Tag: พระโพธิสัตว์

บอกเล่า : ชุดบทความคนพาล (จบ)

February 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 713 views 0

ก็คิดว่าบทความเกี่ยวกับเรื่องคนพาลตามที่ได้คิดไว้ก็น่าจะจบลงที่เสวิสูตร ซึ่งเป็นพระสูตรที่มีการอนุโลมในการช่วยคนอยู่ ก็เรียกว่าเหมาะจะเป็นตัวจบ

เพราะตามโลกมันก็ต้องหลงไปคบคนพาลก่อน > แล้วก็ต้องพัฒนา ออกห่าง ไม่คบคนพาล > ล้างความชิงชังในคนพาล > แล้วก็ล้างความยึดมั่นถือมั่น ไปช่วยเหลือคนเหล่านั้นอีกทีนั่นแหละ ที่เหลือก็จะเรียนรู้จากความพลาดไป ปรับถอยเข้าถอยออกไป หาจุดที่เป็นกุศลอาศัย

มันจะวนแบบงง ๆ ก็อาจจะมีคนสงสัย ว่าแล้วหลุดพ้นแล้วทำไมยังกลับมาอีก บางทีมันก็อธิบายยาก แต่ก็ยังดีที่มีคำว่า “พระโพธิสัตว์” คือผู้ที่ปัญญาพ้นจากความหลงแล้วกลับมาช่วยคนหลงนั่นเอง

แต่ที่พิมพ์กันหนัก ๆ เพราะว่าส่วนใหญ่ในสังคมเขาก็จะหลงไปคบคนพาลนั่นแหละ บางทีตั้งใจไปปฏิบัติธรรม ไปทำดี ยังพลาดไปคบคนพาล ไปเชื่อใจคนพาลได้เลย

แล้วโทษภัยนี่เขามีมาก อย่าไปเผินว่ามีโทษน้อย เป็นทุกข์น้อย เพราะจริง ๆ เป็นภัยมาก อันตรายเหมือนงู เหม็นเหมือนบ่อขี้ ยังไงก็อย่างนั้น

พระพุทธเจ้ายังตรัสว่าการไม่คบคนพาล เป็นมงคลในชีวิต “เทวดา และมนุษย์ทั้งหลาย ทำมงคลเช่นนี้แล้ว เป็นผู้ไม่ปราชัยในข้าศึกทุกหมู่เหล่า ย่อมถึงความสวัสดีในที่ทุกสถาน นี้เป็นอุดมมงคลของเทวดาและมนุษย์เหล่านั้น ฯ

แต่ยุคนี้ยากมาก พลังความดีน้อย คนทำดีน้อย มงคลสูตรนี้มี 38 ประการ 3 ข้อแรกเปรียบเสมือนประตู แต่มาเจอข้อแรกก็ยากแล้ว เหมือนสะดุดขอบทางเดินก่อนเข้าประตูยังไงอย่างงั้น

เหมือนสัมมาทิฏฐิ ถ้าความเห็นผิด ที่เหลือจะผิดทั้งหมดเลย ปัญหาคือเขาก็แปะป้ายว่าสัมมาฯ กันหมดทั้งบ้านทั้งเมืองนั่นแหละ ไม่มีสำนักไหนที่จะแปะป้ายว่าตนเป็นสำนักมิจฉาทิฏฐิสักสำนัก

แล้วก็ปฏิบัติต่างกัน ความเห็นต่างกัน ไม่ไปทางเดียวกัน แต่ขึ้นป้ายสัมมาฯ เหมือนกัน คนเขาก็หลงกันไปตามภูมิล่ะทีนี้ ใครมีทุนเก่ามากก็เจอที่ถูก ใครทำบาปมามาก็เจอที่พาหลง คือไม่พ้นทุกข์ ไม่พ้นโลภ โกรธ หลง กลัว กังวล ระแวง หวั่นไหว ฯลฯ

