Tag: โลกีย์

VIP โลกีย์ ราคีโลกุตระ

July 13, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,076 views 0

ถ้าตามสมมุติโลก คนที่เขามีชื่อเสียงมาก สนับสนุนมาก คนเขาก็นับว่าเป็น VIP (Very Important Person) จึงให้การต้อนรับ ดูแล ใส่ใจเป็นพิเศษ อันนั้นก็ตามโลกเขาไป

แต่ในความเป็นโลกุตระ หรือคนที่มุ่งปฏิบัติธรรม ลดละกิเลสนั้น จะไม่ได้เอาสมมุติเหล่านั้นมาเป็นตัวยึดถือ ด้วยความเป็นบุญนิยม คือนิยมในการทำบุญ หรือการชำระล้างกิเลส ให้คุณค่ากับการชำระล้างกิเลส เว้นขาดจากสิ่งที่เบียดเบียนเป็นโทษภัยโดยลำดับ จึงไม่ได้นิยมตามแบบทุนนิยม

แบบทุนนิยมก็ตามที่เรารู้กัน ใครมีเงินมาก มีชื่อเสียงมาก มีทุนมาก คนเขาก็ให้การยอมรับ ดูแล ใส่ใจ ให้โอกาส เป็น VIP ดังนั้น บุญนิยมกับทุนนิยมจึงแตกต่างกันคนละขั้ว

สังคมธรรมมีราคี เมื่อมีทุนยิยมเข้ามาปนในบุญนิยม คือคนที่เขาเอาระบบทุนนิยมเข้ามาปน เข้ามาใช้ในสังคมปฏิบัติธรรม มันจะทำให้เกิดความเสื่อมจากธรรม เพราะไปเอาอธรรมมาเป็นตัวนำ

ผมเคยเห็นคนที่เขาป่าวประกาศว่าจะเข็นกงล้อธรรมจักร ปากเขาก็พูดไป 1 ปี 5 ปี 7 ปี เขาก็พูดอยู่อย่างนั้น แต่การกระทำเขาไม่เหมือนที่ปากพูด เขาก็เอาทุนนิยมนี่แหละมาปฏิบัติ พอมีคนมาสนับสนุนเขา ด้วยเงินก็ตาม ด้วยการยอมรับเขาก็ตาม เขาก็ให้ความเป็น VIP กับคนนั้น ยิ่งถ้าเอาเงินก้อนโตไปให้เขาด้วยแล้ว จะยิ่งเห็นลีลาการเลียอันน่าขยะแขยงสุดจะพิศดารยิ่งนัก ด้วยความที่ปกติดูจะเป็นคนที่แสดงออกไปในเชิงกล้าและกร่าง แต่พอเจอเงิน เจอคนมีอำนาจก็ถึงกับอ่อนยวบยาบ กลายเป็นอวยเขา เลียเขา ส่งเสริมเขา (เพราะเขามาส่งเสริมตน) ซึ่งในกระบวนการทั้งหลายนี้ ไม่ได้มีวิถีบุญนิยมเข้ามาเกี่ยวข้องเลย มีแต่วิถีโลกีย์หรือทุนนิยมล้วน ๆ คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข

ซึ่งเรื่องเหล่านี้ก็เป็นรอยด่างของกลุ่มนักปฏิบัติธรรมที่จะต้องจัดการคนเหล่านี้ ไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้ ตามหลักที่ในหลวง ร๙ ได้ตรัสไว้ว่า …

“….ในบ้านเมืองนั้น มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ไม่มีใครจะทำให้คนทุกคนเป็นคนดีได้ทั้งหมด การทำให้บ้านเมืองมีความปกติสุขเรียบร้อย จึงมิใช่การทำให้ทุกคนเป็นคนดี หากแต่อยู่ที่การส่งเสริมคนดี ให้คนดีได้ปกครองบ้านเมือง และควบคุมคนไม่ดีไม่ให้มีอำนาจ ไม่ให้ก่อความเดือดร้อนวุ่นวายได้…”

