นเอง

ลักษณะของการพนันคือการลงทุนไปหนึ่งหน่วยแต่หวังจะให้มันงอกเงยมากกว่าหนึ่งหน่อยโดยอาจจะใช้ตรรกะเข้ามาคิดคำนวณและก็มีโอกาสที่จะหนึ่งหน่วยนั้นจะหายไปด้วย ทั้งหมดนี้คือลักษณะของการพนันแบบแท้ๆ ไม่ใช่สัมมาอาชีวะ ไม่ใช่ทางที่ถูกของพุทธ ไม่ใช่ทางพ้นทุกข์ ไม่ใช่ทางสู่ความผาสุกในชีวิต

….หุ้นกับความผาสุกในชีวิต

เรามักจะได้รับข้อมูลว่าการลงทุนนั้นทำให้ร่ำรวยและสบายในตอนท้ายของชีวิต ทำให้ชีวิตผาสุกซึ่งเป็นค่านิยมในยุคนี้ที่คนจะลงทุนในตลาดหุ้น แต่ในยุคก่อนหน้านี้การลงทุนจะต่างออกไป คือจะลงทุนให้เวลากับหน้าที่การงาน ขยัน ซื่อสัตย์ ประหยัด อดทน คือลักษณะที่เห็นได้ชัดในคนยุคเบบี้บูม แต่พอมาในยุคนี้เรากลับลงทุนในการพนัน โดยใช้การพยากรณ์ การวิเคราะห์ เรียกตามภาษาชาวบ้านว่าเดา การเดานี้มันก็มีข้อมูลเหมือนกันไม่ใช่ว่าไม่มี เช่นการเดาข้อสอบเราก็เดาว่าคำตอบส่วนใหญ่น่าจะเป็นข้อนี้มากที่สุด เช่นเดียวกันกับการลงทุนในตลาดหุ้น แม้ว่าจะมีข้อมูลมากมายมหาศาลวิเคราะห์กันจนหัวหมุน สุดท้ายก็สรุปลงตรงที่การเดา

เมื่อชีวิตมีแต่การคาดเดา ไม่ได้สร้างทรัพย์ขึ้นมาด้วยแรงกายแรงใจและความสามารถอย่างแท้จริง ก็ต้องวัดดวงกับเศรษฐกิจและสังคม เป็นการพนันที่อ้างอิงระบบใหญ่ขึ้นมามากกว่าการใช้ไพ่หรือลูกเต๋าเท่านั้นเอง

ดังนั้นการจะมีชีวิตผาสุกบนพื้นฐานของอบายมุขนั้นไม่มีทางเป็นไปได้เลย ผู้ประสบความสำเร็จนั้นก็เป็นเพียงคนที่กินกุศลเก่า เอากรรมเก่าของตนเองมาใช้เสพกิเลส ส่วนคนที่โลภอยากได้ตามเขาก็ต้องเจ็บช้ำไปตามๆกันเพราะตัวเองไม่มีกุศลเก่าให้กินให้ใช้เหมือนคนอื่นเขาก็เลยต้องขาดทุนกันเรื่อยไป

ผู้ที่คิดจะเอาดีในทางธรรม หรือต้องการจะใช้ชีวิตอย่างมีความสุข หากยังข้องแวะกับอบายมุขหรือการลงทุนในตลาดหุ้นหรือการลงทุนในลักษณะอื่นๆที่ใกล้เคียงกัน ก็ยากจะพบกับความผาสุกในชีวิต เพราะกิเลสหยาบแสนหยาบในระดับอบายมุขตัวเองยังพ้นไปไม่ได้ ยังยินดีที่จะจมอยู่ในนรกโดยแลกมาด้วยลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข ก็ไม่มีวันที่จะออกจากขุมนรกนี้ได้ ไม่มีวันผาสุก ต้องวนเวียนอยู่ในความฉิบหายอีกนานแสนนาน

….ความร่ำรวยไม่ได้หมายความว่าจะสนองกิเลสได้ทุกอย่าง

การที่เรามีความร่ำรวย มีเงินทองสนองกิเลสนั้นไม่ได้หมายความจะสนองกิเลสได้ทุกอย่างเสมอไป ในมุมคนที่ไม่เคยมีลาภ มีเงินทองก็มักจะมองว่า หากฉันมีเงินฉันจะมีความสุข หากฉันร่ำรวยชีวิตของฉันจึงเรียกได้ว่าประสบความสำเร็จ แบบนี้มันคิดแบบคนไม่เคยมี พอไม่เคยมีก็ไม่เคยเห็นกิเลสตัวเอง

กิเลสนี่แหละคือสิ่งที่เหนือชั้นเหนือความร่ำรวยขึ้นไปอีก หากเรามีลาภเราก็จะอยากได้ยศ พอมียศเราก็จะอยากได้สรรเสริญ ทั้งหมดเพราะเราเมาในโลกียสุขนั่นเอง กิเลสไม่เคยปล่อยให้เราพอใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่งได้นาน มันจะกระตุ้นความอยากในจิตใจของเราให้ออกไปแสวงหาสิ่งที่ดีกว่า สิ่งที่แพงกว่ามาเสพเสมอ

เมื่อเรามีเงิน กิเลสก็จะชักจูงเราไปเสพสิ่งต่างๆเพื่อบำเรอกิเลส การหาเงินเก่งไม่ได้หมายความว่าจะเก็บเงินเก่ง ถึงจะเก็บเงินดีอย่างไรสุดท้ายก็ต้องเสียไปให้กิเลสอยู่ดี ถ้าจะสรุปจริงๆก็คงจะเป็นหาเงินเพราะกิเลสตั้งแต่แรก มันมีกิเลสเป็นตัวบงการแต่แรก ยอมเป็นทาสกิเลสตั้งแต่เริ่มจนจบนั่นแหละ

ซ้ำร้ายเงินและความมั่งคั่งไปด้วยยศและชื่อเสียงก็ยังไม่ใช่สิ่งที่บันดาลสุขให้ได้เสมอไป หากเราพบว่าตัวเรานั้นเป็นมะเร็งขั้นสุดท้าย ถึงจะร่ำรวยและมีคนนับหน้าถือตาเพียงใด ก็คงจะไม่สามารถทำให้เรามีความสุขได้เท่าก่อนหน้าที่เราจะพบว่าเราป่วยอย่างแน่นอน นั่นเพราะเงินซื้อไม่ได้เสียทุกอย่าง คนที่ลงทุนในตลาดหุ้นแล้วมองว่าถ้ามีเงินก็จะได้สนองกิเลสได้นั้นเป็นการประเมินกำลังของกิเลสที่ผิดอย่างมหันต์

….ความไม่เที่ยงของหุ้นและชีวิตนักลงทุน

แม้ว่าเราจะมองว่าการลงทุนในหุ้นเป็นการออมเงินที่ได้ผลกำไรดีวิธีหนึ่ง แต่ทั้งหมดนั้นก็ยังไม่เที่ยงอยู่ดี เพราะในมุมของโลกียะถ้ามีผลดีก็ต้องมีผลไม่ดีอยู่คู่กันเสมอ การออมในหุ้นจึงเป็นคำเรียกที่ดูดีเอาไว้หลอกคนโลภให้มั่นใจในการเล่นหุ้นเท่านั้นเอง

