Tag: พระอรหันต์

พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 612 views 0

มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล

ตอบ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้

กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น

เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน

สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม

ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป

การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์

สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด

สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)

ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส

ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง

ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที

ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน

มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้

ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก

แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว

สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น

แม่หวังให้เจ้า…

August 12, 2016 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,387 views 0

แม่หวังให้เจ้า…

เมื่อแม่ให้กำเนิดลูกขึ้นมาแล้ว แม่หวังอะไรในตัวลูก? ถ้าเป็นยุคปัจจุบันส่วนใหญ่ก็คงจะหวังให้ลูกมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข เจริญก้าวหน้ากันไปตามสมมุติโลก แต่ในบทความนี้เราจะยกความหวังของแม่ในสมัยพุทธกาลมาเล่ากัน

หญิงชาวพุทธผู้มีศรัทธาตั้งมั่น เธอวอนขอให้ลูกซึ่งเป็นที่รักของเธอ ว่าจะเป็นฆราวาสก็ดี จะออกบวชก็ดี ก็จงทำตนให้เป็นพระอรหันต์ เพราะหากแม้ว่าลูกจะเป็นพระเสขะ คือ พระโสดาบัน พระสกิทาคามี พระอนาคามี ถึงกระนั้นลูกก็ยังจะต้องเผชิญอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง ที่ทารุณ เผ็ดร้อน หยาบคาย ซึ่งเป็นภัยต่อการบรรลุความผาสุกที่แท้จริง(สรุปความจาก ปุตตสูตร พระไตรปิฎก เล่ม ๑๖ ข้อ ๕๗๐)

จะเห็นได้ว่า แม่สมัยพุทธกาลนั้นหวังให้ลูกเป็นพระอรหันต์อย่างเดียวเลย แต่ไม่ได้หวังให้ลูกเป็นอรหันต์เพื่อให้ลูกได้รับการเคารพ ได้รับชื่อเสียง ได้รับความสบาย ได้โลกีย์ทรัพย์อะไรทำนองนั้นเลย เพียงแต่หวังให้ลูกนั้นพ้นภัยอันตรายจากลาภสักการะและชื่อเสียง คือให้ลูกอยู่เป็นสุข ซึ่งการจะเข้าถึงความสุขที่สุดในโลกก็คือให้ลูกนั้นเพียรพยายามศึกษาจนเป็นพระอรหันต์นั่นเอง

ส่วนแม่ในสมัยปัจจุบันก็เป็นไปตามกำลังศรัทธาของแต่ละคน ศรัทธามากก็จะชัดเจนว่าไม่มีอะไรดีกว่าการส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์อีกแล้ว ถ้าศรัทธาน้อยก็จะโดนกระแสโลกีย์พาไป จนผลักดันลูกให้เป็นเจ้าคนนายคนบ้าง เป็นผู้มั่งคั่งบ้าง เป็นผู้มีชื่อเสียงบ้าง เป็นผู้มีอำนาจบ้าง ซึ่งก็เป็นไปตามความหลงติดหลงยึดของแม่แต่ละคน

โดยพื้นฐานนั้น สิ่งที่แม่พึงให้ลูกก็คือปัจจัยสี่ แต่จะให้ดี ให้เลิศ ให้ประเสริฐก็คือให้ลูกได้มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาที่มากยิ่งขึ้น ยิ่งนำพาให้ลูกได้สิ่งนั้นมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นผลดีมากเท่านั้น ให้เหตุเหล่านั้นเจริญไปถึง ศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญาในระดับอริยะเลยยิ่งดี และดีที่สุดคือส่งเสริมให้ลูกเป็นพระอรหันต์นั่นแหละ พอเป็นอรหันต์แล้วลูกจะทำอะไรต่อก็เรื่องของลูก แต่ลูกจะไม่เป็นทุกข์แน่นอน