(พระบรมราโชวาทในพิธีเปิดงานชุมนุมลูกเสือแห่งชาติ ครั้งที่ 6 ณ ค่ายลูกเสือวชิราวุธ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี วันที่ 11 ธันวาคม 2512)

ในสังคมปฏฺิบัติธรรมก็เช่นกัน ไม่มีทางที่จะทำให้ทุกคนเป็นคนดีพร้อมกัน เสมอกันหมดได้ ความเป็นสังคมคือความปะปนกันในฐานะที่แตกต่างกัน แต่ถ้าหากเราจะส่งเสริมให้สังคมเกิดความเจริญในธรรม เราก็ต้องจัดการควบคุมคนที่มีลักษณะเมาในทุนนิยมหรือเป็นทุนนิยมโดยพฤติกรรม และส่งเสริมคนที่ดำเนินชีวิตตามหลักบุญนิยม ให้ได้มีอำนาจ ปกครองคนไม่ดี ก็จะเจริญได้ตามลำดับ

ถ้าปล่อยให้ทุนนิยมเข้ามามีบทบาทมากหรือมีอำนาจมาก ก็จะชักนำให้เกิดความเสื่อม เป็นราคีในหมู่โลกุตระ เป็นวิบากร้าย เป็นความล้าช้า ความลำบากในการปฏิบัติธรรม เป็นตัวถ่วงกลุ่ม เป็นยางเหนียวที่เป็นอุปสรรคต่อการเข็นกงล้อธรรมจักร

ผู้ใหญ่พาทำ

January 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 535 views 0

จากประสบการณ์ที่ได้ตามศึกษาจากครูบาอาจารย์มา จะพบได้ว่า ท่านเหล่านั้นได้สร้างองค์ประกอบที่จะ “เอื้อ” ให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมบำเพ็ญกันได้อย่างงดงามและแนบเนียนสุด ๆ

กิจกรรม การงานใด ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น แน่ละ ดูเผิน ๆ ก็เป็นกุศล แต่เนื้อในคือการสร้างองค์ประกอบที่จะให้เกิด “บุญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการปฏิบัติธรรมหรือทำดีในแบบทั่ว ๆ ไป คือใช้องค์ประกอบของกิจกรรมในการชำระกิเลส

ถ้าแบบโลกีย์ทั่วไป เขาก็ไปรวมกันทำดี ทำกุศล สะสมความดี หวังผลดี หวังสวรรค์วิมาน หวังโชคดีต่าง ๆ ในชีวิต คือไปทำดีแล้วยังมีหวัง ยังมีฝัน ยังเป็นลาภแลกลาภ ยังเป็นมิจฉาอาชีวะ

แต่ถ้ามาแบบโลกุตระ จะดีแบบให้หมดหวังกันไปสักที ดีแบบให้เลิกหวัง ด้วยองค์ประกอบของคำสอนที่แตกต่างกัน ในนิยามของคำว่า “บุญ” ก็ตาม ที่หมายถึงการชำระกิเลส ดังนั้น กิจกรรมการงานต่าง ๆ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกันกับกลุ่มหรือลัทธิทั่วไป

เพราะท่านสอนให้เราสละ สละกันเป็นลำดับ เท่าที่ทำได้ เท่าที่ทำไหว องค์ประกอบมีอยู่ กิจกรรมการงานนั่นไง ท่านก็สร้างไว้ให้ เราก็เข้าไปร่วม ไปลด ไปเลิก ไปสละ ไปทำความดีแบบไม่ต้องหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไปทำบุญ ไม่ใช่ไปเอาบุญ ไปชำระกิเลส ไม่ใช่ไปเอากิเลสเพิ่ม

ไม่ใช่การทำดีเพื่อการหวังใหญ่หวังโต อำนาจ บารมี ลาภ ยศใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านสอนให้สละออก อย่าไปหวง อย่าไปหวัง

