Tag: โมฆะบุรุษ

พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 615 views 0

มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล

ตอบ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้

กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น

เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน

สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม

ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป

การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์

สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด

สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)

ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส

ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง

ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที

ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน

มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้

ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก

แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว

สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น

การช่วยเหลือคนพาล

February 24, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 684 views 0

วิธีช่วยคนพาลนั้น จะทำแบบการช่วยคนปกติทั่วไป ยื่นมือไปช่วย สนับสนุน แนะนำสิ่งดี ก็คงจะไม่สามารถสำเร็จผลไปได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นมงคลคือการห่างไกลคนพาล แล้วการเข้าไปใกล้ จะเกิดความสำเร็จ เกิดความเป็นมงคลได้อย่างไร?

จะสรุปการช่วยเหลือคนพาลตามความเข้าใจ ให้พอเห็นภาพ 3 ขั้นตอน

1.ห่างไกลคนพาล
มาแรก ๆ อินทรีย์พละยังอ่อน ก็ต้องห่างไกลคนพาลก่อน ขืนไปใกล้ ไปคบหา เราธาตุอ่อน ความพาลของเขาก็ซึมเข้าใจเรา หลงพาลไปตามเขา ทำชั่วไปตามเขา ดังนั้นถ้ารู้ตัวว่าปัญญาเราไม่มาก กำลังจิตเราไม่แข็ง ห่างไว้เป็นดี จะช่วยคนพาลได้ เพราะเราจะไม่ไปเติมพลังให้เขา คนพาลจะเพิ่มพลังความพาลได้จากการที่คนไปส่งเสริมเขานั่นแหละ ดังนั้นถ้าเราไม่ไปใกล้ ไม่ไปส่งเสริมเขา ความพาลของเขาก็จะไม่โต เขาก็จะไม่ทำชั่วมาก

2.ทำตนให้เป็นบัณฑิต
หลังจากห่างมาได้ เราก็ต้องปฏิบัติตนให้เจริญ คบบัณฑิตจนทำตนเองให้เป็นบัณฑิต เป็นตัวอย่างที่ดี ไม่ทำบาป ไม่ทำความชั่ว เป็นพลังในการเหนี่ยวนำสู่ธาตุที่ดี จะเป็นพลังที่จะช่วยลดพลังของคนพาลและมีผลเหนี่ยวนำให้คนพาลกลับใจได้เร็ว แม้กลับใจไม่ได้ถ้าคนพาลมาทำร้าย ก็จะเกิดวิบากร้ายนั้นเร็วและแรง เมื่อคนพาลทุกข์หนักก็มีโอกาสที่จะสำนึกได้ไว ต้องเป็นบัณฑิตขนาดไหน? ก็ขนาดที่ว่ารู้จักคนพาล ไม่โกรธคนพาล ให้อภัยคนพาลได้นั่นแหละ อันนี้เป็นเป้าหมาย แต่จะทำได้ดีแค่ไหนก็มีพลังเท่านั้น

3.ติในสิ่งที่ควรติ
หลังจากกิจตนจบไปแล้ว ล้างใจตนเองได้แล้ว งานที่เหลือคือกิจท่านเท่านั้น เป็นงานหลักของระดับพระโพธิสัตว์ หรือคนที่ปฏิบัติพ้นจากความพาลในเรื่องนั้น ๆ ที่จะย้อนกลับมาช่วยเหลือคนอื่นด้วยการชี้ให้เห็นความผิดและความถูกต้อง

การตินี้เอง จะทำให้เห็นคนพาลเป็นคนพาล ให้คนพาลเห็นความพาล การติจะช่วยคนได้มาก เพราะบางคนเขาไม่รู้ว่านี่คือคนพาล นี่คือความพาล เขาก็หลงไปได้ ถ้ามีคนมาติ มาชี้ชัดว่าอย่างนี้คนพาล อย่างนี้ความพาล คนก็จะได้เรียนรู้และออกห่างจากโทษภัยเหล่านั้น