การที่เรามีเงินมากมายในตลาดหุ้นไม่ได้หมายความว่ามันจะเป็นหลักประกันในชีวิตของเราได้เสมอไป ยังมีเหตุปัจจัยอีกมากมายที่บีบให้เราต้องสละทรัพย์ทั้งหมดเพื่อสิ่งอื่น เช่นเมื่อเราเล่นหุ้นไปสักพักสะสมวิบากบาปได้จนเหมาะสม กรรมก็อาจจะดลบันดาลให้เราหรือคนรักของเราป่วย ทำให้เงินที่เราสะสมมาต้องถูกใช้ไปหมดในพริบตาก็ว่าได้

ปัจจัยแวดล้อมที่ทำให้ตลาดหุ้นมีสภาพไม่เที่ยงนั้นมีมากไปหมด ตั้งแต่เศรษฐกิจและสังคม จนถึงการปั่นหุ้นของคนมีกิเลสด้วยกันก็ทำให้เกิดสภาพเหล่านั้น เมื่อสภาพเหล่านั้นไม่เที่ยงแต่เรากลับไปยึดเกาะด้วยหมายที่จะเอาชนะ ยึดมั่นถือมั่นว่าฉันนี่แหละแน่ ฉันนี่แหละคือคนที่จะได้กำไรในสภาพไม่เที่ยงเหล่านี้ ดูสิกิเลสมันอหังการขนาดไหน ขนาดเห็นกันอยู่ชัดๆว่าเป็นการพนันบนสภาพที่แปรผันตลอดเวลายังเมามายในอบายมุขกันได้อย่างภาคภูมิใจ

คงจะเหมือนดังที่เขาเปรียบไว้ว่า “แมลงเม่าบินเข้ากองไฟ” แต่จะว่าเหมือนก็คงไม่ใช่ แมลงนี่มันมีปัญญาน้อย การที่มันจะหลงในแสงสีของไฟก็คงจะไม่ใช่เรื่องแปลก แปลกตรงคนที่เรียกตัวเองว่าเป็น มนุษย์ผู้ประเสริฐแต่กลับหลงเมามายอยู่ในอบายมุขและเห็นกงจักรเป็นดอกบัว มองว่าการพนันอย่างการลงทุนในหุ้นเป็นเรื่องดีเสียอย่างนั้น

….วิบากกรรมของคนเล่นหุ้น

ขึ้นชื่อว่าอบายมุข หรือทางฉิบหายในชีวิตแล้ว วิบากกรรมหรือผลกรรมที่เกิดจากการเล่นหุ้นนั้นคงไม่ธรรมดาอย่างแน่นอน ในมุมแรกคือหากเราประสบความสำเร็จจากการเล่นหุ้น ก็จะไปเหนี่ยวนำหรือเป็นตัวอย่างให้คนอื่นเล่นหุ้นตาม แล้วก็จะมีคนที่เข้าสู่อบายมุขเพิ่ม แม้เขาจะได้กำไรหรือขาดทุนก็ถือว่าเป็นการชักจูงคนเข้าสู่อบายมุข แม้จะมีหน้าตาสดใส แต่งตัวดี ผูกไทด์ใส่สูทสร้างภาพดูหรูหราน่าชื่นชมอย่างไร สุดท้ายก็เป็นแค่ทูตแห่งอบายมุขเท่านั้นเอง

แล้วเงินที่เราลงทุนไปในตลาดหุ้นนั้นสร้างอะไรให้กับเรา ในมุมของนักลงทุนเขาก็จะบอกว่านำไปขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ประเทศชาติเจริญ แต่ในมุมของธรรมะไม่ใช่แบบนั้น เงินที่เราลงทุนไปในธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งนั้นต้องดูให้ดีว่าเขามีธรรมาภิบาลหรือไม่ เขาประกอบสัมมาอาชีวะหรือไม่ ผิดมิจฉาวณิชชาหรือไม่ หากเขาทำธุรกิจบาป เราก็จะกลายเป็นคนที่สนับสนุนบาป ก็ได้บาปร่วมกันกับเขาไป แต่ถ้าหากฉากหน้าเขาเป็นธุรกิจที่ดี แต่รู้หรือไม่ว่าเงินที่ลงทุนนั้นถูกโยกย้ายไปมาอยู่เสมอ ธุรกิจของเขาอาจจะเป็นธุรกิจที่ดี แต่เขาเอาเงินลงทุนที่เราลงไปส่วนหนึ่งไปลงทุนกับอีกบริษัทหนึ่งซึ่งเป็นธุรกิจบาป เราก็ต้องรับในวิบากกรรมส่วนนี้ไปด้วย เพราะเราเป็นหนึ่งในแรงหนุนให้เขามีกำลังไปทำบาป

ทีนี้พอเราสนับสนุนธุรกิจบาปเข้ามากๆ บาปก็จะกลับมาเล่นงานเราเช่นกัน ยกตัวอย่างเช่นเราไปลงทุนในธุรกิจอาหารที่ประกอบด้วยเนื้อสัตว์เช่นไก่ทอด เราก็จะอยากสนับสนุนให้บริษัทที่เราลงทุนไว้มีกำไรเราจึงกินไก่ทอดนั้น พอมีคนมาชวนให้กินมังสวิรัติซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่บาปของเราจะก็จะต่อต้านในทันทีเพราะขัดแย้งกับสิ่งที่เราลงทุนไว้ เห็นไหมนี่เป็นเพียงมุมเล็กๆที่เกิดจากความเห็นผิดไปในอบายมุขเท่านั้น

วิบากบาปจากการลงทุนในตลาดหุ้นยังมีอีกมาก หากสังคมยังเคลื่อนที่ไปด้วยทุนนิยม ชีวิตจะไม่มีวันพบกับความผาสุกเลย ลองสังเกตเมืองใหญ่ที่มีเงินมากมายมหาศาล มีเม็ดเงินหมุนเวียนกันสร้างวัตถุได้ยิ่งใหญ่มากมาย แต่กลับมีความสุขไม่มากเท่าประเทศเล็กๆอย่างภูฏานซึ่งแทบจะไม่มีอะไรยิ่งใหญ่เลย

คนที่หลงว่าทุนนิยมคือความสุขนี่แหละคือวิบากบาปของคนที่หลงมัวเมาในเงิน ในความมั่งคั่งจนบดบังความจริงของชีวิต กิเลสมันจะบังไว้หมด ทำให้หลงว่าเงินและความเจริญของประเทศคือความสุข มันจะไม่เห็นว่าความพอเพียงคือความสุข และความเข้าใจนี้เองที่จะผลักดันให้พวกเขาเดินหน้าสู่นรกอย่างมั่นใจ นี้เองคือพลังแห่งวิบากบาปที่ทำให้เห็นผิดเป็นถูก เห็นกงจักรเป็นดอกบัว