ผมเห็นแล้วก็ศรัทธา เพราะที่อื่นไม่มีแบบนี้ ที่อื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ เขาสอนต่างกัน ทิศทางไปต่างกัน เราไม่ไปสวรรค์ เราไม่เมากุศล เรามุ่งเอากิเลสของเราออก เป็นอันดับแรก ปฏิบัติตามแบบนี้แล้วรู้สึกว่าตนเองเจริญมากขึ้น ผ่อนคลาย เบาสบายมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมาเรียกว่ายกเรื่องปวดหัวออกได้หลายเรื่องมาก ๆ แสดงว่าวิธีของท่านมีผล ทำตามแล้วมีผล

สัมมาทิฏฐิ อย่างหนึ่งที่เป็นจริงคือ “พิธีที่ทำแล้วมีผล” คือทำตามแล้วกิเลสมันลดล้างจางคลายได้จริง อาจารย์เคยบอกว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างองค์ประกอบให้ผู้คนได้ฝึกลดกิเลสได้เก่งตามบารมี ผมฟังแล้วก็รู้สึกศรัทธามาก การที่คนจะฉลาดในการลดกิเลสตัวเองก็ว่าประเสริฐแล้ว แต่การที่จะมีปัญญาในการพาคนพ้นทุกข์นั้นเหนือไปกว่านั้น

เก่งที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า แต่เกิดมาชาตินี้ก็ไม่เจอพระพุทธเจ้า แต่อย่างน้อยได้เกิดมาเจอครูบาอาจารย์ก็คุ้มค่าแล้ว เราก็ทำตามท่านไป ท่านทำให้เราดู เราก็ศึกษาตามที่ผู้ใหญ่พาทำ

ขาดแฟนชีวิตเจริญ ขาดมิตรดีชีวิตไม่เจริญ

October 1, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,752 views 3

ขาดแฟนชีวิตเจริญ

เป็นส่วนเกินไม่มีก็ได้

ขาดมิตรดีชีวีฉิบหาย

เจริญก็ไม่ได้ไม่พ้นโลกีย์

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดแฟน

 

แฟน คู่รัก คู่ครอง ฯลฯ แท้จริงแล้วเป็นความสัมพันธ์ที่ “ไม่มีความจำเป็นในชีวิต” ถึงไม่มีก็สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ตามปกติ และถ้ามีแล้วนอกจากจะสามารถขวางทางเจริญ ยังสามารถฉุดกันลงนรกได้อีกด้วย กว่าจะถึงวันแต่งงานบำเรอกิเลสกันไปเท่าไหร่ เลี้ยงกิเลสโตกันไปขนาดไหน แม้ว่ามันจะดูน่าใคร่น่าเสพในทางโลกีย์ แต่ในความเป็นจริงแล้วมันคือทุกข์ล้วนๆ

เหตุผลหนึ่งในการหาแฟนหรือคู่ครองที่คนมักจะซ่อนเอาไว้ก็คือ “การสมสู่” ซึ่งเป็นสิ่งเดียวที่เพื่อนที่ดีไม่สามารถทำให้กันได้ เพราะการระบายอารมณ์ การให้เป็นที่พึ่ง การปรึกษาปัญหาชีวิต การช่วยเหลือซึ่งกันและกัน การอยู่ร่วมกันจนแก่เฒ่า หรือแม้กระทั่งการง้องอน เพื่อนที่ดีก็สามารถทำหน้าที่ในเรื่องเหล่านี้ได้ครอบคลุมทั้งหมด

แต่การจะให้เหตุผลว่าหาคู่ครองเพื่อมาบำเรอความใคร่ เอามาบำบัดความอยากในกามอารมณ์ มันก็ดูจะตรงเกินไปสักหน่อย คนเราก็เลยโอนคุณสมบัติบางอย่างของเพื่อนเพื่อมาให้น้ำหนักทางฝั่งแฟน ลดความสัมพันธ์ของเพื่อนมาเพิ่มคุณค่าให้กับแฟน สร้างระยะว่านี่เพื่อน นี่แฟน เพื่อนได้แค่เท่านี้ แฟนต้องขนาดนี้ และเว้นอาณาเขตพิเศษไว้ให้แฟน จึงกลายเป็นเหตุผลอันชอบธรรมในการหาแฟนหรือคู่ครองในที่สุด(สามารถพิสูจน์ข้อคิดเห็นนี้ได้โดยถือศีลการเว้นการสมสู่ตลอดชีวิต แล้วจะเห็นพลังของกิเลสว่ามีจริง)