ซึ่งการตินี้เอง จำเป็นต้องมีการกระทบ ซึ่งก็มีโอกาสที่จะโดนกระแทกกลับมาด้วย ดังนั้นจึงจำเป็นว่าผู้ตินี้ควรทำตนให้พ้นภัยเสียก่อน จึงค่อยติผู้อื่น ไม่อย่างนั้นเจอคนพาลสวนมา แล้วตนยังไม่พ้นวิสัยคนพาล ก็จะกลายเป็นโกรธเขา เกลียดเขาไปได้ นอกจากจะไม่ช่วยอะไรเขาแล้ว ยังจะกลายมาเป็นพากันลงนรกไปเสียด้วย

พระพุทธเจ้าท่านก็ทำงานนี้ให้เห็น ท่านก็ชี้ให้ชัด อันไหนบัณฑิต อันไหนคนพาล อย่างครูบาอาจารย์หลายท่านก็ทำงานติเช่นนี้อยู่เหมือนกัน คือท่านติเพื่อเจริญ เป็นความเสียสละ เป็นการเอาภาระ

แม้ในการตินี้เอง ก็มีมารมาปนเป็นส่วนใหญ่ คือติเอามานะ ติเอาราคะ ให้ได้เสพสมใจ ดังที่พระพุทธเจ้ายกตัวอย่างเปรียบโมฆะบุรุษเรียนธรรม คือเรียนเพื่อให้ได้ไปข่มผู้อื่นหรือไม่ก็เอาไว้กันเขานินทา คนพวกนี้ก็จะเอาธรรมะนี่แหละไปติคนอื่นเพื่อเสพสมอัตตา ไม่ใช่เพื่อเมตตา ไม่ใช่เพื่อความเจริญ แต่เพื่อสนองตัวตนของเขา

ก็ต้องดูกันไป ติผิดมันจะผิดกาลเทศะของมันเอง มันจะมีองค์ประกอบของความไม่ควรของมันเอง คนพาลส่วนใหญ่ติผิดทั้งนั้นแหละ จะมีถูกก็ถูกบางส่วน เช่นถูกภาษา แต่อาจจะไม่ถูกเรื่องถูกประเด็น เพราะมันจะมีวิบากจากความหลงในตัวเอง ทำให้เวลาเห็น เข้าใจ วิเคราะห์ สรุปผล จะบิดเบี้ยวไปตามตัณหาของเขา

สรุปคือถ้าพวกคนพาลหรือโมฆะบุรุษมาติเนี่ย มันจะเบี้ยวออกจากเป้าอย่างชัดเจน ไม่แม่นยำ ไม่ลึกซึ้ง ไม่ละเอียด ฯลฯ

แต่ถ้าบัณฑิตตินี่แหละ มันจะตรง ตรงประเด็น ตรงอัตตา คือฟังแล้วเจ็บและจุกในใจ จะมีทั้งการชี้โทษภัยและทางแก้มาให้เสมอ

ส่วนคนพาล …เขาก็ติเอามันไปเรื่อยนั่นแหละ ขอแค่ข้าได้ติ ขอให้ได้ข่ม อย่าไปถือสาเขาเลย

ทันทีที่หันหลังไปจากธรรม เราก็ห่างกันไกลแล้ว

February 17, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 473 views 0

เมื่อชีวิตเราหันมาปฏิบัติธรรม สังคมและกลุ่มเดิม ๆ ก็จะจางไปเป็นธรรมดา ก็อาจจะมีบ้างที่มาสนใจเหมือนกับเรา แต่ถ้าเขาไม่ได้มีศรัทธาในธรรมที่เสมอกัน ไม่นานเดี๋ยวเขาก็จะหลุดไป

ผมก็เคยมีเพื่อนที่มีสนใจธรรมในทางเดียวกันนะ แต่ไม่นานเขาก็ห่างไป ก็เคยนึก ๆ เสียดายว่าพื้นฐานก็ดี ปัญญาก็มี วันใดวันหนึ่งเขาก็คงกลับมาล่ะมั้ง

แต่ในความเป็นจริงมันยากกว่าที่ผมคิด เมื่อได้คิดทบทวนไปว่า เราตั้งใจปฏิบัตินะ ชีวิตเราดำเนินไปตามทางปฏิบัติที่ถูกต้องนะ แล้วเขาหันหลังเดินไปคนละทิศกับเรา มันก็ห่างไปเรื่อย ๆ ล่ะซิ