ถ้าไม่คบคนพาลแล้วเข้าใกล้บัณฑิตไปปฏิบัติบูชานะจะเจริญได้ไวเชียวล่ะ เพราะถ้าทิศทางถูกก็เหลือแต่ความเร่ง ก็เร่งให้เต็มที่ ปฏิบัติธรรมให้เต็มกำลัง ! อ่านแล้วดูดี

ให้นึกภาพรถแข่งที่กำลังเร่งเครื่อง รอสัญญาณปล่อย พอได้สัญญาณแล้วทุกคันก็พุ่งกันไปเต็มที่เลย พุ่งทะยานสุดแรงเกิด แต่ภาพก็คือไปคนละทิศละทาง

8 ทิศก็ว่ายังน้อยไป เรียกว่าไปกันแทบทุกองศาเลยก็ว่าได้ นั่นแหละคือผลของการคบคนพาลในปัจจุบัน ซึ่งจริง ๆ ทางพ้นทุกข์ก็มีทางเดียวนั่นแหละ มรรค 8 ก็มีปฏิบัติแบบเดียว แต่คนเขาก็เข้าใจว่าเขาไป มรรค 8 มีรถ 360 คัน ไป 360 องศา ก็ไปมรรค 8 ทุกคัน

ก็เร่งปฏิบัติกันไป สุดท้ายเดี๋ยวไม่พ้นทุกข์ ก็ต้องเลิกอยู่ดีนั่นแหละ สุดท้ายแล้วเขาก็จะซึ้งใจ ว่าคบคนพาลนั้นพาฉิบหายแบบนี้นี่เอง

การช่วยเหลือคนพาล

February 24, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 684 views 0

วิธีช่วยคนพาลนั้น จะทำแบบการช่วยคนปกติทั่วไป ยื่นมือไปช่วย สนับสนุน แนะนำสิ่งดี ก็คงจะไม่สามารถสำเร็จผลไปได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นมงคลคือการห่างไกลคนพาล แล้วการเข้าไปใกล้ จะเกิดความสำเร็จ เกิดความเป็นมงคลได้อย่างไร?

จะสรุปการช่วยเหลือคนพาลตามความเข้าใจ ให้พอเห็นภาพ 3 ขั้นตอน

1.ห่างไกลคนพาล
มาแรก ๆ อินทรีย์พละยังอ่อน ก็ต้องห่างไกลคนพาลก่อน ขืนไปใกล้ ไปคบหา เราธาตุอ่อน ความพาลของเขาก็ซึมเข้าใจเรา หลงพาลไปตามเขา ทำชั่วไปตามเขา ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าปัญญาเราไม่มาก กำลังจิตเราไม่แข็ง ห่างไว้เป็นดี จะช่วยคนพาลได้ เพราะเราจะไม่ไปเติมพลังให้เขา คนพาลจะเพิ่มพลังความพาลได้จากการที่คนไปส่งเสริมเขานั่นแหละ ดังนั้นถ้าเราไม่ไปใกล้ ไม่ไปส่งเสริมเขา ความพาลของเขาก็จะไม่โต เขาก็จะไม่ทำชั่วมาก

2.ทำตนให้เป็นบัณฑิต
หลังจากห่างมาได้ เราก็ต้องปฏิบัติตนให้เจริญ คบบัณฑิตจนทำตนเองให้เป็นบัณฑิต เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่ว เป็นพลังในการเหนี่ยวนำสู่ธาตุที่ดี จะเป็นพลังที่จะช่วยลดพลังของคนพาลและมีผลเหนี่ยวนำให้คนพาลกลับใจได้เร็ว แม้กลับใจไม่ได้ถ้าคนพาลมาทำร้าย ก็จะเกิดวิบากร้ายนั้นเร็วและแรง เมื่อคนพาลทุกข์หนักก็มีโอกาสที่จะสำนึกได้ไว ต้องเป็นบัณฑิตขนาดไหน? ก็ขนาดที่ว่ารู้จักคนพาล ไม่โกรธคนพาล ให้อภัยคนพาลได้นั่นแหละ อันนี้เป็นเป้าหมาย แต่จะทำได้ดีแค่ไหนก็มีพลังเท่านั้น