แต่กระนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่พ่อแม่จะส่งเสริมให้ลูกมีความเจริญทางด้านจิตใจได้ ถ้าตัวเองยังไม่รู้จักความเจริญนั้นจริงก็ยังไม่สามารถแนะนำสิ่งที่ดีกว่าที่ตนรู้จักให้ลูกได้ การจะทำให้ลูกนั้นเจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น จึงต้องทำสิ่งนั้นให้มีในตนก่อน หรือถ้าไม่ไหวจริงๆ ก็พาลูกไปพบกับสัตบุรุษ ไปพบกับคนที่รู้ธรรมะ มีธรรมนั้นในตนจริง เข้าใจอริยสัจ อย่างแจ่มแจ้งและทำตนเองให้หมดกิเลสได้จริง แล้วให้โอกาสเขาได้ฟังสัจธรรม ได้ศึกษาเรียนรู้ และนำธรรมเหล่านั้นมาปฏิบัติจนลูกได้เกิดความเจริญเหล่านั้นขึ้นในตน

หน้าที่ของลูกก็เช่นกัน ดูแลพ่อแม่ด้วยปัจจัยสี่อันพอประมาณ แต่ถ้าถามว่าต้องดูแลพ่อแม่แค่ไหนถึงจะได้ชื่อว่า “ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่” พระพุทธเจ้าท่านตรัสเปรียบไว้ว่า ต่อให้แบกพ่อแม่ไว้บนบ่าทั้งสองข้างตลอดร้อยปี คอยเช็ดล้างทำความสะอาดให้ คอยนวดคอยดูแล มอบสมบัติ ปราสาท ราชวังให้ ก็ยังไม่ได้ชื่อว่าได้ตอบแทนคุณแล้ว แต่ท่านบอกว่า ลูกที่สามารถพาให้พ่อแม่มีศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญา ที่เจริญขึ้นนั่นแหละ คือลูกที่ตอบแทนบุญคุณพ่อแม่แล้ว

มันกลับหัวกลับหางกับทางโลกเขาเลยนะ ทางโลกเขาถือเอาวัตถุสิ่งของเป็นสำคัญ ส่วนทางธรรมนี่วัตถุก็เอาแค่พอเลี้ยงชีพ แต่ให้น้ำหนักในด้านความเจริญของจิตใจมากกว่า เราไม่จำเป็นต้องสมดุลโลกธรรมหรอก เพราะโลกที่มีแต่กิเลสเป็นตัวนำนั้นมีแต่ทุกข์ เกิดมากี่ชาติก็แสวงหาแต่ความเจริญทางโลก ไม่เคยยอมปล่อยยอมวางเสียที แม่ก็คลอดมาชาติแล้วชาติเล่า แทนที่จะศึกษาหาความรู้ที่จะทำให้แม่ไม่ต้องลำบากอีก ก็ไม่สนใจใยดีในการศึกษาหาความรู้ในการพ้นทุกข์ แต่กลับไปแสวงหาแต่สิ่งที่ทำให้เป็นทุกข์ ก็เลยพากันวนเวียนกันอยู่ในโลก วนอยู่กับวัตถุสิ่งของ วนอยู่กับความสุขลวง วนอยู่กับอุดมการณ์ทั้งหลาย กอดโลกไม่ยอมปล่อย ก็เลยทำให้แม่ลำบากไปทุกชาติ เกิดแล้วก็เกิดอีก ไม่มีจุดจบ ไม่มีเป้าหมายในการหยุดแสวงหา ไม่มีความพอใจในเรื่องโลก

พอตนเองไม่สร้างความเจริญให้ตน ไม่นำพาความเจริญให้พ่อแม่ ไม่พากันลดกิเลส ตนเองก็ต้องเป็นทุกข์ พ่อแม่ก็ต้องเป็นทุกข์ วันเวลาผ่านไปก็มีแต่กิเลสเพิ่มขึ้นทุกวัน ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส ไม่ได้สมใจก็เพิ่มกิเลส มันก็พากันทุกข์ชั่วกัปชั่วกัลป์นั่นแหละ ดังนั้นตามที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ลูกที่ทำให้พ่อแม่เจริญด้วยศรัทธา ศีล จาคะ ปัญญานั้น คือผู้ที่ตอบแทนบุญคุณแล้ว นั่นคือธรรมเหล่านั้นเอง ที่จะทำให้ตนเองและพ่อแม่พ้นทุกข์ไปโดยลำดับ จนถึงขั้นไม่ต้องกลับมาเวียนว่ายตายเกิดเพราะแรงแห่งกิเลสตัณหาอีกต่อไป