เหมือนเราพยายามจะเดินขึ้นเหนือ เขาเดินลงใต้ เดินก้าวละวินาที ผ่านไปหนึ่งวินาทีก็ห่างกันสองก้าวแล้ว เขาก็ไปทาง เราก็ไปอีกทาง มันไม่มีทางที่จะกลับมาเจอกันหรอก

ก็คงเหมือนที่ครูบาอาจารย์ท่านได้ขยายข้อธรรมในเรื่องอนันตริยกรรมไว้ว่า ถ้าเจอหมู่มิตรดีแล้ว รู้ว่าคนนั้นกลุ่มนั้นเป็นคนดีจริง แต่ไม่ทำตาม ไม่ปฏิบัติตาม ทำตรงข้าม ก็เข้าข่ายมีกรรมหนัก

ผมเคยสังเกตอยู่เหมือนกันว่า คนจะเข้ามาหาเราได้ มาศึกษาร่วมกับเราได้ เขาจะต้องมีศีล หรือพยายามปฏิบัติศีลที่ใกล้เคียงกับเรา หรือทำความดีอะไรอย่างหนึ่งมาก ๆ อย่างชัดเจนอยู่ มันก็จะพาวนมาเจอกันได้ แต่พอเขาเสื่อมจากศีล เสื่อมจากความดี เขาก็จะหลุดไปเอง

ดังนั้นการจะมาพบกันได้อีกนั้น เขาจึงต้องหยุดชั่วและทำดีมาก ๆ ซึ่งมันจะยากกว่าเจอกันตอนแรกแบบมหาศาล เพราะมันมีวิบากบาปที่เคยหันหลังไม่เอาสิ่งดีแบบเรามาแล้ว จริง ๆ มันก็คือจิตดูถูกนั่นแหละ คือรู้ว่าเราดีนะ แต่ไม่เอาหรอก ไปเอาอย่างอื่นดีกว่า

ถ้าเราไม่ดีจริง มันก็จะไม่มีโทษมาก แต่ถ้าเราดีจริง ปฏิบัติถูกตรงจริง ก็เรียกว่าทำความฉิบหายให้กับชีวิตเลยล่ะ อาจจะกลายเป็นเกิดมาตายเปล่าไปชาติหนึ่งก็ได้ (โมฆะบุรุษ)

อันนี้แค่คนหันหลังเดินไปจากเรานะ ไม่นับคนเพ่งโทษ ถือสา ดูถูก นินทา ฯลฯ พวกนี้ไม่ต้องห่วงนรกอยู่แล้ว นรกตั้งแต่วิบากจากกิเลสตัวเองเป็นชั้นแรก นรกชั้นที่สองก็ตามความจริงที่ได้ดูถูกไว้ ถ้าเรามีคุณค่าจริง แล้วเขาตีค่าว่าถูก เขาก็บาปมาก แต่ถ้าเราราคาถูกแล้วเขาตีค่าว่าแพง อันนี้เราขาดทุน (สรรเสริญโตเกิน) แต่ฝั่งยินดีกัน ศรัทธากันก็พอจะบอกจะปรับกันได้ แต่ฝั่งไม่ศรัทธานี่ลืมไปได้เลย ไม่ต้องเอาภาระ เพราะเขาไม่ศรัทธา บอกไปเขาก็หาว่าแก้ตัว ยังไง ๆ ถ้าเป็นคนพาล เขาก็ย่อมมีการเพ่งโทษเป็นประจำอยู่ดี อันนี้เราไปแก้เขาไม่ได้

ยังดีที่ชาตินี้ยังเหลือเพื่อนร่วมปฏิบัติธรรม ที่ยังพอพูดคุยกันเข้าใจอยู่ คือทันกัน เห็นตรงกัน ส่วนครูบาอาจารย์ก็ยกไว้ อันนั้นท่านทันอยู่แล้ว เพราะท่านไปไกลกว่าเรา ส่วนใหญ่ที่เจอมานี่นอกจากจะไม่ทันแล้วยังงงกันอีก ดีไม่ดีตีความผิดไปเพ่งโทษเราก็มี ถามวัวตอบควายก็มี มันก็ส่วนใหญ่ล่ะนะที่ความเห็นไม่ตรงกัน ความเร็ว(จิต)ไม่เท่ากัน จะหาเท่ากันและสูงกว่า มันก็คงจะเป็นส่วนน้อยนั่นแหละ

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,814 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)