3.ติในสิ่งที่ควรติ
หลังจากกิจตนจบไปแล้ว ล้างใจตนเองได้แล้ว งานที่เหลือคือกิจท่านเท่านั้น เป็นงานหลักของระดับพระโพธิสัตว์ หรือคนที่ปฏิบัติพ้นจากความพาลในเรื่องนั้น ๆ ที่จะย้อนกลับมาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้ให้เห็นความผิดและความถูกต้อง

การตินี้เอง จะทำให้เห็นคนพาลเป็นคนพาล ให้คนพาลเห็นความพาล การติจะช่วยคนได้มาก เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่านี่คือคนพาล นี่คือความพาล เขาก็หลงไปได้ ถ้ามีคนมาติ มาชี้ชัดว่าอย่างนี้คนพาล อย่างนี้ความพาล คนก็จะได้เรียนรู้และออกห่างจากโทษภัยเหล่านั้น

ซึ่งการตินี้เอง จำเป็นต้องมีการกระทบ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนกระแทกกลับมาด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นว่าผู้ตินี้ควรทำตนให้พ้นภัยเสียก่อน จึงค่อยติผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเจอคนพาลสวนมา แล้วตนยังไม่พ้นวิสัยคนพาล ก็จะกลายเป็นโกรธเขา เกลียดเขาไปได้ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรเขาแล้ว ยังจะกลายมาเป็นพากันลงนรกไปเสียด้วย

พระพุทธเจ้าท่านก็ทำงานนี้ให้เห็น ท่านก็ชี้ให้ชัด อันไหนบัณฑิต อันไหนคนพาล อย่างครูบาอาจารย์หลายท่านก็ทำงานติเช่นนี้อยู่เหมือนกัน คือท่านติเพื่อเจริญ เป็นความเสียสละ เป็นการเอาภาระ

แม้ในการตินี้เอง ก็มีมารมาปนเป็นส่วนใหญ่ คือติเอามานะ ติเอาราคะ ให้ได้เสพสมใจ ดังที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างเปรียบโมฆะบุรุษเรียนธรรม คือเรียนเพื่อให้ได้ไปข่มผู้อื่นหรือไม่ก็เอาไว้กันเขานินทา คนพวกนี้ก็จะเอาธรรมะนี่แหละไปติคนอื่นเพื่อเสพสมอัตตา ไม่ใช่เพื่อเมตตา ไม่ใช่เพื่อความเจริญ แต่เพื่อสนองตัวตนของเขา

ก็ต้องดูกันไป ติผิดมันจะผิดกาลเทศะของมันเอง มันจะมีองค์ประกอบของความไม่ควรของมันเอง คนพาลส่วนใหญ่ติผิดทั้งนั้นแหละ จะมีถูกก็ถูกบางส่วน เช่นถูกภาษา แต่อาจจะไม่ถูกเรื่องถูกประเด็น เพราะมันจะมีวิบากจากความหลงในตัวเอง ทำให้เวลาเห็น เข้าใจ วิเคราะห์ สรุปผล จะบิดเบี้ยวไปตามตัณหาของเขา

สรุปคือถ้าพวกคนพาลหรือโมฆะบุรุษมาติเนี่ย มันจะเบี้ยวออกจากเป้าอย่างชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ลึกซึ้ง ไม่ละเอียด ฯลฯ

แต่ถ้าบัณฑิตตินี่แหละ มันจะตรง ตรงประเด็น ตรงอัตตา คือฟังแล้วเจ็บและจุกในใจ จะมีทั้งการชี้โทษภัยและทางแก้มาให้เสมอ

ส่วนคนพาล …เขาก็ติเอามันไปเรื่อยนั่นแหละ ขอแค่ข้าได้ติ ขอให้ได้ข่ม อย่าไปถือสาเขาเลย