เหตุผลอีกข้อก็คือ หลงผิดว่ามนุษย์ต้องมีคู่ ต้องแต่งงาน ต้องสืบพันธุ์ การมีคู่เป็นคุณค่า เป็นธรรมชาติ เป็นสิ่งที่สมควรทำ เป็นสิ่งที่เป็นเป้าหมายในชีวิต ฯลฯและยังมีเหตุผลยิบย่อยอีกมากมายเช่น อยากมีไว้แก้เหงา, อยากมีคนเอาใจ, อยาก…ฯลฯ

– – – – – – – – – – – – – – –

ขาดมิตรดี

หากว่าชีวิตของเรานั้นไม่มีมิตรดี ไม่ได้คบหาหรือรู้จักคนที่ปฏิบัติดี จะไม่มีทางที่ชีวิตจะไปสู่ความเจริญได้เลย แม้จะเจริญไปได้ ก็หนีไม่พ้นวิถีโลก ไม่พ้นโลกีย์ วนเวียนอยู่ในโลกีย์ แม้จะมีธรรมะก็เป็นธรรมะในขั้นโลกีย์ เป็นคนดีแบบที่โลกเขาสมมุติเอา แม้จะได้รับการเชิดชูเป็นศาสดา ก็เป็นเพียงศาสดาโลกีย์ ทำความดีในวิสัยของโลกีย์ วนอยู่เพียงเท่านั้น

วิถีโลกีย์คือความวน ไปถึงจุดสูงสุดแล้วก็วนลงไปต่ำสุด ไม่มีทางที่จะหลุดพ้นความวนได้เพราะมีกิเลสเป็นเหตุ ไม่ว่าจะจนหรือรวย จะฉลาดหรือโง่ จะทำดีหรือทำชั่ว ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่มีวันที่จะปฏิบัติสู่การหลุดพ้นจากความเวียนวนนี้ไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชัดเจนว่า ก่อนจะเห็นมรรคได้นั้น ต้องมีมิตรดีเป็นอันดับแรก ถ้าเปรียบมรรคดังดวงตะวัน มิตรดีก็เป็นดังแสงแรกที่จะเห็นเมื่อตะวันนั้นกำลังจะโผล่ขึ้นมา นั่นหมายถึงว่า ถ้าไม่มีมิตรดี ก็ไม่ต้องปฏิบัติมรรคเลย เพราะผิดแน่นอน ปฏิบัติไปก็ผิด เรียนไปก็ผิด ทำอะไรก็ผิด

ย้ำลงไปอีกในอวิชชาสูตร ท่านได้กล่าวว่าคนจะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ทั้งปวงได้ต้องเริ่มต้นจากการคบหาสัตบุรุษหรือมิตรดีที่พาเจริญ มิตรดีในที่นี้คือผู้ที่รู้ธรรม รู้ทางปฏิบัติสู่การพ้นทุกข์ แล้วเรียนรู้จากสัตบุรุษเท่านั้นจึงจะพ้นทุกข์ เพราะความรู้ของศาสนาพุทธนั้นคิดเอาเอง อ่านเอาเอง ปฏิบัติเอาเองไม่ได้ ถึงจะ คิด อ่าน หรือขยันปฏิบัติแค่ไหน แต่ถ้าไม่มีภูมิเก่าก็จะมีแต่หลงเท่านั้น บางครั้งหลงไปด้วยว่าตนมีภูมิ หลงซ้ำซ้อนกันไปอีกหลายชั้น หลงถึงขั้นสำคัญตนว่าเป็นพระอรหันต์ก็มี