….การลงทุนในโลกียะกับชาติภพที่ไม่มีวันจบสิ้น

นักลงทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นหรือในการลงทุนอื่นๆที่มีลักษณะคล้ายๆกัน คือนักลงทุนที่วิเคราะห์และเข้าใจได้เพียงความเป็นอยู่ในชีวิตนี้เท่านั้น จึงตัดสินใจลงทุนแม้ว่ามันจะเป็นอบายมุข จะเป็นการพนันแค่ไหนก็ยินดีที่จะทำเพราะมองเห็นเพียงแค่ว่า ขอให้ฉันมีชีวิตที่สุขสบายในชาตินี้ก็เพียงพอ

แต่ในความเป็นจริงมันไม่ได้จบแค่ตาย ความตายเป็นเพียงการเปลี่ยนผ่านของภพหนึ่งไปภพหนึ่ง เปลี่ยนจากคนแก่เปลี่ยนชีวิตที่ใกล้ตายไปเป็นชีวิตใหม่ โดยใช้กรรมเก่าที่ทำมาในชาติที่ผ่านมา ร่วมกับกรรมเก่าที่เก็บสะสมไว้หลายต่อหลายชาติก่อนหน้านี้ สังเคราะห์ขึ้นมาเป็นร่างใหม่ในเวลาและสถานที่ที่เหมาะสมแก่กรรม

ดังที่เราเห็นได้ว่า เราเกิดมาพร้อมกับปัจจัยที่ไม่เท่ากันในแต่ละคน บางคนรวย บางคนจน บางคนหน้าตาดี บางคนธรรมดา บางคนปกติ บางคนพิการ ในเมื่อผลของกรรมคือการรับสิ่งที่เราทำมา แต่เราเกิดมาเรายังไม่ได้ทำอะไรเลย ก็มีพ่อแม่มาเลี้ยงแล้ว ดังนั้นไม่ว่าการเกิดมาในภพใด จะยากดีมีจน มีคนรักมีคนดูแลหรือถูกทิ้ง ล้วนเกิดจากกรรมที่สะสมไว้ทั้งนั้น เป็นการนำกุศลกรรมเก่ามากินมาใช้ในช่วงที่ยังเป็นเด็ก

ทีนี้นักลงทุนที่มองเพียงแค่ชาติเดียวก็จะลงทุนพลาด จะลงทุนไปเพียงแค่ในเชิงโลกียะ หรือแม้จะทำกุศลก็ทำไปเพียงแค่ในเชิงโลกียะ การจะเกิดมารวยหรือจนนั้นไม่ใช่ประเด็นสำคัญ สิ่งสำคัญคือการเกิดใดๆล้วนต้องประสบทุกข์ ไม่ว่าจะปุถุชนหรือพระอรหันต์ก็ต้องเจอกับทุกข์

ดังนั้นการลงทุนของนักลงทุนทั่วไปก็จะสามารถทำให้ตัวเองมีกินมีใช้ในชาตินี้หรืออย่างมากก็ชาติหน้าเท่านั้น แต่นักลงทุนที่เก่งกว่าจะมองเห็นไปถึงวัฏสงสารที่แสนยาวไกล จึงวางแผนได้ไกลกว่า วิเคราะห์ได้ลึกซึ้งกว่า เห็นไปถึงรูปและนามที่สะสมมา เห็นกิเลส เห็นภพ เห็นชาติ เห็นการเกิดและการดับใดๆก็ตามในโลกนี้ จึงสามารถจัดสรรการลงทุนให้เป็นไปทางโลกียะและโลกุตระอย่างเหมาะสม ลงทุนทั้งทางโลกและทางธรรมให้เป็นไปอย่างกุศล ทางโลกก็เพื่ออาศัย ทางธรรมก็เพื่อดับกิเลส อาศัยเกิดและดับไปอย่างนี้ทุกชาติ สร้างกุศลซึ่งเป็นกำไรแท้สะสมไปทุกชาติ

ดังนั้นนักลงทุนข้ามภพข้ามชาติจึงไม่กลัวจน แต่จะกลัวรวย เพราะการรวยนั้นหมายถึงการเบิกกุศลเก่ามาใช้เกินพอดี แต่การจนนั้นคือการออม และเก็บสะสมกุศลที่ตัวเองไว้กินใช้ภายหน้า ซึ่งเหมือนกับธนาคารกรรมที่เก็บสะสมไว้ ส่วนจะมีมากน้อยเพียงไร คงมีเพียงนักลงทุนผู้นั้นเท่านั้นที่จะรู้ได้

– – – – – – – – – – – – – – –

17.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

รวยเท่ากับซวย #1

December 17, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,910 views 0

รวยเท่ากับซวย #1

รวยเท่ากับซวย #1

…เมื่อความร่ำรวย ไม่ได้นำมาซึ่งความสุขและโชคดีเสมอไป

การใช้ชีวิตอยู่ในสังคมยุคทุนนิยมในปัจจุบัน ผู้คนต่างก็พากันใฝ่หาความมั่งคั่งร่ำรวยเป็นเป้าหมายตั้งแต่เกิดไปจนตายว่าต้องร่ำรวยจึงจะเรียกว่าประสบความสำเร็จในชีวิต เป็นภารกิจที่ผูกมัดให้เราต้องแสวงหา ไขว่คว้าเพียงเพื่อจะร่ำรวย

แล้วเราร่ำรวยไปทำไม? เป็นคำถามที่ดูตลกสิ้นดี คำตอบนั้นมีมากมายรองรับไว้ตั้งแต่เราเกิดมาแล้ว เช่น จะได้สบาย จะได้กินใช้ตามต้องการ จะได้ไม่ลำบากตอนแก่ฯลฯ

แล้วเราต้องร่ำรวยขนาดไหน? มาถึงคำถามนี้หลายคนก็จะเริ่มตอบตามฐานะ ตามฝันของแต่ละคน เช่นตอนนี้ยังไม่ได้ล้านก็เอาล้านก่อน ได้ล้านมาแล้วแต่เดี๋ยวจะเอาสิบล้านว่าจะพอ พอได้สิบล้านเห็นเป้าร้อยล้านว่าจะคว้ามาก่อน สรุปง่ายๆว่าหาเท่าที่กิเลสจะนำพานั่นแหละ

….ความมั่งคั่งกับกิเลส

ขึ้นชื่อว่ากิเลสนี่มันไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีขอบเขตและมันไกลออกไปเป็นอนันต์ การได้มาซึ่งเงินหรือความมั่งคั่งเป็นเพียงแค่ฉากหน้า แต่กิเลสที่มีทั้งอบายมุข กามคุณ โลกธรรม อัตตา นั้นเป็นฉากหลังที่ยิ่งใหญ่และอลังการ ไม่มีวันที่คนจะพอใจกับการสนองกิเลสด้วยเงิน มันไม่มีวันจบสิ้นแม้จะผ่านมากี่ยุคกี่สมัย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เงินคืออสรพิษ” แต่ถึงอย่างนั้นศาสนาพุทธก็ไม่ได้ปฏิเสธความมั่งคั่งที่มาโดยธรรม เพียงแค่ให้รู้จักบริหารความมั่งคั่งเพราะถ้าสะสมมากเกินไปมันจะกลายเป็นพิษ ดังเช่นในฐานของศีล ๑๐ ก็จะมีเรื่องของเงินเข้ามาอย่างชัดเจน นั่นหมายถึงถ้าอยากให้ชีวิตมีความสุขก็อย่าไปยุ่งกับเงินมากนัก