ผู้ใหญ่พาทำ

January 29, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 534 views 0

จากประสบการณ์ที่ได้ตามศึกษาจากครูบาอาจารย์มา จะพบได้ว่า ท่านเหล่านั้นได้สร้างองค์ประกอบที่จะ “เอื้อ” ให้ผู้คนได้เข้ามาร่วมบำเพ็ญกันได้อย่างงดงามและแนบเนียนสุด ๆ

กิจกรรม การงานใด ๆ ที่สร้างขึ้นมานั้น แน่ละ ดูเผิน ๆ ก็เป็นกุศล แต่เนื้อในคือการสร้างองค์ประกอบที่จะให้เกิด “บุญ” ซึ่งเป็นสิ่งที่แตกต่างระหว่างการปฏิบัติธรรมหรือทำดีในแบบทั่ว ๆ ไป คือใช้องค์ประกอบของกิจกรรมในการชำระกิเลส

ถ้าแบบโลกีย์ทั่วไป เขาก็ไปรวมกันทำดี ทำกุศล สะสมความดี หวังผลดี หวังสวรรค์วิมาน หวังโชคดีต่าง ๆ ในชีวิต คือไปทำดีแล้วยังมีหวัง ยังมีฝัน ยังเป็นลาภแลกลาภ ยังเป็นมิจฉาอาชีวะ

แต่ถ้ามาแบบโลกุตระ จะดีแบบให้หมดหวังกันไปสักที ดีแบบให้เลิกหวัง ด้วยองค์ประกอบของคำสอนที่แตกต่างกัน ในนิยามของคำว่า “บุญ” ก็ตาม ที่หมายถึงการชำระกิเลส ดังนั้น กิจกรรมการงานต่าง ๆ จึงมีจุดมุ่งหมายต่างกันกับกลุ่มหรือลัทธิทั่วไป

เพราะท่านสอนให้เราสละ สละกันเป็นลำดับ เท่าที่ทำได้ เท่าที่ทำไหว องค์ประกอบมีอยู่ กิจกรรมการงานนั่นไง ท่านก็สร้างไว้ให้ เราก็เข้าไปร่วม ไปลด ไปเลิก ไปสละ ไปทำความดีแบบไม่ต้องหวัง ไม่ต้องยึดมั่นถือมั่น ไปทำบุญ ไม่ใช่ไปเอาบุญ ไปชำระกิเลส ไม่ใช่ไปเอากิเลสเพิ่ม

ไม่ใช่การทำดีเพื่อการหวังใหญ่หวังโต อำนาจ บารมี ลาภ ยศใด ๆ ล้วนเป็นสิ่งที่ท่านสอนให้สละออก อย่าไปหวง อย่าไปหวัง

ผมเห็นแล้วก็ศรัทธา เพราะที่อื่นไม่มีแบบนี้ ที่อื่นเขาไม่เป็นแบบนี้ เขาสอนต่างกัน ทิศทางไปต่างกัน เราไม่ไปสวรรค์ เราไม่เมากุศล เรามุ่งเอากิเลสของเราออก เป็นอันดับแรก ปฏิบัติตามแบบนี้แล้วรู้สึกว่าตนเองเจริญมากขึ้น ผ่อนคลาย เบาสบายมากขึ้น

หลายปีที่ผ่านมาเรียกว่ายกเรื่องปวดหัวออกได้หลายเรื่องมาก ๆ แสดงว่าวิธีของท่านมีผล ทำตามแล้วมีผล

สัมมาทิฏฐิ อย่างหนึ่งที่เป็นจริงคือ “พิธีที่ทำแล้วมีผล” คือทำตามแล้วกิเลสมันลดล้างจางคลายได้จริง อาจารย์เคยบอกว่าพระโพธิสัตว์จะสร้างองค์ประกอบให้ผู้คนได้ฝึกลดกิเลสได้เก่งตามบารมี ผมฟังแล้วก็รู้สึกศรัทธามาก การที่คนจะฉลาดในการลดกิเลสตัวเองก็ว่าประเสริฐแล้ว แต่การที่จะมีปัญญาในการพาคนพ้นทุกข์นั้นเหนือไปกว่านั้น

