พาลหลงหรือพาลแสร้งว่าเป็นบัณฑิต

February 25, 2020 | | มีผู้เข้าชมทั้งหมด 614 views 0

มีผู้อ่านเขาถามเข้ามาในประเด็นเกี่ยวกับคนพาลที่แสร้งว่าตนเป็นบัณฑิตนั้น เป็นไปได้ไหมว่าเขาจะหลงหรือเข้าใจผิดไปเองว่าตนเข้าใจถูก คือมีอวิชชาบังตา ไม่รู้ตัวว่าเป็นคนพาล

ตอบ เป็นไปได้

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “คนพาลที่รู้ตัวว่าเป็นคนพาลยังเป็นบัณฑิตได้บ้าง แต่คนพาลที่สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิตนั่นแหละ เรียกว่า คนพาลแท้

ยากนักที่คนพาลจะรู้ตัวว่าตนเป็นคนพาล และยิ่งกว่านั้นความพาลที่สะสมความเก่ง จะแปลงผลเป็นความอวดดีจนกระทั่งสำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต ผู้รู้ หรือผู้บรรลุธรรมได้

กรณีของการแสร้งทำนั้น มีทั้งแบบแสร้งทั้งที่รู้กับแบบแสร้งทั้งที่ไม่รู้ คือหลงโดยสมบูรณ์ แต่อาการแสร้งนั้นจะปรากฏเมื่อกระทบกับสิ่งที่พอใจหรือไม่พอใจ จะเห็นอาการสะบัดของจิต แต่ด้วยความหลง จากแสร้งว่าไม่มี ไม่เห็น ไม่เป็น

เพราะเวทนาเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแน่นอน ไม่ว่ายังไงถ้ามีกิเลส มันจะต้องทุกข์/สุข เมื่อได้กระทบสิ่งที่ไม่ชอบใจและชอบใจแน่นอน

สภาพที่ผู้ถามถามมานั้น คืออาการของผู้ที่กำลังถูกวิบากหนึ่งใน ๑๑ ข้อ ของผู้ที่เพ่งโทษพระอริยะเล่นงาน คือ หลงบรรลุธรรม

ผู้ที่เพ่งโทษติเตียนพระอริยะจะมีวิบากหลายประการที่จะสร้างอาการทุกข์อย่างแสนสาหัสที่แตกต่างกันไป

การหลงบรรลุธรรม คืออาการที่คนคนนั้นเข้าใจว่าตนปฏิบัติถูกต้อง มีมรรคผล มีความเจริญ แม้แต่หลงบรรลุว่าตนเองเป็นอรหันต์ หรือใหญ่กว่าพระพุทธเจ้าก็มี เป็นเรื่องธรรมดาของคนหลงที่จะมีมิติของความหลงเป็นอนันต์

สมัยพุทธกาลก็เคยมีนักบวชที่หลงว่าตนบรรลุ แต่สมัยนั้นมีพระสารีบุตรช่วยแก้กลับให้ คือคนหลงบรรลุธรรมนี่เขาจะเก่ง จะแน่ จะมั่นใจมาก ๆ แถมข่มคนอื่นด้วย ยากที่จะปราบ ต้องระดับอัครสาวกไปช่วยถึงจะเอาอยู่ คือแน่เหมือนอัครสาวกเลย ถ้าไม่มีภูมิธรรมที่ถูกต้องจะไม่เห็นจุดผิด

สมัยนี้ก็มีเยอะที่หลงว่าตนเองเป็นอรหันต์ ตนก็เชื่ออย่างนั้น ลูกศิษย์ก็เชื่ออย่างนั้น แต่ไม่ได้เป็นจริง ๆ หรอก เขาหลงของเขา เขาไม่มีมรรคผลอะไรเลย แค่สิ่งเสพติดหยาบ ๆ เขายังเลิกไม่ได้เลย จะฝันไปถึงสวรรค์นิพพานมันก็เกินไป แต่คนส่วนใหญ่แม้ไม่ใช่ลูกศิษย์ก็เชื่อว่าเขาบรรลุ มันเป็นวิบากบาปของคนในยุคนี้ที่จะต้องหลงตามคนเห็นผิด (ซึ่งมีเคสแบบนี้เยอะมาก)

ไม่ต้องถึงระดับเกจิหรอก เอาคนธรรมดาทั่วไปที่ศึกษาธรรมะนี่แหละ ก็มีพวกโมฆะบุรุษอยู่เยอะ เพราะเรียนธรรมะเอาไว้ข่มผู้อื่นและเอาไว้กันคนดูถูกหรือนินทา และส่วนใหญ่พวกนี้จะเฮี้ยน เป็นเหมือนจอมยุทธไปรบกับเขาไปเรื่อย เลอะเทอะไปเรื่อย ถ้ามีบารมีก็อาจจะรวมคนเป็นสำนักขึ้นมาได้ แต่กระนั้นก็จะทำเพื่อเด่น ดัง ใหญ่ ล่าบริวาร ไม่ได้พาลดกิเลส