ถึงกระนั้นก็ตามในฐานของศีล ๑๐ นั้นเป็นฐานะที่สูงมาก การจะมาถึงได้ต้องลดกิเลสมาตามลำดับจากศีล ๕ ศีล ๘ จนมั่นใจว่าถือศีลได้อย่างปกติเสียก่อนจึงจะขยับฐานมาศีล ๑๐ ไม่ใช่ว่าเห็นว่าศีล ๑๐ ดีแล้วจะเลิกรับเงินทุกอย่างแล้วทำตัวยากจนต้องทนทุกข์ทรมานจากกิเลส อยากได้ อยากมี อยากกิน อย่างคนอื่นเขาแต่อดไว้เพราะถือศีล อันนี้ก็เรียกว่าถือศีลไม่เหมาะสมตามฐานะ

ความเป็นพิษของความมั่งคั่งนั้นก็คือการเสพอย่างเกินพอดี คิดเพียงแค่ว่าตนหามาได้มากก็มีสิทธิ์ใช้มาก แปลกันตรงตัวก็คือหาเงินได้มากก็เอามาสนองกิเลสได้มาก สนองกิเลสมากมันก็บาปมาก ทางไปนรก(ความเดือดเนื้อร้อนใจ) ก็เปิดกว้างมากเช่นกัน

….รวยแล้วมันซวยยังไง

หลายคนอาจจะบอกว่ารวยก่อนถึงจะดี ในบทความนี้เราไม่ได้ปฏิเสธเงินเสียทีเดียว แต่เราปฏิเสธความรวยซึ่งหมายถึงการมีเกินพอดี คำว่ารวยนั้นแสดงถึงสภาพเหลือกินเหลือใช้ นั่นก็แสดงถึงความล้น ความเฟ้อ ความไม่พอดีอยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อเรามีมาก เราก็อยากใช้มาก เพราะกิเลสเราโตตามไปพร้อมกับเงินด้วย สมมุติว่ามีคนคนหนึ่งตอนเขาจน เขากินข้าวจานละ 50 บาทก็ยังว่าแพง แต่ตอนเขารวย กินอาหารมื้อกลางวันมื้อเดียว 1,000 บาทก็ยังว่าคุ้มค่า ดูสิกิเลสมันหลอกได้ถึงขนาดนี้ มันเอารูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมาหลอกขายเขา เขาก็หลงเชื่อเห็นไหม ตอนเขาจนเขายังฉลาดกว่าตอนรวยเลยนะ เพราะเห็นว่าของที่คนรวยกินเข้าไปนั้นมันทั้งแพงทั้งน้อย แม้อร่อยแต่ก็ไม่คุ้มค่าเงิน คนรวยเขากล้ากินได้ยังไง ตอนจนมันจะเห็นคุณค่าเงิน 50 บาทว่ามาก จึงใช้เงินอย่างประหยัด แต่พอตอนเขารวยนี่มันกินได้หมดเลยนะ มันไม่ต้องคิดอะไรเพราะมันจ่ายได้หมด มันเห็นคุณค่าเงิน 1,000 บาทว่าน้อย เห็นไหมมันเริ่มโง่แล้ว

ค่าอาหารที่แพงขึ้นไปคือราคาของกิเลส ราคาของกามคุณที่เขาแต่งรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ราคาของโลกธรรมที่เขายกยอปอปั้นว่าดีว่ายอด ราคาของอัตตาที่เราหลงไปให้คุณค่าว่ามันดี ราคาที่จ่ายไปนี่คือค่ากิเลสล้วนๆ คือความโง่บริสุทธิ์บนความรวยนี่เอง ถ้าได้ลองล้างกิเลสเรื่องอาหารจนหมดจะพบความจริงว่า ทั้งหมดนี้มันก็เท่านั้นเอง ข้าวมื้อละ 1,000 บาทกับมื้อละ 50 บาท มันก็อิ่มเท่ากัน ก็เท่านั้นเอง

การใช้เงินเป็นนี่ไม่ได้หมายความว่าใช้เงินตามฐานะอย่างที่เข้าใจกันเพียงอย่างเดียว แต่เป็นการใช้เงินอย่างพอเหมาะพอควรให้เหมาะสมกับสิ่งที่จ่ายเงินซื้อไป ดังเช่นเรื่องที่ยกตัวอย่างนั้น คนเรากินเพื่อดำรงชีวิตอยู่แต่คนมีกิเลสนั้นดำรงชีวิตอยู่เพื่อกิน จึงต้องเสียเงินมากมายให้กับการกินที่สิ้นเปลือง ซึ่งก็มักจะมีคำพูดที่ดูดีเหตุผลที่สวยหรูจากกิเลสมารองรับ

ในมุมของความเป็นภัยนี่ก็มาก ความรวยจะเรียกคนที่ไม่จริงใจเข้ามาใกล้กับชีวิตเราเยอะมาก มีการฆ่ากันเพราะความรวยกันมาก็เยอะ คดีดังๆก็มีให้เห็นหลายคดีจนมีคำถามว่ารวยแล้วยังไง? สุดท้ายก็โดนเขาฆ่าแล้วเอาเงินไปใช้ มันตายเพราะความรวยแท้ๆ

ความรวยยังเป็นภัยในมุมของการบริหารงาน เช่นหากประเทศอยู่ในช่วงเศรษฐกิจตกต่ำสุดขีด เรามีโรงงานอยู่ซึ่งต้องแบกรับค่าใช้จ่ายรายเดือนสูงมาก เราบริหารไม่ผิดพลาดตามหลักการเลยนะ แต่สุดท้ายการเงินฝืดเคืองจนจำเป็นต้องลดสวัสดิการบางอย่างของพนักงาน แล้วเราดันรวย มีภาพรวยติดอยู่ในใจพนักงาน คือมีดีแค่ความรวยนี่แหละ เรื่องอื่นไม่ค่อยเด่น เพราะวันๆเอาแต่ทำตัวรวย ขับรถหรูไปกินอาหารแพงๆ เขาก็จะจ้องเราเหมือนกับฝูงหมาป่าจ้องลูกแกะนั่นแหละ ส่วนจะเป็นอย่างไรต่อไปก็ลองจินตนาการกันดูว่าถ้าบริษัทที่เรากำลังทำงานถูกลดสวัสดิการ ลดเงินเดือน แต่ผู้บริหารยังใช้ชีวิตหรูหราตามปกติ เราจะรู้สึกอย่างไร

คนรวยที่เก็บกักทรัพย์ไว้ไม่สละออกนั้นก็ยากที่จะพบกับความสุข ในฆราวาสธรรม ๔ คือธรรมของผู้ครองเรือน ก็มี “จาคะ” หมายถึงการเสียสละแบ่งปัน ซึ่งจะใช้ลดความยึดมั่นถือมั่น ความตระหนี่ถี่เหนียวของของรวยนี้เอง