เก่งที่สุดก็คือพระพุทธเจ้า แต่เกิดมาชาตินี้ก็ไม่เจอพระพุทธเจ้า แต่อย่างน้อยได้เกิดมาเจอครูบาอาจารย์ก็คุ้มค่าแล้ว เราก็ทำตามท่านไป ท่านทำให้เราดู เราก็ศึกษาตามที่ผู้ใหญ่พาทำ

รอยทางของพระโพธิสัตว์

June 12, 2017 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 2,352 views 0

รอยทางของพระโพธิสัตว์

รอยทางของพระโพธิสัตว์

พระโพธิสัตว์คือผู้ที่มาบำเพ็ญ ช่วยเหลือผู้คนให้ข้ามพ้นทะเลแห่งทุกข์ที่ท่วมท้นด้วยกิเลสตัณหา โดยนำพาเหล่าคนผู้หลงผิดเหล่านั้นผ่านรอยทางที่ท่านได้กรุยทางไว้ด้วยความยากลำบาก

พระโพธิสัตว์องค์ที่ใหญ่ที่สุดและมีบารมีมากที่สุดที่หลายคนรู้จักกันคือ พระพุทธเจ้า ท่านก็มาทำหน้าที่ถากถางทางที่รกและวกวนให้เป็นทางเดินสู่การพ้นทุกข์ที่ชัดเจน เรียกว่าสัมมาอริยมรรค

ผ่านไปสองพันกว่าปี ทางที่ท่านเคยถากทาง มีหญ้า มีต้นไม้ มีป่าขึ้นรกทับถมเส้นทาง ทางแห่งความผาสุกนั้นมีอยู่ แต่น้อยคนจะรู้ชัดว่าทางไหนเป็นทางที่แท้จริง เขาเหล่านั้นก็เดินตามทางที่ตนเข้าใจว่าถูกและก็หลงป่ากันไปตามวิบากกรรมของแต่ละคน

ในปัจจุบันนี้มีบุคคลที่ผู้คนส่วนหนึ่งยอมรับและเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นพระโพธิสัตว์ที่มาบำเพ็ญในยุคนี้ ซึ่งท่านเหล่านั้นก็ได้บำเพ็ญถากถางทางที่รกและเต็มไปด้วยอุปสรรคตามกำลังและบารมีของท่าน แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนในโลกจะเห็นพ้องต้องกันว่าทางนั้นเป็นทางที่ถูก ในปัจจุบันมีการสอนธรรมะที่แตกต่างกันมากมายจนเรียกว่า ณ จุดที่ยืนอยู่คุณสามารถเดินได้ทุกทิศทุกทางที่มีผู้คนอ้างว่าเป็นทางที่ถูก ซึ่งในความจริงแล้วมันมีแค่ทางเดียว ทิศเดียว แนวปฏิบัติเดียวเท่านั้น

ซึ่งไม่ว่าจะปฏิบัติตามหรือไม่ปฏิบัติตามทางที่ถูก ทางเหล่านั้นก็จะถูกลบเลือนด้วยกาลเวลา พระโพธิสัตว์ท่านก็จะบำเพ็ญของท่านไปเรื่อย ๆ นำพาคนที่ดำเนินรอยตามไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็จะห่างไกลจากคนที่ยังไม่เริ่มเดินตามหรือคนที่หลงทางไปเรื่อย ๆ เช่นกัน และกาลเวลาที่ผ่านไปก็จะสร้างหญ้ารก ต้นไม้ทึบ ป่าแน่นหนาขึ้นมาอีกครั้ง รอยทางของพระโพธิสัตว์ได้หายไปอีกครั้ง และหายไปจนกว่าจะมีองค์ใหม่เกิดขึ้นมาบำเพ็ญ ก็เส้นทางเดิมนั่นแหละ เส้นทางเดียวกับพระโพธิสัตว์องค์ก่อน เส้นทางเดียวกับพระโพธิสัตว์รุ่นปู่ รุ่นพ่อ รุ่นพี่ ฯลฯ