ดังนั้นสภาพหลงเพราะถูกอวิชชาครอบงำมีจริงไหม จึงสรุปว่ามี จริง ๆ ไม่ว่าจะหลงแบบรู้หรือแบบไม่รู้ตัวก็อวิชชาทั้งนั้นแหละ ความหลงจะทำให้มีอาการแสร้งทำแทรก เพราะไม่รู้จริง ไม่บรรลุจริง พอถูกถามเข้ามาก ๆ จะโกรธ อึดอัด ขุ่นเคืองใจ แต่จะเสแสร้งแกล้งทำว่าไม่ได้เป็นแบบนั้นบ้าง บอกว่าเป็นการปรุงท่าทีลีลาด้วยจิตว่างบ้าง คือจะอ้างก็อ้างได้หมดแหละ อ้างตามภาษาพระอรหันต์กันเลย แต่ทุกข์ที่มันเกิดชัด ๆ ในใจเขา เขาจะไม่ยอมรับ ด้วยเหตุผลนี้ถึงบอกว่ามันจะมีอาการแสร้งอยู่ แต่คนอื่นเขาจะรู้ได้ยาก คนที่มีภูมิสูงกว่าจะมองเห็นได้ คนที่ภูมิต่ำกว่าจะมองเห็นบิดเบี้ยวไป และตัวเองนั่นแหละรู้ชัดว่าตัวเองตอแหล แต่จะไม่ยอมรับ ไม่ฉลาดในอาการกิเลสนั้น ๆ เพราะไม่รู้จักทุกข์ ไม่รู้อริยสัจ ๔ มันเลยเหมือนจะไม่ทุกข์ เหมือนไม่มีกิเลส แต่กิเลสมีอยู่ ครอบงำอยู่ แต่ไม่รู้จักนั่นเอง

ในยุคสมัยนี้ก็ต้องบอกว่าถูกพาลแท้ครอบงำไปหมดแล้ว มีแต่ชื่อว่าอรหันต์ ถ้าอยากจะพิสูจน์ก็ปฏิบัติตามไปให้เต็มที่เลย จะรู้ว่าไม่พ้นทุกข์ พากเพียรยังไงก็จะไม่พ้นทุกข์ เพราะไปเอาคนพาลเป็นอาจารย์ การเอาอสัตบุรุษเป็นอาจารย์ไม่มีวันพาไปพ้นทุกข์ได้ แม้ท่านเหล่านั้นจะมีป้ายแปะไว้ว่าพระอรหันต์ก็ตามที

ที่ผมกล้าพิมพ์เพราะว่าผมชัดในทางปฏิบัติ อย่าหาว่าเพ่งโทษกันเลยนะ บางเรื่องมันก็ต้องชี้โทษช่วยคนที่เขาสับสนบ้าง ถ้าใครปฏิบัติถูก จะเห็นการปฏิบัติที่ผิด คือเห็นสัมมาทิฎฐิว่าเป็นสัมมาทิฎฐิ เห็นมิจฉาทิฎฐิว่าเป็นมิจฉาทิฎฐิ ไม่มัว ไม่สับสน

มันจะมีญาณเป็นตัวประกันปัญญาอยู่หลายเรื่อง เช่น ญาณที่จะแยกแยะธรรมะโลกุตระหรือกัลยาณธรรม หรือความเห็นอย่างสัมมาทิฎฐิในข้อที่ว่า รู้ว่าใครเป็นสัตบุรุษที่จะพาพ้นทุกข์ได้

ทั้งหมดนี้เดาเอาไม่ได้ คิดตามเฉย ๆ ก็ไม่ได้ ต้องศึกษาจนล้างกิเลสให้ได้ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ก็จะชัดในทางปฏิบัติ เมื่อเอาการปฏิบัติของตนเองไปเทียบกับที่มีอยู่ส่วนใหญ่ในโลก จะพบความจริงว่า มันไม่เหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว คนที่ทำได้ ถ้าได้ศึกษากันสักพักจะชัดเจนเลยว่าใครเป็นใคร ใครเป็นบัณฑิต ใครเป็นคนพาล ไม่ต้องเดา ไม่ต้องมัว ไม่พลาดไปเพ่งโทษให้เสี่ยงนรกเปล่า ๆ เพียงแค่ปฏิบัติตัวเองให้ถูกเท่านั้น จะเห็นความจริงตามความเป็นจริง เห็นผิดเป็นผิด เห็นถูกเป็นถูก