สรุปคือ ถ้าชีวิตไม่เจอมิตรดี ไปเจอมิตรลวง หรือเจอกับมิตรหลง นอกจากจะไม่มีวันพ้นทุกข์แล้ว ยังเพิ่มความหลงในโลกีย์ซ้อนเข้าไปอีก สร้างทุกข์หนักเข้าไปอีก ในทางกลับกันถ้าเจอมิตรดี หมั่นเข้าหา สนทนา ศึกษาและปฏิบัติตาม ก็จะสามารถหลุดพ้นจากทุกข์ได้โดยลำดับ

ข้อสังเกตในเบื้องต้นว่าคนไหนมิตรดี คนไหนที่ควรคบ ก็ให้ดูที่ศีล พระพุทธเจ้าตรัสศีลเป็นพื้นฐานของการปฏิบัติ ดังนั้นผู้ที่ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ย่อมจะไม่ทิ้งศีล อาศัยศีลเป็นเครื่องนำความเจริญ ไม่ถือศีลอย่างยึดมั่นถือมั่น แต่ก็จะไม่ถือศีลอย่างลูบๆคลำๆ เหยาะแหยะ ทำทีเล่นทีจริง โดยจะสามารถเข้าถึงศีลได้ตามบารมี ๕ ๘ ๑๐ จนถึง จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติของพุทธ

– – – – – – – – – – – – – – –

1.10.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

เมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ

September 6, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 3,125 views 1

เมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ

เมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ

ทุกสิ่งในโลกล้วนไม่เที่ยง ความรักก็เช่นกัน มันอยู่บนพื้นฐานการเกิดและดับ แม้มันจะตั้งอยู่ คงอยู่ มีให้เห็นอยู่ในช่วงเวลาหนึ่ง แต่สุดท้ายมันก็จะต้องดับไป เป็นการสิ้นอายุของความรักนั้นเอง

เรามักจะไม่รู้ตัวเมื่อความรักในความหลงได้บังเกิดขึ้นในใจ ปล่อยให้มันตั้งอยู่ คงอยู่ ให้มันดำเนินต่อไป และพัฒนาขึ้นไปโดยไม่คิดว่ามันจะต้องดับไปในวันใดวันหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นความประมาทอย่างยิ่ง

ในบทความนี้จะมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อให้ได้เสพความรัก เป็นมุมของผู้ที่เห็นว่าความรักนั้นเที่ยง หรือมุมของของผู้ที่เห็นว่าการครองคู่นั้นสามารถพัฒนาไปสู่ความเจริญได้ สามารถปล่อยวางได้ พาให้พ้นทุกข์ได้

1).ถ้าเรารักกันมากพอ

หลายคนคิดว่าหากเราดูแลความรักของเราดี หากเรารักกันมากพอ ความรักนั้นจะคงอยู่ตลอดไป จะมันไม่วันดับ ไม่มีวันจืดจาง จึงเฝ้าทำดีเติมเชื้อแห่งรักเข้าไปเพื่อให้กองไฟแห่งความรักนั้นลุกโชนอยู่ตลอดเวลา เขาไม่รู้เลยว่าความรักใดที่ต้องอาศัยอาหาร ความรักเหล่านั้นไม่เที่ยง เมื่ออาหารหมด รักนั้นก็จะหมดตามไปด้วย

ไม่มีใครรู้ว่าวันไหนคือวันที่รักจะหมดอายุ กรรมจะเป็นผู้ลิขิตเหตุการณ์นั้นเอง ผู้ที่คิดว่ารักนั้นเที่ยง หรือคิดว่าตนเองสามารถดูแลรักให้ดีไปตลอดได้ นั้นคือผู้ที่มีความยึด เป็นผู้ที่พยายามฝืนชะตากรรม ทั้งที่จริงตามสภาพแล้วจะต้องถูกชะตาฟ้าลิขิตให้เลิกรากันในวันใดวันหนึ่ง แต่ด้วยความยึดดี ติดดี เขาจึงเฝ้าพยายามดูแลความรักให้มากกว่าเดิม ทำดีให้มากกว่าเดิม เพื่อให้ความรักนั้นคงอยู่เหมือนเดิม ซึ่งท้ายที่สุดความรักก็ต้องจบลงอยู่ดี ไม่ว่าจะจากเป็นหรือจากตาย การพลัดพรากจากของรักทั้งหลายย่อมทำให้ผู้ที่ยึดติดในความรักนั้นทุกข์ทรมานอยู่ดี