ทางที่ถูกถากถางด้วยความลำบากลำเค็ญ เพื่อที่จะนำพาคนที่แสวงหาทางพ้นทุกข์ได้เดินตามไป ทางนั้นมีอยู่ แต่ไม่ได้ถูกแสดงอยู่อย่างถาวร มันจะคงอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น คนที่พากเพียรปฏิบัติไปตามท่านเหล่านั้นทัน ก็จะพบกับความผาสุก คนที่ปฏิบัติตามไม่ทัน ไม่พากเพียร ไม่เดินตาม สุดท้ายก็จะพลัดกลุ่ม หลงป่าในที่สุด ถ้าไม่หลงผิดเดินไปผิดทางก็บำเพ็ญเพียรตามภูมิปัญญาของตัวเองเพื่อรอพระโพธิสัตว์องค์ใหม่ ที่จะเกิดมาแล้วเดินตามท่านอีกที

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ เป็นผู้ที่ทำให้ผู้คนเห็นภาพของพระโพธิสัตว์ได้ชัดเจน ซึ่งท่านได้ใช้เวลาทั้งชีวิตของท่านสร้างเส้นทางให้เราเดินตาม และแน่นอนว่าเส้นทางนั้นไม่ได้คงอยู่ตลอดไป ในขณะที่โลกจะหมุนไปสู่กลียุค ยุคที่มีความโลภ โกรธ หลงอย่างรุนแรง ความพอเพียงนั้นคือสิ่งที่ขัดต่อกิเลส ดังนั้นโลกจะไม่เจริญไปสู่ความพอเพียง แต่จะตกลงไปสู่ความเสื่อม นั่นหมายถึงทางแห่งความพอเพียงที่พ่อหลวงได้สร้างไว้ ในวันใดวันหนึ่งก็จะถูกกิเลสตัณหาฝังกลบ ทางแห่งความพอเพียงนั้นมีอยู่ แต่คนที่มองเห็นทางนั้นอาจจะไม่มีแล้ว กิเลสตัณหานั้นเหมือนหญ้า ต้นไม้ และป่าที่ปิดทับเส้นทาง

ในวันนี้ผู้คนต่างตั้งใจที่จะติดตามท่านไปไม่ว่าจะชาติไหน ๆ แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะติดตามท่านไปได้ จะมีเฉพาะผู้ที่เดินตามท่านทันเท่านั้น หมายถึงผู้ที่ปฏิบัติจนถึงความพอเพียงได้อย่างที่ท่านสอนจริง ลดโลภ โกรธ หลงได้จริง แม้วันนี้จะผ่านมาไม่นานจากวันที่ท่านได้จากเราไป แต่ความผิดเพี้ยนก็มีให้พบเห็นมากขึ้นเป็นระยะ เช่นบอกว่าปฏิบัติตามท่าน พอเพียงตามท่าน แต่ยังเอามาก โลภมาก สะสมมาก นี่คือลักษณะของผู้ติดตามที่หลงทาง คือติดตามท่านไม่ทันเลยหลงป่าที่เต็มไปด้วยกิเลส แต่ยังเข้าใจว่าตามทันอยู่

โลกนี้ก็เหมือนป่าที่เต็มไปด้วยกิเลส ทางที่จะหลุดพ้นมีทางเดียวเท่านั้น พระโพธิสัตว์ท่านมาถากถางทางให้เห็น แล้วท่านก็จากไป ป่านั้นกว้างใหญ่ ใครเล่าจะรู้ว่าพระโพธิสัตว์เกิดที่ไหนบ้าง รอยทางไหนบ้างที่เป็นทางที่แท้จริง ในยุคนี้ยังมีทางที่ชัดเจนเหลืออยู่ ยังมีหลักฐานที่ตรวจสอบแล้วตรงกับที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ยังพากเพียรปฏิบัติได้ทันอยู่ แต่วันใดวันหนึ่งพระโพธิสัตว์ทั้งหลายได้จากไปแล้ว ทางที่ถูกต้องเหล่านั้นก็จะเลือนหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

12.6.2017

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์