เมื่อมีทรัพย์แต่ไม่ได้บริหารทรัพย์ให้ไปเป็นไปในทางกุศล ไม่ได้ทำให้เกิดบุญ แต่นำไปสนองตัณหา นำไปเสพที่กิเลสสั่งนั้นก็จะกลายเป็นบาป นั่นหมายถึงว่ายิ่งรวยก็จะยิ่งมีศักยภาพในการทำบาปสูงเท่านั้น นำมาซึ่งสิ่งอกุศลมากมาย

….การบริหารความรวยไม่ให้ซวย

ในสมัยพุทธกาลนั้นก็มีเศรษฐีมากมายที่ทำทาน เปิดโรงทาน แจกของแจกอาหารทุกวัน ซึ่งเป็นลักษณะของผู้ศรัทธาในการทำทาน เป็นการบริหารทรัพย์ที่มีมากให้เกิดประโยชน์กับตนเองและผู้อื่นมากขึ้น ไม่ใช่เพียงแค่เกิดบุญกุศลเท่านั้น ยังสามารถทำให้ตนเองนั้นพ้นภัยไปได้ด้วย

ยกตัวอย่างในยุคนี้เช่นกรณีของบิล เกตส์เมื่อครั้งหนึ่งเคยมีปัญหาที่ทำให้ชื่อเสียงและความมั่นคงในชีวิตตกต่ำลงอย่างน่าใจหาย เขาได้ใช้การบริจาคเงินตั้งมูลนิธิขึ้นมาและผ่านพ้นวิกฤตินั้นไปได้ ด้วยผลแห่งการทำทานนั้นเอง

ในกรณีเช่นนี้ ถ้าตามหลักของ CSR (Corporate Social Responsibility : ความรับผิดชอบต่อสังคม)ก็ยังเป็นระดับปลายเหตุ เหมือนกับที่บริษัทยักษ์ใหญ่มากมายถล่มทรัพยากรธรรมชาติ กดขี่พนักงาน ลดคุณภาพสินค้า ขายสินค้าราคาแพง สุดท้ายเอารายได้ส่วนหนึ่งมาจัดกิจกรรมสังคมให้ดูดีหรือกลบเกลื่อนชื่อเสียงที่ไม่ดี ไม่ใช่ทานที่ให้ตั้งแต่เริ่มกระบวนการผลิตหรือตั้งแต่ต้นสายปลายเหตุ แต่ก็ยังถือว่าเป็นการบริหารความรวยไม่ให้ซวยได้ระดับหนึ่ง

ซึ่งในกรณีนี้ถ้าเราสมมุติกิจกรรมเป็น 10 ส่วน ทำบาปทำอกุศลไปซะ 9 ส่วน ทำดีเอากำไรมาทำทานเสีย 1 ส่วน มันก็ดูดีใช่ไหม แต่มันจะทานพลังบาปอกุศลของ 9 ส่วนนั้นไม่ได้นานหรอก วันหนึ่งหากยังไม่หยุดเอาเปรียบลูกค้า พนักงาน สังคมสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งกำไร ก็ไม่มีทางจะต้านผลแห่งบาปที่ทำสะสมไว้ได้ สุดท้ายก็ซวยอยู่ดี

การบริหารความรวยที่ดีที่สุดคือการไม่รวย หรือการไม่ปล่อยให้ตนเองรวยจนถึงขีดที่เป็นภัย มีเท่าไหร่ก็ขจัดออก ปัดออก ยกตัวอย่างของประธานาธิบดีที่จนที่สุดในโลก “โฮเซ มูฮิกา” ที่มอบรายได้ต่อเดือนของตนกว่า 90% ให้กับการกุศล โดยใช้ชีวิตอย่างพอเพียงอยู่ในบ้านไร่ของเขากับภรรยา เรียกได้ว่าเป็นการบริหารความรวยอย่างชาญฉลาด เพราะนอกจากปัดภัยจากเงินที่จะเข้ามาหาตัวแล้ว ยังสร้างประโยชน์ให้กับผู้อื่นด้วย

ในทางพุทธศาสนายังมีวิธีการบริหารที่ดีกว่านั้น คือทำงานฟรี คือไม่รับความรวยไว้ตั้งแต่แรกเลย เมื่อไม่ได้รับมาก็ไม่ต้องมานั่งบริหาร ไม่ต้องมาคอยลำบากเพราะความรวย และใช้การบริหารชีวิตและสังคมด้วยระบบสาธารณโภคี คือใช้ของส่วนกลาง ไม่มีของส่วนตัว พึ่งพาอาศัยกัน เลี้ยงดูกันและกัน สร้างประโยชน์แก่กันและกันแบบฟรีๆ

….การบริหารความรวยที่ผิด

ลองมายกตัวอย่างการบริหารความรวยที่ผิดบ้าง มีตัวอย่างมากมายให้เห็นเช่น ในระดับทั่วไป คนที่มีเงินมีทองก็สวมใส่ทอง เอาเงินมากมายใส่กระเป๋าด้วยความอยากแสดงให้คนอื่นเห็นว่าตนรวย ทีนี้พอเตะตาบางคนที่เขามีความโลภมากๆเข้าก็มักจะเกิดการกระชากสร้อย ปล้นจี้ ขโมย อันนี้เป็นระดับชาวบ้านทั่วๆไป

ลองขยับขึ้นมาเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัยบ้าง คนรวยก็มักจะตกแต่งบ้านประดับบ้านด้วยสิ่งของราคาแพง บ้านจะใหญ่และโดดเด่นกว่าคนอื่น เพราะคนรวยที่หลงเมาในกิเลสก็จะพยายามทำตัวให้คนอื่นรู้ว่าตนรวย ทีนี้พอโดดเด่นก็จะเป็นเป้าสายตา แล้วก็จะกลายเป็นเป้าหมายของโจรเข้าในวันใดวันหนึ่ง ความสูญเสียทรัพย์สินหรือชีวิตก็จะตามมา

ลองเปลี่ยนมาเป็นการบริหารงานบ้างดังเช่นกิจการที่มีการเติบโต ผู้บริหารจึงขยายกิจการออกไปเพื่อหวังกำไรให้มากขึ้น แต่เมื่อมีสาขามากขึ้นภาระก็มากขึ้น ต้องทำยอดขายมากขึ้น ปัญหาก็มากขึ้น ทั้งที่ชีวิตจริงๆก็ดีอยู่แล้ว แทนที่จะนำทรัพยากรมาพัฒนาสวัสดิการภายในต่างๆให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดี แต่กลับขยายให้ใหญ่แต่มีคุณภาพแบบทั่วๆไป เป็นลักษณะการบริหารความรวยที่ผิดที่เห็นได้โดยทั่วไปลองคิดดูก็ได้หากบริษัทจะบอกกับคุณว่าปีนี้ไม่มีโบนัสเพราะบริษัทจะนำเงินไปลงทุนขยายกิจการ จะรู้สึกอย่างไร