ดั้งนั้น ไม่ว่าแม่จะหวังอะไรก็ตามแต่ แม้ท่านจะไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นประโยชน์ สิ่งใดเป็นโทษ หน้าที่หลักของลูกก็คือการนำพาความเจริญมาสู่จิตวิญญาณของแม่ โดยการทำตนให้เป็นตัวอย่าง เป็นการทำดีที่ตน ทำให้เกิดในตน ให้แม่ได้เห็นคุณค่าของความดีนั้น เห็นคุณค่าของการลดกิเลส แม้จะยากเย็นขนาดไหนก็ต้องทำ ถึงจะขนาดจะเรียกว่าทำดีให้คนตาบอดเห็นได้ก็ต้องทำ เพราะเป็นคุณประโยชน์ที่สุดที่ลูกจะพึงทำให้กับแม่ได้แล้ว และผู้ที่กระทำคุณเหล่านั้นได้ ก็ถือได้ว่าได้ตอบแทนบุญคุณแม่แล้วนั่นเอง

11.8.2559

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)

ความฉลาดที่จะกินเนื้อสัตว์ได้อย่างมีเหตุมีผล

December 20, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,249 views 0

ฉลาดเฉโก คือ กิเลสฉลาด

ไม่ใช่ปัญญาที่พาพ้นทุกข์ แต่เป็นความฉลาดของกิเลสที่พาให้เป็นทุกข์ด้วยการหาช่องในการเสพสิ่งที่ไร้สาระ

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนเพราะกินเนื้อสัตว์ เป็นปัญญาระดับพื้่นๆ คนทั่วไปก็สามารถรู้ได้เข้าใจได้ ว่าการที่เรายังกินเนื้อสัตว์อยู่จะไปมีส่วนในการเบียดเบียน

ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของความตื้นระดับนี้ ก็อย่าหวังจะมีปัญญาในระดับลึกเลย พระอริยะก็เป็นหวังเลย พระอรหันต์ยิ่งไม่ต้องหวังเลย เพราะนี้มันปัญญาระดับที่คนดีทั่วไปยังเข้าใจได้เท่านั้นเอง ถ้ายังเข้าใจไม่ได้แล้วจะหวังให้ตนเองมีปัญญาสูงกว่านั้นได้อย่างไร

การเห็นโทษภัยของการเบียดเบียนกันด้วยการฆ่านี้เป็นเรื่องหยาบ การปฏิบัติธรรมของพุทธต้องเป็นไปตามลำดับ หยาบ กลาง ละเอียด ไม่ใช่อยู่ๆโผล่มาเป็นพระอรหันต์เลย มันต้องละอบายมุขให้ได้ก่อน ศีล ๕ ให้ได้ก่อน การเบียดเบียนตื้นๆเช่นนี้เอาออกให้ได้ก่อน

ไม่ใช่จะมาตีกินว่าฉันบรรลุธรรมขั้นนั้นขั้นนี้แล้ว หาช่องให้ตัวเองเสพ อันนั้นมันเฉโก กิเลสมันฉลาด มันไม่มีความสะดุ้งกลัวต่อการเบียดเบียน ไม่มีหิริโอตตัปปะ ธรรมะมันจะขัดกันวุ่นวายไปหมด มีแต่วาทะว่าฉันนี้เลิศ แต่ไม่ลดการเบียดเบียน

สรุปไว้ก่อนเลยว่า ถ้ายังไม่มีปัญญาเห็นโทษของการกินเนื้อสัตว์ที่เขาฆ่ามา ก็อย่าเฉโกว่าตัวเองมีปัญญามากกว่านั้นเลย ที่ยากกว่านั้นยังมีอีกเยอะ

เดี๋ยวคนเขาจะเข้าใจผิดว่าศาสนาพุทธเป็นศาสนาเทวดา ที่สามารถเบียดเบียนผู้อื่นได้โดยไม่มีผลกรรมอะไรที่ต้องรับผิดชอบ มันจะพาโง่ พามิจฉาทิฏฐิวุ่ยวายกันไปหมด มันจะแก้ยาก

พระไตรปิฏกมีหลักฐานไว้ชัดเจนอยู่แล้วว่าผู้เจริญในทางพุทธศาสนา ตัวเองก็ต้องไม่ฆ่า และไม่ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งยังต้องสรรเสริญคุณของการไม่ฆ่านั้นอีก (เล่ม 19 ข้อ 1459)