2).รักแต่ไม่ยึด

แม้กระทั่งผู้ที่มีความเห็นว่า ”ฉันจะรัก แต่ฉันจะไม่ยึด” เหมือนกับคนที่จะเสพความรักไปจนถึงจุดสูงสุด แล้วเมื่อเห็นว่ามีทิศทางลงสู่ความเสื่อมก็พร้อมจะสละเรือ ปล่อยสถานการณ์ต่างๆให้เป็นไปตามจริง ส่วนจิตนั้นก็ปล่อยวาง ความเห็นเหล่านี้เป็นเพียงอุดมคติ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ

เพราะในความเป็นจริงแล้ว ผู้ใดที่เข้าไปยึด ผู้นั้นไม่มีทางหนีทุกข์พ้น เพราะในสถานการณ์จริงเราไม่มีวันรู้ได้เลยว่ารักนั้นจะจบลงเมื่อไหร่ และด้วยความหลงติด หลงยึด หลงสุข หลงเสพ เขาก็จะพยายามดูแลบำเรอรักให้ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่ารักนั้นกำลังจบ พอคิดว่าเหตุการณ์มีทีท่าไม่ดี ก็เร่งทำกุศล เร่งทำดีเพื่อให้กรรมดีมาเกื้อหนุนความรัก ซึ่งจะเกิดความยึดไปเรื่อยๆ ไม่ยอมปล่อย ไม่ยอมวาง เพราะถ้าวางได้จริงๆ ก็ควรจะวางตั้งแต่แรก ปล่อยวางจิตที่จะเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ก่อนที่ความสัมพันธ์จะเกินเลยคำว่าเพื่อนไป

การปล่อยวางความรัก คือการปล่อยโดยไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่น ไม่ใช่เข้าไปยึดแล้วจึงพยายามปล่อยทีหลัง การปล่อยวางความรักตั้งแต่แรกนั้นเป็นหลักประกันว่าจะไม่ทุกข์ แต่การเข้าไปรักแล้วหวังว่าตนเองนั้นจะสามารถปล่อยวางได้ หรือรักอย่างไม่ทุกข์ได้ ไม่มีหลักประกันอะไรเลยที่จะบอกว่าสุดท้ายแล้วจะไม่ทุกข์ เพราะเมื่อเข้าไปยึดใครเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตแล้ว ก็ยากนักที่จะหลดพ้นจากอำนาจของความหลงติดหลงยึด ยากนักที่จะปล่อยวางได้อย่างเป็นสุข

3).ครองรักสร้างกุศล

พลังความดีที่เพียรพยายามสร้างขึ้นในขณะที่ครองรักกันนั้น ยากที่จะสู้พลังของความชั่วและพลังกิเลสที่สะสมไปในระหว่างที่ครองคู่กันได้ เพราะในการจะครองรักจับคู่กันนั้นโดยมากมีกิเลสเป็นพื้นฐานอยู่แล้ว เมื่อครองรักกันก็ต้องบำรุงบำเรอกิเลส พากันเสพสิ่งที่มอมเมา สมสู่กัน ทำร้ายกันด้วยคำหวานบ้าง คำสัญญาที่หลอกลวงบ้าง ทำร้ายกันด้วยคำพูดไม่ดี ตัดพ้อ ประชด ฯลฯ จนถึงขั้นลงไม้ลงมือทำร้ายกันบ้าง ทุกวินาทีของการครองรักเรียกได้ว่ามีแต่จะสะสมอกุศลกรรม