ลองมาดูในมุมของการบริหารเงินกันบ้าง หลายคนเอาเงินไปลงทุนในธุรกิจต่างๆที่มีความเสี่ยง ยกตัวอย่างเช่นลงทุนในตลาดหุ้นในลักษณะระยะสั้น สัญญาซื้อขายทองคำล่วงหน้า ซึ่งมีการแปรผันอย่างรวดเร็วและคาดเดาผลได้ยาก และแม้จะใช้คำว่า “การลงทุน” แต่ก็มีคุณสมบัติเหมือนการพนันอย่างไม่ผิดเพี้ยน คือมีการลงทุนและหวังให้ทุนเพิ่มมากกว่าที่ลงโดยมีโอกาสลดลงเช่นกัน ไม่ต่างอะไรกับการเล่นพนันอื่นๆ เพียงแค่ใช้ข้อมูลทางผลประกอบการและเศรษฐกิจเป็นตัวอ้างอิงที่ใช้เล่นกันไม่ต่างกับลูกเต๋าหรือไพ่ เมื่อเป็นการพนันจึงกลายเป็นการบริหารความรวยที่มีผิดไปจากทางที่ควรจะเป็นกุศล

การบริหารความรวยที่ผิดนั้นไม่ได้มาจากเหตุอะไรมาก ส่วนใหญ่ก็มาจากโลกธรรม คือความโลภ ความอยากได้การชื่นชม อยากให้มีคนยอมรับ อยากอยู่ในตำแหน่งสูงสุด อยากมีความสุข สนองอัตตา ก็เพียงแค่นั้น

….การประกอบอาชีพอย่างพุทธ

การได้มาซึ่งความร่ำรวยนั้นต้องไม่ได้มาจากการพนัน การขโมย การแย่งชิง การเอาเปรียบ ฯลฯ ความรวยที่สุจริตนั้นมาจากการประกอบอาชีพที่สุจริต และอาชีพที่สุจริตนั้นมีอยู่ในพระไตรปิฏก อยู่ในสัมมาอริยมรรคข้อหนึ่งที่ว่า “สัมมาอาชีวะ” เป็นคำที่ผู้คนต่างเข้าใจกันเพียงว่าเลี้ยงชีพชอบ แล้วอย่างไรจึงชอบ อาชีพใดจึงดี เราจะไปขยายกันต่อในบทความต่อไป

– – – – – – – – – – – – – – –

13.12.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์

อิสรภาพทางการเงิน

October 1, 2014 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,585 views 0

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน

อิสรภาพทางการเงิน เป็นคำที่ได้ยินกันจนคุ้นหูในยุคนี้ เป็นความฝันทางทุนนิยม เป็นคำนิยามที่สวยหรู เป็นสิ่งที่มีอยู่จริงตามที่แต่ละคนจะคิดหรือปรุงแต่งไปเอง ปั้นแต่งให้สวยงามเลิศหรูไปตามกิเลสของแต่ละคน

เขาเหล่านั้นมักมีความเข้าใจเกี่ยวกับอิสรภาพทางการเงินดังเช่น การมีอิสระในการใช้เงิน ,มีเงินมากพอจนไม่ต้องไปเสียเวลานั่งทำงาน , ให้เงินทำงานแทนเรา , มีเงินมากพอที่จะใช้จ่ายในชีวิตประจำวันและเหตุฉุกเฉิน เป็นความเข้าใจที่เหมาะกับยุคทุนนิยม แต่ไม่เหมาะกับความเป็นจริงเท่าไรนัก

การมีเงินใช้จ่ายอย่างไม่จำกัดไม่ได้หมายความว่าชิวิตจะมีอิสรภาพหรือจะมีความสุข เงินไม่ได้เป็นตัวประกันความมั่งคั่ง หรือความสมบูรณ์แบบในชีวิตเลย เป็นเพียงแค่ของหยาบที่คนหยาบมักเอาไว้ใช้วัดคุณค่าของคน วัดความสำเร็จ เป็นวัตถุที่จับต้องได้ เข้าใจได้ง่าย เขาเหล่านั้นจึงมักจะใช้เงินเป็นเป้าหมายหนึ่งของชีวิต เป็นความมั่งคั่ง เป็นความสุข

เรามักจะมีเหตุผลมากมายที่จะทำให้เราเชื่อว่า เราสามารถมีความสุขได้จากการมีเงิน เรามักจะไม่ได้มองเงินเป็นหลัก แต่มักจะมองสิ่งที่ได้จากเงินเช่น เราอยากได้อะไรก็ได้ เราอยากมีอะไรก็มี อยากซื้อของที่อยากได้ อยากซื้อรถคันใหญ่ อยากมีบ้านหลังโต อยากมีเงินเลี้ยงพ่อแม่ อยากมีเงินส่งเสียลูก อยากมีเงินแต่งเมีย เพราะเหตุนั้น เราจึงคิดว่าเราจะต้องมีเงิน จึงจะสามารถสนองตามความอยากของเราได้ เมื่อได้สนองจนสมใจอยาก เราจึงจะได้พบกับความสุข

การได้มาซึ่งความมั่งคั่งนั้นมีมิติที่ซับซ้อนมากกว่ากิจกรรมที่เราเห็นมากนัก ประกอบไปด้วยกรรมปัจจุบันและกรรมเก่า พวกที่มีกรรมเก่ามากก็อาจจะเกิดมาบนกองเงินกองทองเลย หรือไม่ก็คนประเภทที่ว่าในชาตินี้แม้จะเกิดมาจน แต่พอจับอะไรก็รวยได้ทันที อันนี้ก็มีปัจจัยหนุนนำมากกว่าเรื่องที่มองเห็น

เหมือนกับเรือใบจะแล่นได้เพราะมีลม ความสามารถ หรือกรรมปัจจุบันคือการบังคับเรือให้เหมาะกับลม แต่ลมนั้นคือกรรม คือสิ่งที่คำนวณไม่ได้ คนบังคับเรือเก่งแต่ไม่มีลมก็ไปไม่ได้ คนบังคับเรือไม่เก่งแต่มีลมที่ดีพัดมาตลอดก็ไปถึงฝั่งฝันได้ง่าย

นั่นหมายความว่า การที่เราจะขยันทำงานหรือขยันหาเงินลงทุน ทุ่มเทเวลากับการทำธุรกิจ กิจการร้านค้า ลงทุนเล่นหุ้น ฯลฯ ไม่ได้หมายความว่าเราจะพบกับความมั่งคั่งหรืออิสรภาพทางการเงินเสมอไป อาจจะมีอะไรบางสิ่งบางอย่างคอยเข้ามาขัดขวางไม่ให้เราได้พบกับความมั่งคั่งทางทุนนิยมเหล่านั้น ซึ่งนั่นอาจจะเป็นกรรมดีหรือกรรมชั่วก็ได้

นั่นเพราะแท้จริงแล้ว การมีเงินไม่ได้หมายความว่าเราจะมีความสุข แต่การที่เราสามารถสนองต่อกิเลสของเราได้ต่างหากคือสิ่งที่เราเรียกว่าความสุข แต่ความสุขแบบนี้ก็เป็นความสุขที่หลอกลวง เป็นสุขจากกิเลส เป็นสุขที่เสพไม่นานก็หายไป แม้จะเสพมากเท่าไหร่ก็ไม่รู้จักพอ มักจะต้องการเสพเพิ่ม หามาเพิ่ม เพื่อที่จะได้ลิ้มรสสุขที่มากกว่า

ทั้งที่จริงแล้ว เงินไม่ใช่ความสุข จะลองดูก็ได้ ลองไปใช้ชีวิตอยู่ในเกาะร้าง มีเงินวางไว้ใช้บนเกาะสักพันล้าน จะมีความสุขไหม? เมื่อเทียบคุณค่าของเงินกับเพื่อนสักคนหรืออาหารสักจานอะไรจะดีกว่า?