ถ้าตัวเองยังกินเนื้อที่เขาฆ่ามาอยู่ มันก็คือการทำให้คนเข้าใจว่าการให้กันด้วยเนื้อที่เขาฆ่ามานั้นดี มันก็ผิดหลักปฏิบัติทั้งยังขัดกับความรู้สึกของผู้ไม่เบียดเบียนอยู่เนืองๆ

แต่ก็เอาเถอะ… คนปฏิบัติแบบมิจฉา ก็ย่อมได้มิจฉาผลเป็นธรรมดา การที่เขาเหล่านั้นจะไม่มีหิริโอตตัปปะย่อมเป็นเรื่องธรรมดาเช่นกัน

คนที่ไม่ยึดติดจะโอนอ่อนไปสู่สิ่งที่เป็นกุศล สิ่งที่ไม่เบียดเบียน แต่คนที่ยึดติด กิเลสจะพาเฉโกให้ไปทางเบียดเบียน จะเถียงกิน ทำอย่างไรก็ได้ให้ตัวเองได้กิน แม้จะกล่าวตู่ว่าพระพุทธเจ้าฉันเนื้อสัตว์ก็ยังกล่าวได้โดยไม่ละอายใจใดๆ เพราะไม่ได้ศึกษามานั่นเอง

สรุปสุดท้ายไว้ว่า สาวกของพระพุทธเจ้าแท้ๆ เป็นผู้ไม่เบียดเบียนทั้งทางตรงและทางอ้อม ส่วนพวกที่ยังเบียดเบียนตนเองและผู้อื่นอยู่โดยไม่รู้สึกผิดนั้น ก็สุดแล้วแต่จะพิจารณา… (เล่ม 25 ข้อ 29)

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

December 7, 2015 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 1,813 views 1

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส

ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน

กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม ห่างไกลความผาสุกในชีวิต ในขณะที่ธรรมะนั้นคือสิ่งที่จะพาให้พ้นทุกข์ นำความเจริญมาให้ และเข้าใกล้ความผาสุกที่ยั่งยืน

กิเลสและธรรมะนั้นไปด้วยกันไม่ได้ หากเราเลือกกิเลส เราก็จะต้องเสียธรรมะไป หากเราเลือกที่จะเสพสุขกับบางสิ่งบางอย่าง เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงธรรมเพราะมัวแต่สนใจสุขลวง เช่น นักบวชในพุทธศาสนาที่เลือกที่จะมีคู่ ก็ต้องสึกและเสื่อมจากธรรมเพื่อแลกกับการเสพโลกีย์สุข

ไม่มีอะไรได้มาโดยที่ไม่เสียอะไรไป เมื่อเราเลือกที่จะเสพโลกีย์สุขตามคำสั่งของกิเลส เราก็จะเสียโอกาสในการเข้าถึงโลกุตระสุขที่ปราศจากกิเลส พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ปราชญ์พึงเห็นความสุขอันไพบูลย์ เพราะสละความสุขพอประมาณไซร้ เมื่อปราชญ์เห็นความสุขอันไพบูลย์ พึงสละความสุขพอประมาณเสีย

สุขจากกิเลสนั้นสุขน้อยทุกข์มาก หรือเรียกว่าเป็นสุขลวง ซึ่งการจะเห็นสุขแท้ที่ยั่งยืนนั้นต้องยอมสละสุขลวงจากกิเลส แต่การจะเห็นสุขแท้นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะมีคำกล่าวว่า “นิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” ถึงกระนั้นสุขแท้จริงเหล่านั้นก็ใช่ว่าทุกคนจะสัมผัสมันได้ง่ายนัก เพราะถ้าหากสุขแท้นั้นเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้โดยทั่วไป รู้ได้โดยภาษา เข้าถึงได้โดยการเพ่งเพียรปฏิบัติ ทุกคนก็คงจะเห็นได้ว่าโลกุตระสุขนั้นมีค่ามากกว่าโลกีย์สุข(กิเลส)และยอมทิ้งโลกีย์สุขนั้นกันหมด ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงมันไม่ใช่แบบนั้นเลย เพราะมีแต่คนที่เมินเฉยต่อการแสวงหาโลกุตระสุข เพียงเพราะพอใจในโลกีย์สุขที่ตนมี