แต่ก็เอาเถอะ คนพาลเขาก็พูดหรือกล่าวแบบนี้ได้เช่นกัน เรื่องของใครก็เรื่องของใคร วัดกันที่ใจเรานั่นแหละ ถ้าใจเรากระทบกับเรื่องใด ๆ ที่เคยติดหรือตั้งใจฝึกปฏิบัติแล้วไม่ทุกข์ไม่สุข พ้นสัญญาที่เคยหลงยึดไว้ กระทบแล้วกระทบอีกใจก็ยังนิ่ง ไม่กระเพื่อม หรือหวั่นไหวแม้เล็กน้อยเป็นใช้ได้ เมื่อได้ดังนั้นแล้วมองกลับไปยังการปฏิบัติในโลก จะชัดเองใครเป็นยังไง เพราะเราได้ผลกับตัวแล้ว กระทบก็แล้ว กระแทกก็แล้ว ยังไม่ทุกข์ มันก็ชัดที่สุดแล้ว

สรุปทิ้งท้ายไว้ว่า ถ้าไม่ตั้งใจปฏิบัติจนถึงผลเรื่องใดเรื่องหนึ่ง จะดูคนไม่ออกหรอก เพราะเราจะไม่มีญาณปัญญา ไม่มีตาที่เหนือโลก ไว้แยกแยะ นั่นเพราะเรายังไม่ทำตัวเองให้ถึงโลกุตระ เมื่อไม่ถึงโลกุตระ ก็จะมีความรู้อยู่โลกเดียวคือโลกียะ มีความรู้จำกัด ดังนั้น โลกที่ซ้อนกันอยู่ในปัจจุบัน(จิตที่แตกต่าง) แม้มีอยู่ก็จะมองไม่เห็น จะมองเห็นหรือรู้ได้ก็เฉพาะเท่าที่ตนเองมี ตนเองเป็นอยู่เท่านั้น

Related Posts

  • ใครใครก็เคยพลาดคบคนพาล การที่เราจะหลงไปคบคนพาลนั้น ดูเหมือนเรื่องธรรมดาสามัญทั่วไป แต่การที่เราจะพัฒนาขึ้นได้นั้น เราก็ต้องก้าวออกจากความพลาดพลั้งเหล่านั้น ไม่ใช่แช่อยู่ […]
  • การช่วยเหลือคนพาล วิธีช่วยคนพาลนั้น จะทำแบบการช่วยคนปกติทั่วไป ยื่นมือไปช่วย สนับสนุน แนะนำสิ่งดี ก็คงจะไม่สามารถสำเร็จผลไปได้ง่าย ๆ เพราะความเป็นมงคลคือการห่างไกลคนพาล แล้วการเข้าไปใกล้ จะเกิดความสำเร็จ […]
  • เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส เลือกกิเลสเสียธรรมะ เลือกธรรมะต้องล้างกิเลส ในทุก ๆ การตัดสินใจของชีวิตของคนที่ยังมีกิเลส ก็มักจะต้องเลือกระหว่างกิเลสหรือธรรมะ สองสิ่งนี้เป็นทางเลือกอิสระที่ให้ผลต่างกัน กิเลสคือสิ่งที่จะพาให้ทุกข์ พาเสื่อม […]
  • บัณฑิตเก๊ พาลจำแลง เวลาเราหลง ไม่มีปัญญา ไม่ฉลาด เราก็จะหลงว่าการคบคนพาลนั้นดี ไม่มีภัย ดีไม่ดีไปอวยคนพาลเข้าอีก แต่เมื่อความจริงเปิดเผย วิบากหมด หายโง่ เกิดปัญญา จึงจะเห็นความพาลในคนพาล เมื่อนั้นแหละ ให้ระวังใจให้ดี […]
  • น้ำหนักของความรู้สึกในการห่างไกลคนพาล จากชิคุจฉสูตร จะมีตอนหนึ่งที่พระพุทธเจ้าเปรียบโทษของการเข้าไปคบหา เข้าไปชิดใกล้คนพาล มีความเน่าในตน ผิดศีล ฯลฯ ว่าเหมือนกับการเข้าไปใกล้งูที่อยู่ในบ่อขี้ แม้ไม่กัดแต่ถ้าไปใกล้ก็จะทำให้เหม็นได้ คนทั่วไปถ้าไม่ได้ศึกษาและปฏิบิติธรรม […]

ฝากความคิดเห็น : Leave a Reply