ความสุขที่ว่านั้นเกิดจากการได้เสพสมใจในกิเลส เป็นการสนองความโลภของตัวเองด้วยการแสวงหาทรัพย์อันไม่มีจำกัด เหมือนกับคนที่ตามล่าหาสมบัติเพื่อจะทำให้ตัวเองรวยไปทั้งชาติ เหมือนกับคนที่ตามหาชีวิตอมตะ เหมือนกับคนที่คิดฝันไปเอง

แม้ว่าเราจะได้เงินที่ไม่จำกัดต่อการสนองกิเลสเหล่านั้นมาครอบครอง แต่มันก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะสามารถคงสภาพเช่นนั้นไปได้ตลอด พอมีเงินแล้วก็มักจะมีความอยากเสพมากขึ้นตามมาด้วย จากที่เคยประหยัดก็หันมากินและใช้จ่ายแพงๆ จากที่เคยเป็นโสด ก็ไปหาใครสักคนมาเสพสมกิเลสร่วมกัน จากที่เคยอยู่เป็นคู่ก็สร้างทายาทมาเสริมกิเลสแก่กัน มาช่วยกันใช้ทรัพย์นั้น จนกระทั่งวันหนึ่ง เริ่มสะสมคนมีกิเลสมากขึ้นๆ ในขณะที่ทรัพยากรนั้นมีอยู่อย่างจำกัด เมื่อถึงจุดจุดหนึ่งทุกอย่างก็จะพังทลายลงในพริบตา ทรัพย์สมบัตินั้นหายไป เหลือไว้แต่คนที่เต็มไปด้วยความโลภ เต็มไปด้วยปริมาณกิเลสก้อนใหญ่…สภาพหลังจากนั้นก็ลองหาดูตัวอย่างชีวิตของผู้มั่งคั่งที่ล้มละลาย

ความไม่เที่ยงนั้นคงอยู่คู่กับโลกเสมอ แม้เราจะพยายามเก็บเงินนั้นไว้ ประหยัดและวางแผนไว้ดีเท่าไหร่ ก็จะมีเหตุให้เราต้องพรากจากความมั่งคั่งนั้นไป ไม่ว่าจะอุบัติเหตุ ความเจ็บป่วย การตาย การทำลายทรัพย์เหล่านั้นด้วยกิเลสของตัวเอง หรือแม้แต่การทำลายกันเองของเหล่าผู้มีกิเลสเช่นการปั่นหุ้น การสร้างข่าวลวง หลอกล่อให้ลงทุน และยังมีปัจจัยแวดล้อมที่จะช่วยแสดงให้เห็นความไม่เที่ยงเช่นภัยพิบัติต่างๆ น้ำท่วม แผ่นดินไหว ไฟไหม้ ฯลฯ ดังจะเห็นได้ว่า ความมั่งคั่งสามารถถูกทำลายลงได้ทุกเมื่อ ความหมายมั่นตั้งใจว่าจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายเมื่อยามแก่ อาจจะพังทลายลงโดยที่ไม่สามารถจะทำอะไรได้เลย

……ยกตัวอย่างเช่น ทำงานอย่างหนัก ลงทุนในธุรกิจทุกอย่างจนมีเงินหมุนเวียน เกิดสภาพคล่องในชีวิต มีเงินปันผลให้ใช้อย่างเต็มที่ทุกปี สุดท้ายตรวจพบมะเร็งระยะสุดท้าย เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน แล้วก็ไปแต่งงาน สุดท้ายมาอยู่กันเป็นครอบครัว มีลูกมีหลาน วุ่นวาย ทะเลาะเบาะแว้งมีปัญหารายวัน เงินยังมีอยู่นะ แต่ความสุขยังมีอยู่ไหม?

……หรือ ทำงานจนประสบความสำเร็จ มีเงิน พอมีเงินก็ไปเที่ยวรอบโลกครั้งแรก ไปปีนเขา …แล้วก็ตกลงมาตาย เงินยังมีอยู่นะ แต่ชีวิตหายไปไหน?

มีกรณีศึกษาเกี่ยวกับคนรวยที่ยังไม่ทันได้ใช้เงินของตัวเอง หรือกระทั่งคนรวยที่ตกอับมากมาย แต่เรามักจะไม่เคยสนใจ เพราะเรามัวแต่แหงนมองไปที่คนรวยกว่า คนที่มั่งคั่ง คนที่เป็นบุคคลตัวอย่างทางการเงินทั้งหลาย จนไม่มองกลับมาถึงความจริงว่า สิ่งเหล่านั้นมันไม่เที่ยง

แต่ถึงกระนั้นคนผู้หลงมัวเมาในเงินก็มักจะไม่มองกว้างนัก เขาเหล่านั้นเหมือนม้าที่ถูกปิดตาให้มองเห็นแต่ทางแห่งความมั่งคั่งอย่างที่ใครสักคนบอกไว้อยู่ข้างหน้า โดยที่เขารู้เพียงว่า ถ้ามีเงินก็สามารถจะมีความสุขได้ ทั้งๆที่จริงแล้วความสุขกับเงิน ไม่ได้เกี่ยวข้องกันเลย เป็นการตั้งสมการหรือสมมุติฐานในการดำเนินชีวิตที่ผิดเพี้ยนไป เพราะเอาเงินมาเป็นตัวตั้ง ทั้งๆที่ควรจะใช้ความสุขเป็นตัวตั้งแล้วหาเงินเพียงแค่พอเลี้ยงชีพและจุนเจือครอบครัวกิจกรรมการงาน

อิสรภาพทางการเงินในนิยามของยุคสมัยนี้นั้น มีรากมาจากความโลภและความขี้เกียจ ซึ่งเป็นกิเลสที่ร้ายและหยาบ

อิสรภาพทางการเงินที่แท้จริงนั้น คือ ไม่เป็นทาสของเงิน ไม่ทุกข์แม้จะไม่มีเงิน จะมีเงินก็ได้ไม่มีก็ได้ จะมีมากก็ได้มีน้อยก็ได้เป็นอิสระจากผลกระทบของเงิน เป็นอิสระจากความผูกพันของเงิน อิสระจากสิ่งสมมุติแห่งความมั่งคั่งที่เรียกว่า “เงิน