และถึงแม้ว่าเราจะเลือกธรรมะ ก็ใช่ว่าเราจะหมดกิเลส ไม่เหมือนกับตอนที่เราเลือกตามใจกิเลสแล้วเราจะเสียธรรมะ ซึ่งการปฏิบัติของพุทธศาสนามิใช่การนึกคิดเอาเองว่าถ้าทำจิตให้เป็นเช่นนั้น แล้วทุกอย่างจะเป็นเช่นนั้น ไม่ใช่เราเข้าใจว่าเราเป็นพระอรหันต์แล้วจะเป็นพระอรหันต์จริงๆ แต่ต้องเป็นการปฏิบัติที่ลงไปล้างถึงเหตุแห่งทุกข์ โดยใช้หลักของอริยสัจ ๔ ซึ่งจะปฏิบัติชำระความเห็นผิดไปโดยลำดับตั้งแต่เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ลาดลุ่มไปโดยลำดับเหมือนฝั่งทะเล ไม่ชันเหมือนเหว

นั่นหมายความว่าถึงจะเรียนรู้เป็นพันเป็นหมื่นคัมภีร์ ท่องจำได้คล่องปากไม่มีตกหล่น หรือแม้จะเพ่งเพียรปฏิบัติจนแทบจะเรียกได้ว่าเอาชีวิตไปทิ้ง แม้จะเด็ดเดี่ยวจนถึงขั้นยอมตายถวายธรรม ก็ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถเข้าถึงผลของธรรมะได้ หากยังมีความเห็นที่ตั้งไว้ไม่ตรง(มิจฉาทิฏฐิ)

การทำตามกิเลสแล้วเสื่อมจากธรรมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก แต่การทำตามธรรมะให้กิเลสเสื่อมเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ยาก มีแต่บัณฑิตเท่านั้นที่รู้ได้ ไม่ใช่สิ่งที่จะด้นเดาเอาได้ เพราะเป็นสิ่งที่ลึกซึ้งยากจะเข้าใจเกินกว่าจะคิดคำนวณเอาเอง จึงมีแต่สาวกของพระพุทธเจ้าผู้มีความรู้แจ้งในอริยสัจ ๔ ที่แท้จริงเท่านั้นที่จะไขความลับนี้ได้

ผู้ที่เลือกตามใจกิเลสอยู่เรื่อยๆ ก็ย่อมจะเสื่อมจะกุศลธรรมไปเรื่อยๆ และห่างไกลจากโอกาสในการเข้าถึงธรรมะที่พาล้างกิเลสไปเรื่อยๆ เช่นเดียวกัน

และข้อปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าให้ไว้เพื่อที่จะขัดเกลากิเลสก็คือ “ศีล” ซึ่งศีลจะทำให้รู้ขอบเขตว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ หากปราศจากศีลแล้ว ก็คงยากจะแยกแยะว่าสิ่งใดคือดี สิ่งใดคือชั่ว สิ่งใดที่ควร สิ่งใดไม่ควร ดังนั้นผู้ที่ไม่มีศีลจึงไม่มีโอกาสรู้ได้เลยว่าสิ่งใดคือกิเลส สิ่งใดคือธรรมะ ผู้เสื่อมจากศีล จึงเสื่อมจากความเป็นพุทธ และเสื่อมจากธรรมทั้งหลายทั้งปวงด้วยเช่นกัน

ศีลคือข้อปฏิบัติเบื้องต้นในการเข้าถึงการล้างกิเลส เมื่อผู้ปฏิบัติไม่มีศีล ก็ไม่มีไตรสิกขา ไม่มีการปฏิบัติที่ถูกตรงของพุทธ นั่นหมายถึงไม่มีการล้างกิเลส และไม่มีการหลุดพ้นจากกิเลส ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า หากเลือกธรรมะนั้นก็จำเป็นต้องมีศีลเป็นพื้นฐานด้วย ต่อให้อีกอ่านอีกกี่ล้านคัมภีร์ หรือนั่งนิ่งเป็นพรหมลูกฟัก อวดอ้างตนว่าเป็นผู้บรรลุธรรม หากปราศจากศีลที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ดีแล้ว ก็คงจะเป็นเพียงแค่โมฆะบุรุษเท่านั้นเอง

– – – – – – – – – – – – – – –

7.12.2558

ดิณห์ ไอราวัณวัฒน์ (Dinh Airawanwat)