แล้วทีนี้จะเอาดีที่ไหนมาสู้ได้ ต้องทำดีแค่ไหนถึงจะพอ ถึงจะทำทานตักบาตรทุกวัน ถึงจะฟังธรรมทุกวัน หมั่นเข้าวัดกันเป็นประจำ ก็ใช่ว่าจะเอามาชดเชยหรือหักล้างกับอกุศลกรรมที่ทำสะสมไว้ได้ ชั่วก็ส่วนชั่ว ดีก็ส่วนดี สุดท้ายแม้จะทำดีได้มากขนาดไหน ก็จะมีดีก้อนหนึ่ง ชั่วก้อนหนึ่ง ทั้งชั่วและดีสุดท้ายก็จะต้องส่งผล ให้ได้รับทั้งทุกข์และสุข แตกต่างจากคนโสดที่ไม่ต้องมีส่วนชั่ว คือทำดีอย่างเดียว ผลชั่วไม่ต้องรับ เพราะไม่ได้ทำ

4).รักกันไปจนแก่

หลายคนอาจจะสงสัยว่าในเมื่อรักนั้นมีวันหมดอายุ แล้วคนที่รักกันไปจนแก่ล่ะ คนที่ตายพร้อมกันก็ยังมี ก็ต้องตอบว่าอันนี้เขาเป็นพวกรักอายุยืน บางทีรักกันไปถึงภพหน้าชาติหน้า หรืออีกหลายๆชาติต่อไปเลย หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องโรแมนติก เป็นรักในอุดมคติ เป็นที่สุดของโลก

รักมันก็ไปหมดอายุเอาตอนแก่ ตอนจะตายจากกันนั่นแหละ แม้ใครจะเป็นฝ่ายไปก็จะต้องทุกข์ทั้งสองฝ่าย ฝ่ายที่อยู่ก็เศร้าหมอง ฝ่ายที่จะไปก็ผูกพันไม่อยากจาก จิตก็วนเวียนผูกอยู่ด้วยกันนั่นเอง ถ้ารักกันจนแก่นี่เรียกได้ว่ามีอุปาทานฝังลึกแล้ว ยากนักที่จะล้างได้ง่าย เดี๋ยวเกิดชาติใหม่ก็มาเจอกันอีก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสุขเหมือนเดิม เพราะถ้าเสพสุขจากกุศลกรรมไปหมดแล้ว ก็ต้องเวียนกลับไปรับทุกข์จากอกุศลกรรมแทน ดังนั้นพวกที่รักกันนานก็เกิดจากการที่เกลียดกันนานนั่นแหละ มันสลับขั้วกลับไปกลับมา ทำดีก็รักกัน หมดดีที่ทำก็เกลียดกัน ต่อมาก็ทำชั่วใส่กันจนทุกข์เกินทน แล้วก็กลับมาทำดีสุดท้ายก็กลับมารักกันอีก วนไปวนมาแบบนี้

หากเรามองในมุมของโลก คิดบนวิถีแห่งโลกีย์ ความรักเช่นนั้นก็ย่อมเป็นสิ่งที่น่าใคร่ น่าปรารถนาของใครหลายๆคน แต่ในมุมมองของผู้ที่แสวงหาทางพ้นทุกข์นั้น การรักกันจนกว่าจะแก่ตายไปข้างหนึ่งนั้นคือสภาพที่น่าขยาดเป็นอย่างยิ่ง ไม่มีใครยินดีที่จะไปทำเช่นนั้น เพราะการไปผูกกับคนใดคนหนึ่ง ต้องไปดูแลเขา หรือต้องให้เขามาดูแลนั้น คือการไม่มีอิสระ มีความเป็นทาสต่อกัน ขัดขวางกันและกัน แทนที่จะได้เอาเวลาไปทุ่มเทศึกษาหนทางสู่การพ้นทุกข์ กลับต้องมาคอยดูแลสิ่งที่ไม่พาให้พ้นทุกข์

ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะคนที่มีความเห็นความเข้าใจไปในทางโลกก็จะมองอย่างหนึ่ง คนที่ไปทางธรรมก็จะมองอีกอย่างหนึ่ง เราไม่สามารถทำให้ใครมองเห็นว่าการครองรักกันจนแก่นั้นเป็นทุกข์ได้ จนกว่าเขาจะเห็นทุกข์นั้นด้วยตนเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

6.9.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)