อิสรภาพทางการเงินนั้น เมื่อเทียบกับอิสรภาพจากกิเลส ก็จะพบว่าเปรียบกันได้ยากยิ่ง เหล่าคนผู้มัวเมาไปด้วยกิเลสตัณหามักจะสะสมโลกียะทรัพย์ ทรัพย์ทางรูปธรรม สะสมเงิน ตำแหน่ง ชื่อเสียง สุขลวงๆ เพราะเขาเหล่านั้นเข้าใจว่าความมั่งคั่งด้วยทรัพย์จะเป็นหลักประกันให้ชีวิตของเขามีความสุข สามารถเสพสุขไปจนตายได้

แต่ในขณะเดียวกัน ผู้มีปัญญานั้นมักจะสะสมอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ทางนามธรรม ทรัพย์ที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่มีอยู่จริง เขาสามารถที่จะใช้ทรัพย์เหล่านั้นในการสร้างความมั่งคั่งก็ได้ สร้างความสุขก็ได้ สร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดีก็ได้ สร้างอะไรก็ได้ตามกำลังทรัพย์ที่เขามี เป็นทรัพย์ที่ไม่มีวันหมด ยิ่งใช้ยิ่งสะสมก็ยิ่งเพิ่ม เป็นทรัพย์ที่อยู่ในธนาคารที่เรียกกันว่า“กรรม

คนผู้มัวเมาในกิเลสมักหลงในคำว่าอิสรภาพทางการเงิน ลงทุนลงแรง เฝ้าหาเฝ้าเติมอยู่แบบนั้น เขาเหล่านั้นหาเงิน หาความมั่งคั่งมาเพื่อเสพสมใจในชาตินี้ พอชาติหน้าชีวิตหน้าก็ต้องเกิดมาหาแบบนี้ใหม่ เหมือนดังในชาตินี้ที่ต้องมานั่งแสวงหาความมั่งคั่ง

คนผู้มีปัญญานั้นจะเข้าใจในอิสรภาพจากกิเลส เขาจึงลงทุนลงแรง เรียนรู้ พัฒนา สะสมอริยทรัพย์ ซึ่งประกอบไปด้วย ศรัทธา ศีล หิริ โอตตัปปะ สุตะ จาคะ ปัญญา…

…ศรัทธาคือความเชื่อมั่นอย่างสัมมาทิฏฐิ เป็นความเชื่อที่ประกอบด้วยปัญญาไม่ใช่เชื่อแบบหลงงมงาย เป็นไปเพื่อลดกิเลส เป็นเหมือนไฟส่องทาง เป็นแผนที่ที่ทำให้ไม่มีวันหลงทาง จะเกิดมากี่ชาติก็ไม่มีวันไปหลงงมงาย เสียเวลากับการเดินผิดทาง เดรัจฉานวิชา ไม่หลงในลัทธินอกพุทธศาสนา

…ศีลคือ ข้อปฏิบัติในการเว้นจากการทำชั่ว เป็นไปเพื่อความสุขความเจริญ เมื่อมีศีลก็พ้นจากภัยต่างๆ ศีลเป็นเกราะป้องกันที่ดีเยี่ยม ศีลวิเศษที่สุด จะเกิดมากี่ชาติ ก็จะมีความสามารถในการถือศีลในระดับที่เคยปฏิบัติได้ติดมาด้วย จะไม่หลงติดอยู่ในอบายมุขนาน แม้ตั้งศีลตั้งตบะแล้วก็สามารถทำลายกิเลสนั้นได้ไม่ยาก

…หิริคือ ความละอายต่อบาป ละอายต่อการทำชั่ว แม้คนอื่นหลอกเราว่าสิ่งชั่วนั้นดี แต่เราจะรู้สึกไม่อยากทำ เพราะเราเห็นว่าเป็นสิ่งชั่วจริงๆ รู้สึกจริงในวิญญาณของเรา เป็นความรู้สึกละอายที่สะสมมาข้ามภพข้ามชาติ

…โอตตัปปะคือ ความเกรงกลัวต่อบาป กลัวการทำชั่ว จะไม่ไปทำชั่วนั้นอีก เพราะรู้ถึงโทษภัยจากการทำชั่ว จึงเข็ดขยาดในการทำชั่วนั้น ไม่ว่าจะเกิดมาอีกกี่ชาติ ความรู้สึกนี้ก็จะติดมาด้วย คือจะไม่หลงไปทำชั่วตามที่คนอื่นเขาทำกัน เพราะรู้ได้ชัดในวิญญาณของตนถึงทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย เหล่านั้น

…สุตะ คือความตั้งใจฟัง คือการเปิดรับสิ่งใหม่ๆ การยินดีรับความรู้ใหม่โดยไม่มีอัตตา สามารถฟังและจำแนกธรรมได้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ เป็นการฟังอย่างเปิดใจโดยน้อมเอาสิ่งที่ฟังเข้ามาพิจารณาไว้ในใจโดยแยบคาย ซึ่งเป็นการฟังที่เป็นเหตุนำไปสู่สัมมาทิฏฐิ

…จาคะ คือ ความเสียสละแบ่งปัน เกิดจากการทำลายกิเลสอันคือความตระหนี่ถี่เหนียว จนเป็นความเสียสละที่ฝังไว้ในวิญญาณ จะเกิดกี่ภพกี่ชาติก็จะเป็นคนที่ใจบุญ เสียสละประโยชน์ส่วนตนให้กับประโยชน์ส่วนรวม ยอมเสียเปรียบให้คนอื่นได้ ยินดีที่จะได้รับน้อยกว่าคนอื่นก็ได้

…ปัญญา คือ ความรู้แจ้งเห็นจริง ชำแหละกิเลส กำจัดกิเลส ล้างกิเลสได้ เพราะมีความรู้ความเข้าใจในกิเลสนั้นว่าเป็นทุกข์ โทษ ภัย ผลเสีย อย่างแจ่มแจ้ง และเห็นประโยชน์ในการละกิเลสนั้นๆอย่างถ่องแท้ รู้ไปถึงกรรมและผลของกรรมของกิเลสนั้นๆ รู้ว่ากิเลสนั้น ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่มีตัวตน

ปัญญาจึงเป็นสภาพที่เจริญและติดไปข้ามภพข้ามชาติ ดังจะเห็นได้ว่าคนทุกคนมีปัญญาไม่เท่ากัน มีการเสพกิเลสที่ต่างกัน มีความยึดมั่นถือมั่นไม่เท่ากัน เพราะเขาเหล่านั้นมีอริยทรัพย์ไม่เท่ากัน

เมื่อเห็นดังนี้ ผู้มีปัญญาจึงตามหาครูบาอาจารย์ผู้มีสัจจะแท้ เพื่อที่จะมาเป็นที่ปรึกษาและแนะนำในการลงทุน เพื่อความมั่งคั่งแบบข้ามภพข้ามชาติ เป็นทรัพย์ที่ติดตัวไปตลอดไม่ว่าจะไปเกิดที่ไหน ภพไหน ชาติไหน ก็จะมีศักยภาพเหล่านี้ติดไปด้วยเสมอ นำมาซึ่งทั้งอิสรภาพทางการเงิน และอิสรภาพจากกิเลส

เมื่อมีอริยทรัพย์ดังนี้ ความสุข ความสมบูรณ์ ความมั่งคั่งในชีวิต จะไปไหนเสีย..

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2557

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์